พระยะโฮวาโปรดให้อภัยอย่างล้นเหลือ
“ให้คนชั่วละแนวทางของตน และให้คนมุ่งร้ายละความคิดของตน; และให้เขากลับมาหาพระยะโฮวา . . . เพราะพระองค์จะทรงอภัยโทษอย่างล้นเหลือ.”—ยะซายา 55:7, ล.ม.
1. ขณะนี้ พระพรอะไรมีแก่คนเหล่านั้นที่ได้รับการอภัยโทษจากพระยะโฮวา?
พระยะโฮวาทรงอภัยโทษผู้ประพฤติผิดที่กลับใจ และมาบัดนี้เขาสามารถจะได้รับความสงบสบายใจในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. ทั้งนี้ก็เพราะเขาบรรลุข้อเรียกร้องเหล่านี้: “จงแสวงหาพระยะโฮวา ชาวประชาทั้งหลาย ขณะเมื่อจะหาพระองค์พบได้. จงทูลพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงอยู่ใกล้. จงให้คนชั่วละทิ้งแนวทางของตน และให้เขากลับมาหาพระยะโฮวา ผู้ซึ่งจะโปรดเมตตาแก่เขา และกลับมาหาพระเจ้าของเรา เพื่อพระองค์จะทรงอภัยโทษอย่างล้นเหลือ.”—ยะซายา 55:6, 7, ล.ม.
2. (ก) คำพูด ‘แสวงหาพระยะโฮวา’ และ ‘กลับมาหาพระองค์’ ดังที่กล่าวในยะซายา 55:6, 7 หมายความว่ากระไร? (ข) ทำไมชาวยิวที่พลัดถิ่นในบาบูโลนจำต้องกลับมาหาพระยะโฮวา และเกิดอะไรขึ้นกับบางคน?
2 ที่จะ “แสวงหาพระยะโฮวา” และทูลพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงรับรองนั้น คนชั่วต้องละทิ้งทางชั่วที่ตนเคยประพฤติและการคิดมุ่งร้ายใด ๆ ต่อผู้อื่น. ความจำเป็นที่พึง “กลับมาหาพระยะโฮวา” แสดงว่าผู้กระทำความผิดได้ละพระเจ้า ซึ่งเขาเคยมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์. เคยเป็นอย่างนั้นกับผู้คนที่อาศัยในแผ่นดินยูดา ซึ่งความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าของเขานำไปสู่การพลัดถิ่นอยู่ในบาบูโลน. ชาวยิวที่พลัดถิ่นเหล่านี้จำต้องหวนกลับมาหาพระยะโฮวาโดยกลับใจจากการผิดต่าง ๆ ซึ่งยังผลให้เขาต้องตกเป็นเชลยชาวบาบูโลนและบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเริดร้างอยู่นานถึงเจ็ดสิบปีตามที่บอกไว้ล่วงหน้า. ปี 537 ก่อนสากลศักราช มีราชโองการสั่งปล่อยชาวยิวที่เหลือผู้เกรงกลัวพระเจ้าออกไปจากบาบูโลนให้เข้าไปอยู่ในแผ่นดินนั้นอีก. (เอษรา 1:1-8; ดานิเอล 9:1-4) ผลกระทบต่าง ๆ จากการบูรณะฟื้นฟูยิ่งใหญ่จริง ๆ จนได้มีการเปรียบเทียบแผ่นดินยูดากับอุทยานเอเดนทีเดียว.—ยะเอศเคล 36:33-36.
3. ชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณเคยมีประสบการณ์คล้ายกันอย่างไรกับกลุ่มชนผู้ยำเกรงพระเจ้าซึ่งกลับมายังแผ่นดินยูดา?
