ความสามารถโน้มน้าวใจ—เป็นเกียรติแก่มนุษย์หรือเป็นพระเกียรติแด่พระเจ้า?
“นักปกครองควรจะเหนือกว่าประชาชนของเขาไม่เพียงแต่ในเรื่องของการเป็นผู้ที่ดีกว่าอย่างแท้จริง แต่เขาควรจะสะกดประชาชนด้วยพลังดึงดูดใจอย่างหนึ่ง” เซโนโฟน นายพลผู้เลื่องชื่อชาวกรีกได้เขียนไว้. ทุกวันนี้ หลายคนคงจะเรียก “พลังดึงดูดใจ” นั้นว่าความสามารถโน้มน้าวใจ.
แน่ละ ไม่ใช่นักปกครองทุกคนมีความสามารถโน้มน้าวใจ. แต่บรรดาผู้มีความสามารถเช่นนั้นก็ใช้ความสามารถของตนปลุกเร้าความศรัทธาขึ้นในหมู่ประชาชน และใช้ความสามารถนั้นควบคุมพวกเขาเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของตัวเอง. บางทีตัวอย่างฉาวโฉ่ที่สุดที่ผ่าน ๆ มาได้แก่ อด็อล์ฟ ฮิตเลอร์. วิลเลียม แอล. ไชเรอร์เขียนในหนังสือของเขาชื่อความรุ่งเรืองและความล่มจมของอาณาจักรไรค์ที่สาม (ภาษาอังกฤษ) ว่า “[ปี 1933] สำหรับชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ฮิตเลอร์มี—หรือกำลังจะมี—ราศีของความเป็นผู้นำที่สามารถโน้มน้าวใจอย่างแท้จริง ประชาชนจะติดตามเขาเยี่ยงคนตาบอด ราวกับว่าเขามีอำนาจตัดสินเยี่ยงพระเจ้า ตลอดสิบสองปีอันวุ่นวายที่ฮิตเลอร์ได้ครองอำนาจ.”
ประวัติศาสตร์ศาสนาก็เช่นกัน เต็มไปด้วยพวกผู้นำที่สามารถโน้มน้าวใจประชาชน ปลุกเร้าผู้คนให้เลื่อมใสศรัทธาตัวผู้นำ แต่แล้วก็นำความหายนะมาสู่สาวกที่ติดตามเขา. พระเยซูทรงเตือนไว้แล้วว่า “ระวังให้ดี อย่าให้ผู้ใดล่อลวงท่านให้หลง. ด้วยจะมีหลายคนมาอ้างนามของเราว่าตัวเขาเป็นพระคริสต์, และจะพาคนเป็นอันมากให้หลงไป.” (มัดธาย 24:4, 5) พระคริสต์ปลอมที่สามารถโน้มน้าวใจไม่ได้ปรากฏเฉพาะสมัยศตวรรษแรกเท่านั้น. ช่วงทศวรรษปี 1970 จิม โจนส์ประกาศตัวว่าเป็น “มาซีฮา แห่งอารามิกชน.” เขาได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น “นักบวชผู้สามารถโน้มน้าวใจ” พร้อมกับมี “อำนาจครอบงำผู้คนอย่างประหลาด” และในปี 1978 เขาได้ปลุกเร้าผู้คนให้ทำอัตวินิบาตกรรมหมู่ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์.a
เห็นได้ชัดว่า ความสามารถโน้มน้าวใจอาจเป็นพรสวรรค์ที่เป็นอันตรายได้. อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพรสวรรค์หรือของประทานจากพระเจ้าในลักษณะที่ต่างกันซึ่งมีพร้อมสำหรับทุกคนเพื่อประโยชน์ของคนทั้งปวง. คำภาษากรีกสำหรับคำของประทานนี้คือ คาʹริสมา และปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล 17 ครั้ง. ผู้เชี่ยวชาญภาษากรีกนิยามคำนี้ว่า ‘ของประทานที่ได้เปล่า ๆ และได้รับทั้ง ๆ ที่ไม่พึงจะได้ เป็นของประทานแก่มนุษย์ซึ่งไม่ใช่ค่าจ้าง อีกทั้งไม่สมควรจะได้ เป็นของประทานโดยพระกรุณาคุณของพระเจ้า และโดยความบากบั่นของมนุษย์เองไม่อาจบรรลุหรือมีสิทธิ์ครอบครองสิ่งนั้น.’
