“พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์”
1. คัมภีร์ไบเบิลระบุถึงผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิลอย่างไร และพระคัมภีร์ให้ความรู้ชนิดใด?
“พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.” ถ้อยคำเหล่านี้ที่ 2 ติโมเธียว 3:16 (ล.ม.) ระบุว่า พระเจ้าผู้ทรงพระนามยะโฮวาทรงเป็นผู้ประพันธ์และผู้ทรงดลใจให้เขียนพระคัมภีร์บริสุทธิ์. พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจเป็นแหล่งแห่งความปีติยินดีอันน่าพึงพอใจจริง ๆ! พระคัมภีร์เป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้แท้ที่น่าพิศวงจริง ๆ! พระคัมภีร์เป็น “ความรู้ของพระเจ้า” ที่แท้จริงซึ่งผู้รักความชอบธรรมทุกยุคทุกสมัยได้เสาะหาและทะนุถนอมไว้.—สุภา. 2:5.
2. โมเซ, ดาวิด, และซะโลโมประเมินค่าพระสติปัญญาของพระเจ้าอย่างไร?
2 หนึ่งในผู้แสวงหาความรู้เหล่านี้คือ โมเซ ผู้นำที่ประจักษ์แก่ตาและผู้จัดระเบียบชนชาติยิศราเอลของพระเจ้า ผู้ซึ่งกล่าวว่า คำสั่งสอนของพระเจ้านั้นยังความสดชื่น “ดังน้ำค้าง, ดังฝนตกปรอย ๆ อยู่ที่หญ้าอ่อน, ดังห่าฝนตกลงมาที่ต้นผักเขียวสด.” อีกคนหนึ่งคือ ดาวิด นักรบผู้กล้าหาญและผู้ยกย่องพระนามของพระยะโฮวา ผู้อธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดสั่งสอนข้าพเจ้าให้รู้ทางปฏิบัติพระองค์, ข้าพเจ้าจะได้ประพฤติตามความสัตย์จริงของพระองค์.” แล้วก็มีซะโลโมที่รักสันติ ผู้สร้างราชสำนักของพระยะโฮวาในกรุงยะรูซาเลมซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่โอ่อ่าสง่างามที่สุดเท่าที่เคยมีอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ คือราชนิเวศของพระยะโฮวาที่ยะรูซาเลม ผู้ที่ประเมินค่าพระสติปัญญาของพระเจ้าด้วยถ้อยคำดังนี้: “การหาพระปัญญามาได้นั้นก็ดีกว่าได้เงิน, และผลกำไรนั้นก็ประเสริฐกว่าทองคำบริสุทธิ์. พระปัญญามีค่ายิ่งกว่าทับทิม: และไม่มีสิ่งใด ๆ ซึ่งเจ้าพึงปรารถนาเอามาเทียมกับพระปัญญาได้.”—บัญ. 32:2; เพลง. 86:11; สุภา. 3:14, 15.
3. พระเยซูและพระเจ้าเองทรงถือว่าพระคำของพระเจ้ามีค่าเช่นไร?
3 พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าทรงถือว่า พระคำของพระเจ้ามีค่าสูงสุดโดยประกาศว่า “พระคำของพระองค์เป็นความจริง.” พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา เจ้าก็เป็นสาวกแท้ของเรา และเจ้าทั้งหลายจะรู้จักความจริง และความจริงจะทำให้เจ้าเป็นอิสระ.” (โย. 17:17; 8:31, 32, ล.ม.) พระคำที่พระเยซูได้รับจากพระบิดาของพระองค์ทรงพลังจริง ๆ. นั่นเป็นพระคำของพระเจ้า. หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ คืนพระชนม์และเสด็จขึ้นสู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระยะโฮวาในสวรรค์ พระเยซูทรงเผยให้ทราบมากขึ้นเกี่ยวกับพระคำของพระบิดา รวมทั้งคำพรรณนาอันน่าปีติยินดีเกี่ยวกับพระพรต่าง ๆ ที่พระเจ้าจะทรงประทานแก่มนุษยชาติในแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. ครั้นแล้ว พระเจ้าทรงสั่งอัครสาวกโยฮันว่า “จงเขียนไว้เถิด เพราะถ้อยคำเหล่านี้สัตย์ซื่อและสัตย์จริง.” ถ้อยคำทั้งหมดในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจนั้นเป็นคำ “สัตย์ซื่อและสัตย์จริง” ซึ่งยังประโยชน์ล้นเหลือแก่คนที่ใส่ใจ.—วิ. 21:5, ล.ม.
4. พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจเป็นประโยชน์ประการใดบ้าง?
4 ผลประโยชน์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างไร? ถ้อยคำอันครบถ้วนของอัครสาวกเปาโลที่ 2 ติโมเธียว 3:16, 17 (ล.ม.) ให้คำตอบดังนี้: “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม, เพื่อคนของพระเจ้าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” ดังนั้น พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจึงเป็นประโยชน์สำหรับสอนหลักคำสอนที่ถูกต้องและความประพฤติที่เหมาะสม, จัดการเรื่องราวทั้งในจิตใจและชีวิตของเราให้เรียบร้อย, รวมทั้งว่ากล่าวและตีสอนเราเพื่อเราจะดำเนินอย่างใจถ่อมตามความจริง และความชอบธรรม. ด้วยการยอมตนตามคำสอนจากพระคำของพระเจ้า เราจะมาเป็น “ผู้ร่วมทำการด้วยกันกับพระเจ้า” ได้. (1 โก. 3:9) ในแผ่นดินโลกทุกวันนี้ไม่มีสิทธิพิเศษอะไรยิ่งใหญ่กว่าการขันแข็งทำงานของพระเจ้าในฐานะ ‘คนของพระเจ้าที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเตรียมพร้อมทุกอย่าง.’
รากฐานมั่นคงสำหรับความเชื่อ
5. ความเชื่อคืออะไร และจะได้ความเชื่อมาโดยวิธีใดเท่านั้น?
5 ที่คนหนึ่งจะเป็นผู้ร่วมงานกับพระเจ้า จำต้องมีความเชื่อ. อย่าเอาความเชื่อไปปนกับความงมงายที่มีอยู่ดาษดื่นในทุกวันนี้. หลายคนคิดว่าเชื่ออะไรสักอย่างก็พอ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิศาสนา, วิวัฒนาการ, หรือปรัชญา. แต่คนของพระเจ้าต้อง “ยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ . . . ด้วยความเชื่อและความรักซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์เยซู.” (2 ติโม. 1:13, ล.ม.) ความเชื่อของเขาต้องเป็นความเชื่อแท้และมีชีวิต เพราะ “ความเชื่อคือความคาดหมายที่แน่นอนในสิ่งซึ่งหวังไว้ เป็นการแสดงออกเด่นชัดถึงสิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.” ความเชื่อต้องอาศัยความมั่นใจในพระเจ้าและบำเหน็จที่พระองค์จะทรงประทานแก่ผู้ที่ทำให้พระองค์พอพระทัย. (เฮ็บ. 11:1, 6, ล.ม.) ความเชื่อเช่นนี้จะได้มาก็ต่อเมื่อมีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็งเท่านั้น. ความเชื่อนี้อาศัยความรักอันลึกซึ้งต่อคัมภีร์ไบเบิลและต่อพระยะโฮวา พระเจ้าแห่งคัมภีร์ไบเบิล และต่อพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์. ความเชื่ออันมีชีวิตเช่นนี้มีชนิดเดียวเท่านั้น เหมือนที่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่องค์เดียวคือ พระเยซูคริสต์ และมีพระเจ้าและพระบิดาเพียงองค์เดียวคือ พระยะโฮวา.—เอเฟ. 4:5, 6.
