คุณเห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกคนอื่นไหม?
“พ่อมีคำแนะนำดี ๆ จะให้”—สภษ. 4:2
1, 2. ทำไมเราต้องฝึกคนอื่น?
พระเยซูทำงานประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็ง แต่ท่านก็ใช้เวลามากในการฝึกสาวกของท่านด้วย พระเยซูช่วยพวกเขาให้รู้ว่าจะสอนอย่างไร และจะเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่ดูแลประชาชนของพระเจ้าได้อย่างไร (มธ. 10:5-7) ฟีลิปยุ่งมากกับการประกาศแต่เขาก็ฝึกลูกสาวให้ทำงานนี้ (กจ. 21:8, 9) ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราจำเป็นต้องฝึกคนอื่นด้วย เพราะอะไร?
2 ในประชาคมต่าง ๆ ทั่วโลกมีคนใหม่จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับบัพติศมา คนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการฝึก เราต้องช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลและศึกษาส่วนตัว นอกจากนั้น เราต้องฝึกพวกเขาให้รู้วิธีประกาศและสอนความจริง เรายังมีพี่น้องชายหลายคนที่เพิ่งรับบัพติศมา พวกเขาก็ต้องได้รับการฝึกด้วย เพื่อที่ในอนาคตพวกเขาจะเป็นผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ดูแล เราเห็นได้ว่าทุกคนในประชาคมสามารถทำได้หลายอย่างเพื่อช่วยคนใหม่ ๆ—สภษ. 4:2
ฝึกคนใหม่ให้ศึกษาส่วนตัว
3, 4. (ก) เปาโลบอกว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราในการรับใช้พระยะโฮวาอย่างไร? (ข) ก่อนที่เราจะสนับสนุนนักศึกษาให้ศึกษาส่วนตัว เราต้องทำอะไร?
3 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทุกคนต้องอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะรู้ความประสงค์ของพระเจ้า อัครสาวกเปาโลพูดถึงเรื่องนี้กับพี่น้องชายหญิงในเมืองโคโลสี เขาบอกว่า “เราจึงอธิษฐานเพื่อพวกคุณมาตลอดและขอให้พวกคุณมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า” ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาต้องอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? เพราะความรู้ที่ถูกต้องจะทำให้ “มีสติปัญญาครบถ้วนและมีความเข้าใจ” และรู้วิธีที่จะ “ใช้ชีวิตให้สมกับการเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาเพื่อจะทำให้พระองค์พอใจเสมอ” นอกจากนั้นยังทำให้พวกเขา “เกิดผลดีในทุกสิ่ง” ที่พระยะโฮวาอยากให้เขาทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประกาศข่าวดี (คส. 1:9, 10) ดังนั้น ถ้าเราสอนคัมภีร์ไบเบิลกับใครสักคน เราก็ต้องช่วยเขาให้เข้าใจว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและการศึกษาส่วนตัวเป็นประจำจะช่วยพวกเขาในการรับใช้พระยะโฮวา
4 เราไม่สามารถช่วยนักศึกษาของเราให้เข้าใจว่าการศึกษาส่วนตัวสำคัญขนาดไหนถ้าตัวเราเองไม่ได้ศึกษาส่วนตัว ที่จริง การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำและคิดใคร่ครวญจะช่วยเราทั้งในการใช้ชีวิตและในงานรับใช้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปประกาศและมีบางคนถามคำถามยาก ๆ เราก็จะสามารถใช้คัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามเขาได้ หรือถ้าเราอ่านตัวอย่างของพระเยซู เปาโล และคนอื่น ๆ ที่มุ่งมั่นในงานรับใช้ เราก็จะได้รับกำลังใจและจะประกาศต่อไปได้ถึงแม้จะมีปัญหาหลายอย่าง และถ้าเราบอกคนอื่น ๆ ว่าสิ่งที่เราได้อ่านช่วยเราอย่างไร นี่ก็อาจจะให้กำลังใจพวกเขาให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อที่พวกเขาก็จะได้รับประโยชน์เหมือนกับเรา
5. มีวิธีอะไรบ้างที่เราจะช่วยคนใหม่ให้ศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ?
