จงดำเนินต่อ ๆ ไปอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงดำเนิน
“ผู้ที่กล่าวว่าตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ [พระเจ้า] ผู้นั้นต้องดำเนินอย่างที่ [พระเยซู] ทรงดำเนินนั้นด้วย.”—1 โยฮัน 2:6, ล.ม.
1, 2. การมองเขม้นที่พระเยซูเกี่ยวข้องกับอะไร?
อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ให้เราวิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่งซึ่งอยู่ต่อหน้าเรา ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซู ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์.” (เฮ็บราย 12:1, 2, ล.ม.) การดำเนินในแนวทางแห่งความซื่อสัตย์เรียกร้องให้เรามองเขม้นที่พระเยซูคริสต์.
2 คำในภาษาเดิมที่นำมาแปลว่า “มองเขม้น” ตามที่ใช้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกนั้น หมายถึง “มุ่งเอาใจจดจ่อโดยไม่เขวไปมองสิ่งอื่น,” “ละสายตาจากสิ่งหนึ่งเพื่อจะมองอีกสิ่งหนึ่ง,” “เพ่งมอง.” หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งให้ความเห็นว่า “ชั่วขณะที่นักวิ่งแข่งชาวกรีกในสนามแข่งขันหันเหความสนใจออกไปจากลู่วิ่งและเส้นชัยที่เขากำลังวิ่งไปให้ถึง และหันไปมองฝูงชนที่ดูการแข่งขันอยู่ ความเร็วของเขาจะลดลง. สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับคริสเตียน.” การเบนความสนใจสามารถขัดขวางความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของเรา. เราต้องมองเขม้นไปที่พระเยซูคริสต์. และเรามองดูอะไรในตัวผู้นำองค์เอก? คำภาษากรีกที่มีการแปลว่า “ผู้นำองค์เอก” หมายถึง “ผู้ที่นำหน้าในเรื่องใดก็ตาม และโดยวิธีนั้นจึงวางตัวอย่างไว้สำหรับให้ติดตาม.” การมองเขม้นที่พระเยซูหมายความว่าเราต้องติดตามตัวอย่างของพระองค์.
3, 4. (ก) การดำเนินอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินเรียกร้องอะไรจากเรา? (ข) คำถามอะไรบ้างที่เราควรเอาใจใส่?
3 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้ที่กล่าวว่าตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ [พระเจ้า] ผู้นั้นต้องดำเนินอย่างที่ [พระเยซู] ทรงดำเนินนั้นด้วย.” (1 โยฮัน 2:6, ล.ม.) เราต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเจ้า โดยการปฏิบัติตามบัญญัติของพระเยซู เหมือนกับที่พระองค์ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระบิดา.—โยฮัน 15:10.
4 ดังนั้น เพื่อจะดำเนินอย่างที่พระเยซูทรงดำเนินเราต้องสังเกตดูพระองค์อย่างใกล้ชิดฐานะที่เป็นผู้นำองค์เอกและเราต้องดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด. คำถามสำคัญที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ พระคริสต์นำพวกเราโดยวิธีใดในทุกวันนี้? การดำเนินตามวิธีที่พระองค์ดำเนินควรส่งผลกระทบเช่นไรต่อเรา? การยึดมั่นอยู่กับแบบอย่างที่พระเยซูคริสต์ได้วางไว้ให้ผลประโยชน์อะไรบ้าง?
วิธีที่พระคริสต์นำเหล่าสาวกของพระองค์
5. ก่อนเสด็จสู่สวรรค์ พระเยซูสัญญาอะไรกับเหล่าสาวกของพระองค์?
5 ก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระเยซูคริสต์ผู้คืนพระชนม์ได้ปรากฏพระกายต่อสาวกและมอบหมายงานสำคัญแก่พวกเขา. พระองค์ตรัสว่า “ฉะนั้น จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก.” ในโอกาสนั้น ผู้นำองค์เอกนี้สัญญาด้วยว่าจะอยู่กับพวกเขาขณะที่พวกเขาทำงานมอบหมายนี้ โดยตรัสว่า “นี่แน่ะ! เราอยู่กับพวกเจ้าเสมอจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบ.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) ในทางใดที่ว่าพระเยซูคริสต์อยู่กับสาวกของพระองค์ในเวลานี้ของช่วงอวสานแห่งระบบ?
6, 7. พระเยซูนำพวกเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร?
6 พระเยซูกล่าวว่า “พระองค์ผู้ช่วยนั้น คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระบิดาจะทรงใช้มาในนามของเรา พระองค์นั้นจะสอนท่านทุกสิ่ง และจะให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราได้กล่าวแก่ท่านแล้ว.” (โยฮัน 14:26) พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงส่งมาในนามของพระเยซูชี้นำและเสริมกำลังเราในทุกวันนี้. พระวิญญาณช่วยเราให้ได้รับความกระจ่างฝ่ายวิญญาณ และช่วยเราให้เข้าใจ “แม้แต่สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า.” (1 โกรินโธ 2:10, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น คุณลักษณะต่าง ๆ แบบพระเจ้าซึ่งได้แก่ “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความปรานี, ความดี, ความสัตย์ซื่อ [“ความเชื่อ,” ล.ม.], ความอ่อนสุภาพ, การรู้จักบังคับตน” ล้วนเป็น “ผลของพระวิญญาณ.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะพัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้ได้.
7 ขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์และพยายามนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ พระวิญญาณของพระยะโฮวาจะช่วยเราให้พัฒนาขึ้นในสติปัญญา, ความสังเกตเข้าใจ, ความเข้าใจ, ความรู้, ความสามารถในการตัดสิน, และความสามารถในการคิด. (สุภาษิต 2:1-11, ล.ม.) พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังช่วยเราให้อดทนเมื่อเผชิญการล่อใจและการทดลอง. (1 โกรินโธ 10:13; 2 โกรินโธ 4:7; ฟิลิปปอย 4:13) คริสเตียนได้รับการกระตุ้นเตือนให้ ‘ชำระตัวจากมลทินทุกอย่างแห่งเนื้อหนังและวิญญาณ ทำความบริสุทธิ์ให้สมบูรณ์.’ (2 โกรินโธ 7:1, ล.ม.) เราจะบรรลุข้อเรียกร้องของพระเจ้าเรื่องความบริสุทธิ์หรือความสะอาดได้หรือ หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์? วิธีหนึ่งในหลายวิธีที่พระเยซูใช้ในการนำพวกเราในทุกวันนี้คือโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าให้พระบุตรมีอำนาจที่จะใช้.—มัดธาย 28:18.
8, 9. พระคริสต์ทรงใช้ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” อย่างไรเพื่อนำสาวกของพระองค์?
8 ขอพิจารณาอีกวิธีหนึ่งที่พระคริสต์นำประชาคมคริสเตียนในปัจจุบัน. ขณะกล่าวถึงการประทับของพระองค์และช่วงอวสานแห่งระบบ พระเยซูตรัสว่า “แท้จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของนาย เพื่อให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ? ทาสผู้นั้นก็เป็นสุข ถ้าตอนที่นายมาถึง พบว่าเขากำลังทำอย่างนั้น. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.”—มัดธาย 24:3, 45-47, ล.ม.
9 “นาย” นั้นคือพระเยซูคริสต์. “ทาส” คือกลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่บนแผ่นดินโลก. ชนชั้นทาสนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลผลประโยชน์ทางแผ่นดินโลกของพระเยซูและจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะ. ผู้ดูแลที่มีคุณวุฒิกลุ่มเล็ก ๆ จากกลุ่ม “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ประกอบกันขึ้นเป็นคณะกรรมการปกครอง และเป็นตัวแทนของชนชั้นทาส. พวกเขาดูแลงานประกาศราชอาณาจักรตลอดทั่วโลกรวมทั้งดูแลการจัดเตรียมการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณที่เหมาะแก่เวลา. โดยวิธีนี้ พระคริสต์นำประชาคมผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณและคณะกรรมการปกครองที่เป็นตัวแทนของทาสนั้น.
10. ทัศนะของเราต่อผู้ปกครองควรเป็นเช่นไร และเพราะเหตุใด?
