ให้เกียรติคนทุกชนิด
“จงให้เกียรติคนทุกชนิด . . . จงเกรงกลัวพระเจ้า จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์.”—1 เปโตร 2:17, ล.ม.
1. (ก) นอกจากพระเจ้าและพระคริสต์แล้ว ใครอีกสมควรได้รับเกียรติ? (ข) ตาม 1 เปโตร 2:17 มนุษย์ควรได้รับเกียรติภายในขอบเขตเช่นไร?
เราได้เห็นแล้วว่าเรามีพันธะหน้าที่จะถวายเกียรติแด่พระเจ้ายะโฮวา และแก่พระเยซูคริสต์. การเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง สุขุมและทำด้วยความรัก. กระนั้น พระวจนะของพระเจ้ายังชี้ให้เห็นด้วยว่า เราพึงให้เกียรติแก่เพื่อนมนุษย์. มีคำกำชับพวกเราว่า “จงให้เกียรติคนทุกชนิด.” (1 เปโตร 2:17) เพราะคัมภีร์ข้อนี้จบลงด้วยคำสั่ง “จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์” แสดงนัยว่าควรให้เกียรติแก่ผู้ที่สมควรจะได้รับเกียรติเนื่องด้วยฐานะตำแหน่งของเขา. ถ้าเช่นนั้น เราควรให้เกียรติผู้ใดอย่างสมควร? ผู้คู่ควรกับเกียรติอาจมีมากกว่าที่บางคนนึกถึง. เราอาจบอกได้ว่ามีอยู่สี่ขอบเขตที่เราจะต้องให้เกียรติแก่ผู้อื่น.
ให้เกียรติผู้มีอำนาจในทางการปกครอง
2. เราทราบอย่างไรว่า “พระมหากษัตริย์” ตามที่กล่าวใน 1 เปโตร 2:17 พาดพิงถึงกษัตริย์องค์ใดก็ได้ในโลกนี้หรือผู้มีอำนาจในทางการปกครอง?
2 ขอบเขตแรกเกี่ยวข้องกับอำนาจปกครองฝ่ายบ้านเมือง. เราจำต้องให้เกียรติผู้มีอำนาจในทางการปกครอง. เมื่อเปโตรแนะนำว่า “จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์” ทำไมเราบอกว่าเปโตรหมายถึงผู้มีอำนาจในทางการปกครอง? เพราะท่านกล่าวถึงสภาพการณ์นอกประชาคมคริสเตียน. ท่านพึ่งพูดจบก่อนหน้านี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงยอมตัวอยู่ใต้สิ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นทุกอย่าง. ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ในฐานะที่สูงกว่าก็ดี หรือผู้สำเร็จราชการซึ่งกษัตริย์ทรงส่งมาก็ดี.” พึงสังเกตด้วยว่าเปโตรจัดพระเจ้าไว้ในตำแหน่งต่างกันกับเมื่อพูดว่า “จงเกรงกลัวพระเจ้า จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์.” (1 เปโตร 2:13, 14, ล.ม.) ฉะนั้น “พระมหากษัตริย์” ที่เปโตรตักเตือนพวกเราให้เกียรติเช่นนั้นพาดพิงถึงมหากษัตริย์ที่เป็นมนุษย์และผู้มีอำนาจในทางการปกครอง.
3. ใครคือ “อำนาจที่สูงกว่า” และเขาควรได้รับอะไร?
3 อัครสาวกเปาโลก็สั่งทำนองเดียวกันดังนี้ “จงยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า.” “อำนาจที่สูงกว่า” เหล่านี้ไม่ใช่พระเจ้ายะโฮวาหรือพระเยซูคริสต์ แต่เป็นผู้มีอำนาจในทางปกครอง เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล. ด้วยคำนึงถึงพวกเหล่านี้เปาโลดำเนินเรื่องต่อไปโดยกล่าวว่า “จงให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรได้รับ . . . เกียรติยศควรให้แก่ผู้ใด จงให้แก่ผู้นั้น.” ถูกแล้ว บุคคลดังกล่าวซึ่งพระเจ้าทรงยอมให้เขาใช้อำนาจปกครองทางการเมืองจึงสมควรได้รับเกียรติ.—โรม 13:1, 7, ล.ม.