5 คุณอาจสงสัยว่า ‘ฉันจะฝึกนักศึกษาให้ศึกษาส่วนตัวเป็นประจำได้อย่างไร?’ คุณอาจแสดงให้เขาเห็นวิธีเตรียมตัวก่อนศึกษา คุณอาจบอกเขาให้ดูข้อคัมภีร์ที่อ้างถึงในวรรคต่าง ๆ และให้อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องในคำอธิบายเพิ่มเติมของหนังสือเรียนคัมภีร์ไบเบิลแล้วได้อะไร? นอกจากนั้น คุณอาจช่วยเขาให้รู้วิธีเตรียมการประชุมเพื่อเขาจะออกความเห็นในการประชุมได้ คุณอาจสนับสนุนเขาให้อ่านวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ทุกเล่มที่ออกมา หรือคุณอาจช่วยเขาให้รู้วิธีหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่เขาอยากรู้ในคัมภีร์ไบเบิล อาจสอนให้เขาใช้ ห้องสมุดว็อชเทาเวอร์ (ภาษาอังกฤษ) หรือ ห้องสมุดออนไลน์ของว็อชเทาเวอร์ เมื่อนักศึกษาได้ลองศึกษาส่วนตัวหลาย ๆ วิธีแบบนี้ เขาก็จะชอบและอยากเรียนรู้มากขึ้น
6. (ก) คุณจะช่วยนักศึกษาให้รักคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? (ข) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจะทำอะไรถ้าเขารักคัมภีร์ไบเบิล?
6 ถ้าเราสอนคัมภีร์ไบเบิลกับใครสักคน เราก็อยากช่วยเขาให้รู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลมีค่ามาก เพราะหนังสือนี้ช่วยเขาให้รู้จักพระยะโฮวามากขึ้น ดังนั้น แทนที่จะกดดันให้เขาศึกษาส่วนตัว เราน่าจะช่วยให้เขาเห็นวิธีที่จะสนุกกับการศึกษาโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ขององค์การ ยิ่งเขาเรียนรู้มากขึ้น เขาก็จะรักคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นและรู้สึกเหมือนกับผู้เขียนหนังสือสดุดีที่บอกว่า “เป็นเรื่องดีที่ผมเข้ามาใกล้พระเจ้า ผมหวังพึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด” (สด. 73:28) พลังของพระยะโฮวาจะช่วยทุกคนที่อยากเข้ามาใกล้พระองค์อย่างแน่นอน
ฝึกคนใหม่ให้ประกาศและสอน
7. พระเยซูฝึกสาวกให้ไปประกาศอย่างไร? (ดูภาพแรก)
7 เราสามารถเรียนหลายอย่างได้จากวิธีที่พระเยซูฝึกอัครสาวก พระเยซูพาพวกเขาไปประกาศและให้พวกเขาเห็นวิธีที่ท่านสอนคนอื่น พระเยซูยังให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะประกาศด้วย (มัทธิว บท 10)[1] ไม่นาน พวกอัครสาวกก็รู้ว่าพวกเขาจะสอนความจริงให้คนอื่นอย่างไร (มธ. 11:1) ขอเราดูว่าเราจะฝึกคนใหม่ให้รับใช้ได้อย่างไรใน 2 แง่มุมที่เกี่ยวกับการประกาศและการสอน
8, 9. (ก) พระเยซูพูดคุยกับแต่ละคนอย่างไรตอนที่ท่านทำงานรับใช้? (ข) เราจะช่วยผู้ประกาศใหม่อย่างไรให้เลียนแบบวิธีพูดของพระเยซู?
