‘จงดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ต่อ ๆ ไป’
“ฉะนั้น เมื่อท่านทั้งหลายได้รับพระคริสต์เยซูเจ้าแล้ว จงดำเนินร่วมสามัคคีกับพระองค์ต่อ ๆ ไป.”—โกโลซาย 2:6, ล.ม.
1, 2. (ก) คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาอย่างไรเกี่ยวกับชีวิตของฮะโนคที่รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์? (ข) พระยะโฮวาได้ทรงช่วยเราอย่างไรให้ดำเนินกับพระองค์ ดังที่มีบ่งชี้ในโกโลซาย 2:6, 7?
คุณเคยสังเกตไหมขณะที่เด็กตัวเล็ก ๆ เดินไปกับพ่อของเขา? เด็กน้อยจะเลียนแบบพ่อทุกย่างก้าว ใบหน้าของเขาฉายแววแห่งความชื่นชม; ผู้เป็นพ่อช่วยเขาให้เดินไป ใบหน้าของเขาเองเต็มไปด้วยประกายแห่งความรักและความพึงพอใจ. นับว่าเหมาะอย่างยิ่งที่พระยะโฮวาทรงใช้ภาพดังกล่าวเพื่อพรรณนาชีวิตของผู้ที่รับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์. ตัวอย่างเช่น พระคำของพระเจ้ากล่าวว่าฮะโนคชายผู้ซื่อสัตย์ “ได้ดำเนินกับพระเจ้า.”—เยเนซิศ 5:24; 6:9.
2 เช่นเดียวกับพ่อที่เห็นอกเห็นใจช่วยลูกชายที่ยังเยาว์ให้เดินไปกับเขา พระยะโฮวาได้ทรงประทานความช่วยเหลือที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แก่เรา. พระองค์ทรงส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวมายังแผ่นดินโลก. ตลอดชีวิตที่พระองค์ทรงดำเนินอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ พระเยซูคริสต์ทรงสะท้อนแบบพระฉายของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบในทุกย่างก้าว. (โยฮัน 14:9, 10; เฮ็บราย 1:3) ดังนั้น เพื่อจะดำเนินกับพระเจ้า เราต้องดำเนินกับพระเยซู. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ฉะนั้น เมื่อท่านทั้งหลายได้รับพระคริสต์เยซูเจ้าแล้ว จงดำเนินร่วมสามัคคีกับพระองค์ต่อ ๆ ไป. หยั่งรากและถูกก่อขึ้นในพระองค์, และตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ, เหมือนดังที่ท่านได้รับการสอนแล้ว, และเปี่ยมล้นด้วยความเชื่อในการขอบพระคุณ.”—โกโลซาย 2:6, 7, ล.ม.
3. ตามโกโลซาย 2:6, 7 เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่ายังมีสิ่งอื่นอีกที่เกี่ยวข้องด้วยในการดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ ไม่ใช่เพียงแต่รับบัพติสมาเท่านั้น?
3 เนื่องจากพวกเขาต้องการดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์โดยพยายามติดตามรอยพระบาทอันสมบูรณ์แบบของพระองค์ นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่มีหัวใจสุจริตจึงได้รับบัพติสมา. (ลูกา 3:21; เฮ็บราย 10:7-9) ทั่วโลก เฉพาะในปี 1997 ปีเดียว มีมากกว่า 375,000 คนทำขั้นตอนสำคัญนี้—เฉลี่ยแล้วมากกว่า 1,000 คนในแต่ละวัน. การเพิ่มทวีนี้ช่างน่าตื่นเต้นจริง ๆ! อย่างไรก็ดี ถ้อยคำของเปาโลซึ่งบันทึกไว้ที่โกโลซาย 2:6, 7 แสดงว่ายังมีสิ่งอื่นอีกที่เกี่ยวข้องด้วยในการดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ ไม่ใช่เพียงแต่รับบัพติสมาเท่านั้น. คำกริยาในภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ดำเนินต่อ ๆ ไป” พรรณนาถึงการกระทำที่ต้องต่อเนื่อง ทำอยู่เรื่อยไป. นอกจากนั้น เปาโลยังกล่าวอีกว่าการดำเนินกับพระคริสต์หมายรวมถึงสี่ประการดังต่อไปนี้: การหยั่งรากในพระคริสต์, การถูกก่อขึ้นในพระองค์, การตั้งมั่นคงในความเชื่อ, และการเปี่ยมล้นด้วยการขอบพระคุณ. ให้เราพิจารณาวลีเหล่านี้แต่ละวลี และดูว่ามีแง่มุมใดบ้างที่ช่วยเราให้ดำเนินต่อ ๆ ไปร่วมสามัคคีกับพระคริสต์.
