บท 10
“ให้พวกคุณเลียนแบบพระเจ้า” ในการใช้อำนาจ
1. เมื่อมนุษย์มีอำนาจมักจะเกิดอะไรขึ้น?
นักเขียนคนหนึ่งเคยบอกว่า “เมื่อใครสักคนมีอำนาจ ผลเสียก็จะตามมา” นี่หมายความว่าคนที่มีอำนาจมักจะใช้อำนาจอย่างผิด ๆ ตลอดหลายพันปี “การที่มนุษย์ปกครองมนุษย์มีแต่สร้างความเสียหายให้พวกเขา” (ปัญญาจารย์ 8:9) การใช้อำนาจโดยไม่มีความรักทำให้ผู้คนมากมายต้องเจอกับความทุกข์
2, 3. (ก) พระยะโฮวาไม่เหมือนมนุษย์ยังไงในเรื่องการใช้อำนาจ? (ข) เราอาจมีอำนาจที่จะทำอะไรบ้าง และเราควรใช้อำนาจของเรายังไง?
2 พระยะโฮวาพระเจ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถึงแม้พระองค์มีอำนาจไม่จำกัด แต่พระองค์ไม่เคยใช้อำนาจอย่างผิด ๆ เหมือนที่เราได้ดูในบทก่อน ๆ พระยะโฮวาใช้อำนาจของพระองค์ในการสร้าง ทำลาย ปกป้อง หรือฟื้นฟูอย่างที่สอดคล้องกับความประสงค์ของพระองค์ที่เปี่ยมด้วยความรักเสมอ เมื่อเราคิดใคร่ครวญถึงวิธีที่พระองค์ใช้อำนาจ เราก็อยากจะสนิทกับพระองค์มากขึ้นและทำให้เราอยาก “เลียนแบบพระเจ้า” ในการใช้อำนาจของเราเอง (เอเฟซัส 5:1) แต่เราที่เป็นแค่มนุษย์ธรรมดา ๆ จะมีอำนาจอะไร?
3 ขอจำไว้ว่ามนุษย์ถูกสร้าง ‘ตามแบบพระเจ้า’ (ปฐมกาล 1:26, 27) เราเลยมีอำนาจด้วยในระดับหนึ่ง เราอาจมีอำนาจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ทำงานหนักเพื่อจะประสบความสำเร็จ มีอำนาจเหนือคนอื่น และมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของคนที่รักเรา เราอาจมีกำลังเรี่ยวแรง หรือมีทรัพย์สินเงินทองที่ทำให้เราทำบางอย่างที่เราต้องการได้ ผู้เขียนหนังสือสดุดีบอกว่าพระยะโฮวาเป็น “บ่อเกิดของชีวิต” (สดุดี 36:9) ดังนั้น อำนาจที่เรามีก็มาจากพระยะโฮวา เราเลยอยากใช้อำนาจในวิธีที่ทำให้พระองค์พอใจ เราจะทำอย่างนั้นได้ยังไง?
ความรักเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ
4, 5. (ก) อะไรเป็นสิ่งสำคัญในการใช้อำนาจอย่างถูกต้อง และเราเห็นเรื่องนี้ได้จากตัวอย่างของพระเจ้ายังไง? (ข) ความรักจะช่วยเรายังไงให้ใช้อำนาจของเราได้อย่างถูกต้อง?
