การแสดงความรักแบบคริสเตียนต่อผู้สูงอายุ
แซมเยล จอห์นสัน นักประพันธ์แห่งศตวรรษที่ 18 ได้เล่านิทานเกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้ซึ่ง เมื่อไปเยี่ยมเพื่อน ๆ จำไม่ได้ว่าวางหมวกไว้ที่ไหน. ความสะเพร่าของเขาไม่ได้ก่อให้เกิดการวิจารณ์. จอห์นสันเล่าต่อไปว่า “แต่ถ้ามีการพบความเลินเล่ออย่างเดียวกันในคนสูงอายุ ผู้คนก็จะยักไหล่แล้วพูดว่า ‘ความจำเขาเสื่อม.’”
เรื่องราวของจอห์นสันแสดงว่า ผู้สูงอายุ บางทีอาจเหมือนชนส่วนน้อยกลุ่มอื่น ๆ มักจะถูกจัดเข้ากลุ่มอย่างไม่ยุติธรรม. ถึงแม้การเอาใจใส่ต่อความจำเป็นของคนชราเป็นงานที่ท้าทาย แต่ผลประโยชน์ก็เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย. อะไรคือลักษณะที่ยากลำบากและผลตอบแทน และทำไมเรื่องนี้มีผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ?
ตามสถิติแล้ว 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกอายุ 65 ปีหรือแก่กว่านั้น และในประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราเฉลี่ยมากเป็นสองเท่า. ในประชาคมยุโรปซึ่งกำหนดปี 1993 เป็น “ปีแห่งคนสูงอายุและความสามัคคีระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ ของยุโรป” 1 ใน 3 คนอายุมากกว่า 50 ปี. เช่นเดียวกับในประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ที่นั่นอัตราการเกิดลดลงและการประเมินอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทำให้ประชากรส่วนใหญ่เลยวัยกลางคน. การดูแลเอาใจใส่คนเหล่านั้นที่สูงอายุภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นงานใหญ่โตอย่างเห็นได้ชัด. ช่างต่างกันเพียงไรกับสิ่งที่เคยมีในประเทศทางตะวันออกในอดีต!
“คลังแห่งความรู้”
ดาส ฮานท์บุก เดส บีบลิเชน อัลเทอร์ทุมส์ ฟือร์ เกบิลเดเท บีเบลเลเซอร์ (คู่มือเกี่ยวกับโบราณกาลในคัมภีร์ไบเบิลสำหรับผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลที่มีการศึกษา) ชี้ให้เห็นว่า ในในยุคโบราณของทางตะวันออก “มีการถือว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้รักษาค่านิยมแห่งสติปัญญาและความรู้ที่สูงกว่าที่สืบทอดกันมา ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนหนุ่มสาวได้รับการตักเตือนให้แสวงหาการคบหาสมาคมกับคนสูงอายุและเรียนรู้จากพวกเขา.” พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลของสมิท อธิบายว่า “ในชีวิตส่วนตัว [ผู้สูงอายุ] ได้รับความนับถือฐานะเป็นคลังแห่งความรู้ . . . [คนหนุ่มสาว] เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเสนอความคิดเห็นก่อน.”
มีการแสดงให้เห็นความเคารพต่อผู้สูงอายุในพระบัญญัติของโมเซที่เลวีติโก 19:32 (ฉบับแปลใหม่) ว่า “เจ้าจงลุกขึ้นคำนับคนผมหงอกและเคารพคนชรา.” ดังนั้น ผู้สูงอายุอยู่ในฐานะที่มีสิทธิพิเศษภายในสังคมและได้รับการนับถือเสมือนทรัพย์อันล้ำค่า. ปรากฏชัดว่า นี้เป็นท่าทีที่รูธหญิงชาวโมอาบมองดูนาอะมีแม่สามีชาวยิศราเอลของเธอ.
รูธได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะติดตามนาอะมีจากโมอาบไปยังยิศราเอล และหลังจากนั้นเธอตั้งใจรับฟังคำแนะนำของนาอะมี. ครั้นพวกเขาอยู่ในเบธเลเฮ็มแล้ว นาอะมีนั่นเองเป็นผู้ซึ่งได้สังเกตเห็นว่า พระหัตถ์ของพระยะโฮวาชี้นำเหตุการณ์และแล้วเป็นผู้ที่ได้แนะนำรูธถึงวิธีประพฤติตัว. (ประวัตินางรูธ 2:20; 3:3, 4, 18) ชีวิตของรูธได้รับการชี้นำในรูปแบบตามระบอบของพระเจ้าขณะที่เธอเรียนรู้จากนาอะมีผู้มีประสบการณ์. แม่สามีของเธอได้พิสูจน์ว่าเป็นคลังแห่งความรู้.