คุณ ‘หยั่งรากในพระคริสต์’ ไหม?
4. การ ‘หยั่งรากในพระคริสต์’ หมายความเช่นไร?
4 ก่อนอื่น เปาโลเขียนว่าเราจำต้อง ‘หยั่งรากในพระคริสต์.’ (เทียบกับมัดธาย 13:20, 21.) คนเราจะสามารถหยั่งรากในพระคริสต์ได้อย่างไร? เอาละ เรามองไม่เห็นรากของพืช แต่รากนั้นสำคัญต่อพืชมาก—รากทำให้พืชตั้งมั่นคงอยู่และดูดสารอาหารบำรุงเลี้ยงลำต้น. ในทำนองเดียวกัน ตัวอย่างและคำสอนของพระคริสต์มีผลกระทบต่อเราอย่างที่มองไม่เห็นในตอนเริ่มแรก ฝังเข้าไปในความคิดจิตใจและหัวใจของเรา. ที่นั่น ตัวอย่างและคำสอนของพระองค์ให้การบำรุงเลี้ยงและทำให้เราเข้มแข็ง. เมื่อเรายอมให้ตัวอย่างและคำสอนของพระคริสต์ควบคุมการคิด, การกระทำ, และการตัดสินใจของเรา เราก็จะถูกกระตุ้นให้อุทิศชีวิตของเราแด่พระยะโฮวา.—1 เปโตร 2:21.
5. เราจะ “ปลูกฝังความปรารถนา” อาหารฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร?
5 พระเยซูทรงรักความรู้ที่มาจากพระเจ้า. พระองค์ถึงกับทรงเปรียบความรู้จากพระเจ้าว่าเป็นเหมือนอาหาร. (มัดธาย 4:4) คิดดูซิ ในคำเทศน์บนภูเขา พระองค์ทรงยกข้อความ 21 ครั้งจากแปดพระธรรมในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. เพื่อติดตามตัวอย่างของพระองค์ เราต้องทำดังที่อัครสาวกเปโตรกระตุ้นเตือน กล่าวคือ “ปลูกฝังความปรารถนา” จะได้อาหารฝ่ายวิญญาณ “ดุจดังทารกที่พึ่งคลอด.” (1 เปโตร 2:2, ล.ม.) เมื่อทารกแรกเกิดปรารถนาอาหารบำรุงเลี้ยง เขาแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของเขา. หากในตอนนี้เราไม่รู้สึกอย่างนั้นต่ออาหารฝ่ายวิญญาณ ถ้อยคำของเปโตรสนับสนุนเราให้ “ปลูกฝัง” ความปรารถนาเช่นนั้น. โดยวิธีใด? หลักการซึ่งพบที่บทเพลงสรรเสริญ 34:8 อาจช่วยให้คำตอบได้ ที่ว่า “จงชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ.” หากเรา “ชิม” คัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระยะโฮวาเป็นประจำ อาจโดยการอ่านส่วนหนึ่งของพระคำนั้นในแต่ละวัน เราก็จะพบว่าพระคำนั้นให้การบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณและประเสริฐ. เมื่อเวลาผ่านไป ความปรารถนาของเราต่อพระคำก็จะมีเพิ่มขึ้น.
