คุณจะฟังคำเตือนที่ชัดเจนของพระยะโฮวาไหม?
“ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!”—ยซา. 30:21
1, 2. ซาตานกำลังมุ่งมั่นในการทำอะไร และพระคำของพระเจ้าช่วยเราอย่างไร?
ป้ายบอกทางที่ชี้ไปผิดทิศไม่เพียงแค่ทำให้หลง แต่อาจเป็นอันตรายด้วย. ขอให้นึกภาพว่าเพื่อนคนหนึ่งเตือนคุณว่ามีคนชั่วคนหนึ่งที่จงใจเปลี่ยนป้ายเพื่อทำให้นักเดินทางที่ไม่ระวังได้รับอันตราย. คุณจะไม่ฟังคำเตือนของเขาหรือ?
2 จริงทีเดียว ซาตานคือศัตรูตัวชั่วร้ายที่มุ่งมั่นจะชี้นำเราไปผิดทาง. (วิ. 12:9) อิทธิพลที่ไม่ดีทั้งหมดซึ่งเราได้พิจารณาในบทความก่อนล้วนเกิดมาจากซาตานและมุ่งจะทำให้เราหันเหไปจากเส้นทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. (มัด. 7:13, 14) เรารู้สึกขอบพระคุณพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาที่ทรงเตือนเราไม่ให้ติดตาม ‘ป้ายบอกทาง’ ของซาตานที่ทำให้เราหลงทาง. ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาอิทธิพลที่ไม่ดีอีกสามอย่างที่มาจากซาตาน. ขณะที่เราพิจารณาวิธีที่พระคำของพระเจ้าช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการถูกชักนำให้หลง เราอาจนึกภาพว่าพระยะโฮวากำลังเดินอยู่ข้างหลังเราและทรงชี้ให้เราไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยบอกว่า “ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!” (ยซา. 30:21) การใคร่ครวญคำเตือนที่ชัดเจนของพระยะโฮวาจะช่วยให้เราตั้งใจแน่วแน่มากยิ่งขึ้นที่จะทำตามคำเตือนของพระองค์.
อย่าติดตาม “ผู้สอนเท็จ”
3, 4. (ก) ผู้สอนเท็จเป็นเหมือนบ่อน้ำแห้งอย่างไร? (ข) ผู้สอนเท็จมักมาจากไหน และพวกเขาต้องการอะไร?
3 ขอให้นึกภาพว่าคุณกำลังเดินทางในดินแดนที่แห้งแล้ง. คุณเห็นว่ามีบ่อน้ำอยู่แต่ไกลแล้วคุณก็มุ่งไปที่บ่อนั้นโดยหวังว่าจะได้ดื่มน้ำเพื่อดับกระหาย. แต่เมื่อไปถึง คุณก็พบว่าบ่อนั้นแห้ง. ช่างน่าผิดหวังจริง ๆ! ผู้สอนเท็จเป็นเหมือนบ่อน้ำแห้ง. ใครก็ตามที่มาที่บ่อน้ำนั้นเพื่อจะได้น้ำแห่งความจริงย่อมจะผิดหวังอย่างมาก. พระยะโฮวาทรงเตือนเราโดยทางอัครสาวกเปาโลและเปโตรเกี่ยวกับผู้สอนเท็จ. (อ่านกิจการ 20:29, 30; 2 เปโตร 2:1-3) ใครคือผู้สอนเท็จดังกล่าว? ถ้อยคำที่อัครสาวกทั้งสองได้รับการดลใจให้เขียนช่วยเราให้ระบุได้ว่าผู้สอนเท็จมาจากไหนและพวกเขาดำเนินการอย่างไร.