ในทำนองเดียวกัน สตรีคริสเตียนวัยสาวในทุกวันนี้สามารถได้รับประโยชน์จากการคบหาสมาคมกับสตรีที่อายุมากกว่าในประชาคม. บางทีพี่น้องหญิงคนหนึ่งกำลังครุ่นคิดถึงการแต่งงานหรือต่อสู้กับปัญหาส่วนตัวที่แก้ยาก. คงจะเป็นการฉลาดสักเพียงไรที่จะแสวงหาคำแนะนำและการสนับสนุนจากพี่น้องหญิงสูงอายุที่ประกอบด้วยวุฒิภาวะผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น!
นอกจากนี้ คณะผู้ปกครองสามารถได้รับประโยชน์จากการใช้ประสบการณ์ของผู้สูงอายุในท่ามกลางพวกเขา. เราอาจเรียนได้จากความล้มเหลวของโลตที่มิได้ทำเช่นนี้. การทะเลาะวิวาทที่คนเลี้ยงสัตว์ของอับราฮามและโลตมีส่วนพัวพันนั้นเรียกร้องการตัดสินใจซึ่งจะมีผลกระทบต่อทุกคน. โลตทำการเลือกแบบไม่ฉลาด. คงดีกว่ามากสักเพียงไรที่จะขอคำแนะนำจากอับราฮามก่อน! โลตคงได้รับการชี้นำแบบผู้ใหญ่และสามารถช่วยครอบครัวของเขาให้พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนอันเป็นผลมาจากการเลือกแบบหุนหันของเขา. (เยเนซิศ 13:7-13; 14:12; 19:4, 5, 9, 26, 29) คุณรับฟังอย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่ผู้ปกครองผู้อาวุโสพูดก่อนทำการตัดสินด้วยตัวคุณเองในปัญหาเรื่องหนึ่งไหม?
ผู้สูงอายุนับไม่ถ้วนมีใจจดจ่อแรงกล้าที่ยืนยงต่องานของพระยะโฮวา เช่น ซิมโอนและฮันนาในศตวรรษแรก. (ลูกา 2:25, 36, 37) เป็นข้อบ่งชี้ถึงความนับถือและการสะท้อนถึงเจตคติที่ห่วงใยต่อผู้สูงอายุที่จะให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมของประชาคมมากเท่าที่กำลังของเขาอำนวยให้ ถึงแม้อยู่ในวัยชราก็ตาม. บางทีหนุ่มสาวอาจต้องการความช่วยเหลือในการเตรียมส่วนมอบหมายสำหรับโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. ผู้ปกครองที่ฉลาดอาจลงความเห็นว่า ที่ปรึกษาที่ดีเยี่ยมคงจะเป็นสมาชิกที่สูงอายุของประชาคม คนที่มีสติปัญญาพร้อมด้วยความกรุณา, ท่าทีชอบช่วยเหลือ, และมีเวลา.
อย่างไรก็ดี การเอาใจใส่ต่อความต้องการเป็นพิเศษของผู้สูงอายุเกี่ยวข้องมากกว่านั้น. หลายคนกลัดกลุ้มเนื่องจากความว้าเหว่, ความกลัวอาชญากรรม, และความลำบากด้านการเงิน. นอกจากนี้ เมื่อผู้สูงอายุกลายเป็นคนทุพพลภาพ ปัญหาเหล่านี้ถูกทับถมด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมและความผิดหวังในกำลังวังชาของตนเองที่เสื่อมถอย. ในตอนนั้น พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความเอาใจใส่มากขึ้น. ปัจเจกบุคคลและทั้งประชาคมควรตอบสนองอย่างไร?
“แสดงความเลื่อมใสในพระเจ้า”
ระหว่างศตวรรษแรก เปาโลเขียนภายใต้การดลใจที่ 1 ติโมเธียว 5:4, 16 (ล.ม.) ว่า “ถ้าแม่ม่ายคนใดมีลูกหรือหลาน ก็ให้คนเหล่านี้เรียนรู้ที่จะแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าในครอบครัวของตัวเองก่อน และทดแทนบุญคุณบิดามารดาหรือปู่ย่าตายายของตนเสมอ เพราะการทำอย่างนี้เป็นที่ชอบในสายพระเนตรพระเจ้า. ถ้าหญิงคนใดที่เชื่อแล้วมีแม่ม่าย ก็ให้เขาช่วยเหลือแม่ม่ายเหล่านั้น อย่าให้เป็นภาระแก่ประชาคม. แล้วประชาคมจะได้ช่วยเหลือคนที่เป็นแม่ม่ายจริง ๆ.” การดูแลผู้สูงอายุเคยเป็นความรับผิดชอบของครอบครัว. หากสมาชิกผู้ชราของประชาคมจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือหลังจากครอบครัวได้ทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือแล้ว ความรับผิดชอบก็ตกอยู่กับประชาคม. หลักการเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง.
