การวิ่งแข่งด้วยความอดทน
“การวิ่งแข่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน.”—เฮ็บราย 12:1, ล.ม.
1. (ก) เมื่อเราอุทิศตัวแด่พระเจ้ายะโฮวา มีอะไรตั้งไว้ต่อหน้าเรา? (ข) คริสเตียนต้องเตรียมตัวเข้าสู่การวิ่งประเภทใด?
เมื่อเราได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยทางพระเยซูคริสต์ โดยนัยแล้ว พระเจ้าทรงจัดให้มีการวิ่งแข่งสำหรับพวกเรา. พอเสร็จสิ้นการวิ่งแล้ว ทุกคนที่ถึงปลายทางจะได้รางวัล. รางวัลอะไร? ชีวิตนิรันดร์! ที่จะได้รับรางวัลอันเลิศลอยนี้ นักวิ่งคริสเตียนต้องเตรียมตัว มิใช่วิ่งเร็วชั่วระยะสั้น ๆ แต่วิ่งทางไกล. ดังนั้น เขาจะต้องทรหดอดทน. เขาจะต้องทนทั้งการวิ่งในระยะทางที่ไกลและอุปสรรคที่มีในระหว่างการวิ่ง.
2, 3. (ก) อะไรจะช่วยเราในการวิ่งฝ่ายคริสเตียนจนกระทั่งถึงเส้นชัย? (ข) ความยินดีช่วยพระเยซูอย่างไรเพื่อจะวิ่งได้อย่างทรหดอดทน?
2 ในการวิ่งเช่นนั้นอะไรจะช่วยเราบรรลุจุดหมายปลายทาง? อะไรล่ะได้ช่วยพระเยซูอดทนขณะที่พระองค์เป็นมนุษย์อยู่ในโลก? พระองค์ได้กำลังใจเนื่องจากมีความยินดี. เฮ็บราย 12:1-3 (ล.ม.) อ่านดังนี้: “เหตุฉะนั้น เพราะเรามีพยานหมู่ใหญ่อยู่รอบข้าง ให้เราทิ้งของหนักทุกอย่างและการผิดที่เรามักง่ายกระทำนั้น และการวิ่งแข่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซูผู้นำองค์เอก และผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์พร้อมทุกประการนั้น. เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้า. จริงทีเดียว จงเอาใจใส่พิจารณาพระองค์ผู้ได้ทรงอดทนเอากับการกล่าวขัดแย้งโดยคนบาปทั้งหลายอย่างที่ขัดกับผลประโยชน์ของตนเองเช่นนั้น เพื่อท่านจะได้ไม่เบื่อระอาและปล่อยตัวหยุดกลางคัน.”
3 ตลอดเวลาที่พระเยซูทรงเทศนาสั่งสอนประชาชน พระองค์สามารถอยู่ในการวิ่งได้เสมอ เนื่องด้วยทรงโสมนัสยินดีในพระยะโฮวา. (เทียบนะเฮมยา 8:10.) ความยินดีของพระองค์ช่วยพระองค์ให้อดทนกระทั่งสิ้นพระชนม์อย่างน่าอัปยศบนหลักทรมานซึ่งภายหลังพระองค์ทรงประสบความยินดีเกินคำพรรณนาเมื่อได้รับการปลุกขึ้นจากความตาย แล้วเสด็จถึงเบื้องขวาพระหัตถ์พระบิดาเพื่อดำเนินงานของพระเจ้ากระทั่งสำเร็จ. โดยความเพียรอดทนของพระองค์ฐานะที่เป็นมนุษย์อยู่ฝ่ายพระเจ้า พระองค์ทรงรักษาสิทธิของพระองค์ต่อชีวิตนิรันดร์. ใช่แล้ว ดังกล่าวในลูกา 21:19 ว่า “ท่านจะได้ชีวิตรอดโดยความเพียรของท่าน.”