6. ทำไมจึงสำคัญที่จะคิดรำพึงในเรื่องที่เราได้อ่าน?
6 อย่างไรก็ตาม การย่อยอาหารให้ละเอียดเมื่อเรารับประทานเข้าไปแล้วเป็นเรื่องสำคัญ. ดังนั้น จำเป็นที่เราจะต้องคิดรำพึงในสิ่งที่เราอ่าน. (บทเพลงสรรเสริญ 77:11, 12) ตัวอย่างเช่น ขณะที่เราอ่านหนังสือบุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็น แต่ละบทจะมีคุณค่ายิ่งขึ้นหากเราหยุดและถามตัวเองว่า ‘แง่มุมใดในบุคลิกภาพของพระคริสต์ที่ฉันเห็นในเรื่องนี้ และฉันจะเลียนแบบคุณลักษณะนั้นในชีวิตของฉันเองได้อย่างไร?’ การคิดรำพึงแบบนี้จะทำให้เราสามารถใช้สิ่งที่เราเรียนรู้. ต่อมา เมื่อต้องตัดสินใจ เราอาจถามตัวเองว่าถ้าเป็นพระเยซูพระองค์จะทำอย่างไร. ถ้าเราตัดสินใจอย่างสอดคล้องตามนั้น ก็แสดงว่าเราได้หยั่งรากในพระคริสต์แล้วอย่างแท้จริง.
7. ทัศนะของเราควรเป็นเช่นไรเกี่ยวกับการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณที่เป็นอาหารแข็ง?
7 เปาโลยังกระตุ้นเตือนเราด้วยให้รับเอา “อาหารแข็ง” ซึ่งก็คือความจริงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นแห่งพระคำของพระเจ้า. (เฮ็บราย 5:14) การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มอาจเป็นเป้าหมายแรกที่เราวางไว้ในเรื่องนี้. นอกจากนี้ยังมีหัวข้อศึกษาที่เฉพาะเจาะจงอีกมากมาย อย่างเช่นเรื่องเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์, คำสัญญาไมตรีต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงทำกับไพร่พลของพระองค์, หรือข่าวสารที่เป็นคำพยากรณ์บางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิล. มีข้อมูลมากมายที่จะช่วยเราย่อยและซึมซับเอาอาหารแข็งฝ่ายวิญญาณเช่นนั้น. เป้าหมายของการรับเอาความรู้เช่นนั้นคืออะไร? ไม่ใช่เพื่อให้เรามีข้อที่จะอวดได้ แต่เพื่อเสริมสร้างความรักของเราที่มีต่อพระยะโฮวาและดึงเราให้เข้ามาใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น. (1 โกรินโธ 8:1; ยาโกโบ 4:8) หากเรารับเอาความรู้ของพระองค์อย่างหิวกระหาย, ใช้ความรู้นั้นกับตัวเอง, และใช้ความรู้นั้นในการช่วยผู้อื่น นั่นแสดงว่าเรากำลังเลียนแบบพระคริสต์อย่างแท้จริง. การทำเช่นนี้จะช่วยเราให้หยั่งรากในพระองค์อย่างถูกต้อง.
คุณ ‘ถูกก่อขึ้นในพระคริสต์’ ไหม?
8. การ ‘ถูกก่อขึ้นในพระคริสต์’ หมายความเช่นไร?