8 พูดคุยกับคนอื่น พระเยซูไม่ได้พูดกับผู้คนเป็นกลุ่มอย่างเดียวแต่ท่านพูดกับผู้คนเป็นส่วนตัวด้วย พระเยซูพูดอย่างเป็นกันเอง ตัวอย่างเช่น ตอนที่ผู้หญิงคนหนึ่งมาตักน้ำจากบ่อใกล้ ๆ เมืองสิคาร์ พระเยซูพูดได้น่าฟังจึงทำให้เธอสนใจ (ยน. 4:5-30) พระเยซูพูดกับคนเก็บภาษีชื่อมัทธิวซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าเลวี พระเยซูชวนเขาให้มาเป็นสาวก มัทธิวตอบรับและหลังจากนั้นเขาก็เชิญพระเยซูกับคนอื่น ๆ ไปที่บ้านเพื่อกินอาหาร ที่นั่น พระเยซูพูดคุยกับหลายคน—มธ. 9:9; ลก. 5:27-39
9 ถึงแม้นาธานาเอลพูดบางอย่างที่ไม่ดีเกี่ยวกับคนที่มาจากนาซาเร็ธ แต่พระเยซูก็พูดดีกับเขา นี่ทำให้นาธานาเอลเปลี่ยนวิธีที่เขามองพระเยซูที่มาจากนาซาเร็ธ และเขาอยากเรียนรู้มากขึ้นจากท่าน (ยน. 1:46-51) จากตัวอย่างของพระเยซูเราได้เรียนว่า เราต้องพูดคุยกับผู้คนแบบเป็นกันเองและเป็นมิตร เพราะถ้าทำอย่างนั้น เขาก็อยากจะฟังเรามากกว่า[2] ถ้าเราฝึกคนใหม่ให้พูดแบบนี้ พวกเขาก็จะสนุกกับงานประกาศมากขึ้น
10-12. (ก) พระเยซูช่วยคนที่สนใจข่าวดีอย่างไร? (ข) เราจะช่วยผู้ประกาศใหม่ให้มีความสามารถมากขึ้นในการสอนคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร?
10 สอนคนที่พร้อมจะฟัง พระเยซูมีเวลาแค่ 3 ปีครึ่งที่จะทำงานรับใช้ และท่านยุ่งมาก แต่ถ้ามีคนสนใจอยากฟังสิ่งที่ท่านสอน พระเยซูก็ให้เวลาพวกเขาและสอนพวกเขาหลายอย่าง เช่น วันหนึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งมาที่ชายฝั่งเพื่อฟังท่าน พระเยซูกับเปโตรเอาเรือออกจากฝั่งเล็กน้อยและสอนผู้คนจากบนเรือ หลังจากนั้น ท่านก็อยากสอนบางอย่างกับเปโตรด้วย พระเยซูทำการอัศจรรย์โดยให้เปโตรจับปลาได้จำนวนมาก จากนั้น ท่านก็พูดกับเปโตรว่า “ต่อไปนี้คุณจะไปหาคนแทนที่จะหาปลา” ผลเป็นอย่างไร? เปโตรกับคนที่อยู่กับเขาก็ “เอาเรือกลับเข้าฝั่ง” ทันที แล้ว “พวกเขาก็ทิ้งทุกอย่างและตามท่านไป”—ลก. 5:1-11
11 นิโคเดมัสอยากเรียนรู้จากพระเยซูมากขึ้น แต่เนื่องจากเขาเป็นสมาชิกของศาลแซนเฮดริน เขากลัวว่าคนอื่นจะมองเขาอย่างไรถ้าเห็นเขาคุยกับพระเยซู นิโคเดมัสจึงไปหาพระเยซูในตอนกลางคืนเพื่อจะไม่มีใครเห็น พระเยซูไม่ได้ไล่เขาแต่กลับให้เวลาและอธิบายความจริงที่สำคัญกับเขา (ยน. 3:1, 2) พระเยซูเต็มใจให้เวลาเสมอเพื่อสอนผู้คนเกี่ยวกับความจริงและช่วยพวกเขาให้มีความเชื่อมากขึ้น คล้ายกัน เราก็ควรเต็มใจไปเยี่ยมผู้คนในเวลาที่เขาสะดวก และเราต้องให้เวลากับเขาเพื่อช่วยเขาให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล
12 เมื่อเราไปประกาศกับคนใหม่ เราน่าจะสอนเขาให้กลับไปเยี่ยมคนที่ดูเหมือนว่าสนใจ เราอาจชวนคนใหม่ให้ไปเยี่ยมหรือไปศึกษากับเราด้วยก็ได้ พวกเขาจะได้เรียนรู้วิธีสอนคนอื่น และยังได้รู้ว่าการช่วยใครสักคนให้เรียนความจริงเรื่องพระยะโฮวานั้นรู้สึกดีขนาดไหน เมื่อเราฝึกคนใหม่อย่างนี้ เขาจะตื่นเต้นที่ได้กลับเยี่ยมและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับผู้คน เขาจะได้เรียนรู้ที่จะอดทนและไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ถ้าต้องเจอกับเขตที่คนไม่อยู่บ้าน—กท. 5:22; ดูกรอบ “เขาไม่ยอมแพ้”
ฝึกคนใหม่ให้รับใช้พี่น้อง
13, 14. (ก) คุณคิดถึงตัวอย่างของใครในคัมภีร์ไบเบิลที่เสียสละเพื่อคนอื่น? (ข) เพื่อจะฝึกคนใหม่และวัยรุ่นให้รู้วิธีแสดงความรักกับพี่น้อง มีวิธีอะไรบ้างที่เราทำได้?
