จงเสริมสร้างความไว้วางใจของคุณในพระยะโฮวา
แผนสังหารกำลังดำเนินอยู่. บรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของประเทศได้ปรึกษาหารือกันและเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องกฎหมายใหม่. พวกเขาต้องการกำหนดว่าใครก็ตามที่เข้าร่วมในการนมัสการซึ่งรัฐไม่เห็นชอบด้วยนั้นมีความผิดถึงขั้นประหารชีวิต.
เรื่องนี้ฟังดูคุ้นหูไหม? ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยตัวอย่างของผู้คนซึ่งประกอบการชั่วร้ายโดยอาศัยกฎหมาย. ตัวอย่างข้างต้นได้เกิดขึ้นในจักรวรรดิเปอร์เซียในสมัยของผู้พยากรณ์ดานิเอล. กฎหมายซึ่งกษัตริย์ดาระยาศทรงตราขึ้น กำหนดว่า ‘ถ้าผู้ใดขอสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหรือมนุษย์ภายในสามสิบวันนี้, ยกเว้นขอต่อกษัตริย์ ผู้นั้นต้องถูกทิ้งลงในถ้ำสิงห์.’—ดานิเอล 6:7-9.
ดานิเอลจะทำประการใดขณะที่ถูกขู่ด้วยความตาย? ท่านจะไว้วางใจในพระยะโฮวา พระเจ้าของท่านต่อไปไหม หรือท่านจะประนีประนอมและทำตามที่กษัตริย์ทรงบัญชา? เรื่องที่บันทึกไว้บอกเราว่า “เมื่อดานิเอลรู้ว่ากฤษฎีกานั้นถูกประทับตราแล้ว, เขาก็ยังคงเข้าไปในเรือนของเขา, ซึ่งมีหน้าต่างบนห้องชั้นบนด้านกรุงยะรูซาเลมเปิดไว้; เขาได้คุกเข่าลงอธิษฐานและขอบคุณพระเจ้าของเขาวันละสามครั้งตามเคย.” (ดานิเอล 6:10) เรื่องราวต่อจากนั้นเป็นที่รู้จักกันดี. ดานิเอลถูกโยนลงไปในบ่อสิงโตเนื่องด้วยความเชื่อของท่าน แต่พระยะโฮวา “ได้ปิดปากสิงโต” และทรงช่วยชีวิตผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์.—เฮ็บราย 11:33; ดานิเอล 6:16-22.
เวลาสำหรับการสำรวจตัวเอง
ทุกวันนี้ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีชีวิตอยู่ในโลกที่เป็นปรปักษ์ ต้องเผชิญกับการคุกคามหลายอย่างต่อสวัสดิภาพด้านร่างกายและด้านวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น ระหว่างการปะทุอย่างรุนแรงของความเกลียดชังด้านเชื้อชาติในบางประเทศ พยานฯ หลายคนถูกฆ่า. ในที่อื่น ๆ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้เผชิญกับการขาดแคลนอาหาร, ความลำบากทางเศรษฐกิจ, ภัยธรรมชาติ, โรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง, และสถานการณ์อื่น ๆ ที่ทำให้ชีวิตตกอยู่ในอันตราย. นอกจากนี้ พวกเขาต้องอดทนการข่มเหง, ความกดดันจากที่ทำงาน, และการล่อใจหลายอย่างให้ทำผิด ซึ่งทั้งหมดอาจเป็นอันตรายต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเขา. ที่จริง ซาตาน ศัตรูตัวสำคัญตั้งใจจะทำลายผู้รับใช้ของพระยะโฮวาไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามที่ปรากฏว่าใช้ได้ผล.—1 เปโตร 5:8.
เมื่อเผชิญกับสภาพการณ์ดังกล่าว เราสามารถทำประการใด? ขณะที่เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกกลัวเมื่อชีวิตคนเราตกอยู่ในอันตราย เราสามารถคำนึงถึงถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลซึ่งทำให้อุ่นใจที่ว่า “[พระยะโฮวา] ได้ตรัสไว้แล้วว่า ‘เราจะไม่ละท่านไว้เลยและจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.’ ฉะนั้น เรามีกำลังใจขึ้นและกล่าวว่า ‘พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะไม่กลัว. มนุษย์ทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า?’ ” (เฮ็บราย 13:5, 6, ล.ม.) เรามั่นใจได้ว่า พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างเดียวกันเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระองค์ในทุกวันนี้. อย่างไรก็ตาม การรู้จักคำสัญญาของพระยะโฮวานั้นเป็นคนละเรื่องกันเลยกับการมั่นใจว่าพระองค์จะลงมือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของเรา. เพราะฉะนั้น นับว่าสำคัญอย่างยิ่งที่จะตรวจสอบดูพื้นฐานที่เราสร้างความไว้วางใจในพระยะโฮวาขึ้นมา และเราทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจนั้นให้เข้มแข็งและรักษาไว้ต่อไป. หากเราทำเช่นนั้น “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของ [เรา] ไว้โดยพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิปปอย 4:7, ล.ม.) ครั้นแล้ว เมื่อเกิดการทดลองขึ้น เราจะสามารถคิดอย่างแจ่มชัดและรับมือกับการทดลองนั้นได้อย่างฉลาดสุขุม.
