คุณเคารพศักดิ์ศรีของเขาไหม?
พวกเขาถูกต้อนเหมือนสัตว์และจับยัดลงในท้องเรือที่สกปรกและส่งกลิ่นเหม็นอย่างไม่น่าเชื่อ ชาวแอฟริกาถูกส่งไปยังทวีปอเมริกาเหมือนเป็นสินค้า. คาดหมายได้ว่าอย่างน้อยพวกเขาครึ่งต่อครึ่งคงต้องตายก่อนถึงปลายทางเสียด้วยซ้ำ. สมาชิกครอบครัวถูกพรากจากกันอย่างโหดร้ายทารุณ ไม่มีวันได้พบพานกันอีก. การค้าทาสเป็นฉากที่ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่งในบรรดาปฏิบัติการของมนุษย์ต่อเพื่อนร่วมโลก.
มีกรณีอื่น ๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อผู้ชนะทรงอำนาจได้กดขี่คนพื้นเมืองซึ่งไม่มีทางต่อสู้ป้องกันตัวอย่างเหี้ยมโหด. การลิดรอนศักดิ์ศรีของคนเราบางครั้งก็โหดร้ายยิ่งเสียกว่าการทำร้ายร่างกายให้เจ็บปวด. มันเป็นการพร่าผลาญเจตนารมณ์ของมนุษย์. แม้ว่าหลายประเทศได้ยกเลิกระบบทาสไปส่วนมากแล้วก็ตาม แต่การบ่อนทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ยังคงมีอยู่ บางทีอาจเป็นในลักษณะที่แอบแฝงมากกว่า.
ในทางตรงกันข้าม คริสเตียนแท้มุ่งมั่นปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเยซูคริสต์ที่ว่า ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.’ ดังนั้น เขาถามตัวเองทำนองนี้ ‘ฉันเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่นไหม?’—ลูกา 10:27.
การมีศักดิ์ศรีที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
พจนานุกรมเล่มหนึ่งให้ความหมายคำศักดิ์ศรีว่าเป็นคุณสมบัติหรือสถานะความมีคุณค่า, มีเกียรติ, หรือได้รับการยกย่อง. ช่างเป็นคำพรรณนาที่เหมาะเจาะอะไรเช่นนั้นเกี่ยวกับสถานะของพระยะโฮวาพระเจ้า องค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ! อันที่จริง หลายต่อหลายครั้งที่พระคัมภีร์กล่าวเชื่อมโยงพระยะโฮวาและพระบรมเดชานุภาพของพระองค์เข้ากับความสง่างามมีศักดิ์ศรี. โมเซ, ยะซายา, ยะเอศเคล, ดานิเอล, อัครสาวกโยฮันและคนอื่น ๆ ต่างก็มีสิทธิพิเศษโดยรับการดลใจให้มองเห็นนิมิตเกี่ยวกับพระเจ้าองค์สูงสุดและที่ประทับของพระองค์ในสรวงสวรรค์ และพวกเขาพรรณนาภาพความสง่าโอฬาริกและศักดิ์ศรีอันน่าเกรงขามได้ถูกต้องตรงกัน. (เอ็กโซโด 24:9-11; ยะซายา 6:1; ยะเอศเคล 1:26-28; ดานิเอล 7:9; วิวรณ์ 4:1-3) กษัตริย์ดาวิดทรงทูลอธิษฐานยกย่องสรรเสริญดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ยศศักดิ์, อำนาจ, รัศมี, ความชัยชนะ, และเดชานุภาพ: คงมีแก่พระองค์, เพราะสรรพสิ่งในสวรรค์ก็ดี, ที่พิภพโลกก็ดี, เป็นของพระองค์.” (1 โครนิกา 29:11) จริงทีเดียว ไม่มีผู้ใดคู่ควรกับเกียรติยศและความนับถือสูงสุดมากไปกว่าพระยะโฮวาพระเจ้า.
เมื่อสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของพระองค์นั้น พระยะโฮวาทรงให้ความมีค่า, ความนับถือตัวเอง, และศักดิ์ศรีตามขนาดแก่มนุษย์. (เยเนซิศ 1:26) ด้วยเหตุนี้ ในการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เราพึงให้เกียรติและความนับถือตามสมควรแก่แต่ละคน. อันที่จริง เมื่อเราทำเช่นนั้น เรายอมรับพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ทรงเป็นที่มาแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์.—บทเพลงสรรเสริญ 8:4-9.
