จงรักษาตัวให้ปลอดภัยในฐานะส่วนหนึ่งแห่งองค์การของพระเจ้า
“พระนามพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง, คนชอบธรรมทั้งปวงวิ่งเข้าไปก็พ้นภัย.”—สุภาษิต 18:10.
1. ตามคำอธิษฐานของพระเยซู คริสเตียนตกอยู่ในสภาพลำบากเช่นไร?
ไม่นานก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงอธิษฐานถึงพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์เพื่อประโยชน์ของเหล่าสาวก. ด้วยความรักและห่วงใย พระองค์ตรัสดังนี้: “ข้าพเจ้ามอบพระคำของพระองค์แก่พวกเขาแล้ว แต่โลกได้เกลียดชังเขา เพราะเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก. ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้ายนั้น.” (โยฮัน 17:14, 15, ล.ม.) พระเยซูทรงทราบว่าโลกจะเป็นสถานที่อันตรายสำหรับคริสเตียน. โลกจะแสดงความเกลียดชังต่อเขาโดยกล่าวเท็จให้ร้ายเขาและกดขี่เขา. (มัดธาย 5:11, 12; 10:16, 17) นอกจากนี้ โลกยังเป็นแหล่งของความเสื่อมทรามอีกด้วย.—2 ติโมเธียว 4:10; 1 โยฮัน 2:15, 16.
2. คริสเตียนจะพบที่ปลอดภัยฝ่ายวิญญาณได้ที่ไหน?
2 โลกซึ่งจะเกลียดชังคริสเตียนนั้นประกอบด้วยคนที่เหินห่างจากพระเจ้าและอยู่ในการควบคุมของซาตาน. (1 โยฮัน 5:19) โลกนี้ใหญ่กว่าประชาคมคริสเตียนมาก และซาตานเองก็มีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์มากทีเดียว. ฉะนั้น ความเกลียดชังของโลกจึงเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริง. สาวกของพระเยซูจะสามารถพบความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณได้จากที่ไหน? ข้อความในหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 ธันวาคม 1922 ได้เสนอแนะคำตอบไว้ว่า “บัดนี้เราอยู่ในกลียุค. มีการต่อสู้กันระหว่างองค์การของซาตานกับองค์การของพระเจ้า. เป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นอย่างยิ่ง.” ในการต่อสู้นี้ องค์การของพระเจ้าเป็นสถานที่ปลอดภัยทางฝ่ายวิญญาณ. คำว่า “องค์การ” ไม่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล และย้อนไปในทศวรรษ 1920 คำว่า “องค์การของพระเจ้า” เป็นคำใหม่. ถ้าอย่างนั้น องค์การที่ว่านี้คืออะไร? เราจะได้รับการปกป้องในองค์การนี้อย่างไร?
องค์การของพระยะโฮวา
3, 4. (ก) ตามในพจนานุกรมฉบับหนึ่งและหอสังเกตการณ์ องค์การคืออะไร? (ข) มิตรภาพในระดับนานาชาติของพยานพระยะโฮวาจะถูกเรียกเป็นองค์การได้ในความหมายเช่นไร?
3 ตามคำนิยามในพจนานุกรมคอนไซส์ ออกซฟอร์ด องค์การได้แก่ “คณะบุคคลซึ่งจัดไว้ให้เป็นระเบียบ.” โดยคำนึงถึงข้อนี้ เราเข้าใจว่าเนื่องจากเหล่าอัครสาวกจัดระเบียบคริสเตียนในศตวรรษแรกให้เป็นประชาคมต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการปกครองในกรุงยะรูซาเลม จึงสมควรที่จะเรียก “สังคมแห่งพี่น้อง” ว่าเป็นองค์การ. (1 เปโตร 2:17, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้มีโครงสร้างองค์การคล้าย ๆ กันนี้. เอกภาพของคณะบุคคลในศตวรรษแรกได้รับการเสริมให้แข็งแรงด้วย “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เช่น “ผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน.” บางคนในคนเหล่านี้เดินทางจากประชาคมหนึ่งไปอีกประชาคมหนึ่ง ในขณะที่คนอื่น ๆ เป็นผู้ปกครองในประชาคมท้องถิ่น. (เอเฟโซ 4:8, 11, 12, ล.ม.; กิจการ 20:28) “ของประทาน” คล้ายกันนี้ช่วยเสริมเอกภาพของพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้.