อะไรได้ช่วยเหลือคริสเตียนให้แสดงความรักแบบคริสเตียนต่อผู้สูงอายุโดยการแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าในครอบครัวของตนเอง? โปรดสังเกตความเห็นต่อไปนี้จากพยานฯหลายคนผู้ซึ่งมีประสบการณ์บางอย่างในการเอาใจใส่ดูแลคนเหล่านั้นที่สูงอายุ.
การเอาใจใส่เป็นประจำต่อความต้องการฝ่ายวิญญาณ
เฟลิกซ์ผู้ซึ่งได้ช่วยภรรยาในการดูแลบิดามารดาของเธอเล่าว่า “การพิจารณาข้อคัมภีร์ประจำวันด้วยกันเป็นการช่วยเหลืออันล้ำค่า. ประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตและความปรารถนาถูกทำให้เชื่อมผนึกกับหลักการของพระยะโฮวา.” ที่จริง ในการทำงานที่ยากยิ่งเกี่ยวกับการดูแลเอาใจใส่ญาติที่สูงอายุนั้น ปัจจัยสำคัญคือการให้ความเอาใจใส่ที่สมควรต่อการก่อร่างสร้างเขาขึ้นฝ่ายวิญญาณ. นี้เป็นไปตามเหตุผลเมื่อคำนึงถึงคำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 5:3 ที่ว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน.” อาจเสริมข้อคัมภีร์ประจำวันได้โดยรายการการอ่านคัมภีร์ไบเบิล, การพิจารณาสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก, และโดยการอธิษฐาน. เพเทอร์ให้ข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนว่า ผู้สูงอายุชอบความสม่ำเสมอ.”
ถูกแล้ว ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในเรื่องทางฝ่ายวิญญาณ. ไม่เฉพาะแต่สิ่งฝ่ายวิญญาณเท่านั้น แต่การดำเนินชีวิตประจำวันด้วยที่ผู้สูงอายุหยั่งรู้ค่าความสม่ำเสมอ. เออร์ซูลากล่าวว่า แม้แต่คนเหล่านั้นที่มีความทุพพลภาพเล็กน้อยก็อาจได้รับการสนับสนุนอย่างอบอุ่นให้ “ลุกขึ้นจากที่นอนแล้วแต่งตัวอย่างเหมาะสมทุกวัน.” แน่นอน เราต้องการหลีกเลี่ยงการทำให้รู้สึกว่าบงการผู้สูงอายุ. โดรีสยอมรับว่า ความพยายามแบบมีเจตนาดีของเธอบ่อยครั้งมักผิดทางไปอย่างน่าเศร้า. “ดิฉันทำผิดพลาดไปหลายอย่าง. วันหนึ่งดิฉันขอคุณพ่อให้เปลี่ยนเสื้อทุกวัน. แล้วคุณแม่ก็เตือนดิฉันว่า ‘เขายังเป็นสามีของฉันอยู่นะ!’”
ครั้งหนึ่งผู้สูงอายุเคยเป็นหนุ่มสาว แต่สำหรับคนหนุ่มสาวที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจและมีความรู้สึกไวต่อคนสูงอายุนั้นเป็นสิ่งยาก. กระนั้น นั่นเป็นกุญแจไปสู่ความเข้าใจความต้องการโดยเฉพาะของเขา. อายุที่มากขึ้นนำมาซึ่งความข้องขัดใจ. เกร์ฮาร์ทอธิบายว่า “พ่อตาของผมรู้สึกรำคาญตัวเองเพราะท่านไม่สามารถทำทุกสิ่งที่เคยทำได้ต่อไป. สำหรับท่านแล้วการยอมรับสภาพเป็นเรื่องที่ทรมานใจยิ่ง. บุคลิกลักษณะของท่านเปลี่ยนไป.”
ภายใต้สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่บุคคลผู้สูงอายุจะระบายความข้องขัดใจออกมาโดยการจับผิดคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเหล่านั้นที่เอาใจใส่ดูแลเขา. เหตุผลก็ง่าย ๆ. ความเอาใจใส่ด้วยความรักของพวกเขาทำให้เขาระลึกถึงกำลังวังชาของตนเองที่เสื่อมถอยไป. คุณควรมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการจับผิดหรือคำบ่นว่าที่ไม่ยุติธรรมนี้?