13 พระยะโฮวาอยากให้ผู้รับใช้ของพระองค์รับใช้กันและรักกันเหมือนพี่น้อง (อ่านลูกา 22:24-27; 1 เปโตร 1:22) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเยซูให้ทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตของท่านเพื่อช่วยคนอื่น (มธ. 20:28) โดร์คัสก็ “ทำสิ่งดี ๆ มากมายและช่วยเหลือคนยากคนจน” (กจ. 9:36, 39) ส่วนมารีย์ก็ “ทำงานหนัก” เพื่อพี่น้องในโรม (รม. 16:6) เราจะช่วยคนใหม่ให้เข้าใจได้อย่างไรว่าการช่วยพี่น้องคนอื่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก?
14 เราน่าจะชวนคนใหม่ไปเยี่ยมคนสูงอายุและคนป่วยกับเรา หรือถ้าเรามีลูก เราน่าจะพาลูกไปด้วยถ้าเห็นว่าเหมาะสม ผู้ดูแลอาจชวนวัยรุ่นหรือคนใหม่ให้ช่วยผู้สูงอายุ อาจจะช่วยเตรียมอาหารหรือซ่อมบ้านให้พวกเขา ถ้าวัยรุ่นและคนใหม่เห็นวิธีที่พี่น้องดูแลกัน พวกเขาก็จะทำแบบนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น ตอนที่ผู้ดูแลคนหนึ่งประกาศในเขตชนบท เขามักจะไปเยี่ยมพี่น้องที่อยู่ที่นั่น พี่น้องชายคนหนึ่งที่ไปกับผู้ดูแลคนนั้นบ่อย ๆ ได้เรียนจากตัวอย่างที่ดีของเขาในการคิดถึงวิธีช่วยพี่น้องคนอื่น—รม. 12:10
15. ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลจะสนใจความก้าวหน้าของพี่น้องชายในประชาคม?
15 พระยะโฮวาให้ผู้ชายมีหน้าที่รับผิดชอบในการสอนคัมภีร์ไบเบิลในประชาคม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พี่น้องชายจะเรียนรู้วิธีที่จะสอนและบรรยายได้ดี ถ้าคุณเป็นผู้ดูแล คุณอาจขอผู้ช่วยงานรับใช้ซ้อมบรรยายให้คุณฟังและช่วยเขาให้พัฒนาขึ้น—นหม. 8:8[3]
16, 17. (ก) เปาโลสนใจทิโมธีและช่วยให้เขาก้าวหน้าอย่างไร? (ข) ผู้ดูแลจะฝึกคนที่จะเป็นผู้บำรุงเลี้ยงในอนาคตได้อย่างไร?
