บท 17
‘คนที่ถูกฆ่า’ ได้รับรางวัล
1. เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใด และมีพยานหลักฐานอะไรสำหรับเรื่องนี้?
ราชอาณาจักรของพระเจ้าปกครอง! ผู้ขี่ม้าขาวใกล้จะทำให้ชัยชนะของตนครบถ้วนแล้ว! ม้าสีแดง, ม้าดำ, และม้าสีซีด กำลังควบไปทั่วแผ่นดินโลก! คำพยากรณ์ของพระเยซูเองเกี่ยวกับการประทับของพระองค์ฐานะกษัตริย์กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไม่อาจจะโต้แย้งได้. (มัดธายบท 24, 25; มาระโกบท 13; ลูกาบท 21) ใช่แล้ว เรากำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายของระบบนี้. (2 ติโมเธียว 3:1-5) เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้เราเอาใจจดจ่อขณะที่พระเยซูคริสต์ พระเมษโปดก ทรงแกะดวงตราที่ห้าของม้วนหนังสือนั้น. คราวนี้ เราจะร่วมรู้เห็นการเปิดเผยอะไรต่อไป?
2. (ก) โยฮันได้เห็นอะไรเมื่อดวงตราที่ห้าถูกแกะออก? (ข) เหตุใดเราจึงไม่น่าจะแปลกใจเมื่ออ่านเกี่ยวกับแท่นบูชาโดยนัยในสวรรค์?
2 โยฮันพรรณนาถึงฉากสะเทือนอารมณ์ฉากหนึ่งว่า “เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่ห้า ข้าพเจ้าเห็นที่ใต้แท่นบูชามีคนที่ถูกฆ่าเนื่องด้วยพระคำของพระเจ้าและเนื่องด้วยงานเป็นพยานฝ่ายพระองค์ที่พวกเขาได้ทำ.” (วิวรณ์ 6:9, ล.ม.) สิ่งนั้นคืออะไร? แท่นเผาบูชาในสวรรค์อย่างนั้นหรือ? ใช่แล้ว! เป็นครั้งแรกที่โยฮันกล่าวถึงแท่นบูชา. อย่างไรก็ตาม ท่านได้พรรณนาไปแล้วถึงพระยะโฮวาซึ่งประทับบนราชบัลลังก์, คะรูบซึ่งอยู่ล้อมรอบ, ทะเลแก้ว, ตะเกียง, และผู้ปกครอง 24 คนที่ถือเครื่องหอม—ซึ่งล้วนแต่คล้ายคลึงกับลักษณะของพลับพลาทางแผ่นดินโลก สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาในอิสราเอล. (เอ็กโซโด 25:17, 18; 40:24-27, 30-32; 1 โครนิกา 24:4) ฉะนั้น เราน่าจะประหลาดใจไหมที่เห็นแท่นเผาบูชาโดยนัยในสวรรค์ด้วย?—เอ็กโซโด 40:29.
3. (ก) ณ พลับพลาของพวกยิวในสมัยโบราณ ชีวิตถูกเทลง “ที่เชิงแท่นเผาเครื่องบูชา” อย่างไร? (ข) ทำไมโยฮันจึงเห็นชีวิตของเหล่าพยานซึ่งถูกฆ่าอยู่ใต้แท่นบูชาโดยนัยในสวรรค์?
3 ใต้แท่นบูชานี้มี “คนที่ถูกฆ่าเนื่องด้วยพระคำของพระเจ้าและเนื่องด้วยงานเป็นพยานฝ่ายพระองค์ที่พวกเขาได้ทำ.” สิ่งนี้หมายความอย่างไร? คนเหล่านี้ไม่ใช่วิญญาณที่ออกจากร่าง ดังที่พวกกรีกนอกรีตเชื่อกัน. (เยเนซิศ 2:7; ยะเอศเคล 18:4) โยฮันรู้ว่าคนหรือชีวิตมีเลือดเป็นสัญลักษณ์แสดงถึง และเมื่อพวกปุโรหิตที่พลับพลาของพวกยิวสมัยโบราณฆ่าสัตว์เพื่อเผาบูชา พวกเขาประพรมเลือด “บนแท่นและรอบที่แท่นบูชา” หรือเทลงไป “ที่เชิงแท่นเผาเครื่องบูชา.” (เลวีติโก 3:2, 8, 13; 4:7; 17:6, 11, 12) ดังนั้น ชีวิตของสัตว์จึงมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับแท่นเผาบูชา. แต่เหตุใดจึงเห็นชีวิตหรือโลหิตของผู้รับใช้เหล่านี้ของพระเจ้าโดยเฉพาะที่ใต้แท่นบูชาโดยนัยในสวรรค์? นั่นก็เพราะความตายของพวกเขาถูกมองดูว่าเป็นเครื่องบูชา.