4 หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 พฤศจิกายน 1922 กล่าวเกี่ยวกับคำว่า “องค์การ” ดังนี้: “องค์การคือการเข้ามาร่วมกันของบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์ในอันที่จะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จตามแผนการที่ตั้งไว้.” หอสังเกตการณ์ ยังอธิบายต่อไปอีกว่าการเรียกพยานพระยะโฮวาในฐานะเป็นองค์การไม่ได้ทำให้เขาเป็น “นิกายตามความหมายที่ใช้กัน เพียงแต่มีความหมายว่า กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล [พยานพระยะโฮวา] กำลังบากบั่นในอันที่จะกระทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผลสำเร็จ และพยายามทำอย่างนั้นในทุก ๆ สิ่งเช่นที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำ ด้วยความเป็นระเบียบ.” (1 โกรินโธ 14:33) อัครสาวกเปาโลชี้ว่าคริสเตียนในสมัยท่านก็กระทำอย่างเป็นระเบียบเช่นเดียวกัน. ท่านเปรียบเทียบมิตรภาพของคริสเตียนผู้ถูกเจิมกับร่างกายมนุษย์ซึ่งมีหลายส่วน แต่ละส่วนก็ทำให้สำเร็จตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย เพื่อร่างกายจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม. (1 โกรินโธ 12:12-26) ช่างเป็นภาพเปรียบเทียบที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ขององค์การ! เหตุใดคริสเตียนจึงได้รับการจัดให้เป็นระเบียบ? เพื่อรับใช้ตาม “พระประสงค์ของพระเจ้า” ทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา.
5. องค์การที่เห็นได้ของพระเจ้าคืออะไร?
5 คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่าคริสเตียนแท้ในทุกวันนี้จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถูกนำเข้าสู่ “แผ่นดิน” หนึ่งร่วมกันในฐานะ “ประเทศ” หนึ่ง ซึ่งพวกเขาจะ “ปรากฏดุจดวงสว่างต่าง ๆ ในโลก.” (ยะซายา 66:8; ฟิลิปปอย 2:15) ในเวลานี้ “ประเทศ” นี้ที่ได้รับการจัดให้เป็นระเบียบมีจำนวนมากกว่าห้าล้านห้าแสนคน. (ยะซายา 60:8-10, 22) อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ขอบเขตอันครบถ้วนขององค์การของพระเจ้า. เหล่าทูตสวรรค์มีส่วนร่วมด้วย.
6. ในความหมายกว้าง ๆ ใครบ้างประกอบกันเป็นองค์การของพระเจ้า?
6 มีหลายกรณีที่ทูตสวรรค์ทำงานร่วมกับผู้รับใช้ที่เป็นมนุษย์ของพระเจ้า. (เยเนซิศ 28:12; ดานิเอล 10:12-14; 12:1; เฮ็บราย 1:13, 14; วิวรณ์ 14:14-16) ดังนั้น หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 พฤษภาคม 1925 กล่าวไว้เหมาะทีเดียวว่า “ทูตสวรรค์บริสุทธิ์ทั้งปวงเป็นส่วนหนึ่งขององค์การของพระเจ้า.” วารสารฉบับนั้นยังกล่าวเสริมอีกว่า “ณ ส่วนหัวขององค์การของพระเจ้า พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมีฤทธานุภาพและอำนาจสิทธิ์ขาดทั้งสิ้น.” (มัดธาย 28:18) ฉะนั้น ในความหมายกว้าง ๆ องค์การของพระเจ้าประกอบด้วยผู้ที่อยู่ในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกซึ่งทำงานด้วยกันเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (โปรดดูในกรอบ) นับเป็นสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การนี้! และช่างเป็นความยินดีสักเพียงไรที่จะคอยท่าเวลาเมื่อสิ่งทรงสร้างทั้งมวลที่มีชีวิต ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก จะได้รับการจัดให้เป็นระเบียบเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวาพระเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน! (วิวรณ์ 5:13, 14) ทว่า องค์การของพระเจ้าให้การปกป้องเช่นไรในทุกวันนี้?