4 ความรักเป็นสิ่งสำคัญในการใช้อำนาจอย่างถูกต้อง เราเห็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนจากตัวอย่างของพระยะโฮวา เช่นในบท 1 เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญ 4 อย่างของพระเจ้าคือ อำนาจ ความยุติธรรม สติปัญญา และความรัก ในคุณลักษณะเหล่านี้ความรักเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุด 1 ยอห์น 4:8 บอกว่า “พระเจ้าเป็นความรัก” นี่หมายความว่า พระองค์ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรัก ดังนั้น พระองค์ใช้อำนาจของพระองค์ด้วยความรักเสมอและเป็นประโยชน์กับคนเหล่านั้นที่รักพระองค์
5 ความรักจะช่วยเราให้ใช้อำนาจของเราได้อย่างถูกต้อง ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าความรัก “เมตตากรุณา” และ “ไม่เห็นแก่ตัว” (1 โครินธ์ 13:4, 5) ดั้งนั้น ถ้าเรามีความรัก เราก็จะไม่เกรี้ยวกราดหรือเข้มงวดมากเกินไปกับคนที่อยู่ใต้อำนาจเรา แต่เราจะกรุณา ให้เกียรติเขา คิดถึงความต้องการและความรู้สึกของเขามากกว่าของตัวเราเอง—ฟีลิปปี 2:3, 4
6, 7. (ก) ความเกรงกลัวพระเจ้าคืออะไร และทำไมคุณลักษณะนี้จะช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ? (ข) ขอให้ยกตัวอย่างว่าความรักเกี่ยวข้องกับความเกรงกลัวยังไง?
6 ความรักเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยเราให้ไม่ใช้อำนาจอย่างผิด ๆ นั่นคือ ความเกรงกลัวพระเจ้า คุณลักษณะนี้จะช่วยเรายังไง? สุภาษิต 16:6 บอกว่า “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาช่วยให้คนเราเลิกทำชั่ว” การใช้อำนาจอย่างผิด ๆ เป็นการทำชั่วอย่างหนึ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยง ความเกรงกลัวพระเจ้าจะช่วยเราให้ทำดีกับคนที่อยู่ใต้อำนาจเรา เพราะอะไร? เพราะเรารู้ว่าเราต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าในวิธีที่เราปฏิบัติกับคนอื่น (เนหะมีย์ 5:1-7, 15) แต่อะไรคือเหตุผลสำคัญที่เราเกรงกลัวพระเจ้า? ในภาษาเดิมคำว่า “เกรงกลัว” มักจะหมายถึงความเคารพยำเกรงอย่างสุดซึ้งต่อพระเจ้า ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าเพื่อเราจะเกรงกลัวพระเจ้าอย่างสุดซึ้งเราต้องรักพระองค์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 10:12, 13) ถ้าเราเกรงกลัวพระเจ้า เราก็ไม่อยากทำอะไรที่จะทำให้พระองค์เสียใจ เราทำแบบนี้ไม่ใช่เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษแต่เพราะเรารักพระองค์จริง ๆ
7 ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงเด็กคนหนึ่งที่รู้ว่าพ่อรักและห่วงใยเขามาก เขารู้ด้วยว่าพ่ออยากให้เขาเป็นเด็กดี แต่ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง พ่อก็จะสั่งสอนเขา เขาเชื่อฟังพ่อไม่ใช่เพราะความกลัวแต่เป็นเพราะเขารักพ่อมากและอยากทำให้พ่อมีความสุข คล้ายกันกับความเกรงกลัวพระเจ้า เพราะเรารักพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของเรา เราเลยไม่อยากทำอะไรที่จะทำให้พระองค์เสียใจ (ปฐมกาล 6:6) แต่เราอยากทำให้พระองค์ดีใจ (สุภาษิต 27:11) นี่ทำให้เราอยากใช้อำนาจของเราอย่างถูกต้อง ขอให้เรามาดูว่าเราจะทำอย่างนั้นได้ยังไง
ในครอบครัว
8. (ก) สามีมีอำนาจอะไรในครอบครัว และเขาควรใช้อำนาจนั้นยังไง? (ข) เขาจะแสดงให้เห็นยังไงว่าเขาให้เกียรติภรรยา?
