คุณเป็นคริสเตียนที่เป็น “ผู้ใหญ่เต็มที่” แล้วไหม?
“ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก ข้าพเจ้าเคยพูดอย่างเด็ก คิดอย่างเด็ก หาเหตุผลอย่างเด็ก.” อัครสาวกเปาโลเขียนไว้เช่นนั้น. จริงทีเดียว เราทุกคนเคยเป็นทารกที่ช่วยตัวเองไม่ได้. อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เป็นเด็กตลอดไป. เปาโลบอกว่า “บัดนี้ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้เลิกอุปนิสัยอย่างเด็ก.”—1 โกรินโธ 13:11, ล.ม.
ในทำนองคล้ายกัน คริสเตียนทุกคนเริ่มต้นด้วยการเป็นทารกฝ่ายวิญญาณ. แต่ในเวลาต่อมา ทุกคนก็สามารถ “บรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ถึงขนาดซึ่งเป็นของความบริบูรณ์แห่งพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:13, ล.ม.) ที่ 1 โกรินโธ 14:20 (ล.ม.) เราได้รับการกระตุ้นเตือนว่า “พี่น้องทั้งหลาย อย่ากลายเป็นเด็กด้านความสามารถในการเข้าใจ . . . จงเป็นผู้ซึ่งเติบโตเต็มที่ด้านความสามารถในการเข้าใจ.”
การมีคริสเตียนอาวุโสซึ่งเป็นผู้ใหญ่เต็มที่นับเป็นพระพรแก่ไพร่พลของพระเจ้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากมีคนใหม่ ๆ หลายคน. คริสเตียนซึ่งเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ช่วยเสริมประชาคมให้มั่นคง. พวกเขาส่งผลกระทบที่ดีต่อแนวโน้ม หรือเจตคติของประชาคมที่เขาสังกัด.
ขณะที่การเจริญเติบโตฝ่ายร่างกายส่วนใหญ่เป็นไปโดยธรรมชาติ แต่การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลาและการบากบั่นพยายามเท่านั้น. ไม่น่าแปลกใจ ในสมัยเปาโล คริสเตียนบางคนไม่ได้ “รุดหน้าสู่ความอาวุโส” แม้ว่าได้รับใช้พระเจ้าเป็นเวลาหลายปีแล้ว. (เฮ็บราย 5:12; 6:1, ล.ม.) แล้วคุณล่ะ? ไม่ว่าคุณรับใช้พระเจ้ามาแล้วหลายปีหรือเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ คงเหมาะสมที่จะตรวจสอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมา. (2 โกรินโธ 13:5) คุณเป็นคนหนึ่งที่ถูกเรียกว่าคริสเตียนที่อาวุโส หรือเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ได้อย่างแท้จริงหรือไม่? ถ้าไม่ คุณจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
“เติบโตเต็มที่ด้านความสามารถในการเข้าใจ”
เป็นเรื่องง่ายที่ทารกฝ่ายวิญญาณจะ “ถูกซัดไปซัดมาเหมือนโดนคลื่นและถูกพาไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้างโดยลมแห่งคำสอนทุกอย่างที่อาศัยเล่ห์กลของมนุษย์ โดยใช้ความฉลาดแกมโกงในการคิดหาเรื่องเท็จ.” เปาโลจึงเร่งเร้าว่า “ด้วยความรัก ให้เราเติบโตขึ้นในทุกสิ่งในพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะ คือพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:14, 15, ล.ม.) คนเราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เฮ็บราย 5:14 (ล.ม.) บอกว่า “อาหารแข็งเป็นของผู้อาวุโส คือผู้ซึ่งด้วยการใช้จึงฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.”
โปรดสังเกตว่าผู้ที่อาวุโสฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจโดยการใช้ความสามารถนั้น หรือโดยประสบการณ์ในการใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าคนเราไม่ได้กลายเป็นผู้อาวุโสเพียงชั่วข้ามคืน คือต้องอาศัยเวลาเพื่อจะเติบโตฝ่ายวิญญาณ. แม้กระนั้น คุณอาจทำได้มากเพื่อช่วยให้ก้าวหน้าทางฝ่ายวิญญาณโดยการศึกษาส่วนตัว—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ลึกซึ้งในพระคำของพระเจ้า. ในระยะหลัง หอสังเกตการณ์ ได้พิจารณาเรื่องที่ลึกซึ้งหลายเรื่อง. ผู้อาวุโสจะไม่เว้นบทความเหล่านั้นเพราะมี “บางข้อที่เข้าใจยาก.” (2 เปโตร 3:16) แต่พวกเขาจะกระตือรือร้นรับเอาอาหารแข็งเหล่านั้น!
