‘จงดำเนินต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ’
“จงทำทุกสิ่งต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ.”—ฟิลิปปอย 2:14, ล.ม.
1, 2. อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำอะไรแก่คริสเตียนในเมืองฟิลิปปีและโครินท์ และเพราะเหตุใด?
ในจดหมายที่เขียนโดยได้รับการดลใจถึงประชาคมคริสเตียนเมืองฟิลิปปีในศตวรรษแรก มีคำชมมากมายของอัครสาวกเปาโล. ท่านเขียนชมเพื่อนร่วมความเชื่อในเมืองนั้นสำหรับความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อและกระตือรือร้น และท่านแสดงความยินดีในการงานที่ดีของพวกเขา. แต่กระนั้น เปาโลเตือนพวกเขาให้ “ทำทุกสิ่งต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ.” (ฟิลิปปอย 2:14, ล.ม.) เพราะเหตุใดท่านอัครสาวกจึงให้คำเตือนนี้?
2 เปาโลทราบว่าการบ่นพึมพำอาจนำไปสู่อะไร. ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ท่านได้เตือนประชาคมในเมืองโครินท์ว่าการบ่นพึมพำอาจก่อผลเสียหายได้. เปาโลชี้ว่าขณะที่ชาวอิสราเอลอยู่ในถิ่นทุรกันดาร พวกเขาได้กระตุ้นให้พระยะโฮวาพิโรธครั้งแล้วครั้งเล่า. โดยวิธีใด? โดยปรารถนาจะได้สิ่งที่เป็นอันตราย, โดยไหว้รูปเคารพและผิดประเวณี, โดยทดลองพระยะโฮวา, และโดยบ่นพึมพำ. เปาโลสนับสนุนชาวโครินท์ให้เรียนจากตัวอย่างเหล่านี้. ท่านเขียนว่า “อย่าบ่นเหมือนบางคนในพวกเขาได้บ่น, แล้วก็พินาศด้วยเพชฌฆาต.”—1 โกรินโธ 10:6-11.
3. เหตุใดการบ่นพึมพำเป็นเรื่องที่ควรสนใจในปัจจุบัน?
3 ในฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน เราแสดงน้ำใจที่คล้ายกันกับพี่น้องในประชาคมฟิลิปปี. เรากระตือรือร้นเพื่อการงานที่ดี และเรามีความรักในหมู่พวกเรา. (โยฮัน 13:34, 35) เมื่อคำนึงถึงผลเสียหายที่การบ่นพึมพำก่อให้เกิดขึ้นท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าในอดีต เรามีเหตุผลที่ดีที่จะใส่ใจคำแนะนำที่ว่า “จงทำทุกสิ่งต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ.” ก่อนอื่น ให้เราพิจารณาตัวอย่างของการบ่นพึมพำที่พระคัมภีร์กล่าวถึง. หลังจากนั้น เราจะพิจารณาบางสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่เกิดจากการบ่นพึมพำในทุกวันนี้.
กลุ่มคนชั่วร้ายที่บ่นว่าพระยะโฮวา
4. ชาวอิสราเอลบ่นอย่างไรในถิ่นทุรกันดาร?
4 คำฮีบรูที่มีความหมายว่า ‘บ่นพึมพำ, บ่นงึมงำ, บ่นว่า, หรือบ่นเสียงดัง’ ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วง 40 ปีที่ชาติอิสราเอลรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร. ในบางโอกาส ชาวอิสราเอลไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ของตนและแสดงความไม่พอใจด้วยการบ่น. ตัวอย่างเช่น เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากได้รับความช่วยเหลือให้หลุดพ้นการเป็นทาสในอียิปต์ “ชนชาติยิศราเอลก็พากันบ่นต่อโมเซและอาโรน.” ชาวอิสราเอลบ่นเรื่องอาหาร โดยกล่าวว่า “พวกข้าพเจ้าใคร่จะได้ตายเสียด้วยพระหัตถ์พระยะโฮวาในประเทศอายฆุบโต, ขณะเมื่ออยู่ใกล้หม้อเนื้ออันได้รับประทานอาหารอิ่มหนำ; แต่นี่ท่านทั้งสองกลับนำพวกข้าพเจ้าออกมาในป่ากันดารนี้, เพื่อจะให้อดอาหารตายเท่านั้น.”—เอ็กโซโด 16:1-3.
