เราจะ “สวมใส่” ลักษณะนิสัยใหม่และใส่เอาไว้ต่อ ๆ ไปได้อย่างไร?
“ปลูกฝัง [“สวมใส่,” เชิงอรรถ] ลักษณะนิสัยใหม่”—คส. 3:10
1, 2. (ก) เรารู้ได้อย่างไรว่าเป็นไปได้ที่เราจะปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่? (ข) โคโลสี 3:10-14 พูดถึงคุณลักษณะอะไรบ้างที่เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะนิสัยใหม่?
ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ เราพบคำว่า “ลักษณะนิสัยใหม่” 2 ครั้ง (อฟ. 4:24; คส. 3:10) ลักษณะนิสัยใหม่เป็นสิ่งที่ “ถูกสร้างขึ้นตามที่พระเจ้าต้องการ” แต่เป็นไปได้จริง ๆ ไหมที่เราจะ “สวมใส่” หรือ “ปลูกฝัง” ลักษณะนิสัยใหม่นี้? ได้สิ พระยะโฮวาสร้างมนุษย์ตามแบบพระองค์ เราจึงสามารถเลียนแบบลักษณะที่ดีต่าง ๆ ของพระเจ้าได้—ปฐก. 1:26, 27; อฟ. 5:1
2 เราได้รับความไม่สมบูรณ์จากพ่อแม่คู่แรกทำให้บางครั้งเราทุกคนมีความต้องการผิด ๆ นอกจากนั้น สิ่งที่อยู่รอบตัวเราก็มีผลกับเราด้วย แต่เพราะพระยะโฮวาเมตตาและช่วยเหลือเรา เราจึงเป็นคนที่พระองค์อยากให้เป็นได้ และเพื่อช่วยเราให้มีความตั้งใจที่จะทำแบบนั้น ให้เรามาคุยกันเกี่ยวกับคุณลักษณะบางอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะนิสัยใหม่ (อ่านโคโลสี 3:10-14) จากนั้น เราจะมาดูกันว่าเราจะแสดงคุณลักษณะเหล่านี้ได้อย่างไรในงานรับใช้
“เป็นหนึ่งเดียวกัน”
3. คุณลักษณะอย่างหนึ่งของลักษณะนิสัยใหม่คืออะไร?
3 เปาโลอธิบายว่าความไม่ลำเอียงเป็นส่วนสำคัญของลักษณะนิสัยใหม่ เขาบอกว่า “ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนกรีกกับคนยิว คนเข้าสุหนัตกับคนไม่เข้าสุหนัต คนต่างชาติ คนสิเทีย ทาส หรือคนที่มีอิสระ”a ในประชาคม ไม่ควรมีใครรู้สึกว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นเพราะเชื้อชาติ ประเทศบ้านเกิด หรือสถานะทางสังคม เพราะอะไร? เพราะเราทุกคนที่เป็นสาวกของพระเยซู “เป็นหนึ่งเดียวกัน”—คส. 3:11; กท. 3:28
4. (ก) คนที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาต้องปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไร? (ข) มีสถานการณ์แบบไหนที่ทำให้ยากสำหรับคริสเตียนที่จะเป็นหนึ่งเดียวกัน?
4 ถ้าเรา “สวมใส่” ลักษณะนิสัยใหม่ เราจะปฏิบัติกับทุกคนด้วยความนับถือและให้เกียรติไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติหรือภูมิหลังแบบไหน (รม. 2:11) การทำแบบนี้อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนที่อยู่ในบางส่วนของโลก ตัวอย่างเช่น นานมาแล้วรัฐบาลของประเทศแอฟริกาใต้ได้กำหนดพื้นที่สำหรับคนแต่ละเชื้อชาติและสีผิว หลายปีที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่รวมทั้งพยานฯก็ยังอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้แบบนั้น คณะกรรมการปกครองอยากสนับสนุนให้พี่น้องทุกคน “เปิดใจกว้าง” ในเดือนธันวาคม 2013 จึงมีการจัดเตรียมพิเศษที่ช่วยพี่น้องต่างเชื้อชาติและสีผิวให้รู้จักกันมากขึ้น—2 คร. 6:13
5, 6. (ก) ในประเทศหนึ่งมีการจัดเตรียมอะไรเพื่อช่วยคนของพระเจ้าให้เป็นหนึ่งเดียวกัน? (ดูภาพแรก) (ข) ผลเป็นอย่างไร?
