บทความศึกษา 43
อย่ายอมแพ้!
“ขอให้เราอย่าเลิกทำดี”—กท. 6:9
เพลง 68 หว่านเมล็ดของรัฐบาลพระเจ้า
ใจความสำคัญa
1. ทำไมเราถึงภูมิใจและมีความสุขที่ได้เป็นพยานพระยะโฮวา?
เรามีความสุขและภูมิใจมากที่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาและใช้ชื่อของพระองค์ เราพิสูจน์ว่าเราเป็นพยานของพระองค์โดยไปประกาศและสอนคนให้เป็นสาวก เรามีความสุขมากที่ได้ช่วยคน “ที่เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไป” เข้ามาเป็นสาวก (กจ. 13:48) หลังจากที่สาวกของพระเยซูกลับมาเล่าประสบการณ์ดี ๆ จากการประกาศให้พระเยซูฟัง “พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าทำให้พระเยซูมีความสุขมาก” ในทุกวันนี้เราก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน—ลก. 10:1, 17, 21
2. เราจะทำยังไงที่แสดงว่างานประกาศเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา?
2 เราถือว่าการประกาศเป็นงานที่สำคัญมาก อัครสาวกเปาโลบอกทิโมธีว่า “เอาใจใส่ตัวคุณและการสอนของคุณให้ดี . . . เพราะถ้าทำอย่างนั้น คุณจะช่วยทั้งตัวเองและคนที่ฟังคุณให้รอด” (1 ทธ. 4:16) การประกาศเป็นงานที่ช่วยชีวิต เราต้อง ‘เอาใจใส่ตัวเรา’ เพราะเราเป็นคนของรัฐบาลพระเจ้า เราอยากจะใช้ชีวิตอย่างที่เราสอนคนอื่นและในแบบที่ทำให้พระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญ (ฟป. 1:27) และเราทำให้เห็นว่าเรา ‘เอาใจใส่การสอนของเรา’ โดยเตรียมตัวอย่างดีและขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาก่อนที่เราไปประกาศ
3. เวลาเราประกาศ ทุกคนจะสนใจไหม? ขอยกตัวอย่าง
3 ถึงเราจะพยายามประกาศอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผู้คนก็อาจจะไม่ฟังหรือไม่สนใจสิ่งที่เราพูด ขอลองดูประสบการณ์ของพี่น้องเกออร์ก ลินดัล เขาประกาศที่ประเทศไอซ์แลนด์คนเดียวตั้งแต่ปี 1929 จนถึงปี 1947 เขาแจกวารสารหลายหมื่นเล่มแต่ก็ยังไม่มีใครเข้ามาเป็นพยานฯเลย เขาบอกว่า “คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจความจริง และบางคนก็ถึงกับต่อต้านเลยด้วยซ้ำ” ถึงจะมีมิชชันนารีที่จบจากกิเลียดไปช่วยที่นั่น แต่ก็ต้องรอนานถึง 9 ปีกว่าจะมีคนไอซ์แลนด์อุทิศตัวให้พระยะโฮวาและรับบัพติศมาb
4. เราอาจรู้สึกยังไงเวลาไม่มีคนสนใจความจริง?
4 ตอนที่เราไปประกาศแล้วไม่มีคนสนใจหรือมีนักศึกษาที่ไม่ก้าวหน้า เราอาจจะรู้สึกผิดหวัง เราคงรู้สึกคล้าย ๆ กันกับเปาโลตอนที่ชาวยิวส่วนใหญ่ไม่ยอมรับพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ เขาบอกว่า “ผมเศร้าจริง ๆ และปวดร้าวใจไม่หาย” (รม. 9:1-3) คุณมีนักศึกษาที่คุณพยายามเต็มที่เพื่อช่วยเขา อธิษฐานเพื่อเขา แต่ก็ไม่ก้าวหน้าสักทีจนคุณต้องเลิกศึกษากับเขาไหม? คุณคิดว่าคุณไม่เคยช่วยใครให้ก้าวหน้าจนถึงขั้นรับบัพติศมาไหม? ถูกไหมถ้าคุณจะรู้สึกผิดและคิดว่าพระยะโฮวาไม่อวยพรงานรับใช้ของคุณ? ในบทความนี้เราจะมาดู 2 คำถามด้วยกัน (1) แบบไหนถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในงานรับใช้? (2) เราควรมีมุมมองยังไงเกี่ยวกับงานรับใช้?
แบบไหนถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในงานรับใช้?
5. ทำไมสิ่งที่เราทำเพื่อพระยะโฮวาอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด?
5 คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงคนที่ทำตามความต้องการของพระเจ้าว่า “ไม่ว่าเขาทำอะไรก็จะสำเร็จ” (สด. 1:3) แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เราทำเพื่อพระยะโฮวาจะเป็นไปอย่างที่เราคิดเสมอ เพราะทั้งเราและคนอื่นเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ ชีวิตเราเลย “มีแต่ความลำบาก” (โยบ 14:1) นอกจากนั้น บางครั้งคนที่ต่อต้านเราอาจทำให้เราไม่ได้รับใช้อย่างที่อยากทำ (1 คร. 16:9; 1 ธส. 2:18) ถ้าอย่างนั้น สำหรับพระยะโฮวาแล้วแบบไหนถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในงานรับใช้? ให้เรามาดูคำตอบจากหลักการในคัมภีร์ไบเบิลด้วยกัน
6. สำหรับพระยะโฮวา แบบไหนถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในงานรับใช้?
6 พระยะโฮวาดูที่ความพยายามและความอดทนของเรา ถ้าเราทำงานรับใช้อย่างขยันขันแข็งและทำเพราะเรารักพระยะโฮวา ไม่ว่าคนจะฟังเราหรือไม่ก็ตาม พระองค์ก็มองว่าเราประสบความสำเร็จในงานรับใช้แล้ว เปาโลบอกว่า “พระเจ้าไม่ทำสิ่งที่ชั่ว พระองค์จึงไม่มีวันลืมงานที่พวกคุณทำและความรักที่พวกคุณมีต่อชื่อของพระองค์ คือที่พวกคุณรับใช้พวกผู้บริสุทธิ์และยังคงรับใช้อยู่” (ฮบ. 6:10) ถึงเราจะไม่เคยมีนักศึกษาที่ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา พระยะโฮวาก็ไม่ลืมความพยายามและความรักที่เรามีต่อพระองค์ ไม่ว่างานที่คุณทำเพื่อพระยะโฮวาจะออกมาอย่างที่คุณคิดหรือไม่ ขอให้คุณจำสิ่งที่เปาโลบอกกับพี่น้องในเมืองโครินธ์ว่า “งานหนักที่พวกคุณทำให้กับผู้เป็นนายนั้นจะไม่เสียเปล่าแน่นอน”—1 คร. 15:58
7. เราเรียนอะไรได้จากสิ่งที่เปาโลพูดเกี่ยวกับงานรับใช้ของเขา?
7 อัครสาวกเปาโลเป็นมิชชันนารีที่รับใช้เก่งมาก เขาตั้งประชาคมในหลาย ๆ เมือง แต่พอมีคนมาว่าเขาว่าเป็นคนที่สอนไม่เก่ง เปาโลไม่ได้อวดว่าเขาได้ช่วยกี่คนให้เข้ามาเป็นคริสเตียน แต่เขาบอกว่า “ผมทำงานมากกว่า” คนพวกนั้นอีก (2 คร. 11:23) จากตัวอย่างของเปาโล เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่พระยะโฮวาเห็นค่ามากที่สุดก็คือความพยายามและความอดทนของเรา
8. เราต้องจำอะไรไว้เกี่ยวกับงานรับใช้ของเรา?
8 งานรับใช้ของเราทำให้พระยะโฮวาพอใจ พระเยซูส่งสาวก 70 คนออกไปประกาศ พอประกาศเสร็จ พวกเขาก็ “กลับมาด้วยความดีใจ” ทำไมพวกสาวกถึงดีใจ? พวกเขาบอกว่า “พอเราอ้างชื่อท่าน แม้แต่ปีศาจก็ยังอยู่ใต้อำนาจเราเลย” แต่พระเยซูไม่ได้อยากให้พวกเขาคิดแบบนั้น ท่านบอกว่า “อย่าดีใจที่ปีศาจอยู่ใต้อำนาจพวกคุณ แต่ให้ดีใจที่ชื่อของพวกคุณจดไว้แล้วในสวรรค์” (ลก. 10:17-20) พระเยซูรู้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เจอประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้ทุกครั้ง และจริง ๆ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าคนที่ฟังพวกเขาในตอนนั้นในที่สุดแล้วมีกี่คนที่เข้ามาเป็นคริสเตียน พวกสาวกต้องเข้าใจว่าความสุขของพวกเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลงาน แต่ขึ้นอยู่กับการที่พระยะโฮวาพอใจในความพยายามของพวกเขา
9. จากกาลาเทีย 6:7-9 ผลจะเป็นยังไงถ้าเรารับใช้ต่อ ๆ ไปด้วยความอดทน?
