“เป็นคนอาศัยชั่วคราว” ในโลกชั่ว
‘คนทั้งปวงที่มีความเชื่อประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นคนแปลกหน้าและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.’—ฮีบรู 11:13
1. พระเยซูตรัสอย่างไรเกี่ยวกับฐานะของเหล่าสาวกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโลก?
พระเยซูตรัสถึงเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “พวกเขาอยู่ในโลก.” แต่พระองค์ทรงอธิบายว่า “พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือนข้าพเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก.” (โย. 17:11, 14) ดังนั้น พระเยซูทรงบอกอย่างชัดเจนถึงฐานะของสาวกแท้ของพระองค์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบนี้” ซึ่งมีซาตานเป็นพระเจ้า. (2 โค. 4:4, เชิงอรรถ) แม้ว่าพวกเขาอยู่ในโลกชั่วนี้ แต่พวกเขาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของโลก. พวกเขาใช้ชีวิตในระบบนี้เหมือน “คนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราว.”—1 เป. 2:11
พวกเขาอยู่ในฐานะ “ผู้อาศัยชั่วคราว”
2, 3. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าฮะโนค โนอาห์ และอับราฮามกับซาราห์ใช้ชีวิต “เป็นคนแปลกหน้าและเป็นคนอาศัยชั่วคราว”?
2 ตั้งแต่สมัยแรกสุด ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาแตกต่างอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับคนในโลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. ก่อนน้ำท่วมโลก ฮะโนคและโนอาห์ “ดำเนินกับพระเจ้า.” (เย. 5:22-24; 6:9) ทั้งสองประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อโลกชั่วของซาตานอย่างกล้าหาญ. (อ่าน 2 เปโตร 2:5; ยูดา 14, 15) เนื่องจากดำเนินกับพระเจ้าในโลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า ฮะโนค “ได้ทำให้พระเจ้าพอพระทัย” และโนอาห์ “ดีพร้อมในสมัยของเขา.”—ฮีบรู 11:5; เย. 6:9, ฉบับ R73
3 เมื่อพระเจ้าทรงเชิญ อับราฮามและซาราห์ก็ทิ้งความสะดวกสบายของชีวิตในเมืองอูร์ของชาวแคลเดีย และยอมใช้ชีวิตอย่างลำบากในฐานะคนเร่ร่อนในต่างแดน. (เย. 11:27, 28; 12:1) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “โดยความเชื่อ อับราฮามเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้ไปยังที่แห่งหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ให้เขารับเป็นมรดก และเขาไปแม้ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน. โดยความเชื่อ เขาอยู่อย่างคนต่างด้าวในแผ่นดินตามคำสัญญาเสมือนอยู่ในต่างประเทศ และอยู่ในเต็นท์กับยิศฮาคและยาโคบซึ่งเป็นผู้รับคำสัญญาเดียวกันนี้เป็นมรดกร่วมกับเขา.” (ฮีบรู 11:8, 9) เปาโลกล่าวเกี่ยวกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาว่า “คนทั้งปวงนี้ตายไปในขณะที่มีความเชื่อแม้ยังไม่ได้รับตามที่ทรงสัญญา แต่พวกเขาก็มองเห็นแต่ไกลและรอรับด้วยความยินดีและประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นคนแปลกหน้าและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.”—ฮีบรู 11:13
คำเตือนสำหรับชาวอิสราเอล
4. ชาวอิสราเอลได้รับคำเตือนอะไรก่อนที่พวกเขาจะอาศัยในแผ่นดินที่พระเจ้าประทาน?