8 ตอนนี้ให้เราคิดถึงการใช้อำนาจในครอบครัว เอเฟซัส 5:23 บอกว่า “สามีเป็นผู้นำของภรรยา” สามีควรใช้อำนาจที่ได้รับจากพระเจ้ายังไง? คัมภีร์ไบเบิลบอกให้สามีอยู่กินกับภรรยา “ด้วยความเข้าใจ” และ “ให้เกียรติเธอเหมือนที่คุณทะนุถนอมภาชนะที่บอบบางกว่า” (1 เปโตร 3:7) คำภาษากรีกที่แปลว่า “เกียรติ” หมายถึง “ราคา คุณค่า . . . ความนับถือ” สามีที่ให้เกียรติภรรยาจะไม่ทุบตีภรรยาของเขา เขาจะไม่ทำให้เธออับอายขายหน้า ดูถูกเธอ หรือทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า แต่เขาจะเห็นค่าและพูดหรือทำกับเธอด้วยความนับถือ เขาแสดงให้เห็นโดยทางคำพูดและการกระทำว่าเธอมีค่ามากทั้งตอนที่อยู่ต่อหน้าคนอื่นและตอนที่อยู่บ้าน (สุภาษิต 31:28) ถ้าเป็นอย่างนั้นภรรยาก็จะรักและนับถือเขาได้ง่ายขึ้น แต่สำคัญที่สุดก็คือเขาทำให้พระยะโฮวาพอใจ
9. (ก) ภรรยามีอำนาจอะไรในครอบครัว? (ข) ภรรยาจะใช้ความสามารถของเธอยังไงเพื่อสนับสนุนสามี และผลจะเป็นยังไง?
9 ภรรยาก็มีอำนาจระดับหนึ่งในครอบครัวด้วย คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงผู้หญิงที่ทำให้พระเจ้าพอใจและนับถือสามีเป็นผู้นำของครอบครัวว่า พวกเธอสามารถช่วยสามีให้ตัดสินใจได้ดีและทำสิ่งที่ถูกต้องได้ (ปฐมกาล 21:9-12; 27:46-28:2) ภรรยาอาจเข้าใจหลายเรื่องดีกว่าสามี หรือเธออาจมีความสามารถบางอย่างที่สามีของเธอไม่มี แต่เธอควร “นับถือสามีจากใจ” และ “เชื่อฟัง” เขา “เหมือนที่เธอเชื่อฟังพระคริสต์” (เอเฟซัส 5:22, 33) เมื่อภรรยาตั้งใจที่จะทำให้พระเจ้าพอใจ เธอก็จะใช้ความสามารถของเธอเพื่อสนับสนุนสามี และไม่ดูถูกเขาหรือพยายามที่จะมีอำนาจเหนือเขา “ผู้หญิงที่ฉลาดจริง ๆ” จะร่วมมือกับสามีของเธอเพื่อเสริมสร้างครอบครัวขึ้น การทำอย่างนี้จะทำให้เธอมีสันติสุขกับพระเจ้าต่อไป—สุภาษิต 14:1
10. (ก) พระเจ้าให้อำนาจอะไรกับพ่อแม่? (ข) การ “สั่งสอน” มีความหมายว่ายังไง และพ่อแม่ควรสั่งสอนลูกยังไง? (ดูเชิงอรรถด้วย)
10 พระเจ้าให้อำนาจกับพ่อแม่ด้วย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนที่เป็นพ่อก็อย่ายั่วลูกให้หงุดหงิด แต่ให้เลี้ยงดูเขาด้วยคำสั่งสอนและคำตักเตือนจากพระยะโฮวา” (เอเฟซัส 6:4) ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “สั่งสอน” อาจหมายถึง “การเลี้ยงดู การฝึกอบรม การชี้แนะ” เด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับการสั่งสอน และพวกเขาจะเติบโตขึ้นอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จถ้ารู้ว่าพ่อแม่อยากให้เขาทำอะไร และมีกฎที่ชัดเจน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพ่อแม่ต้องสั่งสอนลูกด้วยความรัก (สุภาษิต 13:24) ดังนั้น “การอบรมสั่งสอนด้วยไม้เรียว” ไม่ควรใช้เพื่อทำร้ายลูก ไม่ว่าจะทางด้านอารมณ์หรือด้านร่างกายa (สุภาษิต 22:15; 29:15) พ่อแม่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการสั่งสอนลูก เพราะนั่นเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดและอาจทำร้ายจิตใจเด็กได้ (โคโลสี 3:21) แต่การสั่งสอนที่เหมาะสมช่วยให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักเขาจริง ๆ และอยากให้เขาเป็นคนดี
11. ลูก ๆ จะใช้อำนาจของตัวเองอย่างถูกต้องได้ยังไง?
