คุณมีคุณวุฒิเหมาะกับตำแหน่งหน้าที่ไหม?
“ความสามารถของเรานั้นมาจากพระเจ้า.”—2 โกรินโธ 3:5. ล.ม.
1. ประชาคมคริสเตียนไม่มีที่ว่างสำหรับคนประเภทไหน?
พระเจ้าพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ทำงาน. พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาของเราทรงทำงานเรื่อยมาถึงบัดนี้ และเราก็ทำงานเรื่อยไป.” (โยฮัน 5:17, ล.ม.) พระเจ้าไม่พอพระทัยคนที่ไม่ยอมทำงาน และไม่ทรงโปรดปรานคนเหล่านั้นที่แสวงหาหน้าที่รับผิดชอบเพื่อจะมีอำนาจเหนือผู้อื่น. ประชาคมคริสเตียนไม่มีที่สำหรับคนเกียจคร้านหรือคนมักใหญ่ใฝ่สูงที่เห็นแก่ตัว.—มัดธาย 20:25-27; 2 เธซะโลนิเก 3:10.
2. เหตุใดเวลานี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพวกผู้ชายจะแบกความรับผิดชอบในประชาคมคริสเตียน?
2 พยานพระยะโฮวามี ‘งานขององค์พระผู้เป็นเจ้าบริบูรณ์ทุกเวลา’ ยิ่งเวลานี้มีมากเป็นพิเศษเพราะผู้คนมากมายพากันหลั่งไหลมายัง “ภูเขา” แห่งการนมัสการแท้. (1 โกรินโธ 15:58; ยะซายา 2:2–4) มีความต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริงเพื่อแบกความรับผิดชอบภายในประชาคม. บุคคลดังกล่าวมิได้รับการกระตุ้นโดยความทะเยอทะยานอย่างเห็นแก่ตัว เขาจึงยกย่องพระยะโฮวา ไม่ใช่ตัวเขาเอง. (สุภาษิต 8:13) เขารู้ว่าพระเจ้าทรงช่วยเขาให้มีคุณวุฒิเหมาะสมกับหน้าที่ต่าง ๆ ในประชาคมดังที่ ‘พระองค์โปรดให้เรามีความสามารถปฏิบัติได้ตามคำสัญญาใหม่.’—2 โกรินโธ 3:4-6.
3. ตามหลักแล้ว อะไรเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ปกครองและผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง?
3 ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกับคริสเตียนสมัยต้น ๆ พวกผู้ชายได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และโดยการจัดเตรียมแบบองค์การของพระยะโฮวาเพื่อเขาจะปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้ปกครองหรือผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง. (กิจการ 20:28; ฟิลิปปอย 1:1; ติโต 1:5) พวกผู้ปกครองบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าทางด้านวิญญาณให้ทั้งการดูแลและการคุ้มครองด้วย. พวกผู้ปกครองได้รับการช่วยโดยผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง ซึ่งงานในหน้าที่ของเขาไม่เกี่ยวข้องการดูแลฝ่ายวิญญาณโดยตรง. (1 เปโตร 5:2; เทียบกับกิจการ 6:1-6.) เช่นเดียวกับพระบุตรของพระเจ้าซึ่งเสด็จมาในโลกเพื่อการปรนนิบัติ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวก็ปรารถนาจะปรนนิบัติเพื่อนร่วมความเชื่อ. (มาระโก 10:45) ถ้าคุณเป็นชายคริสเตียน คุณมีน้ำใจอย่างนั้นไหม?
คุณสมบัติที่กำหนดไว้สำหรับทั้งสองจำพวก
4. เราจะพบรายการว่าด้วยคุณสมบัติประการต่าง ๆ สำหรับผู้ที่รับมอบหน้าที่ดูแลประชาคมนั้นได้ที่ไหนโดยเฉพาะ?