6. ความเชื่อแท้มีคุณสมบัติอย่างไร?
6 เราจำเป็นต้องรู้ว่าพระคำของพระเจ้าคืออะไรและเป็นมาอย่างไร อีกทั้งอำนาจและวัตถุประสงค์รวมทั้งพลังในทางชอบธรรมของพระคำนั้น. เมื่อได้รับความหยั่งรู้ค่าข่าวสารอันรุ่งโรจน์ในพระคำนั้น เราก็จะมีความเชื่อ. ยิ่งกว่านั้น เราจะเกิดความรักคัมภีร์ไบเบิลและผู้ประพันธ์พระคัมภีร์อย่างแรงกล้าจนไม่มีอะไรจะสามารถทำให้ความเชื่อและความรักนี้ชะงักลงได้. พระคัมภีร์นี้แหละ ซึ่งรวมถึงคำตรัสของพระเยซูคริสต์ด้วย ที่สร้างรากฐานอันมั่นคงสำหรับความเชื่อ. ความเชื่อแท้เป็นความเชื่อชนิดที่เพียรอดทนการล่อใจและการทดลองอันสาหัส การกดขี่ข่มเหง รวมทั้งความก้าวหน้าด้านวัตถุและปรัชญาของสังคมมนุษย์ที่ไม่เชื่อพระเจ้า. ความเชื่อนี้จะมีชัยอย่างรุ่งโรจน์ตลอดไปจนเข้าสู่โลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้า. “นี่คือชัยชนะที่ชนะโลก คือความเชื่อของเรา.”—1 โย. 5:4, ล.ม.
7. การค้นพบสติปัญญาในคัมภีร์ไบเบิลให้ผลตอบแทนเช่นไร?
7 เพื่อจะได้มาและยึดมั่นกับความเชื่อ เราต้องทุ่มเทตัวในการสร้างความรักและความหยั่งรู้ค่าต่อพระคำของพระเจ้า คือพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. พระคัมภีร์เป็นของประทานอันล้ำค่าซึ่งพระเจ้าประทานแก่มนุษย์ เป็นคลังทรัพย์ฝ่ายวิญญาณอันประกอบด้วยสติปัญญาลึกล้ำสุดจะหยั่งได้ และมีพลังให้ความรู้แจ้งเห็นจริงและกระตุ้นในทางชอบธรรมที่เหนือกว่าหนังสืออื่นใดทั้งหมดเท่าที่เคยมีเขียนกันมา. เมื่อเราขุดค้นเพื่อรับเอาความรู้จากพระคำของพระเจ้า เราจะถูกจูงใจให้ร้องออกมาเหมือนอัครสาวกเปาโลว่า “โอ พระปัญญาและความรอบรู้ของพระเจ้านั้น ล้ำลึกเท่าใด”! การรู้จักพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจและผู้ประพันธ์พระคัมภีร์คือการเข้าสู่หนทางแห่งความยินดีและความสุขสำราญชั่วนิรันดร์.—โรม 11:33, ฉบับแปลใหม่; เพลง. 16:11.
พระยะโฮวา—พระเจ้าที่สื่อความ
8. (ก) เหตุใดเราน่าจะรู้สึกขอบพระคุณที่พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่สื่อความ? (ข) พระองค์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพวกพระที่เป็นผีปิศาจในทางใด?
8 เมื่อกล่าวถึงความประเสริฐแห่งพระนามของพระยะโฮวา ดาวิดเปล่งเสียงร้องว่า “พระองค์ทรงเป็นใหญ่และกระทำสิ่งน่าอัศจรรย์; พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า, พระองค์แต่ผู้เดียว.” (เพลง. 86:10, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงทำ “สิ่งน่าอัศจรรย์” หลายอย่างเพื่อมนุษยชาติบนแผ่นดินโลก และสิ่งน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งก็คือการสื่อสารพระคำของพระองค์มายังมนุษย์. ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่สื่อความ พระเจ้าผู้ทรงเผยให้ทราบถึงพระองค์เองด้วยความรักเพื่อประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตที่พระองค์ทรงสร้าง. เราน่าจะรู้สึกขอบพระคุณสักเพียงไรที่พระผู้สร้างของเราไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจที่ห่างเหิน ซ่อนตัวในความลึกลับและไม่นำพาความจำเป็นของผู้รักความชอบธรรมบนแผ่นดินโลก! เช่นเดียวกับที่พระองค์จะทรงทำในโลกใหม่ซึ่งจะมีมา แม้แต่ในปัจจุบันนี้ พระยะโฮวาสถิตกับคนที่แสดงความเชื่อและความรักต่อพระองค์ และมีสายสัมพันธ์ฉันบิดาที่กรุณาถ่ายทอดสิ่งดี ๆ แก่บุตรที่อยากรู้. (วิ. 21:3) พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราไม่เหมือนกับพวกพระที่เป็นผีปิศาจซึ่งต้องใช้รูปปั้นพูดไม่ได้ที่น่ากลัวเป็นตัวแทน. พระที่เป็นแต่โลหะและหินไม่มีสายสัมพันธ์ฉันบิดากับผู้นมัสการที่อยู่ในความมืดมน. พระเหล่านั้นถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้นมัสการไม่ได้. ที่จริง “คนทั้งหลายที่กระทำรูปเคารพก็จะเหมือนรูปนั้น.”—เพลง. 135:15-19; 1 โก. 8:4-6.
9. ข่าวสารชนิดใดที่มาจากพระเจ้าผู้สถิตในแดนเบื้องบน?
9 พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณาและความจริง.” (เอ็ก. 34:6, ล.ม.) เนื่องจากความรักกรุณาอันบริบูรณ์ของพระองค์ พระองค์จึงทรงถ่ายทอดความจริงมากมายแก่มนุษย์. ความจริงนี้ล้วนเป็นคำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อชี้นำมนุษย์และรวมถึงคำพยากรณ์ด้วยเพื่อส่องสว่างตามทางของคนเราไปสู่พระพรในอนาคต. “เพราะว่าทุกสิ่งที่เขียนไว้คราวก่อนได้เขียนไว้สั่งสอนพวกเรา เพื่อว่า โดยการอดทนของเราและโดยการปลอบโยนจากพระคัมภีร์เราจะมีความหวัง.” (โรม 15:4, ล.ม.) ข่าวสารที่เชื่อถือได้เหล่านั้นมาจากแดนเบื้องบน ซึ่งก็คือจากสวรรค์นั่นเอง เพื่อสั่งสอนมนุษย์ที่อยู่แดนเบื้องล่าง.—โย. 8:23, ล.ม.