16 มีความจำเป็นที่ต้องฝึกพี่น้องชายให้เป็นผู้ดูแลที่บำรุงเลี้ยงพี่น้องในประชาคม เปาโลฝึกทิโมธีและกระตุ้นเขาให้ฝึกคนอื่น เปาโลบอกว่า “ขอให้คุณได้รับกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งพระเจ้าแสดงผ่านทางพระคริสต์เยซู สิ่งต่าง ๆ ที่คุณได้ยินจากผมซึ่งมีหลายคนเป็นพยานยืนยันนั้น ให้มอบไว้กับคนที่ซื่อสัตย์ซึ่งมีความสามารถพอที่จะสอนคนอื่นได้” (2 ทธ. 2:1, 2) ทิโมธีได้เรียนหลายอย่างจากเปาโลที่เป็นทั้งผู้ดูแลและอัครสาวก เขาได้เรียนวิธีประกาศให้ดีขึ้นและวิธีช่วยคนอื่นในประชาคม—2 ทธ. 3:10-12
17 เปาโลให้เวลากับทิโมธีเพราะเขาอยากฝึกทิโมธี (กจ. 16:1-5) ผู้ดูแลก็สามารถเลียนแบบเปาโลโดยพาผู้ช่วยงานรับใช้ที่มีคุณวุฒิไปเยี่ยมบำรุงเลี้ยงด้วยในบางครั้ง เมื่อทำอย่างนี้ ผู้ช่วยงานรับใช้จะได้เรียนจากผู้ดูแลเกี่ยวกับวิธีสอนคนอื่น วิธีแสดงความรักและความอดทน และวิธีที่จะพึ่งพระยะโฮวาตอนที่ดูแลฝูงแกะของพระองค์—1 ปต. 5:2
การฝึกเป็นเรื่องสำคัญ
18. ทำไมเราควรให้ความสำคัญกับการฝึกคนอื่นเพื่อรับใช้พระยะโฮวา?
18 ในสมัยสุดท้ายนี้ คนใหม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกเพื่อพัฒนาความสามารถในการประกาศ และพี่น้องชายก็จำเป็นต้องได้รับการฝึกให้ดูแลประชาคม พระยะโฮวาให้สิทธิพิเศษกับเราในการช่วยพวกเขา พระองค์อยากให้ผู้รับใช้ทุกคนของพระองค์ได้รับการฝึกอย่างดี ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพยายามฝึกคนอื่นเหมือนกับที่พระเยซูและเปาโลทำ ยังมีงานประกาศอีกเยอะที่ต้องทำก่อนที่จุดจบจะมาถึง เราจึงต้องฝึกคนอื่นให้มากที่สุด
19. ทำไมคุณถึงมั่นใจได้ว่าถ้าคุณพยายามอย่างจริงจังที่จะฝึกคนอื่นให้รับใช้พระยะโฮวา คุณจะประสบความสำเร็จ?
19 การฝึกคนใหม่ต้องใช้เวลาและความพยายาม แต่เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาและพระเยซูจะช่วยเราให้รู้วิธีฝึกพวกเขาอย่างดีที่สุด เราจะมีความสุขมากที่ได้เห็นคนที่เราฝึก “ทุ่มเททำงานหนัก” ในประชาคมหรือในงานประกาศ (1 ทธ. 4:10) ในเวลาเดียวกัน ตัวเราเองก็ต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อจะก้าวหน้า พัฒนาลักษณะนิสัยที่ดีแบบคริสเตียน และใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น
^ [1] (ข้อ 7) ตัวอย่างเช่น พระเยซูสอนสาวกให้ทำสิ่งต่อไปนี้ (1) ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า (2) มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้สิ่งจำเป็นกับพวกเขาไม่ว่าจะเป็นอาหารและเสื้อผ้า (3) ไม่โต้เถียงกับคนอื่น (4) ไว้วางใจพระยะโฮวาถ้าพวกเขาต้องเจอกับผู้คนที่ต่อต้าน และ (5) ไม่กลัวไปก่อนว่าคนอื่นจะทำอะไรกับพวกเขา
^ [2] (ข้อ 9) หนังสือการรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า น. 62-64 มีคำแนะนำที่ดีเกี่ยวกับวิธีพูดกับผู้คนที่เราพบในเขตประกาศ
^ [3] (ข้อ 15) หนังสือการรับประโยชน์จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า น. 52-61 มีวิธีที่พี่น้องชายจะสามารถปรับปรุงคำบรรยายของเขาให้ดีขึ้น