4. ความตายของคริสเตียนที่ได้รับการกำเนิดโดยพระวิญญาณนั้นเป็นเครื่องบูชาในแง่ใด?
4 แท้จริงแล้ว ทุกคนที่บังเกิดเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าจะสละชีวิตเป็นเครื่องบูชา. เนื่องด้วยบทบาทที่พวกเขาจะทำในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระยะโฮวา จึงเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่ให้พวกเขาละและสละความหวังใด ๆ ในเรื่องการมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก. ในแง่นี้เอง พวกเขายอมสละชีวิตเป็นเครื่องบูชาเพื่อเห็นแก่พระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. (ฟิลิปปอย 3:8-11; เทียบกับ 2:17.) เรื่องนี้เป็นความจริงตามตัวอักษรกับคนเหล่านั้นที่โยฮันได้เห็นใต้แท่นบูชา. พวกเขาคือผู้ถูกเจิมซึ่งในสมัยที่มีชีวิตอยู่นั้นได้ถูกสังหารเนื่องจากงานรับใช้อันกระตือรือร้นของพวกเขาในการสนับสนุนพระคำและพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. “คน [เหล่านั้น] ถูกฆ่าเนื่องด้วยพระคำของพระเจ้าและเนื่องด้วยงานเป็นพยาน [มาร์ทือริอัน] ฝ่ายพระองค์ที่พวกเขาได้ทำ.”
5. เป็นไปอย่างไรที่ชีวิตของผู้ซื่อสัตย์ทั้งหลาย แม้ว่าตายไปแล้ว กำลังร้องขอให้มีการแก้แค้น?
5 ภาพนิมิตเปิดเผยให้ทราบต่อไปดังนี้: “พวกเขาร้องเสียงดังว่า ‘ข้าแต่พระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งผู้บริสุทธิ์และเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้พระองค์จะทรงยับยั้งการพิพากษาและการแก้แค้นคนเหล่านั้นซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกที่ฆ่าพวกข้าพเจ้าไว้จนถึงเมื่อไร?’” (วิวรณ์ 6:10, ล.ม.) ชีวิตหรือเลือดของพวกเขาเรียกร้องให้มีการแก้แค้นได้อย่างไร ในเมื่อพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่า คนตายไม่รู้อะไรเลย? (ท่านผู้ประกาศ 9:5) เลือดของเฮเบลผู้ชอบธรรมได้ฟ้องขึ้นมาหลังจากที่คายินได้ฆ่าเขามิใช่หรือ? แล้วพระยะโฮวาตรัสกับคายินว่า “เจ้าได้ทำอะไร? เสียงโลหิตของน้องร้องฟ้องขึ้นมาจากดินถึงเรา.” (เยเนซิศ 4:10, 11; เฮ็บราย 12:24) มิใช่ว่าโลหิตของเฮเบลพูดจริง ๆ. พูดให้ถูกก็คือ เฮเบลตายโดยไร้ความผิด และความยุติธรรมจึงร้องเรียกให้ฆาตกรถูกลงโทษ. ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนเหล่านั้นที่ถูกสังหารก็ไร้ความผิด และเนื่องด้วยความยุติธรรมจึงต้องมีการแก้แค้นให้พวกเขา. (ลูกา 18:7, 8) เสียงร้องให้แก้แค้นนั้นดังเนื่องจากหลายพันคนต้องเสียชีวิตเนื่องด้วยเหตุนั้น.—เทียบกับยิระมะยา 15:15, 16.
6. การทำให้เลือดของผู้ไม่มีความผิดไหลออกครั้งใดที่ได้มีการแก้แค้นให้เมื่อปี 607 ก่อนสากลศักราช?