4 เปาโลกล่าวกับผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์ว่า “จะมีพวกท่านบางคนพูดบิดเบือนความจริง.” เปโตรเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนว่า “จะเกิดมีผู้สอนเท็จท่ามกลางท่านทั้งหลายเช่นกัน.” ผู้สอนเท็จมาจากไหน? พวกเขาอาจมาจากภายในประชาคม. คนเหล่านี้เป็นพวกผู้ออกหาก.a พวกเขาต้องการอะไร? พวกเขาไม่พอใจเพียงแค่ออกไปจากองค์การที่พวกเขาอาจเคยรัก. เปาโลอธิบายว่าพวกเขามีเป้าหมายที่จะ “ชักนำเหล่าสาวกให้ติดตามพวกเขาไป.” เหล่าสาวกที่เปาโลกำลังพูดถึงในที่นี้ได้แก่สาวกของพระเยซูคริสต์. แทนที่จะออกไปและสร้างสาวกของตัวเองขึ้นมา พวกผู้ออกหากพยายามชักจูงเหล่าสาวกของพระคริสต์ให้ไปกับพวกเขา. เช่นเดียวกับ “หมาป่าที่ตะกละตะกลาม” ผู้สอนเท็จออกไปเสาะหาสมาชิกของประชาคมที่ไม่ระแวงเพื่อจะเขมือบกิน โดยทำลายความเชื่อของพวกเขาและชักพาพวกเขาออกไปจากความจริง.—มัด. 7:15; 2 ติโม. 2:18
5. ผู้สอนเท็จใช้วิธีการอะไร?
5 ผู้สอนเท็จดำเนินการอย่างไร? วิธีการที่พวกเขาใช้เผยให้เห็นความเจ้าเล่ห์. ผู้ออกหาก “แอบนำ” แนวคิดที่เสื่อมเสียเข้ามา. เช่นเดียวกับผู้ลักลอบขนของผิดกฎหมาย พวกเขาดำเนินการอย่างลับ ๆ ชักนำให้รับเอาทัศนะแบบออกหากอย่างแยบยล. และเช่นเดียวกับนักปลอมแปลงที่ฉลาดแกมโกงซึ่งพยายามยื่นเอกสารปลอม พวกออกหากก็ใช้ “ถ้อยคำหลอกลวง” หรือการชักเหตุผลผิด ๆ พยายามถ่ายทอดทัศนะที่พวกเขาคิดขึ้นเองราวกับว่าเป็นความจริง. พวกเขาแพร่ “คำสอนเท็จ” “บิดเบือนพระคัมภีร์” ให้เข้ากับความคิดของเขาเอง. (2 เป. 2:1, 3, 13; 3:16) เห็นได้ชัดว่า ผู้ออกหากไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของเรา. การติดตามพวกเขามีแต่จะทำให้เราหันเหออกจากเส้นทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.
6. คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่ชัดเจนเช่นไรเกี่ยวกับผู้สอนเท็จ?
6 เราจะป้องกันตัวเองจากผู้สอนเท็จได้อย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่ชัดเจนในเรื่องวิธีรับมือคนเหล่านี้. (อ่านโรม 16:17; 2 โยฮัน 9-11) พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “จงหลีกห่างจากพวกเขา.” ฉบับแปลอื่น ๆ แปลวลีนี้ว่า “จงเมินหน้าจากคนเหล่านั้น” และ “จงตีตัวออกห่างจากคนเหล่านั้น.” คำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้ไม่มีอะไรคลุมเครือ. สมมุติว่าแพทย์คนหนึ่งบอกคุณให้หลีกเลี่ยงการติดต่อกับบางคนที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงถึงตาย. คุณคงรู้ว่าแพทย์หมายถึงอะไร และคุณคงทำตามคำเตือนของเขาอย่างเคร่งครัด. ผู้ออกหากเป็น “โรค” และพวกเขาพยายามแพร่เชื้อคำสอนออกหากของพวกเขาไปยังคนอื่น ๆ. (1 ติโม. 6:3, 4) พระยะโฮวา แพทย์องค์ยิ่งใหญ่ ทรงบอกเราให้หลีกเลี่ยงการติดต่อคบหากับคนพวกนี้. เรารู้ว่าพระองค์ทรงหมายถึงอะไร แต่เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำตามคำเตือนของพระองค์ในทุกแง่มุมไหม?