โปรดจำไว้ว่า ความรู้สึกในแง่ลบดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงทัศนะของพระยะโฮวาเกี่ยวกับความพยายามของคุณ. จงทำดีต่อ ๆ ไป และรักษาไว้ซึ่งสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด ถึงแม้ว่า คุณได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่ยุติธรรมเป็นครั้งคราว. (เทียบกับ 1 เปโตร 2:19.) ประชาคมท้องถิ่นอาจให้การสนับสนุนได้มาก.
สิ่งที่ประชาคมทำได้
หลายประชาคมมีเหตุผลที่จะรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อความพยายามในอดีตของพี่น้องชายหญิงผู้สูงอายุที่รักของเรา. บางทีพวกเขานั่นเองที่ได้วางรากฐานสำหรับประชาคม ก่อตั้งขึ้นจากผู้ประกาศเพียงไม่กี่คนหลายทศวรรษมาแล้ว. ประชาคมจะอยู่ที่ไหนถ้าปราศจากกิจกรรมที่ทำด้วยใจจดจ่อแรงกล้าของพวกเขาในอดีต และบางทีการสนับสนุนด้านการเงินในปัจจุบัน?
เมื่อการเอาใจใส่ดูแลมากขึ้นกลายเป็นเรื่องจำเป็นในกรณีของผู้ประกาศที่ชรา ญาติไม่จำเป็นต้องทนรับความรับผิดชอบนั้นตามลำพัง. คนอื่น ๆ อาจช่วยได้โดยการไปทำธุระให้, ทำอาหาร, ทำความสะอาด, พาผู้สูงอายุไปเดินเล่น, เสนอการรับส่งไปยังการประชุมคริสเตียน, หรือเพียงแต่สนทนากับเขา ณ หอประชุม. ทุกคนสามารถมีส่วนได้ ถึงแม้จะบรรลุถึงประสิทธิภาพและกิจวัตรอย่างดีที่สุดเมื่อมีการประสานความพยายามร่วมกัน.
การประสานกันเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองอาจระลึกถึงเมื่อจัดระเบียบการเยี่ยมแบบบำรุงเลี้ยง. บางประชาคมเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ผู้ปกครองทำให้แน่ใจว่า มีการเยี่ยมแบบบำรุงเลี้ยงเป็นประจำกับผู้สูงอายุและคนอ่อนแอ แม้แต่คนเหล่านั้นที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากครอบครัวของเขา. อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า ประชาคมอื่นควรจะสำนึกมากขึ้นถึงภาระหน้าที่ของเขาต่อผู้สูงอายุ.
พี่น้องชายผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งในวัยเกือบ 90 ปีได้รับการดูแลจากลูกสาวและลูกเขยของเขาซึ่งลาออกจากสำนักเบเธลเพื่อทำเช่นนั้น. กระนั้น การเยี่ยมโดยสมาชิกคนอื่น ๆ ของประชาคมก็ยังนับว่าสำคัญสำหรับเขา. พี่น้องคนนั้นคร่ำครวญว่า “เมื่อผมเคยไปเยี่ยมคนป่วย ผมอธิษฐานกับพวกเขา. แต่ไม่มีใครเคยอธิษฐานกับผม.” ความเอาใจใส่ด้วยความรักของญาติไม่ได้ปลดเปลื้องผู้ปกครองจากหน้าที่ในการ ‘บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าในความอารักขาของพวกเขา.’ (1 เปโตร 5:2, ล.ม.) นอกจากนี้ คนเหล่านั้นที่เอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างและการหนุนกำลังใจให้ปฏิบัติการงานที่ดีของเขาต่อ ๆ ไป.
“ชราและอิ่มอกอิ่มใจ”
อะเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมบอลท์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 19 อยู่ในวัยสูงอายุเมื่อสุภาพสตรีสาวคนหนึ่งถามเขาว่า เขารู้สึกว่า การแก่ลงค่อนข้างจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหรือไม่. บุรุษผู้คงแก่เรียนตอบว่า “คุณพูดถูกทีเดียว แต่นั่นก็เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะมีชีวิตอยู่นาน ๆ.” ในทำนองเดียวกัน พี่น้องชายหญิงหลายคนในทุกวันนี้วางตัวอย่างที่ดีในการยอมรับความยากลำบากจากวัยชราเป็นการแลกเปลี่ยนกับความภูมิใจในการดำเนินชีวิตที่ยืนยาว. พวกเขาสะท้อนเจตคติที่เคยแสดงออกมาโดยอับราฮาม, ยิศฮาค, ดาวิด, และโยบ, ผู้ซึ่ง “ชราและอิ่มอกอิ่มใจ, [ล.ม.].”—เยเนซิศ 25:8; 35:29; 1 โครนิกา 23:1; โยบ 42:17.
