ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
ควรจัดการอย่างไรหากนักเทศน์ผิดศีล?
ความประพฤติไม่ดีโดยผู้นำทางศาสนาดึงดูดความสนใจของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. พวกโปรเตสแตนต์รู้สึกขายหน้าเนื่องจากพฤติกรรมอันน่าอัปยศของบรรดานักเทศน์ทางทีวี. หลังจากผู้เผยแพร่ทางทีวีคนหนึ่งถูกจับได้ว่าอยู่กับโสเภณีเป็นครั้งที่สองในระยะสามปี เขาบอกพวกลูกศิษย์ว่าพระเจ้าตรัสแก่เขาว่าความประพฤติของเขาเป็นเรื่องส่วนตัว คนอื่นไม่เกี่ยว.
วารสารไทม์ รายงานเกี่ยวกับการศึกษาเป็นเวลา 25 ปี โดยกล่าวว่า “อดีตนักบวชเบเนดิกทิน . . . กะประมาณว่าบาทหลวงคาทอลิกครึ่งหนึ่งในจำนวน 53,000 คนในสหรัฐละเมิดคำสาบานของตนว่าจะอยู่เป็นโสด.” นอกจากนั้น รายงานข่าวของปี 1990 ที่พูดถึงจำนวนบาทหลวงชาวแคนาดาซึ่งทำผิดทางเพศต่อเด็ก ๆ กล่าวไว้ว่า “ผู้นำคริสต์จักรถ้าไม่เพิกเฉย ก็มองข้ามหรือสนองตอบอย่างไม่เกิดผลต่อคำร้องทุกข์ในเรื่องการทารุณทางเพศ แม้ว่าพวกเขาจะได้รับคำร้องทุกข์จากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ, ประชาชนที่อยู่ในสังกัดศาสนา, ตำรวจ, นักสังคมสงเคราะห์และบาทหลวงคนอื่น ๆ.”
วารสารไทม์ กล่าวว่า “กระทั่งเร็ว ๆ นี้ บาทหลวงที่ทำผิดก็เพียงแต่ถูกย้ายจากเขตหนึ่งไปยังอีกเขตหนึ่ง.” แต่เดี๋ยวนี้มูลค่าการฟ้องร้องโดยผู้รับความเสียหายจากการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมของบาทหลวงในสหรัฐสูงถึง 7,650 ล้านบาท บ่อยครั้งก่อนที่บาทหลวงจะกลับทำหน้าที่ทางศาสนาอีกเขาถูกส่งไปรับการรักษาด้านสุขภาพจิต.
ควรจะปฏิบัติอย่างไรหากนักเทศน์, บาทหลวง, หรือผู้ปกครองทำบาป? คัมภีร์ไบเบิลให้คำชี้แนะอย่างไรเพื่อจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนั้น? ให้เราตรวจสอบดูข้อคัมภีร์หลักสองข้อ—ติโต 1:7 และ 1 ติโมเธียว 3:2.
ต้องเป็นคนที่ “ปราศจากข้อกล่าวหา”
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้ดูแล [“บิชอพ” เดอะ นิว อเมริกัน ไบเบิล (ฉบับแปลคาทอลิก)] ต้องปราศจากข้อกล่าวหาในฐานะคนต้นเรือนของพระเจ้า.” (ติโต 1:7, ล.ม.) ท่านเปาโลให้คำสั่งนี้แก่ติโตเมื่อมอบหมายเขาไปแต่งตั้งผู้ปกครองตามประชาคมต่าง ๆ ในเกาะเกรเต. อย่างไรก็ดี ท่านอัครสาวกผู้นี้หมายความว่าอย่างไร?
คำกล่าวที่ว่า “ปราศจากข้อกล่าวหา” แปลจากคำ อาเนก΄คเลตอส ในภาษากรีก. เดอะ นิว อินเตอร์เนชั่นแนล ดิกชันนารี ออฟ นิว เทสทาเมนต์ ธีโอโลจี ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำนี้ว่า “ อาเนก΄คเลตอสใช้ในการฟ้องร้องตามกฎหมายในศาล และครอบคลุมถึงความประพฤติซึ่งหาข้อตำหนิไม่ได้ ไม่มีข้อกล่าวหาใด ๆ ที่ยกขึ้นมาได้.” ดังนั้น ก่อนจะถูกแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองผู้ชายคนนั้นต้องมีประวัติที่สะอาด เขาต้องพ้นจากคำตำหนิ หรือข้อกล่าวหา. และเฉพาะต่อเมื่อเขายังคงพ้นจากข้อกล่าวหาที่ชอบด้วยเหตุผลเท่านั้นผู้ปกครองจึงจะอยู่ในหน้าที่ของเขาต่อไปได้.—เปรียบเทียบ 1 ติโมเธียว 3:10.ผู้ปกครองไม่ใช่จะเพียงให้การนำในประชาคมแต่เขาต้องรับใช้ประชาคมด้วย. เขาต้องให้การสำหรับหน้าที่คนต้นเรือน. เขาเป็นคนต้นเรือนของพระเจ้า เขาบำรุงเลี้ยงลูกแกะของพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น เขาต้องให้การในอันดับแรกต่อพระยะโฮวาผู้เป็นเจ้าของฝูงแกะ และแล้วต่อประชาชนที่พระเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบแก่เขาในการดูแล.—1 เปโตร 5:2, 3.
ต้องเป็นคนที่ “ไม่มีใครติได้”
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงผู้ดูแลว่า “ผู้ดูแล [“บิชอพ” NAB] ต้องเป็นคนที่ไม่มีใครติได้.” (1 ติโมเธียว 3:2) คำว่า “ไม่มีใครติเตียนได้” แปลมาจากคำภาษากรีก อาเนพิ΄เลมป์ตอส และตามตัวอักษรหมายถึง “ไม่อาจจับได้.” กล่าวอีกนัยหนึ่งชีวิตของผู้ดูแลไม่ควรจะมีอะไรซึ่งผู้กล่าวหาจะจับได้และใช้สิ่งนั้นต่อต้านเขา. เพื่อเป็นการขยายความหมายคำภาษากรีกนี้ ธีโอโลจิคัล ดิกชันนารี ออฟ เดอะ นิว เทสทาเมนต์ กล่าวว่าผู้ดูแล “จะต้องไม่ถูกโจมตี (แม้กระทั่งโดยผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียน) เนื่องจากการประพฤติทางศีลธรรมของเขา.”
พระเจ้าทรงตั้งมาตรฐานสูงไว้สำหรับบรรดาคนที่ดูแลประชาชนของพระองค์และสอนพระวจนะของพระองค์. ยาโกโบพูดถึงตัวเองและผู้ปกครองคนอื่น ๆ ว่า “เราจะได้รับการพิพากษาที่หนักกว่า.” และพระเยซูทรงกำหนดแนวทางหลักในเรื่องนี้ไว้ว่า “ผู้ใดได้รับฝากไว้มากก็จะต้องทวงเอาจากผู้นั้นมาก.”—ยาโกโบ 3:1 ล.ม.; ลูกา 12:48.
เพราะฉะนั้น หากผู้ดูแลคริสเตียนทำผิดอย่างโจ่งแจ้งแต่กลับใจ เขาอาจจะเป็นสมาชิกของประชาคมต่อไปได้ แต่เขาควรจะถูกถอดออกจากหน้าที่ผู้ดูแล. เขามิได้เป็นผู้ไม่มีที่ติอีกต่อไป. อาจจะกินเวลาเป็นปี ๆ สำหรับเขาในการได้ชื่อเสียงที่ดีคืนมาทั้งนี้เพื่อจะเป็นผู้ที่พ้นข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง. กรณีของเขาอาจจะเทียบได้กับเซ็บนาคนต้นเรือนของฮีศคียา. เนื่องจากการกระทำอันไม่เหมาะสมของเขาพระยะโฮวาทรงว่ากล่าวเขาด้วยถ้อยคำดังนี้ “เราจะผลักเจ้าออกจากหน้าที่ และกระชากเจ้าลงมาจากตำแหน่ง.” แต่ต่อมาเซ็บนาคงต้องได้ชื่อเสียงที่ดีคืนมาเพราะเราอ่านพบว่าเขาได้รับใช้กษัตริย์อีกครั้งหนึ่งฐานะราชเลขา.—ยะซายา 22:15-22; 36:3.
จะทำอย่างไรถ้านักเทศน์ไม่กลับใจ?
หลายนิกายของคริสต์ศาสนจักรยอมทนกับพวกนักเทศน์ที่ทำบาปเป็นนิสัย. ในปี 1459 ราชาคณะ โรดริโก บอร์เกียกลายเป็นรองสังฆราช อันเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในราชสำนักสันตะปาปาคาทอลิก. สืบเนื่องจากการผิดศีลธรรมอันฉาวโฉ่ของเขาสันตะปาปาไพอุสที่ 2 จึงว่ากล่าวเขา. กระนั้น แม้ว่าเขาจะเป็นบิดาของเด็กที่เกิดนอกกฎหมายสี่คน ในปี 1492 กลุ่มราชาคณะเลือกเขาให้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปา! เขายังคงดำเนินชีวิตอื้อฉาวต่อไปฐานะสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6. การยอมทนต่อนักเทศน์ที่ลุ่มหลงในโลกีย์วิสัยและไม่กลับใจตลอดประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนจักรได้สนับสนุนความเสื่อมโทรมซึ่งเราเห็นได้ในองค์การปัจจุบัน. ถ้าเช่นนั้น จะต้องทำประการใดหากนักเทศน์ไม่กลับใจ?
ผู้ดูแลคริสเตียนคนหนึ่งคนใดซึ่งทำบาปร้ายแรงเป็นนิสัยและหาได้แสดงหลักฐานใด ๆ ในด้านการกลับใจ ควรจะถูกขับออกจากประชาคม. อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “ถ้าผู้ใดที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้องแล้ว แต่ยังเป็นคนผิดประเวณี, เป็นคนโลภ, เป็นคนไหว้รูปเคารพ, เป็นคนปากร้าย, เป็นคนขี้เมา, หรือเป็นคนฉ้อโกง อย่าคบให้สนิทกับคนอย่างนั้น แม้จะกินด้วยกันก็อย่าเลย . . . . ‘จงขับไล่คนชั่วนั้นออกเสียจากพวกท่าน.’”—1 โกรินโธ 5:11-13.
การปฏิบัติอย่างเฉียบขาดจะปกป้องชื่อเสียงของประชาคมไว้และแยกประชาคมออกจากคนเหล่านั้นซึ่ง ‘ออกปากกล่าวว่าเขารู้จักพระเจ้า แต่ในกิริยาการประพฤติของเขาเขาปฏิเสธพระองค์.’ วิถีทางที่ศาสนาจัดการกับปัญหาเรื่องนักเทศน์ซึ่งไม่กลับใจจะช่วยคุณสังเกตออกว่าศาสนานั้นเป็นคริสเตียนแท้หรือไม่.—ติโต 1:16; มัดธาย 7:15, 16.
[รูปภาพหน้า 29]
สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6
[ที่มาของภาพ]
Alinari/Art Resource, N.Y.