4 อัครสาวกเปาโลได้วางข้อเรียกร้องโดยเฉพาะสำหรับคนเหล่านั้นที่ได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบภายในประชาคมที่ 1 ติโมเธียว 3:1-10, 12, 13 และ ติโต 1:5-9. เมื่อเราพิจารณาข้อเรียกร้องเหล่านี้ ซึ่งบางข้อใช้กับทั้งผู้ปกครองและผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง เราไม่ควรถือเอาข้อเรียกร้องเหล่านั้นตามมาตรฐานของชาวโลก. เราควรพิจารณาข้อเรียกร้องเหล่านั้นตามสภาพการณ์ในศตวรรษแรกและอย่างที่ปฏิบัติกันท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา. การบรรลุข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้เรียกร้องความสมบูรณ์พร้อม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่มีมนุษย์คนใดมีคุณวุฒิเหมาะสม. (1 โยฮัน 1:8) แต่ถ้าคุณเป็นชายคริสเตียนและไม่ว่าขณะนี้คุณมีหน้าที่ในประชาคมหรือไม่มีก็ตาม ไฉนไม่วิเคราะห์คุณสมบัติส่วนตัวของคุณ?
5. ที่จะไม่มีใครติเตียนได้นั้นหมายความอย่างไร?
5 เป็นคนที่ไม่มีใครติเตียนได้; มีคำพยานที่ดีจากคนภายนอก; ปราศจากข้อกล่าวหา. (1 ติโมเธียว 3:2, 7, 8, 10; ติโต 1:6, 7, ล.ม.) เมื่อถูกแต่งตั้งแล้วและระหว่างปฏิบัติงานอยู่ ผู้รับใช้และผู้ปกครองต้องเป็นคนที่ไม่มีใครติเตียนได้ กล่าวคือ ไม่มีข้อตำหนิหรือไม่จำเป็นต้องได้รับการว่ากล่าวเพราะถูกกล่าวหาอย่างที่ฟังขึ้น อันเนื่องมาจากการประพฤติหรือการสอนที่ผิด. ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง โดย “พี่น้องเท็จ” หรือคนอื่นไม่เป็นเหตุให้ถูกติเตียน. เพื่อทำให้ชายคนหนึ่งขาดคุณวุฒิที่จะปฏิบัติหน้าที่ในประชาคม การกล่าวหาต้องไม่ใช่เรื่องเหลวไหล และต้องมีการพิสูจน์การกล่าวหานั้นสอดคล้องกับมาตรฐานต่าง ๆ ของพระคัมภีร์. (2 โกรินโธ 11:26; 1 ติโมเธียว 5:19) ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งในประชาคม “ควรจะมีคำพยานที่ดีจากคนภายนอก เพื่อเขาจะไม่ตกเข้าสู่การตำหนิและบ่วงแร้วของพญามาร.” ถ้าในอดีตชายคนใดได้กระทำผิดร้ายแรง เขาอาจจะได้รับการแต่งตั้งได้ก็ต่อเมื่อเขาประพฤติตนพ้นคำตำหนิใด ๆ ทั้งสิ้นและได้สร้างชื่อเสียงอันดีสำหรับตัวเอง.
6. การเป็นสามีของภรรยาคนเดียวหมายถึงอะไร?
6 เป็นสามีของภรรยาคนเดียว. (1 ติโมเธียว 3:2, 12; ติโต 1:6, ล.ม.) ทั้งนี้ไม่หมายความว่าเฉพาะชายที่สมรสแล้วเท่านั้นสามารถจะเป็นผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งหรือผู้ปกครอง. แต่ถ้าสมรสแล้ว ผู้ชายต้องมีภรรยาเพียงคนเดียวและต้องซื่อสัตย์ต่อภรรยา. (เฮ็บราย 13:4) ไม่เหมือนกันกับพวกผู้ชายที่ไม่ใช่คริสเตียนหลายคนในศตวรรษแรก เขาจะมีภรรยาหลายคนไม่ได้.a
7. (ก) จะถือเอาอายุเป็นเกณฑ์ไหมซึ่งทำให้ผู้ชายมีคุณวุฒิเหมาะที่จะเป็นผู้ปกครอง? (ข) การปกครองบ้านเรือนอย่างดีงามนั้นหมายรวมถึงอะไร?