4. (ก) จะให้เกียรติแก่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยวิธีใด? (ข) อัครสาวกเปาโลได้วางตัวอย่างอะไรไว้เกี่ยวกับการให้เกียรติผู้มีอำนาจปกครอง?
4 เราจะให้เกียรติยศแก่ผู้มีอำนาจในทางการปกครองโดยวิธีใด? วิธีหนึ่งก็คือปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นด้วยความนับถืออย่างสุดซึ้ง. (เทียบกับ 1 เปโตร 3:15, ล.ม.) และเนื่องด้วยฐานะตำแหน่งของเขา จึงควรให้ความนับถือเช่นนั้นแก่เขาแม้นว่าเขาอาจเป็นคนชั่วร้ายก็ตาม. ทาซิทุสนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันพรรณนาถึงเฟลิกซ์ผู้สำเร็จราชการว่า เป็นบุคคลที่ “คิดว่าตนสามารถกระทำการชั่วอย่างไม่สะทกสะท้าน.” ถึงกระนั้น เปาโลได้กล่าวแก้คดีของท่านต่อหน้าบัลลังก์ของเฟลิกซ์ด้วยความนับถือ. ทำนองเดียวกัน เปาโลแถลงต่อกษัตริย์เฮโรด อะฆะริปาที่สองด้วยความนับถือดังนี้: “ข้าพเจ้าถือว่าเป็นลาภใหญ่ที่ได้โอกาสแก้คดีต่อพักตร์ท่านวันนี้” ทั้ง ๆ ที่เปาโลเองทราบว่ากษัตริย์อะฆะริปาดำเนินชีวิตด้วยการร่วมประเวณีที่ผิดทางศีลธรรม. เปาโลได้ให้เกียรติแก่เฟศโตผู้สำเร็จราชการเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า “ท่านเฟศโตเจ้าข้า” แม้นว่าเฟศโตเป็นผู้นมัสการรูปเคารพ.’—กิจการ 24:10; 26:2, 3, 24, 25.
5. วิธีอื่นอะไรอีกที่จะให้เกียรติแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง และพยานพระยะโฮวาได้วางตัวอย่างอันดีในการกระทำเช่นนี้โดยวิธีใด?
5 อีกวิธีหนึ่ง ที่เราให้เกียรติผู้มีอำนาจในทางการปกครองคืออย่างที่เปาโลได้ระบุไว้เมื่อท่านได้เขียนสั่งการให้สิ่งที่ควรให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง. ท่านบอกไว้ว่า “จงให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรได้รับ ภาษีควรให้แก่ผู้ใด จงให้ภาษีแก่ผู้นั้น; ส่วยควรให้แก่ผู้ใดจงให้แก่ผู้นั้น.” (โรม 13:7, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาให้ตามที่ควรให้เช่นนั้นโดยไม่คำนึงว่าเขาอาศัยในประเทศใดในโลก. ในประเทศอิตาลี หนังสือพิมพ์รายวันลา สตัมพา รายงานว่า “พวกเขาเป็นพลเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งซึ่งใคร ๆ ก็ต้องการ: พวกเขาไม่เลี่ยงภาษีหรือหาทางหลบเลี่ยงกฎหมายที่ไม่สะดวกเพื่อประโยชน์ตนเอง.” และหนังสือพิมพ์เดอ โพสท์ แห่งพาล์ม บีช รัฐฟลอริดา สหรัฐ ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาไว้ดังนี้: “พวกเขาเสียภาษี. พวกเขาจัดอยู่ในกลุ่มพลเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งในประเทศนี้.”