3 ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณมีประสบการณ์คล้ายกันกับของชาวยิวผู้เกรงกลัวพระเจ้า ผู้ซึ่งกลับสู่แผ่นดินยูดาภายหลังการพลัดถิ่นไปอยู่ในบาบูโลน. (ฆะลาเตีย 6:16) ชนที่เหลือแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณได้เปลี่ยนแนวทางและความคิดของตนบางอย่างทันที หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. การที่เขาพลัดถิ่นอยู่ในบาบูโลนใหญ่ จักรภพโลกแห่งศาสนาเท็จโดยขาดจากความโปรดปรานเต็มที่ของพระเจ้าได้สิ้นสุดลงในปี 1914. เพราะเหตุเขาได้กลับใจจากบาปซึ่งรวมถึงการกลัวมนุษย์และไม่ทำราชกิจของพระยะโฮวา พระองค์จึงทรงปลดปล่อยเขาออกจากบาบูโลนใหญ่ นำเขากลับมาสู่ภาวะทางด้านวิญญาณอันถูกต้อง และทรงใช้พวกเขาอีกให้ประกาศข่าวราชอาณาจักรดังเดิม. นับแต่นั้นเป็นต้นมา อุทยานฝ่ายวิญญาณเฟื่องฟูในท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า เพื่อพระเกียรติต่อพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์. (ยะซายา 55:8-13) จากตัวอย่างครั้งโบราณและสิ่งที่ตัวอย่างนั้นเล็งถึงในปัจจุบัน เรามีหลักฐานชัดแจ้งว่าเมื่อพระเจ้าทรงอภัยโทษพระพรก็ตามมา และโดยแท้แล้ว พระยะโฮวาทรงอภัยโทษผู้ที่กลับใจอย่างล้นเหลือ.
4. ผู้รับใช้บางคนของพระยะโฮวามีความกลัวแบบไหน?
4 ด้วยเหตุนี้ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันจึงวางใจได้ในเรื่องที่พระองค์จะให้อภัยโทษ. กระนั้น บางคนท้อแท้เพราะความผิดพลาดแต่หนหลัง และแทบจะจมอยู่กับความรู้สึกผิดอย่างถอนตัวไม่ได้. เขาคิดว่าตัวเองไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. ที่จริง บางคนกลัวว่าเขาได้กระทำบาปซึ่งให้อภัยไม่ได้ และคงไม่มีทางได้รับอภัยโทษจากพระยะโฮวา. เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?
บาปบางอย่างให้อภัยไม่ได้
5. ทำไมจึงอาจกล่าวได้ว่าบาปบางรายอภัยโทษให้ไม่ได้?
5 บาปบางอย่างให้อภัยไม่ได้. พระเยซูคริสต์ตรัสดังนี้: “ความผิดและคำหมิ่นประมาททุกอย่างทรงโปรดยกให้มนุษย์ได้ เว้นแต่คำหมิ่นประมาทต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงโปรดยกให้มนุษย์ไม่ได้.” (มัดธาย 12:31) ดังนั้น คำหมิ่นประมาทต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้าจึงไม่อาจยกให้ได้. อัครสาวกเปาโลกล่าวพาดพิงถึงบาปประเภทนั้นเมื่อท่านเขียนว่า “เพราะเมื่อเรามาพูดถึงคนเหล่านั้นที่ได้รับความสว่างมาครั้งหนึ่งแล้ว . . . ถ้าเขาจะหลงอยู่อย่างนี้ ก็เหลือวิสัยที่จะให้เขากลับใจเสียใหม่อีกได้ เพราะตัวเขาเองได้ตรึงพระบุตรของพระเจ้าเสียอีกแล้ว และได้ทำให้พระองค์ขายหน้าต่อธารกำนัล.”—เฮ็บราย 6:4-6.
6. การที่จะยกบาปได้หรือไม่นั้นอาศัยอะไรเป็นหลัก?