8 สำหรับแง่มุมต่อไปในการดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ เปาโลเปลี่ยนมโนภาพอย่างฉับไวจากอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง—จากภาพของพืชเปลี่ยนเป็นภาพของตึก. เมื่อเราคิดถึงตึกที่กำลังก่อสร้างอยู่ เราคิดถึงไม่เพียงแต่ฐานราก หากแต่ยังคิดถึงตัวตึกที่ปรากฏขึ้นมาให้เห็นได้ชัด ๆ อันเป็นผลจากงานที่หนักแสนหนัก. ในทำนองเดียวกัน เราต้องบากบั่นพยายามอย่างมากทีเดียวเพื่อสร้างคุณสมบัติและนิสัยเหมือนพระคริสต์. ความบากบั่นพยายามเช่นนั้นจะไม่พ้นจากการสังเกตของผู้อื่น ดังที่เปาโลเขียนถึงติโมเธียวว่า ‘จงให้ความก้าวหน้าของท่านปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง.’ (1 ติโมเธียว 4:15, ล.ม.; มัดธาย 5:16) กิจกรรมฝ่ายคริสเตียนอะไรบ้างที่เสริมสร้างเราขึ้น?
9. (ก) เพื่อจะเลียนแบบพระคริสต์ในงานรับใช้ เราอาจตั้งเป้าหมายอะไรบ้างที่ทำได้จริง? (ข) เราทราบได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราชื่นชมยินดีในงานรับใช้ของเรา?
9 พระเยซูทรงมอบหมายให้เราประกาศและสอนข่าวดี. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) พระองค์ทรงวางแบบอย่างที่สมบูรณ์เอาไว้โดยการให้คำพยานอย่างกล้าหาญและอย่างมีประสิทธิภาพ. แน่นอน เราไม่มีทางทำได้ดีเท่าพระองค์. อย่างไรก็ตาม อัครสาวกเปโตรวางเป้าหมายนี้ไว้ให้เรา: “จงจัดให้พระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ในหัวใจของท่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) หากคุณรู้สึกว่าคุณไม่ “พร้อมเสมอที่จะโต้ตอบ” ก็อย่าได้ท้อแท้. จงวางเป้าหมายที่สมเหตุผลซึ่งจะช่วยคุณให้คืบหน้าเข้าใกล้มาตรฐานนั้นยิ่งขึ้น. การเตรียมตัวล่วงหน้าอาจช่วยคุณเสนอข่าวสารได้หลากหลายวิธีหรือทำให้สามารถใช้ข้อพระคัมภีร์ข้อหนึ่งหรือสองข้อในการเสนอ. คุณอาจวางเป้าหมายที่จะเสนอสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น, กลับเยี่ยมมากขึ้น, หรือตั้งเป้าจะเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ไม่ควรเน้นแต่ปริมาณ—เช่นจำนวนชั่วโมง, จำนวนหนังสือที่เสนอได้, หรือจำนวนรายศึกษา—แต่ควรเน้นที่คุณภาพด้วย. การตั้งเป้าที่สมเหตุผลและพยายามบรรลุให้ได้จะช่วยเราให้พอใจยินดีในการทุ่มเทตัวเราเองในงานรับใช้. นั่นคือสิ่งที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ คือการที่เรารับใช้พระองค์ “ด้วยใจชื่นชม.”—บทเพลงสรรเสริญ 100:2; เทียบกับ 2 โกรินโธ 9:7.
10. กิจกรรมฝ่ายคริสเตียนอะไรอีกที่เราจะต้องทำ และกิจกรรมเหล่านี้ช่วยเราอย่างไร?
10 ยังมีงานอีกหลายอย่างที่เราทำในประชาคมซึ่งเสริมสร้างเราขึ้นในพระคริสต์. สำคัญที่สุดคือการแสดงความรักต่อกันและกัน เพราะนี่คือเครื่องหมายที่ระบุตัวคริสเตียนแท้. (โยฮัน 13:34, 35) ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ หลายคนในพวกเรารู้สึกผูกพันกับครูที่สอนเรา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เป็นอย่างนั้น. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราจะสามารถทำตามคำแนะนำของเปาโลได้ไหมที่ให้ “ตีแผ่ใจ” โดยทำความรู้จักกับคนอื่น ๆ ในประชาคม? (2 โกรินโธ 6:13) คนเหล่านั้นที่เป็นผู้ปกครองก็เช่นกัน ต้องการความรักและความหยั่งรู้ค่าจากเรา. โดยการให้ความร่วมมือกับเขา ขอและยอมรับคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์จากเขา เราจะทำให้งานหนักที่เขาทำนั้นง่ายขึ้นมาก. (เฮ็บราย 13:17) ในเวลาเดียวกัน นี่จะช่วยสนับสนุนเราให้ได้รับการก่อขึ้นในพระคริสต์.
