จงวางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์
“คนทั้งหลายที่รู้จักพระนามของพระองค์แล้วจะวางใจในพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 9:10.
1. เหตุใดพวกเราสมัยปัจจุบันยังคงมีความมั่นใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์?
ในโลกสมัยนี้ คำเชิญชวนให้วางใจในพระเจ้าและคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์อาจดูเหมือนใช้ไม่ได้ผลและไม่ตรงตามสภาพที่เป็นจริง. กระนั้น พระสติปัญญาของพระเจ้าได้รับการพิสูจน์ตลอดเวลาอันยาวนานว่าสัตย์จริงและใช้ได้ผล. พระผู้สร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิงนั้นได้ทรงเป็นต้นกำเนิดของการสมรสและครอบครัว และพระองค์ทรงทราบความต้องการของเราดียิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งสิ้น. ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนฉันใด แนวทางหลัก ๆ ที่จะสนองความต้องการเหล่านั้นก็ยังคงเป็นเช่นเดิมฉันนั้น. คำแนะนำอันสุขุมของคัมภีร์ไบเบิล แม้จารึกไว้นานหลายศตวรรษมาแล้วก็ตาม ก็ยังคงเป็นเครื่องชี้นำที่ดีเยี่ยมเพื่อบรรลุความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและในการแก้ปัญหา. การปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นย่อมนำมาซึ่งความผาสุกเหลือล้น—แม้แต่ในโลกวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเราอาศัยอยู่นี้!
2. (ก) การเชื่อฟังข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าก่อผลดีอะไรบ้างในชีวิตไพร่พลของพระยะโฮวา? (ข) พระยะโฮวาทรงสัญญาจะประทานอะไรอีกแก่คนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์และพระคำของพระองค์?
2 การวางใจในพระยะโฮวาและปฏิบัติตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลย่อมยังประโยชน์ที่ใช้ได้ผลจริงทุก ๆ วัน. ความจริงข้อนี้ปรากฏในชีวิตของพยานพระยะโฮวาหลายล้านคนทั่วโลก ผู้ซึ่งมีความเชื่อมั่นและมีความกล้าที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิล. สำหรับพวกเขาแล้ว การวางใจในพระผู้สร้างและพระคำของพระองค์ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นการไว้วางใจไม่ผิดที่. (บทเพลงสรรเสริญ 9:9, 10) การเชื่อฟังข้อกฎหมายของพระเจ้าทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ดีขึ้นในด้านความสะอาด, ความซื่อสัตย์สุจริต, ความขยันหมั่นเพียร, การนับถือต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น, และการประมาณตนเรื่องการกินการดื่ม. การเชื่อฟังเช่นนั้นนำไปสู่การให้ความรักและการอบรมอย่างเหมาะสมภายในวงครอบครัว อาทิ ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, อดทน, มีเมตตา, และให้อภัย และรวมไปถึงคุณลักษณะอื่น ๆ อีกมากมาย. พวกเขาสามารถหลีกเว้นผลเสียหายอันใหญ่หลวงเนื่องมาจากความโกรธ, ความเกลียดชัง, การฆ่าคน, ความอิจฉาริษยา, ความกลัว, ความเกียจคร้าน, ความหยิ่งทะนง, การโกหก, การใส่ร้าย, การสำส่อน, และการประพฤติผิดศีลธรรม. (บทเพลงสรรเสริญ 32:10) แต่พระเจ้าไม่เพียงแต่สัญญาจะบันดาลผลอันดีแก่คนเหล่านั้นที่รักษาข้อบัญญัติของพระองค์. พระเยซูตรัสถึงบรรดาผู้ที่ประพฤติในแนวทางคริสเตียนว่า “ในชาตินี้. . . . จะได้รับตอบแทนร้อยเท่าคือ . . . มารดา, ลูกและไร่นา, ทั้งจะถูกความข่มเหงด้วย, และในชาติหน้าจะได้ชีวิตนิรันดร์.”—มาระโก 10:29, 30.
จงหลีกเลี่ยงการวางใจปัญญาฝ่ายโลก
3. เมื่อวางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ต่อเนื่องมิได้ขาดนั้น บางครั้งคริสเตียนเผชิญปัญหาอะไรบ้าง?