5 มีการจัดเตรียมให้พี่น้องจาก 2 ประชาคมที่ต่างเชื้อชาติต่างภาษาได้ใช้เวลาด้วยกันในช่วงสุดสัปดาห์ พวกเขาประกาศด้วยกัน ประชุมด้วยกัน และไปเที่ยวบ้านของกันและกัน มีหลายร้อยประชาคมเข้าร่วมการจัดเตรียมนี้และสำนักงานสาขาก็ได้รับรายงานที่ดีมากมาย นอกจากนั้น การจัดเตรียมแบบนี้ทำให้คนอื่นที่ไม่ได้เป็นพยานฯประทับใจด้วย ตัวอย่างเช่น บาทหลวงคนหนึ่งบอกว่า “ผมเองไม่ได้เป็นพยานฯแต่ขอบอกเลยว่าพวกคุณจัดระเบียบงานประกาศได้ดีมาก และถึงพวกคุณจะมาจากหลายเชื้อชาติ แต่พวกคุณก็เป็นหนึ่งเดียวกันจริง ๆ” แล้วพวกพี่น้องของเราล่ะ พวกเขารู้สึกอย่างไรกับการจัดเตรียมแบบนี้?
6 พี่น้องหญิงคนหนึ่งชื่อโนมา เธอพูดภาษาโคซา ตอนแรกโนมารู้สึกกังวลและเกรงใจที่จะชวนพี่น้องจากประชาคมภาษาอังกฤษมาที่บ้านของเธอที่ธรรมดา ๆ และไม่ค่อยมีอะไร แต่พอเธอได้ไปประกาศกับพี่น้องฝรั่งผิวขาวและไปเที่ยวบ้านของพวกเขา เธอก็รู้สึกดีขึ้น โนมาบอกว่า “พวกเขาก็เป็นคนธรรมดา ๆ เหมือนกับพวกเรานี่แหละ” พอถึงตอนที่พี่น้องจากประชาคมภาษาอังกฤษมาประกาศกับประชาคมภาษาโคซา โนมาก็เลยชวนพี่น้องมากินข้าวที่บ้าน เธอประทับใจมากที่เห็นพี่น้องฝรั่งคนหนึ่งที่เป็นผู้ดูแลนั่งบนกล่องพลาสติกเตี้ย ๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังมีการทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และเพราะโครงการนี้ พี่น้องหลายคนจึงได้เพื่อนใหม่และพยายามรู้จักกับพี่น้องที่มาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
“สวมใส่” ความเห็นอกเห็นใจและความกรุณา
7. ทำไมเราต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจอยู่เรื่อย ๆ?
7 กว่าโลกของซาตานจะถึงจุดจบ พวกเราที่เป็นคนของพระยะโฮวาต้องเจอปัญหาอีกมากมาย ทั้งตกงาน เจ็บป่วยร้ายแรง ถูกกดขี่ เจอภัยธรรมชาติ โดนปล้น หรือเจอความยากลำบากอื่น ๆ เพื่อเราจะสามารถช่วยกันและกันได้เมื่อเจอปัญหา เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจจากใจจริง ความเห็นอกเห็นใจจะกระตุ้นเราให้ช่วยคนอื่นด้วยความกรุณา (อฟ. 4:32) คุณลักษณะทั้งสองอย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะนิสัยใหม่ซึ่งจะช่วยเราให้เลียนแบบพระเจ้าและให้กำลังใจคนอื่น—2 คร. 1:3, 4
8. จะเกิดผลดีอะไรถ้าเราเป็นคนเห็นอกเห็นใจและกรุณากับทุกคนในประชาคม? ขอยกตัวอย่าง
8 เราจะแสดงความกรุณากับคนที่ย้ายมาจากประเทศอื่นหรือคนที่ถูกเอาเปรียบซึ่งอยู่ในประชาคมของเราได้อย่างไร? เราน่าจะต้อนรับพวกเขา เป็นเพื่อนกับพวกเขา และช่วยพวกเขาให้รู้สึกว่ามีค่าในประชาคม (1 คร. 12:22, 25) มีตัวอย่างของผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อแดนนีคาร์ล เขาย้ายจากประเทศฟิลิปปินส์ไปที่ญี่ปุ่น คนในที่ทำงานปฏิบัติกับเขาไม่ค่อยดีเพราะเขาเป็นคนต่างชาติ จากนั้น แดนนีคาร์ลได้เข้าร่วมประชุมกับพยานพระยะโฮวา เขาเล่าว่า “แทบทุกคนที่นั่นเป็นคนญี่ปุ่น แต่พวกเขาต้อนรับผมอย่างอบอุ่นอย่างกับว่าผมเป็นเพื่อนเก่าที่รู้จักกันมานาน” พี่น้องที่นั่นแสดงความกรุณากับเขามากซึ่งช่วยให้เขาก้าวหน้าขึ้นและสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น ต่อมา แดนนีคาร์ลก็รับบัพติศมา ตอนนี้เขารับใช้เป็นผู้ดูแล ผู้ดูแลคนอื่น ๆ ในประชาคมของเขาดีใจที่เขากับภรรยาที่ชื่อเจนนิเฟอร์อยู่ที่นี่ พวกเขาบอกว่า “แดนนีคาร์ลกับภรรยาเลือกที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายและเป็นไพโอเนียร์ พวกเขาเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต”—ลก. 12:31
9, 10. ขอยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการแสดงความเห็นอกเห็นใจในงานรับใช้เกิดผลดีอย่างไร
9 เรามีโอกาสที่จะ “ทำดีกับทุกคน” ตอนที่เราประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า (กท. 6:10) พยานฯหลายคนแสดงความเห็นอกเห็นใจคนต่างด้าวและพยายามเรียนภาษาของพวกเขา (1 คร. 9:23) ความพยายามของพวกเขาเกิดผลดี ตัวอย่างเช่น พี่น้องหญิงที่เป็นไพโอเนียร์คนหนึ่งในออสเตรเลียชื่อทิฟฟานีเรียนภาษาสวาฮิลีเพื่อจะสนับสนุนประชาคมภาษาสวาฮิลีในเมืองบริสเบน ถึงแม้การเรียนภาษาจะเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ แต่เธอก็รู้สึกว่าชีวิตของเธอมีความหมายมากขึ้น ทิฟฟานีบอกว่า “ถ้าคุณชอบงานรับใช้ที่น่าตื่นเต้น ให้ไปรับใช้ในประชาคมภาษาต่างประเทศเลย การรับใช้ที่นั่นเหมือนได้เดินทางไปที่ต่าง ๆ โดยไม่ต้องออกจากเมืองที่คุณอยู่ คุณจะได้เห็นสังคมพี่น้องทั่วโลกที่น่ามหัศจรรย์ด้วยตัวเอง”
10 พี่น้องครอบครัวหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นก็ทำคล้าย ๆ กัน ลูกสาวที่ชื่อซากิโกะบอกว่า “ตอนที่ออกไปประกาศ เราเจอคนต่างด้าวชาวบราซิลบ่อยมากเลยค่ะ พอเราเปิดข้อคัมภีร์ภาษาโปรตุเกสให้เขาดู เช่นที่วิวรณ์ 21:3, 4 หรือที่สดุดี 37:10, 11, 29 พวกเขาก็สนใจมาก และบางครั้งถึงกับร้องไห้ออกมา” ครอบครัวนี้รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนต่างด้าวและอยากช่วยพวกเขาให้เรียนความจริง ทุกคนในครอบครัวเลยเริ่มเรียนภาษาโปรตุเกส จากนั้น ครอบครัวนี้ก็ได้ช่วยให้มีการตั้งประชาคมภาษาโปรตุเกส ตลอดหลายปีพวกเขาได้ช่วยคนต่างด้าวหลายคนให้มารับใช้พระยะโฮวา ซากิโกะบอกว่า “เราต้องพยายามมากที่จะเรียนภาษาโปรตุเกส แต่พรที่ได้รับมันคุ้มค่าจริง ๆ เราขอบคุณพระยะโฮวามาก ๆ ค่ะ”—อ่านกิจการ 10:34, 35
“สวมใส่” ความถ่อมตัว
11, 12. (ก) อะไรควรเป็นเหตุผลที่เราอยาก “สวมใส่” ลักษณะนิสัยใหม่ และทำไม? (ข) อะไรจะช่วยเราให้ถ่อมตัวอยู่เสมอ?
11 เหตุผลที่เราอยาก “สวมใส่” ลักษณะนิสัยใหม่ควรเป็นเพราะเราอยากให้เกียรติพระยะโฮวา ไม่ใช่อยากให้คนอื่นยกย่องชมเชยเรา อย่าลืมว่าแม้แต่ทูตสวรรค์ที่สมบูรณ์แบบก็ยังกลายเป็นคนหยิ่งและทำบาป (เทียบกับเอเสเคียล 28:17) เราไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกที่เราจะไม่เป็นคนหยิ่ง ถึงอย่างนั้น เราสามารถ “สวมใส่” ความถ่อมตัวได้ อะไรจะช่วยเราให้ทำอย่างนั้น?
12 วิธีหนึ่งที่ช่วยเราให้เป็นคนถ่อมตัวก็คือ เราต้องอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันและคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งที่เราอ่าน (ฉธบ. 17:18-20) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องคิดใคร่ครวญสิ่งที่พระเยซูสอนและตัวอย่างความถ่อมตัวที่ดีเยี่ยมของท่าน (มธ. 20:28) พระเยซูถ่อมมากจริง ๆ ท่านถึงกับล้างเท้าให้พวกอัครสาวก (ยน. 13:12-17) อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือการอธิษฐานขอพลังจากพระยะโฮวา พลังของพระองค์สามารถช่วยเราให้ต่อสู้กับความรู้สึกอะไรก็ตามที่จะทำให้เราคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น—กท. 6:3, 4; ฟป. 2:3
13. ถ้าเราถ่อมตัว เราจะได้สิ่งดี ๆ และรางวัลอะไร?
13 อ่านสุภาษิต 22:4 พระยะโฮวาอยากให้เราถ่อมตัว ถ้าเราถ่อมตัว เราจะได้สิ่งดี ๆ และรางวัลจากพระเจ้ามากมาย ถ้าเราถ่อม ประชาคมก็จะสงบสุขและเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น นอกจากนั้น เราจะได้รับความกรุณาที่ยิ่งใหญ่จากพระยะโฮวา อัครสาวกเปโตรบอกว่า “ให้พวกคุณทุกคนแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อกันเสมอ เพราะพระเจ้าต่อต้านคนหยิ่ง แต่พระองค์แสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ต่อคนอ่อนน้อมถ่อมตน”—1 ปต. 5:5
“สวมใส่” ความอ่อนโยนและความอดทน
14. ใครเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความอ่อนโยนและความอดทน?
14 ในโลกทุกวันนี้ ถ้าใครเป็นคนอ่อนโยนและอดทน คนอื่นก็มักมองว่าเขาอ่อนแอ แต่นี่ไม่จริง คุณลักษณะที่ดีเหล่านี้มาจากพระยะโฮวาพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุดในเอกภพ พระองค์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของผู้ที่มีความอ่อนโยนและความอดทน (2 ปต. 3:9) ตัวอย่างเช่น ลองคิดดูสิว่าพระยะโฮวาต้องอดทนขนาดไหนตอนที่พระองค์ตอบคำถามอับราฮัมและโลทผ่านทางทูตสวรรค์ (ปฐก. 18:22-33; 19:18-21) และลองคิดดูว่า พระยะโฮวาต้องอดทนแค่ไหนกับชาติอิสราเอลที่ไม่เชื่อฟังเป็นเวลามากกว่า 1,500 ปี—อสค. 33:11
15. พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างไรในการแสดงความอ่อนโยนและความอดทน?
15 พระเยซูเป็นคน “อ่อนโยน” (มธ. 11:29) ท่านต้องอดทนมากกับความอ่อนแอของสาวก ช่วงที่พระเยซูรับใช้บนโลก ท่านถูกด่าว่าและถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ หลายครั้ง แต่พระเยซูยังแสดงความอ่อนโยนและอดทนจนถึงตอนที่ท่านกำลังจะเสียชีวิต ตอนท่านถูกตรึงบนเสาอย่างเจ็บปวดทรมาน ท่านขอให้พ่อของท่านให้อภัยคนที่ฆ่าท่าน พระเยซูบอกว่า “พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” (ลก. 23:34) ถึงแม้พระเยซูจะตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดและเจ็บปวด ท่านก็แสดงความอ่อนโยนและความอดทน—อ่าน 1 เปโตร 2:21-23
16. เราจะแสดงความอ่อนโยนและอดทนได้อย่างไร?
16 เปาโลพูดถึงวิธีหนึ่งที่พวกเราสามารถแสดงความอ่อนโยนและอดทน เขาเขียนว่า “แต่ถ้าใครมีสาเหตุจะบ่นคนอื่น ก็ขอให้ทนกันและกัน และให้อภัยกันอย่างใจกว้างต่อไป พวกคุณต้องเต็มใจให้อภัยกันเหมือนที่พระยะโฮวาเต็มใจให้อภัยคุณ” (คส. 3:13) เพื่อเราจะให้อภัยคนอื่นได้ เราต้องเป็นคนอ่อนโยนและอดทน นี่จะช่วยสร้างและรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันในประชาคม
17. ทำไมการเป็นคนอ่อนโยนและอดทนจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
17 พระยะโฮวาอยากให้เราอ่อนโยนและอดทนกับคนอื่น คุณลักษณะเหล่านี้สำคัญมากถ้าเราอยากจะอยู่ในโลกใหม่ (มธ. 5:5; ยก. 1:21) ถ้าเราอ่อนโยนและอดทน เราจะให้เกียรติพระยะโฮวาและช่วยคนอื่น ๆ ให้ทำแบบนั้นเหมือนกัน—กท. 6:1; 2 ทธ. 2:24, 25
“สวมใส่” ความรัก
18. ความรักและความไม่ลำเอียงเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
18 คุณลักษณะต่าง ๆ ที่เราคุยกันตั้งแต่ต้นบทความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรัก ตัวอย่างเช่น ตอนที่ยากอบต้องแนะนำพวกพี่น้องเนื่องจากพวกเขาปฏิบัติกับคนรวยดีกว่าคนจน ยากอบอธิบายว่าพวกเขากำลังทำสิ่งที่ขัดกับกฎหมายพระเจ้าที่ให้ “รักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง” และเขาบอกอีกว่า “ถ้าพวกคุณยังลำเอียง พวกคุณก็ทำบาป” (ยก. 2:8, 9) ถ้าเรารักคนอื่น เราจะไม่มีอคติกับใครไม่ว่าเขาจะมีการศึกษาระดับไหน เชื้อชาติอะไร หรือมีสถานะทางสังคมอย่างไร เราต้องไม่ทำแค่ให้คนอื่นเห็นว่าเราไม่ลำเอียง แต่มันต้องมาจากตัวตนของเราจริง ๆ
19. ทำไมการ “สวมใส่” ความรักจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
19 ความรัก “อดกลั้นและเมตตากรุณา” และ “ไม่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น” (1 คร. 13:4) เราต้องอดทน กรุณา และถ่อมตัวเพื่อจะประกาศกับคนอื่นต่อ ๆ ไป (มธ. 28:19) คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้เราเข้ากับพี่น้องทั้งผู้ชายและผู้หญิงทุกคนในประชาคมได้ง่ายขึ้น ถ้าเราทุกคนแสดงความรักแบบนี้ ประชาคมของเราก็จะเป็นหนึ่งเดียวกันและทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญ คนอื่น ๆ จะเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของเราและอยากเข้ามาเรียนความจริง จึงเหมาะจริง ๆ ที่คัมภีร์ไบเบิลสรุปตอนท้ายเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใหม่ว่า “นอกจากนั้น ให้ปลูกฝังความรัก เพราะความรักผูกพันผู้คนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง”—คส. 3:14
‘เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง’
20. (ก) เราควรจะถามตัวเองอย่างไรบ้าง? (ข) เรารอคอยอนาคตที่ดีอะไร?
20 เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันยังต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีกไหมเพื่อจะ “ถอด” ลักษณะนิสัยเก่าและไม่กลับไปใส่อีก?’ เราต้องอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยเรา เราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดหรือการกระทำที่ไม่ดีเพื่อเราจะ “ได้รับรัฐบาลของพระเจ้า” (กท. 5:19-21) นอกจากนั้น เราต้องถามตัวเองว่า ‘ฉันกำลังพยายามอยู่เรื่อย ๆ ที่จะเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อจะทำให้พระยะโฮวาพอใจไหม?’ (อฟ. 4:23, 24) เราไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น เราต้องพยายามอย่างมากที่จะ “สวมใส่” ลักษณะนิสัยใหม่และใส่เอาไว้ต่อ ๆ ไป นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด ลองนึกภาพว่า ชีวิตของเราจะดีขนาดไหนเมื่อถึงตอนนั้นที่ทุกคนมีลักษณะนิสัยใหม่และเลียนแบบคุณลักษณะดี ๆ ของพระยะโฮวาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
a ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ผู้คนดูถูกคนสิเทียว่าเป็นพวกไม่มีอารยธรรม และเป็นพวกป่าเถื่อน