5. เมื่อชาวอิสราเอลบ่น ที่แท้แล้วการบ่นของพวกเขามุ่งไปถึงใคร?
5 จริง ๆ แล้ว พระยะโฮวาทรงค้ำจุนชาวอิสราเอลให้มีสิ่งจำเป็นขณะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร จัดหาอาหารและน้ำให้พวกเขาด้วยความรัก. ไม่เคยมีความเสี่ยงถึงขนาดที่ชนอิสราเอลจะตายเพราะขาดอาหารในถิ่นทุรกันดาร. ถึงกระนั้น ด้วยความไม่พอใจพวกเขาพูดถึงความลำบากของตนแบบเกินจริงและเริ่มบ่น. แม้คำบ่นว่าของพวกเขามุ่งไปที่โมเซและอาโรน แต่ในสายพระเนตรพระยะโฮวาเป้าที่แท้จริงของความไม่พอใจของพวกเขาคือพระองค์เอง. โมเซบอกชาวอิสราเอลว่า “พระยะโฮวาได้ทรงทราบคำบ่นซึ่งเจ้าได้บ่นต่อว่าพระองค์. เราทั้งสองนี้เป็นผู้ใด? พวกเจ้ามิได้บ่นต่อว่าเรา, แต่ได้บ่นต่อว่าพระยะโฮวาต่างหาก.”—เอ็กโซโด 16:4-8.
6, 7. ดังเห็นได้จากอาฤธโม 14:1-3 เจตคติของชาวอิสราเอลได้เปลี่ยนไปอย่างไร?
6 ไม่นานหลังจากนั้น ชาวอิสราเอลบ่นอีกครั้งหนึ่ง. โมเซส่ง 12 คนไปสอดแนมแผ่นดินตามคำสัญญา. สิบคนในพวกเขากลับมาแล้วรายงานในแง่ลบ. ผลเป็นอย่างไร? “บรรดาพวกยิศราเอลได้บ่นติเตียนโมเซแลอาโรน, คนเหล่านั้นได้ว่าแก่เขาว่า, ถ้าพระเจ้าได้ทำให้เราตายที่ประเทศอายฆุบโตดีกว่า, ถ้าพระเจ้าจะให้เราตายในป่านี้ก็ดีกว่านี้อีก. เหตุไฉนพระยะโฮวาได้พาเราออกจากประเทศนั้นมาให้ล้มตายด้วยคมกระบี่, แลลูกเมียของเราเป็นทาสเชลยเขาเล่า, ที่เราจะกลับไปยังประเทศอายฆุบโตจะมิดีกว่าหรือ?”—อาฤธโม 14:1-3.
7 เจตคติของชาติอิสราเอลเปลี่ยนไปมากทีเดียว! ความหยั่งรู้ค่าในตอนแรกที่ได้รับการปลดปล่อยจากอียิปต์และการช่วยให้รอดผ่านทะเลแดงกระตุ้นพวกเขาให้ร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 15:1-21) แต่เมื่อพบกับความไม่สะดวกสบายในถิ่นทุรกันดารและความกลัวพวกคะนาอัน ความหยั่งรู้ค่าของประชาชนของพระเจ้าก็ถูกแทนที่ด้วยความไม่พอใจ. แทนที่จะขอบคุณพระเจ้าที่ประทานอิสรภาพให้ พวกเขากลับตำหนิพระองค์ด้วยเรื่องที่พวกเขามองอย่างผิด ๆ ว่าเป็นความขาดแคลน. ด้วยเหตุนั้น การที่พวกเขาบ่นจึงแสดงให้เห็นว่าพวกเขาขาดความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวา. ไม่แปลกที่พระองค์ตรัสว่า “เราจะทนชุมนุมชนชั่วร้ายนี้บ่นต่อเรานานสักเท่าใด.”—อาฤธโม 14:27, ฉบับแปลใหม่; 21:5.
การบ่นพึมพำในศตวรรษแรก
8, 9. จงยกตัวอย่างการบ่นพึมพำที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก.