7 ปกครองครอบครัวของตนเองอย่างดีงาม ให้ลูก ๆ อยู่ใต้อำนาจ. (1 ติโมเธียว 3:4, 5, 12; ติโต 1:6, ล.ม.) บางคนอาจคิดว่าผู้ปกครองอย่างน้อยก็ต้องอายุสามสิบปี แต่พระคัมภีร์ไม่ได้กำหนดอายุต่ำสุดไว้. กระนั้น ผู้ปกครองต้องประพฤติตนเยี่ยงคนมีวัยวุฒิฝ่ายวิญญาณ. ผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งหรือผู้ปกครองควรมีอายุมากพอจะมีบุตรได้. ถ้าเขาสมรส ชายไม่มีคุณวุฒิเหมาะแก่หน้าที่ถ้าเขาประพฤติถูกต้องดีงาม ณ ที่อื่นแต่เป็นคนเกรี้ยวกราดที่บ้านของตน. เขาต้องได้รับความนับถือเพราะเขาปกครองบ้านเรือนตามหลักการของพระคัมภีร์ และเขาควรมีเป้าหมายที่จะให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวประสบความสำเร็จฝ่ายวิญญาณ. โดยทั่วไป บุตรวัยเยาว์ของบิดาที่เป็นผู้ปกครองน่าจะมีความประพฤติเรียบร้อย และเป็นคน “เชื่อถือพระเจ้า.” บุตรของเขาอาจกำลังเติบโตก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่จะอุทิศตนแด่พระเจ้า หรือไม่ก็ได้รับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาแล้ว. บุคคลผู้ที่ไม่สามารถปลูกฝังความเชื่อให้กับบุตร ก็คงไม่สามารถสร้างเสริมคนอื่นให้มีความเชื่อได้.
8. ก่อนที่ผู้ชายซึ่งมีครอบครัวจะถูกแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง เขาต้องเรียนรู้จะทำอะไร?
8 ก่อนชายที่มีครอบครัวจะเป็นผู้ปกครองที่มีความสามารถให้การเอาใจใส่ฝ่ายวิญญาณภายในประชาคมได้ เขาต้องรู้จักวิธีที่จะดูแลครอบครัวของตน. “ถ้าชายใดไม่รู้จัก ครอบครองบ้านเรือนของตน เขาจะดูแลประชาคมของพระเจ้าอย่างไรได้?” (1 ติโมเธียว 3:5) จริงอยู่ ภรรยาที่ไม่เชื่อถือพระเจ้าอาจต่อต้านขัดขวางเขาก็ได้. (มัดธาย 10:36; ลูกา 12:52) หรือบุตรคนหนึ่งอาจกระทำผิดขั้นเป็นบาปร้ายแรงก็ได้ แม้บุตรอื่น ๆ ของเขาก็ประพฤติดีทางด้านวิญญาณ. กระนั้น ถ้าเขาสามารถทำทุกสิ่งที่คาดหมายได้ และเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาบรรลุผลสำเร็จฝ่ายวิญญาณกับคนอื่น ๆ ในครอบครัวของเขา การที่คนหนึ่งในครอบครัวไม่นำพาต่อการชี้นำที่ดีของเขาเช่นนั้นก็คงไม่ถึงกับว่าเขาเป็นบุคคลขาดคุณวุฒิที่จะเป็นผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งหรือผู้ปกครอง.
9. ผู้ปกครองหรือผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งต้องระมัดระวังตัวอย่างไรในเรื่องเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์?
9 ไม่เป็นนักเลงสุราและไม่ปล่อยตัวดื่มเหล้าองุ่นมาก. (1 ติโมเธียว 3:3, 8, ล.ม.; ติโต 1:7) ผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งหรือผู้ปกครองต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก. การเสพเครื่องดื่มประเภทนี้มีผลเสียต่อการควบคุมสติและอารมณ์ นำไปสู่การเมาเหล้าอาละวาดหรือก่อเหตุวิวาท. เขาไม่ควร ‘ปล่อยตัวดื่มเหล้าองุ่นมาก’ หรือมีชื่อว่า ดื่มเป็นนิสัยหรือดื่มจัด. (สุภาษิต 23:20, 21, 29-35) เป็นภาพน่าสลดใจเพียงไรถ้าการเยี่ยมเยียนเพื่อบำรุงเลี้ยงกลายเป็นเรื่องด่างพร้อยเพราะขาดการรู้จักประมาณตน! ถ้าเขาอยากดื่มบ้าง ก็ไม่สมควรจะดื่มเมื่อเข้าร่วมการประชุม เมื่อออกประกาศตามบ้านเรือน หรือทำการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ประเภทอื่น ๆ.—เลวีติโก 10:8-11; ยะเอศเคล 44:21.
