พระยะโฮวาทรงฝึกอบรมผู้บำรุงเลี้ยงเพื่อฝูงแกะของพระองค์
“พระยะโฮวาพระราชทานปัญญา ความรู้และความเข้าใจออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—สุภาษิต 2:6.
1, 2. เหตุใดผู้ชายที่รับบัพติสมาแล้วจึงเอื้อมแขนเพื่อรับเอาหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นในประชาคม?
“ผมมีความสุขมากเมื่อผมได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง” นิกซึ่งได้รับใช้ในฐานะผู้ดูแลมาเจ็ดปีแล้วกล่าวดังข้างต้น. “ผมมองว่าสิทธิพิเศษนี้เปิดโอกาสให้ผมขยายงานรับใช้ที่ถวายแด่พระยะโฮวา. ผมรู้สึกว่าผมเป็นหนี้ที่จะต้องแสดงความขอบคุณพระองค์สำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อผม. ผมยังอยากช่วยสมาชิกในประชาคมอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้เพื่อช่วยเหลือพวกเขาแบบเดียวกับที่ผู้ปกครองคนอื่น ๆ ได้ช่วยเหลือผม.” อย่างไรก็ตาม ความยินดีของเขามีความกังวลคละปนอยู่บ้าง. นิกกล่าวต่อไปว่า “เนื่องจากผมอายุยังไม่ถึง 30 ตอนที่ได้รับการแต่งตั้ง ผมจึงกังวลว่าผมคงจะขาดทักษะที่จำเป็นบางอย่าง เช่น ความสังเกตเข้าใจและสติปัญญา เพื่อจะบำรุงเลี้ยงประชาคมอย่างมีประสิทธิภาพ.”
2 คนที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งให้ดูแลฝูงแกะของพระองค์มีเหตุผลหลายประการที่จะมีความสุข. อัครสาวกเปาโลเตือนผู้ปกครองในเมืองเอเฟโซส์ให้ระลึกถึงเหตุผลอย่างหนึ่งเมื่อท่านยกคำตรัสของพระเยซูขึ้นมากล่าว ที่ว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35) การรับใช้ในฐานะผู้ช่วยงานรับใช้หรือผู้ปกครองทำให้ผู้ชายที่รับบัพติสมาแล้วมีแนวทางเพิ่มขึ้นในการให้ ทั้งแก่พระยะโฮวาและประชาคม. ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยงานรับใช้ทำงานร่วมกับผู้ปกครอง. ผู้ช่วยงานรับใช้เหล่านี้ยังดูแลงานมอบหมายอื่น ๆ อีกหลายอย่างซึ่งต้องใช้เวลามากแต่เป็นงานที่จำเป็น. โดยได้รับแรงกระตุ้นจากความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้าน พี่น้องชายเหล่านี้ถวายการรับใช้ที่มีค่า.—มาระโก 12:30, 31.
3. เหตุใดบางคนอาจลังเลที่จะเอื้อมแขนเพื่อรับเอาสิทธิพิเศษในประชาคม?
3 จะว่าอย่างไรสำหรับผู้ชายคริสเตียนซึ่งอาจลังเลที่จะเอื้อมแขนรับสิทธิพิเศษในการเป็นผู้ช่วยงานรับใช้แล้วก็เป็นผู้ปกครองในที่สุดเนื่องจากเขารู้สึกว่าตนขาดความสามารถ? เช่นเดียวกับนิก เขาอาจกังวลว่าเขาไม่มีทักษะที่จำเป็นเพื่อจะเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ. คุณซึ่งเป็นพี่น้องชายที่รับบัพติสมาแล้วรู้สึกแบบเดียวกันนี้ไหม? ความกังวลเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล. พระยะโฮวาทรงถือว่าผู้บำรุงเลี้ยงที่ทรงแต่งตั้งไว้นั้นต้องให้การสำหรับวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อฝูงแกะ. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดได้รับมาก จะต้องเรียกเอาจากผู้นั้นมาก และผู้ใดได้รับฝากไว้มาก, ก็จะต้องทวงเอาจากผู้นั้นมาก.”—ลูกา 12:48.