7, 8. (ก) การหลีกเลี่ยงผู้สอนเท็จเกี่ยวข้องกับอะไร? (ข) เหตุใดคุณจึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะยืนหยัดต้านทานผู้สอนเท็จ?
7 การหลีกเลี่ยงผู้สอนเท็จเกี่ยวข้องกับอะไร? เราไม่ต้อนรับพวกเขาให้เข้ามาในบ้านของเราหรือทักทายพวกเขา. นอกจากนั้น เราไม่อ่านหนังสือของพวกเขา ไม่ดูรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ไม่ดูเว็บไซต์ของพวกเขา หรือไม่แสดงความคิดเห็นในบล็อกของพวกเขา. เหตุใดเราจึงยึดมั่นในจุดยืนเช่นนั้น? เพราะความรัก. เรารัก “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง” ดังนั้น เราจึงไม่สนใจคำสอนบิดเบือนที่ขัดแย้งกับพระคำแห่งความจริงของพระองค์. (เพลง. 31:5; โย. 17:17) นอกจากนั้น เรารักองค์การของพระยะโฮวาที่สอนให้เรารู้ความจริงที่น่าตื่นเต้น รวมถึงพระนามพระยะโฮวาและความหมายของพระนามนี้ พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับแผ่นดินโลก สภาพของคนตาย และความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. คุณจำได้ไหมว่าคุณรู้สึกอย่างไรที่ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้และความจริงอันล้ำค่าอื่น ๆ เป็นครั้งแรก? ถ้าอย่างนั้น ทำไมคุณจึงจะปล่อยให้คนที่ตำหนิองค์การที่สอนความจริงเหล่านั้นแก่คุณมาเปลี่ยนทัศนะที่คุณมีต่อองค์การล่ะ?—โย. 6:66-69
8 ไม่ว่าผู้สอนเท็จอาจพูดอย่างไร เราจะไม่ติดตามพวกเขา! ทำไมจึงจะไปหาบ่อที่ไม่มีน้ำเพียงเพื่อจะถูกหลอกและผิดหวังล่ะ? แทนที่จะทำอย่างนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะภักดีต่อพระยะโฮวาและองค์การที่มีประวัติยาวนานในการดับความกระหายของเราด้วยน้ำแห่งความจริงอันบริสุทธิ์และให้ความสดชื่นซึ่งมาจากพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.—ยซา. 55:1-3; มัด. 24:45-47
อย่าติดตาม “เรื่องเท็จ”
9, 10. เปาโลให้คำเตือนอะไรแก่ติโมเธียวเกี่ยวกับ “เรื่องเท็จ” และเปาโลอาจนึกถึงอะไร? (ดูเชิงอรรถด้วย)
9 บางครั้ง อาจเห็นได้ง่ายว่าป้ายบอกทางถูกเปลี่ยนและชี้ไปผิดทาง. แต่บางครั้ง อาจเป็นเรื่องยากที่จะมองออกว่ามีการหลอกลวง. เรื่องนี้คล้ายกับอิทธิพลต่าง ๆ ที่ไม่ดีของซาตาน; อิทธิพลบางอย่างเห็นได้ชัดกว่าอย่างอื่น. อัครสาวกเปาโลเตือนเราเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ซ่อนเงื่อนอย่างหนึ่งที่ซาตานใช้ คือ “เรื่องเท็จ.” (อ่าน 1 ติโมเธียว 1:3, 4) เพื่อเราจะไม่ถูกชักนำให้หลงไปจากทางที่นำไปสู่ชีวิต เราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือเรื่องเท็จ และเราจะหลีกเลี่ยงไม่สนใจเรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร?