พื้นฐานสำหรับความวางใจในพระยะโฮวา
แน่นอนเรามีเหตุผลหลายประการที่จะไว้วางใจในพระยะโฮวา พระผู้สร้างของเรา. เหตุผลแรกในหลายประการคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าองค์เปี่ยมด้วยความรักผู้ทรงใฝ่พระทัยอย่างแท้จริงต่อผู้รับใช้ของพระองค์. มีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งบรรยายถึงความใฝ่พระทัยด้วยความรักของพระยะโฮวาที่มีต่อผู้รับใช้ของพระองค์. เมื่อพรรณนาถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับชาติยิศราเอล ไพร่พลที่พระองค์ทรงเลือกสรร โมเซเขียนว่า “พระองค์ได้ทรงพบปะเขาในที่ร้างเปล่าและในที่ป่าดงอันเปลี่ยวเปล่าที่มีสัตว์ป่าร้องอยู่; พระองค์ได้ทรงห้อมล้อมเขาไว้, ได้ทรงสอนเขา, และได้รักษาเขาไว้ดังดวงพระเนตรของพระองค์.” (พระบัญญัติ 32:10) ในสมัยปัจจุบัน พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยผู้รับใช้ของพระองค์อย่างดีต่อไป ทั้งในฐานะเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคล. ตัวอย่างเช่น เมื่อพยานฯ บางคนประสบการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงระหว่างสงครามกลางเมืองในบอสเนีย พระยะโฮวาทรงจัดการให้พวกเขาได้รับเสบียงที่จำเป็นอย่างยิ่งด้วยความพยายามอย่างกล้าหาญของพวกพี่น้องจากโครเอเชียและออสเตรีย ผู้ซึ่งได้เสี่ยงชีวิตเดินทางผ่านพื้นที่อันตรายที่สุดเพื่อนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปให้พี่น้องของพวกเขา.a
เนื่องจากพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ พระองค์สามารถปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์อย่างแน่นอนไม่ว่าอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมใด ๆ ก็ตาม. (ยะซายา 33:23; วิวรณ์ 4:8) แม้แต่เมื่อพระยะโฮวาทรงยอมให้ผู้รับใช้บางคนของพระองค์พิสูจน์ตัวซื่อสัตย์จนถึงความตายก็ตาม พระองค์ยังทรงค้ำจุนและช่วยเหลือเขาให้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงไว้ ทำให้เขาสามารถมั่นคงแน่วแน่, ชื่นชมยินดี, และสงบอยู่ต่อไปจนถึงที่สุดทีเดียว. เพราะฉะนั้น เราสามารถมีความมั่นใจเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ที่ว่า “พระเจ้าเป็นที่พึ่งพำนักและเป็นกำลังของพวกข้าพเจ้า, พระองค์เป็นผู้ทรงช่วยอันเลิศสถิตอยู่ใกล้ในเวลาลำบาก. เหตุฉะนั้นพวกข้าพเจ้าจะไม่หวาดหวั่น, แม้นแผ่นดินโลกจะแปรปรวนไป, และแม้ภูเขาทั้งหลายจะเลื่อนลงสู่สะดือทะเล.”—บทเพลงสรรเสริญ 46:1, 2.
คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยด้วยว่า พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแห่งความจริง. นี่หมายความว่าพระองค์ทรงปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์เสมอ. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงพระองค์ฐานะเป็นพระเจ้า “ผู้ตรัสมุสาไม่ได้.” (ติโต 1:2) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าถึงความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะปกป้องและช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้รอด เราแน่ใจได้อย่างแท้จริงว่า พระองค์ไม่เพียงแต่สามารถทำตามคำสัญญาของพระองค์เท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะทำเช่นนั้นด้วย.—โยบ 42:2.