4 ชาวอิสราเอล ซึ่งเป็นลูกหลานของอับราฮาม ทวีจำนวนมากขึ้นและในที่สุดก็รวมตัวกันเป็นชาติหนึ่งที่มีประมวลกฎหมายและมีแผ่นดิน. (เย. 48:4; บัญ. 6:1) ประชาชนชาวอิสราเอลต้องไม่ลืมว่าเจ้าของที่แท้จริงของแผ่นดินที่พวกเขาอยู่คือพระยะโฮวา. (เลวี. 25:23) พวกเขาเป็นเหมือนผู้เช่าที่มีพันธะต้องเคารพและทำตามความปรารถนาของเจ้าของ. นอกจากนั้น พวกเขาต้องจำไว้ว่า “มนุษย์จะจำเริญชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้.” พวกเขาต้องไม่ปล่อยให้ความมั่งคั่งด้านวัตถุทำให้พวกเขาลืมพระยะโฮวา. (บัญ. 8:1-3) ก่อนจะตั้งรกรากในแผ่นดินนั้น ชาวอิสราเอลได้รับคำเตือนว่า “เมื่อพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, จะพาเจ้าทั้งหลายมาถึงแผ่นดินซึ่งพระองค์ทรงสัญญาไว้กับปู่ย่าตายายของเจ้า, คือกับอับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบนั้นแล้ว, จะประทานเมืองใหญ่งาม, ซึ่งเจ้ามิได้สร้างเองนั้น, เหย้าเรือนเต็มไปด้วยของดี, ซึ่งเจ้ามิได้สะสมไว้เอง, บ่อน้ำซึ่งเจ้ามิได้ขุดไว้เอง, สวนเถาองุ่น, และต้นมะกอกเทศซึ่งเจ้ามิได้ปลูกไว้เองนั้น; และเจ้าจะได้รับประทานอิ่ม; แล้วจงระวังกลัวเกลือกว่าเจ้าทั้งหลายจะลืมพระยะโฮวา.”—บัญ. 6:10-12
5. เหตุใดพระยะโฮวาทรงปฏิเสธชาติอิสราเอล และพระองค์ทรงหันมาโปรดปรานชาติใดแทน?
5 คำเตือนนี้ใช่ว่าไม่มีมูลเหตุ. ในสมัยนะเฮมยา ชาวเลวีกลุ่มหนึ่งระลึกด้วยความละอายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากชาวอิสราเอลเข้าครอบครองแผ่นดินที่ทรงสัญญา. หลังจากประชาชนชาวอิสราเอลมีบ้านที่สะดวกสบายและมีอาหารมีเหล้าองุ่นอย่างอุดม “เขาจึงได้กินอิ่มหนำอ้วนพี.” พวกเขาขืนอำนาจพระเจ้า และถึงกับฆ่าเหล่าผู้พยากรณ์ที่พระองค์ทรงส่งมาเตือนพวกเขา. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาจึงละทิ้งพวกเขาให้ตกอยู่ในมือของศัตรู. (อ่านนะเฮมยา 9:25-27; โฮ. 13:6-9) ต่อมา เมื่ออยู่ใต้การปกครองของโรม ชาวยิวที่ขาดความเชื่อทำเลยเถิดถึงขนาดฆ่าพระมาซีฮาที่ทรงสัญญา! พระยะโฮวาทรงปฏิเสธพวกเขาและหันมาโปรดปรานชาติใหม่ คือชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ.—มัด. 21:43; กิจ. 7:51, 52; กลา. 6:16
“ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก”
6, 7. (ก) คุณจะอธิบายคำตรัสของพระเยซูที่ว่าเหล่าสาวกไม่ได้เป็นส่วนของโลกอย่างไร? (ข) ตามที่เปโตรกล่าว เหตุใดคริสเตียนแท้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบซาตาน?