11. ทัศนะตามความเป็นจริงอะไรที่เราควรมีในเรื่องการรับบัพติสมา?
11 การรับบัพติสมาเป็นวาระที่น่าตื่นเต้นทีเดียว! อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรคาดหมายว่าหลังจากนั้นชีวิตจะน่าตื่นเต้นเหมือนอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา. ส่วนใหญ่ของการได้รับการก่อขึ้นในพระคริสต์รวมถึง ‘การดำเนินอย่างมีระเบียบในแนวทางเดียวกันนี้.’ (ฟิลิปปอย 3:16, ล.ม.) นั่นไม่ได้หมายถึงแบบชีวิตที่น่าเบื่อไร้ชีวิตชีวา. หากแต่หมายถึงการรุดหน้าไปอย่างซื่อตรง—พูดอีกอย่างคือ การเสริมสร้างนิสัยที่ดีฝ่ายวิญญาณและรักษานิสัยที่ดีนั้นเอาไว้วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า. ขอให้จำไว้ว่า “ผู้ใดที่ได้อดทนจนถึงที่สุด ผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.”—มัดธาย 24:13, ล.ม.
คุณกำลัง “ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ” ไหม?
12. การ “ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ” หมายความเช่นไร?
12 ในวลีที่สามที่ท่านพรรณนาถึงการดำเนินของเราร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ เปาโลกระตุ้นเตือนเราให้ “ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ.” วลีดังกล่าวในฉบับแปลหนึ่งอ่านดังนี้: “ได้รับการยืนยันเกี่ยวด้วยความเชื่อ” เพราะคำในภาษากรีกที่เปาโลใช้อาจใช้ในความหมาย “ยืนยัน, รับประกัน, และทำให้เพิกถอนไม่ได้ตามกฎหมาย.” ขณะที่เราเติบโตขึ้นในความรู้ เรามีเหตุผลมากยิ่งขึ้นที่จะทำให้แน่ใจว่าความเชื่อของเราในพระยะโฮวาพระเจ้านั้นตั้งมั่นคงดีอยู่ และอันที่จริง ได้รับการวางรากฐานไว้ตามกฎหมาย. ผลก็คือเรามีความมั่นคงเพิ่มขึ้น. เป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ ที่โลกของซาตานจะชักจูงเรา. เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงคำแนะเตือนของเปาโลที่ให้ “รุดหน้าสู่ความอาวุโส.” (เฮ็บราย 6:1, ล.ม.) ความอาวุโสและความมั่นคงเป็นคุณลักษณะที่มีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น.
13, 14. (ก) คริสเตียนในศตวรรษแรกที่เมืองโกโลซายเผชิญอะไรที่คุกคามความมั่นคงของพวกเขา? (ข) เปาโลอาจเป็นห่วงในเรื่องอะไร?