วิธีต่าง ๆ ที่จะเสริมสร้างความไว้วางใจของเรา
ถึงแม้เรามีเหตุผลทุกประการที่จะแสดงความไว้วางใจในพระยะโฮวา แต่เราต้องไม่ทึกทักเอาว่าเราจะมีความไว้วางใจเช่นนั้นเสมอไป. นี่เป็นเพราะโลกโดยทั่วไปไม่ค่อยมีความเชื่อในพระเจ้าเท่าไรนัก และเจตคติดังกล่าวอาจบั่นทอนความไว้วางใจของเราต่อพระยะโฮวาอย่างง่ายดาย. เพราะฉะนั้น เราต้องใช้ความพยายามอย่างแข็งขันที่จะเสริมสร้างความไว้วางใจนั้นและรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป. พระยะโฮวาทรงทราบเรื่องนี้ดี และได้ทรงจัดเตรียมวิธีต่าง ๆ ที่เราจะทำเช่นนั้นได้.
ประการแรก พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งบันทึกพระราชกิจอันใหญ่ยิ่งหลายอย่างที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อผลประโยชน์แห่งผู้รับใช้ของพระองค์. คิดดูก็แล้วกัน คุณจะมีความมั่นใจในใครคนหนึ่งได้สักแค่ไหนหากคุณรู้แค่ชื่อของเขาเท่านั้น? หากมีบ้าง ก็คงจะน้อยเต็มที. คุณจำเป็นต้องรู้วิธีปฏิบัติและการกระทำของเขาเพื่อจะมีความมั่นใจในตัวเขามิใช่หรือ? ขณะที่เราอ่านและคิดรำพึงถึงเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลดังกล่าว เราจะมีความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระยะโฮวาและวิธีการที่น่าพิศวงของพระองค์ และเราก็จะเข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าพระองค์เป็นผู้ที่คู่ควรแก่การไว้วางใจได้สักเพียงไร. โดยวิธีนี้ เราจะมีความมั่นใจในพระองค์มากยิ่งขึ้น. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้วางตัวอย่างอันดีเลิศไว้เมื่อท่านกล่าวในคำอธิษฐานอย่างแรงกล้าต่อพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าจะประกาศกิจการของพระยะโฮวา; เพราะข้าพเจ้าจะระลึกถึงการอัศจรรย์ของพระองค์ตั้งแต่กาลโบราณมา. ข้าพเจ้าจะใคร่ครวญดูบรรดากิจการของพระองค์ด้วย, และจะรำพึงถึงกิจการที่พระองค์ได้ทรงกระทำนั้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 77:11, 12.
นอกจากคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เรายังมีคลังอาหารฝ่ายวิญญาณอันอุดมด้วยอยู่ในสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่องค์การของพระยะโฮวาได้จัดพิมพ์ขึ้น. นอกจากเรื่องอื่น ๆ แล้ว บ่อยครั้งสรรพหนังสือเหล่านี้มีเรื่องราวที่ทำให้ซาบซึ้งตรึงใจเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยปัจจุบัน แสดงให้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงสามารถจัดเตรียมความช่วยเหลือและการบรรเทาทุกข์เมื่อพวกเขาเผชิญสถานการณ์จนตรอก. ตัวอย่างเช่น มาร์ติน เพิทซิงเกอร์ ซึ่งภายหลังได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการปกครองแห่งคณะพยานพระยะโฮวา ป่วยหนักขณะรับใช้เป็นไพโอเนียร์อยู่ในแถบยุโรปที่ห่างไกลจากบ้านเกิดของท่าน. ท่านไม่มีเงิน, ไม่มีหมอที่เต็มใจจะรักษาท่าน. แต่พระยะโฮวามิได้ละทิ้งท่าน. ในที่สุด ได้มีการติดต่อกับที่ปรึกษาอาวุโสของโรงพยาบาลในท้องถิ่น. เนื่องจากเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในคัมภีร์ไบเบิล ชายผู้ใจดีคนนี้ได้เอาใจใส่ดูแลบราเดอร์เพิทซิงเกอร์อย่างที่เขาจะทำกับลูกชายของตน ทำเช่นนั้นโดยไม่คิดค่า. การอ่านเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวดังกล่าวสามารถเสริมความไว้วางใจของเราในพระบิดาทางภาคสวรรค์อย่างแน่นอน.
ความช่วยเหลืออันประมาณค่ามิได้อีกอย่างหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมเพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจของเราในพระองค์นั้น คือสิทธิพิเศษอันล้ำค่าในการอธิษฐาน. อัครสาวกเปาโลบอกเราด้วยความรักว่า “อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใด แต่ในทุกสิ่งจงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ.” (ฟิลิปปอย 4:6, ล.ม.) “ทุกสิ่ง” อาจรวมเอาความรู้สึก, ความต้องการ, ความกลัว, และความกระวนกระวายของเรา. ยิ่งเราอธิษฐานอย่างจริงใจบ่อยเท่าไร ความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวาก็จะแรงกล้าขึ้นเท่านั้น.