ให้เกียรตินายจ้าง
6. อัครสาวกเปาโลกับเปโตรบอกว่าควรให้เกียรติผู้ใดอีก?
6 ขอบเขตที่สองซึ่งควรให้เกียรตินั้นคือที่ทำงาน. ทั้งสองคนคืออัครสาวกเปาโลกับเปโตรต่างก็ได้เน้นความสำคัญที่คริสเตียนพึงให้เกียรติแก่ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมการทำงาน. เปาโลได้เขียนไว้ว่า “ฝ่ายคนทั้งหลายที่เข้าแอกเป็นทาสแล้วควรถือว่านายของตนเป็นผู้สมควรได้รับความนับถือทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ใครกล่าวคำหยาบคายต่อพระนามของพระเจ้าและโอวาท. ฝ่ายทาสทั้งหลายผู้มีนายที่เชื่อแล้วไม่ควรจะประมาทนายโดยเหตุที่เป็นพี่น้องกันแล้ว. แต่ยิ่งควรปฏิบัตินายให้ดีขึ้น.” และเปโตรได้กล่าวว่า “ให้คนรับใช้ในบ้านอยู่ใต้อำนาจนายของตนด้วยความเกรงกลัวที่เหมาะสมทุกอย่าง ไม่ใช่ต่อนายที่ดีและมีเหตุผลเท่านั้น แต่ต่อคนเหล่านั้นที่เอาใจยากด้วย.”—1 ติโมเธียว 6:1, 2; 1 เปโตร 2:18; เอเฟโซ 6:5; โกโลซาย 3:22, 23.
7. (ก) คำแนะนำในคัมภีร์ว่าด้วย “ทาส” พึงแสดงความนับถือต่อ “นาย” จะนำมาใช้ได้กับสภาพปัจจุบันนี้อย่างไร? (ข) คริสเตียนในฐานะลูกจ้างพึงระวังอย่างไรในการปฏิบัติต่อนายจ้างที่เป็นคริสเตียน?
7 ทุกวันนี้สภาพการเป็นนายเป็นทาสไม่ค่อยจะมี. แต่หลักการซึ่งครอบคลุมคริสเตียนในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาสก็ยังคงใช้ปฏิบัติต่อกันได้ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง. ดังนั้น คริสเตียนลูกจ้างจึงมีความรับผิดชอบพึงแสดงความนับถือ แม้กระทั่งต่อนายจ้างซึ่งเอาใจยากด้วยซ้ำ. และถ้านายจ้างเองก็มีความเชื่อเหมือนกับลูกจ้างล่ะ? แทนที่จะคาดหมายการเอาใจใส่พิเศษหรือความชอบพอเป็นส่วนตัวอันเนื่องมาจากสัมพันธภาพเช่นนั้น สมควรที่ลูกจ้างจะปฏิบัติต่อนายจ้างอย่างพร้อมมูลยิ่งขึ้น ไม่ควรคิดเอาเปรียบนายจ้างในทางหนึ่งทางใด.
การให้เกียรติภายในวงครอบครัว
8, 9. (ก) มีข้อเรียกร้องให้บุตรให้เกียรติต่อผู้ใด? (ข) เหตุใดบุตรควรให้เกียรติอย่างนี้ และจะแสดงให้เห็นโดยวิธีใด?
8 ขอบเขตที่สามซึ่งควรให้เกียรติคือภายในวงครอบครัว. ตัวอย่างเช่น บุตรย่อมมีพันธะหน้าที่จะให้เกียรติบิดามารดาของตน. ทั้งนี้หาใช่เป็นเพียงข้อเรียกร้องตามพระบัญญัติที่ประทานแก่โมเซเท่านั้นไม่ แต่เป็นพันธะสำหรับคริสเตียนด้วย. อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่า “ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม: ‘จงให้เกียรติบิดามารดาของตน.’”—เอเฟโซ 6:1, 2, ล.ม.; เอ็กโซโด 20:12.