6 ดังที่เห็นแล้วในตอนต้นของบทความนี้ พระเยซูคริสต์ ประมุขของประชาคมคริสเตียน ทรงบอกไว้อย่างชัดเจนว่าสาวกของพระองค์จะอยู่ต่างหากจากโลก หรือระบบชั่วของซาตาน. ไม่นานก่อนพระเยซูจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ถ้าพวกเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกก็จะรักผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก. แต่เดี๋ยวนี้พวกเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกเพราะเราได้เลือกพวกเจ้าออกจากโลกแล้ว โลกจึงเกลียดชังพวกเจ้า.”—โย. 15:19
7 ขณะที่ศาสนาคริสเตียนแผ่ขยายไป คริสเตียนควรยอมรับโลก เห็นพ้องกับธรรมเนียมปฏิบัติ และเป็นส่วนหนึ่งของโลกไหม? ไม่. ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน พวกเขาต้องประพฤติตัวต่างจากผู้คนในระบบของซาตาน. ประมาณ 30 ปีหลังจากพระคริสต์สิ้นพระชนม์ อัครสาวกเปโตรเขียนถึงคริสเตียนที่อาศัยอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมันว่า “พี่น้องที่รัก ข้าพเจ้าขอกระตุ้นเตือนท่านทั้งหลายที่เป็นคนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราวให้ละเว้นจากความปรารถนาต่าง ๆ ทางกาย ซึ่งก็คือความปรารถนาเหล่านั้นที่เป็นปฏิปักษ์กับชีวิต. จงประพฤติอย่างดีงามท่ามกลางชนต่างชาติต่อ ๆ ไป.”—1 เป. 1:1; 2:11, 12
8. นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งพรรณนาความสัมพันธ์ของคริสเตียนในยุคแรกกับโลกไว้อย่างไร?
8 นักประวัติศาสตร์ เคนเนต สกอตต์ ลาตูเร็ตต์ ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าคริสเตียนในยุคแรกประพฤติตัวเป็น “คนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราว” ในจักรวรรดิโรมันโดยเขียนว่า “เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์ว่าในช่วงสามศตวรรษแรกที่เริ่มมีศาสนาคริสเตียน ศาสนานี้ถูกข่มเหงมาโดยตลอดและบ่อยครั้งเป็นการข่มเหงที่รุนแรง. . . . พวกเขาถูกกล่าวหาหลายเรื่อง. เนื่องจากคริสเตียนปฏิเสธไม่เข้าร่วมพิธีกรรมนอกรีต พวกเขาจึงถูกกล่าวหาว่าไม่นับถือพระเจ้า. เนื่องจากไม่เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นวิถีชีวิตของชุมชน เช่น เทศกาลนอกรีต ความบันเทิงที่จัดขึ้นสำหรับประชาชน ซึ่งคริสเตียนมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เต็มไปด้วยความเชื่อนอกรีต กิจปฏิบัตินอกรีต และการประพฤติที่ไร้ยางอาย พวกเขาจึงถูกเย้ยหยันว่าเป็นพวกรังเกียจเผ่าพันธุ์มนุษย์.”
ไม่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่
9. ในฐานะคริสเตียนแท้ เราพิสูจน์ให้เห็นโดยวิธีใดว่าเราไม่ใช่ “พวกรังเกียจเผ่าพันธุ์มนุษย์”?
9 สถานการณ์ในทุกวันนี้เป็นเช่นไร? เรามีทัศนะต่อ “ยุคที่ชั่วช้านี้” แบบเดียวกับคริสเตียนในยุคแรก. (กลา. 1:4) เพราะเหตุนี้ หลายคนจึงเข้าใจเราผิดและบางคนถึงกับเกลียดพวกเราเสียด้วยซ้ำ. ถึงกระนั้น เราไม่ใช่ “พวกรังเกียจเผ่าพันธุ์มนุษย์” อย่างแน่นอน. เพราะเรารักเพื่อนมนุษย์ เราจึงไปตามบ้าน และพยายามทุกวิถีทางที่จะพบกับเจ้าของบ้านเพื่อบอก “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร [ของพระเจ้า].” (มัด. 22:39; 24:14) เราทำเช่นนี้เพราะมั่นใจว่าในอีกไม่ช้าราชอาณาจักรของพระยะโฮวา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่นำโดยพระคริสต์ จะทำลายการปกครองของมนุษย์ไม่สมบูรณ์และให้ระบบใหม่อันชอบธรรมเข้ามาแทนที่การปกครองนั้น.—ดานิ. 2:44; 2 เป. 3:13
10, 11. (ก) เราไม่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่อย่างไร? (ข) คริสเตียนที่ตื่นตัวไม่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่โดยวิธีใดบ้าง?