3 ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์ไม่สมบูรณ์คือพวกเขามักจะประเมินค่าสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องต่ำไปหรือหลงลืมสิ่งเหล่านั้น. เป็นการง่ายที่เขาจะเริ่มคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด หรือคิดว่าปัญญาจากคนฉลาดปราดเปรื่องของโลกนั้นเยี่ยมยอดกว่าสติปัญญาของพระเจ้า คือทันสมัยกว่า. ผู้รับใช้ของพระเจ้าอาจพัฒนาทัศนคติแบบนี้เหมือนกัน เนื่องจากพวกเขาดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกนี้. ด้วยเหตุนี้ ในการเชิญชวนซึ่งเปี่ยมด้วยความรักให้เชื่อฟังคำแนะนำของพระองค์ พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จึงรวมเอาคำเตือนสติอย่างเหมาะสมไว้ด้วยที่ว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, อย่าลืมโอวาทของเรา; แต่จงให้ใจของเจ้ารักษาบัญญัติทั้งหลายของเรา: เพราะว่าบัญญัตินั้นจะเพิ่มวันและปีเดือนทั้งหลายแห่งชีวิตของเจ้า, กับสันติสุขให้แก่เจ้า. จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง. อย่าอวดว่าตนเป็นคนฉลาด; จงยำเกรงพระยะโฮวา, และละจากความชั่ว.”—สุภาษิต 3:1, 2, 5-7.
4. “ปัญญาของโลกนี้” แผ่ไปทั่วอย่างไร และเหตุใดจึงเป็น “อปัญญาเฉพาะพระเจ้า”?
4 ปัญญาของโลกนี้มีดาษดื่นและมาจากแหล่งต่าง ๆ กัน. มีสถาบันการศึกษามากมาย และการ “ทำหนังสือมากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด.” (ท่านผู้ประกาศ 12:12, ล.ม.) เวลานี้ สิ่งที่เรียกกันว่าทางด่วนข้อมูลของโลกคอมพิวเตอร์สัญญาจะให้หลักฐานข้อมูลไม่จำกัดได้เกือบทุกเรื่อง. แต่การพรั่งพร้อมด้วยความรู้เหล่านี้ก็หาได้ทำให้โลกนี้ฉลาดขึ้นหรือแก้ปัญหาให้ตัวมันเองได้. ตรงกันข้าม สภาพการณ์ของโลกเลวร้ายมากยิ่งขึ้นทุกวัน. จึงเป็นที่เข้าใจได้ที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “ปัญญาของโลกนี้เป็นอปัญญาเฉพาะพระเจ้า.”—1 โกรินโธ 3:19, 20.
5. คัมภีร์ไบเบิลให้คำเตือนไว้อย่างไรในเรื่อง “ปัญญาของโลกนี้”?
5 ระหว่างช่วงท้ายสุดของสมัยสุดท้ายนี้ สิ่งที่พึงคาดหมายได้อย่างเดียวคือซาตานพญามารผู้หลอกลวงตัวเอ้จะเปิดฉากปล่อยคำโกหกทะลักเข้ามากัดกร่อนทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อความสัตย์จริงของคัมภีร์ไบเบิล. พวกนักวิจารณ์พระคัมภีร์ได้ผลิตหนังสือมากมายในแนวแพร่ข้อสงสัย ซึ่งเป็นการท้าทายความถูกต้องและความเชื่อถือวางใจได้ของคัมภีร์ไบเบิล. เปาโลเคยเตือนเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “ติโมเธียวเอ๋ย, ซึ่งเราฝากไว้กับท่านนั้นจงเฝ้ารักษา, และจงหลีกไปเสียจากการเถียงกันนอกคอกนอกทาง [“ละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์,” ล.ม.] และจากความรู้อันเท็จซึ่งมีข้อแย้งกันอยู่เสมอที่เขาเรียกผิดไปว่าเป็นความรู้ ซึ่งบางคนได้รับเอาไว้แล้วเลยหลงไปจากความเชื่อนั้น.” (1 ติโมเธียว 6:20, 21) คัมภีร์ไบเบิลยังเตือนอีกด้วยว่า “จงระวังให้ดี, เกรงว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดนำท่านทั้งหลายให้หลงด้วยหลักปรัชญาและด้วยคำล่อลวงเหลวไหล, ตามเรื่องซึ่งมนุษย์สอนกันต่อ ๆ มานั้น, ตามโลกธรรม, และไม่ใช่ตามพระคริสต์.”—โกโลซาย 2:8.
