อย่าเลิกราในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต!
“การวิ่งแข่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน.”—เฮ็บราย 12:1, ล.ม.
1, 2. เหตุการณ์น่าตื่นเต้นอะไรบ้างที่ได้ทำให้ผู้รับใช้ของพระยะโฮวายินดีอย่างยิ่งในสมัยสุดท้ายนี้?
เรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่น่าตื่นเต้นและท้าทาย. กว่า 80 ปีมาแล้ว ในปี 1914 พระเยซูทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์ของพระเจ้า. “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” และ “วาระสุดท้าย” ของระบบนี้ก็ได้เริ่มขึ้น. (วิวรณ์ 1:10, ล.ม.; ดานิเอล 12:9) นับแต่นั้นมา การวิ่งแข่งเพื่อชีวิตสำหรับคริสเตียนได้ทวีความเร่งด่วนขึ้นเรื่อย ๆ. ผู้รับใช้ของพระเจ้าได้ทุ่มเทตัวเองอย่างขันแข็งเพื่อก้าวให้ทันกับราชรถฝ่ายสวรรค์ของพระยะโฮวา องค์การทางภาคสวรรค์ของพระองค์ ซึ่งเคลื่อนไปอย่างไม่มีอะไรยับยั้งได้เพื่อทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระยะโฮวา.—ยะเอศเคล 1:4-28; 1 โกรินโธ 9:24.
2 ไพร่พลของพระเจ้าพบความยินดีไหมขณะที่พวกเขา “วิ่งแข่ง” เพื่อไปให้ถึงชีวิตนิรันดร์? แน่นอนทีเดียว! พวกเขาตื่นเต้นอย่างยิ่งที่เห็นการรวบรวมชนที่เหลือแห่งเหล่าพี่น้องของพระเยซู และพวกเขาชื่นชมยินดีเมื่อได้ตระหนักว่า การประทับตราชนที่เหลือแห่ง 144,000 คนในขั้นสุดท้ายนั้นจวนจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว. (วิวรณ์ 7:3, 4) นอกจากนี้ พวกเขาตื่นเต้นที่ได้มาเข้าใจว่า กษัตริย์ที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งได้ตวัดเคียวของพระองค์เพื่อเกี่ยว “ผลที่จะเก็บเกี่ยวของแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 14:15, 16, ล.ม.) และช่างเป็นการเกี่ยวที่ยิ่งใหญ่อะไรอย่างนี้! (มัดธาย 9:37) จนถึงตอนนี้ มีมากกว่าห้าล้านคนได้รับการรวบรวมเข้ามา เป็น “ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง.” (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) ไม่มีใครบอกได้ว่า ในที่สุดฝูงชนดังกล่าวนี้จะมีขนาดใหญ่เพียงไร เนื่องจากไม่มีใครนับจำนวนได้.
3. เราต้องพยายามปลูกฝังน้ำใจยินดีแม้มีอุปสรรคอะไร?
3 จริงอยู่ ซาตานพยายามทำให้เราสะดุดหรือช้าลงขณะที่เราเร่งฝีเท้าในการวิ่งแข่ง. (วิวรณ์ 12:17) และนับว่าไม่ง่ายเลยที่จะวิ่งต่อ ๆ ไปฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ อย่างเช่น สงคราม, การกันดารอาหาร, โรคระบาด, และความทุกข์ยากอื่น ๆ ทั้งหมดที่เป็นหมายสำคัญของเวลาอวสาน. (มัดธาย 24:3-9; ลูกา 21:11; 2 ติโมเธียว 3:1-5) ถึงกระนั้น หัวใจเราเต้นด้วยความยินดีขณะที่ใกล้หลักชัยของการวิ่งแข่งเข้าไปเรื่อย ๆ. เราพยายามสะท้อนน้ำใจที่เปาโลกระตุ้นเตือนเพื่อนคริสเตียนในสมัยของท่านให้มีที่ว่า “จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าเสมอ. ข้าพเจ้าจะพูดอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด!”—ฟิลิปปอย 4:4, ล.ม.
4. คริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยสำแดงน้ำใจชนิดใด?
4 ไม่มีข้อสงสัยที่ว่า คริสเตียนที่เปาโลเขียนข้อความดังกล่าวไปถึงนั้นมีความยินดีในความเชื่อของตน เพราะเปาโลกล่าวแก่เขาว่า “จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าต่อ ๆ ไป.” (ฟิลิปปอย 3:1, ล.ม.) พี่น้องในประชาคมฟิลิปปอยเปี่ยมด้วยความรักและมีใจเอื้อเฟื้อ รับใช้ด้วยใจแรงกล้าและกระตือรือร้น. (ฟิลิปปอย 1:3-5; 4:10, 14-20) แต่ไม่ใช่คริสเตียนทุกคนในศตวรรษแรกมีน้ำใจอย่างนี้. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนชาวยิวบางคนที่เปาโลเขียนพระธรรมเฮ็บรายไปถึงนั้นได้สร้างปัญหาที่น่าเป็นห่วงทีเดียว.
‘จงเอาใจใส่ให้มากกว่าปกติ’
5. (ก) คริสเตียนชาวฮีบรูมีน้ำใจเช่นไรเมื่อได้มีการก่อตั้งประชาคมคริสเตียนขึ้นเป็นครั้งแรก? (ข) จงพรรณนาน้ำใจของคริสเตียนชาวฮีบรูบางคนเมื่อราว ๆ ปี ส.ศ. 60.
5 ประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรกในประวัติศาสตร์โลกประกอบไปด้วยชาวยิวโดยกำเนิดและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิว และก่อตั้งขึ้นที่กรุงยะรูซาเลมในปีสากลศักราช 33. ประชาคมนี้มีน้ำใจชนิดใด? เพียงแค่อ่านบทต้น ๆ ของพระธรรมกิจการ ก็จะเห็นความกระตือรือร้นและความยินดีของประชาคมนี้ทั้ง ๆ ที่เผชิญการกดขี่ข่มเหง. (กิจการ 2:44-47; 4:32-34; 5:41; 6:7) อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไปหลายทศวรรษ สภาพการณ์เปลี่ยนไป และคริสเตียนชาวยิวหลายคนดูเหมือนเฉื่อยช้าลงในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับสภาพของพวกเขาเมื่อราว ๆ ปี ส.ศ. 60 ดังนี้: “สภาพที่เป็นอยู่คือมีความเฉื่อยชาและอิดโรย, ความคาดหมายที่ไม่สำเร็จ, ความหวังใจที่ถูกเลื่อนออกไป, การจงใจไม่ทำตามหน้าที่, และสภาพไร้ซึ่งความเชื่อในชีวิตประจำวัน. พวกเขาเป็นคริสเตียน แต่มีความหยั่งรู้ค่าต่อการที่ตนได้รับเกียรติเป็นผู้ถูกเรียกน้อยเต็มที.” คริสเตียนผู้ถูกเจิมตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้อย่างไร? การพิจารณาบางส่วนในจดหมายของเปาโลถึงพี่น้องชาวฮีบรู (เขียนประมาณปี ส.ศ. 61) จะช่วยเราให้ตอบคำถามนี้. การพิจารณาเช่นนี้จะช่วยพวกเราทุกคนในปัจจุบันให้หลีกเลี่ยงการตกอยู่ในสภาพอ่อนแอฝ่ายวิญญาณคล้าย ๆ กัน.
6. มีความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างการนมัสการภายใต้พระบัญญัติของโมเซกับการนมัสการโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสต์?