6 พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบว่าคนใดกระทำบาปที่อภัยไม่ได้. อย่างไรก็ดี เปาโลให้ความสว่างในเรื่องนี้เมื่อท่านเขียนว่า “ถ้าเราได้กระทำบาปโดยเจตนาหลังจากได้รับความรู้ถ่องแท้แห่งความจริงแล้ว จึงไม่มีเครื่องบูชาแก้บาปใด ๆ เหลืออยู่ แต่มีการคาดหมายด้วยความกลัวว่าจะประสบการพิพากษาและความหวงแหนอันร้อนแรงซึ่งจะเผาผลาญคนเหล่านั้นที่ต่อต้าน.” (เฮ็บราย 10:26, 27, ล.ม.) คนที่ทำโดยเจตนาลงมือกระทำโดยไตร่ตรองหรือ “ทำตามใจตนอย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม.” (พจนานุกรม เว็บสเตอร์ นิว คอลิจิเอต) ใครก็ตามที่ทำบาปโดยเจตนาและดึงดันไม่ลดละหลังจากรู้ความจริงแล้วไม่ได้รับการอภัยโทษ. ฉะนั้น ไม่ใช่ชนิดของบาป แต่สภาพหัวใจและขนาดของเจตนาที่รวมอยู่ด้วยซึ่งกำหนดไว้ว่าบาปนั้นอภัยได้หรือไม่ได้. ในทางกลับกัน จะเป็นเช่นไรเมื่อคริสเตียนที่กระทำความผิดรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมากเนื่องด้วยการผิดที่ตนได้กระทำไป? ตามจริงแล้ว ความกังวลใจมากมายเช่นนั้นคงจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า เขาไม่ได้กระทำบาปที่ให้อภัยไม่ได้.
บาปของพวกเขาให้อภัยไม่ได้
7. ทำไมเราสามารถพูดได้ว่าปรปักษ์ทางศาสนาบางคนที่ต่อต้านพระเยซูนั้นกระทำบาปอย่างที่อภัยโทษไม่ได้?
7 ผู้นำศาสนาชาวยิวบางคนที่ต่อต้านพระเยซูได้กระทำบาปโดยเจตนา ดังนั้นจึงเป็นบาปที่อภัยไม่ได้. แม้นพวกเขาได้เห็นฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าปฏิบัติงานผ่านทางพระเยซูขณะที่พระองค์กระทำการดีและการอัศจรรย์ นักศาสนาเหล่านั้นพากันอ้างว่าเป็นอำนาจของเบละซะบูล หรือซาตานพญามาร. พวกเขาได้ทำบาปทั้งที่เขาเห็นโจ่งแจ้งแล้วถึงปฏิบัติการแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้. ดังนั้น เขาทำบาปที่ให้อภัยไม่ได้ เพราะพระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดจะกล่าวขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะทรงโปรดยกให้ผู้นั้นไม่ได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า.”—มัดธาย 12:22-32.
8. ทำไมบาปของยูดาอิศการิโอดจึงให้อภัยไม่ได้?
8 บาปของยูดาอิศการิโอดก็เช่นเดียวกันเป็นบาปซึ่งยกให้ไม่ได้. การที่เขาได้ทรยศหักหลังพระเยซูนั้นเป็นสุดยอดโดยเจตนาแห่งแนวทางของความหน้าซื่อใจคดและความทุจริต. ยกตัวอย่าง เมื่อยูดาเห็นมาเรียเทน้ำมันหอมราคาแพงชโลมพระเยซู เขาได้ถามว่า “เหตุไฉนจึงไม่ขายน้ำมันนั้นเป็นเงินสักสามร้อยบาทแล้วแจกให้แก่คนจน?” อัครสาวกโยฮันกล่าวเพิ่มอีกว่า “ [ยูดา] พูดอย่างนั้น มิใช่เพราะเขาเอาใจใส่ในคนจน แต่เพราะเขาเป็นขโมยคือเขาถือย่ามและได้ยักยอกสิ่งของที่ใส่ไว้ในย่ามนั้น.” ต่อมาไม่นานนัก ยูดาก็ขายพระเยซูด้วยเงินเพียงสามสิบแผ่น. (โยฮัน 12:1-6; มัดธาย 26:6-16) จริงอยู่ ยูดารู้สึกเศร้าโศกเสียใจแล้วได้ฆ่าตัวตาย. (มัดธาย 27:1-5) แต่เขาไม่ได้รับการอภัยโทษ เนื่องจากแนวทางโดยจงใจ ดันทุรังอันเห็นแก่ตัว เช่นนั้นส่อให้เห็นว่าเขาได้ทำบาปต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์. เหมาะสมเพียงไรที่พระเยซูตั้งฉายาให้ยูดาว่า “ลูกของความพินาศ.”—โยฮัน 17:12; มาระโก 3:29; 14:21.