10 อีกวิธีหนึ่งที่พระคริสต์นำประชาคมของพระองค์นั่นก็คือ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ซึ่งหมายถึงคริสเตียนผู้ปกครองหรือผู้ดูแล. มีการประทานคนเหล่านี้ให้ “โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:8, 11, 12, ล.ม.) เฮ็บราย 13:7 กล่าวเกี่ยวกับพวกเขาว่า “จงระลึกถึงคนเหล่านั้นที่ได้เคยปกครองท่าน, คือคนที่ได้ประกาศพระคำของพระเจ้าแก่ท่าน และจงพิจารณาดูผลแห่งปลายทางแห่งประวัติของเขา, แล้วจงเอาอย่างความเชื่อของเขา.” พวกผู้ปกครองนำหน้าในประชาคม. เนื่องจากพวกเขาเลียนแบบพระเยซูคริสต์ ความเชื่อของพวกเขาจึงควรค่าแก่การเลียนแบบ. (1 โกรินโธ 11:1) เราสามารถแสดงความสำนึกบุญคุณสำหรับการจัดเตรียมให้มีผู้ปกครองโดยการเป็นคนที่เชื่อฟังและยอมอยู่ในโอวาทของ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เหล่านี้.—เฮ็บราย 13:17.
11. ทุกวันนี้พระคริสต์นำสาวกของพระองค์ในวิธีใดบ้าง และเพื่อจะดำเนินอย่างที่พระองค์ทรงดำเนิน เราต้องทำอะไร?
11 ใช่แล้ว พระเยซูคริสต์นำสาวกของพระองค์ในปัจจุบันผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์, “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม,” และเหล่าผู้ปกครองในประชาคม. เพื่อจะดำเนินอย่างที่พระคริสต์ทรงดำเนิน เราจำเป็นต้องเข้าใจวิธีที่พระองค์นำประชาคมและน้อมยอมรับวิธีของพระองค์. นอกจากนี้ เราต้องเลียนแบบวิธีที่พระองค์ดำเนินด้วย. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) การทำตามแบบอย่างอันสมบูรณ์พร้อมของพระเยซูควรส่งผลกระทบต่อเราในทางใด?
มีเหตุมีผลในการใช้อำนาจ
12. แบบอย่างของพระคริสต์ในแง่มุมใดน่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับผู้ปกครองในประชาคม?
12 ถึงแม้พระเยซูได้รับอำนาจจากพระบิดาของพระองค์มากกว่าใคร ๆ แต่พระองค์ก็มีเหตุมีผลในวิธีที่พระองค์ใช้อำนาจนั้น. ทุกคนในประชาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าผู้ดูแล ควรให้ ‘ความมีเหตุผลของเขาปรากฏแก่คนทั้งปวง.’ (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 3:2, 3, ล.ม.) เนื่องจากผู้ปกครองมีอำนาจระดับหนึ่งในประชาคม พวกเขาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินตามรอยพระบาทของพระคริสต์ในการใช้อำนาจ.
13, 14. ผู้ปกครองจะเลียนแบบพระคริสต์ได้ในทางใดเมื่อพวกเขาสนับสนุนผู้อื่นให้รับใช้พระเจ้า?
13 พระเยซูคำนึงถึงขีดจำกัดของสาวกของพระองค์. พระองค์ไม่เรียกร้องจากพวกเขามากกว่าที่พวกเขาจะให้ได้. (โยฮัน 16:12) โดยไม่กดดันสาวก พระเยซูทรงหนุนใจพวกเขาให้ “บากบั่นอย่างแข็งขัน” ในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (ลูกา 13:24, ล.ม.) พระองค์ทำเช่นนั้นโดยเป็นฝ่ายทำเป็นตัวอย่างและกระตุ้นหัวใจพวกเขา. ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนผู้ปกครองในทุกวันนี้จะไม่กดดันให้คนอื่นรับใช้พระเจ้าโดยการทำให้พวกเขารู้สึกอายหรือรู้สึกว่าเป็นความผิดถ้าไม่ได้ทำ. แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาจะหนุนใจผู้อื่นให้รับใช้พระยะโฮวาด้วยความรักที่เขามีต่อพระองค์และต่อพระเยซู รวมถึงความรักที่มีต่อเพื่อนบ้าน.—มัดธาย 22:37-39.