4. พระยะโฮวาทรงช่วยเหลือคนที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ให้ดูแลแกะของพระองค์อย่างไร?
4 พระยะโฮวาทรงคาดหมายคนที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้เป็นผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ปกครองให้รับภาระที่หนักเป็นพิเศษนี้ด้วยตัวเองไหม? ไม่เลย พระองค์ทรงจัดเตรียมให้มีความช่วยเหลือที่ใช้ได้จริงซึ่งทำให้พวกเขาไม่เพียงสามารถรับมือได้ แต่จะประสบผลสำเร็จด้วย. ดังพิจารณาไปแล้วในบทความก่อน พระยะโฮวาประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่พวกเขา ซึ่งผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นช่วยพวกเขาให้ดูแลแกะด้วยความอ่อนละมุน. (กิจการ 20:28; ฆะลาเตีย 5:22, 23) นอกจากนั้น พระยะโฮวายังประทานสติปัญญา, ความรู้, และความสังเกตเข้าใจแก่พวกเขาด้วย. (สุภาษิต 2:6) พระองค์ทรงทำเช่นนั้นอย่างไร? ให้เรามาพิจารณาถึงสามวิธีที่พระยะโฮวาทรงฝึกอบรมคนที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้เพื่อให้ดูแลแกะของพระองค์.
ได้รับการฝึกอบรมโดยผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสบการณ์
5. เพราะเหตุใดเปโตรและโยฮันจึงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ?
5 เมื่ออัครสาวกเปโตรและโยฮันยืนอยู่ต่อหน้าศาลซันเฮดริน พวกผู้พิพากษาของศาลนี้ซึ่งเจนจัดในทางโลกถือว่าชายที่ยืนอยู่ต่อหน้าพวกเขานั้น “ขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญ.” อันที่จริง อัครสาวกทั้งสองอ่านออกเขียนได้ เพียงแต่ไม่ได้รับการฝึกอบรมจากพวกรับบีในด้านการศึกษาพระคัมภีร์. ถึงกระนั้น เปโตรและโยฮันกับสาวกคนอื่น ๆ ก็ได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นครูที่มีประสิทธิภาพ กระตุ้นใจหลายคนที่ฟังพวกเขาให้เข้ามาเป็นผู้มีความเชื่อ. ชายที่เป็นคนธรรมดาสามัญเหล่านี้กลายมาเป็นครูที่โดดเด่นได้อย่างไร? หลังจากฟังเปโตรและโยฮันแล้ว ศาลนี้จึง “สำนึกว่าคนทั้งสองเคยอยู่กับพระเยซู.” (กิจการ 4:1-4, 13, ฉบับแปลใหม่) จริงอยู่ พวกเขาได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์. (กิจการ 1:8) แต่เห็นได้ชัด แม้แต่พวกผู้พิพากษาที่ตาบอดฝ่ายวิญญาณเหล่านั้นก็ยังเห็นว่าพระเยซูได้ฝึกอบรมชายเหล่านั้น. ขณะที่พระองค์ทรงอยู่กับพวกเขาบนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงสอนเหล่าอัครสาวกไม่เพียงวิธีรวบรวมชนเยี่ยงแกะเท่านั้น แต่ยังสอนวิธีที่จะบำรุงเลี้ยงเมื่อพวกเขาเข้ามาอยู่ภายในคอกแล้วด้วย.—มัดธาย 11:29; 20:24-28; 1 เปโตร 5:4.
6. พระเยซูและเปาโลวางตัวอย่างไว้เช่นไรในการฝึกอบรมผู้อื่น?
6 หลังจากพระเยซูทรงคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงให้การฝึกอบรมต่อไปแก่คนที่ทรงแต่งตั้งไว้ให้เป็นผู้บำรุงเลี้ยง. (วิวรณ์ 1:1; 2:1–3:22) ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงเลือกเปาโลและจัดการดูแลให้ท่านได้รับการฝึกอบรม. (กิจการ 22:6-10) เปาโลหยั่งรู้ค่าการฝึกอบรมที่ท่านได้รับและถ่ายทอดสิ่งที่ท่านเรียนรู้แก่ผู้ปกครองคนอื่น ๆ. (กิจการ 20:17-35) ตัวอย่างเช่น ท่านใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการฝึกอบรมติโมเธียวให้เป็น “คนงานที่ไม่ต้องอาย” ในการรับใช้พระเจ้า. (2 ติโมเธียว 2:15) สายสัมพันธ์อันใกล้ชิดก่อตัวขึ้นระหว่างท่านทั้งสอง. ก่อนหน้านั้น เปาโลเขียนถึงติโมเธียวว่า “บุตรย่อมปรนนิบัติบิดาฉันใด, เขาได้ปรนนิบัติด้วยกันกับข้าพเจ้าในการประกาศกิตติคุณฉันนั้น.” (ฟิลิปปอย 2:22) เปาโลไม่ได้พยายามทำให้ติโมเธียวหรือใครก็ตามเป็นสาวกของท่านเอง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านสนับสนุนเพื่อนร่วมความเชื่อให้ ‘ประพฤติตามอย่างท่าน, เหมือนที่ท่านประพฤติตามอย่างพระคริสต์.’—1 โกรินโธ 11:1.
7, 8. (ก) ประสบการณ์ของใครแสดงให้เห็นผลดีเมื่อผู้ปกครองเลียนแบบพระเยซูและเปาโล? (ข) ผู้ปกครองควรเริ่มเมื่อไรในการฝึกอบรมคนที่มีแววว่าจะเป็นผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ปกครองได้ในอนาคต?
7 ในการเลียนแบบพระเยซูและเปาโล ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสบการณ์เริ่มฝึกอบรมพี่น้องชายที่รับบัพติสมาแล้ว ซึ่งก็ให้ผลดีคล้าย ๆ กัน. ขอพิจารณาประสบการณ์ของชาด. เขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่บิดามารดานับถือศาสนาต่างกัน แต่เมื่อไม่นานมานี้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง. เขาบอกว่า “ตลอดหลายปีมานี้ ผู้ปกครองที่มีประสบการณ์หลายคนได้ช่วยผมให้ก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. เพราะพ่อผมเป็นผู้ไม่มีความเชื่อ ผู้ปกครองเหล่านี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในตัวผมและกลายเป็นเหมือนพ่อฝ่ายวิญญาณของผม. พวกเขาใช้เวลาฝึกสอนผมในงานรับใช้ และมาในตอนหลัง มีผู้ปกครองคนหนึ่งโดยเฉพาะที่ได้ฝึกผมให้เอาใจใส่งานมอบหมายในประชาคมที่ผมได้รับ.”
8 ดังที่เห็นจากประสบการณ์ของชาด ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีความสังเกตเข้าใจเริ่มฝึกอบรมคนที่มีแววว่าจะเป็นผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ปกครองได้ในอนาคตเป็นเวลานานก่อนที่คนเหล่านี้จะก้าวหน้าถึงขั้นที่มีคุณวุฒิสำหรับสิทธิพิเศษเช่นนั้น. ทำไมจึงจำเป็นต้องทำอย่างนั้น? เพราะคัมภีร์ไบเบิลกำหนดไว้ว่าทั้งผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ปกครองต้องบรรลุมาตรฐานสูงด้านศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่. ต้องมีการ “ทดลองดูความเหมาะสมของคนเหล่านี้ก่อน.”—1 ติโมเธียว 3:1-10, ล.ม.
9. ผู้บำรุงเลี้ยงที่อาวุโสมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร และทำไม?
9 หากพี่น้องชายที่รับบัพติสมาแล้วต้องถูกทดสอบ พวกเขาก็ต้องได้รับการฝึกอบรมเสียก่อนจึงจะยุติธรรม. เพื่อเป็นตัวอย่าง: หากนักเรียนคนหนึ่งถูกเรียกให้เข้าสอบในเรื่องยาก ๆ โดยที่ครูไม่ได้ฝึกสอนเขาในเรื่องนั้นมาก่อนเลย นักเรียนคนนี้จะสอบผ่านไหม? ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือเขาคงจะสอบตก. ด้วยเหตุนั้น จำเป็นต้องมีการฝึกสอน. อย่างไรก็ตาม ครูที่สำนึกในหน้าที่จะฝึกสอนนักเรียนไม่เพียงแค่ให้สอบผ่าน แต่จะช่วยนักเรียนให้ใช้ความรู้ที่พวกเขาได้รับด้วย. คล้ายกัน ผู้ปกครองที่ขยันขันแข็งช่วยพี่น้องชายที่รับบัพติสมาแล้วให้ปลูกฝังคุณลักษณะที่เป็นข้อเรียกร้องสำหรับชายที่จะได้รับการแต่งตั้งโดยช่วยฝึกสอนเขาอย่างเฉพาะเจาะจง. พวกเขาทำอย่างนั้นไม่เพียงเพื่อช่วยให้พี่น้องเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ แต่เพื่อช่วยพวกเขาให้สามารถดูแลฝูงแกะอย่างเหมาะสมด้วย. (2 ติโมเธียว 2:2) แน่ล่ะ พี่น้องชายที่รับบัพติสมาแล้วต้องทำในส่วนของเขาเองและพยายามอย่างหนักเพื่อจะมีคุณวุฒิที่เป็นข้อเรียกร้องของผู้ช่วยงานรับใช้หรือผู้ปกครอง. (ติโต 1:5-9) กระนั้นก็ตาม โดยเต็มใจฝึกสอนคนที่กำลังเอื้อมแขนเพื่อรับเอาหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสบการณ์สามารถช่วยพวกเขาให้ก้าวหน้าเร็วยิ่งขึ้น.
10, 11. ผู้บำรุงเลี้ยงจะฝึกอบรมคนอื่น ๆ เพื่อรับเอาสิทธิพิเศษมากขึ้นต่อไปได้โดยวิธีใด?
10 กล่าวอย่างเจาะจงลงไป ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสบการณ์จะฝึกอบรมคนอื่น ๆ ให้เอาใจใส่หน้าที่อันเป็นสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในประชาคมได้อย่างไร? ก่อนอื่น โดยให้ความสนใจพี่น้องชายในประชาคม—ทำงานกับพวกเขาเป็นประจำในเขตประกาศและช่วยพวกเขาให้พัฒนาความสามารถในการใช้ “พระวจนะแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:15, ฉบับแปลใหม่) ผู้บำรุงเลี้ยงที่อาวุโสจะคุยกับพี่น้องชายเหล่านั้นเกี่ยวกับความยินดีที่ได้รับจากการรับใช้ผู้อื่น และความอิ่มใจที่เขาเองได้รับจากการตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณและบรรลุเป้าหมายนั้น. พวกเขายังให้ข้อเสนอแนะที่เฉพาะเจาะจงอย่างกรุณาเกี่ยวกับวิธีที่พี่น้องชายสามารถพัฒนาตัวจนเป็น “แบบอย่างแก่ฝูงแกะ” ในที่สุด.—1 เปโตร 5:3, 5.
11 เมื่อพี่น้องชายคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ ผู้บำรุงเลี้ยงที่ฉลาดสุขุมก็จะฝึกอบรมเขาต่อไป. บรูซ ซึ่งได้รับใช้เป็นผู้ปกครองมาหลายสิบปี กล่าวว่า “ผมชอบนั่งลงด้วยกันกับผู้ช่วยงานรับใช้ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งและทบทวนกับเขาถึงคำแนะนำที่ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมได้จัดพิมพ์ไว้. เรายังอ่านคำแนะนำที่เป็นแนวปฏิบัติสำหรับงานมอบหมายเฉพาะอย่างที่เขาได้รับด้วย แล้วผมก็จะทำงานด้วยกันกับเขาจนกระทั่งเขาคุ้นเคยกับหน้าที่ของเขาดี.” เมื่อผู้ช่วยงานรับใช้มีประสบการณ์มากขึ้น เขาก็สามารถได้รับการฝึกอบรมในงานบำรุงเลี้ยงด้วย. บรูซกล่าวต่อไปอีกว่า “เมื่อผมพาผู้ช่วยงานรับใช้คนหนึ่งไปด้วยในการเยี่ยมบำรุงเลี้ยง ผมช่วยเขาให้เลือกข้อพระคัมภีร์บางข้อที่จะกระตุ้นและให้กำลังใจพี่น้องคนนั้นหรือครอบครัวนั้นที่เราจะเยี่ยม. การเรียนรู้วิธีใช้ข้อพระคัมภีร์อย่างที่จะกระตุ้นหัวใจนับว่าสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ช่วยงานรับใช้ที่จะก้าวต่อไปจนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพในที่สุด.”—เฮ็บราย 4:12; 5:14.
12. ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสบการณ์จะฝึกอบรมผู้ปกครองที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งได้โดยวิธีใด?
12 ผู้บำรุงเลี้ยงที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งได้รับประโยชน์อย่างมากด้วยจากการฝึกอบรมเพิ่มเติม. นิก ซึ่งได้กล่าวถึงในตอนต้น บอกว่า “การฝึกอบรมที่ผมได้รับเป็นพิเศษจากผู้ดูแลที่อายุมากกว่าสองคนช่วยได้มากจริง ๆ. พี่น้องทั้งสองคนนี้มักจะมีความเข้าใจว่าควรจัดการเรื่องแต่ละเรื่องอย่างไร. พวกเขาฟังผมอย่างใจเย็นและพิจารณาความคิดเห็นของผมอย่างจริงจังเสมอ—แม้แต่เมื่อเขาไม่เห็นด้วย. ผมเรียนรู้มากมายจากการสังเกตวิธีที่เขาปฏิบัติต่อพี่น้องในประชาคมอย่างที่แสดงถึงความถ่อมใจและความนับถือ. ผู้ปกครองทั้งสองเน้นกับผมถึงความจำเป็นต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลอย่างชำนิชำนาญเมื่อจัดการกับปัญหาหรือเมื่อให้การหนุนใจ.”
ได้รับการฝึกอบรมจากพระคำของพระเจ้า
13. (ก) พี่น้องชายจำเป็นต้องใช้อะไรเพื่อจะเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ? (ข) เหตุใดพระเยซูจึงตรัสว่า “คำสอนของเราไม่เป็นของเราเอง”?
13 จริงทีเดียว คัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้ามีข้อกฎหมาย, หลักการ, และตัวอย่างที่ผู้บำรุงเลี้ยงจำเป็นต้องใช้เพื่อจะ “เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อมสำหรับการงานที่ดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) พี่น้องชายคนหนึ่งอาจมีการศึกษาสูงฝ่ายโลก แต่ความรู้ในพระคัมภีร์และวิธีที่เขาใช้ข้อพระคัมภีร์นั้นต่างหากที่ช่วยเขาให้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี. ขอพิจารณาตัวอย่างของพระเยซู. พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีความรู้มากที่สุด, มีความสังเกตเข้าใจที่สุด, และทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณที่ฉลาดสุขุมที่สุดเท่าที่เคยมีในโลกนี้ กระนั้น แม้แต่พระองค์ก็ไม่ได้วางใจในสติปัญญาของพระองค์เองเมื่อสอนแกะของพระยะโฮวา. พระองค์ตรัสว่า “คำสอนของเราไม่เป็นของเราเอง, แต่เป็นของพระองค์ที่ทรงใช้เรามา.” เหตุใดพระเยซูจึงให้เกียรติแก่พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์? พระองค์ทรงอธิบายดังนี้: “ผู้ใดพูดตามลำพังใจของตนเอง, ผู้นั้นย่อมแสวงหายศศักดิ์สำหรับตนเอง.”—โยฮัน 7:16, 18.
14. ผู้บำรุงเลี้ยงไม่แสวงหาเกียรติยศสำหรับตนเองโดยวิธีใด?
14 ผู้บำรุงเลี้ยงที่ภักดีไม่แสวงหาเกียรติยศสำหรับตัวเอง. คำแนะนำและการหนุนใจของพวกเขาไม่อาศัยสติปัญญาของตัวเอง แต่อาศัยพระคำของพระเจ้า. พวกเขาเข้าใจดีว่าหน้าที่มอบหมายของผู้บำรุงเลี้ยงคือการช่วยแกะให้รับเอา “พระทัยของพระคริสต์” ไม่ใช่ความคิดของผู้ปกครอง. (1 โกรินโธ 2:14-16) ตัวอย่างเช่น จะเป็นอย่างไรหากผู้ปกครองคนหนึ่งที่กำลังช่วยคู่สมรสคู่หนึ่งที่มีปัญหาครอบครัวให้คำแนะนำโดยอาศัยประสบการณ์ของเขาเอง แทนที่จะใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลและข้อมูลที่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้จัดพิมพ์ไว้? (มัดธาย 24:45 , ล.ม.) คำแนะนำที่เขาให้อาจยึดติดกับธรรมเนียมท้องถิ่นมากเกินไปและจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะความรู้ของเขามีจำกัด. จริงอยู่ ธรรมเนียมบางอย่างในตัวมันเองก็ไม่มีอะไรเสียหาย และผู้ปกครองอาจมีประสบการณ์ชีวิตมาก. แต่แกะได้รับประโยชน์มากที่สุดเมื่อผู้บำรุงเลี้ยงสนับสนุนพวกเขาให้ฟังเสียงของพระเยซูและพระดำรัสของพระยะโฮวาแทนที่จะฟังความคิดของมนุษย์หรือยึดกฎเกณฑ์ตามธรรมเนียมท้องถิ่น.—บทเพลงสรรเสริญ 12:6; สุภาษิต 3:5, 6.
ได้รับการฝึกอบรมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”
15. พระเยซูทรงมอบหมายงานอะไรแก่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นทาสประสบผลสำเร็จคืออะไร?
15 ผู้บำรุงเลี้ยงอย่างเช่นอัครสาวกเปโตร, โยฮัน, และเปาโลทั้งหมดเป็นสมาชิกของกลุ่มที่พระเยซูทรงพรรณนาว่าเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” ชนชั้นทาสนี้ประกอบด้วยเหล่าพี่น้องของพระเยซูผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณที่อยู่บนแผ่นดินโลก ซึ่งมีความหวังจะปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. (วิวรณ์ 5:9, 10) ระหว่างสมัยสุดท้ายของระบบนี้ จำนวนพี่น้องของพระคริสต์ที่ยังเหลืออยู่บนแผ่นดินโลกลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งก็น่าจะคาดหมายอย่างนั้นอยู่แล้ว. อย่างไรก็ตาม งานที่พระเยซูทรงมอบหมายให้พวกเขาทำให้สำเร็จ คืองานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรก่อนที่อวสานจะมาถึง ในเวลานี้มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา. แม้ว่าเป็นอย่างนั้น ชนชั้นทาสได้ประสบผลสำเร็จอย่างโดดเด่น! เพราะเหตุใด? ส่วนหนึ่งนั้น เพราะพวกเขาได้ฝึกอบรมสมาชิกแห่ง “แกะอื่น” ให้ช่วยพวกเขาในการประกาศและงานสอน. (โยฮัน 10:16; มัดธาย 24:14; 25:40) ในทุกวันนี้ ชนผู้ภักดีกลุ่มนี้ได้ทำงานส่วนใหญ่ให้สำเร็จลุล่วงแล้ว.
16. ชนชั้นทาสใช้วิธีใดในการฝึกอบรมผู้ชายที่ได้รับการแต่งตั้ง?
16 ชนชั้นทาสจัดเตรียมการฝึกอบรมอย่างไร? ในศตวรรษแรก ตัวแทนของชนชั้นทาสได้รับมอบอำนาจที่จะฝึกอบรมและแต่งตั้งผู้ดูแลในประชาคมต่าง ๆ แล้วผู้ดูแลเหล่านี้ก็ฝึกอบรมแกะทั้งหลายในประชาคมอีกต่อหนึ่ง. (1 โกรินโธ 4:17) เป็นจริงอย่างนั้นด้วยในปัจจุบัน. คณะกรรมการปกครอง ซึ่งก็คือผู้ปกครองที่ได้รับการเจิมกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนชนชั้นทาส ได้ให้อำนาจแก่ตัวแทนที่จะฝึกอบรมและแต่งตั้งผู้ช่วยงานรับใช้และผู้ปกครองในหลายหมื่นประชาคมตลอดทั่วโลก. นอกจากนั้น คณะกรรมการปกครองจัดให้มีโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรมสมาชิกคณะกรรมการสาขา, ผู้ดูแลเดินทาง, ผู้ปกครอง, และผู้ช่วยงานรับใช้ให้เรียนรู้วิธีที่ดีที่สุดที่จะดูแลฝูงแกะ. ยังมีการชี้นำเพิ่มเติมอีกทางจดหมาย, บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารหอสังเกตการณ์, และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เช่น หนังสือรวบรวมเป็นองค์การเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา.a
17. (ก) พระเยซูได้ทรงแสดงความไว้วางใจชนชั้นทาสอย่างไร? (ข) ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณจะแสดงได้อย่างไรว่าเขาไว้วางใจชนชั้นทาส?
17 พระเยซูทรงไว้วางใจชนชั้นทาสมากจนได้ทรงแต่งตั้งพวกเขาให้ดูแล “บรรดาสิ่งของ ๆ ท่าน” ซึ่งก็คือผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณทั้งสิ้นของพระองค์บนแผ่นดินโลก. (มัดธาย 24:47) ผู้บำรุงเลี้ยงที่ได้รับการแต่งตั้งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็ไว้วางใจชนชั้นทาสเช่นกัน โดยใช้คำแนะนำที่ได้รับจากคณะกรรมการปกครองแห่งชนชั้นทาส. ใช่แล้ว เมื่อผู้บำรุงเลี้ยงฝึกอบรมคนอื่น ๆ, เมื่อพวกเขารับการฝึกอบรมจากพระคำของพระเจ้า, และเมื่อพวกเขาใช้การฝึกอบรมที่ชนชั้นทาสจัดให้ พวกเขาก็กำลังส่งเสริมเอกภาพท่ามกลางฝูงแกะ. เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาได้ทรงฝึกอบรมผู้ชายที่คอยดูแลสมาชิกแต่ละคนของประชาคมคริสเตียนอย่างใกล้ชิด!
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณที่อาวุโสฝึกอบรมคนอื่น ๆ อย่างไร?
• เหตุใดผู้บำรุงเลี้ยงไม่สอนโดยอาศัยความคิดของตนเอง?
• เพราะเหตุใดผู้บำรุงเลี้ยงจึงแสดงความไว้วางใจชนชั้นทาส และโดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 24, 25]
คริสเตียนผู้ปกครองฝึกอบรมคนหนุ่ม ๆ ในประชาคม
[ภาพหน้า 26]
“ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดให้มีการฝึกอบรมมากมายสำหรับผู้ปกครอง