จงต่อต้านแนวโน้มจะสงสัย
6. ทำไมการตื่นตัวอยู่เสมอเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ความสงสัยหยั่งรากในหัวใจ?
6 กลเม็ดอีกอย่างหนึ่งของพญามารคือการเพาะความสงสัยไว้ในจิตใจ. พญามารคอยจ้องดูความอ่อนแอด้านความเชื่อแล้วใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอนั้น. ใครก็ตามที่เคยคิดเคลือบแคลงสงสัยควรจำไว้ว่า ผู้อยู่เบื้องหลังความสงสัยดังกล่าวคือผู้ที่เคยพูดกับฮาวาดังนี้: “จริงหรือที่พระเจ้าตรัสห้ามว่า, ‘เจ้าอย่ากินผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้?” ครั้นผู้ล่อใจได้เพาะความสงสัยลงในความคิดของนางแล้ว ขั้นต่อไปก็คือพูดโกหกกับนาง ซึ่งฮาวาก็หลงเชื่อ. (เยเนซิศ 3:1, 4, 5) ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ความสงสัยทำลายความเชื่อของเราอย่างที่เป็นมาแล้วกับฮาวา เราจึงต้องเป็นคนตื่นตัวเฝ้าระวังอันตราย. หากความเคลือบแคลงเกี่ยวกับพระยะโฮวา, พระคำของพระองค์, หรือองค์การของพระองค์ผุดขึ้นในหัวใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็จงรีบขจัดออกไปโดยเร็วก่อนที่มันจะคั่งค้างอยู่ซึ่งอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำลายความเชื่อของคุณก็ได้.—เทียบกับ 1 โกรินโธ 10:12.
7. อาจทำประการใดบ้างที่จะกำจัดความสงสัยให้หมดสิ้น?
7 จะทำอะไรได้บ้าง? อีกครั้งหนึ่ง คำตอบคือวางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์. “ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา ก็ให้ผู้นั้นทูลขอพระเจ้าต่อ ๆ ไป เพราะพระองค์ทรงประทานแก่ทุกคนด้วยพระทัยเอื้ออารีและโดยมิได้ทรงติว่า แล้วจะทรงประทานให้แก่ผู้นั้น. แต่จงให้ผู้นั้นทูลขอต่อ ๆ ไปด้วยความเชื่อ อย่าสงสัยเลย เพราะว่าผู้ที่สงสัยก็เป็นเหมือนคลื่นในทะเลที่ถูกลมพัดและซัดไปมา.” (ยาโกโบ 1:5, 6; 2 เปโตร 3:17, 18, ล.ม.) ดังนั้น การทูลอธิษฐานด้วยน้ำใสใจจริงต่อพระยะโฮวาเป็นก้าวแรก. (บทเพลงสรรเสริญ 62:8) ครั้นแล้ว อย่าลังเลที่จะขอการช่วยเหลือจากพวกผู้ดูแลในประชาคมผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยความรัก. (กิจการ 20:28; ยาโกโบ 5:14, 15; ยูดา 22) บุคคลดังกล่าวจะช่วยคุณสืบหาที่มาของความสงสัย ซึ่งอาจเนื่องมาจากความหยิ่งทะนงหรือการคิดอย่างผิด ๆ ก็ได้.
8. การคิดแบบออกหากมักจะเริ่มต้นอย่างไร และอะไรเป็นวิธีแก้?