10. พระยะโฮวาทรงสื่อความด้วยภาษาอะไรบ้าง และด้วยเหตุผลอะไร?
10 พระยะโฮวาไม่เคยสื่อความด้วยภาษาที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ทรงสื่อความด้วยภาษามนุษย์เสมอ ซึ่งเป็นภาษาที่พยานผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ใช้กันอยู่. (กิจ. 2:5-11) กับอาดาม, โนฮา, อับราฮาม, โมเซ, และพวกผู้พยากรณ์ชาวฮีบรู พระยะโฮวาตรัสด้วยภาษาแรกเดิมของมนุษยชาติ ซึ่งสมัยนี้เรียกว่าภาษาฮีบรู. มีการใช้ภาษาฮีบรูนานตราบที่ยังเข้าใจภาษานี้ได้ แม้กระทั่งในสมัยของเซาโลชาวเมืองตาระโซ ซึ่งพระเยซูผู้คืนพระชนม์แล้วได้ตรัสกับเขาในภาษานั้น. (กิจ. 26:14) เมื่อภาษาอาระเมอิกของชาวแคลเดียแพร่หลายท่ามกลางชาวยิศราเอลที่ตกเป็นเชลย พระเจ้าจึงทรงส่งข่าวสารบางตอนด้วยภาษาอาระเมอิก เพราะผู้คนเข้าใจภาษานี้. (เอษรา 4:8–6:18; 7:12-26; ดานิ. 2:4ข–7:28) ต่อมา เมื่อภาษากรีกเป็นภาษาสากลและภาษาหลักของพยานของพระองค์ พระยะโฮวาทรงถ่ายทอดและให้มีการเก็บรักษาข่าวสารของพระองค์ในภาษานั้น. ถ้อยคำที่เก็บรักษาไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นข่าวสารจากพระยะโฮวาที่ตรัสด้วยภาษาที่ใช้กันในสมัยนั้นเสมอเพื่อประโยชน์ของผู้คนบนแผ่นดินโลกที่ถ่อมใจและรักความจริง.
11. เพราะเหตุใดจึงอาจพูดได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระผู้สร้างภาษาทั้งสิ้น?
11 พระยะโฮวาทรงเป็นผู้สร้างจิตใจและอวัยวะสำหรับพูด อันประกอบด้วยลิ้น, ปาก, และลำคอ ซึ่งทำให้เกิดเสียงพูดอันสลับซับซ้อนทั้งสิ้นสำหรับแต่ละระบบภาษาซึ่งมีอยู่มากมาย. ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้สร้างภาษาทั้งสิ้น. อำนาจของพระองค์ในการควบคุมภาษามนุษย์มีแสดงให้เห็นโดยการอัศจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงทำที่หอบาเบล. (เอ็ก. 4:11; เย. 11:6-9; 10:5; 1 โก. 13:1) ไม่มีภาษาใดที่พระยะโฮวาไม่รู้จัก. พระองค์ไม่เพียงประทานภาษาแรกคือภาษาฮีบรูแก่มนุษย์เท่านั้น แต่โดยที่พระองค์ทรงสร้างจิตใจและอวัยวะสำหรับพูด พระองค์ทรงวางพื้นฐานไว้สำหรับภาษาอาระเมอิกและกรีกรวมทั้งภาษาทั้งหมดอีกประมาณ 3,000 ภาษาที่มนุษยชาติพูดกันในปัจจุบันนี้ด้วย.
ภาษาแห่งความจริง
12, 13. (ก) พระยะโฮวาทรงทำอย่างไรเพื่อให้ข่าวสารของพระองค์เป็นที่เข้าใจได้ง่าย? (ข) จงยกตัวอย่าง.
12 ไม่ว่าพระยะโฮวาทรงใช้ภาษามนุษย์ภาษาใดก็ตาม ในทุกกรณีพระองค์ทรงสื่อความด้วยภาษาแห่งความจริง ไม่ใช่ด้วยความลึกลับทางศาสนา. นั่นเป็นภาษาธรรมดาและเข้าใจง่าย. (ซฟัน. 3:9) มนุษย์บนโลกนี้สามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นสามมิติได้ง่าย คือสิ่งที่มีความสูง, ความกว้าง, และความยาว และถูกจัดไว้ในกระแสเวลา. เหตุฉะนั้น พระยะโฮวาจึงได้ทรงใช้สิ่งต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่ไม่ปรากฏแก่ตา อันเป็นสิ่งที่จิตใจมนุษย์เข้าใจได้. ตัวอย่างเช่น พลับพลาประชุมที่พระเจ้าทรงออกแบบซึ่งโมเซก่อตั้งขึ้นในถิ่นทุรกันดาร. ภายใต้การดลใจ เปาโลได้ใช้สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์รูปสามมิติในพลับพลาประชุมนั้นเพื่ออธิบายของจริงอันมีสง่าราศีที่อยู่ในสวรรค์.—เฮ็บ. 8:5; 9:9.
13 อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พระยะโฮวาผู้ทรงเป็นวิญญาณ ไม่ทรงประทับบนราชบัลลังก์จริง ๆ ในสวรรค์. อย่างไรก็ตาม กับพวกเราซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ มีขีดจำกัดเฉพาะสิ่งเป็นจริงที่ประจักษ์แก่ตา พระเจ้าตรัสโดยใช้สัญลักษณ์ที่เห็นได้เพื่อถ่ายทอดความเข้าใจ. เมื่อพระองค์ทรงเริ่มกระบวนพิจารณาคดีในสวรรค์ นั่นก็เหมือนคราวที่กษัตริย์บนแผ่นดินโลกเริ่มกระบวนพิจารณาคดีด้วยการเสด็จขึ้นประทับบนราชบัลลังก์.—ดานิ. 7:9-14.
แปลง่าย
14, 15. เหตุใดคัมภีร์ไบเบิลจึงแปลเป็นภาษาอื่น ๆ ได้ง่าย เมื่อเทียบกับหนังสือปรัชญาที่มนุษย์เขียนขึ้น? จงยกตัวอย่างประกอบ.
14 เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลถูกเขียนด้วยถ้อยคำธรรมดา ๆ เข้าใจได้ง่าย จึงเป็นไปได้ที่จะแปลสัญลักษณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาส่วนใหญ่ในสมัยปัจจุบันอย่างชัดเจนและถูกต้องแม่นยำ. อำนาจและพลังดั้งเดิมของความจริงถูกรักษาไว้ในฉบับแปลทุกฉบับ. คำง่าย ๆ ที่ใช้ประจำวัน เช่น “ม้า,” “สงคราม,” “มงกุฎ,” “บัลลังก์,” “สามี,” “ภรรยา,” และ “ลูก” ต่างก็สื่อแนวคิดที่ถูกต้องชัดเจนในทุก ๆ ภาษา. ไม่เหมือนกับหนังสือปรัชญาของมนุษย์ซึ่งบ่อยครั้งยากจะแปลเป็นภาษาอื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ. คำพูดที่สลับซับซ้อนและคำศัพท์ที่คลุมเครือไม่แน่นอน บ่อยครั้งไม่สามารถถ่ายทอดเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ตรงความหมาย.