10 เมื่อคำนึงถึงอวสานของระบบปัจจุบันที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า พวกเราที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาตระหนักว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะลงหลักปักฐานในโลกที่กำลังจะพินาศ. เราใส่ใจฟังถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่บอกว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอบอกพวกท่านว่าเวลาเหลือน้อยแล้ว. ตั้งแต่นี้ไป . . . ให้คนที่ซื้อเป็นเหมือนคนที่ไม่มีอะไรเลย และให้คนที่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้เป็นเหมือนคนที่ไม่ใช้อย่างเต็มที่ เพราะโลกนี้กำลังเปลี่ยนไปเหมือนละครเปลี่ยนฉาก.” (1 โค. 7:29-31) แต่คริสเตียนในปัจจุบันใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างไร? พวกเขาทำอย่างนั้นโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเครื่องมือสื่อสารเพื่อแพร่กระจายความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลไปทั่วโลกในหลายร้อยภาษา. พวกเขาไม่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่เพื่อหาเลี้ยงชีพ. พวกเขาซื้อสินค้าและใช้บริการต่าง ๆ ที่จำเป็นที่มีอยู่ในโลก. อย่างไรก็ตาม พวกเขาพยายามจะไม่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่ โดยให้ทรัพย์สินเงินทองและงานอาชีพอยู่ในลำดับที่ถูกต้อง.—อ่าน 1 ติโมเธียว 6:9, 10
11 คริสเตียนที่ตื่นตัวไม่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่ในเรื่องการศึกษาสูง. หลายคนในโลกทุกวันนี้มองว่าการศึกษาสูงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำคนเราไปสู่ชีวิตที่มีเกียรติและมั่งคั่ง. แต่พวกเราที่เป็นคริสเตียนใช้ชีวิตเป็นผู้อาศัยชั่วคราวและมีเป้าหมายที่แตกต่างออกไป. เราไม่ “คิดใฝ่หาสิ่งที่สูงส่ง.” (โรม 12:16; ยิระ. 45:5) เนื่องจากเป็นสาวกของพระเยซู เราใส่ใจฟังคำเตือนของพระองค์ที่ว่า “จงระวังและรักษาตัวให้พ้นจากความโลภทุกชนิด เพราะแม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี.” (ลูกา 12:15) ด้วยเหตุนั้น เยาวชนคริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้มุ่งติดตามเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ รับการศึกษาเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อสนองความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตโดยมีเป้าหมายที่จะเตรียมพวกเขาไว้ให้พร้อมที่จะรับใช้พระยะโฮวา ‘ด้วยสุดหัวใจ สุดชีวิต สุดกำลัง และสุดความคิด.’ (ลูกา 10:27) โดยทำอย่างนั้น พวกเขาจึง “มั่งมีในสายพระเนตรของพระเจ้า.”—ลูกา 12:21; อ่านมัดธาย 6:19-21
จงระวังอย่าให้ความวิตกกังวลกับชีวิตถ่วงคุณไว้
12, 13. การใส่ใจฟังคำตรัสของพระเยซูดังบันทึกที่มัดธาย 6:31-33 ทำให้เราแตกต่างจากผู้คนในโลกนี้อย่างไร?