9 เพราะเหตุใดบุตรควรให้เกียรติบิดามารดาของตน? บุตรควรให้เกียรติบิดามารดาเพราะพระเจ้าทรงให้อำนาจแก่บิดามารดา และอีกประการหนึ่ง เนื่องจากสิ่งที่บิดามารดาได้กระทำ เช่น ให้กำเนิด เลี้ยงดูทะนุถนอมเขาตั้งแต่เล็ก. บุตรควรให้เกียรติบิดามารดาของตนอย่างไร? บุตรควรทำอย่างนี้เป็นพิเศษโดยการเป็นคนเชื่อฟังและอยู่ในอำนาจของบิดามารดา. (สุภาษิต 23:22, 25, 26; โกโลซาย 3:20) การให้เกียรติดังกล่าวอาจเรียกร้องการที่บุตรที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะให้การอุดหนุนเกื้อกูลบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายวัยชรา ทั้งด้านวัตถุสิ่งของและฝ่ายวิญญาณ. การเช่นนี้ต้องทำให้ได้ดุลภาพกันอย่างสุขุมกับความรับผิดชอบอื่น ๆ เช่นการเอาใจใส่ลูกของตนเอง และการเข้าส่วนเต็มที่ในการสมาคมและการประกาศฝ่ายคริสเตียน.—เอเฟโซ 5:15-17; 1 ติโมเธียว 5:8; 1 โยฮัน 3:17.
10. ภรรยามีหน้าที่ต้องให้เกียรติผู้ใด และภรรยาจะทำสิ่งนี้ได้โดยวิธีใด?
10 แต่ไม่ใช่เฉพาะบุตรเท่านั้นในวงครอบครัวซึ่งมีพันธะจะให้เกียรติแก่คนอื่น. ภรรยาควรให้เกียรติสามี. อัครสาวกเปาโลยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า “ภรรยาควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามีของตน.” (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.; 1 เปโตร 3:1, 2) การแสดง “ความนับถืออย่างสุดซึ้ง” ย่อมรวมเอาการให้เกียรติแก่สามีด้วย. นางซาราให้เกียรติอับราฮามโดยเรียกท่านว่า “นาย.” (1 เปโตร 3:6, ล.ม.) ดังนั้น ภรรยาทั้งหลาย จงเลียนแบบนางซารา. จงให้เกียรติสามีของคุณโดยรับรองการตัดสินใจของเขาและร่วมมือเพื่อการตัดสินใจของเขาประสบความสำเร็จ. โดยกระทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อแบ่งเบาภาระที่สามีของคุณต้องรับผิดชอบ แทนที่จะเพิ่มภาระหนัก ก็นับว่าคุณให้เกียรติสามีของคุณ.
11. เกี่ยวกับการให้เกียรติ ฝ่ายสามีมีพันธะอะไร และทำไม?
11 ฝ่ายสามีล่ะเป็นอย่างไร? สามีเองก็ได้รับคำแนะนำซึ่งมีอยู่ในพระวจนะของพระเจ้าที่ว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี จงอยู่กับภรรยาต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันตามความรู้ ให้เกียรติยศ แก่เขาทั้งหลายเหมือนกับภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง เนื่องจากท่านทั้งหลายเป็นผู้รับมรดกความโปรดปรานอันไม่พึงได้รับแห่งชีวิตร่วมกับเขา เพื่อคำอธิษฐานของท่านจะไม่ถูกขัดขวาง.” (1 เปโตร 3:7, ล.ม.) แน่นอน ข้อนี้น่าจะทำให้สามีทุกคนคิด. เป็นประหนึ่งว่า ภรรยาถือป้ายที่ว่า “มีค่า. บอบบาง. จับต้องด้วยความระมัดระวัง! จงให้เกียรติ!” ฉะนั้น ขอให้สามีทั้งหลายจำไว้ว่า หากตนไม่ให้เกียรติแก่ภรรยาโดยการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเธอ เขาจะเป็นฝ่ายทำให้สัมพันธภาพระหว่างตนกับพระเจ้ายะโฮวาเป็นอันตราย เพราะคำอธิษฐานของเขาจะถูกขัดขวาง. จริงทีเดียว สมาชิกครอบครัวย่อมได้ประโยชน์ร่วมกันเมื่อทุกฝ่ายต่างก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน.