ขณะที่พระเยซูคริสต์อยู่บนแผ่นดินโลก บางครั้งพระองค์เสด็จไปที่สงัดโดยลำพังเพื่อจะอธิษฐานอย่างที่ไม่มีใครรบกวน. (มัดธาย 14:23; มาระโก 1:35) ก่อนทำการตัดสินใจที่สำคัญยิ่ง พระองค์ถึงกับใช้เวลาตลอดคืนอธิษฐานถึงพระบิดา. (ลูกา 6:12, 13) ไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูทรงมีความไว้วางใจในพระยะโฮวาอย่างแรงกล้าจนกระทั่งพระองค์สามารถอดทนการทดลองอันน่ากลัวที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับใคร ๆ. ถ้อยคำสุดท้ายของพระองค์ขณะอยู่บนหลักทรมานคือ “พระบิดาเจ้าข้า, ข้าพเจ้าฝากวิญญาณจิตต์ของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์.” ถ้อยคำแสดงความมั่นใจเช่นนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าจนถึงที่สุด ความไว้วางใจของพระองค์ที่มีในพระบิดามิได้ลดน้อยลง ถึงแม้พระยะโฮวามิได้เข้าแทรกแซงเพื่อช่วยพระองค์ให้รอดก็ตาม.—ลูกา 23:46.
ยังคงมีอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวา คือการคบหาสมาคมเป็นประจำกับคนเหล่านั้นที่ไว้วางใจพระองค์อย่างสุดหัวใจ. พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาให้ไพร่พลของพระองค์ชุมนุมกันเป็นประจำเพื่อจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระองค์และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน. (พระบัญญัติ 31:12; เฮ็บราย 10:24, 25) การคบหาสมาคมดังกล่าวช่วยเขาเสริมสร้างความไว้วางใจในพระยะโฮวามากขึ้น ทำให้เขาสามารถอดทนการทดลองที่หนักหน่วงเกี่ยวกับความเชื่อ. ในประเทศหนึ่งทางแอฟริกาที่มีการสั่งห้ามงานประกาศ พยานพระยะโฮวาถูกปฏิเสธเรื่องการคุ้มครองจากตำรวจ, การออกเอกสารเกี่ยวกับการเดินทาง, ใบทะเบียนสมรส, การรักษาที่โรงพยาบาล, และงานรับจ้าง. เมื่อสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในบริเวณหนึ่ง สมาชิก 39 คนของประชาคมที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วยได้อาศัยอยู่ใต้สะพานเตี้ย ๆ แห่งหนึ่งในทะเลทรายประมาณสี่เดือน เพื่อจะรอดพ้นจากการระดมยิงในเมืองของพวกเขา. ระหว่างที่มีความลำบากแสนสาหัสเช่นนั้น การที่พวกเขาพิจารณาข้อคัมภีร์ประจำวันและการประชุมอื่น ๆ ทำให้เขามีกำลังมากทีเดียว. โดยวิธีนี้พวกเขาสามารถอดทนความลำบากยากเข็ญโดยที่สภาพฝ่ายวิญญาณของเขาไม่ได้รับความเสียหาย. ประสบการณ์นี้แสดงอย่างชัดแจ้งถึงคุณค่าของการประชุมเป็นประจำกับไพร่พลของพระยะโฮวา.