ดังนั้น เมื่อมองจากแง่มุมของพระคัมภีร์ คาʹริสมา หมายถึง ของประทานที่ได้รับโดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระเจ้า. ของประทานเหล่านี้ที่พระเจ้าทรงกรุณาประทานแก่เรามีอะไรบ้าง? และเราจะใช้ของประทานเหล่านี้อย่างไรเพื่อนำคำสรรเสริญมาสู่พระองค์? ให้เราพิจารณาของประทานอันเนื่องด้วยพระกรุณาคุณสักสามอย่าง.
ชีวิตนิรันดร์
ของประทานที่วิเศษยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้นคือของประทานเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์. เปาโลเขียนถึงประชาคมในกรุงโรมดังนี้: “ค่าจ้างที่บาปจ่ายคือความตาย แต่ของประทาน [คาʹริสมา] ที่พระเจ้าโปรดให้นั้นคือชีวิตนิรันดรโดยพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 6:23, ล.ม.) พึงสังเกตว่า “ค่าจ้าง” (ความตาย) เป็นสิ่งที่เราได้รับเสมือนเป็นค่าตอบแทน แม้ไม่เต็มใจรับ ทั้งนี้เนื่องจากบาปที่มีอยู่ในตัวเรา. ในอีกด้านหนึ่ง ชีวิตนิรันดร์ซึ่งพระเจ้าทรงจัดไว้ให้เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับโดยสิ้นเชิง ซึ่งเราไม่มีทางจะได้มาเสมือนเป็นค่าตอบแทนคุณความดีของตัวเราเอง.
ของประทานอันเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ควรได้รับการทะนุถนอมและแบ่งปัน. เราสามารถช่วยผู้คนให้มารู้จักพระยะโฮวา, รับใช้พระองค์, และด้วยเหตุนี้จึงได้ความโปรดปรานพร้อมกับของประทานเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์. วิวรณ์ 22:17 (ล.ม.) บอกดังนี้: “พระวิญญาณและเจ้าสาวกล่าวไม่หยุดว่า ‘มาเถิด!’ และให้คนใด ๆ ที่ได้ยินกล่าวว่า ‘มาเถิด!’ และให้คนใด ๆ ที่กระหายมาเถิด; ให้คนใด ๆ ที่ปรารถนามารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.”
เราจะนำคนอื่นมาถึงน้ำที่ให้ชีวิตได้อย่างไร? ประการสำคัญ โดยใช้คัมภีร์ไบเบิลอย่างมีประสิทธิภาพในงานเผยแพร่. เป็นความจริง ในบางส่วนของโลกผู้คนแทบไม่ได้อ่านหรือคิดถึงสิ่งฝ่ายวิญญาณ; กระนั้น มีโอกาสเสมอที่จะ ‘ปลุกบางคนที่หู.’ (ยะซายา 50:4) ในเรื่องนี้ เราสามารถมั่นใจในพลังกระตุ้นของคัมภีร์ไบเบิลได้ “เพราะพระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง.” (เฮ็บราย 4:12) ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญาที่ใช้ได้ผลแห่งคัมภีร์ไบเบิล, การปลอบประโลมและความหวังที่คัมภีร์ไบเบิลเสนอ, หรืออรรถาธิบายในเรื่องจุดมุ่งหมายของชีวิต, พระคำของพระเจ้าสามารถก่อความประทับใจและชักนำผู้คนให้เริ่มเดินบนเส้นทางสู่ชีวิต.—2 ติโมเธียว 3:16, 17.