4. พระเยซูทรงวางตัวอย่างอะไรสำหรับเพื่อนนักวิ่งทั้งหลาย และเราควรมุ่งความคิดของเราให้จดจ่อกับสิ่งใด?
4 พระเยซูคริสต์ได้วางตัวอย่างเยี่ยมยอดสำหรับนักวิ่งสาวกของพระองค์ และตัวอย่างของพระองค์ทำให้เราแน่ใจว่าเราจะเป็นผู้ชนะได้เหมือนกัน. (1 เปโตร 2:21) อะไรก็ตามที่พระเยซูต้องการให้เราทำ เราทำได้. พระองค์ทรงอดทนฉันใด เราก็อดทนได้ฉันนั้น. และขณะที่เรายึดมั่นด้วยการเลียนแบบพระองค์ เราต้องคำนึงถึงเหตุผลต่าง ๆ ที่จะมีความชื่นชมยินดี. (โยฮัน 15:11, 20, 21) ความยินดีจะเสริมกำลังให้เรามุ่งหน้าวิ่งอย่างไม่ลดละในการปฏิบัติพระยะโฮวา จนกว่าได้รับรางวัลอันรุ่งโรจน์ซึ่งหมายถึงชีวิตนิรันดร์.—โกโลซาย 1:10, 11.
5. เราจะชื่นชมยินดีและรับการเสริมอย่างไรเพื่อการวิ่งที่กำหนดไว้สำหรับพวกเรา?
5 เพื่อช่วยเราทรหดอดทนในการวิ่งต่อ ๆ ไป พระยะโฮวาทรงประทานพลังแก่เรามากกว่าในยามปกติ. เมื่อเราถูกข่มเหง พลังดังกล่าวและการรู้เหตุผลที่เรามีสิทธิพิเศษจะถูกข่มเหงจึงเป็นการเสริมกำลังแก่เรา. (2 โกรินโธ 4:7-9) ไม่ว่าเราประสบอะไรก็ตามอันเป็นไปเพื่อถวายเกียรติยศแด่พระนามของพระเจ้าและเทิดทูนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ นั้นแหละเป็นสาเหตุแห่งความยินดีซึ่งไม่มีผู้ใดอาจชิงไปจากเราได้. (โยฮัน 16:22) ทั้งนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมพวกอัครสาวก หลังจากถูกเฆี่ยนโดยคำสั่งศาลซันเฮดรินของยิวเพราะเหตุที่เขาให้คำพยานถึงสิ่งดีวิเศษที่พระยะโฮวาพระเจ้าได้กระทำเกี่ยวกับพระเยซู จึงพากันยินดีเพราะ “ได้เห็นว่าตนสมจะได้รับการหลู่เกียรติเพราะพระนามนั้น.” (กิจการ 5:41, 42) ความยินดีของพวกเขาไม่ได้มาจากการถูกข่มเหง แต่มาจากความอิ่มใจพอใจอย่างลึกซึ้งที่เขารู้ว่าได้กระทำให้ชอบพระทัยพระยะโฮวาและพระเยซู.
6, 7. เหตุใดคริสเตียนนักวิ่งจึงชื่นชมยินดีได้ แม้ในยามที่เขาประสบความทุกข์ลำบาก และมีผลอะไร?
6 พลังค้ำจุนอีกอย่างหนึ่งในชีวิตของเราได้แก่ความหวังซึ่งพระเจ้าทรงตั้งไว้ต่อหน้าเรา. ดังเปาโลกล่าวไว้ว่า “ให้เราประสบสันติสุขกับพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ซึ่งโดยพระองค์นั้นเราทั้งหลายจึงได้เข้ามายืนอยู่ภายใต้พระกรุณาอันไม่พึงได้รับโดยความเชื่อ และให้เราชื่นชมยินดีโดยความหวังจะได้ร่วมในสง่าราศีของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น ให้เราชื่นชมยินดีเมื่อเราตกอยู่ในความทุกข์ลำบาก เพราะเรารู้ว่าความทุกข์ลำบากทำให้เกิดความอดทน และความอดทนทำให้เราอยู่ในฐานะที่พระองค์พอพระทัย และเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็มีความหวัง และความหวังมิได้นำไปสู่ความผิดหวัง.”—โรม 5:1-5, ล.ม.