สุดท้าย เพื่อจะเสริมสร้างความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวา เราต้องแข็งขันอยู่เสมอในงานประกาศราชอาณาจักร เตรียมพร้อมเสมอที่จะแบ่งปันข่าวดีให้กับคนอื่น. มีการแสดงให้เห็นเรื่องนี้โดยประสบการณ์ที่น่าตื้นตันใจเกี่ยวกับผู้ประกาศวัยเยาว์ซึ่งมีใจแรงกล้าคนหนึ่งในแคนาดาซึ่งเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย. ทั้ง ๆ ที่เธอป่วยหนัก เธอก็ยังต้องการเป็นไพโอเนียร์ประจำ นั่นคือเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลา. ระหว่างช่วงสั้น ๆ ที่อาการป่วยของเธอดีขึ้น เธอแข็งแรงพอที่จะใช้เวลาหนึ่งเดือนในงานเผยแพร่ฐานะเป็นไพโอเนียร์สมทบ. ครั้นแล้วอาการของเธอก็ทรุดลง และเธอเสียชีวิตไม่กี่เดือนต่อมา. กระนั้น เธอคงความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณไว้จนถึงที่สุด ความไว้วางใจของเธอในพระยะโฮวาไม่เคยสั่นคลอนแม้แต่ชั่วขณะเดียว. คุณแม่ของเธอเล่าว่า “จนถึงที่สุด เธอก็ยังเป็นห่วงคนอื่นยิ่งกว่าตัวเอง. เธอจะสนับสนุนพวกเขาให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล โดยบอกพวกเขาว่า ‘เราจะอยู่ด้วยกันในอุทยาน.’ ”
การพิสูจน์ความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวา
“กายอันปราศจากจิตต์วิญญาณตายแล้วฉันใด, ความเชื่ออันปราศจากการประพฤติก็ตายแล้วฉันนั้น.” (ยาโกโบ 2:26) สิ่งที่ยาโกโบกล่าวเกี่ยวกับความเชื่อในพระเจ้าก็อาจกล่าวได้เช่นกันเกี่ยวกับความไว้วางใจของเราในพระองค์. ไม่ว่าเราบอกว่าไว้วางใจในพระเจ้าสักเพียงไรก็ตาม นั่นไม่มีความหมายนอกจากว่าเราพิสูจน์ความไว้วางใจนั้นโดยการกระทำของเรา. อับราฮามไว้วางใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มเปี่ยมและพิสูจน์ความไว้วางใจนั้นโดยการเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์อย่างไม่ลังเลสงสัย จนถึงขั้นเตรียมพร้อมจะถวายยิศฮาคบุตรชายของท่านเป็นเครื่องบูชา. เนื่องจากความไว้วางใจและการเชื่อฟังที่โดดเด่นเช่นนั้น อับราฮามจึงเป็นที่รู้จักฐานะมิตรของพระยะโฮวา.—เฮ็บราย 11:8-10, 17-19; ยาโกโบ 2:23.
เราไม่ต้องคอยให้การทดลองที่รุนแรงบางอย่างเกิดขึ้นกับเราก่อนที่จะแสดงความไว้วางใจในพระยะโฮวา. พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “คนที่สัตย์ซื่อในของเล็กที่สุดจะสัตย์ซื่อในของมากด้วย, และคนที่อสัตย์ในของเล็กที่สุดจะอสัตย์ในของมากด้วย.” (ลูกา 16:10) เราควรฝึกที่จะไว้วางใจพระยะโฮวาในกิจกรรมประจำวันทั้งสิ้นของเรา เชื่อฟังพระองค์แม้แต่ในเรื่องที่อาจดูเหมือนไม่สำคัญ. เมื่อเราสังเกตผลประโยชน์ที่เกิดจากการเชื่อฟังเช่นนั้นแล้ว ความไว้วางใจของเราในพระบิดาทางภาคสวรรค์ก็ได้รับการเสริมให้เข้มแข็งขึ้น ทำให้เราสามารถเผชิญการทดลองที่ใหญ่กว่าหรือลำบากมากกว่า.
ขณะที่โลกใกล้จะถึงจุดจบที่ยังความหายนะ ไพร่พลของพระยะโฮวาจะต้องประสบการทดลองและอันตรายต่าง ๆ มากขึ้น. (กิจการ 14:22; 2 ติโมเธียว 3:12) โดยการสร้างความไว้วางใจที่มั่นคงอย่างเต็มที่ในพระยะโฮวาขณะนี้ เราสามารถตั้งตาคอยการรอดชีวิตเข้าสู่โลกใหม่ตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้—ถ้าไม่โดยการมีชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่งก็โดยได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย. (2 เปโตร 3:13) ขอเราอย่ายอมให้การขาดความไว้วางใจใด ๆ ในส่วนของเรามาทำลายสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่เรามีกับพระยะโฮวานั้น. ครั้นแล้ว ถ้อยคำที่กล่าวถึงดานิเอลภายหลังท่านได้รับการช่วยให้รอดจากบ่อสิงโตก็อาจนำมาใช้กับเราได้ที่ว่า “ไม่ปรากฏว่ามีอันตรายอย่างไรบนตัวท่านเลย เพราะท่านได้วางใจในพระเจ้าของท่าน.”—ดานิเอล 6:23, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับรายละเอียด โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 1994 หน้า 23-27.
[ภาพหน้า 9]
การอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา อย่างเช่นมาร์ติน เพิทซิงเกอร์ เสริมสร้างความเชื่อ