นอกจากนั้น สรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักจะส่งเสริมให้เรากล่าวคำ “มาเถิด!” ได้เช่นกัน. ผู้พยากรณ์ยะซายาได้ทำนายไว้ว่า ในช่วงที่เกิดความมืดฝ่ายวิญญาณ “พระยะโฮวาจะส่องแสงให้” ไพร่พลของพระองค์. (ยะซายา 60:2) สรรพหนังสือของสมาคมว็อชเทาเวอร์สะท้อนพระพรดังกล่าวจากพระยะโฮวา และทุกปีสิ่งพิมพ์เหล่านั้นนำผู้คนนับหมื่นเข้ามาหาพระยะโฮวา ผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งความสว่างฝ่ายวิญญาณ. ทุกหน้าของสรรพหนังสือเหล่านั้นไม่ได้ยกย่องคนใดโดยเฉพาะ. ดังคำนำของวารสาร หอสังเกตการณ์ ชี้แจง “วัตถุประสงค์ของหอสังเกตการณ์ คือเทิดทูนพระยะโฮวาพระเจ้าฐานะเป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. . . . ส่งเสริมความศรัทธาในองค์กษัตริย์เยซูคริสต์ ซึ่งบัดนี้ทรงครอบครองอยู่ ผู้ได้หลั่งโลหิตของพระองค์เพื่อเปิดโอกาสให้มนุษยชาติได้รับชีวิตนิรันดร.”
คริสเตียนผู้เผยแพร่เต็มเวลาคนหนึ่ง ซึ่งตลอดหลายปีประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในงานรับใช้ ได้แสดงความเห็นในเรื่องคุณค่าของวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ในการช่วยผู้คนหันเข้าหาพระเจ้าดังนี้: “เมื่อคนที่ศึกษาพระคัมภีร์กับดิฉันเริ่มอ่านและติดใจวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! พวกเขาก้าวหน้าเร็ว. ดิฉันเห็นว่า วารสารเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าเหลือประมาณในการช่วยผู้คนมารู้จักพระยะโฮวา.”
สิทธิพิเศษต่าง ๆ ในงานรับใช้
ติโมเธียวเป็นสาวกคริสเตียนผู้ซึ่งได้รับของประทานอีกลักษณะหนึ่งที่ควรแก่การเอาใจใส่เป็นพิเศษ. อัครสาวกเปาโลบอกท่านว่า “อย่าเพิกเฉยต่อของประทาน [คาʹริสมา] ในตัวท่านซึ่งประทานแก่ท่านโดยคำพยากรณ์และเมื่อคณะผู้เฒ่าผู้แก่ได้วางมือของเขาบนท่าน.” (1 ติโมเธียว 4:14, ล.ม.) ของประทานนี้ได้แก่อะไร? นั่นเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งติโมเธียวเป็นผู้ดูแลเดินทาง สิทธิพิเศษในการรับใช้ซึ่งท่านต้องเอาใจใส่ด้วยสำนึกถึงความรับผิดชอบ. ในข้อความเดียวกันที่ยกมานั้น เปาโลได้กระตุ้นเตือนติโมเธียวดังนี้: “จงเอาใจใส่ในการอ่านต่อสาธารณชน, ในการกระตุ้นเตือน, ในการสั่งสอน. จงเอาใจใส่ตัวท่านและการสอนของท่านอยู่เสมอ. จงจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้ เพราะด้วยการกระทำอย่างนี้ท่านจะช่วยตัวเองและคนที่ฟังท่านให้รอด.”—1 ติโมเธียว 4:13, 16, ล.ม.