ในประชาคม
12. (ก) ใครมีความรับผิดชอบที่จะให้เกียรติในประชาคม? (ข) พระเยซูทรงแสดงไว้อย่างไรว่าเป็นการเหมาะสมที่จะรับเกียรติ?
12 อีกประการหนึ่ง เป็นความรับผิดชอบที่ทุกคนต้องให้เกียรติภายในประชาคม. เราได้รับคำแนะนำดังนี้: “ในการให้เกียรติแก่กันและกัน จงนำหน้า.” (โรม 12:10, ล.ม.) ในอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งเหมาะสมที่จะรับเกียรติยศ. พระองค์ตรัสว่าเมื่อเราได้รับเชิญไปในงานเลี้ยง เราควรเข้าไปนั่งที่ต่ำสุดเพราะถ้าเช่นนั้นเจ้าภาพจะเชิญเราไปนั่งที่สูงกว่า และเราจะได้รับเกียรติต่อหน้าแขกเหรื่อทุกคนที่ไปในงานนั้น. (ลูกา 14:10) บัดนี้ ในเมื่อเราทุกคนพอใจยินดีกับการได้รับเกียรติ เราจะไม่เอาใจเขามาใส่ใจเราและให้เกียรติแก่กันทีเดียวหรือ? เราจะทำได้อย่างไร?
13. มีทางใดบ้างเราสามารถให้เกียรติผู้อื่นในประชาคมได้?
13 การพูดแสดงความหยั่งรู้ค่าสำหรับการงานซึ่งได้ทำเสร็จไปแล้วอย่างเรียบร้อยก็เท่ากับเป็นการให้เกียรติ. ดังนั้น เราจะให้เกียรติกันและกันได้โดยการพูดชมเชย อาจเป็นคำชมสำหรับคำบรรยายหรือพูดชมคำตอบให้ข้อคิดเห็นของบางคนในประชาคม. นอกจากนั้น เราอาจให้เกียรติกันและกันด้วยการเจียมตนถ่อมใจเมื่อปฏิบัติกับพี่น้องคริสเตียนชายหญิงของเราด้วยความนับถืออย่างสุดซึ้ง. (1 เปโตร 5:5) ด้วยเหตุนี้ เราแสดงให้เห็นว่าเรานิยมชมชอบเขาฐานะเพื่อนผู้ร่วมรับใช้พระเจ้ายะโฮวา.
14. (ก) พี่น้องชายในประชาคมจะให้เกียรติซึ่งพี่น้องหญิงพึงได้รับนั้นได้อย่างไร? (ข) มีอะไรแสดงว่าการให้ของกำนัลเป็นวิธีหนึ่งของการให้เกียรติผู้อื่น?