8 การอ่านหรือการฟังความคิดเห็นของพวกออกหากหรือปรัชญาทางโลกเป็นต้นตอทำให้เกิดความสงสัยที่เป็นพิษเป็นภัยไหม? คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่สุขุมดังนี้: “จงทำสุดความสามารถเพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง. แต่จงหลีกเลี่ยงการพูดไร้สาระซึ่งละเมิดสิ่งบริสุทธิ์; ด้วยว่าพวกเขาจะเข้าไปสู่ความไม่เลื่อมใสในพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และคำพูดของพวกเขาจะแผ่ลามไปเหมือนเนื้อตาย.” (2 ติโมเธียว 2:15-17, ล.ม.) เป็นสิ่งน่าสนใจเมื่อหลายคนซึ่งกลายเป็นเหยื่อพวกออกหากได้เริ่มต้นไปในทิศทางที่ผิด โดยทีแรกก็โอดครวญว่า ตนรู้สึกอย่างไรต่อการที่ได้รับการปฏิบัติภายในองค์การของพระยะโฮวา. (ยูดา 16) ต่อมาก็เริ่มจับผิดหลักข้อเชื่อต่าง ๆ. ศัลยแพทย์ไม่รอช้าที่จะผ่าตัดเอาเนื้อตายออกฉันใด ก็จงรีบขจัดแนวโน้มใด ๆ ที่จะบ่นว่า หรือที่จะเป็นคนไม่พอใจต่อวิธีการกระทำต่าง ๆ ภายในประชาคมคริสเตียนออกไปจากความคิดฉันนั้น. (โกโลซาย 3:13, 14) จงขจัดสิ่งใด ๆ ซึ่งส่งเสริมความเคลือบแคลงสงสัยดังกล่าวออกไปให้สิ้น.—มาระโก 9:43.
9. กิจวัตรที่ดีตามระบอบของพระเจ้าจะช่วยเราได้อย่างไรเพื่อเราสามารถจะมั่นคงอยู่ในความเชื่อต่อ ๆ ไป?
9 จงยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นกับพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์. ด้วยความซื่อสัตย์ภักดี จงเลียนแบบเปโตรที่แถลงอย่างเด็ดเดี่ยวดังนี้: “พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะจากไปหาผู้ใดเล่า? พระองค์ทรงมีถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 6:52, 60, 66-68, ล.ม.) จงจัดตารางเวลาที่ดีสำหรับการศึกษาพระคำของพระยะโฮวาเพื่อคุณจะธำรงความเชื่ออันเปรียบเสมือนโล่ใหญ่ให้มั่นคง ซึ่งสามารถจะ “ดับลูกศรเพลิงของพญามารเสีย.” (เอเฟโซ 6:16) จงขยันขันแข็งทำงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนและด้วยความรัก เข้าส่วนบอกเล่าข่าวสารราชอาณาจักรแก่ผู้อื่น. ควรคิดรำพึงทุกวันด้วยการหยั่งรู้ค่าวิธีต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงอวยพรคุณ. จงขอบพระคุณที่คุณมีความรู้เกี่ยวกับความจริง. การทำทุกสิ่งเหล่านี้จนเป็นกิจวัตรอันดีสำหรับคริสเตียนจะช่วยคุณให้มีความสุข, ให้อดทน, และคุณจะไม่สงสัยแคลงใจเลย.—บทเพลงสรรเสริญ 40:4; ฟิลิปปอย 3:15, 16; เฮ็บราย 6:10-12.
ปฏิบัติตามการชี้นำของพระยะโฮวาเกี่ยวกับชีวิตสมรส
10. ทำไมจึงสำคัญเป็นพิเศษที่จะหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อรับการชี้นำในชีวิตสมรสของคริสเตียน?
10 ในการจัดเตรียมให้ชายและหญิงอยู่ร่วมกันฐานะเป็นคู่สมรส พระยะโฮวาทรงมุ่งหมายไม่เพียงแต่ให้มีมนุษย์อยู่เต็มแผ่นดินโลกอย่างสะดวกสบาย แต่ยังเพิ่มความสุขแก่เขาด้วย. อย่างไรก็ดี บาปและความไม่สมบูรณ์ได้ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นกับสายสัมพันธ์ของการสมรส. คริสเตียนก็เหมือนกันไม่ได้รับการยกเว้นจากปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขาเป็นคนไม่สมบูรณ์เช่นกัน และประสบความกดดันจากการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน. ถึงกระนั้น ตราบใดที่เขาวางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ คริสเตียนย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตสมรสและการอบรมเลี้ยงดูบุตรของตน. ชีวิตสมรสของคริสเตียนไม่เปิดช่องว่างให้มีกิจปฏิบัติต่าง ๆ และพฤติกรรมอย่างชาวโลก. พระคำของพระเจ้าเตือนเราว่า “จงให้การสมรสเป็นที่น่านับถือท่ามกลางคนทั้งปวง, และให้เตียงสมรสปราศจากมลทิน ด้วยว่าพระเจ้าจะทรงพิพากษาคนผิดประเวณีและคนเล่นชู้.”—เฮ็บราย 13:4, ล.ม.