13 คริสเตียนในศตวรรษแรกที่เมืองโกโลซายเผชิญการคุกคามความมั่นคงของพวกเขา. เปาโลเตือนดังนี้: “จงระวังให้ดี, เกรงว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดนำท่านทั้งหลายให้หลงด้วยหลักปรัชญาและด้วยคำล่อลวงเหลวไหล, ตามเรื่องซึ่งมนุษย์สอนกันต่อ ๆ มานั้น, ตามโลกธรรม, และไม่ใช่ตามพระคริสต์.” (โกโลซาย 2:8) เปาโลไม่ต้องการให้ชาวโกโลซายที่ได้เข้ามาเป็นราษฎรภายใต้ “[ราชอาณาจักร] แห่งพระบุตรที่รักของ [พระเจ้า]” ถูกพาไปหรือถูกชักนำให้หลงไปจากสภาพที่ได้รับพระพรฝ่ายวิญญาณ. (โกโลซาย 1:13) ถูกชักนำให้หลงโดยอะไร? เปาโลชี้ไปยัง “หลักปรัชญา” คำซึ่งปรากฏเพียงครั้งเดียวในคัมภีร์ไบเบิล. ท่านกำลังพูดถึงนักปรัชญากรีกอย่างเพลโตและโสกราตีสไหม? แม้ว่าพวกนักปรัชญาเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อคริสเตียนแท้ แต่ในสมัยนั้น มีการใช้คำ “ปรัชญา” ในความหมายที่กว้างทีเดียว. โดยทั่วไป คำนี้หมายถึงกลุ่มและสำนักปรัชญาหลายกลุ่มและแม้แต่กลุ่มลัทธิทางศาสนา. เพื่อเป็นตัวอย่าง ชาวยิวในศตวรรษแรกเช่นโยเซฟุสและฟิโลเรียกศาสนาของตนเองว่าปรัชญา ซึ่ง ก็ อาจ เพื่อให้เป็นที่ดึงดูดใจผู้คนมากขึ้น.
14 ปรัชญาบางอย่างที่อาจทำให้เปาโลเป็นห่วงได้แก่ปรัชญาว่าด้วยศาสนา. ถัดจากนั้น ในบทเดียวกันของจดหมายของท่านถึงชาวโกโลซาย ท่านกล่าวต่อคนที่สอนว่า “อย่าเอามือหยิบ, อย่าชิม, อย่าถูกต้อง” ซึ่งการพูดอย่างนั้นพาดพิงถึงลักษณะเด่นแห่งพระบัญญัติของโมเซซึ่งการวายพระชนม์ของพระคริสต์ทำให้สิ้นสุดลง. (โรม 10:4) นอกจากปรัชญานอกรีตทั้งหลายแล้ว ก็ยังมีอิทธิพลเหล่านี้อีกด้วยที่ก่อผลกระทบและคุกคามสภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคม. (โกโลซาย 2:20-22) เปาโลเตือนให้ระวังปรัชญาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกธรรม.” คำสอนเท็จเช่นนั้นมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์.
15. เราจะหลีกเลี่ยงการถูกชักจูงโดยแนวคิดที่ไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์ซึ่งเรามักเผชิญได้อย่างไร?
15 การส่งเสริมความคิดเห็นแบบมนุษย์และแนวคิดที่ไม่ได้ยึดอยู่กับพระคำของพระเจ้าอาจก่ออันตรายต่อความหนักแน่นมั่นคงของคริสเตียน. เราในทุกวันนี้ต้องระวังภัยคุกคามเช่นนั้น. อัครสาวกโยฮันกระตุ้นเตือนดังนี้: “ดูก่อนพวกที่รัก, อย่าเชื่อวิญญาณ [“คำกล่าวที่มีขึ้นโดยการดลใจ,” ล.ม.] ทั้งปวง, แต่ว่าจงพิสูจน์ดูวิญญาณ [“คำกล่าวที่มีขึ้นโดยการดลใจ,” ล.ม.] นั้น ๆ ว่ามาจากพระเจ้าหรือไม่.” (1 โยฮัน 4:1) ดังนั้น หากมีเพื่อนนักเรียนพยายามทำให้คุณคิดว่าการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลล้าสมัย, หรือเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะโน้มน้าวคุณให้รับเอาเจตคติที่ฝักใฝ่ในวัตถุ, หรือเพื่อนร่วมงานกดดันคุณอย่างแยบยลให้ฝ่าฝืนสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกจากคัมภีร์ไบเบิล, หรือแม้แต่เพื่อนร่วมความเชื่อกล่าววิพากษ์วิจารณ์หรือพูดในเชิงลบเกี่ยวกับคนอื่นในประชาคมโดยยึดความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก ก็อย่าได้ซึมซับรับเอาสิ่งที่คนเหล่านั้นพูด. จงขจัดสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับพระคำของพระเจ้าออกไป. เมื่อเราทำอย่างนั้น เราจะรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของเราขณะที่เราดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์.