ได้รับการปกป้องในองค์การของพระเจ้า—โดยวิธีใด?
7. องค์การของพระเจ้าปกป้องเราในทางใด?
7 องค์การของพระเจ้าสามารถช่วยป้องกันเราไว้จากซาตานและกลอุบายต่าง ๆ ของมัน. (เอเฟโซ 6:11) ซาตานกดดัน, กดขี่, และล่อใจผู้นมัสการพระยะโฮวาโดยมีเป้าหมายอย่างเดียวในใจ นั่นคือการชักพาพวกเขาออกไปจาก ‘ทางที่เขาควรดำเนิน.’ (ยะซายา 48:17; เทียบกับมัดธาย 4:1-11.) เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการโจมตีเช่นนี้ได้อย่างสิ้นเชิงในระบบนี้. อย่างไรก็ตาม สัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระเจ้าและองค์การของพระองค์จะช่วยเราให้เข้มแข็งและปกป้องเราไว้ และโดยวิธีนี้ ช่วยเราให้รักษาตัวอยู่ใน “ทาง” นั้น. ผลก็คือ เราจะไม่พลาดไปจากความหวังของเรา.
8. องค์การที่เห็นไม่ได้ของพระยะโฮวาสนับสนุนผู้รับใช้ของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกอย่างไร?
8 องค์การของพระเจ้าจัดให้มีการปกป้องเช่นนี้อย่างไร? ในประการแรกนั้น เราได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอจากผู้รับใช้ที่เป็นกายวิญญาณของพระยะโฮวา. เมื่อพระเยซูทรงตกอยู่ในความกดดันอย่างหนัก พระองค์ทรงได้รับการปรนนิบัติจากทูตสวรรค์องค์หนึ่ง. (ลูกา 22:43) เมื่อเผชิญภัยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เปโตรได้รับการช่วยให้รอดอย่างอัศจรรย์โดยทูตสวรรค์องค์หนึ่ง. (กิจการ 12:6-11) แม้ว่าไม่มีการอัศจรรย์เช่นนั้นในทุกวันนี้ ไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับคำสัญญาว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทูตสวรรค์ในการประกาศของเขา. (วิวรณ์ 14:6, 7) บ่อยครั้ง พวกเขามีกำลังอันเข้มแข็งเกินปกติเมื่อเผชิญสถานการณ์ลำบาก. (2 โกรินโธ 4:7) นอกจากนั้น พวกเขาตระหนักว่า “ทูตของพระยะโฮวาแวดล้อมเหล่าคนที่ยำเกรงพระองค์, และทรงช่วยเขาให้พ้นจากภัยอันตราย.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:7.
9, 10. อาจกล่าวได้อย่างไรว่า “พระนามพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง” และจะใช้หลักการนี้อย่างไรกับองค์การของพระเจ้าโดยรวม?
9 นอกจากนี้แล้ว องค์การที่เห็นได้ของพระยะโฮวาให้การปกป้องด้วย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ที่สุภาษิต 18:10 เราอ่านดังนี้: “พระนามพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง, คนชอบธรรมทั้งปวงวิ่งเข้าไปก็พ้นภัย.” ข้อนี้มิได้หมายความว่าเพียงแค่พูดออกพระนามพระเจ้าก็จะได้รับการปกป้อง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การแสวงหาความปลอดภัยในพระนามของพระเจ้าหมายถึงการที่เราไว้วางใจพระยะโฮวานั่นเอง. (บทเพลงสรรเสริญ 20:1; 122:4) ทั้งนี้หมายถึงการสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์, เชิดชูข้อกฎหมายและหลักการของพระองค์, และมีความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 8:1-9; ยะซายา 50:10; เฮ็บราย 11:6) เรื่องนี้หมายรวมไปถึงการถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา. เฉพาะคนที่นมัสการพระยะโฮวาตามวิธีนี้เท่านั้นที่จะกล่าวได้อย่างเดียวกับท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ที่ว่า “จิตต์ใจของข้าพเจ้าทั้งหลายจะยินดีใน [พระยะโฮวา]; ด้วยข้าพเจ้าได้วางใจในพระนามบริสุทธิ์ของพระองค์แล้ว.”—บทเพลงสรรเสริญ 33:21; 124:8.