ผู้ปกครองทุกวันนี้ก็เช่นกัน จำเป็นต้องทะนุถนอมสิทธิพิเศษของตนในงานรับใช้. ดังที่เปาโลชี้แจง วิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำเช่นนี้ได้โดย ‘เอาใจใส่การสอนของตน.’ แทนที่จะเลียนแบบพวกผู้นำชาวโลกที่สามารถโน้มน้าวใจ พวกเขามุ่งความสนใจไปที่พระเจ้า ไม่ได้มุ่งที่ตัวเอง. พระเยซูผู้ทรงเป็นแบบอย่างของเขา เป็นครูสอนที่โดดเด่น ซึ่งมีบุคลิกภาพน่าดึงดูดใจอย่างไม่ต้องสงสัย กระนั้น ด้วยพระทัยถ่อม พระองค์ถวายเกียรติยศแด่พระบิดา. พระองค์แถลงดังนี้: “สิ่งที่เราสั่งสอนนั้นไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระองค์ที่ทรงใช้เรามา.”—โยฮัน 5:41; 7:16, ล.ม.
พระเยซูถวายเกียรติยศแด่พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ โดยการใช้พระคำของพระเจ้าเป็นหลักฐานอ้างอิงในการสั่งสอนของพระองค์. (มัดธาย 19:4-6; 22:31, 32, 37-40) เปาโลก็เช่นเดียวกันได้เน้นความจำเป็นที่ผู้ดูแลพึง “ยึดมั่นกับคำสัตย์จริงเกี่ยวด้วยศิลปะแห่งการสั่งสอนของเขา.” (ติโต 1:9) โดยอาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักอย่างเหนียวแน่นในคำบรรยายของเขา ที่แท้แล้ว ผู้ปกครองย่อมจะพูดเหมือนที่พระเยซูตรัสดังนี้: “สิ่งที่เรากล่าวแก่เจ้าทั้งหลายนั้น เรามิได้กล่าวจากตัวเราเอง.”—โยฮัน 14:10, ล.ม.
พวกผู้ปกครองจะ “ยึดมั่นกับคำสัตย์จริง” ได้อย่างไร? เขาทำได้โดยให้คำบรรยายและส่วนที่รับมอบหมายนั้นรวมจุดอยู่ที่พระคำของพระเจ้า โดยอธิบายและเน้นจุดสำคัญของข้อคัมภีร์ที่เขาใช้. การยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่เร้าใจหรือเรื่องที่สนุกขบขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามากเกินไป อาจเบนความสนใจไปจากพระคำของพระเจ้า และดึงดูดความสนใจเข้าสู่ความสามารถเฉพาะตัวของผู้บรรยาย. ในทางตรงข้าม ข้อต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นสิ่งที่จะเข้าถึงหัวใจและก่อแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุม. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-9; 119:40; เทียบกับลูกา 24:32.) การบรรยายดังกล่าวย่อมนำความสนใจสู่มนุษย์น้อยลง แต่ถวายเกียรติยศแด่พระเจ้ามากขึ้น.
อีกทางหนึ่งที่ผู้ปกครองจะเป็นผู้สอนที่บังเกิดผลได้มากยิ่งขึ้นคือ โดยเรียนรู้จากกันและกัน. เปาโลเคยช่วยติโมเธียวมาแล้วฉันใด ผู้ปกครองสามารถช่วยซึ่งกันและกันได้ฉันนั้น. “เหล็กลับเหล็กให้คมได้ฉันใด, คนเราก็ลับเพื่อนของเราให้เฉียบแหลมขึ้นได้ฉันนั้น.” (สุภาษิต 27:17; ฟิลิปปอย 2:3) ผู้ปกครองได้รับประโยชน์จากการแบ่งปันแนวคิดและข้อเสนอแนะต่อกันและกัน. ผู้ปกครองคนหนึ่งที่เพิ่งรับการแต่งตั้งไม่นานมานี้ชี้แจงว่า “ผู้ปกครองที่มีประสบการณ์ได้ใช้เวลาอธิบายให้ผมเข้าใจวิธีเตรียมคำบรรยายสาธารณะ. เมื่อเขาเตรียมคำบรรยาย เขาได้รวมเอาคำถามที่ชวนให้คิด, อุทาหรณ์, ตัวอย่างประกอบ, หรือประสบการณ์สั้น ๆ รวมทั้งข้อคัมภีร์ซึ่งเขาได้ค้นคว้าอย่างถี่ถ้วน. ผมได้เรียนจากเขาถึงวิธีเพิ่มความหลากหลายให้กับเรื่องเพื่อเลี่ยงการบรรยายอย่างจืดชืด น่าเบื่อหน่าย.”