14 พระเยซูไม่ได้ใช้อำนาจที่พระองค์ได้รับมอบนั้นอย่างผิด ๆ ด้วยการควบคุมชีวิตผู้อื่น. พระองค์ไม่ได้ตั้งมาตรฐานที่ไม่มีวันบรรลุได้ อีกทั้งไม่ได้วางกฎเกณฑ์มากมาย. วิธีการของพระองค์คือกระตุ้นผู้อื่นโดยการเข้าถึงหัวใจคนเหล่านั้นด้วยหลักการที่แฝงอยู่ในพระบัญญัติที่ประทานผ่านทางโมเซ. (มัดธาย 5:27, 28) ในการเลียนแบบพระเยซูคริสต์ ผู้ปกครองจะหลีกเว้นการตั้งกฎเกณฑ์ตามใจชอบ หรือการยืนกรานในแง่คิดส่วนตัว. ในเรื่องเสื้อผ้าและการแต่งกาย หรือนันทนาการและความบันเทิง ผู้ปกครองพยายามหาเหตุผลโดยใช้หลักการของพระเจ้า เช่นที่วางเค้าโครงไว้ในมีคา 6:8; 1 โกรินโธ 10:31-33; และ 1 ติโมเธียว 2:9, 10.
เห็นอกเห็นใจและให้อภัย
15. พระเยซูมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อข้อผิดพลาดของพวกสาวก?
15 พระคริสต์วางแบบอย่างให้เราติดตามในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อสาวกเมื่อพวกเขาบกพร่องและกระทำผิด. ขอพิจารณาสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนสุดท้ายที่พระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลกฐานะมนุษย์. หลังจากไปถึงสวนเกทเซมาเนแล้ว พระเยซู “พาเปโตร ยาโกโบ และโยฮันไปด้วย” และบอกพวกเขาว่า “จงคอยเฝ้าอยู่ที่นี่เถิด.” แล้วพระองค์ “เสด็จดำเนินไปอีกหน่อยหนึ่ง ซบพระกายลงที่ดินอธิษฐาน.” เมื่อกลับมา ก็ “ทรงเห็นเหล่าสาวกนอนหลับอยู่.” พระองค์มีปฏิกิริยาอย่างไร? พระองค์ตรัสว่า “จิตต์ใจพร้อมแล้วก็จริง, แต่เนื้อหนังยังอ่อนกำลัง.” (มาระโก 14:32-38) แทนที่จะต่อว่าเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันอย่างเกรี้ยวกราด พระองค์ทรงแสดงความเห็นอกเห็นใจ! ในคืนเดียวกันนั้น เปโตรปฏิเสธพระเยซูถึงสามครั้ง. (มาระโก 14:66-72) พระเยซูปฏิบัติต่อเปโตรอย่างไรหลังจากนั้น? “พระองค์ผู้เป็นเจ้าทรงเป็นขึ้นมา . . . และได้ปรากฏแก่ซีโมน [เปโตร].” (ลูกา 24:34) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระองค์ทรงปรากฏแก่เกฟา ภายหลังทรงปรากฏแก่อัครสาวกสิบสองคนนั้น.” (1 โกรินโธ 15:5) แทนที่จะฉุนเฉียว พระเยซูทรงให้อภัยอัครสาวกเปโตรผู้สำนึกผิดและหนุนใจท่าน. ต่อมา พระเยซูทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบสำคัญหลายอย่างให้แก่ท่าน.—กิจการ 2:14; 8:14-17; 10:44, 45.
16. เราจะดำเนินอย่างที่พระเยซูทรงดำเนินได้อย่างไรเมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อทำให้เราผิดหวังหรือปฏิบัติกับเราอย่างไม่ยุติธรรมในทางใดทางหนึ่ง?
16 เมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อทำให้เราผิดหวังหรือปฏิบัติกับเราอย่างไม่ยุติธรรมในทางใดทางหนึ่งเพราะความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ เราก็ควรเห็นอกเห็นใจและให้อภัยเขาอย่างที่พระเยซูทำมิใช่หรือ? เปโตรกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อของท่านดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจ มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง ความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุน จิตใจถ่อม ไม่ตอบแทนความเสียหายด้วยความเสียหายหรือคำด่าด้วยคำด่า แต่ตรงกันข้าม ให้พร.” (1 เปโตร 3:8, 9, ล.ม.) ถ้าคนอื่นไม่ได้ปฏิบัติกับเราเหมือนอย่างที่พระเยซูทำล่ะ คือไม่เห็นอกเห็นใจหรือไม่ให้อภัย? ถึงจะอย่างนั้น เราก็ยังมีพันธะที่จะพยายามเลียนแบบพระเยซู และปฏิบัติกับเขาอย่างที่พระองค์คงจะทำ.—1 โยฮัน 3:16.