ผู้ประกาศและผู้สอนที่มีใจแรงกล้า
พระเยซูทรงสั่งสาวกของพระองค์ว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) การเข้าร่วมในงานประกาศด้วยใจแรงกล้าสามารถกระตุ้นความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของเราได้ด้วย. ทำไมไม่พยายามมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานนี้เท่าที่สภาพการณ์ของคุณอำนวยล่ะ?—มัดธาย 13:23.
บางครั้ง ความกดดันของชีวิตอาจทำให้การหาเวลาเพื่อประกาศเป็นเรื่องยาก. กระนั้น โดย “บากบั่นอย่างแข็งขัน” ในฐานะผู้ประกาศ คุณแสดงว่าคุณเห็นความสำคัญของ “ข่าวดี.” (ลูกา 13:24, ล.ม.; โรม 1:16, ล.ม.) โดยวิธีนี้ จะถือว่าคุณเป็น “แบบอย่างแก่คนซื่อสัตย์” ได้.—1 ติโมเธียว 4:12, ล.ม.
ผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง
การก้าวหน้าสู่ความอาวุโสยังเกี่ยวข้องกับการบากบั่นเพื่อรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. ดังที่บันทึกไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 26:1 ดาวิดประกาศว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงพิพากษาตัดสินให้ข้าพเจ้าเพราะข้าพเจ้าได้ประพฤติตามความสุจริต [“ความซื่อสัตย์มั่นคง,” ล.ม.].” ความซื่อสัตย์มั่นคงคือความมั่นคง หรือความครบถ้วนทางศีลธรรม. อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายถึงความสมบูรณ์พร้อม. ดาวิดเองก็ทำผิดร้ายแรงบางอย่าง. แต่เนื่องจากท่านยอมรับการว่ากล่าวและแก้ไขแนวทางของท่าน ท่านแสดงว่าหัวใจของท่านยังมีความรักแท้ต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 26:2, 3, 6, 8, 11) ความซื่อสัตย์มั่นคงเกี่ยวข้องกับความเลื่อมใสอย่างครบถ้วนในหัวใจ. ดาวิดบอกซะโลโม ราชบุตรของท่านว่า “จงรู้จักพระเจ้าแห่งบิดาของเจ้า และจงปฏิบัติพระองค์ด้วยหัวใจครบถ้วน.”—1 โครนิกา 28:9, ล.ม.
การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงรวมถึงการ “ไม่เป็นส่วนของโลก” โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการสงครามของชาติต่าง ๆ. (โยฮัน 17:16, ล.ม.) คุณยังต้องหลีกเว้นจากกิจปฏิบัติอันเสื่อมทราม เช่น การผิดประเวณี, การเล่นชู้, และการใช้ยาเสพย์ติดด้วย. (ฆะลาเตีย 5:19-21) แต่ว่าการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงหมายความมากกว่าการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้. ซะโลโมเตือนว่า “แมลงวันตายกระทำน้ำมันที่มีกลิ่นหอมให้บูดเหม็นไปฉันใด; ความโฉดเขลานิดหน่อยก็ทำให้สติปัญญาและเกียรติยศให้เหม็นไปได้ฉันนั้น.” (ท่านผู้ประกาศ 10:1) ใช่แล้ว แม้แต่ “ความโฉดเขลานิดหน่อย” เช่น การพูดเล่นอย่างไม่สมควรหรือการแทะโลมเพศตรงข้าม อาจทำให้ชื่อเสียงของคนที่มี “สติปัญญา” เสื่อมเสียไปได้. (โยบ 31:1) ด้วยเหตุนั้น จงแสดงว่าคุณอาวุโสโดยการพยายามเป็นแบบอย่างในความประพฤติทั้งสิ้นของคุณ โดยหลีกเลี่ยงแม้แต่สิ่งที่ “ดูเหมือนว่าเป็นความชั่ว.”—1 เธซะโลนิเก 5:22, ฉบับแปลคิง เจมส์.