พวกเราทุกคนที่ชื่นชมกับสิทธิพิเศษในงานรับใช้ ไม่ว่าเราเป็นผู้ปกครอง, ผู้ช่วยงานรับใช้, หรือไพโอเนียร์ จำต้องทะนุถนอมของประทานที่เราได้รับ. ไม่นานก่อนเปาโลสิ้นชีวิต ท่านได้เตือนติโมเธียว “ให้เป่าคุณธรรม [คาʹริสมา] ของพระเจ้าที่มีอยู่ในท่าน” ซึ่งในกรณีของติโมเธียวหมายรวมถึงของประทานพิเศษแห่งพระวิญญาณ. (2 ติโมเธียว 1:6) ในบ้านของชาวยิศราเอล ไฟมักจะหมายถึงแต่เพียงถ่านที่ยังไม่มอด. จึงเป็นไปได้ที่จะ ‘เป่าไฟให้ลุก’ เพื่อเกิดเป็นเปลวไฟและทวีความร้อน. ด้วยเหตุนี้ เราได้รับการสนับสนุนให้ใส่ใจและทุ่มเทกำลังของเราในหน้าที่มอบหมาย ปลุกเร้าของประทานฝ่ายวิญญาณใด ๆ ก็ตามที่เราได้รับ ประหนึ่งเป่าไฟให้ลุกโพลง.
ของประทานฝ่ายวิญญาณที่แบ่งปันกัน
ความรักของเปาโลต่อบรรดาพี่น้องในกรุงโรมนั้นกระตุ้นท่านให้เขียนถึงเขาว่า “ด้วยว่าข้าพเจ้าปรารถนาจะเห็นหน้าท่านทั้งหลาย, หมายจะให้ของประทานฝ่ายวิญญาณจิตต์ [คาʹริสมา] แก่ท่านบ้าง, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ดำรงมั่นคงอยู่, คือเพื่อข้าพเจ้ากับท่านทั้งหลายจะได้หนุนใจซึ่งกันและกันโดยความเชื่อของเราทั้งสองฝ่าย.” (โรม 1:11, 12) เปาโลถือว่าความสามารถของเราที่จะเสริมความเชื่อของผู้อื่นให้เข้มแข็งได้โดยที่เราพูดกับเขานั้นเป็นของประทานฝ่ายวิญญาณ. การที่ต่างคนต่างให้ของประทานฝ่ายวิญญาณดังกล่าวจะยังผลคือการค้ำจุนความเชื่อและการชูกำลังใจซึ่งกันและกัน.
และนี่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างแน่นอน. ในระบบชั่วนี้ที่พวกเรากำลังมีชีวิตอยู่ เราทุกคนเผชิญความกดดันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. แต่การที่ต่างฝ่ายต่างหนุนกำลังใจกันเป็นประจำย่อมช่วยให้เรายืนหยัดไม่ท้อถอย. การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน—คือทั้งการให้และการรับ—มีความสำคัญต่อการคงไว้ซึ่งความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. จริงอยู่ เราทุกคนต้องการกำลังใจเป็นครั้งคราว แต่เราทุกคนก็สามารถเสริมสร้างกันและกันได้เช่นเดียวกัน.
