ค้นหาทรัพย์ที่ “ถูกปิดซ่อนไว้อย่างมิดชิดในพระองค์”
“คลังสติปัญญาและความรู้อันล้ำค่าทั้งสิ้นถูกปิดซ่อนไว้ อย่างมิดชิดในพระองค์.”—โกโล. 2:3
1, 2. (ก) มีการค้นพบโบราณวัตถุอะไรในปี 1922 และในที่สุดวัตถุเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน? (ข) พระคำของพระเจ้าเชิญทุกคนให้ทำอะไร?
การค้นพบทรัพย์ที่ถูกซ่อนไว้มักกลายเป็นข่าวพาดหัว. ตัวอย่างเช่น ในปี 1922 หลังจากที่ทำงานอย่างพากเพียรในสภาพแวดล้อมอันทารุณหลายสิบปี เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีชาวบริเตน ก็ได้ค้นพบสิ่งที่น่าทึ่ง. เขาพบหลุมศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนในสภาพที่เกือบสมบูรณ์ ภายในบรรจุสิ่งของต่าง ๆ เกือบ 5,000 ชิ้น.
2 แม้ว่าการค้นพบของคาร์เตอร์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง แต่โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่เขาพบในที่สุดก็ไปอยู่ตามพิพิธภัณฑสถานหรือในห้องสะสมส่วนตัว. โบราณวัตถุเหล่านี้อาจมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือทางศิลปะ แต่มีผลกระทบน้อยมากต่อชีวิตประจำวันของเราหรือไม่มีผลกระทบเลย. อย่างไรก็ตาม พระคำของพระเจ้าเชิญเราให้ค้นหาทรัพย์ที่มีผลกระทบต่อเราอย่างแท้จริง. ทุกคนได้รับเชิญ และผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติวัตถุใด ๆ.—อ่านสุภาษิต 2:1-6
3. ทรัพย์ที่พระยะโฮวาทรงกระตุ้นผู้นมัสการพระองค์ให้แสวงหามีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
3 ขอให้พิจารณาคุณค่าของทรัพย์ที่พระยะโฮวาทรงกระตุ้นผู้นมัสการพระองค์ให้แสวงหา. ทรัพย์อย่างหนึ่งก็คือ “ความเกรงกลัวพระยะโฮวา” ซึ่งช่วยปกป้องและคุ้มครองเราในสมัยนี้ที่เต็มด้วยอันตราย. (เพลง. 19:9) การหา “ความรู้ของพระเจ้า” อาจทำให้เราได้รับเกียรติสูงสุดที่มนุษย์สามารถมีได้ ซึ่งก็คือสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระผู้สูงสุด. และโดยที่เราใช้ทรัพย์ที่พระเจ้าประทานอันได้แก่สติปัญญา, ความรู้, และความสังเกตเข้าใจ เราจะสามารถรับมือกับปัญหาและความวิตกกังวลต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน. (สุภา. 9:10, 11) เราจะหาทรัพย์ที่ล้ำค่าเช่นนั้นได้โดยวิธีใด?
ค้นหาทรัพย์ฝ่ายวิญญาณ
4. มีอะไรที่ช่วยชี้นำเราไปถึงทรัพย์ฝ่ายวิญญาณ?
4 ต่างจากนักโบราณคดีและนักสำรวจอื่น ๆ ที่มักต้องเสาะหาไปทั่วทุกหนแห่งเพื่อจะพบขุมทรัพย์ เรารู้ดีว่าจะพบทรัพย์ฝ่ายวิญญาณได้ที่ไหน. พระคำของพระเจ้า ซึ่งเป็นเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ บอกเราอย่างชัดเจนว่าเราจะพบทรัพย์ที่พระเจ้าทรงสัญญาได้ที่ไหน. อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงพระคริสต์โดยเขียนว่า “คลังสติปัญญาและความรู้อันล้ำค่าทั้งสิ้นถูกปิดซ่อนไว้อย่างมิดชิดในพระองค์.” (โกโล. 2:3) เมื่อเราอ่านถ้อยคำดังกล่าว เราอาจถามว่า ‘ทำไมเราควรแสวงหาทรัพย์เหล่านี้? ทรัพย์เหล่านี้ “ถูกปิดซ่อนไว้” ในพระคริสต์อย่างไร? และเราจะหาทรัพย์เหล่านี้ได้อย่างไร?’ เพื่อจะได้คำตอบ ให้เราพิจารณาถ้อยคำของท่านอัครสาวกให้ละเอียดกว่านี้.