ผู้ภักดี
คริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ยังเป็นคนที่ภักดีอีกด้วย. ดังที่เราอ่านในเอเฟโซ 4:24 (ล.ม.) อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ “สวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง.” ในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก คำภาษาเดิมที่แปลว่า “ความภักดี” มีความหมายเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์, ความชอบธรรม, ความเคารพ. ผู้ภักดีเป็นคนที่เลื่อมใสศรัทธา เคร่งครัด; เขาทำตามหน้าที่ทั้งสิ้นของตนที่มีต่อพระเจ้าอย่างถี่ถ้วน.
มีวิธีไหนบ้างที่คุณจะพัฒนาความภักดีเช่นนั้นได้? วิธีหนึ่งคือโดยการร่วมมือกับผู้ปกครองในประชาคมของคุณ. (เฮ็บราย 13:17) โดยยอมรับว่าพระคริสต์ทรงเป็นประมุขที่ได้รับการแต่งตั้งของประชาคมคริสเตียน คริสเตียนที่อาวุโสจะภักดีต่อคนที่ได้รับการแต่งตั้ง “ให้บำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้า.” (กิจการ 20:28, ล.ม.) เป็นการไม่สมควรสักเพียงไรที่จะท้าทายหรือบ่อนทำลายอำนาจของผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง! นอกจากนี้ คุณควรจะรู้สึกภักดีต่อ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และตัวแทนทางกฎหมายซึ่งถูกใช้ในการแจกจ่าย “อาหาร [ฝ่ายวิญญาณ] . . . ตามเวลา.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) จงว่องไวในการอ่านและใช้ความรู้ในหอสังเกตการณ์ และสรรพหนังสือที่ออกมาด้วยกัน.
การแสดงความรักโดยการปฏิบัติ
เปาโลเขียนไปถึงคริสเตียนในเมืองเธซะโลนิเกดังนี้: “ความรักซึ่งกันและกันของท่านทุกคนก็มากทวีขึ้นด้วย.” (2 เธซะโลนิเก 1:3) การให้ความรักเพิ่มพูนขึ้นเป็นแง่มุมที่สำคัญเป็นพิเศษของการเติบโตฝ่ายวิญญาณ. พระเยซูตรัสดังที่บันทึกไว้ในโยฮัน 13:35 ว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” ความรักฉันพี่น้องเช่นนั้นไม่ได้แสดงโดยอารมณ์หรือความรู้สึกเท่านั้น. พจนานุกรมอธิบายศัพท์พันธสัญญาเดิมและใหม่ของไวน์ ให้ข้อสังเกตว่า “ความรักเป็นที่รับรู้ได้จากการกระทำที่ถูกกระตุ้นโดยความรักเท่านั้น.” ใช่แล้ว คุณรุดหน้าสู่ความอาวุโสในเรื่องนี้โดยแสดงความรักในภาคปฏิบัติ!
ตัวอย่างเช่น ที่โรม 15:7 เราอ่านว่า “จงต้อนรับซึ่งกันและกัน.” วิธีหนึ่งที่จะแสดงความรักคือการทักทายเพื่อนร่วมความเชื่อและคนที่มาใหม่ในการประชุมประชาคม—อย่างอบอุ่นและกระตือรือร้น! ทำความรู้จักพวกเขาเป็นส่วนตัว. จง “สนใจเป็นส่วนตัว” ในคนอื่น. (ฟิลิปปอย 2:4, ล.ม.) คุณอาจถึงกับแสดงน้ำใจต้อนรับและเชิญบางคนมาที่บ้านของคุณ. (กิจการ 16:14, 15) บางครั้งความไม่สมบูรณ์ของคนอื่นอาจทดสอบความรักของคุณว่าลึกซึ้งเพียงไร แต่เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะ “อดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” คุณก็แสดงว่าคุณกำลังเป็นผู้ใหญ่เต็มที่.—เอเฟโซ 4:2, ฉบับแปลใหม่.