11 ลูก ๆ ก็มีอำนาจด้วยไหม? พวกเขาจะใช้อำนาจของตัวเองอย่างถูกต้องได้ยังไง? สุภาษิต 20:29 บอกว่า “ความงามของคนหนุ่มคือกำลังของเขา” หนุ่มสาวจะใช้กำลังของเขาในวิธีที่ดีที่สุดได้โดยรับใช้ “ผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่” (ปัญญาจารย์ 12:1) พวกเขาควรจำไว้ว่าสิ่งที่เขาทำอาจทำให้พ่อแม่มีความสุขหรือเสียใจก็ได้ (สุภาษิต 23:24, 25) เมื่อลูก ๆ เชื่อฟังพ่อแม่และทำสิ่งที่ถูกต้อง พวกเขาก็ทำให้พ่อแม่มีความสุขมาก (เอเฟซัส 6:1) การทำแบบนั้นก็ “ทำให้พระคริสต์พอใจ” ด้วย—โคโลสี 3:20
ในประชาคม
12, 13. (ก) ผู้ดูแลควรคิดยังไงกับอำนาจที่เขามีในประชาคม? (ข) ขอยกตัวอย่างว่าทำไมผู้ดูแลควรทำและพูดกับฝูงแกะด้วยความรัก
12 พระยะโฮวาให้ผู้ดูแลนำหน้าในประชาคมคริสเตียน (ฮีบรู 13:17) ผู้ชายที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ควรใช้อำนาจที่พระเจ้าให้เขาเพื่อดูแลและช่วยพี่น้องให้สนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น พวกผู้ดูแลควรทำตัวเป็นนายเหนือพี่น้องไหม? ไม่เลย พวกเขาต้องเป็นคนถ่อมและเข้าใจว่าพระยะโฮวาต้องการให้พวกเขาทำอะไรเพื่อพี่น้อง (1 เปโตร 5:2, 3) คัมภีร์ไบเบิลบอกกับผู้ดูแลว่า “ให้คอยดูแลประชาคมของพระเจ้าที่พระองค์ซื้อไว้ด้วยเลือดของลูกของพระองค์เอง” (กิจการ 20:28) นี่หมายความว่าผู้ดูแลต้องทำและพูดกับทุกคนในประชาคมด้วยความรักและความกรุณา
13 ลองคิดดูสิว่า ถ้าเพื่อนสนิทขอให้คุณดูแลบางอย่างที่มีค่ามากสำหรับเขา เพราะคุณรู้ว่าของชิ้นนั้นมีราคาแพงมาก คุณก็เลยอยากจะดูแลของนั้นอย่างดีและระมัดระวังเป็นพิเศษ คล้ายกัน พระเจ้าได้มอบหมายผู้ดูแลให้ดูแลสิ่งที่มีค่ามากสำหรับพระองค์ คือพี่น้องชายหญิงในประชาคมที่คัมภีร์ไบเบิลเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนแกะ (ยอห์น 21:16, 17) พระยะโฮวารักแกะของพระองค์มากจนถึงกับซื้อพวกเขาไว้ด้วยเลือดที่มีค่ามากของพระเยซูคริสต์ลูกคนเดียวของพระองค์ พระยะโฮวาซื้อพวกเขาไว้ด้วยราคาสูงที่สุด ผู้ดูแลที่ถ่อมใจจะจำเรื่องนี้ไว้เสมอและพูดหรือทำกับแกะของพระยะโฮวาด้วยความรัก
“คำพูดมีอำนาจ”
14. คำพูดมีอำนาจอะไร?