15 พลังอำนาจแห่งถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเหนือกว่ามาก. แม้แต่คราวที่พระเจ้าทรงถ่ายทอดข่าวการพิพากษาแก่ผู้ไม่มีความเชื่อ พระองค์ก็ไม่ได้ใช้ภาษาทางปรัชญา แต่ทรงใช้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นสัญลักษณ์. เรื่องนี้เห็นได้ที่ดานิเอล 4:10-12. ในที่นี้มีการใช้ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์แทนเพื่อพรรณนารายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับอาณาจักรของกษัตริย์นอกรีตที่ยกย่องตัวเอง ครั้นแล้ว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับต้นไม้นั้น จึงมีการบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างถูกต้องแม่นยำ. เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดอย่างชัดเจนในฉบับแปลภาษาอื่น ๆ. ด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงสื่อความด้วยวิธีนี้เพื่อว่า “ความรู้แท้จะมีอุดมบริบูรณ์.” การทำเช่นนี้ช่วยให้เข้าใจคำพยากรณ์ใน “เวลาอวสาน” นี้ได้อย่างดีเยี่ยมจริง ๆ!—ดานิ. 12:4, ล.ม.
เส้นทางการสื่อสาร
16. จะชี้แจงคร่าว ๆ อย่างไรเกี่ยวกับช่องทางการสื่อสารของพระยะโฮวา?
16 อาจมีคนถามว่า “การสื่อสารเคยทำกันอย่างไร?” สิ่งนี้อาจแสดงให้เห็นได้ดีด้วยตัวอย่างในสมัยปัจจุบัน. เส้นทางการสื่อสารมี (1) ผู้กล่าว หรือต้นตอข่าวสาร; (2) ผู้ถ่ายทอด; (3) สื่อที่ข่าวสารนั้นส่งผ่าน; (4) ผู้รับ; และ (5) ผู้ฟัง. ในการสื่อสารทางโทรศัพท์ก็มี (1) ผู้ใช้โทรศัพท์ที่เริ่มการสื่อสาร; (2) เครื่องโทรศัพท์ ซึ่งแปลงข่าวสารเป็นสัญญาณไฟฟ้า; (3) สายโทรศัพท์ที่นำสัญญาณไฟฟ้าไปยังปลายทาง; (4) เครื่องรับซึ่งแปลงข่าวสารจากสัญญาณกลับเป็นเสียงพูดอีก; และ (5) ผู้ฟัง. เช่นเดียวกับในสวรรค์ (1) พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเริ่มคำตรัส; (2) แล้วพระวาทะหรือโฆษกทางการของพระองค์ ซึ่งบัดนี้รู้จักกันว่าพระเยซูคริสต์ มักถ่ายทอดข่าวสารนั้น; (3) พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า พลังปฏิบัติการที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารนั้นนำส่งข่าวสารมายังแผ่นดินโลก; (4) ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกรับข่าวสาร; (5) แล้วเขาจึงประกาศข่าวสารนั้นเพื่อประโยชน์ของไพร่พลของพระเจ้า. เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่บางครั้งอาจใช้ผู้ส่งข่าวเพื่อส่งข่าวสารสำคัญ ดังนั้น ในบางโอกาสพระยะโฮวาก็ทรงเลือกใช้ผู้ส่งข่าวที่เป็นกายวิญญาณ หรือทูตสวรรค์ ให้นำข่าวสารบางอย่างจากสวรรค์ไปยังผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก.—ฆลา. 3:19; เฮ็บ. 2:2.
วิธีการดลใจ
17. คำภาษากรีกอะไรที่ได้รับการแปลว่า “โดยการดลใจจากพระเจ้า” และความหมายของคำนี้ช่วยเราอย่างไรให้เข้าใจกระบวนการของการดลใจ?
17 คำว่า “โดยการดลใจจากพระเจ้า” แปลจากคำภาษากรีก เทโอʹพเนฟสตอส หมายความว่า “ถูกพระเจ้าเป่า.” (ดู 2 ติโมเธียว 3:16, เชิงอรรถแรกในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง, ภาษาอังกฤษ.) พระเจ้าได้ทรง “เป่า” พระวิญญาณ คือพลังปฏิบัติการของพระองค์เอง ลงบนชายที่ซื่อสัตย์ซึ่งกระตุ้นพวกเขาให้รวบรวมและเขียนพระคัมภีร์บริสุทธิ์ขึ้นมา. วิธีการนี้เรียกกันว่าการดลใจ. พวกผู้พยากรณ์และผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ของพระยะโฮวาที่อยู่ใต้การดลใจได้ให้ความคิดจิตใจของตนถูกควบคุมโดยพลังปฏิบัติการนี้. ทั้งนี้หมายความว่า พวกเขาได้รับข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงภาพแห่งพระประสงค์จากพระเจ้าและสิ่งเหล่านี้ฝังแน่นในความคิดจิตใจของเขา. “เพราะไม่มีคราวใดที่มีการนำคำพยากรณ์ออกมาตามน้ำใจของมนุษย์ แต่มนุษย์ได้กล่าวมาจากพระเจ้า ตามที่เขาได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—2 เป. 1:21; โย. 20:21, 22, ล.ม.
18. ข่าวสารต่าง ๆ ที่มีขึ้นโดยการดลใจประทับในใจผู้รับที่เป็นมนุษย์ลึกซึ้งแค่ไหน?
18 ขณะที่คนของพระเจ้าเหล่านี้ตื่นอยู่และรู้สึกตัวดี หรือไม่ก็ขณะที่เขานอนหลับฝันอยู่ พระวิญญาณของพระองค์ได้ใส่ข่าวสารที่มาจากพระเจ้าผู้เป็นต้นทางการสื่อสารไว้ในจิตใจของเขาอย่างมั่นคง. เมื่อได้รับข่าวสาร ผู้พยากรณ์มีหน้าที่รับผิดชอบในการถ่ายทอดเรื่องนั้นออกมาเป็นคำพูดให้คนอื่น ๆ ทราบ. คราวเมื่อโมเซและผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ กลับเป็นขึ้นจากตาย พวกเขาจะสามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนถึงความถูกต้องแม่นยำของบันทึกที่พวกเขาได้เขียนซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้ เพราะว่าจิตใจที่หยั่งรู้ค่าซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ของพวกเขาคงจะยังมีข่าวสารดั้งเดิมอยู่ในความทรงจำอย่างชัดเจน. ในทำนองเดียวกัน อัครสาวกเปโตรประทับใจกับนิมิตการจำแลงพระกายของพระเยซูมากถึงขนาดที่ท่านสามารถเขียนถึงความยิ่งใหญ่ของเหตุการณ์นั้นได้อย่างชัดเจนมีชีวิตชีวาในอีกกว่าสามสิบปีให้หลัง.—มัด. 17:1-9; 2 เป. 1:16-21.
ผู้ประพันธ์และนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์
19. “นิ้วพระหัตถ์” ของพระเจ้าคืออะไร ดังที่พิสูจน์โดยพระคัมภีร์ข้อไหนบ้าง?