8 ตัวอย่างการบ่นที่ได้กล่าวไปแล้วเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนที่ดูเหมือนว่าได้แสดงความไม่พอใจออกมาอย่างโจ่งแจ้ง. แต่ในคราวที่พระเยซูคริสต์ทรงอยู่ในกรุงเยรูซาเลมเพื่อร่วมเทศกาลตั้งทับอาศัยในปีสากลศักราช 32 “ประชาชนก็ซุบซิบ กันถึงพระองค์เป็นอันมาก.” (โยฮัน 7:12, 13, 32, ฉบับแปลใหม่) พวกเขากระซิบกันเรื่องพระองค์ บางคนพูดว่าพระองค์เป็นคนดี แต่บางคนบอกว่าพระองค์เป็นคนไม่ดี.
9 ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูกับเหล่าสาวกเป็นแขกรับเชิญที่บ้านของเลวีหรือมัดธาย ซึ่งเป็นคนเก็บภาษี. “พวกฟาริซายและพวกอาลักษณ์ของเขากระซิบบ่นติพวกศิษย์ของพระองค์ว่า, ‘เหตุไฉนพวกท่านมากินและดื่มกับพวกเก็บภาษีและกับพวกคนบาป?’ ” (ลูกา 5:27-30) ในเวลาต่อมาที่แกลิลี “พวกยูดายจึงกระซิบบ่นว่าพระองค์เพราะพระองค์ตรัสว่า, ‘เราเป็นทิพย์อาหารที่ลงมาจากสวรรค์.’ ” แม้แต่สาวกบางคนของพระเยซูก็ขุ่นเคืองเพราะคำตรัสของพระองค์และเริ่มบ่นพึมพำ.—โยฮัน 6:41, 60, 61.
10, 11. เหตุใดชาวยิวที่พูดภาษากรีกจึงบ่น และโดยวิธีใดคริสเตียนผู้ปกครองสามารถได้รับประโยชน์จากวิธีจัดการกับการร้องทุกข์นั้น?
10 ในอีกกรณีหนึ่งของการบ่นซึ่งเกิดขึ้นภายหลังวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 ไม่นาน ผลออกมาในแง่ที่ดีกว่า. ในตอนนั้น สาวกหลายคนที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นผู้เชื่อถือจากที่ต่าง ๆ นอกเขตประเทศอิสราเอลได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเพื่อนร่วมความเชื่อในยูเดีย แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับการแจกปันสิ่งที่มีอยู่. บันทึกรายงานว่า “พวกยิวที่พูดกรีกพากันบ่นติเตียนพวกยิวที่พูดฮีบรู เพราะบรรดาแม่ม่ายของพวกเขาถูกทอดทิ้งไม่ได้รับแจกอาหารประจำวัน.”—กิจการ 6:1, ฉบับแปล 2002.
11 คนเหล่านี้ที่บ่นไม่เหมือนกับชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร. ชาวยิวที่พูดภาษากรีกกลุ่มนี้ไม่ได้แสดงความไม่พอใจอย่างเห็นแก่ตัวเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตของตนเอง. พวกเขาเรียกร้องให้สนใจว่ามีการละเลยไม่ดูแลความจำเป็นของแม่ม่ายบางคน. นอกจากนั้น คนเหล่านี้ที่บ่นไม่ได้ทำตัวเป็นผู้สร้างความเดือดร้อนหรือบ่นว่าพระยะโฮวาอย่างโจ่งแจ้ง. พวกเขามุ่งบ่นว่าอัครสาวก และเหล่าอัครสาวกก็ได้ดำเนินการแก้ไขทันทีเพราะการร้องทุกข์นั้นมีเหตุผลสมควร. เหล่าอัครสาวกช่างวางตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับคริสเตียนผู้ปกครองในทุกวันนี้! ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณเหล่านี้ระมัดระวังเพื่อจะไม่ “ปิดหูของตนไว้ไม่ฟังคำร้องทุกข์ของคนจน.”—สุภาษิต 21:13; กิจการ 6:2-6.
จงระวังอำนาจกัดกร่อนของการบ่น
12, 13. (ก) จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นผลของการบ่น. (ข) อะไรอาจกระตุ้นให้คนเราบ่น?