10 ในเวลานี้ ทุกคนในองค์การที่เห็นได้ของพระเจ้ากล่าวอย่างเดียวกับมีคาว่า “ส่วนเราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนเวลาที่ไม่มีกำหนด ตลอดไปเป็นนิตย์.” (มีคา 4:5, ล.ม.) องค์การในสมัยปัจจุบันถูกรวบรวมเข้ามาอยู่รายรอบ “ยิศราเอลของพระเจ้า” ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเรียกพวกเขาว่า “ประชาชนสำหรับพระนามของพระองค์.” (ฆะลาเตีย 6:16; กิจการ 15:14, ล.ม.; ยะซายา 43:6, 7; 1 เปโตร 2:17) ฉะนั้น การเป็นส่วนขององค์การของพระยะโฮวาจึงหมายถึงการเป็นส่วนของผู้คนที่แสวงหาและรับเอาการปกป้องในพระนามของพระเจ้า.
11. องค์การของพระยะโฮวาให้การปกป้องแก่คนที่เป็นส่วนขององค์การในทางใดโดยเฉพาะ?
11 นอกจากนี้ องค์การที่เห็นได้ของพระเจ้าเป็นสังคมที่มีความเชื่อ เป็นสมาคมที่ประกอบด้วยเพื่อนร่วมความเชื่อที่เสริมสร้างและหนุนกำลังใจกันและกัน. (สุภาษิต 13:20; โรม 1:12) องค์การนี้เป็นที่ที่คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงดูแลฝูงแกะ, หนุนกำลังใจคนที่ป่วยและห่อเหี่ยว, และพยายามช่วยคนที่ล้มพลาดให้ตั้งตัวใหม่. (ยะซายา 32:1, 2; 1 เปโตร 5:2-4) “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดให้มี ‘อาหารตามเวลาที่สมควร’ โดยทางองค์การ. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ชนจำพวก “ทาส” ซึ่งประกอบด้วยชนคริสเตียนผู้ถูกเจิมจัดให้มีสิ่งดีที่สุดทางฝ่ายวิญญาณ นั่นคือความรู้ถ่องแท้ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลซึ่งสามารถนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 17:3) ด้วยการชี้นำจากชนจำพวก “ทาส” คริสเตียนได้รับการช่วยเหลือให้รักษามาตรฐานสูงส่งทางศีลธรรมและ “ระแวดระวังเหมือนงูและกระนั้น ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ” ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่อันตรายรอบด้าน. (มัดธาย 10:16, ล.ม.) และพวกเขาได้รับการช่วยเหลือให้มี “มากมายหลายสิ่งที่จะให้ทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งนับเป็นการปกป้องที่มีพลังทีเดียว.—1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.
ใครบ้างเป็นส่วนขององค์การของพระเจ้า?
12. ใครได้รับการระบุว่าเป็นส่วนขององค์การของพระเจ้าทางภาคสวรรค์?