บาปของพวกเขาทรงโปรดยกให้
9. ทำไมพระเจ้าทรงอภัยบาปของดาวิดที่เกี่ยวข้องกับบัธเซบะ?
9 บาปต่าง ๆ ที่ทำโดยเจตนาต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกับความผิดซึ่งพระเจ้าทรงอภัยโทษ. ขอเอาดาวิดกษัตริย์แห่งยิศราเอลเป็นตัวอย่าง. ท่านได้ผิดประเวณีกับนางบัธเซบะ ภรรยาของอุรียา และต่อมาท่านได้ใช้โยอาบวางอุบายให้อุรียาไปตายในสนามรบ. (2 ซามูเอล 11:1-27) ทำไมพระเจ้าทรงสำแดงความเมตตาต่อดาวิด? ประการแรกเพราะคำสัญญาไมตรีเกี่ยวกับราชอาณาจักร แต่อีกประการหนึ่ง เพราะความเมตตาในส่วนของดาวิดและท่านเองได้สำนึกผิดกลับใจจริง ๆ.—1 ซามูเอล 24:4-7; 2 ซามูเอล 7:12; 12:13.
10. แม้นเปโตรได้ทำผิดมหันต์ เหตุใดพระเจ้าทรงอภัยโทษให้ท่าน?
10 จงพิจารณากรณีอัครสาวกเปโตรด้วย. ท่านทำบาปอย่างร้ายแรงโดยการปฏิเสธพระเยซูซ้ำหลายครั้ง. ทำไมพระเจ้าทรงอภัยโทษเปโตร? ต่างไปจากยูดาอิศการิโอด เปโตรเป็นคนซื่อสัตย์ในงานรับใช้พระเจ้าและพระคริสต์. บาปของอัครสาวกผู้นี้เนื่องมาจากความอ่อนแอของเนื้อหนัง และท่านได้กลับใจอย่างแท้จริงและ “ร้องไห้เป็นทุกข์ยิ่งนัก.”—มัดธาย 26:69-75.
11. คุณจะนิยามคำ “การกลับใจ” อย่างไร และผู้คนควรทำประการใดหากเขากลับใจจริง ๆ?
11 ตัวอย่างที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่าถึงแม้คนเราได้ทำบาปร้ายแรงเพียงไรก็อาจได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้ายะโฮวา. แต่ที่จะได้รับการยกโทษเช่นนั้นจำต้องแสดงออกซึ่งท่าทีเช่นไร? การกลับใจอย่างแท้จริงเป็นสิ่งจำเป็นถ้าคริสเตียนผู้ทำความผิดต้องการรับการอภัยโทษจากพระเจ้า. การกลับใจหมายความว่า “หันจากบาปเนื่องด้วยสำนึกในความผิดของตนที่ทำในอดีต” หรือ “รู้สึกเสียใจหรือเศร้าโศกเพราะสิ่งที่ตนได้ทำไปหรือละเว้นไม่ได้ทำ.” (พจนานุกรม นิว อินเตอร์เนชันนัล เล่มที่สามของเว็บสเตอร์) ผู้ที่กลับใจจริง ๆ ย่อมแสดงอาการเศร้าเสียใจอันเนื่องมาจากคำตำหนิ ความสลดใจหรือปัญหาใด ๆ ซึ่งบาปที่ตนกระทำนั้นนำสู่พระนามของพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์. ผู้กระทำผิดซึ่งกลับใจแล้วย่อมบังเกิดผลสมกับการกลับใจ และประกอบการงานเหมาะแก่การกลับใจเช่นกัน. (มัดธาย 3:8; กิจการ 26:20) ตัวอย่างเช่น ถ้าเขาเคยฉ้อฉลบางคน เขาย่อมลงมือจัดการอย่างมีเหตุผลเพื่อชดใช้ผู้เสียหาย. (ลูกา 19:8) คริสเตียนที่กลับใจคนนั้นมีเหตุผลหนักแน่นตามหลักพระคัมภีร์ที่จะมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะโปรดให้อภัยอย่างล้นเหลือ. เหตุผลเหล่านี้มีอะไรบ้าง?