19 ผู้ประพันธ์ที่เป็นมนุษย์ใช้นิ้วมือในการเขียน ในสมัยโบราณเขาเขียนด้วยปากกาหรือเหล็กแหลม และในสมัยใหม่เขียนด้วยปากกา, เครื่องพิมพ์ดีด, หรือคอมพิวเตอร์. สิ่งที่ผลิตขึ้นมาโดยนิ้วมือเหล่านี้ว่ากันว่าถูกประพันธ์ขึ้นโดยจิตใจของเจ้าของนิ้วนั้น. คุณทราบไหมว่าพระเจ้าทรงมีนิ้วพระหัตถ์? ที่ว่ามีก็เพราะพระเยซูตรัสถึงพระวิญญาณของพระเจ้าว่าเป็น “นิ้วพระหัตถ์” ของพระองค์. คราวเมื่อพระเยซูทรงรักษาผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกผีสิงให้เขากลับพูดและเห็นได้อีกนั้น พวกนักศาสนาที่เป็นศัตรูได้พูดหมิ่นประมาทวิธีที่พระเยซูทรงใช้ในการรักษาชายผู้นั้น. ตามที่มัดธายกล่าว พระเยซูได้ตรัสกับพวกเขาดังนี้: “ถ้าเราขับผีออกด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า, แผ่นดินของพระเจ้าก็มาถึงท่านแล้ว.” (มัด. 12:22, 28) ลูกาช่วยให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นโดยยกคำตรัสของพระเยซูในโอกาสคล้ายกันมากล่าวดังนี้: “ถ้าเราขับผีออกด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า. แผ่นดินของพระเจ้าก็มาถึงท่านแล้ว.” (ลูกา 11:20) โอกาสหนึ่งก่อนสมัยนั้น พวกพระนักเวทมนตร์ของอียิปต์จำใจต้องยอมรับว่า ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดแก่อียิปต์นั้นเป็นการสำแดงฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวาซึ่งยิ่งใหญ่กว่า โดยยอมรับว่า “เหตุนี้เป็นกิจการแห่งนิ้วพระหัตถ์พระเจ้า.”—เอ็ก. 8:18, 19.
20. “นิ้วพระหัตถ์” ของพระเจ้าได้ดำเนินงานอย่างไร และผลเป็นประการใด?
20 สอดคล้องกับการใช้คำ “นิ้วพระหัตถ์” ในกรณีเหล่านี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า “นิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า” มีฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง และคำนี้จึงใช้เหมาะมากกับพระวิญญาณของพระองค์เพราะพระองค์ทรงใช้พระวิญญาณนั้นในการเขียนคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น พระคัมภีร์จึงแจ้งแก่เราว่า โดย “นิ้วพระหัตถ์ของพระองค์” พระเจ้าทรงจารึกพระบัญญัติสิบประการไว้บนศิลาสองแผ่น. (เอ็ก. 31:18; บัญ. 9:10) เมื่อพระเจ้าทรงใช้มนุษย์ให้เขียนพระธรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลบริสุทธิ์ นิ้วพระหัตถ์โดยนัย หรือพระวิญญาณของพระองค์ เป็นพลังควบคุมที่อยู่เบื้องหลังปากกาของคนเหล่านั้นเช่นกัน. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าไม่ปรากฏแก่ตา แต่ได้ดำเนินงานในวิธีที่น่าพิศวง ก่อผลที่มองเห็นได้จนมนุษย์ได้รับของประทานล้ำค่าอันได้แก่พระคำแห่งความจริงของพระเจ้า คือคัมภีร์ไบเบิลของพระองค์. ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิลคือพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้สื่อความฝ่ายสวรรค์.
การรวบรวมที่ได้รับการดลใจเริ่มต้น
21. (ก) การเขียนพระคัมภีร์เริ่มต้นอย่างไร? (ข) พระยะโฮวาได้ทรงจัดให้มีการรักษาพระคัมภีร์ไว้ด้วยวิธีใด?
21 ดังที่ทราบแล้ว พระยะโฮวา “ได้ประทานคำปฏิญาณ, จารึกไว้ด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์บนแผ่นศิลาสองแผ่น.” (เอ็ก. 31:18) คำจารึกเหล่านี้ประกอบด้วยพระบัญญัติสิบประการ และนับว่าน่าสนใจที่ในข้อความนี้มีพระนามของพระเจ้า คือ ยะโฮวา ปรากฏอย่างเป็นทางการถึงแปดครั้ง. ในปีเดียวกันนั้นคือปี 1513 ก.ส.ศ. พระยะโฮวาตรัสสั่งให้โมเซเริ่มทำบันทึกถาวร. การเขียนพระคัมภีร์บริสุทธิ์จึงเริ่มต้น. (เอ็ก. 17:14; 34:27) อนึ่ง พระเจ้ายังตรัสสั่งให้โมเซทำ “หีบคำปฏิญาณ” หรือ “หีบพันธสัญญา” หีบซึ่งทำด้วยฝีมือประณีตงดงามที่พวกยิศราเอลจะต้องเก็บรักษาข้อความอันทรงค่าสูงสุดนี้ไว้ข้างใน. (เอ็ก. 25:10-22; 1 กษัต. 8:6, 9, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงประทานแบบของหีบพันธสัญญาและพลับพลาซึ่งเป็นที่เก็บหีบนั้น; และบะซาเลลหัวหน้าช่างฝีมือและช่างก่อสร้างก็เปี่ยม “ด้วยพระวิญญาณของพระเจ้าให้มีสติปัญญาและความเข้าใจ และความรู้ในการช่างฝีมือต่าง ๆ” เพื่อจะสามารถทำงานของเขาให้สำเร็จตามแบบที่พระเจ้าทรงให้ไว้.—เอ็ก. 35:30-35, ฉบับแปลใหม่.
22. (ก) ใครคือผู้ประพันธ์พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ และการเขียนใช้เวลานานแค่ไหน? (ข) ผู้ร่วมเขียนพระคัมภีร์คือใครบ้าง และเรารู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขา?
22 ในการเผยให้ทราบพระประสงค์ของพระองค์ พระเจ้า “ได้ตรัส . . . หลายครั้งหลายคราว และด้วยวิธีต่าง ๆ” เป็นระยะเวลานานทีเดียว. (เฮ็บ. 1:1, ฉบับอมตธรรมเพื่อชีวิต) เหล่าผู้บันทึกที่เขียนพระคำของพระองค์ได้เขียนตั้งแต่ปี 1513 ก.ส.ศ. จนถึงประมาณปีสากลศักราช 98 หรือในช่วงเวลาราว 1,610 ปี. พระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ประพันธ์องค์เดียว ทรงใช้อาลักษณ์หรือเลขานุการซึ่งเป็นมนุษย์เหล่านี้ประมาณ 40 คน. ผู้มีส่วนร่วมเขียนทั้งหมดนี้เป็นชาวฮีบรู และดังนั้นสมาชิกของชนชาตินี้จึง “ได้เป็นผู้รับมอบพระคัมภีร์โอวาทของพระเจ้าให้รักษา.” (โรม 3:2) แปดคนในพวกเขาเป็นคริสเตียนชาวยิวซึ่งได้รู้จักพระเยซูเป็นส่วนตัวหรือจากอัครสาวกของพระองค์. ส่วนของพระคัมภีร์ที่เขียนโดยการดลใจก่อนสมัยของพวกเขานั้นได้ให้คำพยานถึงการเสด็จมาของพระมาซีฮาหรือพระคริสต์. (1 เป. 1:10, 11) ถึงแม้ถูกเรียกมาจากหลายแวดวงก็ตาม ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้บนแผ่นดินโลก ตั้งแต่โมเซจนถึงอัครสาวกโยฮัน ล้วนมีส่วนร่วมในการยกย่องพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาพระเจ้าและการประกาศถึงพระประสงค์ของพระองค์บนแผ่นดินโลก. พวกเขาเขียนในพระนามของพระยะโฮวาและโดยอำนาจแห่งพระวิญญาณของพระองค์.—ยิระ. 2:2, 4; ยเอศ. 6:3; 2 ซามู. 23:2; กิจ. 1:16; วิ. 1:10.
23. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลบางคนใช้บันทึกอะไรบ้างจากสมัยก่อน ๆ และบันทึกเหล่านั้นได้กลายมาเป็นส่วนในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจโดยวิธีใด?
23 ผู้เขียนเหล่านี้หลายคนได้นำเอาสิ่งที่รวบรวมจากเอกสารของเหล่าประจักษ์พยานที่ผู้เขียนยุคก่อน ๆ ได้ทำไว้มารวมเข้าในบันทึกของตนด้วย ซึ่งไม่ใช่ผู้เขียนยุคก่อนทุกคนได้รับการดลใจ. ตัวอย่างเช่น โมเซอาจได้รวบรวมหลายส่วนของพระธรรมเยเนซิศจากบันทึกของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ เหมือนกับที่ซามูเอลอาจได้ทำเมื่อเขียนพระธรรมวินิจฉัย. ยิระมะยาได้รวบรวมพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นและฉบับสอง และเอษราเขียนโครนิกาทั้งสองฉบับด้วยวิธีเดียวกันนี้เป็นส่วนใหญ่. พระวิญญาณบริสุทธิ์ชี้นำผู้รวบรวมเหล่านี้ในการกำหนดว่าส่วนไหนของเอกสารของคนรุ่นก่อนที่ควรรวมเข้าไว้ ด้วยวิธีนี้จึงยืนยันว่าข้อความที่รวบรวมเหล่านี้เชื่อถือได้. ตั้งแต่เวลาที่มีการรวบรวมนั้นเป็นต้นมา ข้อความที่คัดมาจากเอกสารของคนรุ่นก่อนนั้นได้กลายมาเป็นส่วนของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ.—เย. 2:4; 5:1; 2 กษัต. 1:18; 2 โคร. 16:11.
24, 25. (ก) ในพระคัมภีร์มีกล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงไหน? (ข) จงชี้ถึงข้อเท็จจริงบางอย่างที่น่าสนใจในแผนภูมิหน้า 14.
24 พระธรรม 66 เล่มในคัมภีร์ไบเบิลมาถึงเราตามลำดับเช่นไร? ส่วนไหนของกระแสเวลาไม่รู้สิ้นสุดที่มีการกล่าวถึงในพระธรรมเหล่านั้น? หลังจากที่พรรณนาถึงการทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกรวมทั้งการตระเตรียมแผ่นดินโลกให้เป็นบ้านของมนุษย์แล้ว เรื่องราวในเยเนซิศจึงเริ่มต้นที่ประวัติศาสตร์มนุษย์ตั้งแต่การทรงสร้างมนุษย์คนแรกในปี 4026 ก.ส.ศ. จากนั้นหนังสือศักดิ์สิทธิ์จึงบรรยายถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังปี 443 ก.ส.ศ. เล็กน้อย. แล้วหลังจากข้ามช่วงเวลากว่า 400 ปีไปแล้ว เรื่องราวก็เริ่มต้นอีกในปี 3 ก.ส.ศ. จนถึงราว ๆ ปี ส.ศ. 98. ดังนั้น จากแง่ประวัติศาสตร์ พระคัมภีร์คลุมระยะเวลาถึง 4,123 ปี.
25 แผนภูมิในหน้า 14 จะช่วยให้เข้าใจภูมิหลังของผู้เขียนพระคัมภีร์รวมทั้งลำดับเวลาที่ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลมาถึงเรา.
“หนังสือ” แห่งความจริงของพระเจ้าที่ครบถ้วน
26. คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ครบถ้วนในเล่มเดียวโดยวิธีใด?
26 พระคัมภีร์บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการรวบรวมตั้งแต่เยเนซิศจนถึงวิวรณ์ ประกอบเป็นหนังสือที่ครบถ้วนในเล่มเดียว เป็นห้องสมุดที่ครบถ้วนในห้องเดียว ทั้งหมดมีขึ้นโดยการดลใจจากผู้ประพันธ์องค์สูงสุด. พระธรรมเหล่านั้นไม่ควรถูกแบ่งเป็นสองส่วน เพื่อให้ส่วนหนึ่งมีคุณค่าน้อยกว่าอีกส่วนหนึ่ง. พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกต่างก็มีความสำคัญต่อกัน. ส่วนหลังเสริมส่วนแรกเพื่อประกอบเป็นหนังสือแห่งความจริงของพระเจ้าที่ครบถ้วนในเล่มเดียว. พระธรรมทั้ง 66 เล่มรวมกัน ประกอบเป็นห้องสมุดห้องเดียวแห่งพระคัมภีร์บริสุทธิ์.—โรม 15:4.
27. เหตุใดคำว่า “พันธสัญญาเดิม” และ “พันธสัญญาใหม่” เป็นการเรียกที่ผิด?
27 เป็นแบบแผนที่ผิดที่แบ่งพระคำของพระเจ้าที่เขียนไว้นั้นออกเป็นสองส่วน โดยเรียกส่วนแรกจากเยเนซิศถึงมาลาคีว่า “พันธสัญญาเดิม” และเรียกส่วนที่สองจากมัดธายถึงวิวรณ์ว่า “พันธสัญญาใหม่.” ที่ 2 โกรินโธ 3:14 พระคัมภีร์ไทยฉบับแปลใหม่บอกถึงการ “อ่านพันธสัญญาเดิม” แต่ในที่นี้อัครสาวกไม่ได้หมายถึงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมด. เช่นกัน ท่านไม่ได้หมายความว่าข้อความต่าง ๆ ที่คริสเตียนเขียนด้วยการดลใจนั้นประกอบกันเป็น “พันธสัญญาใหม่.” อัครสาวกกล่าวถึงสัญญาไมตรีทางพระบัญญัติ ที่โมเซบันทึกไว้ในเพนทาทุกและที่ประกอบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ที่จารึกก่อนสมัยคริสเตียน. ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวในข้อถัดไปว่า ‘ขณะใดที่เขาอ่านคำของโมเซ.’ คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “พันธสัญญา” ในพระคัมภีร์ไทยฉบับแปลใหม่นั้น ในฉบับแปลภาษาไทยอื่น ๆ แปลว่า “คำสัญญา” หรือ “สัญญาไมตรี.”—มัด. 26:28; 2 โก. 3:6, 14, ฉบับแปลเก่า, ล.ม.