5. เหตุใดเปาโลจึงเขียนเกี่ยวกับทรัพย์ฝ่ายวิญญาณ?
5 เปาโลเขียนถ้อยคำดังกล่าวไปถึงเพื่อนคริสเตียนในเมืองโกโลซาย. ท่านบอกพวกเขาว่าท่านกำลังบากบั่นเพื่อพวกเขา เพื่อ “พวกเขาจะได้รับการปลอบใจ [และ] จะได้กลมเกลียวกันด้วยความรัก.” (อ่านโกโลซาย 2:1, 2) เหตุใดท่านจึงเป็นห่วงอย่างนั้น? ดูเหมือนเปาโลรู้ว่าพี่น้องที่นั่นอาจได้รับอิทธิพลที่ไม่ดีจากบางคนในหมู่พวกเขาที่ส่งเสริมปรัชญากรีกหรือสนับสนุนให้หวนกลับไปปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซ. ท่านเตือนพี่น้องเหล่านั้นอย่างหนักแน่นว่า “ระวังให้ดี อาจมีคนทำให้ท่านทั้งหลายตกเป็นเหยื่อเขาโดยใช้หลักปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหลที่อาศัยประเพณีของมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ที่โลกถือว่าสำคัญ ไม่ใช่อาศัยคำสอนของพระคริสต์.”—โกโล. 2:8
6. เหตุใดเราควรสนใจคำแนะนำของเปาโล?
6 ปัจจุบัน เราเผชิญกับอิทธิพลคล้าย ๆ กันจากซาตานและระบบชั่วของมัน. ปรัชญาของโลก รวมถึงมนุษยนิยม (ซึ่งถือว่ามนุษย์สามารถมีความสุขความสำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า) และทฤษฎีวิวัฒนาการ หล่อหลอมความคิด, ศีลธรรม, เป้าหมาย, และรูปแบบชีวิตของผู้คน. ศาสนาเท็จมีส่วนสำคัญในการฉลองวันหยุดมากมายที่ผู้คนนิยม. อุตสาหกรรมบันเทิงสนองความปรารถนาอันเสื่อมทรามทางกาย และเนื้อหาจำนวนมากที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตเป็นอันตรายอย่างแท้จริงต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่. การเปิดรับเอาสิ่งเหล่านี้และแนวโน้มอื่น ๆ ในโลกเป็นประจำย่อมส่งผลต่อความรู้สึกและเจตคติของเราต่อการชี้นำซึ่งพระยะโฮวาทรงจัดให้ ทำให้เราไม่ได้ยึดชีวิตแท้ไว้ให้มั่นอีกต่อไป. (อ่าน 1 ติโมเธียว 6:17-19) เห็นได้ชัด เราจำเป็นต้องเข้าใจความหมายคำกล่าวของเปาโลที่เขียนถึงคริสเตียนชาวโกโลซาย และต้องจำคำแนะนำของท่านหากเราไม่ต้องการยอมแพ้แก่กลอุบายของซาตาน.
7. อะไรคือสองสิ่งที่เปาโลกล่าวว่าจะช่วยคริสเตียนชาวโกโลซาย?