เหตุผลสำหรับความมั่นใจในการอภัยโทษจากพระเจ้า
12. ที่บทเพลงสรรเสริญ 25:11 ระบุผู้ที่ได้กลับใจสามารถทูลขอการอภัยโทษนั้นอาศัยอะไรเป็นพื้นฐาน?
12 ผู้กระทำผิดที่กลับใจสามารถอธิษฐานขอการอภัยโทษในพระนามของพระยะโฮวาด้วยความมั่นใจได้. ดาวิดเคยวิงวอนขอดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอทรงโปรดยกบาปอันอุกฤษฏ์ของข้าพเจ้า เพราะเห็นแก่พระนามของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:11) การอธิษฐานเช่นนั้นควบกับการกลับใจสำหรับคำตำหนิใด ๆ ที่ผู้กระทำผิดนำมาสู่พระนามของพระเจ้านั้น ควรเป็นเสมือนเครื่องยับยั้งการทำบาปที่ร้ายแรงในอนาคต.
13. การอธิษฐานมีความสำคัญเช่นไรในการอภัยโทษจากพระเจ้า?
13 พระเจ้ายะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานแห่งผู้รับใช้ของพระองค์ที่ได้ทำผิดแต่กลับใจ. ยกตัวอย่าง พระยะโฮวาหาได้เมินเฉยต่อดาวิดผู้ซึ่งทูลอธิษฐานด้วยใจจริง หลังจากตระหนักแก่ใจว่าตนได้ทำบาปมหันต์เกี่ยวข้องกับนางบัธเซบะ. ที่จริง คำพูดของดาวิดในบทเพลงสรรเสริญ 51 แสดงออกซึ่งความรู้สึกหลาย ๆ อย่างของผู้ที่วิงวอนขอ. ท่านอ้อนวอนขอดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้า ขอพระองค์ทรงพระเมตตาแก่ข้าพเจ้าให้สมกับพระกรุณาคุณของพระองค์. ขอทรงลบล้างการล่วงละเมิดของข้าพเจ้าตามพระทัยบริบูรณ์ด้วยพระเมตตาปรานีอันอ่อนละมุนของพระองค์. ขอพระองค์ทรงล้างข้าพเจ้าให้หมดจดจากความอสัตย์อธรรมของข้าพเจ้า และทรงชำระข้าพเจ้าให้ปราศจากความผิด. เครื่องบูชาที่สมควรแก่พระเจ้าคือจิตวิญญาณที่ชอกช้ำแล้ว ข้าแต่พระเจ้า ใจแตกและฟกช้ำแล้วนั้นพระองค์ไม่ดูถูกดูหมิ่นเลย.”—บทเพลงสรรเสริญ 51:1, 2, 17.
14. โดยวิธีใดคัมภีร์ไบเบิลให้คำรับรองว่าพระเจ้าทรงอภัยโทษคนเหล่านั้นที่สำแดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู?