7 ความทุกข์ยากต่าง ๆ นานาครั้นเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่เรื่องน่ายินดี กระนั้น ผลที่ได้รับภายหลังอันเป็นความสงบสุขนั้นน่ายินดี. ผลเหล่านี้ได้แก่ความเพียรอดทน, สภาพที่พระเจ้าพอพระทัย, ความหวัง, และการสมหวัง. การที่เราเพียรอดทนทำให้เราเป็นบุคคลที่พระเจ้าพอพระทัย. ครั้นพระองค์ทรงพอพระทัย เรามั่นใจได้ว่าความหวังจะกลายเป็นจริงตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้. ความหวังอย่างนี้ทำให้เรายืนหยัดในทางที่เหมาะสมและมีกำลังใจเข้มแข็งยามผจญความทุกข์ลำบาก จนกระทั่งได้รับสมหวัง.—2 โกรินโธ 4:16-18.
คนที่เพียรอดทนเป็นสุข
8. เหตุใดช่วงที่เรารอคอยเช่นนี้จึงไม่เป็นการเสียเวลาเปล่า?
8 ในขณะที่เราเฝ้ารอเวลาพระเจ้ากำหนดจะประสาทรางวัลแก่นักวิ่ง เราประสบการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง. สิ่งเหล่านี้เป็นการปรับปรุงด้านวิญญาณของเราอันเนื่องมาจากเราประสบความสำเร็จเมื่อเผชิญการทดลอง และเพราะความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณดังกล่าว เราจึงได้รับความโปรดปรานอย่างใหญ่หลวงจากพระเจ้า. ความก้าวหน้าหลายด้านฝ่ายวิญญาณเป็นเครื่องวัดว่าเราเป็นบุคคลชนิดใด และให้เรามีโอกาสแสดงคุณลักษณะที่ดีต่าง ๆ อย่างผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณเคยแสดงมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของเรา. สาวกยาโกโบพูดว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า จงถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้นเมื่อท่านทั้งหลายเผชิญการทดลองต่าง ๆ เพราะอย่างที่ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่า คุณภาพแห่งความเชื่อของท่านที่ผ่านการทดสอบแล้วทำให้เกิดความอดทน. แต่จงให้ความอดทนกระทำการจนสำเร็จครบถ้วน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ครบถ้วนและดีพร้อม ไม่ขาดตกบกพร่องเลย.” (ยาโกโบ 1:2-4, ล.ม.) ถูกแล้ว เราคาดหมายได้ว่าจะประสบการทดลองหลายรูปแบบ แตกต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้จะช่วยเราให้ฝึกฝนตัวเองให้มีคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ดีงาม. โดยวิธีนี้ เราแสดงว่าเราจะอยู่ในการวิ่งต่อไปจนกว่าจะคว้ารางวัลได้ ไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม.
9, 10. (ก) ทำไมคนเหล่านั้นที่อดทนการทดลองจึงมีความสุข และเราควรจะเผชิญความทุกข์ยากโดยวิธีใด? (ข) ในสมัยโบราณ ใครเป็นคนมีความสุข และพวกเราจะถูกนับรวมกับคนเหล่านั้นได้อย่างไร?
9 เช่นนั้นแล้ว ไม่ประหลาดใจที่ยาโกโบบอกว่า “ผู้ที่อดทนการทดลองต่อ ๆ ไปก็เป็นสุข เพราะเมื่อเป็นที่พอพระทัยแล้ว เขาจะได้มงกุฎแห่งชีวิตซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงสัญญาไว้กับคนเหล่านั้นที่ยังคงรักพระองค์อยู่มิได้ขาด”! (ยาโกโบ 1:12, ล.ม.) จงให้เราเผชิญกับการทดลองต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อ เตรียมพร้อมด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ เยี่ยงพระเจ้าซึ่งจะเสริมกำลังเราให้ชนะการทดลองต่าง ๆ.—2 เปโตร 1:5-8.