6 คริสเตียนชาวฮีบรูมีพื้นเพมาจากลัทธิยูดาย ระบบซึ่งอ้างว่าประพฤติตามพระบัญญัติที่พระยะโฮวาทรงประทานผ่านทางโมเซ. พระบัญญัตินั้นดูเหมือนยังคงดึงดูดคริสเตียนชาวยิวหลายคน ซึ่งก็อาจเป็นเพราะนับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่พระบัญญัติเป็นเพียงทางเดียวเท่านั้นในการเข้าถึงพระยะโฮวา และเป็นระบบการนมัสการที่น่าประทับใจ, มีคณะปุโรหิต, การถวายเครื่องบูชาเป็นประจำ, และพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมที่มีชื่อเสียงระดับโลก. ส่วนหลักการคริสเตียนนั้นเป็นคนละอย่างเลยทีเดียว. หลักการคริสเตียนเรียกร้องให้มีวิสัยทัศน์ฝ่ายวิญญาณ เช่นเดียวกับโมเซผู้ซึ่ง “เห็นแก่ประโยชน์บำเหน็จ [ซึ่งยังอยู่ในอนาคต]” และ “มั่นใจอยู่เหมือนหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา.” (เฮ็บราย 11:26, 27) คริสเตียนชาวยิวหลายคนดูเหมือนขาดวิสัยทัศน์ฝ่ายวิญญาณดังกล่าว. พวกเขาก้าวเดินไปอย่างกะโผลกกะเผลกแทนที่จะวิ่งไปอย่างมีจุดหมาย.
7. ระบบที่เราแยกตัวออกมาอาจมีผลกระทบอย่างไรต่อวิธีที่เราวิ่งในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต?
7 มีสภาพการณ์คล้ายกันนี้ไหมในทุกวันนี้? ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สภาพในปัจจุบันไม่เหมือนในศตวรรษแรกเสียทีเดียว. กระนั้น คริสเตียนแยกตัวออกจากระบบโลกที่โอ้อวด. โลกเสนอโอกาสหลายอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ขณะเดียวกัน โลกก็วางภาระหนักไว้บนประชาชน. นอกจากนี้ พวกเราหลายคนอยู่ในประเทศที่มีเจตคติช่างสงสัยและผู้คนเห็นแก่ตัว จะทำอะไรผลประโยชน์ของตนเองต้องมาก่อน. ถ้าเราปล่อยให้ระบบเช่นนี้ครอบงำเรา “ตาใจ” ของเราอาจขุ่นมัวไปได้ง่าย ๆ. (เอเฟโซ 1:18) เราจะวิ่งอย่างดีในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตได้อย่างไร หากเราไม่สามารถเห็นอย่างชัดเจนว่าเรากำลังไปที่ไหน?
8. หลักการคริสเตียนเหนือกว่าการนมัสการภายใต้พระบัญญัติในทางใดบ้าง?
8 เพื่อจะกระตุ้นคริสเตียนชาวยิว เปาโลเตือนใจพวกเขาให้นึกถึงความยอดเยี่ยมของระบบคริสเตียนซึ่งเหนือกว่าพระบัญญัติของโมเซ. จริงอยู่ ตอนที่ชาติยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนังเป็นไพร่พลของพระยะโฮวาภายใต้พระบัญญัติ พระยะโฮวาตรัสกับชาตินี้ทางผู้พยากรณ์ซึ่งได้รับการดลใจ. แต่เปาโลชี้ว่า ในปัจจุบันพระองค์ตรัส “ทางพระบุตร. พระบุตรนั้นพระองค์ได้ทรงตั้งไว้เป็นผู้รับสิ่งทั้งปวงเป็นมฤดก, และโดยพระบุตรนั้นพระองค์ได้ทรงสร้างโลกทั้งหลาย.” (เฮ็บราย 1:2) นอกจากนั้น พระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ทุกองค์ในเชื้อวงศ์ของดาวิด ซึ่งเป็น “พระสหายทั้งปวง” ของพระองค์. พระองค์ทรงอยู่ในฐานะสูงกว่าเหล่าทูตสวรรค์เสียด้วยซ้ำ.—เฮ็บราย 1:5, 6, 9.