14 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คำพูดมีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย” (สุภาษิต 18:21) คำพูดของเราอาจทำให้เกิดความเสียหายมากมาย บางครั้งเรารู้สึกเสียใจเมื่อมีคนพูดบางอย่างที่ทำให้เราเจ็บ แต่คำพูดก็ทำให้เกิดผลดีมากมายด้วย สุภาษิต 12:18 บอกว่า “คำพูดของคนฉลาดจะช่วยเยียวยารักษา” คำพูดที่ให้กำลังใจและกรุณาเป็นเหมือนยารักษาโรคและทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ให้เรามาดูบางตัวอย่างด้วยกัน
15, 16. เราอาจพูดเพื่อให้กำลังใจคนอื่นได้ยังไงบ้าง?
15 1 เธสะโลนิกา 5:14 สนับสนุนให้เรา “พูดปลอบใจคนที่ซึมเศร้า” แม้แต่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาก็อาจสู้กับความท้อใจในบางครั้ง เราจะช่วยพวกเขาได้ยังไง? เราสามารถชมเชยพวกเขาจากใจเพื่อช่วยให้เห็นว่าพวกเขามีค่าในสายตาของพระยะโฮวา และให้กำลังใจพวกเขาจากข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นว่าพระยะโฮวาสนใจและรักคนที่ “หัวใจสลาย” และ “เศร้าเสียใจ” (สดุดี 34:18) เมื่อเราพูดปลอบใจคนอื่น เราก็กำลังเลียนแบบพระเจ้าผู้เมตตากรุณาที่คอยให้กำลังใจคนที่ท้อใจ—2 โครินธ์ 7:6
16 เราอาจพูดให้กำลังใจคนที่ต้องการกำลังใจได้ด้วย มีพี่น้องที่เศร้าใจเพราะคนที่เขารักตายจากไปไหม? เราสามารถพูดให้กำลังใจและแสดงความห่วงใยเขา มีพี่น้องสูงอายุที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าไหม? คำพูดที่เห็นอกเห็นใจจะทำให้พวกเขามั่นใจว่าตัวเองมีค่ามาก มีใครบางคนที่ต้องทนกับความเจ็บป่วยเรื้อรังไหม? เราอาจพูดให้กำลังใจและช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้ ถ้าเราโทรไปหาเขา เขียนจดหมายถึงเขา หรือไปเยี่ยมเขา พระยะโฮวาจะพอใจมากเมื่อเราพูด “สิ่งดี ๆ ซึ่งให้กำลังใจ”—เอเฟซัส 4:29
17. เราจะใช้คำพูดของเราเพื่อประโยชน์ของคนอื่นได้ยังไง และทำไมเราควรทำอย่างนั้น?
17 วิธีที่ดีที่สุดที่จะใช้คำพูดของเราคือการประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าให้คนอื่นฟัง สุภาษิต 3:27 บอกว่า “อย่ากีดกันสิ่งดี ๆ ไว้จากคนที่สมควรได้รับ ในเมื่อลูกมีกำลังที่จะช่วยเขาได้” เราต้องบอกข่าวดีเกี่ยวกับพระยะโฮวาซึ่งจะช่วยชีวิตผู้คนได้ (1 โครินธ์ 9:16, 22) แต่พระยะโฮวาอยากให้เรามีส่วนร่วมในงานนี้มากขนาดไหน?
การประกาศเป็นวิธีที่ดีที่เราจะใช้อำนาจของเราได้
รับใช้พระยะโฮวา “สุดกำลัง”
18. พระยะโฮวาอยากให้เราทำอะไร?