28. มีการให้คำรับรองอะไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล?
28 สิ่งที่ถูกเขียนและเก็บรักษาไว้เป็นพระคัมภีร์บริสุทธิ์นั้นจะต้องไม่มีการแก้ไขให้ผิดแผกไป. (บัญ. 4:1, 2; วิ. 22:18, 19) ในเรื่องนี้อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “แต่ว่ามาตรแม้นเราก็ดี, หรือทูตสวรรค์ก็ดี, จะมาประกาศกิตติคุณอื่นแก่ท่าน, นอกจากที่เราได้ประกาศแก่ท่านแล้ว, ก็ให้ผู้นั้นถูกแช่งสาป.” (ฆลา. 1:8; ดูโยฮัน 10:35 ด้วย.) คำพยากรณ์ทั้งหมดของพระยะโฮวาจะต้องสำเร็จเป็นจริงในเวลาอันควร. “ถ้อยคำที่ออกไปจากปากของเราจะไม่ได้กลับมายังเราโดยไร้ผล, และโดยยังมิได้ทำอะไรให้สำเร็จตามความพอใจของเรา, และสัมฤทธิ์ผลสมประสงค์ดังที่เราได้ใช้มันไปทำฉันนั้น.”—ยซา. 55:11.
การพิจารณาพระคัมภีร์
29. ในหนังสือนี้มีการให้ข้อมูลเบื้องต้นอะไรเมื่อตรวจดูพระธรรมแต่ละเล่มในคัมภีร์ไบเบิลตามลำดับ?
29 ถัดจากนี้ไปจะเป็นการพิจารณาพระธรรมทั้ง 66 เล่มแห่งพระคัมภีร์บริสุทธิ์ตามลำดับ. มีการอธิบายฉากเหตุการณ์ในพระธรรมแต่ละเล่มและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เขียน, เวลาที่เขียน, และในบางกรณีก็เกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้น. นอกจากนี้ยังมีการเสนอข้อพิสูจน์เพื่อแสดงว่าพระธรรมนั้นเชื่อถือได้และจึงเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจริง ๆ. ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้อาจพบในคำตรัสของพระเยซูคริสต์หรือในข้อความที่ผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระเจ้าเขียนไว้โดยการดลใจ. บ่อยครั้งที่ความน่าเชื่อถือของพระธรรมนั้นมีการเผยให้เห็นจากความสำเร็จเป็นจริงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ของคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์หรือจากหลักฐานภายในพระธรรมเล่มนั้นเอง เช่น ความสอดคล้องลงรอยกัน, ความสัตย์จริง, และความตรงไปตรงมา. หลักฐานสนับสนุนอาจได้จากการค้นพบทางโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ของทางโลก.
30. มีการเสนอเนื้อหาของพระธรรมแต่ละเล่มในคัมภีร์ไบเบิลในลักษณะใด?
30 ขณะพรรณนาเนื้อหาของพระธรรมแต่ละเล่ม จะมุ่งพยายามให้ข่าวสารที่ทรงพลังของผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลเด่นชัดเพื่อจะทำให้หัวใจผู้อ่านเกิดความรักลึกซึ้งต่อพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจและต่อพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงประพันธ์พระคัมภีร์ และโดยวิธีนี้จึงเพิ่มพูนความหยั่งรู้ค่าต่อข่าวสารอันมีชีวิตแห่งพระคำของพระเจ้าด้วยทุกลักษณะที่ใช้การได้จริง, ความสอดคล้องลงรอยกัน, และความไพเราะ. เนื้อหาในพระธรรมแต่ละเล่มจัดเป็นวรรค ๆ ภายใต้หัวข้อย่อย. ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการศึกษา และมิได้หมายความว่านี่เป็นการแบ่งพระธรรมต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ออกเป็นส่วนย่อยโดยพลการ. พระธรรมแต่ละเล่มครบถ้วนในตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนเสริมอันมีคุณค่าให้เข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้า.
31. (ก) มีการให้ข้อมูลอะไรบ้างเพื่อบอกให้ทราบเหตุผลที่พระธรรมแต่ละเล่มเป็นประโยชน์? (ข) ตลอดการพิจารณาพระธรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล มีการเน้นให้เห็นเด่นชัดเสมอถึงสาระสำคัญอันรุ่งโรจน์อะไร?
31 ในตอนท้ายพระธรรมแต่ละเล่ม การพิจารณาชี้ให้เห็นเหตุผลที่ส่วนนี้ของพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ “เป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโม. 3:16, ล.ม.) มีการพิจารณาเรื่องความสำเร็จของคำพยากรณ์ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยคำพยานที่ได้รับการดลใจของผู้เขียนพระคัมภีร์สมัยหลัง ๆ. ในแต่ละกรณี มีการแสดงให้เห็นว่าพระธรรมนั้น ๆ ช่วยขยายสาระสำคัญทั้งหมดของคัมภีร์ไบเบิลให้ชัดขึ้น. คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่นิยาย. คัมภีร์ไบเบิลมีข่าวสารอย่างเดียวที่มีชีวิตสำหรับมนุษยชาติ. ตั้งแต่เยเนซิศพระธรรมเล่มแรกจนถึงวิวรณ์พระธรรมเล่มสุดท้าย พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจยืนยันพระประสงค์ของพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างเอกภพ นั่นคือเพื่อทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยทางราชอาณาจักรซึ่งปกครองโดยพงศ์พันธุ์ของพระองค์. ในพระประสงค์นี้แหละมีความหวังอันรุ่งโรจน์สำหรับทุกคนที่รักความชอบธรรม.—มัด. 12:18, 21.
32. มีข้อมูลอะไรที่จัดให้เพื่อเพิ่มพูนความหยั่งรู้ค่าคัมภีร์ไบเบิล?
32 หลังจากพิจารณาพระธรรมทั้ง 66 เล่มแล้ว เรายังจัดเนื้อที่ไว้เพื่อให้รายละเอียดของภูมิหลังอันเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. ส่วนนี้รวมถึงการค้นคว้าด้านภูมิศาสตร์ของแผ่นดินแห่งคำทรงสัญญา, การนับวันเวลาของเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิล, การแปลคัมภีร์ไบเบิล, หลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานสนับสนุนอื่น ๆ เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งข้อพิสูจน์เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อพระธรรมในคัมภีร์ไบเบิล. รายละเอียดและตารางอื่น ๆ ที่ทรงคุณค่าก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย. ทั้งหมดนี้จัดไว้เพื่อเพิ่มพูนความหยั่งรู้ค่าคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นหนังสือที่ใช้ได้ผลที่สุดและมีประโยชน์ที่สุดในโลกทุกวันนี้.
33. อาจพรรณนาถึงคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร และการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้ประโยชน์อย่างไร?