9 ถ้าเรารับใช้ต่อ ๆ ไปด้วยความอดทน เราจะได้ชีวิตตลอดไป เมื่อเราประกาศและสอนอย่างเต็มที่ เราก็กำลังหว่านเมล็ดของความจริง และเราก็กำลัง “หว่านตามที่พลังของพระเจ้าชี้นำ” ด้วยเพราะเรากำลังทำตามการชี้นำของพลังบริสุทธิ์ ถ้าเรา “ไม่ท้อ” และไม่ “เลิกทำดี” พระยะโฮวารับรองว่าเราจะ “เก็บเกี่ยวชีวิตตลอดไป” ไม่ว่าเราจะเคยช่วยใครให้อุทิศตัวและรับบัพติศมาหรือเปล่า—อ่านกาลาเทีย 6:7-9
เราควรมีมุมมองยังไงเกี่ยวกับงานรับใช้?
10. คนจะฟังความจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับอะไร?
10 คนจะฟังความจริงหรือไม่ส่วนใหญ่แล้วก็ขึ้นอยู่กับหัวใจของเขา พระเยซูพูดถึงตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนที่หว่านเมล็ดลงในดินแต่ละชนิด และมีแค่ดินชนิดเดียวที่ทำให้เกิดผลดี (ลก. 8:5-8) พระเยซูอธิบายว่าดินแต่ละชนิดก็เหมือนกับหัวใจของผู้คนที่ตอบรับ “คำสอนของพระเจ้า” ไม่เหมือนกัน (ลก. 8:11-15) เราก็เหมือนกับคนหว่านเมล็ดในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ เราบังคับใครให้ฟังข่าวดีไม่ได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับหัวใจของเขา หน้าที่ของเราก็คือเราต้องประกาศต่อ ๆ ไป เปาโลบอกว่า “แต่ละคนจะได้รับรางวัลตามงานที่เขาทำ” ไม่ใช่ตามผลงานของเขา—1 คร. 3:8
11. ทำไมโนอาห์ถึงเป็นผู้ประกาศที่ประสบความสำเร็จ? (ดูภาพหน้าปก)
11 มีผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนในอดีตที่ประกาศแต่ก็ไม่มีคนฟังเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น โนอาห์เป็น “ผู้ประกาศแนวทางที่ถูกต้อง” เขาประกาศ 40-50 ปีแต่ก็ไม่มีใครฟัง (2 ปต. 2:5) โนอาห์คงหวังว่าจะมีคนฟังเขาบ้างแต่พระยะโฮวาไม่ได้บอกอย่างนั้น ตอนที่พระองค์สั่งให้โนอาห์สร้างเรือ พระองค์กลับบอกว่า “ให้เจ้าเข้าไปในเรือพร้อมกับภรรยา ลูกชาย และลูกสะใภ้” (ปฐก. 6:18) และพอคิดถึงขนาดของเรือที่พระเจ้าบอกให้เขาสร้าง เขาก็คงพอเดาได้ว่าคงไม่ค่อยมีใครฟังเขาหรอก แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไม่มีใครฟังเขาเลย (ปฐก. 6:15; 7:7) พระยะโฮวามองว่าโนอาห์ไม่ประสบความสำเร็จไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ในสายตาของพระองค์ โนอาห์เป็นผู้ประกาศที่ประสบความสำเร็จเพราะเขาทำตามที่พระองค์สั่งทุกอย่าง—ปฐก. 6:22
12. เยเรมีย์มีความสุขกับงานรับใช้ได้ยังไงทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครสนใจและถึงกับถูกต่อต้าน?