10. ทำไมคนรักเงินและโลภกำไรโดยมิชอบจึงไม่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง?
10 ไม่เป็นคนรักเงิน ไม่โลภกำไรโดยมิชอบ. (1 ติโมเธียว 3:3, 8, ล.ม.; ติโต 1:7) คนรักเงินตกอยู่ในอันตรายฝ่ายวิญญาณ และ “คนมักโลภ” จะไม่ได้ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. ฉะนั้น บุคคลดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง. (1 โกรินโธ 6:9, 10; 1 ติโมเธียว 6:9, 10) รากศัพท์คำกรีกที่ถูกนำมาแปล “โดยมิชอบ” นี้ โดยพื้นฐานแล้วหมายความว่า “อับอายขายหน้า” และคำที่ถูกแปลว่า “ผลกำไร” หมายถึงอะไร ๆ อันเป็นส่วนที่ได้มาหรือข้อได้เปรียบ. (ฟิลิปปอย 1:21; 3:4-8) แน่นอน ผู้ชายซึ่งเจตนาส่อให้เห็นว่า เขาจะปฏิบัติต่อ “แกะ” ของพระเจ้าโดยมิชอบจึงไม่มีคุณสมบัติเหมาะกับหน้าที่รับผิดชอบภายในประชาคม. (ยะเอศเคล 34:7-10; กิจการ 20:33-35; ยูดา 16) ความจำเป็นที่ต้องระมัดระวังในการเสนอชื่อยิ่งชัดมากขึ้นเมื่อเราตระหนักว่าผู้ชาย เมื่อถูกแต่งตั้งแล้ว อาจมีหน้าที่ดูแลการเงินและอาจถูกล่อใจให้ยักยอกเงินไปบ้าง.—โยฮัน 12:4-6.
11. ทำไมจึงไม่ควรเสนอแนะ “คนที่พึ่งเข้ามาเชื่อถือ” สำหรับหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม?
11 ไม่ใช่คนที่พึ่งเข้ามาเชื่อถือ; ให้ทดลองดูความเหมาะสมเสียก่อน. (1 ติโมเธียว 3:6, 10, ล.ม.) คนที่พึ่งรับบัพติสมายังไม่มีเวลาพอที่จะพิสูจน์ว่าเขาจะเอาใจใส่หน้าที่มอบหมายต่าง ๆ อย่างซื่อสัตย์. เขาอาจไม่เห็นอกเห็นใจคนที่ได้รับความทุกข์ลำบาก หรือเขาอาจขาดสติปัญญาซึ่งจำเป็นต้องใช้เมื่อช่วยเพื่อนผู้นมัสการด้วยกัน หรือเขาอาจถึงกับเหยียดหยามคนอื่นด้วยซ้ำ. ด้วยเหตุนี้ ก่อนเสนอแนะชายคนใดเพื่อจะเป็นผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นผู้ปกครอง จึงควร “ทดลองดูความเหมาะสม” ของผู้นั้นและเขาควรมีหลักฐานชัดแจ้งว่าเป็นบุคคลที่มีขีดความสามารถในการวินิจฉัยและเชื่อถือวางใจได้. ไม่มีการกำหนดเวลาแน่นอนเพื่อการทดลองแบบนี้ และความเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณของแต่ละคนก็แตกต่างไม่เท่าเทียมกัน. แต่พวกผู้ปกครองไม่ควรรีบเสนอชื่อคนใหม่ “เพราะเกรงว่าเขาจะพองตัวด้วยความหยิ่งทะนงและตกเข้าสู่การพิพากษาที่ได้เกิดขึ้นกับพญามาร.” จงให้ผู้นั้นแสดงออกซึ่งลักษณะความถ่อมใจเยี่ยงพระคริสต์เสียก่อน—ฟิลิปปอย 2:5-8.
การพิจารณาโดยเฉพาะผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง
12. รายการข้อเรียกร้องต่าง ๆ เหล่านั้นมีไว้สำหรับผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งเท่านั้นหรือ?
12 มีข้อเรียกร้องบางประการสำหรับผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง. แต่ถ้าพวกผู้ปกครองไม่บรรลุข้อเรียกร้องดังกล่าว เขาย่อมไม่มีคุณสมบัติจะปฏิบัติหน้าที่นั้น. ในฐานะที่คุณเป็นชายคริสเตียน คุณมีคุณสมบัติในประการเหล่านี้ไหม?