7 กลับมาที่คำกล่าวของเปาโลที่มีไปถึงคริสเตียนชาวโกโลซาย เราสังเกตว่าหลังจากกล่าวถึงเรื่องที่ท่านเป็นห่วงแล้ว ท่านก็ชี้ถึงสองสิ่งที่จะช่วยพวกเขาให้ได้รับการปลอบใจและกลมเกลียวกันในความรัก. ประการแรก ท่านกล่าวถึง “ความมั่นใจว่าตนเข้าใจความจริงอย่างแน่ชัด.” พวกเขาต้องมั่นใจว่าตนเข้าใจพระคัมภีร์อย่างถูกต้องชัดเจน เพื่อความเชื่อของพวกเขาจะมีรากฐานที่มั่นคง. (ฮีบรู 11:1) จากนั้น ท่านกล่าวถึง “ความรู้ถ่องแท้ในเรื่องความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า.” พวกเขาจำเป็นต้องมีมากกว่าความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความจริงและมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า. (ฮีบรู 5:13, 14) คำแนะนำที่มีเหตุผลนับว่าจำเป็นจริง ๆ สำหรับคริสเตียนชาวโกโลซายและสำหรับเราในปัจจุบัน! แต่เราจะได้ความเชื่อมั่นและความรู้ที่ถ่องแท้อย่างนั้นได้โดยวิธีใด? เปาโลบอกถึงวิธีที่จะทำได้อย่างนั้นในถ้อยแถลงอันลึกซึ้งของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ว่า “คลังสติปัญญาและความรู้อันล้ำค่าทั้งสิ้นถูกปิดซ่อนไว้อย่างมิดชิดในพระองค์.”
ทรัพย์ที่ “ถูกปิดซ่อนไว้” ในพระคริสต์
8. จงอธิบายความหมายของคำว่า “ถูกปิดซ่อนไว้” ในพระคริสต์.
8 การที่กล่าวว่าคลังสติปัญญาและความรู้อันล้ำค่าทั้งสิ้น “ถูกปิดซ่อนไว้” ในพระคริสต์ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ถูกปิดไว้จนไม่มีใครเข้าถึงได้. แต่หมายความว่าเพื่อจะหาสิ่งล้ำค่าดังกล่าว เราต้องพยายามอย่างเต็มกำลังและมุ่งความสนใจไปที่พระเยซูคริสต์. เรื่องนี้สอดคล้องกับถ้อยคำที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับพระองค์เองว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา.” (โย. 14:6) ดังนั้น เพื่อจะพบความรู้ของพระเจ้า เราต้องได้รับความช่วยเหลือและการชี้นำจากพระเยซู.
9. มีการมอบหมายบทบาทอะไรให้พระเยซู?
9 นอกจากเป็น “ทางนั้น” พระเยซูตรัสว่าพระองค์ทรง “เป็นความจริง และเป็นชีวิต.” นี่แสดงว่าบทบาทของพระองค์ยังมีอีกมาก นอกเหนือจากการเป็นทางที่เราเข้าเฝ้าพระบิดาได้. พระเยซูยังทรงมีบทบาทที่สำคัญด้วยในการเข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและการได้รับชีวิตนิรันดร์. สิ่งที่ถูกปิดซ่อนไว้ในพระเยซูก็คือทรัพย์ฝ่ายวิญญาณอันล้ำค่า ซึ่งรอให้นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ศึกษาอย่างถี่ถ้วนค้นพบ. ให้เราพิจารณาทรัพย์ฝ่ายวิญญาณบางอย่างที่ส่งผลโดยตรงต่อความหวังของเราในอนาคตและสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า.
10. เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับพระเยซูจากโกโลซาย 1:19 และ 2:9?
10 “พระองค์ทรงแสดงคุณลักษณะของพระเจ้าอย่างครบถ้วน.” (โกโล. 1:19; 2:9) เนื่องจากทรงอยู่ในสวรรค์กับพระบิดามานานมากพระเยซูทรงรู้จักบุคลิกภาพและพระประสงค์ของพระเจ้าดียิ่งกว่าใคร ๆ. ตลอดช่วงที่รับใช้บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงสอนคนอื่น ๆ ในเรื่องที่พระบิดาสอนพระองค์ และสะท้อนคุณลักษณะที่พระบิดาปลูกฝังไว้ในตัวพระองค์ด้วยการกระทำของพระองค์. นั่นคือเหตุที่พระเยซูสามารถตรัสได้ว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดาด้วย.” (โย. 14:9) สติปัญญาและความรู้ทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับพระเจ้าถูกปิดซ่อนไว้หรือมีอยู่ในพระคริสต์ และไม่มีทางอื่นใดที่เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาได้ดีไปกว่าการเรียนรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับพระเยซูเท่าที่เราจะทำได้.