6 อาจเทียบสภาพการณ์นี้กับสภาพการณ์ในอาณาจักรยูดาที่ออกหากคราวเมื่อกษัตริย์มะนาเซขึ้นครองราชย์ในปี 716 ก่อนสากลศักราช. ท่านได้ทำให้โลหิตของผู้ไม่มีความผิดตกเป็นอันมาก อาจ ‘เลื่อย’ ผู้พยากรณ์ยะซายา ‘ออกเป็นท่อน ๆ.’ (เฮ็บราย 11:37; 2 กษัตริย์ 21:16) แม้ว่าต่อมามะนาเซสำนึกผิดและกลับใจ แต่ความผิดฐานทำให้โลหิตตกก็ยังคงอยู่. ในปี 607 ก่อนสากลศักราช เมื่อชาวบาบิโลนมาทำลายอาณาจักรยูดา “แท้จริงการนี้ก็ตกอยู่แก่ประเทศยูดาตามคำสั่งแห่งพระยะโฮวา เพื่อจะไล่เขาให้พ้นจากคลองพระเนตรของพระองค์ เพราะบรรดาความผิดของมะนาเซซึ่งท่านได้กระทำ เพราะโลหิตของคนไม่มีผิดซึ่งท่านทำให้ตกนั้นด้วย เพราะว่าท่านได้ทำให้กรุงยะรูซาเลมเต็มไปด้วยโลหิตของคนไม่มีผิด ซึ่งพระยะโฮวาไม่ทรงยอมยกโทษเลย.”—2 กษัตริย์ 24:3, 4.
7. ใครคือผู้มีความผิดเป็นอันดับแรกในการทำให้ “เลือดของเหล่าผู้บริสุทธิ์” ไหลออก?
7 เช่นเดียวกับสมัยพระคัมภีร์ ในสมัยนี้ปัจเจกบุคคลเป็นจำนวนมากที่ฆ่าพยานของพระเจ้าอาจเสียชีวิตไปนานแล้ว. แต่องค์การซึ่งเป็นต้นเหตุของการสังหารพวกเขานั้นยังคงอยู่และมีความผิดฐานทำให้โลหิตตก. นั่นคือองค์การของซาตานทางแผ่นดินโลกนี้ อันเป็นพงศ์พันธุ์ของมันฝ่ายแผ่นดินโลก. ที่เด่นในองค์การนั้นก็คือบาบิโลนใหญ่จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ.a มีการพรรณนาถึงเมืองนี้ว่า “เมาเลือดของเหล่าผู้บริสุทธิ์และเลือดของคนทั้งหลายที่เป็นพยานฝ่ายพระเยซู.” ใช่แล้ว “ในเมืองนี้มีเลือดของผู้พยากรณ์ ผู้บริสุทธิ์ และเลือดคนทั้งปวงที่ถูกฆ่าบนแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 17:5, 6, ล.ม.; 18:24, ล.ม.; เอเฟโซ 4:11; 1 โกรินโธ 12:28) เป็นความผิดฐานทำให้โลหิตตกที่หนักจริง ๆ! ตราบใดที่บาบิโลนใหญ่ยังดำรงอยู่ โลหิตแห่งผู้ตกเป็นเหยื่อของเมืองนี้ก็จะร้องเรียกหาความยุติธรรม.—วิวรณ์ 19:1, 2.
8. (ก) การสังหารเนื่องจากความเชื่อกรณีใดบ้างที่ได้เกิดขึ้นในสมัยของโยฮัน? (ข) การกดขี่ข่มเหงอะไรบ้างที่จักรพรรดิโรมันได้ปลุกปั่นให้เกิดขึ้น?
8 โยฮันเองได้เห็นการถูกสังหารเนื่องจากความเชื่อในศตวรรษแรก ขณะที่งูที่เหี้ยมโหดและพงศ์พันธุ์ของมันทางโลกนี้ได้ก่อสงครามกับประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งกำลังเจริญ. โยฮันได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราถูกตรึง และมีชีวิตรอดผ่านพ้นการสังหารซึ่งเกิดขึ้นกับซะเตฟาโน, ยาโกโบพี่ชายของตน, และซึ่งเกิดกับเปโตร, เปาโล, และเพื่อนร่วมทำการที่ใกล้ชิดคนอื่น ๆ. (โยฮัน 19:26, 27; 21:15, 18, 19; กิจการ 7:59, 60; 8:2; 12:2; 2 ติโมเธียว 1:1; 4:6, 7) ในปีสากลศักราช 64 จักรพรรดิเนโรแห่งโรมได้ทำให้คริสเตียนกลายเป็นแพะรับบาปโดยกล่าวหาพวกเขาว่าเป็นผู้เผาเมือง เพื่อลบล้างข่าวลือที่ว่าเขาเป็นตัวการ. นักประวัติศาสตร์ชื่อทาซิทุสเขียนว่า “พวกเขา [พวกคริสเตียน] ตายด้วยวิธีการกลั่นแกล้งต่าง ๆ บ้างก็ถูกหุ้มด้วยหนังของสัตว์ป่าแล้วให้สุนัขฉีกทึ้ง บ้างก็ถูก [ตรึง]b บ้างก็ถูกเผาเป็นคบเพลิงเพื่อให้ความสว่างในยามค่ำคืน.” คลื่นแห่งการกดขี่ข่มเหงระลอกต่อไปภายใต้จักรพรรดิโดมิเชียน (ปีสากลศักราช 81-96) ยังผลให้โยฮันถูกเนรเทศไปยังเกาะปัตโมส. ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ถ้าเขาข่มเหงเราแล้ว, เขาคงจะข่มเหงท่านทั้งหลายด้วย.”—โยฮัน 15:20; มัดธาย 10:22.
9. (ก) อะไรคือผลงานชิ้นเอกแห่งการล่อลวงที่ซาตานได้ทำให้เกิดขึ้นในศตวรรษที่สี่ และผลงานนั้นเป็นส่วนสำคัญของสิ่งใด? (ข) ผู้ปกครองบางคนในคริสต์ศาสนจักรปฏิบัติต่อพยานพระยะโฮวาอย่างไรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและที่สอง
9 พอถึงศตวรรษที่สี่แห่งสากลศักราช เจ้างูเฒ่า ซาตานพญามาร ได้สร้างผลงานชิ้นเอกแห่งการหลอกลวง นั่นคือศาสนาออกหากแห่งคริสต์ศาสนจักร—ระบบแบบบาบิโลนซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้โฉมหน้า “คริสเตียน.” คริสต์ศาสนจักรเป็นส่วนสำคัญแห่งพงศ์พันธุ์ของงูและได้ขยายตัวออกจนมีนิกายที่ขัดแย้งกันจำนวนมากมาย. เช่นเดียวกับอาณาจักรยูดาโบราณที่ไม่ซื่อสัตย์ คริสต์ศาสนจักรมีความผิดฐานทำให้โลหิตตกอันใหญ่หลวง โดยเข้าไปมีส่วนพัวพันอย่างลึกซึ้งกับทั้งสองฝ่ายในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง. ผู้ปกครองทางการเมืองบางคนในคริสต์ศาสนจักรถึงกับใช้สงครามเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการสังหารผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระเจ้า. ในรายงานเกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงที่ฮิตเลอร์ทำกับพยานพระยะโฮวานั้น บทวิจารณ์หนังสือการต่อสู้ของคริสตจักรต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี ของฟรีดริค ซิปเฟิล แถลงว่า “หนึ่งในสามของพวกเขา [พวกพยานฯ] ถูกฆ่า ไม่ว่าด้วยการถูกประหาร, การทารุณต่าง ๆ, ความหิว, ความเจ็บป่วย, หรือถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส. ความรุนแรงของการกดขี่ครั้งนี้เป็นชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและเป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อที่ไม่ยอมประนีประนอมซึ่งไม่อาจเข้าประสานได้กับคตินิยมแบบสังคมนิยมแห่งชาติ.” โดยแท้แล้ว จะกล่าวถึงคริสต์ศาสนจักรรวมทั้งพวกนักเทศน์นักบวชได้ว่า “ในที่ชายเสื้อของเจ้าได้ปะโลหิตแห่งจิตวิญญาณของคนยากจนที่ปราศจากผิด.”—ยิระมะยา 2:34.c
10. ชายหนุ่มแห่งชนฝูงใหญ่ในหลายประเทศต้องประสบกับการกดขี่ข่มเหงอะไร?
10 นับตั้งแต่ปี 1935 คนหนุ่มผู้ซื่อสัตย์แห่งชนฝูงใหญ่ได้รับการกดขี่ข่มเหงในหลายดินแดน. (วิวรณ์ 7:9) แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจวนจะยุติลงในยุโรป แค่เมืองเดียว หนุ่มพยานพระยะโฮวา 14 คนถูกประหารด้วยการแขวนคอ. ความผิดของพวกเขานะหรือ? พวกเขาไม่ยอม “ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” (ยะซายา 2:4) เมื่อไม่นานมานี้ ชายหนุ่มในประเทศทางตะวันออกและในแอฟริกาถูกทุบตีจนตายหรือไม่ก็ถูกประหารโดยการยิงเป้าเนื่องด้วยประเด็นเดียวกันนี้. ชายหนุ่มผู้ยอมสละชีวิตเพื่อความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนที่น่าสรรเสริญแห่งพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซู จะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเข้าสู่แผ่นดินโลกใหม่ตามคำสัญญาอย่างแน่นอน.—2 เปโตร 3:13; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 110:3; มัดธาย 25:34-40; ลูกา 20:37, 38.
เสื้อคลุมยาวสีขาว
11. ในความหมายเช่นไรที่เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งถูกสังหารเนื่องจากความเชื่อนั้นได้รับ “เสื้อคลุมยาวสีขาว”?
11 หลังจากที่ให้พยานหลักฐานเกี่ยวกับความเชื่อของผู้รักษาความซื่อสัตย์ในสมัยโบราณแล้ว อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “คนเหล่านั้นทุกคนได้ชื่อเสียงอันดีเล่าลือโดยความเชื่อของเขา, แต่เหตุการณ์ซึ่งทรงสัญญาไว้แล้วนั้นเขาไม่ได้รับ, ด้วยว่าพระเจ้าทรงจัดเตรียมการอย่างดีกว่าไว้สำหรับเราทั้งหลาย, เพื่อไม่ให้เขาทั้งหลายถึงที่สำเร็จนอกจากเรา.” (เฮ็บราย 11:39, 40) “การอย่างดีกว่า” ที่เปาโลและคริสเตียนผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ คาดหวังจะได้นั้นคืออะไร? โยฮันเห็นสิ่งนั้นในนิมิต “พวกเขาแต่ละคนได้รับเสื้อคลุมยาวสีขาว และได้รับพระบัญชาให้รอต่อไปอีกสักหน่อยจนกว่าเพื่อนทาสและพวกพี่น้องของเขาซึ่งจะถูกฆ่าเหมือนเขาจะครบจำนวน.” (วิวรณ์ 6:11, ล.ม.) การที่พวกเขาได้รับ “เสื้อคลุมยาวสีขาว” เกี่ยวข้องกับการที่พวกเขากลับเป็นขึ้นจากตายเป็นกายวิญญาณอมตะ. พวกเขาไม่นอนอยู่ใต้แท่นบูชาอีกต่อไปในฐานะผู้ที่ถูกฆ่าฟัน แต่พวกเขาถูกปลุกขึ้นให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้ปกครอง 24 คนซึ่งนมัสการอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้าในสวรรค์. ณ ที่นั่น พวกเขาได้รับบัลลังก์ ซึ่งแสดงว่าพวกเขาได้เข้าสู่สิทธิพิเศษในฐานะกษัตริย์. และพวกเขาจะ “สวมเสื้อคลุมสีขาว” ซึ่งแสดงว่าพวกเขาถูกตัดสินว่าชอบธรรม คู่ควรกับสถานที่อันทรงเกียรติเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาในราชสำนักภาคสวรรค์. เรื่องนี้ยังสำเร็จเป็นจริงตามคำสัญญาที่พระคริสต์ทรงให้แก่คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ในประชาคมที่ซาร์ดิสดังนี้: “ผู้ที่มีชัยจะสวมเสื้อคลุมสีขาว.”—วิวรณ์ 3:5, ล.ม.; 4:4, ล.ม.; 1 เปโตร 1:4.
12. ในทางใดที่เหล่าผู้ถูกเจิมซึ่งได้เป็นขึ้นจากตายนั้น “รอต่อไปอีกสักหน่อย” และจนถึงเมื่อใด?
12 หลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่า การปลุกขึ้นสู่ชีวิตในสวรรค์นี้เริ่มขึ้นในปี 1918 ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระเยซูในปี 1914 และภายหลังการที่พระองค์ทรงม้าออกไปเพื่อเริ่มชัยชนะในฐานะกษัตริย์โดยขจัดซาตานและภูตผีบริวารของมันออกจากสวรรค์. กระนั้น มีการบอกพวกผู้ถูกเจิมที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเหล่านั้นว่า พวกเขาจะต้อง “รอต่อไปอีกสักหน่อยจนกว่าเพื่อนทาส . . . ของเขา . . . จะครบจำนวน.” ชนจำพวกโยฮันที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกจะต้องพิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคงภายใต้การทดลองและการกดขี่ข่มเหง และพวกนี้บางคนอาจยังถูกฆ่า. อย่างไรก็ตาม ในที่สุด โลหิตอันชอบธรรมทั้งปวงที่บาบิโลนใหญ่และชู้รักทางการเมืองของนางทำให้ตกนั้นจะได้รับการแก้แค้นให้. ในระหว่างเวลานั้น ผู้ที่ถูกปลุกขึ้นจากตายแล้วคงเอาการเอางานอยู่กับภาระหน้าที่ในสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย. พวกเขาพัก ไม่ใช่ด้วยการผ่อนคลายอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องทำอะไร แต่พักในแง่ที่พวกเขารอคอยวันแห่งการแก้แค้นของพระยะโฮวาด้วยความอดทนต่างหาก. (ยะซายา 34:8; โรม 12:19) การพักของพวกเขาจะสิ้นสุดลงเมื่อพวกเขาเป็นประจักษ์พยานต่อการทำลายล้างศาสนาเท็จ และในฐานะผู้ที่ “ถูกเรียกและเลือกไว้และซื่อสัตย์” พวกเขาจะร่วมสมทบกับพระเยซูคริสต์เจ้าในการลงโทษตามคำพิพากษาแก่ส่วนอื่น ๆ ทั้งหมดแห่งพงศ์พันธุ์ชั่วของซาตานบนแผ่นดินโลกนี้.—วิวรณ์ 2:26, 27; 17:14, ล.ม.; โรม 16:20.
‘คนทั้งหลายที่ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาก่อน’
13, 14. (ก) ตามคำของอัครสาวกเปาโล การปลุกให้เป็นขึ้นจากตายฝ่ายสวรรค์เริ่มต้นเมื่อไร และใครบ้างที่ถูกปลุก? (ข) พวกผู้ถูกเจิมซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตในสวรรค์เมื่อไร?
13 ความหยั่งเห็นเข้าใจที่ได้รับจากการแกะดวงตราที่ห้านั้นลงรอยอย่างเต็มที่กับข้อคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลุกขึ้นสู่ชีวิตในสวรรค์. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เพราะนี่แหละเป็นสิ่งที่เราบอกแก่ท่านทั้งหลายตามคำตรัสของพระยะโฮวาว่าเราผู้ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ซึ่งอยู่รอดจนถึงการประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะล่วงหน้าไปก่อนบรรดาชนที่ล่วงลับไปในความตายก็หาไม่; ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ด้วยเสียงตรัสสั่ง ด้วยสำเนียงของอัครทูตสวรรค์และด้วยเสียงแตรของพระเจ้า และคนเหล่านั้นที่ตายร่วมสามัคคีกับพระคริสต์จะเป็นขึ้นมาก่อน. ภายหลังนั้นเราผู้เป็นอยู่ซึ่งรอดชีวิตอยู่จะถูกรับขึ้นไปในเมฆร่วมกับคนเหล่านั้น เพื่อจะพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในท้องฟ้า และเช่นนั้นแหละเราจะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นนิตย์.”—1 เธซะโลนิเก 4:15-17, ล.ม.