9. เหตุใดเราจำต้อง ‘เอาใจใส่ให้มากกว่าปกติ’ ในสิ่งที่พระยะโฮวาตรัส เช่นเดียวกับคริสเตียนชาวยิวในสมัยของเปาโล?
9 ด้วยเหตุนั้น เปาโลแนะนำพี่น้องชาวยิวว่า “จำเป็นที่เราจะเอาใจใส่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ยินแล้วนั้นให้มากกว่าปกติ เพื่อว่าเราจะไม่ลอยห่างไป.” (เฮ็บราย 2:1, ล.ม.) แม้ว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับพระคริสต์เป็นพระพรที่น่าพิศวง แต่ก็จำต้องทำอะไรมากกว่านี้. พวกเขาต้องเอาใจใส่พระคำของพระเจ้าอย่างใกล้ชิดเพื่อลบล้างอิทธิพลของโลกแห่งชาวยิวที่ล้อมรอบพวกเขา. เราก็เช่นกันจำต้อง ‘เอาใจใส่ให้มากกว่าปกติ’ ต่อพระดำรัสของพระยะโฮวา เนื่องจากเราเผชิญการโฆษณาชวนเชื่อจากโลกนี้อยู่โดยตลอด. การเอาใจใส่ให้มากกว่าปกติดังกล่าวหมายถึงการพัฒนานิสัยการศึกษาที่ดีและรักษาตารางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ. ดังที่เปาโลกล่าวในตอนท้าย ๆ ของจดหมายของท่านถึงชาวฮีบรู การเอาใจใส่ให้มากกว่าปกติยังหมายรวมถึงการร่วมประชุมและประกาศความเชื่อของเราต่อผู้อื่นเป็นประจำด้วย. (เฮ็บราย 10:23-25) กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเรารักษาความตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ เพื่อเราจะไม่สูญเสียภาพความหวังอันยอดเยี่ยมของเราไป. ถ้าเราบรรจุความคิดจิตใจเราด้วยความคิดของพระยะโฮวา เราจะไม่พ่ายแพ้หมดกำลังหรือเสียความสมดุลเนื่องด้วยสิ่งใดก็ตามที่โลกนี้อาจทำต่อเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; สุภาษิต 3:1-6.
“จงเตือนสติซึ่งกันและกัน”
10. (ก) อาจเกิดอะไรขึ้นแก่คนที่ไม่ได้เอาใจใส่พระคำของพระยะโฮวาให้มากกว่าปกติ? (ข) เราจะสามารถ “เตือนสติซึ่งกันและกัน” โดยวิธีใด?
10 หากเราไม่ได้เอาใจใส่สิ่งฝ่ายวิญญาณอย่างใกล้ชิด คำสัญญาของพระเจ้าก็อาจกลายเป็นเหมือนเรื่องไม่จริง. เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแม้แต่ในศตวรรษแรกเมื่อประชาคมต่าง ๆ ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมทั้งหมดและอัครสาวกบางคนก็ยังคงมีชีวิตอยู่. เปาโลเตือนชาวฮีบรูดังนี้: “ดูก่อนท่านพี่น้องทั้งหลาย จงระวังให้ดี, หากว่าในพวกท่านจะมีผู้หนึ่งผู้ใดเกิดใจชั่วที่ไม่เชื่อ, แล้วก็หลงไปจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่. แต่ว่าจงเตือนสติซึ่งกันและกันทุกวัน, เมื่อยังเรียกได้ว่าเป็นวันนี้, เกรงว่าในพวกท่านจะมีคนหนึ่งคนใดถูกอุบายของความบาปทำให้ใจแข็งกะด้างไป.” (เฮ็บราย 3:12, 13) คำ “ระวัง” ที่เปาโลใช้ในที่นี้เน้นความจำเป็นที่จะตื่นตัวอยู่เสมอ. มีอันตรายคุกคามอยู่! การขาดความเชื่อซึ่งเป็น “ความบาป” อาจพัฒนาขึ้นในหัวใจเรา และเราอาจถอยห่างจากพระเจ้าแทนที่จะเข้าใกล้ชิดพระองค์. (ยาโกโบ 4:8) เปาโลเตือนเราให้ “เตือนสติซึ่งกันและกัน.” เราต้องการความอบอุ่นจากการคบหาสมาคมกันแบบเป็นพี่เป็นน้อง. “คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่นจงใจจะทำตามตนเอง, และค้านคติแห่งปัญญาอันถูกต้องทั้งหลาย.” (สุภาษิต 18:1) ความจำเป็นสำหรับการคบหาสมาคมอย่างนั้นกระตุ้นคริสเตียนในปัจจุบันให้เข้าร่วมการประชุมประจำประชาคม, การประชุมหมวด, และการประชุมภาคเป็นประจำ.