12 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาแตกต่างจากผู้คนในโลกในเรื่องทัศนคติที่พวกเขามีต่อสิ่งฝ่ายวัตถุ. ในเรื่องนี้ พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “อย่าวิตกกังวลและพูดว่า ‘เราจะกินอะไร?’ หรือ ‘เราจะดื่มอะไร’ หรือ ‘เราจะสวมอะไร?’ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชนต่างชาติร้อนรนแสวงหา. ด้วยว่าพระบิดาของเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบว่าพวกเจ้าต้องมีสิ่งทั้งปวงนี้. ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วพระองค์จะทรงให้สิ่งทั้งปวงนี้แก่พวกเจ้า.” (มัด. 6:31-33) เพื่อนร่วมความเชื่อของเราหลายคนได้ประสบด้วยตัวเองว่าพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงจัดหาสิ่งจำเป็นให้พวกเขา.
13 “ความเลื่อมใสพระเจ้าพร้อมกับความอิ่มใจพอใจในสิ่งที่มีอยู่ทำให้ได้ประโยชน์มาก.” (1 ติโม. 6:6) ทัศนะดังกล่าวตรงกันข้ามกับทัศนะของผู้คนในโลกทุกวันนี้. ตัวอย่างเช่น เมื่อคนหนุ่มสาวแต่งงาน หลายคู่คาดหมายว่าจะต้อง ‘มีทุกสิ่ง’ ทันที ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรืออพาร์ตเมนต์พร้อมเฟอร์นิเจอร์ที่หรูหราสะดวกสบาย รถคันงาม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ล่าสุด. แต่คริสเตียนที่ใช้ชีวิตอย่างคนอาศัยชั่วคราวไม่ปล่อยให้ตัวเองอยากได้สิ่งที่ไม่สมเหตุผลและเกินกำลังความสามารถของตน. ที่จริง เป็นเรื่องน่าชมเชยที่หลายคนละทิ้งความสะดวกสบายบางอย่างด้านวัตถุเพื่ออุทิศเวลาและกำลังมากขึ้นในการรับใช้พระยะโฮวาในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีใจแรงกล้า. บางคนรับใช้เป็นไพโอเนียร์ สมาชิกครอบครัวเบเธล ผู้ดูแลเดินทาง หรือมิชชันนารี. เราทุกคนเห็นค่าการรับใช้อย่างสุดหัวใจของเพื่อนผู้นมัสการพระยะโฮวาเหล่านี้อย่างยิ่ง!
14. เราได้บทเรียนอะไรจากอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องผู้หว่านเมล็ดพืช?
14 ในอุปมาเกี่ยวกับผู้หว่าน พระเยซูตรัสว่า “ความวิตกกังวลกับชีวิตในยุคนี้และอำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติ” อาจบดบังพระคำของพระเจ้าที่อยู่ในหัวใจเราและทำให้ไม่เกิดผล. (มัด. 13:22) การดำเนินชีวิตด้วยความอิ่มใจพอใจในฐานะคนอาศัยชั่วคราวในระบบนี้ช่วยให้เราไม่ติดกับดักดังกล่าว. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การดำเนินชีวิตเช่นนั้นทำให้ตาเรา “มองที่สิ่งเดียว” หรือ “มองโดยไม่วอกแวก” ที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าและให้ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกในชีวิตเราเสมอ.—มัด. 6:22, เชิงอรรถ
“โลกกำลังจะสูญไป”
15. ถ้อยคำอะไรของอัครสาวกโยฮันที่ช่วยคริสเตียนแท้ให้ดำเนินชีวิตและมีทัศนะต่อโลกนี้อย่างถูกต้อง?
15 เหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่เราซึ่งเป็นคริสเตียนแท้ถือว่าตัวเราเองเป็น “คนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราว” ในโลกนี้ก็คือการที่เราเชื่อมั่นว่าวันเวลาของโลกนี้เหลือน้อยแล้ว. (1 เป. 2:11; 2 เป. 3:7) ทัศนะเช่นนี้ช่วยเราตัดสินใจว่าจะเลือกอะไรในชีวิตและความมุ่งมาดปรารถนาของเราจะเป็นอย่างไร. อัครสาวกโยฮันแนะนำเพื่อนร่วมความเชื่อว่าอย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก เพราะ “โลกกำลังจะสูญไปและความปรารถนาของโลกก็เช่นกัน แต่ผู้ที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าจะคงอยู่ตลอดไป.”—1 โย. 2:15-17
16. เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราถูกแยกไว้ให้เป็นกลุ่มคนที่แตกต่าง?