14 อัครสาวกเปาโลได้แนะนำติโมเธียวชายหนุ่มให้ปฏิบัติต่อผู้หญิงคริสเตียนอายุมากกว่าเสมือนมารดา และปฏิบัติต่อผู้หญิงอายุอ่อนกว่าเหมือนกับน้องสาวแท้ ๆ ด้วย “ความบริสุทธิ์ทั้งสิ้น.” ใช่แล้ว เมื่อพี่น้องชายระมัดระวังไม่ถือสิทธิ์ล่วงเกินพี่น้องสตรีคริสเตียน เช่นโดยการแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมเกินควร เขาก็ให้เกียรติแก่พี่น้องหญิงเหล่านั้น. เปาโลได้เขียนเตือนต่อไปดังนี้ “จงให้เกียรติแม่ม่ายซึ่งเป็นแม่ม่ายจริง ๆ.” วิธีหนึ่งที่จะให้เกียรติแม่ม่ายที่อัตคัตก็โดยการจุนเจือเกื้อหนุน. แต่นางสมควรจะได้รับความช่วยเหลือตามเงื่อนไขก็ต่อเมื่อ “เคยมีชื่อเสียงว่าได้กระทำการดี.” (1 ติโมเธียว 5:2-10) ในเรื่องการเกื้อหนุนด้วยการให้สิ่งของนั้น ลูกาได้บันทึกเรื่องผู้คนบนเกาะเมลีเต [มอลตา] ดังนี้: “เขาทั้งหลายจึงนับถือ [ให้เกียรติ, ล.ม.] เราเป็นอันมาก เมื่อเราจะแล่นเรือไปจากที่นั่น เขาจึงนำสิ่งของที่เราต้องการมาให้เราทุกสิ่ง.” (กิจการ 28:10) ดังนั้น การให้เกียรติจึงอาจกระทำได้โดยจัดเตรียมให้สิ่งของเป็นของกำนัล.
15. (ก) เรามีพันธะโดยเฉพาะที่จะให้เกียรติต่อผู้ใด? (ข) อะไรเป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถให้เกียรติคนเหล่านั้นที่นำหน้า?
15 เปาโลยังเขียนต่อไปในจดหมายถึงติโมเธียวว่า “จงถือว่าผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานอย่างดีนั้นสมควรได้รับเกียรติสองเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่พากเพียรในการพูดและการสั่งสอน.” (1 ติโมเธียว 5:17, ล.ม.) เราจะให้เกียรติผู้ปกครองหรือผู้ดูแลด้วยวิธีใด? เปาโลกล่าวอย่างนี้ “ท่านทั้งหลายจงประพฤติตามอย่างข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้าประพฤติตามอย่างพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:1) เมื่อเราเชื่อฟังเปาโลโดยเป็นผู้เลียนแบบท่าน เราก็ให้เกียรติแก่ท่าน. เรื่องนี้ก็คงใช้ได้กับบุคคลเหล่านั้นซึ่งนำหน้าพวกเราสมัยนี้. ตราบใดที่เราเลียนแบบพวกเขาโดยติดตามตัวอย่างของเขา เราก็ได้ให้เกียรติแก่เขา.
16. มีวิธีใดอีกบ้างที่จะให้เกียรติคนเหล่านั้นที่นำหน้า?
16 การให้เกียรติผู้ดูแลอีกวิธีหนึ่งคือเชื่อฟังคำตักเตือนแนะนำ: “ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังและยอมอยู่ในโอวาทของคนเหล่านั้นที่ปกครองท่าน ด้วยว่าท่านเหล่านั้นคอยระวังดูจิตวิญญาณของท่าน เหมือนกับผู้ที่จะต้องรายงาน.” (เฮ็บราย 13:17) บุตรแสดงความนับถือบิดามารดาของตนโดยประพฤติตนเชื่อฟังบิดามารดาฉันใด เราก็ย่อมให้เกียรติแก่บุคคลเหล่านั้นที่นำหน้าพวกเราโดยประพฤติตนเชื่อฟังและยินยอมอยู่ในอำนาจของเขาฉันนั้น. และเช่นเดียวกันกับเปาโลพร้อมด้วยเพื่อนร่วมทางได้รับเกียรติจากชาวเกาะเมลีเตที่มีน้ำใจโดยการจัดหาสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ท่าน ผู้ดูแลเดินทางจำนวนมากซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมก็ได้รับเกียรติแบบเดียวกันครั้งแล้วครั้งเล่า. แต่แน่นอน ผู้ดูแลเดินทางเหล่านี้ไม่ควรขอร้องของกำนัลหรือแสดงนัยว่าตนพอใจจะได้หรือมีความจำเป็นจะได้รับของกำนัล.