การใช้สิ่งที่เรามีอยู่เพื่อส่งเสริมการนมัสการบริสุทธิ์
ในสมัยโบราณ ไม่ใช่ไพร่พลของพระเจ้าทุกคนที่บรรลุหน้าที่รับผิดชอบในการสนับสนุนพระวิหารของพระยะโฮวา. พระเจ้าจึงส่งผู้พยากรณ์ เช่น ฮาฆีและมาลาคี เพื่อกระตุ้นไพร่พลของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้. (ฮาฆี 1:2-6; มาลาคี 3:10) คริสเตียนที่อาวุโสในสมัยนี้ใช้สิ่งที่ตนมีอยู่เพื่อสนับสนุนการนมัสการพระยะโฮวาด้วยความยินดี. จงเลียนแบบคนเหล่านั้นโดยทำตามหลักการที่ 1 โกรินโธ 16:1, 2 ที่ให้ “เก็บเงินผลประโยชน์ที่ได้ไว้บ้าง” เป็นประจำเพื่อบริจาคให้ประชาคมและเพื่องานตลอดทั่วโลกของพยานพระยะโฮวา. พระคำของพระเจ้าสัญญาว่า “คนที่หว่านมากจะเกี่ยวเก็บมาก.”—2 โกรินโธ 9:6.
อย่ามองข้ามความสำคัญของสิ่งอื่น ๆ ที่คุณมี เช่น เวลาและพลังงาน. จงพยายาม “ซื้อโอกาสมาใช้” จากกิจกรรมที่มีความสำคัญน้อยกว่า. (เอเฟโซ 5:15, 16; ฟิลิปปอย 1:10) จงเรียนรู้ที่จะใช้เวลาของคุณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น. การทำเช่นนั้นอาจทำให้เป็นไปได้ที่คุณจะมีส่วนร่วมในโครงการบำรุงรักษาหอประชุมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่คล้ายกันซึ่งส่งเสริมการนมัสการพระยะโฮวา. การใช้สิ่งที่คุณมีในวิธีนี้จะให้หลักฐานเพิ่มขึ้นว่าคุณกำลังเป็นคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่.
จงรุดหน้าสู่ความอาวุโส!
ทั้งชายและหญิงที่ขยันศึกษาและมีความรู้ ซึ่งเป็นผู้ประกาศที่มีใจแรงกล้า, ไม่บกพร่องในความซื่อสัตย์มั่นคง, ภักดีและมีความรัก, และเต็มใจให้การสนับสนุนทางฝ่ายร่างกายและฝ่ายวัตถุแก่งานราชอาณาจักรนับเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง. ดังนั้น ไม่แปลกที่อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนว่า “บัดนี้ เมื่อเราได้ละหลักคำสอนเบื้องต้นเกี่ยวกับพระคริสต์แล้ว ให้เรารุดหน้าสู่ความอาวุโส”!—เฮ็บราย 6:1, ล.ม.
คุณเป็นคริสเตียนผู้อาวุโสและเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้วไหม? หรือว่าคุณยังเป็นทารกฝ่ายวิญญาณในบางแง่อยู่? (เฮ็บราย 5:13) ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้คุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะทุ่มเทตัวเองในการศึกษาส่วนตัว, การประกาศ, และการแสดงความรักต่อพี่น้องของคุณ. ยินดีรับเอาคำแนะนำและการตีสอนไม่ว่าในเรื่องใดที่ผู้อาวุโสให้กับคุณ. (สุภาษิต 8:33) รับภาระหน้าที่ของคริสเตียนอย่างเต็มที่. ด้วยการทุ่มเทเวลาและความพยายาม คุณก็เช่นกันจะสามารถ “บรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ถึงขนาดซึ่งเป็นของความบริบูรณ์แห่งพระคริสต์.”—เอเฟโซ 4:13, ล.ม.
[คำโปรยหน้า 27]
คริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ช่วยเสริมประชาคมให้มั่นคง. พวกเขาส่งผลกระทบที่ดีต่อแนวโน้ม หรือเจตคติของประชาคม
[ภาพหน้า 29]
ผู้อาวุโสช่วยส่งเสริมน้ำใจของประชาคมโดยสนใจคนอื่น