11. มีอะไรเกี่ยวข้องกันระหว่างพระเยซูกับคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล?
11 “ที่มีการพยากรณ์ก็เพื่อให้พยานหลักฐานเรื่องพระเยซู.” (วิ. 19:10) ถ้อยคำดังกล่าวชี้ว่าพระเยซูทรงเป็นบุคคลหลักในการทำให้คำพยากรณ์มากมายในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จ. คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล นับตั้งแต่การประกาศคำพยากรณ์แรกซึ่งบันทึกไว้ที่เยเนซิศ 3:15 จนถึงนิมิตต่าง ๆ อันรุ่งโรจน์ในหนังสือวิวรณ์ จะเป็นที่เข้าใจอย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อได้พิจารณาบทบาทของพระเยซูซึ่งเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรมาซีฮา. นั่นช่วยอธิบายว่าทำไมคำพยากรณ์มากมายในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนที่ไม่ยอมรับว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮาที่ทรงสัญญา. นอกจากนั้น นั่นยังช่วยอธิบายว่าทำไมพระเยซูดูเหมือนว่าเป็นเพียงแค่บุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งสำหรับคนที่ไม่เห็นคุณค่าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งมีคำพยากรณ์มากมายเกี่ยวกับพระมาซีฮา. ความรู้เกี่ยวกับพระเยซูช่วยให้ประชาชนของพระเจ้าเข้าใจความหมายของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจะสำเร็จในอนาคต.— 2 โค. 1:20
12, 13. (ก) พระเยซูทรงเป็น “ความสว่างของโลก” อย่างไร? (ข) เมื่อหลุดพ้นจากความมืดทางศาสนาแล้ว เหล่าสาวกของพระคริสต์มีพันธะที่จะทำอะไร?
12 “เราเป็นความสว่างของโลก.” (อ่านโยฮัน 8:12; 9:5) ผู้พยากรณ์ยะซายาบอกล่วงหน้าไว้นานก่อนที่พระเยซูจะประสูติบนแผ่นดินโลกว่า “คนเหล่านั้นซึ่งดำเนินอยู่ในความมืด, ได้เห็นความสว่างอันใหญ่แล้ว. และผู้ที่อยู่ในเมืองแห่งเงาของความตาย, แห่งแม่น้ำยาระเดนก็มีแสงสว่างส่องเข้ามาถึงเขาแล้ว.” (ยซา. 9:2) อัครสาวกมัดธายอธิบายว่าพระเยซูทรงทำให้คำพยากรณ์นี้สำเร็จเมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นประกาศว่า “ท่านทั้งหลายจงกลับใจเถิด เพราะราชอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว.” (มัด. 4:16, 17) งานรับใช้ของพระเยซูทำให้ผู้คนได้รับความสว่างฝ่ายวิญญาณและหลุดพ้นจากการเป็นทาสของคำสอนศาสนาเท็จ. พระเยซูตรัสว่า “เราเข้ามาในโลกในฐานะเป็นความสว่าง เพื่อว่าทุกคนที่มีความเชื่อในเราจะไม่อยู่ในความมืดอีกต่อไป.”—โย. 1:3-5; 12:46
13 หลายปีต่อมา อัครสาวกเปาโลบอกเพื่อนคริสเตียนว่า “ท่านทั้งหลายเคยเป็นความมืด แต่เดี๋ยวนี้พวกท่านเป็นความสว่างเนื่องจากพวกท่านเป็นคนขององค์พระผู้เป็นเจ้า. จงประพฤติอย่างลูกของความสว่างต่อไป.” (เอเฟ. 5:8) เมื่อหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งความมืดทางศาสนาแล้ว คริสเตียนมีพันธะที่จะดำเนินในฐานะลูกแห่งความสว่าง. เรื่องนี้สอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกในคำเทศน์บนภูเขา ที่ว่า “จงให้ความสว่างของพวกเจ้าส่องไปต่อหน้าผู้คน เพื่อพวกเขาจะเห็นการงานอันดีของเจ้าและยกย่องสรรเสริญพระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์.” (มัด. 5:16) คุณเห็นคุณค่าทรัพย์ฝ่ายวิญญาณที่คุณพบในพระเยซูมากถึงขนาดที่แนะนำทรัพย์นี้กับคนอื่น ๆ ทั้งโดยคำพูดและการประพฤติที่ดีแบบคริสเตียนไหม?
14, 15. (ก) แกะและสัตว์อื่น ๆ มีส่วนอย่างไรในการนมัสการแท้ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล? (ข) เหตุใดพระเยซูทรงเป็นทรัพย์ที่หาอะไรเทียบไม่ได้ในบทบาทที่ทรงเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้า”?
14 พระเยซูทรงเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้า.” (โย. 1:29, 36) ตลอดคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม แกะมีบทบาทเด่นในเรื่องการให้อภัยบาปและการเข้าเฝ้าพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น หลังจากอับราฮามได้แสดงว่าท่านเต็มใจถวายยิศฮาคบุตรชาย พระเจ้าทรงมีพระบัญชาว่าอย่าทำอันตรายแก่ยิศฮาคและทรงจัดแกะผู้ตัวหนึ่งให้เพื่อถวายแทนยิศฮาค. (เย. 22:12, 13) เมื่อชาวอิสราเอลได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจากอียิปต์ แกะก็มีบทบาทสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ “ปัศคาของพระยะโฮวา.” (เอ็ก. 12:1-13) นอกจากนั้น พระบัญญัติของโมเซก็กำหนดให้ถวายเครื่องบูชาที่ใช้สัตว์หลายชนิด รวมทั้งแกะและแพะด้วย.—เอ็ก. 29:38-42; เลวี. 5:6, 7
15 ในบรรดาเครื่องบูชาเหล่านี้ ไม่มีเครื่องบูชาใดสามารถช่วยปลดเปลื้องให้พ้นจากบาปและความตายอย่างถาวร ที่จริง ไม่มีเครื่องบูชาใด ๆ ที่มนุษย์ถวายสามารถทำให้เกิดผลอย่างนั้น. (ฮีบรู 10:1-4) แต่สำหรับพระเยซู พระองค์ทรงเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับบาปของโลกไป.” เฉพาะข้อเท็จจริงนี้เพียงอย่างเดียวพระเยซูก็เป็นทรัพย์ที่เหนือกว่าทรัพย์สมบัติวัตถุใด ๆ ที่เคยค้นพบกันมาแล้ว. ด้วยเหตุนั้น เราควรใช้เวลาศึกษาเรื่องค่าไถ่อย่างละเอียดและแสดงความเชื่อในการจัดเตรียมอันยอดเยี่ยมนี้. ด้วยการทำอย่างนั้น เราจะมีความหวังที่จะได้รับพระพรและบำเหน็จอันยิ่งใหญ่—ไม่ว่าจะเป็นความรุ่งโรจน์และเกียรติยศร่วมกันกับพระคริสต์ในสวรรค์สำหรับ “แกะฝูงน้อย” หรือจะเป็นชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลกสำหรับ “แกะอื่น.”—ลูกา 12:32; โย. 6:40, 47; 10:16
16, 17. เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเข้าใจบทบาทของพระเยซูที่เป็น “ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์”?