33 พระเจ้าผู้ทรงประพันธ์พระคัมภีร์ได้ตรัสกับมนุษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วนยิ่ง. พระองค์ได้ทรงสำแดงความรักอันลึกซึ้งและความใฝ่พระทัยเยี่ยงบิดาในสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อบุตรทั้งหลายของพระองค์บนแผ่นดินโลก. นับเป็นเอกสารอันน่าทึ่งจริง ๆ ที่มีขึ้นโดยการดลใจที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้ให้พวกเราในรูปของพระคัมภีร์บริสุทธิ์! จริง ๆ แล้ว นี่เป็นทรัพย์ประเสริฐอันหาที่เปรียบมิได้ เป็นห้องสมุดแห่งข้อมูลความรู้ที่กว้างขวาง ‘ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดลใจ’ มีคุณค่าสูงกว่าและมีขอบข่ายกว้างกว่าบทประพันธ์ของมนุษย์มากนัก. การทุ่มเทตนเพื่อศึกษาพระคำของพระเจ้าจะไม่ทำให้ “กายละเหี่ยไป” แต่จะก่อประโยชน์ถาวรแก่ผู้ที่รู้จัก “คำตรัสของพระยะโฮวา [ซึ่ง] ดำรงอยู่เป็นนิตย์.”—ผู้ป. 12:12; 1 เป. 1:24, 25, ล.ม.
[แผนภูมิหน้า 14]
ผู้เขียนพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจและข้อความที่เขาเขียน
(เรียงตามลำดับเวลา)
ลำดับ ผู้เขียน สถานภาพ เขียนเสร็จ พระธรรมที่เขียน
1. โมเซ ผู้คงแก่เรียน, 1473 ก.ส.ศ. เยเนซิศ; เอ็กโซโด;
คนเลี้ยงแกะ, เลวีติโก; โยบ; อาฤธโม;
ผู้พยากรณ์, ผู้นำ พระบัญญัติ; เพลงสรรเสริญบท 90
(อาจเป็นบท 91 ด้วย)
2. ยะโฮซูอะ ผู้นำ ป. 1450 ก.ส.ศ. ยะโฮซูอะ
3. ซามูเอล ชาวเลวี, ผู้พยากรณ์ ก่อน ป. 1080 ก.ส.ศ. วินิจฉัย;
ประวัตินางรูธ;
บางส่วนของซามูเอลฉบับต้น
4. ฆาด ผู้พยากรณ์ ป. 1040 ก.ส.ศ. บางส่วนของซามูเอลฉบับ
ต้น; ซามูเอลฉบับสอง (ร่วมกับนาธาน
ทั้งสองเล่ม)
5. นาธาน ผู้พยากรณ์ ป. 1040 ก.ส.ศ. ดูข้างบน (ร่วมกับฆาด)
6. ดาวิด กษัตริย์, คนเลี้ยงแกะ, 1037 ก.ส.ศ. เพลงสรรเสริญ
นักดนตรี หลายบท
7. บุตรโครา เพลงสรรเสริญ บางบท
8. อาซาฟ นักร้อง เพลงสรรเสริญ บางบท
9. เฮมาน ปราชญ์ เพลงสรรเสริญ บท 88
10. เอธาน ปราชญ์ เพลงสรรเสริญ บท 89
11. ซะโลโม กษัตริย์, ผู้ก่อสร้าง, ป. 1000 ก.ส.ศ. สุภาษิต ส่วนใหญ่;
ปราชญ์ เพลงไพเราะของซะโลโม;
ท่านผู้ประกาศ; เพลงสรรเสริญ
บท 127
12. อาฆูร สุภาษิต บท 30
13. ละมูเอล กษัตริย์ สุภาษิต บท 31
14. โยนา ผู้พยากรณ์ ป. 844 ก.ส.ศ. โยนา
15. โยเอล ผู้พยากรณ์ ป. 820 ก.ส.ศ.(?) โยเอล
16. อาโมศ คนเลี้ยงสัตว์, ผู้พยากรณ์ ป. 804 ก.ส.ศ. อาโมศ
17. โฮเซอา ผู้พยากรณ์ หลัง 745 ก.ส.ศ. โฮเซอา
18. ยะซายา ผู้พยากรณ์ หลัง 732 ก.ส.ศ. ยะซายา
19. มีคา ผู้พยากรณ์ ก่อน 717 ก.ส.ศ. มีคา
20. ซะฟันยา เจ้าชาย, ผู้พยากรณ์ ก่อน 648 ก.ส.ศ. ซะฟันยา
21. นาฮูม ผู้พยากรณ์ ก่อน 632 ก.ส.ศ. นาฮูม
22. ฮะบาฆูค ผู้พยากรณ์ ป. 628 ก.ส.ศ.(?) ฮะบาฆูค
23. โอบัดยา ผู้พยากรณ์ ป. 607 ก.ส.ศ. โอบัดยา
24. ยะเอศเคล ปุโรหิต, ผู้พยากรณ์ ป. 591 ก.ส.ศ. ยะเอศเคล
25. ยิระมะยา ปุโรหิต, ผู้พยากรณ์ 580 ก.ส.ศ. พงศาวดารกษัตริย์ฉบับ
ต้น และฉบับสอง; ยิระมะยา;
บทเพลงร้องทุกข์ฯ
26. ดานิเอล เจ้าชาย, ผู้ปกครอง, ป. 536 ก.ส.ศ. ดานิเอล
ผู้พยากรณ์
27. ฮาฆี ผู้พยากรณ์ 520 ก.ส.ศ. ฮาฆี
28. ซะคาระยา ผู้พยากรณ์ 518 ก.ส.ศ. ซะคาระยา
29. มาระดะคาย นายกรัฐมนตรี ป. 475 ก.ส.ศ. เอศเธระ
30. เอษรา ปุโรหิต, อาลักษณ์, ป. 460 ก.ส.ศ. โครนิกาฉบับต้น
ผู้บริหาร และฉบับสอง; เอษรา
31. นะเฮมยา ข้าราชสำนัก, ผู้ว่าราชการ หลัง 443 ก.ส.ศ. นะเฮมยา
32. มาลาคี ผู้พยากรณ์ หลัง 443 ก.ส.ศ. มาลาคี
33. มัดธาย คนเก็บภาษี, อัครสาวก ป. 41 ส.ศ. มัดธาย
34. ลูกา แพทย์, มิชชันนารี ป. 61 ส.ศ. ลูกา; กิจการ
35. ยาโกโบ ผู้ดูแล ก่อน 62 ส.ศ. ยาโกโบ
(น้องชายของพระเยซู)
36. มาระโก มิชชันนารี ป. 60-65 ส.ศ. มาระโก
37. เปโตร ชาวประมง, อัครสาวก ป. 64 ส.ศ. เปโตรฉบับต้น
และฉบับสอง
38. เปาโล มิชชันนารี, อัครสาวก, ป. 65 ส.ศ. เธซะโลนิเกฉบับต้น
ช่างทำกระโจม และฉบับสอง; ฆะลาเตีย;
โกรินโธฉบับต้น และฉบับสอง;
โรม; เอเฟโซ; ฟิลิปปอย; โกโลซาย;
ฟิเลโมน; เฮ็บราย; ติโมเธียวฉบับ
ต้น และฉบับสอง; ติโต
39. ยูดา สาวก (น้องชายของ ป. 65 ส.ศ. ยูดา
พระเยซู)
40. โยฮัน ชาวประมง, อัครสาวก ป. 98 ส.ศ. วิวรณ์; โยฮัน; โยฮัน
ฉบับต้น, ฉบับสอง และฉบับสาม