10 พึงจำไว้ว่า วิธีที่พระเจ้าทรงดำเนินงานเกี่ยวข้องกับเรานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่หรือแปลกแต่อย่างใด. พระองค์ทรงติดต่อกับ “พยานหมู่ใหญ่” ที่ซื่อสัตย์สมัยโบราณในลักษณะเดียวกัน ขณะที่เขาพิสูจน์ตัวแน่วแน่มั่นคงต่อพระเจ้า. (เฮ็บราย 12:1) ความโปรดปรานของพระเจ้าต่อพวกเขาก็ได้บันทึกไว้ในพระวจนะของพระองค์ และเราถือว่าบุคคลเหล่านั้นทุกคนมีความสุขเพราะว่าเขาไม่ยอมแพ้การทดลอง. ยาโกโบกล่าวอย่างนี้: “พี่น้องทั้งหลาย ในเรื่องการทนรับความชั่วร้ายและการอดใจรอนั้น จงเอาแบบอย่างของพวกผู้พยากรณ์ที่ได้กล่าวในนามของพระยะโฮวา. นี่แน่ะ! เราบอกว่าคนเหล่านั้นที่ได้อดทนก็เป็นสุข. ท่านทั้งหลายเคยได้ยินถึงความอดทนของโยบและได้เห็นผลที่พระยะโฮวาทรงประทานแล้วว่า พระยะโฮวาทรงเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่ละมุนละไมและเมตตา.” (ยาโกโบ 5:10, 11, ล.ม.) มีคำพยากรณ์ล่วงหน้าว่าในยุคสุดท้ายอันเป็นวิกฤตการณ์เช่นนี้ จะมีชนกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวขึ้นมาบนเวทีของโลกผู้ซึ่งจะปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์ภักดี เหมือนเหล่าผู้พยากรณ์เคยปฏิบัติมาแล้วในศตวรรษต่าง ๆ สมัยโบราณ. เราคงจะมีความสุขมิใช่หรือที่ได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มชนซึ่งปฏิบัติเช่นนั้น?—ดานิเอล 12:3; วิวรณ์ 7:9.
อาศัยพระวจนะของพระยะโฮวาซึ่งให้กำลังใจ
11. พระคำของพระเจ้าจะช่วยเราให้อดทนได้อย่างไร และเหตุใดเราจึงไม่ควรเป็นเหมือนดินปนหินที่พระเยซูกล่าวถึงในอุทาหรณ์?
11 เปาโลได้ชี้ถึงสิ่งช่วยให้มีความอดทนอีกอย่างหนึ่งเมื่อท่านกล่าวว่า “โดยตัวอย่างความเพียรอดทนและโดยการหนุนใจที่เราได้จากพระคัมภีร์ เราจึงยึดมั่นอยู่กับความหวัง.” (โรม 15:4, ฉบับแปล เดอะ ทเว็นตีธ เซนจูริ นิวเทสตาเมนต์) ความจริง อันได้แก่พระคำของพระเจ้า ต้องได้หยั่งรากลึกภายในตัวเราจึงจะทำให้เราแสดงปฏิกิริยาที่เหมาะสมทุกเวลา. เราคงไม่ได้ประโยชน์แม้แต่น้อยหากเราเป็นเหมือนดินปนหินตามคำพรรณนาของพระเยซูในอุทาหรณ์เรื่องผู้หว่านพืชที่ว่า “พืชที่ตกในดินมีหินมากดินน้อยนั้นได้แก่บุคคลที่ได้ยินพระวจนะของพระเจ้า และในทันใดก็รับด้วยความชื่นชมยินดี. แต่ว่าไม่มีรากในตัวจึงได้จำเริญอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ครั้นเกิดโพยภัยและการเคี่ยวเข็ญเพราะพระวจนะนั้นเขาจึงสะดุดกระดากไป.” (มาระโก 4:16, 17) ความจริงจากพระวจนะของพระเจ้ามิได้หยั่งลึกในหัวใจของคนประเภทนี้. ฉะนั้น ยามที่เกิดความทุกข์เดือดร้อน เขาคงไม่สามารถใช้ความรู้จากพระคัมภีร์เป็นแหล่งให้พลังและความหวังได้เลย.