อายุมากขึ้นนำมาซึ่งการท้าทายในการยอมรับความช่วยเหลือด้วยท่าทีที่ดีงามและการแสดงความรู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจ. เพื่อแสดงถึงสติปัญญาแต่ละคนควรยอมรับขีดจำกัดแห่งกำลังของเขา. อย่างไรก็ดี นั่นมิได้หมายความว่าผู้สูงอายุต้องเลิกกิจกรรมทุกอย่าง. มาเรียอายุ 90 กว่าปีแล้ว แต่เธอยังคงเข้าร่วมการประชุมของประชาคมและออกความเห็นอยู่. เธอทำเช่นนั้นโดยวิธีใด? “ดิฉันไม่สามารถอ่านได้อีกต่อไป แต่ดิฉันฟังตลับเทปหอสังเกตการณ์. ดิฉันลืมบางเรื่องไป แต่ตามปกติแล้วดิฉันหาทางที่จะออกความเห็น.” เช่นเดียวกับมาเรีย การหมกมุ่นอยู่กับเรื่องต่าง ๆ ที่เสริมสร้างขึ้นย่อมช่วยคนเราให้ปฏิบัติงานต่อไปและรักษาบุคลิกภาพแบบคริสเตียนไว้.
ภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า วัยชราจะไม่มีอีกต่อไป. ในสมัยนั้นคนเหล่านั้นที่ชราในระบบนี้และบางทีอาจตายไปด้วยซ้ำจะมีความทรงจำที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับการดูแลและความเอาใจใส่ที่พวกเขาได้รับ. ตอนนั้นผู้สูงอายุได้รับชีวิตและกำลังวังชากลับคืนมา แน่นอนพวกเขาจะรู้สึกรักพระยะโฮวาอย่างแรงกล้าและขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อคนเหล่านั้นที่ทนกับพวกเขาระหว่างการทดลองของเขาในระบบเก่านี้.—เทียบกับลูกา 22:28.
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคนเหล่านั้นที่ดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุขณะนี้? อีกไม่นานนี้ทีเดียว เมื่อราชอาณาจักรมีอำนาจครอบครองแผ่นดินโลกอย่างครบถ้วน พวกเขาจะมองย้อนหลังด้วยความยินดีและความโล่งใจที่พวกเขาไม่ได้เลี่ยงภาระหน้าที่ของเขา แต่ได้แสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าโดยการแสดงความรักแบบคริสเตียนต่อผู้สูงอายุ.—1 ติโมเธียว 5:4, ล.ม.
[กรอบหน้า 30]
ผู้สูงอายุจะหยั่งรู้ค่าการเยี่ยมของคุณ
อาจบรรลุผลดีมากมายได้โดยการวางแผนเยี่ยมผู้สูงอายุ บางทีเป็นเวลา 15 นาทีหลังจากกิจการงานประกาศ. แต่นับว่าดีที่สุดที่จะไม่ปล่อยให้การเยี่ยมดังกล่าวเป็นไปโดยบังเอิญ ดังที่ประสบการณ์ต่อไปนี้แสดงให้เห็น.
บรีกิทเทและฮานเนโลเรประกาศด้วยกัน เข้าร่วมสนทนากับชายสูงอายุคนหนึ่งที่ประตูบ้านของเขา. พี่น้องหญิงพูดกับเขาเป็นเวลาห้านาทีก่อนทราบว่าเขาก็เป็นพยานพระยะโฮวา สมาชิกในประชาคมเดียวกัน. ช่างทำให้อึดอัดใจสักเพียงไร! แต่ประสบการณ์จบลงในแง่บวก. ฮานเนโลเรวางแผนทันทีที่จะเยี่ยมพี่น้องชายคนนั้นและช่วยเขาให้เข้าร่วมการประชุมของประชาคม.
คุณทราบชื่อและที่อยู่ของผู้ประกาศสูงอายุแต่ละคนที่อยู่ในเขตทำงานซึ่งคุณประกาศไหม? คุณจะจัดแจงเพื่อทำการเยี่ยมสั้น ๆ ได้ไหม? นั่นคงจะได้รับการหยั่งรู้ค่ามากทีเดียว.