“เปี่ยมล้นด้วยความเชื่อในการขอบพระคุณ”
16. แง่มุมที่สี่ของการดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์คืออะไร และเราอาจถามเช่นไร?
16 แง่มุมที่สี่ในการดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ตามที่เปาโลกล่าวถึงได้แก่ การที่เรา “เปี่ยมล้นด้วยความเชื่อในการขอบพระคุณ.” (โกโลซาย 2:7, ล.ม.) คำว่า “เปี่ยมล้น” ทำให้คิดถึงแม่น้ำที่ไหลล้นตลิ่ง. ข้อนี้แนะเป็นนัย ๆ ว่า พวกเราที่เป็นคริสเตียนควรขอบพระคุณอยู่เสมอหรือทำจนเป็นนิสัย. เราแต่ละคนอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันรู้สึกขอบพระคุณไหม?’
17. (ก) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าเราทุกคนมีสิ่งที่จะขอบพระคุณมากมายแม้ในยามยากลำบาก? (ข) ของประทานอะไรบ้างจากพระยะโฮวาที่คุณรู้สึกขอบพระคุณเป็นพิเศษ?
17 ที่จริง เราทุกคนมีเหตุผลมากมายที่จะเปี่ยมล้นด้วยการขอบพระคุณพระยะโฮวาทุก ๆ วัน. แม้แต่ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ก็ยังอาจมีอะไรบางอย่างที่เป็นสิ่งธรรมดาซึ่งช่วยให้เรามีชั่วขณะที่รู้สึกสบายใจ. คนที่เป็นเพื่อนแสดงความเห็นอกเห็นใจ. การให้ความมั่นใจด้วยการสัมผัสจากคนที่เรารัก. การนอนหลับพักผ่อนที่ดีช่วยฟื้นฟูเรี่ยวแรงให้กลับคืนมา. อาหารที่มีรสชาติอร่อยทำให้ลืมความหิวแสบท้องจนหมดสิ้น. เสียงนกร้องเพลง, เสียงเด็กหัวเราะ, ท้องฟ้าสีครามทอประกายสดใส, สายลมที่ทำให้สดชื่น—ทั้งหมดนี้และสิ่งอื่นอีกมากมายอาจผ่านเข้ามาให้เราได้ประสบภายในวันเดียวกัน. เสียแต่เพียงเป็นเรื่องง่ายที่เราอาจเห็นของประทานเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา. สิ่งเหล่านี้สมควรได้รับคำ ‘ขอบคุณ’ จากคุณมิใช่หรือ? ทั้งหมดนี้มาจากพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นที่มาแห่ง “ของประทานอันดีทุกอย่าง และของประทานอันเลิศทุกอย่าง.” (ยาโกโบ 1:17) นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงประทานสิ่งที่ทำให้ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้วกลายเป็นเรื่องจ้อยไป ตัวอย่างเช่น ของประทานแห่งชีวิต. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ได้ทรงประทานโอกาสให้เรามีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป. เพื่อจัดเตรียมให้มีของประทานดังกล่าว พระยะโฮวาทรงเสียสละอย่างยิ่งใหญ่โดยทรงส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว “ผู้ที่พระองค์ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ.”—สุภาษิต 8:30, ล.ม.; โยฮัน 3:16.
18. เราอาจแสดงอย่างไรว่าเราเองขอบพระคุณพระยะโฮวา?