12 เนื่องจากการปกป้องนี้มีให้แก่คนที่เป็นส่วนขององค์การของพระเจ้า คนเหล่านี้หมายรวมถึงใครบ้าง? ในส่วนขององค์การทางภาคสวรรค์ ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องคำตอบสำหรับคำถามนี้. ซาตานและพวกทูตสวรรค์ของมันไม่ได้อยู่ในสวรรค์อีกต่อไป. ในทางตรงกันข้าม ทูตสวรรค์ที่ซื่อสัตย์ยังคงอยู่ที่นั่น “ในการประชุมใหญ่.” อัครสาวกโยฮันเห็นว่าในระหว่างสมัยสุดท้าย “พระเมษโปดก,” คะรูป (“สิ่งมีชีวิตทั้งสี่”), และ “ทูตสวรรค์หลายองค์” จะเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิดที่ราชบัลลังก์ของพระเจ้า. ผู้ที่อยู่ด้วยกันกับพวกเขาได้แก่เหล่าผู้ปกครอง 24 คน ซึ่งหมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ได้รับมรดกอันรุ่งโรจน์ในสวรรค์แล้ว. (เฮ็บราย 12:22, 23, ล.ม.; วิวรณ์ 5:6, 11; 12:7-12, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า ทั้งหมดนี้เป็นส่วนขององค์การของพระเจ้า. แต่ว่าในท่ามกลางมนุษย์ เรื่องไม่ชัดอย่างนี้.
13. พระเยซูทรงบอกอย่างไรว่าใครที่เป็นส่วนขององค์การของพระเจ้าและใครที่ไม่ได้เป็น?
13 พระเยซูตรัสถึงบางคนที่จะอ้างว่าได้ติดตามพระองค์: “ในวันนั้นจะมีคนเป็นอันมากร้องแก่เราว่า, ‘พระองค์เจ้าข้า, พระองค์เจ้าข้า, ข้าพเจ้าได้สั่งสอนในพระนามของพระองค์, และได้ขับผีออกด้วยพระนามของพระองค์, และได้กระทำการอัศจรรย์มากด้วยออกพระนามของพระองค์มิใช่หรือ?’ ขณะนั้นเราจะกล่าวแก่เขาว่า, ‘เราไม่รู้จักเจ้าเลย. เจ้าทั้งหลายผู้ประพฤติล่วงพระบัญญัติจงถอยไปจากเรา.’” (มัดธาย 7:22, 23) หากใครเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย เขาย่อมไม่ใช่ส่วนขององค์การของพระเจ้า ไม่ว่าเขาจะอ้างอย่างไรหรือไปนมัสการที่ไหนก็ตาม. พระเยซูยังชี้ให้เห็นด้วยถึงวิธีที่จะระบุว่าใครเป็น ส่วนขององค์การของพระเจ้า. พระองค์ตรัสดังนี้: “มิใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า ‘พระองค์เจ้าข้า พระองค์เจ้าข้า’ จะได้เข้าในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยประสงค์พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์นั้นจึงจะเข้าได้.”—มัดธาย 7:21, ล.ม.
14. แง่มุมใดบ้างแห่งพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่ได้รับการระบุว่าเป็นพันธะหน้าที่สำหรับคนที่เป็นส่วนขององค์การของพระเจ้า?
14 ฉะนั้น เพื่อจะเป็นส่วนขององค์การของพระเจ้าซึ่งมี “ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์” เป็นศูนย์กลาง คนเราต้องทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระทัยประสงค์ของพระองค์คืออะไร? เปาโลระบุแง่มุมสำคัญของพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเมื่อท่านกล่าวว่า “[พระเจ้า] มีพระทัยประสงค์ให้คนทุกชนิดได้ความรอดและบรรลุความรู้อันถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) หากใครแสวงหาอย่างแท้จริงเพื่อรับเอาความรู้ถ่องแท้จากคัมภีร์ไบเบิล, ใช้ความรู้นั้นในชีวิตของตน, และเผยแพร่ความรู้นั้นแก่ “คนทุกชนิด” เขาก็กำลังทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (มัดธาย 28:19, 20; โรม 10:13-15) พระยะโฮวาทรงมีพระทัยประสงค์ให้แกะของพระองค์ได้รับการเลี้ยงดูและเอาใจใส่ด้วย. (โยฮัน 21:15-17) การประชุมคริสเตียนมีบทบาทสำคัญในแง่นี้. คนที่มีอิสระจะเข้าร่วมการประชุมเช่นนั้นได้แต่กลับละเลยไม่ทำอย่างนั้น นับว่าขาดความหยั่งรู้ค่าต่อฐานะของตนในองค์การของพระเจ้า.—เฮ็บราย 10:23-25.