หากเราตื่นตัวสังเกตเพื่อนร่วมความเชื่อซึ่งหดหู่เศร้าหมอง เราอาจจะ “สามารถปลอบโยนคนเหล่านั้นซึ่งประสบความทุกข์ยากอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยคำปลอบโยนซึ่งเราเองได้รับการปลอบโยนจากพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 1:3-5, ล.ม.) คำภาษากรีกที่ให้ความหมายว่าการปลอบโยน (พาราʹคเลซิส) ตามตัวอักษรหมายถึง “การเรียกให้มาอยู่ข้าง ๆ.” ถ้ายามใดเกิดความจำเป็น เราจะอยู่เคียงข้างพร้อมยื่นมือช่วยเหลือพี่น้องชายหญิงของเรา ไม่ต้องสงสัย เราเองก็จะได้รับการเกื้อหนุนอย่างรักใคร่เช่นกันเมื่อเรามีความจำเป็น.—ท่านผู้ประกาศ 4:9, 10; เทียบกับกิจการ 9:36-41.
อนึ่ง การเยี่ยมเพื่อบำรุงเลี้ยงด้วยความรักของพวกผู้ปกครองนั้นเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงเช่นกัน. ถึงแม้บางครั้งเป็นการเยี่ยมเพื่อให้คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ในเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ แต่การเยี่ยมเพื่อบำรุงเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นโอกาสที่จะหนุนกำลังใจ ‘เป็นการประโลมใจ.’ (โกโลซาย 2:2, ล.ม.) เมื่อผู้ดูแลไปเยี่ยมเพื่อเสริมความเชื่อให้มั่นคงเช่นนี้ โดยแท้แล้ว เขาได้ถ่ายทอดของประทานฝ่ายวิญญาณ. เช่นเดียวกับเปาโล พวกเขาจะประสบว่า รูปแบบการให้อย่างไม่มีใดเหมือนนี้มีผลตอบแทน และพวกเขาจะพัฒนาความปรารถนาจะ “เห็นหน้า” พวกพี่น้องของเขา.—โรม 1:11.
ข้อนี้เป็นความจริงในกรณีผู้ปกครองคนหนึ่งที่ประเทศสเปน ซึ่งได้เล่าประสบการณ์ต่อไปนี้: “ริคาร์โด เด็กชายวัย 11 ขวบซึ่งดูเหมือนไม่สู้จะสนใจการประชุมต่าง ๆ มากเท่าไร และรวมทั้งเรื่องทั่ว ๆ ไปของประชาคม. ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตบิดามารดาของริคาร์โดให้ผมไปเยี่ยมลูกชายของเขา ซึ่งเขาก็ตกลงอย่างไม่ลังเล. เขาอาศัยอยู่แถบเทือกเขา ขับรถจากบ้านผมไปประมาณหนึ่งชั่วโมง. ริคาร์โดดีใจอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเห็นว่าผมสนใจเขา และเขาตอบสนองทันที. ในไม่ช้า เขาก็เป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา และเป็นสมาชิกที่เอาการเอางานคนหนึ่งของประชาคม. บุคลิกภาพที่ยิ้มแย้มเป็นมิตรมากขึ้นได้เข้ามาแทนนิสัยเก็บตัว. หลายคนในประชาคมออกปากถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับริคาร์โด?’ ดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นได้สังเกตริคาร์โดเป็นครั้งแรก. เมื่อใคร่ครวญเรื่องการเยี่ยมเพื่อบำรุงเลี้ยงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งนั้น ผมรู้สึกว่าผมได้มากกว่าริคาร์โดเสียอีก. เมื่อเขาเข้ามาในหอประชุม สีหน้าของเขาเบิกบาน และเขารีบมาทักทายผม. เป็นความปีติยินดีเมื่อเห็นเขาก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.”