14 ข้อคัมภีร์เหล่านี้บอกเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ! คนเหล่านั้นแห่งพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูซึ่งตายไปแล้วจะขึ้นสวรรค์ก่อนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในคราวการเสด็จประทับของพระเยซู กล่าวคือ คนเหล่านั้นซึ่งยังมีชีวิตบนแผ่นดินโลกในช่วงการเสด็จประทับของพระองค์. คนเหล่านั้นที่ตายร่วมสามัคคีกับพระคริสต์จะเป็นขึ้นมาก่อน. ที่ว่าพระเยซูเสด็จลงมานั้นก็คือพระองค์ทรงหันมาใฝ่พระทัยในพวกเขา และปลุกพวกเขาให้มีชีวิตฝ่ายวิญญาณ ให้ “เสื้อคลุมยาวสีขาว” แก่พวกเขา. ภายหลังจากนั้น คนเหล่านั้นที่ยังมีชีวิตเป็นมนุษย์จะจบชีวิตทางแผ่นดินโลก ซึ่งหลายคนในจำนวนนั้นจะตายอย่างโหดร้ายด้วยน้ำมือของฝ่ายปฏิปักษ์. อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะไม่นอนหลับในความตายเหมือนผู้ที่ตายก่อนพวกเขา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เมื่อพวกเขาตาย พวกเขาจะถูกเปลี่ยนแปลงทันที—“ในกะพริบตาเดียว”—ถูกรับขึ้นสู่สวรรค์ไปอยู่กับพระเยซูและเพื่อนสมาชิกแห่งพระกายของพระคริสต์. (1 โกรินโธ 15:50-52; เทียบกับวิวรณ์ 14:13.) ดังนั้น การปลุกให้บรรดาคริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นขึ้นจากตายจึงเริ่มขึ้นไม่นานหลังจากผู้ขี่ม้าทั้งสี่ในพระธรรมวิวรณ์เริ่มขี่ม้า.
15. (ก) การแกะดวงตราที่ห้าได้ทำให้มีข่าวดีอะไร? (ข) การขี่ม้าของผู้มีชัยซึ่งประทับบนม้าขาวนั้นบรรลุจุดสุดยอดอย่างไร?
15 การแกะดวงตราที่ห้าของม้วนหนังสือนั้นได้ให้ข่าวดีเกี่ยวกับผู้ถูกเจิมที่รักษาความซื่อสัตย์ซึ่งมีชัยและซื่อสัตย์ตราบวันตาย แต่ไม่ได้ให้ข่าวดีแก่ซาตานและพงศ์พันธุ์ของมัน. การขี่ม้าขาวของผู้มีชัยดำเนินต่อไปโดยที่ไม่มีใครอาจต้านทานไว้ได้และบรรลุจุดสุดยอดในคราวการคิดบัญชีกับโลกที่ “ทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย.” (1 โยฮัน 5:19) เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจกระจ่างเมื่อพระเมษโปดกทรงแกะดวงตราที่หก.
[เชิงอรรถ]
b เทียบกับพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง หน้า 1577 ภาคผนวก 5 C “เสาทรมาน.”
[กรอบหน้า 102]
“คนที่ถูกฆ่า”
สารานุกรม ของแมกคลินทอกและสตรองก์ยกคำพูดของจอห์น จอร์ติน ศาสนิกชนโปรเตสแตนต์ชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เกิดจากบิดามารดาที่เป็นสาวกของสำนักฮิวเกนอตในฝรั่งเศส ดังนี้: “เมื่อการกดขี่ข่มเหงเริ่มต้น ศาสนาคริสเตียนก็อวสาน . . . หลังจากศาสนาคริสเตียนได้ถูกก่อตั้งเป็นศาสนาแห่งจักรวรรดิ [โรมัน] แล้ว และหลังจากได้มีการมอบความมั่งคั่งและเกียรติแก่พวกนักเทศน์นักบวชของเขานั่นเอง ที่ความชั่วร้ายใหญ่หลวงของการกดขี่ข่มเหงนั้นได้รับกำลังอันมากมายและได้ใช้อิทธิพลอันรุนแรงของตนเหนือศาสนาแห่งกิตติคุณ.”
[ภาพหน้า 103]
“พวกเขาแต่ละคนได้รับเสื้อคลุมยาวสีขาว”