การเป็นมิตรกับโลก
15. ยาโกโบให้คำเตือนอะไรแก่ประชาคมในสมัยท่าน?
15 ประมาณ 30 ปีหลังการวายพระชนม์ของพระเยซู ยาโกโบน้องชายต่างบิดาของพระองค์ระบุปัจจัยบางอย่างที่อาจทำให้ฐานะของคนเราในองค์การของพระเจ้าตกอยู่ในอันตราย. ท่านเขียนดังนี้: “หญิงเล่นชู้ทั้งหลาย ท่านไม่รู้หรือว่า การเป็นมิตรกับโลกก็คือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า? เพราะเหตุนี้ ใครก็ตามที่อยากเป็นมิตรของโลกก็ตั้งตัวเป็นศัตรูของพระเจ้า.” (ยาโกโบ 4:4, ล.ม.) แน่ละ ศัตรูของพระเจ้าย่อมไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การของพระองค์. ถ้าอย่างนั้น การเป็นมิตรกับโลกคืออะไร? มีการอธิบายว่าการเป็นมิตรกับโลกมีหลายแบบ เช่น การคบเพื่อนและการยุ่งเกี่ยวกับการคบหาสมาคมที่ไม่ดี. นอกจากนั้น ยาโกโบเพ่งเล็งที่สิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นคือเจตคติทางใจแบบผิด ๆ ซึ่งนำไปสู่การกระทำที่ไม่สมควร.
16. ท้องเรื่องของคำเตือนของยาโกโบที่ว่าการเป็นมิตรกับโลกหมายถึงการเป็นศัตรูกับพระเจ้านั้นเป็นอย่างไร?
16 ที่ยาโกโบ 4:1-3 (ล.ม.) เราอ่านดังนี้: “สงครามมาจากแหล่งใดและการต่อสู้ท่ามกลางพวกท่านมาจากแหล่งไหน? มันมิได้มาจากแหล่งนี้หรือ คือจากความกระหายอยากได้ความเพลิดเพลินทางเนื้อหนังซึ่งกำลังสู้รบกันอยู่ในอวัยวะของท่านทั้งหลาย? ท่านทั้งหลายปรารถนา และกระนั้นท่านก็ไม่มี. ท่านทั้งหลายฆ่าและโลภต่อไป และกระนั้นท่านก็ไม่สามารถได้มา. ท่านทั้งหลายต่อสู้และขับเคี่ยวทำสงครามต่อไป. ท่านทั้งหลายไม่มีเพราะท่านมิได้ขอ. ท่านทั้งหลายขอ และกระนั้นท่านก็ไม่ได้รับ เพราะท่านขอเพื่อจุดประสงค์ผิด ๆ เพื่อท่านจะนำไปใช้ตามความกระหายอยากได้ความเพลิดเพลินทางเนื้อหนังของท่าน.” หลังจากเขียนถ้อยคำเหล่านี้แล้ว ยาโกโบจึงได้เตือนให้ระวังการเป็นมิตรกับโลก.
17. มี “สงคราม” และ “การต่อสู้กัน” ในประชาคมคริสเตียนแห่งศตวรรษแรกในลักษณะใด?
17 หลายศตวรรษหลังจากยาโกโบเสียชีวิตแล้ว คริสเตียนปลอมเที่ยวประกาศสงครามและฆ่ากันและกันในความหมายตามตัวอักษร. อย่างไรก็ตาม ยาโกโบกำลังเขียนถึงสมาชิกในศตวรรษแรกแห่ง “ยิศราเอลของพระเจ้า” ซึ่งมีความหวังจะได้เป็น ‘ปุโรหิตและกษัตริย์’ ทางภาคสวรรค์. (วิวรณ์ 20:6) เขาเหล่านี้ไม่ฆ่ากันและกันหรือฆ่าผู้อื่นในสงครามในความหมายตามตัวอักษร. ดังนั้น เหตุใดยาโกโบจึงกล่าวถึงเรื่องอย่างนี้ในหมู่คริสเตียน? เอาละ อัครสาวกโยฮันเรียกคนที่เกลียดพี่น้องของเขาว่าเป็นผู้ฆ่าคน. และเปาโลกล่าวถึงความขัดแย้งและความไม่ปรองดองกันในประชาคมอันเนื่องมาจากบุคลิกภาพว่าเป็น “การเถียง [“การต่อสู้,” ล.ม.]” และ “ทะเลาะกัน.” (ติโต 3:9; 2 ติโมเธียว 2:14; 1 โยฮัน 3:15-17) ในแนวเดียวกันนี้ ดูเหมือนว่าสิ่งที่อยู่ในความคิดของยาโกโบนั้นคือการไม่ได้แสดงความรักต่อเพื่อนคริสเตียน. ในท่ามกลางพวกเขา คริสเตียนกำลังปฏิบัติต่อกันแทบจะไม่ต่างกันเลยกับวิธีที่ผู้คนในโลกปฏิบัติต่อกันและกัน.