ศักดิ์ศรีในความเกี่ยวพันในวงครอบครัว
อัครสาวกเปโตรซึ่งเป็นบุคคลที่แต่งงานแล้ว ภายใต้การดลใจท่านได้แนะนำสามีคริสเตียน “ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลาย [ภรรยา] เหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า.” (1 เปโตร 3:7, ล.ม.; มัดธาย 8:14) อัครสาวกเปาโลก็ให้คำแนะนำว่า “อีกฝ่ายหนึ่งภรรยาควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามีของตน.” (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.) ดังนั้น ในชีวิตสมรส การให้เกียรติและความนับถือต่อศักดิ์ศรีส่วนบุคคลของคู่สมรสจึงเป็นข้อเรียกร้องตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. เรื่องนี้อาจแสดงให้เห็นได้โดยวิธีใด?
น้ำสำคัญแก่ต้นพืชที่เจริญเติบโตฉันใด คำพูดนุ่มนวลและมารยาทงามระหว่างสามีกับภรรยาขณะอยู่ต่อหน้าธารกำนัลหรืออยู่กันสองต่อสอง ย่อมทำนุบำรุงความสัมพันธ์อันสนิทสนมของเขาได้ฉันนั้น. ในทางกลับกัน การโจมตีกันด้วยคำพูดที่เกรี้ยวกราด เหน็บแนม หรือพูดเชิงดูถูก เย้ยหยัน ดังที่ได้ยินรายการตลกทางทีวีอยู่บ่อย ๆ นั้นก่อความเสียหาย. คำพูดอย่างนั้นอาจก่อให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ ที่ยังความเสียหายอย่างเช่น ความรู้สึกไร้ค่า, ซึมเศร้า, และเจ็บใจ; คำพูดอย่างนั้นอาจก่อให้เกิดแผลทางใจซึ่งยากจะรักษาได้เสียด้วยซ้ำ.
อนึ่ง การเคารพศักดิ์ศรีส่วนบุคคลของผู้อื่นยังหมายถึงการยอมรับพวกเขาอย่างที่เขาเป็นอยู่ ไม่พยายามโน้มนำเขาเข้าไปร่วมอุดมการณ์บางอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น หรือเอาเขาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม. เรื่องนี้สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสามีกับภรรยา. ตราบที่การติดต่อสื่อความและการแสดงออกเป็นไปอย่างอิสระและสะดวกใจ และไม่มีใครกลัวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกดุ ความใกล้ชิดสนิทสนมก็ย่อมเจริญงอกงาม. ในชีวิตสมรสถ้าคนเราเป็นตัวของตัวเองได้ นั่นแหละบ้านจึงกลายเป็นที่หลบพ้นภัยจากโลกภายนอกที่โหดร้ายรุนแรงอย่างแท้จริง.
บุตรอยู่ภายใต้คำสั่งตามหลักการของพระคัมภีร์ที่ให้นับถือและเชื่อฟังบิดามารดาของตน. ทางฝ่ายบิดามารดาที่สุขุมและเปี่ยมด้วยความรักควรตระหนักในศักดิ์ศรีของบุตรเช่นกัน. การพูดชมเชยความประพฤติที่ดี ควบคู่กับการว่ากล่าวด้วยความอดทนเมื่อจำเป็นย่อมก่อผลดีในการเสริมความหนักแน่นของ “การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” การตำหนิหรือวิจารณ์อยู่ร่ำไป การตะโกน และการให้สมญาเชิงดูหมิ่นเช่น “เจ้าโง่” “เจ้าทึ่ม” มีแต่จะทำให้พวกเขาขัดเคืองใจเท่านั้น.—เอเฟโซ 6:4, ล.ม.
คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งและอยู่ในฐานะเป็นบิดาที่อบรมเลี้ยงดูลูกชายสามคนและลูกสาวสามคนพูดว่า “เมื่ออยู่ที่หอประชุม ถ้าจำเป็นต้องตีสอนเราจะทำอย่างเงียบ ๆ เท่าที่ทำได้. การสะกิดเบา ๆ หรือจ้องหน้าอย่างขึงขัง ปกติแล้วก็พอ. หากจำเป็นต้องตีสอนจริงจังมากกว่านั้น เราจะตีสอนเป็นการส่วนตัวที่บ้าน ไม่ทำต่อหน้าเด็กอื่น ๆ ในที่ประชุม. เวลานี้เมื่อลูกอายุมากขึ้น การตีสอนรวมเอาการให้คำแนะนำด้วยความรักและสุขุมจากพระคำของพระเจ้าตามความจำเป็นของเขาเฉพาะตัว. เราพยายามเก็บเรื่องส่วนตัวของเขาเป็นความลับเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ถือเป็นการแสดงความนับถือต่อสิทธิส่วนตัวและศักดิ์ศรีของบุตรแต่ละคน.”
สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือจะต้องมีมารยาทอันดีทั้งวาจาและการกระทำภายในวงครอบครัว. ไม่สมควรปล่อยให้ความคุ้นเคยใกล้ชิดเป็นเหตุให้เราละเลยคำพูดอย่างเช่น “โปรด,” กรุณา,” “ขอ,” “ขอบคุณ,” “ขอโทษ,” และ “ผมเสียใจ.” มารยาทดีเป็นหลักสำคัญทั้งในการธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของตนเองและการเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่น.
ในประชาคมคริสเตียน
พระเยซูตรัสว่า “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.” (มัดธาย 11:28, ล.ม.) พวกที่ถูกบีบคั้น, ระทมทุกข์, และแม้แต่เด็กเล็กต่างก็พากันมาหาพระเยซูอย่างไม่อาจจะทัดทานไว้ได้. คนเหล่านี้เป็นที่ดูถูกดูแคลนของนักศาสนาและพวกผู้นำสมัยนั้นที่หยิ่งยโสและถือว่าตัวเองชอบธรรม. แต่พวกเขาได้พบพระเยซูผู้ซึ่งให้การยอมรับเขาเป็นบุคคลมีศักดิ์ศรีตามที่เขาพึงมี.
ในการเลียนแบบพระเยซู พวกเราก็เช่นกันต้องการเป็นแหล่งที่ยังความสดชื่นแก่เพื่อนร่วมความเชื่อด้วยกัน. ทั้งนี้หมายถึงการที่เราพึงหาโอกาสเสริมสร้างพวกเขาด้วยการพูดและการกระทำ. ในการสนทนาของเรานับว่าเหมาะสมเสมอที่จะพูดแบบเปิดเผยด้วยความจริงใจ ด้วยคำพูดนุ่มนวลและเสริมสร้าง. (โรม 1:11, 12; 1 เธซะโลนิเก 5:11) เราแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจต่อความรู้สึกของผู้อื่นโดยที่เราพึงระมัดระวังว่าเราพูดอะไรและพูดอย่างไร. (โกโลซาย 4:6) ณ การประชุมคริสเตียน เครื่องแต่งกายและการประพฤติที่เหมาะสมก็เช่นกันสะท้อนความนับถืออันลึกซึ้งของเราต่อความสง่างามของพระเจ้า, ต่อการนมัสการพระองค์ และต่อเพื่อนผู้ร่วมนมัสการกับเรา.
พระเยซูทรงคำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้คนแม้ในยามที่พระองค์ทรงรับใช้พวกเขาด้วยซ้ำ. พระองค์ไม่โอ้อวดตนโดยเหยียดผู้อื่นให้เสียศักดิ์ศรีหรือเกิดความอัปยศอดสู. เมื่อคนโรคเรื้อนขอร้องพระองค์ทำการรักษาให้หายโรค พระเยซูหาได้ละเลยชายผู้นั้นเนื่องจากเขาไม่สะอาดและไม่คู่ควรกับการรักษา อีกทั้งไม่ทรงทำให้เป็นเหตุการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจเพื่อผู้คนจะได้หันมาสนใจพระองค์. ตรงกันข้าม เมื่อคนโรคเรื้อนวิงวอนพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า, ถ้าพระองค์พอพระทัยพระองค์อาจจะทำให้ข้าพเจ้าหายโรคเป็นสะอาดได้.” พระองค์ทรงคำนึงถึงศักดิ์ศรีของคนโรคเรื้อนนั้นโดยตรัสว่า “เราพอใจแล้ว.” (ลูกา 5:12, 13) นับว่าดีมากทีเดียวสำหรับพวกเราซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือบรรดาคนขัดสนยากจน แต่ทำให้เขาแน่ใจด้วยว่าเขาไม่เป็นภาระแก่ใคร แต่เป็นที่ต้องการและเป็นที่รักของเรา! คนเหนียมอาย, คนซึมเศร้า, และคนทุพพลภาพ โดยทั่วไปแล้วเป็นคนที่ถูกมองข้าม, ถูกละเลย, หรือถูกมองว่าต่ำต้อยในโลกนี้. แต่พวกเขาควรจะประสบมิตรภาพแท้และเป็นที่ยอมรับเมื่ออยู่ท่ามกลางพี่น้องคริสเตียนชายหญิงทั้งหลาย. เราต้องทำส่วนของเราเพื่อส่งเสริมน้ำใจเช่นนี้.