17. ผู้มีสิทธิพิเศษฐานะผู้ดูแลมีหน้าที่อะไรในการให้เกียรติผู้อื่น?
17 ในทางตรงกันข้าม ทุกคนซึ่งอยู่ในตำแหน่งดูแลภายในองค์การของพระเจ้า—ไม่ว่าในประชาคมท้องถิ่น ผู้ดูแลเดินทางในหมวดหรือภาค หรืออยู่ประจำสำนักงานสาขาสมาคมวอชเทาเวอร์ หรือภายในวงครอบครัว—ล้วนมีหน้าที่จะให้เกียรติแก่คนเหล่านั้นที่อยู่ภายใต้การดูแลของตน. ทั้งนี้เขาจะต้องแสดงความรู้สึกอย่างที่เอาใจเขามาใส่ใจเราและมีน้ำใจต่อกัน. เขาต้องเป็นคนที่เข้าพบได้ง่ายเสมอ เป็นคนอ่อนโยนและใจถ่อมไม่ถือตัว ดังที่พระเยซูคริสต์ได้ตรัสว่าพระองค์เองทรงเป็นแบบนั้น.—มัดธาย 11:29, 30.
พยายามให้เกียรติซึ่งกันและกัน
18. (ก) อะไรอาจยับยั้งเรามิให้เกียรติบุคคลซึ่งสมควรได้รับ? (ข) เหตุใดจึงไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับแง่คิดในเชิงลบและการชอบวิพากษ์วิจารณ์?
18 พวกเราทุกคนจำต้องพากเพียรเพื่อให้เกียรติซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีอุปสรรคใหญ่คอยขัดขวางมิให้เรากระทำเช่นนั้น. อุปสรรคหรือสิ่งขัดขวางนั้นได้แก่หัวใจที่ไม่สมบูรณ์พร้อมของเรา. ดังแจ้งไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ความคิดในใจของมนุษย์นั้นล้วนแต่ชั่วตั้งแต่เด็กมา.” (เยเนซิศ 8:21) แนวโน้มอย่างหนึ่งของมนุษย์ซึ่งอาจขัดขวางการให้เกียรติต่อคนอื่นก็คือความคิดในแง่ลบ ชอบวิพากษ์วิจารณ์. พวกเราทุกคนเป็นคนอ่อนแอไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องได้รับความเมตตาและพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระยะโฮวา. (โรม 3:23, 24) ด้วยการหยั่งรู้เรื่องนี้ ขอให้เราระมัดระวังตัว อย่าครุ่นคิดถึงจุดอ่อนของพี่น้องหรือถือว่าเจตคติของพวกพี่น้องเป็นที่น่าสงสัย.
19. อะไรจะช่วยเราขจัดทัศนะในแง่ลบได้?
19 เครื่องแก้แนวโน้มในแง่ลบเช่นนี้ ได้แก่ความรักและการควบคุมตนเอง. เราจำเป็นต้องมีแง่คิดในแนวที่ส่อความเห็นอกเห็นใจ ซื่อสัตย์และในแง่บวกเมื่อปฏิบัติกับพี่น้องของเรา รับรู้ข้อดีต่าง ๆ ของเขา. ถ้ามีบางอย่างซึ่งเราไม่เข้าใจ ขอให้เราเต็มใจจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่พี่น้องเสมอ และเชื่อฟังคำแนะนำของเปโตรที่ว่า “ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน เพราะความรักปกปิดความผิดไว้มากมาย.” (1 เปโตร 4:8, ล.ม.) เราจะต้องมีความรักแบบนี้ถ้าเราจะให้เกียรติแก่พี่น้องตามที่เขาควรจะได้.