13. การเป็นคนเอาจริงเอาจังหมายถึงอะไร?
13 เป็นคนเอาจริงเอาจัง. (1 ติโมเธียว 3:8, ล.ม.) ผู้ชายที่มีคุณสมบัติจะปฏิบัติหน้าที่ฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้งไม่ควรถือเอาความรับผิดชอบเป็นเรื่องเล่น ๆ. เขาควรมีกิริยาท่าทางสง่าผ่าเผยเป็นที่น่านับถือ. แม้ว่าความรู้สึกขำเป็นครั้งเป็นคราวจะยอมรับได้ เขาคงจะขาดคุณสมบัติถ้าเขาแสดงท่าทางตลกขบขันอยู่เรื่อย ๆ.
14. (ก) ไม่เป็นคนสองลิ้นหมายความว่ากระไร? (ข) การมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดเรียกร้องให้ทำอะไร?
14 ไม่เป็นคนสองลิ้น; มีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด. (1 ติโมเธียว 3:8, 9, ล.ม.) ผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้ง (และผู้ปกครอง) ต้องเป็นคนมีสัจจะ ไม่เป็นคนซุบซิบส่อเสียดหรือเจ้าเล่ห์. เนื่องจากเขาไม่ควรเป็นคนสองลิ้น เขาจึงต้องไม่พูดอย่างหนึ่งกับคนหนึ่ง แล้วไปพูดอีกอย่างหนึ่งกับอีกคนหนึ่งอย่างน่าซื่อใจคด. (สุภาษิต 3:32; ยาโกโบ 3:17) อนึ่ง ผู้ชายเหล่านี้ต้องเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อความจริงที่เปิดเผยออกมาแล้ว โดย “ยึดถือข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับความเชื่อด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด.” สติรู้สึกผิดชอบของผู้นั้นจำเพาะพระเจ้าจึงควรให้หลักฐานพยานว่าเขาประพฤติชอบและไม่ประพฤติการใด ๆ อย่างมีเล่ห์อุบายหรือเป็นมลทิน. (โรม 9:1; 2 โกรินโธ 1:12; 4:2; 7:1) คงไม่มีใครเหมาะกับงานดูแลฝูงแกะของพระเจ้านอกเสียจากว่าเขายึดมั่นในความจริงและหลักการที่ถูกต้องตามศีลธรรม.
เพ่งเล็งคุณสมบัติของผู้ปกครอง
15. ตอนนี้เราจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับอะไร?
15 คุณสมบัติบางประการนำมาใช้กับผู้ปกครองโดยเฉพาะและส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการงานที่เขาพึงทำเพราะเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สั่งสอน. ในฐานะที่เป็นชายคริสเตียน คุณบรรลุข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ไหม?
16. (ก) การประมาณตนในนิสัยต่าง ๆ นั้นพึงปฏิบัติอย่างไร? (ข) ผู้ปกครองจะบังคับตนโดยวิธีใด?
16 ประมาณตนในนิสัยต่าง ๆ รู้จักบังคับตน. (1 ติโมเธียว 3:2; ติโต 1:8, ล.ม.) ผู้ปกครองควรเป็นคนยับยั้งใจ ไม่ครอบงำด้วยนิสัยไม่ดี. เมื่อเขาต้องเผชิญความทุกข์ยากต่าง ๆ พระเจ้าจะช่วยให้เขาหนักแน่นไม่หวั่นไหว ถ้าเขาอธิษฐานอย่างที่ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้กระทำมาแล้ว ที่ว่า “ความทุกข์ในใจของข้าพเจ้าทวีมากขึ้นแล้ว ขอพระองค์ทรงโปรดพาข้าพเจ้าออกจากความทุกข์ยากของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:17) อนึ่ง ผู้ดูแลควรทูลขอพระวิญญาณของพระเจ้า และแสดงออกซึ่งผลแห่งพระวิญญาณนั้นรวมทั้งการรู้จักบังคับตน. (ลูกา 11:13; ฆะลาเตีย 5:22, 23) การเหนี่ยวรั้งยับยั้งตัวเองด้านความคิด คำพูดและการกระทำย่อมช่วยผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการกระทำอันเลยขอบเขตขณะที่เขาชี้นำประชาคมทางฝ่ายวิญญาณ.