พระเยซูทรงรักเหล่าสาวกของพระองค์ ดุจ “พวกของพระองค์” และ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” ทั้ง ๆ ที่เขามีข้อบกพร่องและมีนิสัยแปลกประหลาด. (โยฮัน 13:1, ล.ม.) พระองค์ทรงเห็นว่าพวกเขามีหัวใจบริสุทธิ์และเลื่อมใสในพระบิดาของพระองค์สุดจิตวิญญาณ. เช่นเดียวกัน เราไม่ควรสันนิษฐานว่าเพื่อนผู้ร่วมนมัสการกับพวกเรามีแรงจูงใจที่ไม่ดีเพียงเพราะว่าเขาไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวของเรา หรือนิสัยและบุคลิกภาพของเขากวนใจเรา. การเคารพศักดิ์ศรีของพวกพี่น้องจะกระตุ้นเราให้รักและยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นอยู่ โดยวางใจว่าพวกเขารักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เช่นกัน.—1 เปโตร 4:8-10.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองควรระมัดระวังที่จะไม่ทำให้คนเหล่านั้นที่อยู่ในความอารักขาของตนเกิดความกังวลโดยใช่เหตุ. (1 เปโตร 5:2, 3) เมื่อพบปะพูดคุยกับสมาชิกประชาคมผู้ซึ่งได้พลาดพลั้งทำบาป คงเป็นการคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นถ้าผู้ปกครองจะพูดอย่างนิ่มนวลโดยแสดงความกรุณาและความเห็นอกเห็นใจ และหลีกเลี่ยงการถามที่ทำให้อับอายขายหน้าโดยไม่จำเป็น. (ฆะลาเตีย 6:1) แม้แต่เมื่อจะต้องว่ากล่าวหรือตีสอนอย่างแรง ผู้ปกครองก็จะยังคงคำนึงถึงศักดิ์ศรีและการนับถือตนเองของผู้ทำผิดอันเป็นสิ่งที่เขาพึงได้รับ.—1 ติโมเธียว 5:1, 2.
การธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของตนเอง
การที่เราถูกสร้างตามแบบฉายาและคุณลักษณะเยี่ยงพระเจ้า เราจะต้องสะท้อนคุณลักษณะอันเลอเลิศของพระเจ้า—รวมไปถึงศักดิ์ศรีของพระองค์—ให้มากเท่าที่เป็นไปได้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา. (เยเนซิศ 1:26) ทำนองเดียวกัน สิ่งที่รวมอยู่ในพระบัญชาที่ให้ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” นั้นคือความจำเป็นจะต้องมีขอบเขตสมดุลเกี่ยวกับศักดิ์ศรีส่วนบุคคลและการนับถือตนเอง. (มัดธาย 22:39) ข้อเท็จจริงคือ ถ้าเราต้องการให้ผู้อื่นนับถือเราและปฏิบัติกับเราอย่างมีศักดิ์ศรี เราก็ต้องแสดงให้เห็นว่าเราสมควรได้รับสิ่งดังกล่าว.
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อธำรงไว้ซึ่งการนับถือตัวเองและศักดิ์ศรีของตนเองคือการรักษาสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด. สติรู้สึกผิดชอบที่ไม่สะอาดและความปวดร้าวใจอันเนื่องมาจากความรู้สึกผิดนำไปสู่ความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่มีค่า, คับข้องใจ, และซึมเศร้า. ดังนั้น ถ้าคนใดได้กระทำผิดร้ายแรง เขาควรรีบดำเนินการโดยเร็วเพื่อการกลับใจและแสวงการช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณจากผู้ปกครองเพื่อ “ฤดูแห่งความสดชื่นจะมาจากพระพักตร์ของพระยะโฮวา.” สิ่งที่รวมอยู่ในความสดชื่นนั้นคือการฟื้นฟูศักดิ์ศรีและการนับถือตนเองนั้นขึ้นมาใหม่.—กิจการ 3:19, ล.ม.
ดีกว่านั้นอีกคือ ทุ่มความพยายามตลอดเวลาเพื่อปกป้องสติรู้สึกผิดชอบของเราที่รับการฝึกฝนโดยหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่จะไม่ปล่อยให้สิ่งใด ๆ ทำให้สติรู้สึกผิดชอบมัวหมองหรืออ่อนพลังไป. การสำแดงการบังคับตนในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวันของเรา—เช่น การกิน, การดื่ม, การทำธุรกิจ, การบันเทิง, การเกี่ยวข้องกับเพศตรงข้าม—การต่าง ๆ ดังกล่าวย่อมช่วยเรารักษาสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดปราศจากมลทินไว้ได้ และช่วยเราสะท้อนสง่าราศีและศักดิ์ศรีของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา.—1 โกรินโธ 10:31.
สมมุติว่าความรู้สึกผิดเนื่องจากการทำผิดบางอย่างยังคงมีอยู่เรื่อยไปล่ะ? หรือถ้าเรื่องการถูกทำร้ายจิตใจยังคงฝังอยู่ในความทรงจำก่อความปวดร้าวใจไม่เสื่อมคลายล่ะ? ความรู้สึกเหล่านี้อาจทำลายความมีศักดิ์ศรีเฉพาะตัวได้และก่อให้เกิดความซึมเศร้าอย่างหนัก. ถ้อยคำของกษัตริย์ดาวิดที่พบได้ในบทเพลงสรรเสริญ 34:8 ให้การปลอบประโลมมากเพียงใดที่ว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ, และคนที่มีใจสุภาพพระองค์จะทรงช่วยให้รอด!” พระยะโฮวาทรงพร้อมและเต็มพระทัยที่จะเกื้อหนุนค้ำจุนผู้รับใช้ของพระองค์เมื่อเขาต้องต่อสู้กับความซึมเศร้าและความรู้สึกไม่มีค่า. การทูลวิงวอนพระองค์พร้อมกับแสวงการช่วยเหลือจากคนเหล่านั้นซึ่งประกอบด้วยคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณ อาทิ บิดามารดาคริสเตียน, ผู้ปกครอง, และคนอื่นที่ประกอบด้วยวุฒิภาวะในประชาคม นับว่าเป็นวิธีฟื้นฟูการนับถือตนเองและศักดิ์ศรีของตัวเองขึ้นมาอีก.—ยาโกโบ 5:13-15.
ในอีกด้านหนึ่ง เราจำต้องคอยระวังเพื่อจะแยกให้ออกระหว่างศักดิ์ศรีของตัวเองกับความหยิ่งทะนง. คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์คือ “อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็นจะคิดนั้น; แต่คิดอย่างที่จะมีสุขภาพจิตดี แต่ละคนตามขนาดแห่งความเชื่อที่พระเจ้าได้ทรงประทานให้เขา.” (โรม 12:3, ล.ม.) แม้ว่าเป็นการสมควรที่จะพัฒนาการนับถือตัวเอง แต่เราไม่ต้องการตีค่าตัวเองเกินจริงหรือเอาศักดิ์ศรีของมนุษย์ไปปนกับความเห็นแก่ตัวและความบากบั่นเกินตัว อย่างที่บางคนทำไปเพื่อรักษาหน้าตัวเอง.
จริง ๆ แล้ว การเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่นเป็นข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน. สมาชิกครอบครัวของเราและบรรดาเพื่อนคริสเตียนทุกคนล้วนแต่มีคุณค่าและสมควรที่เราพึงให้การนับถือ, การเคารพ, และการยกย่อง. พระยะโฮวาทรงโปรดเราแต่ละคนให้มีขนาดแห่งศักดิ์ศรีและเกียรติยศซึ่งเราควรยอมรับและรักษาไว้. แต่เหนือสิ่งใด เราต้องพัฒนาความเคารพนับถืออย่างลึกซึ้งสำหรับศักดิ์ศรีและความใหญ่ยิ่งเลิศลอยของพระยะโฮวาพระเจ้า พระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์.
[รูปภาพหน้า 31]
หนุ่มสาวสามารถแสดงความนับถือต่อคนทุพพลภาพได้