11. เพื่อแก้ปัญหาชีวิตสมรส ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับอะไร?
11 ชีวิตสมรสซึ่งดำเนินตามข้อเรียกร้องของคัมภีร์ไบเบิลมีบรรยากาศของความรัก, การสำนึกถึงพันธะหน้าที่, และความรู้สึกปลอดภัย. ทั้งสามีและภรรยาต่างก็เข้าใจและนับถือหลักการเกี่ยวด้วยความเป็นประมุข. เมื่อเกิดความยุ่งยาก บ่อยครั้งมักจะสืบเนื่องจากการละเลยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิล. เพื่อแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อ จำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายพึงพิจารณาด้วยความจริงใจว่าอะไรเป็นปัญหาจริง ๆ และจัดการที่ต้นเหตุ ไม่ใช่จัดการกับผลที่ปรากฏขึ้นมาเท่านั้น. หากการถกกันเมื่อเร็ว ๆ นี้นำไปสู่การเห็นพ้องกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่เห็นพ้องกัน คู่สมรสอาจขอการช่วยเหลืออย่างไม่ลำเอียงจากผู้ดูแลที่มีความรัก.
12. (ก) คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำสำหรับปัญหาพื้น ๆ อะไรในชีวิตสมรส? (ข) ทำไมจึงมีความจำเป็นในส่วนของทั้งสามีและภรรยาพึงกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระยะโฮวา?
12 ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องไหมกับการสื่อความ, การคำนึงถึงความรู้สึกของกันและกัน, การนับถือความเป็นประมุข, หรือวิธีที่ทำการตัดสินใจ? ปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูบุตร หรือการสนองความต้องการทางเพศอย่างสมดุลไหม? หรือเป็นปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณรายได้รายจ่ายของครอบครัว, การพักผ่อนหย่อนใจ, การสมาคมคบหา, ภรรยาควรจะทำงานหารายได้หรือไม่ หรือเรื่องจะอยู่ที่ไหน? ไม่ว่าเป็นปัญหาอะไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่ใช้ได้ผลไม่ว่าโดยตรงซึ่งอาศัยข้อบัญญัติต่าง ๆ หรือโดยอ้อมซึ่งอาศัยหลักการ. (มัดธาย 19:4, 5, 9; 1 โกรินโธ 7:1-40; เอเฟโซ 5:21-23, 28-33; 6:1-4; โกโลซาย 3:18-21; ติโต 2:4, 5; 1 เปโตร 3:1-7) เมื่อทั้งสองฝ่ายระงับตนไม่เรียกร้องเพราะความเห็นแก่ตัว และยอมให้ความรักมีบทบาทเต็มที่ในชีวิตสมรสของตน จะยังผลให้มีความสุขมากขึ้น. คู่สมรสทั้งสองฝ่ายต้องมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น ที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระยะโฮวา. “บุคคลที่แสดงความหยั่งเห็นเรื่องราวจะได้ดี, และบุคคลที่วางใจในพระยะโฮวาก็เป็นสุข.”—สุภาษิต 16:20, ล.ม.
หนุ่มสาวทั้งหลาย จงเชื่อฟังพระคำของพระเจ้า
13. เหตุใดจึงไม่ง่ายสำหรับเยาวชนคริสเตียนจะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์?
13 ไม่ง่ายสำหรับหนุ่มสาวคริสเตียนจะเติบโตเป็นคนเข้มแข็งในความเชื่อ ในเมื่อโลกชั่วนี้โอบล้อมพวกเขาไว้รอบด้าน. เหตุผลประการหนึ่งคือ “โลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) หนุ่มสาวตกอยู่ภายใต้การโจมตีของศัตรูที่ร้ายกาจตนนี้ซึ่งสามารถทำสิ่งเลวร้ายให้ดูดี. ทัศนคติที่ว่า ต้องฉันก่อน, ความทะยานอยากอันเห็นแก่ตัว, ความปรารถนาอยากทำผิดศีลธรรมและโหดร้าย, และการมุ่งติดตามความสนุกเพลิดเพลินอย่างผิดธรรมดา—ทั้งหมดนี้รวมกันเข้ากลายเป็นแบบแผนการคิดนึกโดยทั่วไปที่โดดเด่น ซึ่งมีพรรณนาไว้ในคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็น “วิญญาณซึ่งบัดนี้ปฏิบัติการในบุตรแห่งการไม่เชื่อฟัง.” (เอเฟโซ 2:1-3, ล.ม.) ซาตานได้ส่งเสริม “วิญญาณ” นี้อย่างมีเล่ห์เหลี่ยมในตำราเรียน, ในดนตรีส่วนใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไป, ในวงการกีฬา, และในรูปแบบอื่น ๆ ด้านการบันเทิง. บิดามารดาจำต้องตื่นตัวที่จะสกัดกั้นสิ่งจูงใจต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยการช่วยบุตรของตนเติบโตขึ้นพร้อมด้วยการไว้วางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์.
14. คนหนุ่มจะ “หนีเสียจากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว” โดยวิธีใด?
14 เปาโลได้ให้การเตือนสอนเยี่ยงบิดาแก่ติโมเธียวเพื่อนวัยหนุ่มแน่นดังนี้: “จงหนีเสียจากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว แต่จงมุ่งหน้าติดตามความชอบธรรม ความเชื่อ ความรัก สันติสุข ร่วมไปกับคนเหล่านั้นที่ร้องถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยหัวใจบริสุทธิ์.” (2 ติโมเธียว 2:22, ล.ม.) แม้ว่าไม่ใช่ “ความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว” ทุกอย่างเป็นสิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง กระนั้น หนุ่มสาวควร “หนีเสียจาก” ความปรารถนาเหล่านั้นในแง่ที่ว่าเขาไม่ควรปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เข้าครอบงำ จนแทบไม่มีเวลาเหลือให้ติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ในการรับใช้พระเจ้า. ไม่ว่าจะเป็นการเพาะกาย, การเล่นกีฬา, ดนตรี, การบันเทิง, งานอดิเรก, และการท่องเที่ยว แม้ในตัวมันเองไม่ผิด แต่อาจกลายเป็นบ่วงแร้วได้ หากว่ากิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต. จงหนีให้ไกลอย่างเด็ดขาดจากการสนทนาที่ไร้จุดมุ่งหมาย, จากการปล่อยเวลาให้เสียเปล่า, จากการฝักใฝ่กามารมณ์อย่างผิดธรรมดา, จากการอยู่เฉย ๆ แล้วเบื่อหน่าย และจากการโอดครวญว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจคุณ.
15. สิ่งต่าง ๆ อะไรบ้างอาจเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ในห้องส่วนตัวภายในบ้าน ซึ่งอาจส่งเสริมให้เด็กหนุ่มสาวดำเนินชีวิตแบบตีสองหน้า?
15 แม้แต่ในห้องส่วนตัวภายในบ้าน อาจมีอันตรายแฝงเร้นสำหรับคนหนุ่มสาวได้. หากมีการดูรายการทีวีหรือวีดิทัศน์ที่แสดงการผิดศีลธรรมหรือความรุนแรง ความปรารถนาอยากทำการชั่วอาจเพาะตัวขึ้นได้. (ยาโกโบ 1:14, 15) คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำดังนี้: “ท่านทั้งหลายผู้รักพระยะโฮวา จงเกลียดสิ่งชั่ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 97:10, ล.ม.; 115:11) พระยะโฮวาทรงทราบหากใคร ๆ พยายามจะดำเนินชีวิตแบบตีสองหน้า. (สุภาษิต 15:3) เยาวชนคริสเตียน จงมองไปทั่วห้องของคุณ. ตามผนังห้อง คุณได้ติดภาพดาราแห่งวงการกีฬาหรือดารานักร้องที่ประพฤติผิดศีลธรรมไว้หรือเปล่า หรือคุณติดสิ่งที่ทรงคุณค่าไว้ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี? (บทเพลงสรรเสริญ 101:3) ในตู้เสื้อผ้าของคุณล่ะ คุณมีชุดเสื้อผ้าที่ดูเรียบร้อย สุภาพไหม หรือว่าเสื้อผ้าอาภรณ์ของคุณบางชุดสะท้อนรูปแบบที่เกินงามของโลกนี้? ด้วยวิธีอันมีเล่ห์เหลี่ยม พญามารสามารถทำให้คุณติดกับได้ถ้าคุณยอมแพ้การล่อใจที่จะเลียนแบบสิ่งไม่ดี. คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่สุขุมดังนี้: “จงรักษาสติของท่านไว้ จงระวังระไวให้ดี. พญามาร ปรปักษ์ของท่านทั้งหลาย เที่ยวเดินไปเหมือนสิงโต แผดเสียงร้อง เสาะหาคนหนึ่งคนใดที่มันจะขย้ำกลืนเสีย.”—1 เปโตร 5:8, ล.ม.
16. คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยหนุ่มสาวอย่างไรเพื่อให้พระยะโฮวา, บิดามารดา, และพี่น้องคริสเตียนรู้สึกภูมิใจในตัวเขา?
16 คัมภีร์ไบเบิลกำชับคุณให้ระวังการคบหาสมาคม. (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) เพื่อนใกล้ชิดของคุณควรเป็นคนยำเกรงพระยะโฮวา. อย่ายอมจำนนต่อความกดดันของเพื่อนรุ่นเดียวกัน. (บทเพลงสรรเสริญ 56:11; สุภาษิต 29:25) จงเชื่อฟังบิดามารดาของคุณซึ่งเป็นผู้ยำเกรงพระเจ้า. (สุภาษิต 6:20-22; เอเฟโซ 6:1-3) จงหมายพึ่งพวกผู้ปกครองเพื่อรับเอาการชี้นำและการหนุนกำลังใจ. (ยะซายา 32:1, 2) จงเอาใจจดจ่อและจดจ้องอยู่กับค่านิยมและเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ. มองหาโอกาสที่จะก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณและมีส่วนร่วมกิจกรรมของประชาคม. จงฝึกเรียนวิธีทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือคุณ. จงเติบโตอย่างมีพลังเข้มแข็งและมั่นคงในความเชื่อ ครั้นแล้วคุณจะสำแดงตัวว่าเป็นบุคคลที่สำคัญ อย่างแท้จริง—เป็นบุคคลที่คู่ควรกับชีวิตในโลกใหม่ของพระยะโฮวา! พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงภูมิใจในตัวคุณ, บิดามารดาของคุณจะปลาบปลื้มยินดีในตัวคุณ, และพี่น้องคริสเตียนชายหญิงของคุณจะได้รับการหนุนกำลังใจเพราะคุณ. นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ!—สุภาษิต 4:1, 2, 7, 8.
17. คนเหล่านั้นที่วางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ได้รับประโยชน์อะไร?
17 ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้รับการดลใจให้เขียนในเชิงกวีดังนี้: “พระองค์จะไม่ทรงกีดกันของดีไว้จากเหล่าคนที่ประพฤติในทางซื่อตรงเลย. ข้าแต่พระยะโฮวาแห่งพลโยธา, คนที่วางใจในพระองค์ก็เป็นผาสุก.” (บทเพลงสรรเสริญ 84:11, 12) ใช่แล้ว ความสุขและความสำเร็จ ไม่ใช่ความผิดหวังหรือความล้มเหลว ย่อมมีแก่ทุกคนที่วางใจในพระยะโฮวาและคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์.—2 ติโมเธียว 3:14, 16, 17, ล.ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดคริสเตียนไม่ควรวางใจ “ปัญญาของโลกนี้”?
▫ พึงทำประการใดหากคนเรามีความสงสัย?
▫ การทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระยะโฮวานำมาซึ่งความสำเร็จและความสุขในชีวิตสมรสอย่างไร?
▫ คัมภีร์ไบเบิลช่วยหนุ่มสาว “หนีเสียจากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว” โดยวิธีใด?
[รูปหน้า 23]
คริสเตียนหันเข้าหาพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธ “ปัญญาของโลกนี้” ที่โง่เขลา
[รูปหน้า 25]
ครอบครัวทั้งหลายที่วางใจในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ย่อมประสบความสำเร็จและมีความผาสุก