14 พระเจ้าโปรดอภัยโทษผู้ที่สำแดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. เปาโลเขียนไว้อย่างนี้: “ในพระองค์นั้น เราได้รับการไถ่โดยพระโลหิตของพระองค์ และได้รับการอภัยโทษในความผิดของเรา.” (เอเฟโซ 1:7) ด้วยความสำคัญทำนองเดียวกัน อัครสาวกโยฮันได้เขียนว่า “ดูก่อนลูกเล็ก ๆ ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเขียนข้อความเหล่านี้ฝากมายังท่านทั้งหลาย เพื่อท่านจะไม่หลงกระทำผิด. และถ้าผู้ใดหลงกระทำผิด เราก็มีพระองค์ผู้ช่วยเหลือสถิตอยู่กับพระบิดา คือพระเยซูคริสต์ผู้เที่ยงธรรมนั้น. และพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงระงับพระพิโรธเพราะบาปของพวกเรา และไม่ใช่ของพวกเราพวกเดียว แต่ว่าของมนุษย์โลกทั้งสิ้นด้วย.”—1 โยฮัน 2:1, 2.
15. เพื่อจะได้รับพระเมตตาของพระเจ้าอยู่ต่อไป คนบาปที่กลับใจต้องทำอะไร?
15 ความเมตตาของพระยะโฮวาให้รากฐานสำหรับผู้กระทำผิดที่กลับใจเชื่อมั่นว่าตนจะได้รับการอภัยโทษ. นะเฮมยาพูดว่า “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าประกอบด้วยความเมตตากรุณา ทรงอดกลั้นพระทัยไว้โดยพระมหากรุณาอันใหญ่ยิ่ง ยังทรงโปรดยกโทษ หาได้ละทิ้งเขาไม่.” (นะเฮมยา 9:17; เทียบกับเอ็กโซโด 34:6, 7.) แน่นอน เพื่อจะรับความเมตตาของพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง คนบาปต้องมานะพยายามรักษากฎหมายของพระเจ้า. ดังผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวไว้ว่า “ขอทรงประทานพระเมตตาคุณอันอ่อนละมุนของพระองค์แก่ข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีชีวิตดำรงอยู่ ด้วยว่าข้าพเจ้ามีความนิยมยินดีในพระบัญญัติของพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา พระกรุณาคุณอันอ่อนละมุนของพระองค์มีเหลือล้น. ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้าฟื้นขึ้นโดยกฎของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:77, 156.
16. ข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาทรงคำนึงถึงสภาพความผิดบาปของเราเป็นการปลอบโยนอย่างไร?
16 ข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาทรงคำนึงถึงสภาพผิดบาปของเราช่วยคนบาปที่กลับใจได้รับการปลอบประโลมและมีเหตุผลจะอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะทรงอภัยเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 51:5; โรม 5:12) ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ให้คำรับรองปลอบใจเมื่อท่านแถลงว่า “พระองค์ [ยะโฮวา] ไม่ได้ทรงกระทำแก่ข้าพเจ้าตามการผิด หรือมิได้ทรงปรับโทษตามความอสัตย์อธรรมของพวกข้าพเจ้านั้น. ด้วยฟ้าสวรรค์สูงจากพื้นดินมากเท่าใด พระองค์ทรงพระกรุณาแก่คนที่ยำเกรงพระองค์มากเท่านั้น. ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าใด พระองค์ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น. บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด พระยะโฮวาทรงเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น. เพราะพระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:10-14) ใช่แล้ว พระบิดาของเราทางภาคสวรรค์ทรงพระเมตตาและเห็นอกเห็นใจมากยิ่งเสียกว่าบิดาที่เป็นมนุษย์.
17. ประวัติการรับใช้พระเจ้าด้วยความซื่อสัตย์ในอดีตมีผลอย่างไรต่อการอภัยโทษ?
17 คนบาปที่กลับใจสามารถอธิษฐานขออภัยโทษด้วยความเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะไม่ทรงมองข้ามประวัติการรับใช้อย่างซื่อสัตย์ของตนในอดีต. นะเฮมยาไม่ได้วิงวอนขออภัยโทษการบาปของท่าน แต่ท่านก็ได้พูดว่า “โอ้พระเจ้าของข้าพเจ้า ขอทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยความโปรดปราน.” (นะเฮมยา 13:31, ล.ม.) คริสเตียนที่กลับใจย่อมได้รับการปลอบประโลมจากถ้อยคำนี้: “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่าน และความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.”—เฮ็บราย 6:10.
ความช่วยเหลือจากผู้เฒ่าผู้แก่
18. ควรจะทำอะไร หากการบาปของคริสเตียนทำให้เขาเจ็บป่วยฝ่ายวิญญาณ?
18 ถ้าคริสเตียนมีความรู้สึกว่าตนไม่คู่ควรจะอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณล่ะ หรือไม่สามารถอธิษฐานเนื่องจากการบาปของตัวซึ่งทำให้ป่วยฝ่ายวิญญาณ? “จงให้เขาเชิญบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคมมาหา [ตน] และให้คนเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อเขา เอาน้ำมันทา [เขา] ในนามของพระยะโฮวา” สาวกยาโกโบเขียนไว้. “และคำอธิษฐานด้วยความเชื่อจะทำให้ผู้ที่ไม่สบายหาย และพระยะโฮวาจะทรงพยุงเขาขึ้น. และหากเขาได้กระทำบาป เขาจะได้รับการอภัย.” ใช่แล้ว ผู้ปกครองในประชาคมสามารถอธิษฐานกับและเพื่อเพื่อนร่วมความเชื่ออย่างได้ผลโดยหวังจะช่วยเขาให้กลับมีสุขภาพดีอีกฝ่ายวิญญาณ—ยาโกโบ 5:14-16, ล.ม.
19. หากว่าคนหนึ่งถูกตัดสัมพันธ์ เขาต้องทำอะไรเพื่อได้รับการอภัยโทษและถูกรับกลับสู่ฐานะเดิม?
19 แม้กระทั่งเมื่อคณะกรรมการตัดสินความได้ตัดสัมพันธ์คนบาปที่ไม่กลับใจ แต่ก็ไม่หมายความว่าเขาทำบาปชนิดที่ให้อภัยไม่ได้. อย่างไรก็ดี ที่จะได้รับการอภัยโทษและถูกรับกลับคืนมาอีก เขาต้องเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าด้วยใจถ่อม บังเกิดผลสมกับการกลับใจและร้องเรียนต่อผู้ดูแลเพื่อจะถูกรับเข้ามาอีก. หลังจากผู้กระทำผิดประเวณีถูกประชาคมโกรินโธครั้งกระโน้นตัดสัมพันธ์ไปแล้ว เปาโลได้เขียนดังนี้: “ซึ่งคนส่วนมากได้ลงโทษคนนั้นก็พอสมควรอยู่แล้ว เหตุฉะนั้นควรท่านทั้งหลายจะยกโทษคนนั้นต่างหาก เพื่อเขาจะได้ความบรรเทา กลัวว่าเขาจะจมลงในความทุกข์เหลือล้น. เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอหนุนใจท่านทั้งหลายให้รับคนนั้นกลับเข้ามาใหม่ด้วยความรัก.”—2 โกรินโธ 2:6-8; 1 โกรินโธ 5:1-13.
พระเจ้าประทานกำลัง
20, 21. อะไรอาจช่วยผู้ที่รู้สึกวิตกกังวลว่าการบาปของตนอาจไม่ได้รับอภัยโทษ?