18 เราอยากมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานประกาศเพราะเรารักพระยะโฮวา พระยะโฮวาอยากให้เราพยายามมากขนาดไหน? แม้สภาพการณ์ชีวิตของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ไม่ว่าพวกคุณจะทำอะไร ให้ทำสุดความสามารถเหมือนทำให้พระยะโฮวา ไม่ใช่ทำให้มนุษย์” (โคโลสี 3:23) พระเยซูบอกว่ากฎหมายข้อที่สำคัญที่สุดคือ “คุณต้องรักพระยะโฮวาพระเจ้าของคุณสุดหัวใจ สุดชีวิต สุดความคิด และสุดกำลัง” (มาระโก 12:30) ดังนั้น พระยะโฮวาอยากให้เรารักพระองค์ และรับใช้พระองค์สุดชีวิต
19, 20. (ก) เนื่องจากชีวิตรวมถึงหัวใจ ความคิด และกำลังอยู่แล้ว ทำไมพระเยซูพูดถึง 3 คำนี้อีกที่มาระโก 12:30? (ข) การรับใช้พระยะโฮวาสุดชีวิตหมายความว่ายังไง?
19 การรับใช้พระเจ้าสุดชีวิตหมายความว่ายังไง? ชีวิตหมายถึงตัวตนทั้งหมดของเรา ซึ่งรวมถึงหัวใจ ความคิด และกำลังของเราด้วย ถ้าชีวิตรวมถึงหัวใจ ความคิด และกำลัง แล้วทำไมพระเยซูพูดถึง 3 คำนี้อีกที่มาระโก 12:30? ลองดูตัวอย่างหนึ่งด้วยกัน ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล บางคนอาจขายตัวเองไปเป็นทาส แต่ถ้าเขาไม่รับใช้นายของเขาสุดหัวใจ เขาก็จะไม่ใช้ความคิดหรือกำลังของเขาเต็มที่เพื่อทำงานให้กับนาย (โคโลสี 3:22) ดูเหมือนว่าพระเยซูพูดถึง 3 คำนี้เพื่อจะเน้นว่า เราต้องรับใช้พระเจ้าของเราอย่างเต็มที่และด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี
20 การรับใช้สุดชีวิตหมายความว่าเราทุกคนต้องใช้เวลาและกำลังในงานรับใช้เท่ากันไหม? นั่นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพการณ์และความสามารถของเราไม่เหมือนกัน เช่น คนหนุ่มสาวที่แข็งแรงและมีสุขภาพดีอาจใช้เวลาในงานประกาศได้มากกว่าคนที่อายุมากแล้วและไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนคนโสดอาจทำได้มากกว่าคนที่ต้องดูแลเอาใจใส่ครอบครัว ถ้าเรามีกำลังและสามารถทำงานรับใช้ได้มากกว่าคนอื่น เราก็ควรจะรู้สึกขอบคุณ แต่เราไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นและคิดว่าพวกเขาไม่ได้ทำเต็มที่ (โรม 14:10-12) แทนที่จะทำอย่างนั้น เราอยากจะทำสุดความสามารถเพื่อให้กำลังใจพวกเขา
21. อะไรเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการใช้อำนาจของเรา?
21 พระยะโฮวาวางตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในการใช้อำนาจของพระองค์เสมอ ถึงแม้เราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็อยากเลียนแบบพระองค์ให้ดีที่สุด เราสามารถใช้อำนาจของเราอย่างถูกต้องโดยแสดงความกรุณาและให้เกียรติคนที่อยู่ใต้อำนาจเรา นอกจากนั้น เราอยากมีส่วนร่วมในงานประกาศอย่างเต็มที่ งานนี้เป็นงานที่พระยะโฮวาให้เราทำเพื่อช่วยผู้คนให้รอด (โรม 10:13, 14) ขอจำไว้ว่า พระยะโฮวามีความสุขเมื่อคุณให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระองค์ คุณคงอยากจะทำทุกอย่างเพื่อรับใช้พระเจ้าที่เปี่ยมด้วยความรักและเห็นอกเห็นใจ นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะใช้อำนาจของเรา
a ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ไม้เรียว” หมายถึงไม้เท้าด้วย เช่น ไม้ที่ผู้เลี้ยงแกะใช้เพื่อต้อนแกะของเขา (สดุดี 23:4) ดังนั้น เมื่อคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการใช้ “ไม้เรียว” ก็หมายความว่าพ่อแม่ควรสั่งสอนลูกด้วยความรัก ไม่ใช่เพื่อลงโทษลูกอย่างรุนแรง