10 คำเตือนของเปาโลเกี่ยวกับเรื่องเท็จเป็นส่วนหนึ่งในจดหมายฉบับแรกที่ท่านเขียนถึงติโมเธียว ซึ่งเป็นคริสเตียนผู้ดูแลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความบริสุทธิ์สะอาดของประชาคมและช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อให้รักษาความซื่อสัตย์. (1 ติโม. 1:18, 19) เปาโลใช้คำภาษากรีกที่หมายถึงเรื่องแต่ง เทพนิยาย หรือเรื่องเท็จ. ตามที่บอกไว้ในสารานุกรม ดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล คำนี้หมายถึง “เรื่อง (ทางศาสนา) ที่ไม่เกี่ยวข้องเลยกับความเป็นจริง.” เปาโลอาจนึกถึงเรื่องโกหกทางศาสนาที่มีเรื่องน่าตื่นเต้นหรือตำนานเพ้อฝันเข้ามาเสริมแต่ง.b เรื่องเหล่านั้นมีแต่จะ “ก่อข้อสงสัยที่ทำให้ค้นคว้า” กล่าวคือทำให้เกิดข้อสงสัยที่ไร้สาระซึ่งนำไปสู่การค้นคว้าที่ไร้ความหมาย. เรื่องเท็จเป็นแผนของซาตาน นักล่อลวงตัวยง ซึ่งใช้เรื่องเท็จทางศาสนาและเทพนิยายเพื่อชักพาคนที่ไม่ระแวงสงสัยให้เขว. ดังนั้น เปาโลแนะนำไว้อย่างชัดเจนว่า อย่าสนใจเรื่องเท็จ!
11. ซาตานใช้ศาสนาเท็จอย่างฉลาดในการชักนำผู้คนให้หลงอย่างไร และการเอาใจใส่คำเตือนอะไรจะช่วยเราไม่ให้ถูกชักนำให้หลง?
11 อะไรคือเรื่องเท็จบางอย่างที่อาจชักนำให้คนที่ไม่ระวังหลงไป? โดยหลักการแล้ว คำว่า “เรื่องเท็จ” อาจใช้ได้กับเรื่องโกหกหรือเทพนิยายทางศาสนาที่อาจทำให้เรา “เลิกฟังความจริง.” (2 ติโม. 4:3, 4) ซาตานที่แสร้งทำเป็น “ทูตแห่งความสว่าง” ได้ใช้ศาสนาเท็จอย่างฉลาดในการชักนำผู้คนให้หลง. (2 โค. 11:14) โดยอ้างว่าเป็นคริสเตียน คริสต์ศาสนจักรสอนหลักคำสอนต่าง ๆ เช่น ตรีเอกานุภาพ ไฟนรก และวิญญาณอมตะ ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในเทพนิยายและเรื่องเท็จ. นอกจากนั้น คริสต์ศาสนจักรยังส่งเสริมวันหยุดต่าง ๆ อย่างเช่น คริสต์มาสและอีสเตอร์ ซึ่งเทศกาลทั้งสองมีธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรผิด แต่จริง ๆ แล้วมีรากเหง้ามาจากเทพนิยายและศาสนานอกรีต. โดยเอาใจใส่คำเตือนของพระเจ้าที่ให้แยกตัวอยู่ต่างหากและ “เลิกแตะต้องสิ่งที่ไม่สะอาด” เราจะไม่ถูกเรื่องเท็จชักนำให้หลงทาง.—2 โค. 6:14-17
12, 13. (ก) ซาตานส่งเสริมคำโกหกอะไรบ้าง แต่ความจริงคืออะไร? (ข) เราจะหลีกเลี่ยงไม่ถูกเรื่องเท็จของซาตานชักนำให้หลงได้อย่างไร?