12. ไม่สมควรที่เราจะหลอกตัวเองด้วยเรื่องอะไรเมื่อเรารับเอาข่าวดี?
12 ใคร ๆ ที่รับรองข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไม่ควรหลอกตัวเองถึงสิ่งที่จะตามมา. ผู้นั้นได้เข้าสู่ชีวิตซึ่งจะประสบกับความทุกข์หรือการข่มเหง. (2 ติโมเธียว 3:12) แต่เขาควรถือเป็น “ความยินดีทั้งสิ้น” ว่าตนมีสิทธิพิเศษจะทนรับความทุกข์ต่าง ๆ กันเพราะการยึดมั่นอยู่กับพระคำของพระเจ้าและบอกเล่าคำของพระเจ้าให้คนอื่น ๆ ฟัง.—ยาโกโบ 1:2, 3.
13. เปาโลชื่นชมยินดีอย่างไรอันเนื่องด้วยคริสเตียนในเมืองเธซะโลนิเก และเพราะเหตุใด?
13 ในศตวรรษแรก พวกต่อต้านก่อเหตุวุ่นวายที่เมืองเธซะโลนิเกเนื่องมาจากเปาโลได้ทำการประกาศที่นั่น. เมื่อเปาโลเดินทางถึงเมืองเบรอยะ ผู้ประทุษร้ายเหล่านั้นยังคงตามไปก่อกวนให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น. อัครสาวกเปาโลผู้ถูกข่มเหงได้เขียนจดหมายถึงคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ซึ่งยังคงอยู่ในเมืองเธซะโลนิเกดังนี้: “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย เป็นการสมควรอยู่แล้วที่เราจำเป็นต้องขอบคุณพระเจ้าเพราะท่านทั้งหลายเสมอ โดยเหตุที่ความเชื่อของท่านก็จำเริญมากยิ่งขึ้น และความรักซึ่งกันและกันของท่านทุกคนก็มากทวีขึ้นด้วย. จนเราเองได้หยิบยกท่านทั้งหลายขึ้นอวดท่ามกลางคริสต์จักรของพระเจ้าในเรื่องความเพียรและความเชื่อของท่าน ในการข่มเหงทุกอย่างและในการยากลำบากที่ท่านอดทนอยู่นั้น ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจักษ์แจ้งเล็งถึงการพิพากษาอันยุติธรรมของพระเจ้า เพื่อจะได้ทรงถือว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้สมควรกับแผ่นดินของพระเจ้า คือเพราะเห็นแก่แผ่นดินนั้น ท่านทั้งหลายจึงได้ทนเอาการยากลำบากด้วย.” (2 เธซะโลนิเก 1:3-5) ทั้ง ๆ ที่พวกเขาทนรับทุกข์จากน้ำมือพวกศัตรู แต่คริสเตียนชาวเธซะโลนิเกก็ได้เติบโตขึ้นในลักษณะเหมือนพระคริสต์และทวีจำนวนมาก. เป็นไปได้อย่างไร? ทั้งนี้เพราะเขาได้รับการเสริมกำลังจากพระวจนะของพระเจ้า. พวกเขาเชื่อฟังคำสั่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ววิ่งแข่งด้วยความเพียรอดทน.—2 เธซะโลนิเก 2:13-17.
เพื่อคนอื่นจะรอด
14. (ก) ด้วยเหตุผลอะไรที่เรายังชื่นชมอยู่ในงานรับใช้ทั้ง ๆ ที่มีความยากลำบาก? (ข) เราอธิษฐานขอสิ่งใด และทำไม?
14 พวกเราอดทนการยากลำบากและการข่มเหงด้วยความซื่อสัตย์และไม่โอดครวญก็เพราะเห็นแก่การชันสูตรเชิดชูพระเจ้าเป็นประการสำคัญ. แต่มีเหตุผลอย่างไม่เห็นแก่ตัวอีกข้อหนึ่งที่ว่าทำไมเรายอมให้เป็นไปเช่นนั้น: ก็เพื่อการแพร่ข่าวราชอาณาจักรไปถึงคนอื่น ๆ แล้วจะบังเกิดผลมีผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าจำนวนมากที่ “ประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด.” (โรม 10:10, ล.ม.) บรรดาผู้ที่ปฏิบัติงานรับใช้พระเจ้าควรอธิษฐานขอเจ้าของการเก็บเกี่ยวโปรดอวยพรให้กิจการของเขาเจริญขึ้น โดยโปรดให้มีผู้ประกาศราชอาณาจักรเพิ่มจำนวนมากขึ้น. (มัดธาย 9:38) เปาโลได้เขียนกำชับติโมเธียวดังนี้: “และสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ยินจากข้าพเจ้าพร้อมด้วยการสนับสนุนจากพยานหลายคน จงมอบสิ่งเหล่านี้ให้คนซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งเมื่อถึงคราวแล้วจะเป็นคนมีคุณวุฒิพอที่จะสอนคนอื่น. ท่านจงร่วมความลำบากด้วยกันกับข้าพเจ้าอย่างทหารที่ดีของพระเยซูคริสต์.”—2 ติโมเธียว 2:2, 3, ล.ม.
15. ทำไมเราต้องปฏิบัติเหมือนทหารและเหมือนผู้เข้าร่วม ‘ในการกรีฑา’?
15 ทหารดำเนินชีวิตต่างไปจากพลเรือนที่ไม่สังกัดในกองทัพซึ่งมีข้อจำกัดน้อยกว่า. พวกเราก็เช่นกันต้องไม่พาตัวเข้าไปพัวพันกับกิจธุระของฝ่ายที่ไม่ประจำการในกองทัพขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ตามจริงแล้วเป็นฝ่ายต่อต้าน. ดังนั้น เปาโลจึงเขียนถึงติโมเธียวต่อไปว่า “ไม่มีทหารคนใดเมื่อเข้าประจำการแล้วจะไปห่วงใยกับการทำมาหากินของเขา เพื่อผู้ที่ได้ลงทะเบียนเขาไว้จะได้ชอบใจ. และถ้าผู้ใดจะเข้าแข่งขันในการกรีฑา เขาก็คงมิได้สวมพวงมาลัย เว้นเสียแต่เขาได้ปฏิบัติตามกฎ.” (2 ติโมเธียว 2:4, 5) ด้วยความมุ่งมั่นจะวิ่งจนกว่าได้รับ “มงกุฎแห่งชีวิต” นักวิ่งต้องฝึกการควบคุมตัวเองและไม่ยอมจะรับของหนักหรือเข้าพัวพันกับสิ่ง ๆ ใดโดยไม่จำเป็น. เมื่อทำเช่นนี้ เขาสามารถจดจ่ออยู่กับการนำข่าวดีเรื่องความรอดไปถึงคนอื่นได้.—ยาโกโบ 1:12; เทียบกับ 1 โกรินโธ 9:24, 25.
16. อะไรเป็นสิ่งที่ถูกผูกมัดไว้ไม่ได้ และเราเพียรอดทนเพื่อประโยชน์ของผู้ใด?
16 เพราะว่าเรารักพระเจ้าและผู้คนที่เปรียบเหมือนแกะซึ่งเสาะแสวงหาพระองค์ด้วยความยินดี เราจึงอดทนกันมากเพื่อนำข่าวดีเรื่องความรอดไปถึงผู้อื่น. ศัตรูอาจผูกมัดเราเพราะการประกาศพระคำของพระเจ้า. แต่พระคำของพระเจ้าไม่อาจจะผูกมัดไว้ได้ ทั้งไม่อาจล่ามโซ่การพูดถึงเรื่องพระคำที่คนอื่นจะพบทางรอดนั้นไว้ได้. เปาโลพรรณนาต่อติโมเธียวถึงสาเหตุที่ท่านเองเต็มใจผจญความทุกข์ยากดังนี้: “ท่านจะระลึกถึงพระเยซูคริสต์ ผู้ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากตาย และทรงเป็นพงศ์พันธุ์ของดาวิด ตามกิตติคุณของข้าพเจ้านั้น เพราะเหตุกิตติคุณนั้นข้าพเจ้าจึงต้องทนการยากลำบากจนถึงกับถูกล่ามโซ่ดุจผู้ร้าย. แต่ว่าพระคำของพระเจ้านั้นไม่มีผู้ใดเอาโซ่ล่ามได้. เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงทนเอาการลำบากทุกอย่างเพราะเห็นแก่พวกที่ถูกเลือกไว้นั้น เพื่อเขาจะได้ความรอดซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์ด้วย พร้อมทั้งสง่าราศีนิรันดร์.” (2 ติโมเธียว 2:8-10) เวลานี้พวกเรารำลึกถึงไม่เฉพาะแต่ชนที่เหลือจำนวนน้อยผู้ซึ่งอยู่ในแนวทางสู่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ แต่รำลึกถึงชนฝูงใหญ่จำพวกแกะอื่นภายใต้พระเยซูคริสต์ผู้เลี้ยงที่ดีเช่นกัน ชนฝูงใหญ่นี้จะได้อยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลกภายใต้ราชอาณาจักรของพระคริสต์.—วิวรณ์ 7:9-17.
17. เหตุใดเราไม่ควรละการวิ่งกลางคัน และถ้าเราวิ่งต่อไปจนหมดระยะจะมีผลอะไรตามมา?
17 หากเราเป็นคนเลิกเสียกลางคัน เราคงจะไม่ช่วยตัวเองหรือคนอื่นให้รอดได้. โดยความเพียรอดทนในการวิ่งฝ่ายคริสเตียน ไม่ว่าต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย เราจะยังมั่นคงอยู่ในเส้นทางที่จะได้รางวัล และสามารถช่วยคนอื่น ๆ โดยตรงให้เข้ามาสู่ความรอด ในขณะเดียวกันเราก็เป็นตัวอย่างอันมีพลังแก่คนอื่นในด้านความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว. ไม่ว่าความหวังของเราอยู่ทางภาคสวรรค์หรือทางแผ่นดินโลก ทัศนะของเปาโลที่ว่า “บากบั่นมุ่งไปกว่าจะถึงธงชัย” นั้นเป็นสิ่งที่ดีพึงเอาอย่าง.—ฟิลิปปอย 3:14, 15.
มั่นคงอยู่เสมอในการวิ่ง
18. การได้รางวัลขึ้นอยู่กับสิ่งใด แต่ที่จะมุ่งจนถึงเส้นชัยได้นั้นต้องหลีกเลี่ยงอะไร?
18 การที่จะบรรลุแนวทางคริสเตียนอย่างมีชัยเพื่อชันสูตรเชิดชูพระยะโฮวาแล้วรับรางวัลที่พระองค์ทรงสงวนไว้สำหรับพวกเรานั้นย่อมขึ้นอยู่กับการที่เราวิ่งอย่างหนักแน่นมั่นคงตลอดระยะทางวิ่ง. เหตุฉะนั้น เราคงจะไปไม่ถึงปลายทางถ้าเราปล่อยให้ของหนักซึ่งไม่ส่งเสริมแนวทางแห่งความชอบธรรมถ่วงเราไว้. ถึงแม้นเราทิ้งของหนักเหล่านั้นแล้ว ขอเรียกร้องต่าง ๆ ก็ยังหนักพอที่เราต้องรวบรวมความเข้มแข็งเท่าที่เราสามารถทำได้. ดังนั้น เปาโลจึงแนะนำว่า “ให้เราทิ้งของหนักทุกสิ่งที่ขัดข้องอยู่ และการผิดที่เรามักง่ายกระทำนั้น และการวิ่งแข่งกันที่กำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน.” (เฮ็บราย 12:1) เช่นเดียวกับพระเยซู เราไม่ควรเพ่งเล็งมากเกินไปในเรื่องความทุกข์ลำบากที่ต้องทน แต่ควรจะถือว่าการทนความลำบากนั้นแทบจะไม่มีค่าเมื่อเทียบกับรางวัลที่น่ายินดีนั้น.—เทียบกับโรม 8:18.
19. (ก) เมื่อเปาโลจวนถึงแก่ชีวิต ท่านได้แสดงออกถึงความมั่นใจในสิ่งใด? (ข) ขณะที่การวิ่งทดสอบความอดทนของเราใกล้จะเสร็จสิ้น เราควรจะมีความแน่ใจในสิ่งใดเกี่ยวกับรางวัลที่สัญญาไว้?
19 เมื่อใกล้วันที่เปาโลจะถึงแก่ชีวิต ท่านสามารถกล่าวได้ว่า “ข้าพเจ้าเข้าในการปล้ำสู้อย่างดี ข้าพเจ้าวิ่งถึงที่สุดปลายทางแล้ว ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อนั้นไว้แล้ว. ตั้งแต่นี้ไปมีมงกุฎแห่งความชอบธรรมเก็บไว้สำหรับข้าพเจ้า.” (2 ติโมเธียว 4:7, 8) พวกเราเข้าในการวิ่งทางไกลเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์เป็นรางวัล. ถ้าเราหมดความอดทนเนื่องจากคิดว่าการวิ่งนั้นจะเนิ่นนานกว่าที่เราคาดหมายเมื่อเริ่มต้น เราก็คงพลาดรางวัลที่สัญญาไว้ซึ่งจวนจะได้รับอยู่แล้ว. อย่าพลาด. ไม่มีข้อสงสัย รางวัลมีแน่.
20. อะไรควรเป็นความตั้งใจของเราจนกว่าการวิ่งสิ้นสุดลง?
20 ดังนั้น อย่าปล่อยให้ดวงตาของเราล้าไปด้วยการเฝ้าดูคอยการเริ่มความทุกข์ลำบากใหญ่ซึ่งจะยังความพินาศแก่บาบูโลน แล้วแก่องค์การทั้งสิ้นของพญามารที่เหลืออยู่. (2 เปโตร 3:11, 12) เมื่อพิจารณาดูหมายสำคัญทุกอย่างที่อยู่รอบตัว จงมองไปข้างหน้าด้วยความเชื่อ. จงให้เราคาดเอวด้วยพลังแห่งความเพียรอดทน และเข้าในการวิ่งต่อไปซึ่งพระยะโฮวาทรงจัดไว้สำหรับเรา จนกว่าจะถึงปลายทางและได้รับรางวัลที่น่ายินดี อันเป็นการชันสูตรเชิดชูพระยะโฮวาโดยทางพระเยซูคริสต์.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ คริสเตียนต้องเตรียมตัวสำหรับการวิ่งประเภทใด?
▫ เหตุใดความยินดีเป็นสิ่งสำคัญในการวิ่ง?
▫ ด้วยเหตุผลสำคัญประการใด เราจึงยังรับใช้ต่อไปถึงแม้ยากลำบาก?
▫ เหตุใดเราไม่ควรเลิกการวิ่งซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับเรา?
[รูปภาพหน้า 15]
เสมือนในการวิ่งทางไกล คริสเตียนต้องอดทน
[รูปภาพหน้า 17]
เพื่อจะคว้า “มงกุฏแห่งชีวิต” นักวิ่งต้องควบคุมตัวเอง