11, 12. ทำไมเราไม่ควรพอใจเพียงแค่การรู้หลักคำสอนพื้นฐานของคริสเตียน?
11 ต่อมาในจดหมายของท่าน เปาโลให้คำแนะนำที่มีค่ายิ่งดังนี้: “ครั้นท่านทั้งหลายควรจะเป็นครูได้แล้ว, แต่ท่านก็ยังต้องการให้คนอื่นสอนท่านอีกให้รู้ถึงประถมโอวาทตอนต้น ๆ ของพระเจ้า, และท่านทั้งหลายกลายเป็นคนที่ยังต้องการกินน้ำนมไม่ใช่อาหารแข็ง . . . อาหารแข็งนั้นเป็นอาหารสำหรับผู้ใหญ่, คือผู้ที่เคยฝึกหัดความคิดของเขาจนสังเกตได้ว่าไหนดีไหนชั่ว.” (เฮ็บราย 5:12-14) ดูเหมือนว่า คริสเตียนชาวยิวบางคนไม่ได้ก้าวหน้าในด้านความเข้าใจ. พวกเขาช้าในการตอบรับต่อแสงสว่างที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพระบัญญัติและการรับสุหนัต. (กิจการ 15:27-29; ฆะลาเตีย 2:11-14; 6:12, 13) บางคนอาจยังคงถือว่ากิจปฏิบัติดั้งเดิมอย่างเช่นการถือซะบาโตประจำสัปดาห์และวันไถ่โทษประจำปีอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องสำคัญ.—โกโลซาย 2:16, 17; เฮ็บราย 9:1-14.
12 ฉะนั้น เปาโลกล่าวดังนี้: “บัดนี้ เมื่อเราได้ละหลักคำสอนเบื้องต้นเกี่ยวกับพระคริสต์แล้ว ให้เรารุดหน้าสู่ความอาวุโส.” (เฮ็บราย 6:1, ล.ม.) นักวิ่งมาราธอนที่ใส่ใจเข้มงวดในเรื่องอาหารสามารถทนได้ดีกว่าในการวิ่งแข่งซึ่งกินเวลายาวนานและทำให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า. ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนที่เอาใจใส่อย่างแท้จริงในเรื่องโภชนาการฝ่ายวิญญาณ—ไม่จำกัดตัวเองไว้เฉพาะ “หลักคำสอนเบื้องต้น” ซึ่งเป็นพื้นฐาน—จะสามารถรักษาตัวอยู่ในเส้นทางได้ดีกว่าและบรรลุเส้นชัย. (เทียบกับ 2 ติโมเธียว 4:7.) นี่ย่อมหมายความว่าต้องมีการพัฒนาความสนใจใน ‘ความกว้าง, ความยาว, ความสูง, และความลึก’ ของความจริง และโดยวิธีนี้จึงก้าวหน้าสู่ความอาวุโส.—เอเฟโซ 3:18.
“ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน”
13. คริสเตียนชาวฮีบรูได้สำแดงความเชื่อของตนอย่างไรในสมัยก่อน?