ให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรก
17. อะไรแสดงว่าพระเยซูให้การทำตามพระทัยของพระเจ้าอยู่ในอันดับแรกในชีวิตของพระองค์?
17 เราต้องดำเนินอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินในอีกวิธีหนึ่งด้วย. การประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ในอันดับที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพระเยซู. หลังจากได้ประกาศแก่หญิงชาวซะมาเรียใกล้กับเมืองซีคาร์ (ซูคาร) ในแคว้นซะมาเรีย พระเยซูบอกสาวกของพระองค์ว่า “อาหารของเราคือที่จะกระทำตามพระทัยของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา, และให้การของพระองค์สำเร็จ.” (โยฮัน 4:34) การกระทำตามพระทัยของพระบิดาหล่อเลี้ยงชีวิตพระเยซู กล่าวคือให้การบำรุงเลี้ยง, ทำให้อิ่มหนำ, และทำให้มีกำลังขึ้นเหมือนกับได้อาหาร. การเลียนแบบพระเยซูโดยให้การทำตามพระทัยของพระเจ้ามีความสำคัญที่สุดในชีวิตเสมอทำให้ชีวิตมีความหมายและอิ่มใจพอใจอย่างแท้จริงมิใช่หรือ?
18. มีพระพรอะไรจากการสนับสนุนให้ลูก ๆ ทำงานรับใช้เต็มเวลา?
18 เมื่อพ่อแม่สนับสนุนให้ลูกทำงานรับใช้เต็มเวลา พวกเขารวมทั้งลูก ๆ ด้วยได้รับพระพรมากมาย. พ่อคนหนึ่งที่มีลูกชายฝาแฝดสนับสนุนให้ลูกตั้งเป้าเป็นไพโอเนียร์ตั้งแต่เมื่อลูก ๆ อายุยังน้อย. หลังจากเรียนจบ ฝาแฝดคู่นี้ก็ได้เป็นไพโอเนียร์จริง ๆ. เมื่อคิดถึงความยินดีที่ได้รับ พ่อคนนี้เขียนว่า “ลูก ๆ ไม่เคยทำให้เราผิดหวังเลย. เราสามารถกล่าวด้วยความรู้สึกขอบพระคุณว่า ‘ลูก ๆ เป็นของประทานจากพระยะโฮวา.’ ” (บทเพลงสรรเสริญ 127:3) แล้วลูก ๆ ได้ประโยชน์อะไรจากการทำงานรับใช้เต็มเวลา? แม่คนหนึ่งที่มีลูกห้าคนเล่าว่า “การเป็นไพโอเนียร์ช่วยให้ลูก ๆ ทุกคนของฉันมีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นกับพระยะโฮวายิ่งขึ้น, นิสัยการศึกษาส่วนตัวของเขาดีขึ้น, ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้วิธีบริหารเวลาอย่างฉลาดสุขุม, และช่วยให้พวกเขาเรียนรู้วิธีจัดสิ่งฝ่ายวิญญาณให้อยู่ในอันดับแรกในชีวิต. แม้ว่าลูกทุกคนต้องปรับตัวกันหลายอย่าง แต่ก็ไม่มีใครรู้สึกเสียใจที่ได้เลือกเดินในทางนี้.”
19. แผนการอะไรสำหรับอนาคตที่หนุ่มสาวควรคำนึงถึงด้วยความสุขุม?
19 หนุ่มสาวทั้งหลาย คุณวางแผนไว้สำหรับอนาคตอย่างไร? คุณกำลังมุมานะเพื่อจะเป็นเลิศในสาขาอาชีพบางอย่างไหม? หรือคุณกำลังมุ่งเป้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา? เปาโลเตือนว่า “จงเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเพื่อวิธีที่ท่านทั้งหลายดำเนินนั้นจะไม่เหมือนคนไร้ปัญญา แต่เหมือนคนมีปัญญา ใช้ประโยชน์เต็มที่จากเวลาอันเหมาะสำหรับตน เพราะสมัยนี้ชั่วช้า.” ท่านเสริมอีกว่า “ด้วยเหตุนี้ จงเลิกกลายเป็นคนไร้เหตุผล แต่จงสังเกตเข้าใจต่อไปว่าพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาเป็นเช่นไร.”—เอเฟโซ 5:15-17, ล.ม.