20, 21.(ก) แนวโน้มอีกอย่างหนึ่งคืออะไรซึ่งดูเหมือนว่าคอยขัดขวางมิให้เราให้เกียรติแก่กันและกัน? (ข) อะไรจะช่วยเราเพื่อขจัดแนวโน้มเช่นนี้?
20 นิสัยอีกอย่างหนึ่งซึ่งดูจะขัดขวางการให้เกียรติซึ่งคนอื่นควรได้จากเราคือ การเป็นคนที่ค่อนข้างใจน้อย หรือมีอารมณ์อ่อนไหวมาก. ความอ่อนไหวย่อมมีขอบเขต. ศิลปินต้องเป็นคนที่รู้สึกไวต่อเสียงต่อสีเนื่องจากเป็นส่วนของงานอาชีพของเขา. แต่การมีอารมณ์อ่อนไหวมากไปหรือแสดงอาการใจน้อยในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นนั้นส่อลักษณะอันเห็นแก่ตัวซึ่งอาจปล้นความสุขไปจากเราได้ แถมขัดขวางเราในการให้เกียรติแก่ผู้อื่น.
21 คำแนะนำที่ดีสำหรับเรื่องนี้จะอ่านพบได้ในพระธรรมท่านผู้ประกาศ 7:9 ว่า “อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว เพราะความโกรธมีประจำอยู่ในทรวงอกของคนโฉดเขลา.” ดังนั้น การมีอารมณ์อ่อนไหวเกินควรหรือเป็นคนโกรธง่ายเช่นนั้นย่อมส่อถึงการขาดสติปัญญา ขาดสำนึกที่ดี และขาดความรัก. เราต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอเกรงว่าความโน้มเอียงของเราในทางผิด ๆ เช่น การคิดในแง่ลบ หรือวิพากษ์วิจารณ์มากไป หรือใจน้อยจะคอยขัดขวางเราไม่ได้ให้เกียรติคนทั้งปวงตามที่เขาควรจะได้.
22. เราอาจสรุปหน้าที่ของเราอย่างไรในเรื่องการให้เกียรติ?
22 แท้จริง เรามีเหตุผลมากมายสำหรับการให้เกียรติผู้อื่น. และ ดังที่เราได้เห็นแล้วว่า มีหลายทางจริง ๆ ที่เราสามารถให้เกียรติดังกล่าว. เราต้องระวังระไวตลอดเวลาเพื่อว่าความเห็นแก่ตัวก็ดี หรือเจตคติในแง่ลบจะไม่ยับยั้งเราจนไม่ได้ให้เกียรติผู้อื่น. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องเป็นคนรอบคอบที่จะให้เกียรติคนภายในวงครอบครัวของเรา สามีภรรยาแก่กันและกัน และบุตรแก่บิดามารดา. ส่วนในประชาคมเรามีหน้าที่จะให้เกียรติแก่เพื่อนผู้นมัสการ และโดยเฉพาะให้คนเหล่านั้นที่อุตสาหะพากเพียรทำงานในตำแหน่งดูแลพวกเรา. ทุกขอบเขตเหล่านี้ นับว่าเป็นประโยชน์แก่เราที่จะให้เกียรติอย่างเหมาะสมต่อคนเหล่านั้นที่เรากล่าวไว้ข้างบน เนื่องจากพระเยซูได้ตรัสว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมเราพึงให้เกียรติเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองและโดยวิธีใด?
▫ คำแนะนำอะไรในคัมภีร์อาจนำไปใช้ได้กับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง?
▫ ควรให้เกียรติโดยวิธีใดภายในวงครอบครัว?
▫ อาจให้เกียรติอะไรเป็นพิเศษในประชาคม และทำไม?
▫ อาจจะชนะจุดอ่อนต่าง ๆ ของมนุษย์โดยวิธีใดในการที่ไม่ได้ให้เกียรติผู้อื่น?