12 ซาตานส่งเสริมเรื่องเท็จอื่น ๆ ที่อาจชักนำเราให้หลงถ้าเราไม่ระวัง. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง. ทำอย่างไรก็ได้ จะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคุณ. มีการส่งเสริมแนวคิดนี้ในสื่อและในความบันเทิงต่าง ๆ. ทัศนะที่บิดเบือนมาตรฐานของพระเจ้าเช่นนั้นกดดันเราให้ละทิ้งความเหนี่ยวรั้งด้านศีลธรรมทั้งหมด. ความจริงก็คือว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการชี้นำด้านศีลธรรมที่มีเพียงพระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นจะให้ได้. (ยิระ. 10:23) พระเจ้าจะไม่เข้ามายุ่งในกิจธุระของโลก. เพราะได้รับอิทธิพลจากทัศนะที่ว่ามีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เราอาจกลายเป็นคน “อยู่เฉย ๆ หรือไม่ . . . เกิดผล.” (2 เป. 1:8) ความจริงก็คือว่า วันของพระยะโฮวากำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว และเราต้องคอยท่าวันนั้นอยู่เสมอ. (มัด. 24:44) พระเจ้าไม่ทรงสนพระทัยคุณเป็นส่วนตัวหรอก. การเชื่อคำโกหกนี้ของซาตานอาจทำให้เราเลิกรับใช้พระเจ้า โดยรู้สึกว่าเราไม่มีทางคู่ควรจะได้รับความรักจากพระเจ้า. ความจริงก็คือว่า พระยะโฮวาทรงรักและเห็นค่าผู้นมัสการของพระองค์เป็นส่วนตัว.—มัด. 10:29-31
13 เราต้องคอยระวังอยู่เสมอ เพราะเมื่อดูเผิน ๆ ความคิดและทัศนคติที่มีอยู่ในโลกซาตานอาจดูเหมือนว่ามีเหตุผล. แต่จำไว้ว่าซาตานเป็นเจ้าแห่งการหลอกลวง. โดยเอาใจใส่คำแนะนำและข้อเตือนใจจากพระคำของพระเจ้าเท่านั้น เราจึงจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ถูกซาตานชักนำให้หลงโดย “เรื่องเท็จที่แต่งขึ้นอย่างชาญฉลาด [“กุเรื่องขึ้นมาอย่างแยบยล,” ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย].”—2 เป. 1:16
อย่า “ติดตามซาตาน”
14. เปาโลเตือนแม่ม่ายอายุน้อยบางคนอย่างไร และเหตุใดเราทุกคนจำเป็นต้องเอาใจใส่คำเตือนของท่าน?
14 ขอให้นึกภาพป้ายบอกทางที่เขียนว่า “ติดตามซาตานไปทางนี้.” ใครในพวกเราจะสนใจป้ายเช่นนี้? กระนั้น เปาโลเตือนเราเกี่ยวกับแนวทางต่าง ๆ ที่คริสเตียนซึ่งอุทิศตัวแล้วอาจ “ติดตามซาตานไป.” (อ่าน 1 ติโมเธียว 5:11-15) เปาโลกล่าวถึง “แม่ม่ายที่อายุน้อย” บางคน แต่หลักการในข้อนี้ใช้ได้กับเราทุกคน. สตรีคริสเตียนเหล่านั้นในศตวรรษแรกอาจไม่ได้คิดว่าพวกเขากำลังติดตามซาตาน แต่การกระทำของพวกเขาอาจถือได้ว่าเป็นอย่างนั้น. เราจะระวังไม่ติดตามซาตานไปแม้จะทำโดยไม่รู้ตัวได้อย่างไร? ขอให้เราพิจารณาคำเตือนของเปาโลเกี่ยวกับการซุบซิบนินทา.
15. ซาตานมีเป้าหมายอะไร และเปาโลบอกไว้อย่างไรเกี่ยวกับกลยุทธ์ของซาตาน?