18. อะไรอาจชักนำให้เกิดการกระทำและความรู้สึกที่ไม่ได้แสดงออกซึ่งความรักในท่ามกลางคริสเตียน?
18 เหตุใดจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นในประชาคมคริสเตียน? เพราะเจตคติผิด ๆ อย่างเช่นความโลภและ “ความกระหายอยากได้ความเพลิดเพลินทางเนื้อหนัง” นั่นเอง. นอกจากนี้ ความหยิ่ง, ความริษยา, และความทะเยอทะยานอาจทำลายมิตรภาพของคริสเตียนอันเปี่ยมด้วยความรักที่มีอยู่ในประชาคมได้. (ยาโกโบ 3:6, 14) เจตคติเช่นนั้นทำให้คนเราเป็นมิตรกับโลก และด้วยเหตุนั้นจึงกลายเป็นศัตรูกับพระเจ้า. ไม่มีใครที่เพาะเจตคติอย่างนี้จะคาดหมายได้ว่าเขายังคงเป็นส่วนแห่งองค์การของพระเจ้า.
19. (ก) ต้องโทษใครเป็นอันดับแรกหากคริสเตียนพบว่าความคิดผิด ๆ กำลังฝังรากอยู่ในหัวใจตน? (ข) คริสเตียนจะเอาชนะความคิดผิด ๆ ได้โดยวิธีใด?
19 เราอาจจะโทษใครได้ถ้าเราพบว่าความคิดผิด ๆ กำลังงอกรากอยู่ในหัวใจเรา? ซาตานไหม? เป็นจริงอย่างนั้นในส่วนหนึ่ง. มันเป็น “ผู้ครอบครองอำนาจแห่งอากาศ” ของโลกนี้ ซึ่งเจตคติเช่นนั้นมีอยู่ทั่วไป. (เอเฟโซ 2:1, 2, ล.ม.; ติโต 2:12) อย่างไรก็ตาม รากเหง้าของความคิดผิด ๆ มักฝังอยู่ในเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์ของเราเอง. หลังจากเตือนให้ระวังการเป็นมิตรกับโลก ยาโกโบเขียนดังนี้: “ท่านทั้งหลายคิดว่า ข้อพระคัมภีร์นั้นกล่าวโดยเปล่าประโยชน์ที่ว่า ‘น้ำใจซึ่งได้เข้ามาอาศัยอยู่ภายในเรายังคงอยากได้ต่อไป ก็ด้วยแนวโน้มที่จะอิจฉานั่นเอง’?” (ยาโกโบ 4:5, ล.ม.) เราทุกคนมีแนวโน้มติดตัวมาแต่เกิดที่จะทำผิด. (เยเนซิศ 8:21; โรม 7:18-20) อย่างไรก็ดี เราสามารถต่อสู้แนวโน้มนี้ถ้าเรายอมรับข้ออ่อนแอของเราและไว้วางใจในการช่วยเหลือของพระยะโฮวาเพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอเหล่านั้น. ยาโกโบกล่าวดังนี้: “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับซึ่ง [พระเจ้า] ทรงประทานนั้นก็ใหญ่กว่า [แนวโน้มที่ติดตัวเรามาแต่เกิดที่จะอิจฉา].” (ยาโกโบ 4:6, ล.ม.) ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าและการสนับสนุนจากพี่น้องคริสเตียนที่ซื่อสัตย์และโดยทางคุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู คริสเตียนที่ซื่อสัตย์จึงไม่พ่ายแพ้ต่อข้ออ่อนแอแห่งเนื้อหนังของตนเอง. (โรม 7:24, 25) พวกเขาปลอดภัยเมื่ออยู่ในองค์การของพระเจ้า เป็นมิตรกับพระเจ้า ไม่ใช่กับโลกนี้.