12 ตัวอย่างส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์ที่เราได้พิจารณากันแล้วแสดงว่าการบ่นก่อความเสียหายอย่างมากในหมู่ประชาชนของพระเจ้าในอดีต. ด้วยเหตุนั้น เราควรคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับอำนาจกัดกร่อนของการบ่นซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในทุกวันนี้. ตัวอย่างเปรียบเทียบตัวอย่างหนึ่งอาจช่วยให้เห็นชัดขึ้น. โลหะหลายชนิดมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะเป็นสนิม. หากไม่สนใจเมื่อเริ่มเห็นร่องรอยของสนิม โลหะนั้นอาจเป็นสนิมจนถึงขั้นที่ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป. รถยนต์จำนวนนับไม่ถ้วนถูกทิ้งเป็นเศษเหล็ก ไม่ใช่เพราะเครื่องยนต์ไม่ทำงาน แต่เพราะเหล็กเป็นสนิมมากจนทำให้ไม่ปลอดภัยที่จะใช้รถนั้น. เราจะใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ได้อย่างไรกับการบ่น?
13 เช่นเดียวกับที่โลหะบางชนิดมักเป็นสนิม มนุษย์ไม่สมบูรณ์ก็มีแนวโน้มที่จะบ่น. เราควรคอยตรวจดูแนวโน้มดังกล่าว. เช่นเดียวกับที่ความชื้นและความเค็มของอากาศเร่งให้เกิดสนิมได้เร็วขึ้น ความยากลำบากก็ทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่เราจะบ่น. ความเครียดอาจเปลี่ยนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กลายเป็นความไม่พอใจอย่างมาก. ขณะที่สถานการณ์ในสมัยสุดท้ายของระบบนี้เสื่อมลงเรื่อย ๆ สาเหตุที่ทำให้บ่นซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ก็คงจะมีเพิ่มขึ้น. (2 ติโมเธียว 3:1-5) ดังนั้น ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอาจเริ่มบ่นว่ากัน. สาเหตุอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เพราะไม่พอใจในเรื่องความอ่อนแอ, ความสามารถ, หรือสิทธิพิเศษในการรับใช้ของบางคน.
14, 15. เหตุใดเราไม่ควรปล่อยให้แนวโน้มที่จะบ่นมีอยู่ต่อไปโดยไม่ควบคุม?
14 ไม่ว่าเหตุผลที่ทำให้เราไม่พอใจคืออะไรก็ตาม หากเราไม่ควบคุมแนวโน้มที่จะบ่น แนวโน้มนี้อาจส่งเสริมให้เรามีน้ำใจที่ไม่พอใจอะไรง่าย ๆ และทำให้เรากลายเป็นคนชอบบ่นจนเป็นนิสัย. ผลกระทบที่กัดกร่อนทางฝ่ายวิญญาณของการบ่นอาจทำให้เราเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง. เมื่อชาวอิสราเอลบ่นเกี่ยวกับชีวิตในถิ่นทุรกันดาร พวกเขาทำเลยเถิดถึงขนาดตำหนิพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 16:8) ขออย่าให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเราเลย!
15 โอกาสที่โลหะจะเป็นสนิมอาจลดให้เหลือน้อยที่สุดได้ด้วยการทาสีกันสนิมเคลือบและขจัดสนิมตรงจุดที่ถูกกัดกร่อนโดยเร็ว. คล้ายกันนั้น หากเราสังเกตเห็นว่าเรามีแนวโน้มที่จะบ่น เราอาจควบคุมแนวโน้มนี้ไว้ไม่ให้ลุกลามหากเราใส่ใจในเรื่องนี้พร้อมด้วยการอธิษฐาน. โดยวิธีใด?
จงมองเรื่องต่าง ๆ จากทัศนะของพระยะโฮวา
16. หากเรามีแนวโน้มที่จะบ่น เราจะเอาชนะแนวโน้มนี้ได้โดยวิธีใด?