17. การเป็นคนมีสุขภาพจิตดีหมายรวมถึงอะไร?
17 สุขภาพจิตดี. (1 ติโมเธียว 3:2, ล.ม.) ผู้ปกครองต้องเป็นคนมีเหตุผล สุขุมและคิดการณ์ไกล. เขาควรมีจุดมุ่งหมายและควรมีเหตุผลทั้งในคำพูดและการกระทำ. ความคิดนึกแบบถ่อมใจและใช้ดุลยพินิจก็อาศัยสติปัญญาจากเบื้องบนและคำสอนอันทำให้เกิดปกติสุขจากพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งพระวจนะนั้นเขาควรศึกษาค้นคว้าอย่างขยันหมั่นเพียร.—โรม 12:3; ติโต 2:1.
18. การมีระเบียบเรียกร้องอะไรจากผู้ปกครอง?
18 มีระเบียบ. (1 ติโมเธียว 3:2, ล.ม.) คำภาษากรีกที่ใช้ที่นี่ได้รับการแปล “จัดอย่างดี” ใน 1 ติโมเธียว 2:9. ฉะนั้น ผู้ปกครองควรมีแบบชีวิตอันดี มีระเบียบ. ตัวอย่างเช่น เขาควรเป็นคนตรงต่อเวลา. คริสเตียนในศตวรรษแรกดูเหมือนไม่ได้เน้นมากเกี่ยวกับการเก็บบันทึก และผู้ดูแลสมัยนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบัญชีหรือเสมียนที่ชำนาญงาน. ผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งอาจจะดูแลสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นในด้านนี้. แต่คำกรีกซึ่งได้รับการแปล “มีระเบียบ” อาจบ่งชี้ถึงการประพฤติที่ดี และแน่นอนชายคนใดย่อมขาดคุณสมบัติเป็นผู้ปกครองถ้าเขาไม่รักษาวินัยหรือไม่มีระเบียบ.—1 เธซะโลนิเก 5:14; 2 เธซะโลนิเก 3:6-12; ติโต 1:10.
19. เนื่องจากผู้ปกครองมีน้ำใจต้อนรับแขก ฉะนั้นเขาพึงทำประการใด?
19 มีน้ำใจต้อนรับแขก. (1 ติโมเธียว 3:2; ติโต 1:8, ล.ม.) ผู้ปกครอง ‘แสดงกิริยาต้อนรับแขก.’ (โรม 12:13; เฮ็บราย 13:2) คำกรีกที่ได้รับการแปล “น้ำใจต้อนรับแขก” นั้นเมื่อแปลตามตัวอักษรหมายถึง “ชอบคนแปลกหน้า.” ดังนั้น ผู้ปกครองที่มีน้ำใจต้อนรับแขกจึงยินดีต้อนรับคนใหม่เข้าสู่การประชุมคริสเตียน แสดงความเอาใจใส่ต่อคนยากจนเหมือนกับที่เขาแสดงต่อคนร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติ. เขามีน้ำใจต้อนรับคนเหล่านั้นที่เดินทางเพื่อประโยชน์ของพี่น้องคริสเตียน และรวมทั้งดูแลให้การเดินทางกลับของเขาให้ “สมกับที่พระเจ้าทรงใช้เขา.” (3 โยฮัน 5-8) อันที่จริง ผู้ปกครองแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเพื่อนร่วมความเชื่อตามความจำเป็นของเขาและเท่าที่เขาทำได้.—ยาโกโบ 2:14-17.
20. ผู้ปกครองต้องมีคุณวุฒิจะสั่งสอนในวิธีใดบ้าง?