การเยี่ยมเพื่อบำรุงเลี้ยงอย่างในกรณีนี้ได้รับพระพรมากมายอย่างไม่ต้องสงสัย. การเยี่ยมดังกล่าวสอดคล้องกับคำขอร้องของพระเยซูที่ว่า “จงเลี้ยงแกะเล็ก ๆ ของเราเถิด.” (โยฮัน 21:16, ล.ม.) จริงอยู่ ไม่เฉพาะแต่พวกผู้ปกครองเท่านั้นที่จะถ่ายทอดของประทานฝ่ายวิญญาณให้แก่ผู้อื่น. ทุกคนในประชาคมสามารถเร้าใจซึ่งกันและกันให้รักและทำการงานที่ดี. (เฮ็บราย 10:23, 24) นักไต่เขาได้เอาเชือกผูกติดกันเมื่อปีนเขาฉันใด พวกเราก็ร่วมสมานฉันท์ด้วยข้อผูกพันฝ่ายวิญญาณฉันนั้น. สิ่งที่เราพูดหรือทำมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไม่อาจเลี่ยงได้. คำพูดเจ็บแสบหรือการตำหนิวิจารณ์อย่างไม่ปรานีอาจทำให้ข้อผูกพันที่เชื่อมความสามัคคีของเราอ่อนแอลงได้. (เอเฟโซ 4:29; ยาโกโบ 3:8) ในทางกลับกัน การเลือกใช้ถ้อยคำที่ให้กำลังใจและการช่วยเหลือด้วยความรักจะช่วยพี่น้องของเราฟันฝ่าอุปสรรคไปได้. โดยวิธีนี้เราจะเป็นผู้ถ่ายทอดของประทานฝ่ายวิญญาณอันมีค่ายั่งยืนแก่ผู้อื่น.—สุภาษิต 12:25.
สะท้อนพระเกียรติของพระเจ้าเต็มที่ยิ่งขึ้น
เป็นที่กระจ่างชัดว่า คริสเตียนทุกคนมีความสามารถโน้มน้าวใจอยู่ในระดับหนึ่ง. พวกเราได้รับความหวังอันวิเศษสุดเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์. นอกจากนี้ เรายังมีของประทานฝ่ายวิญญาณซึ่งเราสามารถถ่ายทอดให้กันและกันได้ด้วย. และเราสามารถบากบั่นก่อแรงบันดาลใจหรือกระตุ้นคนอื่นไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องได้. บางคนมีของประทานเพิ่มเข้ามาในรูปของสิทธิพิเศษแห่งงานรับใช้. ของประทานเหล่านี้ทั้งหมดเป็นข้อพิสูจน์ถึงพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า. และเนื่องจากของประทานใด ๆ ที่เราอาจได้มานั้นเป็นสิ่งที่เราได้รับจากพระเจ้า เป็นที่แน่นอนว่าเราไม่มีเหตุผลจะโอ้อวด.—1 โกรินโธ 4:7.
ในฐานะคริสเตียน เป็นการดีที่เราจะถามตัวเองว่า ‘ฉันจะใช้ความสามารถโน้มน้าวใจในระดับที่ฉันมีอยู่ไหมเพื่อนำพระเกียรติมาสู่พระยะโฮวา ผู้ทรงให้ “ของประทานอันดีทุกอย่าง และของประทานอันสมบูรณ์ทุกอย่าง”? (ยาโกโบ 1:17, ล.ม.) ฉันจะเลียนแบบพระเยซูและรับใช้ผู้อื่นตามความสามารถและสภาพแวดล้อมของฉันไหม?’
อัครสาวกเปโตรสรุปความรับผิดชอบต่าง ๆ ของเราในเรื่องนี้ว่า “ตามส่วนที่แต่ละคนได้รับของประทาน [คาʹริสมา] จงใช้ของประทานนั้นในการรับใช้กันและกันในฐานะเป็นคนต้นเรือนที่ดีแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่แสดงออกในวิธีต่าง ๆ. ถ้าคนใดพูด ก็ให้เขาพูดเสมือนว่าเป็นคำแถลงอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ถ้าคนใดรับใช้ก็ให้เขารับใช้เสมือนพึ่งอาศัยในกำลังซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้; เพื่อพระเจ้าจะได้รับการสรรเสริญในทุกสิ่งโดยทางพระเยซูคริสต์.”—1 เปโตร 4:10, 11, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ยอดผู้เสียชีวิตครั้งนั้นรวมทั้งจิม โจนส์เองด้วย 913 คน.
[ที่มาของภาพหน้า 23]
Corbis-Bettmann
UPI/Corbis-Bettmann