16 การบ่นเป็นการเพ่งความคิดไปที่ตัวเราเองและความลำบากของเรา ทั้งยังมองข้ามพระพรที่เรามีในฐานะพยานของพระยะโฮวา. เพื่อเอาชนะแนวโน้มที่จะบ่น เราจำเป็นต้องคอยเตือนใจตัวเองให้นึกถึงพระพรทั้งหลายที่เรามีเสมอ. ตัวอย่างเช่น เราแต่ละคนมีสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมในการถูกเรียกตามพระนามเฉพาะของพระเจ้า. (ยะซายา 43:10) เราสามารถปลูกฝังสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระองค์ และเราสามารถพูดกับ “ผู้สดับคำอธิษฐาน” เวลาใดก็ได้. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; ยาโกโบ 4:8) ชีวิตเรามีความหมายแท้จริงเพราะเราเข้าใจประเด็นเรื่องสากลบรมเดชานุภาพและจำไว้ว่าเป็นสิทธิพิเศษที่เราจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า. (สุภาษิต 27:11) เราสามารถมีส่วนร่วมเป็นประจำในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. (มัดธาย 24:14) ความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ทำให้เรามีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดได้. (โยฮัน 3:16) เราได้รับพระพรเหล่านี้ไม่ว่าเราต้องอดทนกับอะไรก็ตาม.
17. เหตุใดเราควรพยายามมองเรื่องต่าง ๆ จากมุมมองของพระยะโฮวา แม้แต่ในกรณีที่เรามีเหตุผลสมควรที่จะบ่น?
17 ให้เราพยายามมองเรื่องต่าง ๆ จากมุมมองของพระยะโฮวา อย่าเพียงแต่อาศัยมุมมองของเราเอง. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารู้ทางของพระองค์, ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้ดำเนินในพระมรคาของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:4) หากเรามีเหตุผลสมควรที่จะบ่น เรื่องนี้ย่อมไม่พ้นการสังเกตของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงสามารถแก้ไขเรื่องต่าง ๆ ได้ในทันที. ถ้าอย่างนั้น เหตุใดบางครั้งพระองค์ทรงยอมให้ความยากลำบากคงอยู่ต่อไป? ที่เป็นอย่างนี้อาจเพื่อช่วยเราพัฒนาคุณลักษณะที่ดี เช่น ความเพียร, ความอดทน, ความเชื่อ, และความอดกลั้นไว้นาน.—ยาโกโบ 1:2-4.
18, 19. จงยกตัวอย่างให้เห็นผลที่อาจเป็นไปได้ของการอดทนต่อความไม่สะดวกสบายโดยไม่บ่น.
18 การที่เราอดทนความไม่สะดวกสบายต่าง ๆ โดยไม่บ่นไม่เพียงช่วยเราปรับปรุงบุคลิกภาพของเรา แต่ยังอาจทำให้คนที่เฝ้ามองการประพฤติของเราประทับใจด้วย. ในปี 2003 พยานพระยะโฮวากลุ่มหนึ่งเดินทางโดยรถยนต์โดยสารจากเยอรมนีเพื่อเข้าร่วมการประชุมภาคในฮังการี. คนขับรถไม่ใช่พยานฯ และจริง ๆ แล้วเขาไม่อยากอยู่กับพยานฯ นานถึงสิบวัน. แต่เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง เขาเปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง. เพราะเหตุใด?
19 ระหว่างการเดินทาง มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้ไม่สะดวก. แต่พยานฯ ไม่เคยบ่น. คนขับรถกล่าวว่านี่เป็นกลุ่มผู้โดยสารที่ดีที่สุดเท่าที่เขาเคยพบ! ที่จริง เขาสัญญาว่าคราวหน้าเมื่อพยานฯ ไปเยี่ยมที่บ้าน เขาจะเชิญให้เข้าบ้านและตั้งใจฟังพวกเขาพูด. ผู้โดยสารกลุ่มนี้ได้สร้างความประทับใจที่ดีจริง ๆ โดย ‘การทำทุกสิ่งโดยปราศจากการบ่นพึมพำ’!
การให้อภัยส่งเสริมเอกภาพ
20. เหตุใดเราควรให้อภัยกันและกัน?