13 ในช่วงถัดจากวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 คริสเตียนชาวยิวยืนมั่นแม้เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง. (กิจการ 8:1) เปาโลอาจคิดถึงเรื่องนี้ตอนที่ท่านเขียนว่า “จงระลึกถึงสมัยก่อน ๆ หลังจากท่านได้รับความสว่างแล้ว ท่านได้อดทนกับการต่อสู้อย่างใหญ่หลวงด้วยความทุกข์ยาก.” (เฮ็บราย 10:32, ล.ม.) ความอดทนอย่างซื่อสัตย์เช่นนั้นแสดงถึงความรักของพวกเขาต่อพระเจ้าและทำให้เขาพูดได้อย่างสะดวกใจเฉพาะพระพักตร์พระองค์. (1 โยฮัน 4:17) เปาโลกระตุ้นเตือนพวกเขาไม่ให้เลิกพูดอย่างสะดวกใจเช่นนั้นเนื่องด้วยการขาดความเชื่อ. ท่านกล่าวกระตุ้นพวกเขาดังนี้: “ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน เพื่อว่า เมื่อท่านกระทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จแล้ว ท่านจะได้รับตามคำทรงสัญญา. เพราะว่ายัง ‘อีกหน่อยหนึ่ง’ และ ‘พระองค์ผู้จะเสด็จมาจะมาถึงและจะไม่ทรงเนิ่นช้า.’”—เฮ็บราย 10:35-37, ล.ม.
14. ข้อเท็จจริงอะไรที่น่าจะช่วยเราให้อดทนแม้ว่าได้รับใช้พระยะโฮวามาเป็นเวลานานแล้ว?
14 จะว่าอย่างไรสำหรับเราในปัจจุบัน? พวกเราส่วนใหญ่มีใจแรงกล้าเมื่อได้เรียนรู้ความจริงฝ่ายคริสเตียนเป็นครั้งแรก. เรายังมีใจแรงกล้าอย่างนั้นอยู่ไหม? หรือเรา ‘ได้ละความรักซึ่งเราเคยมีในตอนแรก’ ไปเสียแล้ว? (วิวรณ์ 2:4, ล.ม.) เราเย็นลงหรืออาจกลายเป็นคนผิดหวังหรือเหนื่อยหน่ายกับการรอคอยอาร์มาเก็ดดอนไหม? ถึงกระนั้นก็ตาม จงหยุดแล้วก็ไตร่ตรอง. ความจริงหาได้น่าพิศวงน้อยลงไปแต่อย่างใดไม่. พระเยซูก็ยังคงเป็นกษัตริย์ของเราผู้อยู่ทางภาคสวรรค์. เรายังคงหวังจะมีชีวิตตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก และเรายังคงมีสัมพันธภาพกับพระยะโฮวา. และอย่าลืมว่า “พระองค์ผู้จะเสด็จมาจะมาถึงและจะไม่ทรงเนิ่นช้า.”
15. เช่นเดียวกับพระเยซู คริสเตียนบางคนได้อดทนอย่างไรต่อการข่มเหงอย่างรุนแรง?
15 ฉะนั้น ถ้อยคำของเปาโลซึ่งบันทึกไว้ที่เฮ็บราย 12:1, 2 (ล.ม.) นับว่าเหมาะมากที่ว่า “จงให้เราปลดของหนักทุกอย่างและบาป [การขาดความเชื่อ] ที่เข้าติดพันเราโดยง่ายนั้น และการวิ่งแข่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซู ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ขึ้น. เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาราชบัลลังก์ของพระเจ้า.” มีหลายสิ่งที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าได้ทนรับเอาในสมัยสุดท้ายนี้. เช่นเดียวกับพระเยซูผู้ทรงซื่อสัตย์จนถึงความมรณาอย่างเจ็บปวดรวดร้าว พี่น้องของเราบางคนก็ได้ทนการกดขี่ข่มเหงอย่างแสนสาหัสด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายกักกัน, การทรมาน, การข่มขืน, หรือแม้กระทั่งความตาย. (1 เปโตร 2:21) หัวใจเราไม่เปี่ยมด้วยความรักต่อพวกเขาหรอกหรือเมื่อเราพิจารณาความซื่อสัตย์มั่นคงของพวกเขา?