20. คนที่เป็นส่วนขององค์การของพระเจ้าได้รับพระพรอะไรอย่างอุดม?
20 คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่า “พระยะโฮวาประทานกำลังแก่พลไพร่ของพระองค์; พระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรแก่พลไพร่ของพระองค์ให้มีความสงบสุข.” (บทเพลงสรรเสริญ 29:11) ถ้าเราเป็นส่วนที่แท้จริงของ “ประเทศ” ในสมัยปัจจุบันของพระยะโฮวาอันได้แก่องค์การที่เห็นได้ของพระองค์ เราก็จะมีความเข้มแข็งที่พระองค์ประทานและมีสันติสุขที่พระองค์ทรงอวยพระพรแก่ไพร่พลของพระองค์. ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โลกของซาตานนั้นใหญ่กว่าองค์การที่เห็นได้ของพระยะโฮวามากทีเดียว และซาตานก็มีกำลังยิ่งกว่าเรามาก. แต่พระยะโฮวาทรงเป็นองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. พลังปฏิบัติการของพระองค์นั้นไม่มีอะไรอาจเอาชนะได้. เหล่าทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ของพระองค์ก็ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเราในการรับใช้พระเจ้า. ฉะนั้น แม้เผชิญความเกลียดชัง เราก็จะยืนหยัดมั่นคงได้. เช่นเดียวกับพระเยซู เราจะชนะโลกได้.—โยฮัน 16:33; 1 โยฮัน 4:4.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ องค์การที่เห็นได้ของพระเจ้าคืออะไร?
▫ องค์การของพระเจ้าให้การปกป้องในทางใดบ้าง?
▫ ใครเป็นส่วนขององค์การของพระเจ้า?
▫ เราจะหลีกเลี่ยงจากการเป็นมิตรกับโลกได้โดยวิธีใด?
[กรอบหน้า 9]
องค์การของพระเจ้าคืออะไร?
ในหนังสือของพยานพระยะโฮวา ใช้คำว่า “องค์การของพระเจ้า” ในสามลักษณะ.
1 องค์การที่เห็นไม่ได้ทางภาคสวรรค์ของพระยะโฮวาซึ่งประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นกายวิญญาณที่ซื่อสัตย์. คัมภีร์ไบเบิลเรียกองค์การในส่วนนี้ว่า “ยะรูซาเลมซึ่งอยู่เบื้องบน.”—ฆะลาเตีย 4:26.
2 องค์การที่เห็นได้ของพระยะโฮวาซึ่งประกอบด้วยมนุษย์. ปัจจุบัน องค์การนี้ประกอบไปด้วยชนที่เหลือผู้ถูกเจิมโดยมีชนฝูงใหญ่ร่วมสมทบด้วย.
3 สากลองค์การของพระยะโฮวา. ปัจจุบัน สากลองค์การดังกล่าวนี้ประกอบด้วยองค์การทางภาคสวรรค์ของพระยะโฮวาพร้อมกับชนผู้ถูกเจิม ซึ่งเป็นบุตรที่ทรงรับจากแผ่นดินโลก ผู้มีความหวังจะมีชีวิตเป็นกายวิญญาณ. ในที่สุด สากลองค์การนี้ก็จะรวมมนุษย์สมบูรณ์ทั้งหลายที่อยู่บนแผ่นดินโลกเข้าไว้ด้วย.
[รูปภาพหน้า 10]
มีการจัดให้มีอาหารฝ่ายวิญญาณที่ดีที่สุดโดยทางองค์การของพระยะโฮวา