20 จะว่าอย่างไรหากเรามีเรื่องที่จะบ่นว่าเพื่อนร่วมความเชื่อ? หากเรื่องนั้นร้ายแรง เราควรใช้หลักการที่พบในคำตรัสของพระเยซู ดังบันทึกที่มัดธาย 18:15-17. อย่างไรก็ดี ไม่จำเป็นต้องใช้หลักการนี้เสมอไป เนื่องจากเรื่องขัดเคืองส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหญ่. น่าจะถือเสียว่าเหตุการณ์นั้นเป็นโอกาสที่จะให้อภัยมิใช่หรือ? เปาโลเขียนดังนี้: “จงทนต่อกันอยู่เรื่อยไปและอภัยให้กันอย่างใจกว้างถ้าผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยพระทัยกว้างเช่นไร ท่านจงทำเช่นนั้นด้วย. แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จงสวมตัวท่านด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องผูกพันอันสมบูรณ์ที่ทำให้เป็นหนึ่งเดียว.” (โกโลซาย 3:13, 14, ล.ม.) เราเต็มใจจะให้อภัยไหม? พระยะโฮวาทรงมีเหตุผลที่จะบ่นว่าเรามิใช่หรือ? ถึงกระนั้น พระองค์ทรงแสดงความเมตตาสงสารและให้อภัยครั้งแล้วครั้งเล่า.
21. การบ่นพึมพำอาจก่อผลกระทบอย่างไรต่อคนที่ได้ยิน?
21 ไม่ว่าเรื่องขัดเคืองอาจเป็นอะไรก็ตาม การบ่นพึมพำจะไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น. คำฮีบรูที่หมายถึง “บ่นพึมพำ” ยังมีความหมายว่า “บ่นดัง ๆ” ได้ด้วย. เรามักรู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ใกล้คนชอบบ่นและพยายามอยู่ให้ห่าง ๆ จากคนนั้น. หากเราบ่นพึมพำหรือบ่นออกมาดัง ๆ คนที่ได้ยินอาจรู้สึกแบบเดียวกันนั้น. ที่จริง เขาอาจรู้สึกอึดอัดจนไม่อยากจะอยู่ใกล้เรา! การบ่นออกมาดัง ๆ อาจกระตุ้นให้บางคนสนใจ แต่จะไม่ชนะใจใครอย่างแน่นอน.
22. เด็กสาวคนหนึ่งกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา?
22 เจตคติที่พร้อมจะให้อภัยส่งเสริมเอกภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนของพระยะโฮวาปรารถนาจะรักษาไว้. (บทเพลงสรรเสริญ 133:1-3) ที่ประเทศหนึ่งในยุโรป เด็กสาวชาวคาทอลิกคนหนึ่งซึ่งอายุ 17 ปีเขียนถึงสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาเพื่อแสดงความชื่นชมพวกเขา. เธอกล่าวว่า “นี่เป็นองค์การเดียวที่ดิฉันรู้จักซึ่งสมาชิกไม่ถูกแบ่งแยกโดยความเกลียดชัง, ความละโมบ, ความไม่มีขันติ, ความเห็นแก่ตัว, หรือความไม่ปรองดอง.”
23. เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
23 ความหยั่งรู้ค่าต่อพระพรฝ่ายวิญญาณทั้งสิ้นที่เราได้รับในฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ จะช่วยเราส่งเสริมเอกภาพและหลีกเลี่ยงการบ่นว่าคนอื่น ๆ ในเรื่องส่วนตัว. บทความถัดไปจะแสดงวิธีที่คุณลักษณะแบบพระเจ้าจะป้องกันเราไว้จากการบ่นแบบที่เป็นอันตรายยิ่งกว่านี้อีก ซึ่งก็คือการบ่นว่าองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก.
คุณจำได้ไหม?
• การบ่นพึมพำเกี่ยวข้องกับอะไร?
• อาจยกตัวอย่างอย่างไรเพื่อแสดงถึงผลของการบ่นพึมพำ?
• อะไรอาจช่วยเราได้ให้เอาชนะแนวโน้มที่จะบ่นพึมพำ?
• ความเต็มใจที่จะให้อภัยช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการบ่นพึมพำได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 15]
จริง ๆ แล้ว ชาวอิสราเอลบ่นว่าพระยะโฮวา!
[ภาพหน้า 17]
คุณพยายามมองเรื่องต่าง ๆ อย่างที่พระยะโฮวาทรงมองไหม?
[ภาพหน้า 18]
การให้อภัยส่งเสริมเอกภาพของคริสเตียน