12 เยเรมีย์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประกาศเป็นเวลามากกว่า 40 ปีแต่ก็ไม่มีคนฟัง แถมยังมีคนต่อต้านเขาด้วย เขาท้อใจมากเพราะ “ถูกดูหมิ่นและถูกเยาะเย้ย” จนคิดว่าอยากจะเลิกทำงานรับใช้ไปเลย (ยรม. 20:8, 9) แต่เยเรมีย์ไม่ยอมแพ้ อะไรช่วยให้เขากลับมาคิดบวกและมีความสุขกับงานรับใช้ได้? เขาคิดถึง 2 อย่าง อย่างแรก เรื่องที่พระเจ้าบอกให้เขาประกาศจะช่วยให้ผู้คน “มีอนาคตที่ดีและมีความหวัง” (ยรม. 29:11) อย่างที่สอง เยเรมีย์ถูกเรียกตามชื่อของพระยะโฮวา พระองค์ใช้เขาให้พูดแทนพระองค์ (ยรม. 15:16) พวกเราก็เหมือนกันกับเยเรมีย์ เรื่องที่เราประกาศช่วยให้คนมีความหวังและเราก็ใช้ชื่อของพระยะโฮวาด้วย ถ้าเราสนใจที่ 2 อย่างนี้เราจะมีความสุขกับงานรับใช้ไม่ว่าคนจะฟังเราหรือไม่ก็ตาม
13. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูที่มาระโก 4:26-29?
13 กว่าคนหนึ่งจะมีความเชื่อต้องใช้เวลา พระเยซูอธิบายความจริงเรื่องนี้โดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนหว่านเมล็ดพืชที่นอนหลับ (อ่านมาระโก 4:26-29) หลังจากที่เขาหว่านเมล็ด ต้นข้าวก็ค่อย ๆ เติบโตทีละเล็กทีละน้อย คนหว่านไม่สามารถบังคับให้ต้นข้าวโตเร็วอย่างที่เขาอยากทำได้ นักศึกษาของเราก็เหมือนกัน เขาจะค่อย ๆ ก้าวหน้าเป็นขั้น ๆ เราไม่สามารถบังคับให้นักศึกษาก้าวหน้าเร็วอย่างที่เราอยากให้เป็นได้ แต่อย่าเพิ่งท้อหรือยอมแพ้ถ้านักศึกษาของคุณไม่ก้าวหน้าเร็วอย่างที่คิด การช่วยคนให้เป็นสาวกก็เหมือนการปลูกข้าวที่ต้องใช้เวลาและความอดทน—ยก. 5:7, 8
14. มีประสบการณ์อะไรที่ทำให้เห็นว่ากว่าจะมีคนสนใจต้องใช้เวลา?
14 ในบางเขตกว่าจะเกิดผลก็ต้องใช้เวลาหลายปี ลองดูประสบการณ์ของสองพี่น้องที่ชื่อรูบีกับแกลดีส แอลเลนc พวกเธอถูกส่งไปเป็นไพโอเนียร์ประจำที่เมืองหนึ่งในควิเบกประเทศแคนาดาในปี 1959 ตอนแรกคนที่นั่นกลัวเพื่อนบ้านกับบาทหลวง พวกเขาก็เลยไม่ยอมคุยกับพยานฯ แกลดีสเล่าว่า “เราออกประกาศตามบ้านวันละแปดชั่วโมงนานถึงสองปีโดยไม่มีแม้แต่คนเดียวตอบรับ! เพียงแต่มีคนมาที่ประตูแล้วดึงม่านปิดเท่านั้น แต่เราไม่ท้อถอย” พอเวลาผ่านไป คนที่นั่นก็เริ่มเปิดใจและสนใจความจริงมากขึ้น ตอนนี้มี 3 ประชาคมแล้วในเมืองนั้น—อสย. 60:22
15. ข้อคัมภีร์ที่ 1 โครินธ์ 3:6, 7 สอนอะไรเราเกี่ยวกับงานสอนคนให้เป็นสาวก?