มีความภักดี
20, 21. พระเยซูมีความภักดีในทางใด และเราจะเลียนแบบความภักดีของพระองค์ได้อย่างไร?
20 เพื่อจะดำเนินอย่างที่พระเยซูทรงดำเนิน เราจำเป็นต้องเลียนแบบความภักดีของพระองค์. เกี่ยวกับความภักดีของพระเยซู คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถึงแม้พระองค์ได้ดำรงอยู่ในลักษณะของพระเจ้าก็ตาม [พระองค์] ไม่คิดจะแย่งชิง กล่าวคือการที่พระองค์จะได้เท่าเทียมกับพระเจ้า. เปล่าเลย แต่พระองค์ทรงสละพระองค์เองแล้วรับสภาพทาสและมาเป็นอย่างมนุษย์. ยิ่งกว่านั้น เมื่อทรงเห็นว่าพระองค์เองอยู่ในลักษณะมนุษย์แล้ว พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ และยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา คือความมรณาบนหลักทรมาน.” พระเยซูเชิดชูสิทธิอำนาจการปกครองของพระยะโฮวาด้วยความภักดีโดยการยอมทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่มีไว้สำหรับพระองค์. พระองค์ยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณาบนหลักทรมาน. เราต้อง “รักษาเจตคติอย่างนี้ไว้” และทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าด้วยความภักดี.—ฟิลิปปอย 2:5-8, ล.ม.
21 พระเยซูยังแสดงความภักดีต่ออัครสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ด้วย. ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่สมบูรณ์และมีข้อบกพร่อง พระเยซูก็ยังรักพวกเขา “จนถึงที่สุด.” (โยฮัน 13:1) ในทำนองเดียวกัน เราไม่ควรปล่อยให้ความไม่สมบูรณ์ของพี่น้องมาทำให้เรามีน้ำใจชอบพูดตำหนิติเตียน.
ติดตามแบบอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้
22, 23. การติดตามแบบอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้เป็นประโยชน์ต่อเราอย่างไร?
22 แน่นอน ในฐานะมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราไม่สามารถดำเนินตามรอยพระบาทพระผู้เป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์พร้อมของเราได้อย่างแม่นยำทุกย่างก้าว. อย่างไรก็ตาม เราพยายามดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิดได้. ที่จะทำอย่างนั้น เราต้องเข้าใจและยอมรับวิธีที่พระเยซูชี้นำเรา และติดตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงวางไว้.
23 การติดตามแบบอย่างของพระคริสต์นำมาซึ่งพระพรนานัปการ. ชีวิตของเราจะมีความหมายและความอิ่มใจพอใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเรามุ่งทำตามพระทัยของพระเจ้าแทนที่จะทำตามความประสงค์ของตัวเอง. (โยฮัน 5:30; 6:38) เรามีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด. วิธีที่เราดำเนินจะเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น. พระเยซูเชิญทุกคนที่ลำบากเหน็ดเหนื่อยและมีภาระหนักให้มาหาพระองค์ และได้ความสดชื่นสำหรับตน. (มัดธาย 11:28-30) เมื่อเราติดตามแบบอย่างของพระเยซู เราทำให้ผู้อื่นสดชื่นได้เช่นกันจากการคบหากับเรา. ดังนั้น ขอให้เราดำเนินต่อ ๆ ไปอย่างที่พระเยซูทรงดำเนิน.
คุณจำได้ไหม?
• พระคริสต์ทรงนำสาวกของพระองค์ในทุกวันนี้อย่างไร?
• ผู้ปกครองจะติดตามวิธีของพระคริสต์อย่างไรในการใช้อำนาจที่พระเจ้าประทานให้?
• เราจะติดตามแบบอย่างของพระเยซูอย่างไรเมื่อเผชิญกับข้อบกพร่องของคนอื่น ๆ?
• หนุ่มสาวจะจัดให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรกได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 23]
คริสเตียนผู้ปกครองช่วยเราให้ติดตามการนำของพระคริสต์
[ภาพหน้า 24, 25]
หนุ่มสาวทั้งหลาย คุณวางแผนสำหรับอนาคตอย่างไรเพื่อจะมีชีวิตคริสเตียนที่ให้ความอิ่มใจพอใจ?