15 ซาตานมีเป้าหมายที่จะทำให้เราเลิกพูดเรื่องความเชื่อของเรา กล่าวคือทำให้เราเลิกประกาศข่าวดี. (วิ. 12:17) เพื่อจะบรรลุเป้าหมายนั้น มันพยายามทำให้เราติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เสียเวลาหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่พวกเรา. ขอให้สังเกตว่าเปาโลบอกไว้อย่างไรเกี่ยวกับกลยุทธ์ของซาตาน. “ไม่รู้จักทำการทำงาน เที่ยวไปบ้านนั้นบ้านนี้.” ในยุคแห่งเทคโนโลยีนี้ เป็นเรื่องง่ายที่จะผลาญเวลาของเราและของคนอื่นโดยสิ่งที่ผู้คนมักทำกัน เช่น การส่งต่ออีเมลที่ไม่จำเป็นหรือแม้แต่ที่อาจไม่เป็นความจริง. “คนชอบซุบซิบนินทา.” การซุบซิบนินทาอาจนำไปสู่การพูดให้ร้าย ซึ่งมักก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท. (สุภา. 26:20) ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คนที่พูดให้ร้ายผู้อื่นอย่างประสงค์ร้ายกำลังเลียนแบบซาตานพญามาร.c “เข้าไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น.” เราไม่มีสิทธิ์บอกคนอื่นว่าเขาควรจัดการเรื่องส่วนตัวอย่างไร. พฤติกรรมทั้งหมดเหล่านั้นที่เหลวไหลและสร้างความรำคาญใจอาจทำให้เราเขวไปจากงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราทำ. ถ้าเราไม่ขันแข็งในการทำงานของพระยะโฮวา เราก็กำลังเริ่มติดตามซาตานไป. เราทุกคนต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายไหน.—มัด. 12:30
16. การเอาใจใส่คำแนะนำอะไรอาจช่วยเราได้ให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่ “ติดตามซาตานไป”?
16 การเอาใจใส่คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่ “ติดตามซาตานไป.” ขอพิจารณาคำแนะนำบางอย่างที่ฉลาดสุขุมของเปาโล. “จงหมกมุ่นในการทำงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีให้ทำมากมาย.” (1 โค. 15:58) การหมกมุ่นในกิจกรรมเกี่ยวกับราชอาณาจักรจะปกป้องเราไว้จากอันตรายของการอยู่เฉย ๆ และการติดตามสิ่งที่ทำให้เสียเวลา. (มัด. 6:33) จงพูดเรื่องที่ “ทำให้เจริญขึ้น.” (เอเฟ. 4:29) จงตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่ฟังคำซุบซิบนินทาและไม่แพร่คำซุบซิบนินทา.d จงพัฒนาความไว้วางใจและความนับถือที่มีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. โดยทำอย่างนั้น เราก็จะมีแนวโน้มที่จะพูดเรื่องที่เสริมสร้างกันขึ้น ไม่ใช่ทำลายกัน. จงตั้งเป้าที่จะไม่ “เข้าไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น.” (1 เทส. 4:11) จงแสดงความสนใจผู้อื่นเป็นส่วนตัว แต่ควรนับถือความเป็นส่วนตัวของพวกเขาและไม่ทำให้เขาเสียศักดิ์ศรี. จำไว้ด้วยว่า เราไม่ควรยัดเยียดทัศนะของเราเองในเรื่องต่าง ๆ ที่คนอื่นต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง.—กลา. 6:5
17. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาทรงเตือนเราเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่ควรติดตาม? (ข) คุณตั้งใจแน่วแน่เช่นไรเกี่ยวกับเส้นทางที่พระยะโฮวาประสงค์ให้เราเดิน?
17 เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงบอกเราอย่างชัดเจนว่าเราต้องไม่ ติดตามอะไร! แต่อย่าลืมว่าพระยะโฮวาทรงเตือนเราดังที่เราพิจารณาในบทความนี้และบทความก่อนก็เพราะพระองค์ทรงรักเราอย่างยิ่ง. พระองค์ประสงค์ให้เรารอดพ้นจากความทุกข์และความเจ็บปวดที่เกิดจากการไปตาม ‘ป้ายบอกทาง’ ของซาตานที่ทำให้หลง. เส้นทางที่พระยะโฮวาประสงค์ให้เราเดินอาจเป็นทางแคบ แต่ทางนั้นนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือชีวิตนิรันดร์. (มัด. 7:14) ขอเราตั้งใจแน่วแน่อยู่เสมอที่จะเอาใจใส่คำกระตุ้นของพระยะโฮวาที่ว่า “ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!”—ยซา. 30:21
[เชิงอรรถ]
a “การออกหาก” คือการหันหลังให้กับการนมัสการแท้ การถอยห่าง การแปรพักตร์ การขืนอำนาจ การละทิ้ง.