15 งานสอนคนให้เป็นสาวกต้องช่วยกัน เพื่อคนคนหนึ่งจะรับบัพติศมาได้ พี่น้องทั้งประชาคมต้องช่วยกัน (อ่าน 1 โครินธ์ 3:6, 7) ลองคิดถึงตัวอย่างนี้ มีพี่น้องคนหนึ่งไปประกาศแล้วก็เจอคนที่สนใจ เขาให้วารสารและแผ่นพับกับคนนั้นไว้ แต่เขากลับเยี่ยมไม่ได้เพราะเวลาไม่ตรงกัน เขาเลยขอพี่น้องอีกคนหนึ่งให้ไปเยี่ยมแทนเขา พี่น้องคนนั้นก็เลยกลับไปหาคนที่สนใจแล้วก็สามารถเริ่มการศึกษาได้ พี่น้องคนนั้นยังพาพี่น้องคนอื่น ๆ ในประชาคมไปศึกษากับคนที่สนใจด้วย แล้วแต่ละคนก็ให้กำลังใจนักศึกษาคนนี้ทำให้เขามีความเชื่อเข้มแข็งและรักพระยะโฮวามากขึ้น เรื่องนี้ก็เหมือนกับที่พระเยซูบอกที่ว่าทั้งคนหว่านและคนเกี่ยวก็มีเหตุผลที่จะมีความสุข พวกเราเองก็เหมือนกัน ถ้ามีใครสักคนรับบัพติศมา พวกเราทุกคนก็มีความสุข—ยน. 4:35-38
16. ถ้าคุณสุขภาพไม่ดีหรือไม่แข็งแรง ทำไมคุณยังมีความสุขกับงานรับใช้ได้?
16 ถึงคุณจะสุขภาพไม่ดีและไม่แข็งแรงทำให้รับใช้ได้ไม่เหมือนเมื่อก่อนแต่คุณก็ยังมีความสุขได้ ให้เรามาดูตัวอย่างของกษัตริย์ดาวิด ตอนที่ชาวอามาเลขมาจับครอบครัวของเขาและชาวอิสราเอลคนอื่น ๆ ไปรวมทั้งยึดข้าวของมากมายไปด้วย ดาวิดกับพรรคพวกจะไปช่วยครอบครัวของพวกเขา แต่มีผู้ชาย 200 คนที่เหนื่อยมากและไปไม่ไหว ดาวิดก็เลยให้พวกเขาอยู่เฝ้าของ พอดาวิดเอาชนะพวกอามาเลขได้และกลับมา ดาวิดก็บอกว่าทุกคนจะต้องได้ส่วนแบ่งเท่ากันรวมทั้งคนพวกนั้นที่เฝ้าของด้วย (1 ซม. 30:21-25) งานสอนคนให้เป็นสาวกก็เหมือนกัน ถึงเราอาจจะทำไม่ได้มากอย่างที่เราอยากทำ แต่ทุกคนที่ทำสุดความสามารถไม่ว่าจะทำได้มากหรือน้อยก็มีความสุขเมื่อเห็นคนคนหนึ่งได้มารู้จักพระยะโฮวาและก้าวหน้าจนถึงขั้นรับบัพติศมาอยู่ในทางที่นำไปถึงชีวิต
17. เราควรขอบคุณพระยะโฮวาในเรื่องอะไร?
17 เราขอบคุณพระยะโฮวาที่รักเราและมองงานรับใช้ของเราแบบนี้ พระองค์รู้ว่าเราบังคับให้ใครฟังเราไม่ได้ แต่พระองค์ก็เห็นว่าเราพยายามมากแค่ไหนและรักพระองค์มากแค่ไหน และพระองค์จะให้รางวัลกับเราแน่นอน นอกจากนั้นพระองค์ยังสอนด้วยว่าเราต้องทำยังไงเพื่อจะมีความสุขไม่ว่าเราจะมีส่วนช่วยด้านไหนในงานสอนคนให้เป็นสาวก (ยน. 14:12) เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะภูมิใจในตัวเราถ้าเราไม่ยอมแพ้
เพลง 67 “ประกาศถ้อยคำของพระเจ้า”
a เราดีใจเวลามีคนอยากศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แต่พอไม่มีใครฟังเราก็รู้สึกเสียใจ คุณคิดว่าคุณไม่เคยช่วยใครให้ก้าวหน้าจนถึงขั้นรับบัพติศมาไหม? หรือคุณมีนักศึกษาแต่เขาก็ไม่ค่อยก้าวหน้าไหม? นี่หมายความว่าคุณไม่ประสบความสำเร็จในงานสอนคนให้เป็นสาวกหรือเปล่า? ในบทความนี้ เราจะมาดูว่าทำไมเราถึงมีความสุขและประสบความสำเร็จในงานรับใช้ได้แม้ดูเหมือนจะไม่เกิดผล
c ดูเรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องแกลดีส แอลเลนในบทความ “ฉันจะไม่เปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น!” ในหอสังเกตการณ์ 1 กันยายน 2002