16, 17. (ก) มีอะไรบ้างที่ท้าทายความเชื่อซึ่งคริสเตียนส่วนใหญ่ต้องรับมือ? (ข) การจดจำอะไรเอาไว้จะช่วยเราวิ่งต่อ ๆ ไปในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต?
16 อย่างไรก็ตาม สำหรับคริสเตียนส่วนใหญ่แล้ว เป็นจริงดังที่ถ้อยคำต่อมาของเปาโลพรรณนาเอาไว้ที่ว่า “ในการสู้รบกับความบาปนั้น ท่านทั้งหลายยังไม่ได้ต่อต้านจนถึงโลหิต.” (เฮ็บราย 12:4, ล.ม.) ถึงกระนั้น ในระบบนี้ ทางของความจริงนับว่าไม่ง่ายเลยสำหรับใครก็ตามในพวกเรา. บางคนท้อแท้เพราะ “การกล่าวขัดแย้งโดยคนบาปทั้งหลาย” ในที่ทำงานหรือที่โรงเรียน โดยที่ต้องทนการเยาะเย้ยหรือต้านทานแรงกดดันให้ทำผิด. (เฮ็บราย 12:3, ล.ม.) การล่อใจอย่างหนักได้เซาะกร่อนความตั้งใจแน่วแน่ของบางคนที่จะรักษามาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้า. (เฮ็บราย 13:4, 5) พวกผู้ออกหากได้ก่ออิทธิพลทำให้บางคนที่ฟังการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งมีพิษร้ายของพวกเขาเสียความสมดุลฝ่ายวิญญาณ. (เฮ็บราย 13:9) ปัญหาในเรื่องความแตกต่างด้านบุคลิกภาพปล้นความยินดีของบางคน. การเน้นมากเกินไปในนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจทำให้คริสเตียนบางคนอ่อนแอลง. และส่วนใหญ่รู้สึกถูกกดดันจากปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตในระบบนี้.
17 จริงอยู่ สภาพการณ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ต้อง “ต่อต้านจนถึงโลหิต.” และสภาพการณ์บางอย่างอาจสืบสาวได้ว่าเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดของเราเอง. แต่ทั้งหมดก่อให้เกิดการท้าทายความเชื่อของเรา. นั่นเป็นเหตุที่เราควรจดจ้องที่ตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของพระเยซูในเรื่องความอดทน. ขอเราอย่าลืมว่าความหวังของเรานั้นยอดเยี่ยมสักเพียงไร. ขอเราอย่าสูญเสียความเชื่อมั่นที่ว่า พระยะโฮวา “เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ.” (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะมีความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณเพื่อวิ่งต่อ ๆ ไปในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต.
เราสามารถ อดทนได้
18, 19. เหตุการณ์อะไรในประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่าคริสเตียนชาวฮีบรูในกรุงยะรูซาเลมเชื่อฟังคำแนะนำซึ่งเปาโลได้รับการดลใจให้เขียน?
18 คริสเตียนชาวยิวแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อจดหมายของเปาโล? ประมาณหกปีหลังจากเขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู ยูเดียก็เกิดสงคราม. ในปี ส.ศ. 66 กองทัพโรมันปิดล้อมกรุงยะรูซาเลม ทำให้ถ้อยคำของพระเยซูสำเร็จที่ว่า “เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบกรุงยะรูซาเลม, เมื่อนั้นท่านจงรู้ว่าความพินาศของกรุงนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว.” (ลูกา 21:20) อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ของคริสเตียนที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลมเวลานั้น พระเยซูตรัสว่า “เวลานั้นให้คนทั้งหลายที่อยู่ในแขวงยูดายหนีไปยังภูเขา และคนทั้งหลายที่อยู่ในกรุงให้ออกไป และคนที่อยู่บ้านนอกอย่าให้เข้ามาในกรุง.” (ลูกา 21:21) ฉะนั้น สงครามกับโรมทำให้เกิดการทดสอบอย่างหนึ่งขึ้น: คริสเตียนชาวยิวจะละทิ้งกรุงยะรูซาเลมซึ่งเป็นศูนย์กลางการนมัสการของชาวยิวและเป็นที่ตั้งของพระวิหารอันสง่างามไหม?