20 มีคุณวุฒิที่จะสั่งสอน. (1 ติโมเธียว 3:2, ล.ม.) ความสามารถของผู้ปกครองในฐานะผู้สั่งสอนฝ่ายวิญญาณนั้นหาใช่เกิดจากความสามารถพิเศษหรือเพราะมีสติปัญญาในทางโลกไม่. (1 โกรินโธ 2:1-5, 13) เขาได้สติปัญญาอย่างนี้เพราะเขา “ยึดมั่นกับคำสัตย์จริงเกี่ยวด้วยศิลปะ [วิธี] แห่งการสั่งสอนของเขา เพื่อเขาจะสามารถทั้งตักเตือนโดยคำสอนอันทำให้เกิดปกติสุข และว่ากล่าวคนเหล่านั้นซึ่งโต้แย้ง.” (ติโต 1:9, ล.ม.; เทียบกับกิจการ 20:18-21, 26, 27) เขาต้องเป็นผู้ที่สามารถจะ ‘สอนคนที่ไม่ยินดีรับด้วยใจอ่อนสุภาพ.’ (2 ติโมเธียว 2:23-26) ถึงแม้ผู้ปกครองไม่ใช่นักบรรยายที่ดีเป็นเยี่ยมในประชาคม แต่เขาควรเป็นนักศึกษาที่ดีในพระวจนะของพระเจ้าถึงขนาด เขาชำนิชำนาญพอจะสั่งสอนและแนะนำผู้เชื่อถือ ซึ่งศึกษาพระคัมภีร์เหมือนกัน. (2 โกรินโธ 11:6) เขาต้องมีคุณวุฒิจะถ่ายทอด “คำสอนอันทำให้เกิดปกติสุข” ซึ่งช่วยครอบครัวต่าง ๆ และปัจเจกชนให้ดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.—ติโต 2:1-10.
21. (ก) ทำไมจึงกล่าวได้ว่าผู้ปกครองไม่ใช่นักเลงหัวไม้? (ข) การมีเหตุผลหมายถึงอะไร? (ค) ไม่เป็นคนชอบทะเลาะหมายถึงอะไร?
21 ไม่เป็นนักเลงหัวไม้ แต่มีเหตุผล ไม่เป็นคนชอบทะเลาะ. (1 ติโมเธียว 3:3; ติโต 1:7, ล.ม.) การเป็นคนรักสันติ ผู้ปกครองจะไม่ประทุษร้ายร่างกายผู้คน หรือรังแกเขาโดยใช้วาจาด่าประจานหรือที่บาดใจ. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 11:20.) (คำพูดก่อนหน้านี้ที่ว่า เขา “ไม่เป็นนักเลงสุรา” แสดงว่าเขาหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปซึ่งมักจะนำไปสู่การวิวาท.) การมี “เหตุผล” (หรือ “ยินยอม”) ไม่เป็นคนใช้อำนาจและเอาใจยาก เขาไม่ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่. (1 โกรินโธ 9:12; ฟิลิปปอย 4:5; 1 เปโตร 2:18) เนื่องจากผู้ปกครองเป็นคนไม่ชอบทะเลาะหรือก่อให้เกิดการโต้แย้ง เขาหลีกเว้นการเถียงกันและ “ไม่เป็นคนมักทะเลาะวิวาท.”—ติโต 3:2; ยาโกโบ 1:19, 20.
22. ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ปกครองต้องไม่เป็นคนเอาแต่ใจตัวนั้น บ่งชี้ถึงอะไร?
22 ไม่เอาแต่ใจตัว. (ติโต 1:7, ล.ม.) ตามตัวอักษร คำนี้หมายความว่า “ไม่ทำตามใจตัวเอง.” (เทียบกับ 2 เปโตร 2:10.) ผู้ปกครองต้องไม่ดื้อรั้นในความคิดของตัวเอง แต่ควรพิจารณาความสามารถของตัวเองด้วยใจถ่อม. ไม่คิดว่าตัวเองจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีกว่าใคร ๆ เขาถ่อมตนร่วมรับผิดชอบกับคนอื่นและเห็นคุณค่าของการมีที่ปรึกษาหลายคน.—อาฤธโม 11:26-29; สุภาษิต 11:14; โรม 12:3, 16.
23. (ก) คุณจะนิยาม “คนรักความดี” อย่างไร? (ข) การเป็นคนชอบธรรมหมายความอย่างไร?
23 เป็นคนรักความดี; ชอบธรรม. (ติโต 1:8, ล.ม.) ที่จะมีคุณสมบัติเป็นผู้ปกครอง ผู้นั้นต้องรักความดีและเป็นคนชอบธรรม. คนรักความดีจะรักสิ่งดีงามในคลองพระเนตรของพระยะโฮวา แสดงความกรุณาและทำการงานที่อำนวยประโยชน์ และหยั่งรู้ค่าคุณความดีที่คนอื่นกระทำ. (ลูกา 6:35; เทียบกับกิจการ 9:36, 39; 1 ติโมเธียว 5:9, 10.) การเป็นคนชอบธรรมหมายถึงการยอมรับข้อกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ ที่พระเจ้ากำหนดไว้. อีกอย่างหนึ่ง คนเช่นนั้นไม่เลือกหน้าคนและระลึกอยู่เสมอถึงเรื่องความชอบธรรม ความบริสุทธิ์และสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณงามความดี. (ลูกา 1:6; ฟิลิปปอย 4:8, 9; ยาโกโบ 2:1-9) เนื่องจากความดีต่างกันกับความชอบธรรมด้วยเหตุผลที่ว่าความดีไปไกลกว่าที่ความยุติธรรมเรียกร้อง คนรักความดีจึงทำต่อผู้อื่นมากกว่าข้อเรียกร้องที่กำหนดไว้เสียอีก.—มัดธาย 20:4, 13-15; โรม 5:7.
24. การเป็นคนภักดีต้องทำอะไร?
24 ภักดี. (ติโต 1:8, ล.ม.) ผู้ชายที่มีคุณวุฒิเป็นผู้ปกครองมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างไม่เสื่อมสลายและยึดมั่นในกฎหมายของพระเจ้า ไม่ว่าความซื่อสัตย์มั่นคงของตนต้องได้ผ่านการพิสูจน์เพียงใดก็ตาม. เขาทำในสิ่งที่พระยะโฮวาคาดหมายจากเขา ซึ่งก็รวมไปถึงการปฏิบัติรับใช้เป็นผู้ประกาศที่ภักดีแห่งราชอาณาจักร.—มัดธาย 24:14; ลูกา 1:74, 75; กิจการ 5:29; 1 เธซะโลนิเก 2:10.
การบรรลุซึ่งคุณสมบัติประการต่าง ๆ
25. คุณสมบัติประการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อเรียกร้องสำหรับใครและจะบรรลุซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้นโดยวิธีใด?
25 คุณสมบัติประการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องสำหรับพยานทุกคนของพระยะโฮวา และจะบรรลุได้โดยที่พระเจ้าอวยพรการศึกษา ความบากบั่น การคบหาสมาคมที่ดีและการอธิษฐานของคนเรา. คนหนึ่งอาจมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างเด่นกว่าคนอื่น ๆ. แต่ตามระดับที่มีเหตุผลแล้ว ผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งและพวกผู้ปกครองต้องบรรลุข้อเรียกร้องทุกข้อสำหรับสิทธิพิเศษของเขาโดยเฉพาะ.
26. เพราะเหตุใดชายคริสเตียนทำตัวให้พร้อมสำหรับหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ในประชาคม?
26 พยานพระยะโฮวาทุกคนควรปรารถนาจะทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้ในงานรับใช้พระเจ้า. น้ำใจอย่างนี้ย่อมกระตุ้นชายคริสเตียนให้เตรียมตัวพร้อมสำหรับหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม. คุณเป็นผู้ที่ได้อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้วหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้น จงเอื้อมแขนออกไปและพยายามบากบั่นทุกวิถีทางเพื่อมีคุณสมบัติพร้อมจะรับใช้!
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กันยายน 1983 หน้า 25 ใต้หัวข้อย่อย “การหย่าตามหลักพระคัมภีร์.”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมเวลานี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ชายที่รับบัพติสมาแล้วจะพึงยอมรับเอาหน้าที่ในประชาคม?
▫ ผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งพึงบรรลุคุณสมบัติอะไรบ้าง?
▫ ข้อเรียกร้องบางประการอะไรบ้างที่ผู้ปกครองต้องบรรลุถึง?
▫ เหตุใดผู้ปกครองต้องรู้วิธีจะปกครองในครอบครัวของตนเป็นอย่างดี?
▫ อะไรกระตุ้นชายคริสเตียนที่จะทำตัวอยู่พร้อมสำหรับหน้าที่ต่าง ๆ ในประชาคม
[รูปภาพหน้า 24, 25]
ผู้ปกครองและผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งควรปกครองคนในบ้านเรือนของตนตามหลักการต่าง ๆ ในพระคัมภีร์