b ตัวอย่างเช่นหนังสือนอกสารบบที่ชื่อโทบิต (โทเบียส) ซึ่งเขียนราว ๆ ศตวรรษที่สามก่อนสากลศักราช และหาอ่านได้ในสมัยของเปาโล เต็มไปด้วยความเชื่อเรื่องโชคลางและเรื่องเล่าเกี่ยวกับไสยศาสตร์และเวทมนตร์คาถาที่ไร้สาระซึ่งถูกนำเสนอว่าเป็นความจริง.—ดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 122
c คำภาษากรีกที่แปลว่า “พญามาร” ได้แก่ไดอาโบโลส ซึ่งหมายถึง “ผู้ใส่ร้าย.” คำนี้ถูกใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งของซาตาน ผู้ใส่ร้ายตัวเอ้.—โย. 8:44; วิ. 12:9, 10
d โปรดดูกรอบ “โปรยขนนกให้ลอยไปตามสายลม.”
คุณจะตอบอย่างไร?
คุณเองจะใช้คำเตือนที่อยู่ในข้อคัมภีร์ต่อไปนี้ได้อย่างไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 19]
“โปรยขนนกให้ลอยไปตามสายลม”
มีเรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวยิวเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นผลของการแพร่คำซุบซิบนินทาได้เป็นอย่างดี. มีการเล่าเรื่องนี้กันหลายแบบ แต่ใจความสำคัญของเรื่องมีอยู่ว่า . . .
ชายคนหนึ่งเที่ยวโพนทะนาว่าร้ายปราชญ์ประจำเมืองไปทั่ว. ต่อมา ชายที่นินทาว่าร้ายคนนี้ก็รู้ตัวว่าได้ทำผิดและไปขอร้องปราชญ์ให้ยกโทษให้ โดยบอกว่าเขาพร้อมจะทำอะไรก็ตามเพื่อชดเชยความผิดของตน. ปราชญ์ขอให้ชายคนนี้ทำเพียงแค่เรื่องหนึ่ง: เขาบอกให้ไปหาหมอนขนนกมาใบหนึ่งแล้วก็ผ่าหมอนใบนั้น โปรยขนนกให้ลอยไปตามลม. แม้จะงุนงงที่ปราชญ์บอกให้ทำอย่างนั้น แต่ชายที่ชอบนินทาก็ยอมทำตาม เสร็จแล้วก็กลับมาหาปราชญ์.
“ท่านให้อภัยข้าพเจ้าแล้วใช่ไหม?” เขาถาม.
“เจ้าจงไปเก็บขนนกทั้งหมดกลับมาก่อน” ปราชญ์ตอบ.
“แต่ข้าพเจ้าจะไปตามเก็บได้อย่างไร ป่านนี้ลมก็พัดขนนกไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้.”
“การแก้ไขผลเสียหายที่เกิดจากคำพูดของเจ้ามันก็ยากพอ ๆ กับการตามเก็บขนนกนั่นแหละ.”
เราเห็นบทเรียนอย่างชัดเจน. คำพูดของคนเรา เมื่อพูดออกไปแล้วไม่อาจกู้คืนได้ และอาจเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขความเจ็บปวดที่คำพูดนั้นทำให้เกิดขึ้น. ก่อนจะแพร่คำซุบซิบนินทาออกไปแม้แต่เพียงเล็กน้อย ควรจำไว้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นเป็นเหมือนกับการโปรยขนนกให้ลอยไปตามสายลม.
[ภาพหน้า 16]
บางคนอาจเชื้อเชิญผู้ออกหากเข้ามาในบ้านของพวกเขาอย่างไร?