19 โดยกะทันหัน และไม่มีเหตุผลแน่ชัด พวกโรมันถอนทัพ. ชาวยิวที่เคร่งศาสนาคงจะถือว่านี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงปกป้องกรุงศักดิสิทธิ์ของพวกเขา. จะว่าอย่างไรสำหรับเหล่าคริสเตียน? ประวัติศาสตร์บอกเราว่าพวกเขาหนีออกไป. ต่อมา ในปี ส.ศ. 70 พวกโรมันก็กลับมาและทำลายกรุงยะรูซาเลมจนสิ้นซากและทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนอย่างน่าตื่นตระหนก. ‘วันของพระยะโฮวา’ ตามที่โยเอลพยากรณ์ไว้ได้เกิดขึ้นแล้วกับกรุงยะรูซาเลม. แต่คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ไม่อยู่ที่นั่นแล้ว. พวกเขาหนี “รอด.”—โยเอล 2:30-32; กิจการ 2:16-21.
20. การทราบว่า ‘วันใหญ่ของพระยะโฮวา’ ใกล้เข้ามาน่าจะกระตุ้นเราในแนวทางใดบ้าง?
20 ปัจจุบัน เราทราบว่า ‘วันใหญ่ของพระยะโฮวา’ อีกวันหนึ่งจะมีผลต่อระบบทั้งสิ้นในไม่ช้านี้. (โยเอล 3:12-14) เราไม่ทราบว่าวันนั้นจะมาเมื่อไร. แต่พระคำของพระเจ้ารับรองกับเราว่าวันนั้นจะมาแน่! พระยะโฮวาตรัสว่าวันนั้นจะไม่เนิ่นช้า. (ฮะบาฆูค 2:3; 2 เปโตร 3:9, 10) ฉะนั้น ให้เรา “เอาใจใส่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ยินแล้วนั้นให้มากกว่าปกติ.” ระวังอย่าได้ขาดความเชื่อซึ่งเป็น “บาปที่เข้าติดพันเราโดยง่ายนั้น.” จงแน่วแน่ที่จะอดทนนานเท่านาน. จำไว้ว่า องค์การฝ่ายสรรค์ซึ่งเป็นเหมือนราชรถที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวากำลังรุดหน้าไป. องค์การนี้จะทำให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้. ดังนั้น ขอให้เราทุกคนวิ่งต่อ ๆ ไปและอย่าเลิกราในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต!
คุณจำได้ไหม?
▫ การใส่ใจต่อคำเตือนอะไรของเปาโลที่มีไปถึงชาวฟิลิปปอยซึ่งจะช่วยเราให้อดทนในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต?
▫ อะไรจะช่วยเราต้านทานแนวโน้มของโลกนี้ที่จะทำให้เราเขว?
▫ เราจะช่วยกันและกันให้อดทนในการวิ่งแข่งได้อย่างไร?
▫ มีอะไรบ้างที่อาจทำให้คริสเตียนเฉื่อยช้าลง?
▫ แบบอย่างของพระเยซูช่วยเราให้อดทนได้อย่างไร?
[รูปภาพหน้า 8, 9]
เช่นเดียวกับนักวิ่ง คริสเตียนต้องไม่ปล่อยให้สิ่งใดทำให้เขาเขว
[รูปภาพหน้า 10]
ไม่มีสิ่งใดที่จะขัดขวางราชรถฝ่ายสวรรค์อันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาได้ในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผล