จงระวังการขาดความเชื่อ
“พี่น้องทั้งหลาย จงระวังให้ดี ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ใดผู้หนึ่งในพวกท่านเกิดมีหัวใจชั่ว ซึ่งขาดความเชื่อโดยเอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.”—เฮ็บราย 3:12, ล.ม.
1. ถ้อยคำของเปาโลถึงคริสเตียนชาวฮีบรูชี้ชวนให้เราสนใจเรื่องจริงที่น่าตกใจอะไร?
คิดแล้วน่าตกใจ—คนที่ครั้งหนึ่งเคยมีสัมพันธภาพเป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวากลับพัฒนา “หัวใจชั่ว” และ “เอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่”! และนั่นเป็นการเตือนอย่างดีทีเดียว! ถ้อยคำดังกล่าวของอัครสาวกเปาโลไม่ได้กล่าวแก่ผู้ไม่เชื่อ แต่กล่าวแก่คนที่ได้อุทิศชีวิตของตนแด่พระยะโฮวาโดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์.
2. เราจำต้องพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
2 บางคนที่อยู่ในสภาพได้รับการอวยพระพรฝ่ายวิญญาณเช่นนั้นกลับพัฒนา “หัวใจชั่ว ซึ่งขาดความเชื่อ” ได้อย่างไร? ที่จริง เป็นไปได้อย่างไรที่คนซึ่งได้สัมผัสความรักและพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าแล้วจงใจตีตัวออกห่างจากพระองค์? และเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นกับบางคนในพวกเราได้ไหม? คำกล่าวเหล่านี้เป็นข้อคิดที่น่าไตร่ตรอง และเป็นประโยชน์ที่เราจะตรวจดูเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำเตือนนี้.—1 โกรินโธ 10:11.
เหตุใดจึงแนะนำอย่างหนักแน่นเช่นนั้น?
3. จงพรรณนาถึงสภาพการณ์ในศตวรรษแรกที่มีผลกระทบต่อคริสเตียนในกรุงยะรูซาเลมและรอบ ๆ.
3 ดูเหมือนเปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ไปถึงคริสเตียนชาวฮีบรูในยูเดียเมื่อปีสากลศักราช 61. นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งให้ข้อสังเกตว่า เวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่ “ไม่มีสันติสุขหรือความปลอดภัยสำหรับคนสัตย์ซื่อจริงจัง ไม่ว่าในกรุงยะรูซาเลมหรือที่อื่นใดตลอดทั่วแคว้น.” ช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยการละเลยกฎหมายและความรุนแรง เกิดการปลุกปั่นวุ่นวายจากหลายสาเหตุ จากทหารโรมันที่กดขี่ซึ่งมาประจำการอยู่ที่นั่น, จากพวกเลือดรักชาติชาวยิวที่วางข้อรวมตัวกันต่อต้านโรม, และจากพวกหัวขโมยที่ออกประกอบอาชญากรรมโดยฉวยโอกาสในยามที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้. ทั้งหมดนี้ทำให้ลำบากมากสำหรับคริสเตียนซึ่งได้พยายามอย่างหนักเพื่อจะไม่เข้าไปพัวพันในเรื่องเหล่านั้น. (1 ติโมเธียว 2:1, 2) ที่จริง เนื่องจากรักษาฐานะเป็นกลาง พวกเขาถูกบางคนมองว่าเป็นบุคคลที่เข้ากับสังคมไม่ได้ หรือแม้แต่เป็นพวกปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองด้วยซ้ำ. คริสเตียนมักถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย และประสบความสูญเสีย.—เฮ็บราย 10:32-34.
4. คริสเตียนชาวฮีบรูตกอยู่ใต้ความกดดันอะไรทางศาสนา?
4 คริสเตียนชาวฮีบรูยังตกอยู่ใต้ความกดดันอย่างรุนแรงในทางศาสนาด้วย. ความกระตือรือร้นของเหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูและการแผ่ขยายประชาคมคริสเตียนอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากความกระตือรือร้นเช่นนั้นกระตุ้นให้เกิดความอิจฉาและความโมโหโกรธาในหมู่ชาวยิว—โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกหัวหน้าศาสนาของพวกเขา. พวกเขาทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรังควานและกดขี่เหล่าผู้ติดตามพระเยซูคริสต์.a (กิจการ 6:8-14; 21:27-30; 23:12, 13; 24:1-9) แม้ว่าคริสเตียนบางคนไม่ได้ถูกกดขี่โดยตรง แต่ก็ถูกดูหมิ่นเยาะเย้ยจากพวกยิว. ศาสนาคริสเตียนถูกหมิ่นว่าเป็นศาสนาที่เพิ่งก่อตั้ง ขาดความสง่าผ่าเผยแบบลัทธิยูดาย, ไม่มีพระวิหาร, ไม่มีปุโรหิต, ไม่มีเทศกาล, ไม่มีเครื่องบูชาตามแบบแผน, และอื่น ๆ. แม้แต่ผู้นำของพวกเขาคือพระเยซู ก็ถูกประหารในฐานะอาชญากรคนหนึ่งที่ถูกตัดสินลงโทษ. เพื่อจะปฏิบัติศาสนาของตน คริสเตียนจำต้องมีความเชื่อ, ความกล้าหาญ, และความอดทน.
5. เหตุใดจึงจำเป็นที่คริสเตียนในยูเดียต้องตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ?
5 ยิ่งกว่าสิ่งใด คริสเตียนชาวฮีบรูในยูเดียมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายในประวัติศาสตร์ของชาตินี้. เหตุการณ์หลายอย่างที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาตรัสว่าจะเป็นสัญลักษณ์บ่งถึงอวสานของระบบยิวก็ได้เกิดขึ้นแล้ว. อวสานใกล้เข้ามาเต็มที. เพื่อจะรอดชีวิต คริสเตียนต้องรักษาความตื่นตัวฝ่ายวิญญาณและพร้อมจะ “หนีไปยังภูเขา.” (มัดธาย 24:6, 15, 16) พวกเขาจะมีความเชื่อและกำลังทางฝ่ายวิญญาณในการยืนหยัดซึ่งจำเป็นเพื่อจะสามารถลงมือทำอย่างฉับไวดังที่พระเยซูทรงชี้แนะไว้ไหม? ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยังสงสัยอยู่.
6. คริสเตียนในยูเดียจำต้องมีอะไรอย่างเร่งด่วน?
6 ในระหว่างทศวรรษสุดท้ายก่อนการล่มสลายของระบบยิวทั้งสิ้น เห็นได้ชัดว่าคริสเตียนชาวฮีบรูตกอยู่ใต้ความกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประชาคม. พวกเขาต้องการกำลังใจ. แต่พวกเขาจำต้องได้รับคำแนะนำและการนำทางเพื่อช่วยให้เห็นว่า แนวทางที่เขาเลือกนั้นถูกต้องและเขาไม่ได้ทนทุกข์และอดทนโดยไร้ประโยชน์. น่ายินดี เปาโลเสนอตัวเข้ามาช่วยในโอกาสนั้น.
7. เพราะเหตุใดเราควรสนใจเรื่องที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู?
7 ข้อความที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูน่าจะทำให้เราสนใจมากทีเดียว. เพราะเหตุใด? เพราะเรากำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยที่คล้ายกันกับสมัยนั้น. เรารู้สึกถูกกดดันทุกวันจากโลกที่อยู่ใต้การควบคุมของซาตาน. (1 โยฮัน 5:19) คำพยากรณ์ของพระเยซูและของอัครสาวกเกี่ยวกับสมัยสุดท้ายและ “ช่วงอวสานของระบบ” กำลังสำเร็จเห็นจริงต่อหน้าต่อตาเรา. (มัดธาย 24:3-14, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1-5; 2 เปโตร 3:3, 4; วิวรณ์ 6:1-8) ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เราจำต้องตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ เพื่อเรา “จะประสบผลสำเร็จในการหนีพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าจะเกิดขึ้น.”—ลูกา 21:36, ล.ม.
ผู้ที่ใหญ่กว่าโมเซ
8. โดยกล่าวถ้อยคำที่บันทึกไว้ที่เฮ็บราย 3:1 เปาโลกระตุ้นเตือนเพื่อนคริสเตียนให้ทำอะไร?
8 เปาโลกล่าวถึงจุดสำคัญโดยเขียนดังนี้: “จงคิดถึงมหาอัครสาวกและมหาปุโรหิตที่เรารับเชื่ออยู่นั้น คือพระเยซู.” (เฮ็บราย 3:1) คำว่า “คิดถึง” ในที่นี้หมายถึง “เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง . . . เข้าใจถ่องแท้, พิจารณาอย่างถี่ถ้วน.” (พจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ของไวน์) โดยกล่าวอย่างนั้น เปาโลกำลังกระตุ้นเตือนเพื่อนผู้เชื่อถือให้พยายามแข็งขันเพื่อจะเข้าใจอย่างแท้จริงถึงบทบาทของพระเยซูในความเชื่อและความรอดของพวกเขา. การทำเช่นนี้จะเสริมให้พวกเขาแน่วแน่ในการยืนหยัดเพื่อความเชื่อ. ถ้าอย่างนั้น พระเยซูมีบทบาทอะไร และเหตุใดเราควร “คิดถึง” พระองค์?
9. เหตุใดเปาโลกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็น “อัครสาวก” และ “มหาปุโรหิต”?
9 เปาโลใช้คำว่า “อัครสาวก” และ “มหาปุโรหิต” กับพระเยซู. “อัครสาวก” คือคนที่ถูกส่งออกไป และในกรณีนี้เกี่ยวข้องกับวิธีของพระเจ้าในการติดต่อกับมนุษยชาติ. “มหาปุโรหิต” คือผู้กลางที่ช่วยให้มนุษย์เข้าเฝ้าพระเจ้าได้. การจัดเตรียมทั้งสองประการนี้จำเป็นสำหรับการนมัสการแท้ และพระเยซูทรงทำหน้าที่ทั้งสองนี้. พระองค์ทรงเป็นผู้ถูกส่งลงมาจากสวรรค์เพื่อสอนความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าแก่มนุษยชาติ. (โยฮัน 1:18; 3:16; 14:6) นอกจากนั้น พระเยซูยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมหาปุโรหิตในพระวิหารฝ่ายวิญญาณที่มีภาพเล็งถึงซึ่งเป็นการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อการให้อภัยบาป. (เฮ็บราย 4:14, 15; 1 โยฮัน 2:1, 2) ถ้าเราหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงในพระพรที่เราอาจได้รับทางพระเยซู เราจะมีความกล้าหาญและความแน่วแน่ที่จะมั่นคงในความเชื่อ.
10. (ก) เปาโลช่วยคริสเตียนชาวฮีบรูอย่างไรให้เข้าใจว่าศาสนาคริสเตียนเหนือกว่าลัทธิยูดาย? (ข) เปาโลยกความจริงอันเป็นสากลอะไรขึ้นมาสนับสนุนจุดที่ท่านพิจารณา?
10 เพื่อเน้นคุณค่าของความเชื่อคริสเตียน เปาโลเปรียบเทียบพระเยซูกับโมเซผู้ซึ่งชาวยิวถือว่าเป็นผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาบรรพบุรุษทั้งหมดของพวกเขา. หากคริสเตียนชาวฮีบรูเข้าใจอย่างสุดหัวใจถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่าโมเซ พวกเขาก็จะไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยว่าศาสนาคริสเตียนเหนือกว่าลัทธิยูดาย. เปาโลชี้ว่า แม้โมเซถูกนับว่าคู่ควรแก่ความไว้วางใจใน “เรือน” ของพระเจ้าซึ่งก็คือชาติหรือประชาคมแห่งยิศราเอล แต่ท่านก็เป็นเพียงผู้คอยรับใช้หรือคนใช้ที่ซื่อสัตย์เท่านั้น. (อาฤธโม 12:7, ล.ม.) ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูทรงเป็นบุตรและเป็นนายของเรือนนั้น. (1 โกรินโธ 11:3; เฮ็บราย 3:2, 3, 5) เพื่อเพิ่มน้ำหนักแก่จุดที่ท่านกำลังชี้ให้เห็น เปาโลอ้างถึงความจริงอันเป็นสากลที่ว่า “แน่นอน บ้านทุกหลังย่อมมีคนสร้าง แต่ผู้ที่ได้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวงคือพระเจ้า.” (เฮ็บราย 3:4, ล.ม.) ไม่มีใครจะโต้แย้งได้ว่าพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่เหนือใคร ๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นช่างก่อสร้างหรือพระผู้สร้างทุกสิ่ง. ถ้าอย่างนั้น ตามเหตุผลแล้ว เนื่องจากพระเยซูทรงเป็นผู้ร่วมทำงานกับพระเจ้า พระองค์จึงต้องยิ่งใหญ่กว่าสิ่งทรงสร้างอื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งโมเซด้วย.—สุภาษิต 8:30; โกโลซาย 1:15-17.
11, 12. เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูเช่นไรให้ยืนหยัด “มั่นคงจนถึงที่สุด” และเราจะเอาคำแนะนำของท่านไปใช้ได้อย่างไร?
11 ที่จริง คริสเตียนชาวฮีบรูอยู่ในฐานะอันเป็นที่ชอบอย่างสูง. เปาโลเตือนพวกเขาให้ระลึกว่า พวกเขาเป็น “ผู้เข้าส่วนด้วยกันในการทรงเรียกซึ่งมาจากสวรรค์นั้น” สิทธิพิเศษที่จะต้องทะนุถนอมไว้เหนือกว่าสิ่งใดที่ระบบยิวมีเสนอให้. (เฮ็บราย 3:1) ถ้อยคำของเปาโลคงต้องทำให้คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านั้นรู้สึกขอบพระคุณที่พวกเขามีโอกาสจะได้รับมรดกใหม่ แทนที่จะรู้สึกเสียใจที่พวกเขาได้สละสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกของชาวยิว. (ฟิลิปปอย 3:8) เพื่อกระตุ้นพวกเขาให้ยึดสิทธิพิเศษของตนเอาไว้และไม่ดูเบาสิทธิพิเศษนี้ เปาโลกล่าวดังนี้: “พระคริสต์นั้นทรงซื่อสัตย์ในฐานะพระบุตรที่ทรงอำนาจเหนือชุมนุมชนอันเป็นครอบครัวของพระเจ้า และเราทั้งหลายเป็นครอบครัวนั้นแหละ หากเราจะยึดความกล้าหาญและความภูมิใจในความหวังนั้นไว้ [“ให้มั่นคงจนถึงที่สุด,” ฉบับแปลเก่า].”—เฮ็บราย 3:6, ฉบับแปลใหม่.
12 ใช่แล้ว ถ้าคริสเตียนชาวฮีบรูต้องการรอดผ่านอวสานของระบบยิวที่จวนจะถึงอยู่แล้ว พวกเขาต้องยึดความหวังที่พระเจ้าทรงประทาน “ให้มั่นคงจนถึงที่สุด.” เราต้องทำอย่างเดียวกันในทุกวันนี้ หากเราต้องการรอดผ่านอวสานของระบบนี้. (มัดธาย 24:13) เราต้องไม่ยอมให้ความกระวนกระวายในชีวิต, ความไม่แยแสของผู้คน, หรือแนวโน้มไม่สมบูรณ์ของเราเองทำให้ความเชื่อของเราในคำสัญญาของพระเจ้าสั่นคลอน. (ลูกา 21:16-19) เพื่อจะเห็นว่าเราจะเสริมความเข้มแข็งแก่ตัวเราเองได้อย่างไร ให้เราเอาใจใส่ถ้อยคำของเปาโลในข้อต่อไป.
“อย่ากระทำให้ใจของท่านแข็งกะด้างไป”
13. เปาโลให้คำเตือนอะไร และท่านใช้บทเพลงสรรเสริญบท 95 อย่างไร?
13 หลังจากพิจารณาเกี่ยวกับฐานะอันเป็นที่ชอบของคริสเตียนชาวฮีบรูแล้ว เปาโลให้คำเตือนดังนี้: “ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสว่า, วันนี้ถ้าท่านทั้งหลายจะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์, อย่ากระทำให้ใจของท่านแข็งกะด้างไป, เหมือนอย่างได้กระทำให้พระองค์ทรงกริ้วในวันพิสูจน์ในป่า.” (เฮ็บราย 3:7, 8) เปาโลยกข้อความนี้จากบทเพลงสรรเสริญบท 95 และด้วยเหตุนั้นจึงกล่าวได้ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัส.”b (บทเพลงสรรเสริญ 95:7, 8; เอ็กโซโด 17:1-7) พระคัมภีร์มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์.—2 ติโมเธียว 3:16.
14. ชาวยิศราเอลตอบสนองต่อสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงทำเพื่อพวกเขาอย่างไร และเพราะเหตุใด?
14 เมื่อพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์แล้ว ชาวยิศราเอลได้รับเกียรติอย่างยิ่งให้เข้าสู่สัมพันธภาพตามคำสัญญาไมตรีกับพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 19:4, 5; 24:7, 8) แทนที่จะแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงทำเพื่อพวกเขา ไม่นานนักพวกเขาก็ประพฤติอย่างขืนอำนาจ. (อาฤธโม 13:25–14:10) เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นได้อย่างไร? เปาโลชี้ถึงเหตุผลว่าเป็นเพราะหัวใจของพวกเขาแข็งกระด้าง. แต่หัวใจที่ตอบรับต่อพระคำของพระเจ้ากลับกลายเป็นแข็งกระด้างได้อย่างไร? และเราต้องทำอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอย่างนี้?
15. (ก) ‘พระสุรเสียงของพระเจ้า’ กระจายไปอย่างไรให้ได้ยินทั้งในอดีตและปัจจุบัน? (ข) เราจำต้องถามตัวเองอย่างไรในเรื่อง ‘พระสุรเสียงของพระเจ้า’?
15 เปาโลเริ่มคำเตือนของท่านด้วยประโยคเงื่อนไขที่ว่า “ถ้าท่านทั้งหลายจะได้ยิน [“ฟัง,” ล.ม.] พระสุรเสียงของพระองค์.” พระเจ้าตรัสแก่ไพร่พลของพระองค์ผ่านทางโมเซและผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ. จากนั้น พระยะโฮวาตรัสแก่พวกเขาทางพระบุตร พระเยซูคริสต์. (เฮ็บราย 1:1, 2) ทุกวันนี้ เรามีพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าครบชุด คือคัมภีร์ไบเบิลบริสุทธิ์. นอกจากนี้ เรามี “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งพระเยซูทรงแต่งตั้งให้เตรียม ‘อาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาที่สมควร.’ (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ฉะนั้น พระเจ้ายังคงตรัสอยู่ในเวลานี้. แต่เรากำลังฟังอยู่ไหม? ตัวอย่างเช่น เราตอบรับคำแนะนำในเรื่องเสื้อผ้าและการแต่งตัวหรือการเลือกความบันเทิงและดนตรีไหม? เรา “ฟัง” โดยการเอาใจใส่และเชื่อฟังสิ่งที่ได้ยินไหม? ถ้าเรามีนิสัยชอบแก้ตัวหรือหาข้อยกเว้นที่จะไม่ทำตามคำแนะนำ เราก็กำลังทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตรายที่หัวใจอาจแข็งกระด้างได้โดยไม่รู้ตัว.
16. ทางหนึ่งซึ่งอาจทำให้หัวใจของเราเปลี่ยนเป็นแข็งกระด้างได้คืออะไร?
16 หัวใจของเราอาจเปลี่ยนเป็นแข็งกระด้างได้ด้วยถ้าเราขอตัวไม่ทำสิ่งที่เราทำได้และควรทำ. (ยาโกโบ 4:17) แม้ว่าพระยะโฮวาทรงทำทุกสิ่งเพื่อชาวยิศราเอล แต่พวกเขาไม่ได้แสดงความเชื่อ, กบฏต่อโมเซ, เลือกเชื่อรายงานในแง่ลบเกี่ยวกับแผ่นดินคะนาอัน, และปฏิเสธที่จะเข้าไปในแผ่นดินแห่งคำสัญญา. (อาฤธโม 14:1-4) ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงมีรับสั่งให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นทุรกันดารนาน 40 ปี ซึ่งนานพอที่สมาชิกที่ขาดความเชื่อของคนชั่วอายุนั้นจะล้มหายตายจาก. ด้วยความขุ่นเคืองในพวกเขา พระเจ้าตรัสดังนี้: “‘เขาทั้งหลายเป็นคนใจหลงผิดเสมอ’ แต่เขาไม่รู้จักทางทั้งหลายของเรา. เหตุฉะนั้นเราจึงกริ้วปฏิญาณว่า, ‘คนเหล่านั้นจะเข้าในที่สงบสุขของเราหามิได้.’” (เฮ็บราย 3:9-11) เรามองเห็นบทเรียนสำหรับเราในเรื่องนี้ไหม?
บทเรียนสำหรับเรา
17. แม้ว่าพวกเขาเห็นพระราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวาและได้ยินคำแถลงของพระองค์ เหตุใดชาวยิศราเอลขาดความเชื่อ?
17 ชาวยิศราเอลในชั่วคนที่ออกจากอียิปต์เห็นด้วยตาและได้ยินด้วยหูถึงพระราชกิจและคำแถลงอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวา. กระนั้น พวกเขาไม่มีความเชื่อว่าพระเจ้าสามารถนำเขาเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญาอย่างปลอดภัย. เพราะเหตุใด? พระยะโฮวาตรัสว่า “เขาไม่รู้จักทางทั้งหลายของเรา.” พวกเขาทราบเรื่องที่พระยะโฮวาได้ตรัสไว้และได้ทำ แต่พวกเขาไม่ได้พัฒนาความมั่นใจและความไว้วางใจในความสามารถของพระองค์ที่จะดูแลพวกเขา. พวกเขาหมกมุ่นอยู่แต่สิ่งจำเป็นและความปรารถนาส่วนตัวจนแทบไม่ได้คิดถึงแนวทางและพระประสงค์ของพระเจ้า. ถูกแล้ว พวกเขาขาดความเชื่อในคำสัญญาของพระองค์.
18. ตามที่เปาโลบอก แนวทางการกระทำเช่นไรจะยังผลเป็น “หัวใจชั่วซึ่งขาดความเชื่อ”?
18 ถ้อยคำต่อจากนั้นที่มีไปถึงชาวฮีบรูใช้ได้อย่างมีน้ำหนักพอ ๆ กันสำหรับเราด้วยที่ว่า “พี่น้องทั้งหลาย จงระวังให้ดี ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ใดผู้หนึ่งในพวกท่านเกิดมีหัวใจชั่วซึ่งขาดความเชื่อโดยเอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (เฮ็บราย 3:12, ล.ม.) เปาโลเข้าถึงแก่นของเรื่องโดยชี้ว่า “หัวใจชั่วซึ่งขาดความเชื่อ” เป็นผลซึ่งเกิดจากการ “เอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” ในตอนต้นของจดหมายฉบับนี้ ท่านกล่าวถึงการ “ลอยห่างไป” เนื่องจากการไม่เอาใจใส่. (เฮ็บราย 2:1, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม คำในภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “เอาตัวออกห่าง” มีความหมายว่า “อยู่ห่าง ๆ” และเกี่ยวพันกับคำ “ออกหาก.” คำนี้บ่งชี้ถึงการขัดขืน, การถอนตัว, และการตีจากอย่างจงใจและมีสติ โดยมีความดูแคลนปนอยู่ด้วย.
19. การไม่ฟังคำแนะนำอาจนำไปสู่ผลสุดท้ายที่ร้ายแรงอะไร? จงยกตัวอย่าง.
19 ดังนั้น บทเรียนก็คือว่าถ้าเราตกเข้าสู่นิสัยไม่ชอบ “ได้ยิน [“ฟัง,” ล.ม.] พระสุรเสียงของพระองค์” กล่าวคือไม่สนใจคำแนะนำจากพระยะโฮวาที่ผ่านทางพระคำและชนจำพวกทาสสัตย์ซื่อ ไม่ช้าไม่นานหัวใจของเราก็จะกลายเป็นเย็นชา แข็งกระด้าง. ยกตัวอย่างเช่น คู่รักคู่หนึ่งอาจเริ่มใกล้ชิดสนิทสนมกันมากไปหน่อย. จะเป็นอย่างไรหากทั้งสองไม่ใส่ใจเรื่องนี้? การเพิกเฉยเช่นนี้จะป้องกันเขาไว้จากการทำซ้ำอย่างที่เคยทำไหม หรือมีแต่จะทำให้ง่ายยิ่งขึ้นที่จะทำอย่างเดิมอีก? ในทำนองเดียวกัน เมื่อชนจำพวกทาสแนะนำเรื่องความจำเป็นต้องเลือกชนิดของดนตรีและความบันเทิง และเรื่องอื่น ๆ เรารับคำแนะนำนั้นด้วยความรู้สึกขอบคุณและปรับเปลี่ยนแก้ไขตามที่จำเป็นไหม? เปาโลกระตุ้นเตือนเรา ‘อย่าละการประชุมร่วมกัน.’ (เฮ็บราย 10:24, 25) แม้ว่ามีคำแนะนำอย่างนี้ แต่บางคนก็ไม่ค่อยสนใจการประชุมของคริสเตียนเท่าไรนัก. เขาอาจรู้สึกว่าการขาดการประชุมบ้างบางครั้งหรือแม้แต่จะไม่ไปประชุมบางรายการเลยก็คงไม่มีผลอะไร.
20. เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะตอบรับคำแนะนำของพระคัมภีร์?
20 ถ้าเราไม่ตอบรับ “พระสุรเสียง” ของพระยะโฮวาที่กล่าวไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์และสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก ไม่ช้าเราจะพบว่าตัวเราเองกำลัง “เอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” การปล่อยปละละเลยคำแนะนำอาจกลายเป็นการดูเบา, วิจารณ์, และขัดขืน อย่างแข็งขันได้โดยง่าย. หากปล่อยไว้ไม่แก้ไข ก็จะก่อผลเป็น “หัวใจชั่ว ซึ่งขาดความเชื่อ” และการฟื้นฟูจากแนวทางเช่นนั้นมักทำได้ยากมาก. (เทียบกับเอเฟโซ 4:19.) ยิระมะยาเขียนไว้เหมาะเจาะทีเดียวดังนี้: “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด. ใครจะรู้จักหัวใจได้เล่า?” (ยิระมะยา 17:9, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ เปาโลกระตุ้นเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อชาวฮีบรูว่า “จงเตือนสติซึ่งกันและกันทุกวัน, เมื่อยังเรียกได้ว่าเป็นวันนี้, เกรงว่าในพวกท่านจะมีคนหนึ่งคนใดถูกอุบายของความบาปทำให้ใจแข็งกะด้างไป.”—เฮ็บราย 3:13.
21. เราทุกคนได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไร และเรามีความหวังอะไร?
21 เรามีความสุขสักเพียงไรที่พระยะโฮวายังคงตรัสแก่เราในทุกวันนี้โดยทางพระคำและองค์การของพระองค์! เราหยั่งรู้ค่าที่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ช่วยเรามาโดยตลอดให้ “ยึดความไว้วางใจที่เรามีอยู่ตอนต้นไว้ให้มั่นคงจนถึงที่สุด.” (เฮ็บราย 3:14) บัดนี้ เป็นเวลาที่เราจะตอบสนองความรักของพระเจ้าและตอบรับการชี้นำของพระองค์. ขณะที่เราทำดังนั้น เราจะยินดีในคำสัญญาอันมหัศจรรย์ของพระยะโฮวาอีกข้อหนึ่ง กล่าวคือการ ‘เข้าไปใน’ ที่สงบสุขของพระองค์. (เฮ็บราย 4:3, 10) นี่คือหัวเรื่องที่เปาโลพิจารณากับคริสเตียนชาวฮีบรูในลำดับถัดไป และเป็นเรื่องที่เราจะพิจารณากันในบทความหน้า.
[เชิงอรรถ]
a โยเซฟุสรายงานว่าไม่นานหลังจากเฟศโตสิ้นชีวิต อนานุส (อนาเนียส) แห่งนิกายซาดูกาย ได้ขึ้นเป็นมหาปุโรหิต. เขาสั่งให้นำตัวยาโกโบน้องชายต่างบิดาของพระเยซูและสาวกคนอื่น ๆ มาขึ้นศาลซันเฮดรินและตัดสินประหารชีวิตพวกเขาโดยเอาหินขว้าง.
b ดูเหมือนว่าเปาโลยกข้อความมาจากฉบับภาษากรีกเซปตัวจินต์ ซึ่งแปลคำภาษาฮีบรู “เมริบะห์” และ “มัสสะห์” ว่า “การทะเลาะกัน” และ “การทดสอบ” ตามลำดับ. โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 350 และ 379 ซึ่งจัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ เหตุใดเปาโลจึงเขียนคำแนะนำอย่างหนักแน่นเช่นนั้นถึงคริสเตียนชาวฮีบรู?
▫ เปาโลช่วยคริสเตียนชาวฮีบรูอย่างไรให้เข้าใจว่าพวกเขามีสิ่งที่ดีกว่าชีวิตภายใต้ลัทธิยูดาย?
▫ หัวใจคนเราอาจกลับกลายเป็นแข็งกระด้างได้อย่างไร?
▫ เราต้องทำอะไรเพื่อจะไม่พัฒนา “หัวใจชั่วซึ่งขาดความเชื่อ?”
[รูปภาพหน้า 10]
คุณสำแดงความเชื่อในพระเยซูซึ่งเป็นโมเซผู้ยิ่งใหญ่ไหม?