16 พระเยซูทรงเป็น “ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์.” (อ่านฮีบรู 12:1, 2) ในฮีบรูบท 11 เราพบว่าเปาโลพิจารณาเรื่องความเชื่อไว้อย่างมีพลัง รวมถึงได้ให้นิยามที่ชัดเจนและกล่าวถึงชายหญิงที่มีความเชื่อและเป็นแบบอย่างที่ดีหลายคน เช่น โนอาห์, อับราฮาม, ซาราห์, และราฮาบ. โดยคิดถึงเรื่องทั้งหมดนี้ เปาโลกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนให้ “เพ่งมองพระเยซู ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์.” เพราะเหตุใด?
17 แม้ว่าชายหญิงที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นในฮีบรูบท 11 มีความเชื่อมั่นคงในคำสัญญาของพระเจ้า แต่พวกเขาไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จโดยทางพระมาซีฮาและราชอาณาจักร. ความเชื่อของพวกเขาจึงไม่สมบูรณ์ในแง่นี้. ที่จริง แม้แต่หลายคนที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้เขียนคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮาก็ไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่าสิ่งที่เขาเขียนมีความหมายอย่างไร. (1 เป. 1:10-12) เฉพาะโดยทางพระเยซูเท่านั้นที่ความเชื่อจะสมบูรณ์หรือครบถ้วนได้. นับว่าสำคัญเพียงไรที่เราจะเข้าใจอย่างชัดเจนและยอมรับบทบาทของพระเยซูในฐานะ “ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์”!
จงหาต่อ ๆ ไป
18, 19. (ก) มีทรัพย์ฝ่ายวิญญาณอะไรอีกที่ถูกปิดซ่อนไว้ในพระคริสต์? (ข) เหตุใดเราควรหมายพึ่งพระเยซูต่อ ๆ ไปเพื่อจะได้ทรัพย์ฝ่ายวิญญาณ?
18 เราได้พิจารณากันไปแล้วเกี่ยวกับบทบาทอันล้ำค่าของพระเยซูตามพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อความรอดของมนุษยชาติเพียงไม่กี่บทบาท. ยังมีทรัพย์ฝ่ายวิญญาณอื่น ๆ อีกที่ถูกปิดซ่อนไว้ในพระคริสต์. การค้นหาทรัพย์เหล่านี้จะทำให้เรายินดีและได้รับประโยชน์. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปโตรเรียกพระเยซูว่า “ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้ได้รับชีวิต” และ “ดาวประกายพรึก” ที่ขึ้นมา. (กิจ. 3:15; 5:31; 2 เป. 1:19) และคัมภีร์ไบเบิลใช้คำว่า “อาเมน” กับพระเยซู. (วิ. 3:14) คุณรู้ความหมายและความสำคัญของบทบาทเหล่านี้ไหม? ดังที่พระเยซูตรัส “จงหาต่อ ๆ ไปแล้วจะพบ.”—มัด. 7:7
19 ตลอดประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครที่ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความหมายและเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสวัสดิภาพถาวรของเราเท่ากับพระเยซู. ทรัพย์ฝ่ายวิญญาณมีอยู่ในพระองค์ ซึ่งใครก็ตามที่แสวงหาอย่างสุดหัวใจจะพบทรัพย์นั้นได้ไม่ยาก. ขอให้คุณได้รับความยินดีและพระพรในการค้นหาทรัพย์ซึ่ง “ถูกปิดซ่อนไว้อย่างมิดชิดในพระองค์.”
คุณจำได้ไหม?
• คริสเตียนถูกกระตุ้นให้แสวงหาทรัพย์อะไร?
• เหตุใดคำแนะนำของเปาโลสำหรับคริสเตียนชาวโกโลซายยังคงเหมาะกับพวกเราในปัจจุบัน?
• ทรัพย์ฝ่ายวิญญาณบางอย่างซึ่ง “ถูกปิดซ่อนไว้” ในพระคริสต์มีอะไรบ้าง? จงอธิบาย.
[ภาพหน้า 5]
คัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ที่ชี้นำเราไปถึงทรัพย์ซึ่ง “ถูกปิดซ่อนไว้อย่างมิดชิดใน” พระคริสต์