20 หากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น สุขภาพไม่ดีหรือความเครียดเป็นเหตุให้วิตกกังวลถึงเรื่องการทำบาปซึ่งยกให้ไม่ได้ การพักผ่อนและนอนหลับให้พออาจช่วยได้. อย่างไรก็ดี คุณน่าจะนึกถึงคำกล่าวของเปโตรเป็นพิเศษที่ว่า “จงฝากความกระวนกระวายทั้งสิ้นของท่านไว้กับ [พระเจ้า] เพราะว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในท่านทั้งหลาย.” และอย่าปล่อยซาตานทำให้คุณท้อแท้ เพราะเปโตรกล่าวต่อดังนี้: “จงรักษาสติของท่านไว้ จงระวังระไวให้ดี. พญามาร ปรปักษ์ของท่านทั้งหลาย เที่ยวเดินไปเหมือนสิงโต แผดเสียงร้อง เสาะหาคนหนึ่งคนใดที่มันจะขย้ำกลืนเสีย. แต่จงยืนหยัดต่อต้านมัน มั่นคงในความเชื่อ โดยรู้ว่าสังคมแห่งพี่น้องของท่านทั่วโลกอดทนความทุกข์ลำบากอย่างเดียวกัน. แต่หลังจากท่านทั้งหลายได้ทนทุกข์อยู่ชั่วเวลาสั้น ๆ แล้ว พระเจ้าแห่งความกรุณาทั้งมวลอันไม่พึงได้รับ ผู้ทรงเรียกท่านทั้งหลายมาสู่สง่าราศีนิรันดร์ของพระองค์ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ จะทรงโปรดให้การอบรมของท่านทั้งหลายถึงที่สำเร็จ พระองค์เองจะให้ท่านทั้งหลายมั่นคง พระองค์จะทำให้ท่านทั้งหลายเข้มแข็ง.”—1 เปโตร 5:6-10, ล.ม.
21 ดังนั้น ถ้าคุณเศร้าเสียใจแต่กลัวว่าคุณทำบาปที่ไม่ได้รับการให้อภัย ก็จงระลึกเสมอว่าแนวทางทั้งปวงของพระเจ้านั้นรอบคอบ, ยุติธรรม, และเต็มไปด้วยความรัก. ฉะนั้น จงอธิษฐานต่อพระองค์ด้วยความเชื่อ. จงรับอาหารฝ่ายวิญญาณที่พระองค์จัดเตรียมโดยทาง “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” อย่างต่อเนื่อง. (มัดธาย 24:45-47) จงคบหากับเพื่อนคริสเตียนผู้มีความเชื่อและเข้าส่วนร่วมในงานประกาศสั่งสอนอย่างสม่ำเสมอ. ทั้งนี้ย่อมเป็นการเสริมความเชื่อของคุณให้เข้มแข็ง และปลดเปลื้องคุณจากความกลัวใด ๆ ที่ว่าพระเจ้าอาจไม่ให้อภัยบาปของคุณ.
22. คราวหน้าเราจะพิจารณาเรื่องอะไร?
22 ผู้อยู่อาศัยในอุทยานฝ่ายวิญญาณย่อมสบายใจได้ เมื่อรู้ว่าพระยะโฮวาทรงอภัยโทษอย่างล้นเหลือ. กระนั้น เวลานี้ก็ใช่ว่าชีวิตของเขาไม่มีการทดลอง. บางทีเขาอาจห่อเหี่ยวเนื่องจากคนที่เขารักเสียชีวิต หรือเพื่อนสนิทป่วยหนัก. ในสภาพการณ์เหล่านี้และสภาพการณ์อื่น ๆ พระยะโฮวาทรงช่วยและนำทางไพร่พลของพระองค์โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังที่เราจะได้พิจารณากันต่อไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ มีข้อพิสูจน์อะไรแสดงว่าพระยะโฮวา ‘ทรงให้อภัยอย่างล้นเหลือ’?
▫ บาปอะไรให้อภัยไม่ได้?
▫ บาปของคนเราจะได้รับการอภัยภายใต้สภาพการณ์เช่นไร?
▫ เหตุใดผู้กระทำผิดที่กลับใจสามารถมั่นใจได้ว่าพระเจ้าทรงให้อภัย?
▫ การช่วยเหลืออะไรมีอยู่พร้อมสำหรับผู้กระทำผิดที่กลับใจ?
[รูปภาพหน้า 10]
คุณรู้ไหมว่าทำไมดาวิดและเปโตรได้รับการอภัย แต่ยูดาอิศการิโอดไม่ได้รับการอภัย?
[รูปภาพหน้า 12]
ความช่วยเหลือโดยพวกผู้ดูแลในประชาคมสามารถช่วยคริสเตียนได้มากทางฝ่ายวิญญาณ