18 ดังนั้น ถ้อยคำของท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญช่างเป็นความจริงอย่างยิ่งทีเดียวที่ว่า “เป็นการดีที่จะโมทนาพระคุณพระเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 92:1, ฉบับแปลใหม่) เปาโลเตือนใจคริสเตียนในเมืองเธซะโลนิเกคล้าย ๆ กันดังนี้: “จงขอบพระคุณในทุกสิ่ง.” (1 เธซะโลนิเก 5:18, ล.ม.; เอเฟโซ 5:20; โกโลซาย 3:15) เราแต่ละคนอาจตั้งใจแน่วแน่ที่จะรู้สึกขอบพระคุณมากขึ้น. คำอธิษฐานของเราไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะแต่คำร้องขอต่อพระเจ้าในเรื่องความจำเป็นต่าง ๆ ของเรา. การวิงวอนขอเป็นเรื่องเหมาะสมที่พึงทำในคำอธิษฐาน. แต่ขอให้นึกภาพเพื่อนคนหนึ่งที่จะพูดกับคุณก็ต่อเมื่อเขาต้องการอะไรบางอย่างจากคุณก็แล้วกัน! ดังนั้น ทำไมไม่อธิษฐานถึงพระยะโฮวาเพียงเพื่อจะขอบพระคุณและสรรเสริญพระองค์ล่ะ? คำอธิษฐานเช่นนั้นคงต้องทำให้พระองค์พอพระทัยมากสักเพียงไรขณะที่ทรงทอดพระเนตรดูโลกที่ไม่สำนึกบุญคุณ! ผลประโยชน์รองลงมาก็คือ คำอธิษฐานเช่นนั้นอาจช่วยเราให้เพ่งเล็งแง่มุมในด้านดีของชีวิต เตือนเราให้ระลึกว่าแท้จริงแล้วเราได้รับพระพรมากมายเพียงไร.
19. ถ้อยคำที่เปาโลใช้ในโกโลซาย 2:6, 7 แนะเป็นนัย ๆ อย่างไรว่าเราทุกคนจะปรับปรุงดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ในการดำเนินกับพระคริสต์?
19 เป็นเรื่องน่าทึ่งมิใช่หรือที่สามารถได้รับการชี้นำที่ฉลาดสุขุมมากเพียงไรในพระคำของพระเจ้าตอนหนึ่ง ๆ? คำแนะนำของเปาโลในการดำเนินกับพระคริสต์ต่อ ๆ ไปเป็นเรื่องที่เราแต่ละคนควรต้องการจะเอาใจใส่. ถ้าอย่างนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะ ‘หยั่งรากในพระคริสต์,’ “ถูกก่อขึ้นในพระองค์,” “ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ,” และ ‘เปี่ยมล้นด้วยการขอบพระคุณ.’ คำแนะนำนี้สำคัญเป็นพิเศษสำหรับคนที่เพิ่งรับบัพติสมาใหม่. แต่คำแนะนำนี้ใช้ได้กับเราทุกคน. จงคิดถึงรากแก้วที่เติบโตหยั่งลึกลงไปเรื่อย ๆ และตึกที่กำลังสร้างอยู่นั้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ. ฉันใดก็ฉันนั้น การดำเนินของเรากับพระคริสต์จะไม่มีวันสิ้นสุด. มีโอกาสมากมายสำหรับการเติบโต. พระยะโฮวาจะทรงช่วยเราและอวยพระพรเรา เพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้เราดำเนินต่อ ๆ ไปกับพระองค์และกับพระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์อย่างไม่สิ้นสุด.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ การดำเนินร่วมสามัคคีกับพระคริสต์หมายรวมถึงอะไร?
▫ การ ‘หยั่งรากในพระคริสต์’ มีความหมายเช่นไร?
▫ เราจะ ‘ถูกก่อขึ้นในพระคริสต์’ ได้โดยวิธีใด?
▫ ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะ “ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ”?
▫ มีเหตุผลอะไรบ้างที่เราต้อง ‘เปี่ยมล้นด้วยการขอบพระคุณ’?
[รูปภาพหน้า 10]
รากของต้นไม้อาจมองไม่เห็น แต่มันทำหน้าที่ให้สารอาหารแก่ต้นไม้และยึดลำต้นให้ตั้งมั่นคง