16 พระยะโฮวาทรงบอกชาวอิสราเอลว่าถ้าพวกเขาเชื่อฟังพระองค์ พวกเขาจะได้เป็น ‘ทรัพย์ประเสริฐของพระองค์ยิ่งกว่าชาติทั้งปวง.’ (เอ็ก. 19:5) เมื่อชาติอิสราเอลซื่อสัตย์ พวกเขาแตกต่างจากชาติอื่น ๆ ทั้งหมดในด้านการนมัสการและวิถีชีวิต. เช่นเดียวกัน ในทุกวันนี้พระยะโฮวาก็ทรงเลือกคนกลุ่มหนึ่งออกมาเป็นประชาชนของพระองค์ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากผู้คนในโลกของซาตาน. พระคัมภีร์บอกเราว่า “[จง] ปฏิเสธการกระทำที่ดูหมิ่นพระเจ้าและความปรารถนาแบบโลกและให้ดำเนินชีวิตในยุคนี้อย่างมีสติ ด้วยความชอบธรรม และด้วยความเลื่อมใสพระเจ้า ขณะที่เราคอยท่าความหวังที่น่ายินดีและการสำแดงสง่าราศีของพระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งและของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา คือพระคริสต์เยซู ผู้ทรงประทานพระองค์เองเพื่อเรา เพื่อจะช่วยเราให้เลิกทำชั่วทุกอย่าง และชำระเราให้เป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นของพระองค์โดยเฉพาะและมีใจแรงกล้าเพื่อการดี.” (ทิทุส 2:11-14) “คน” กลุ่มนี้ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” ของพระเยซูอีกหลายล้านคนที่ช่วยเหลือและสนับสนุนพวกเขา.—โย. 10:16
17. เหตุใดผู้ถูกเจิมและสหายของพวกเขาจะไม่เสียใจเลยที่เคยใช้ชีวิตเป็นผู้อาศัยชั่วคราวในโลกชั่วนี้?
17 “ความหวังที่น่ายินดี” ของชนผู้ถูกเจิมก็คือการปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. (วิ. 5:10) เมื่อความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกสำเร็จเป็นจริงสำหรับแกะอื่นแล้ว พวกเขาจะไม่ต้องเป็นผู้อาศัยชั่วคราวในโลกชั่วนี้อีกต่อไป. พวกเขาจะมีบ้านที่สวยงามและมีกินมีดื่มอย่างอุดม. (เพลง. 37:10, 11; ยซา. 25:6; 65:21, 22) ไม่เหมือนกับชาวอิสราเอล พวกเขาจะไม่มีทางลืมเลยว่าทั้งหมดนี้มาจากพระยะโฮวา “พระเจ้าของทั่วทั้งพิภพ.” (ยซา. 54:5) ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่น จะไม่มีใครเสียใจเลยที่เคยใช้ชีวิตเป็นผู้อาศัยชั่วคราวในโลกชั่วนี้.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ผู้ซื่อสัตย์ในสมัยก่อนดำเนินชีวิตเป็นผู้อยู่อาศัยชั่วคราวอย่างไร?
• คริสเตียนยุคแรกดำเนินชีวิตอย่างไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโลกนี้?
• คริสเตียนแท้ไม่ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่อย่างไร?
• เหตุใดเราจะไม่เสียใจเลยที่ได้ใช้ชีวิตเป็นผู้อาศัยชั่วคราวในโลกชั่วนี้?
[ภาพหน้า 18]
คริสเตียนในยุคแรกไม่ยุ่งเกี่ยวกับความบันเทิงที่รุนแรงและผิดศีลธรรม