“นี่แหละคือพระเจ้าของเรา”
เนื้อหาที่มีการพิจารณาในบทความศึกษาสองเรื่องนี้อาศัยหนังสือจงเข้าใกล้พระยะโฮวา ซึ่งออก ณ การประชุมภาคที่จัดขึ้นทั่วโลกระหว่างปี 2002-2003.—โปรดดูบทความ “หนังสือนี้สนองความต้องการของดิฉัน” ที่หน้า 20.
“นี่แหละคือพระเจ้าของเรา; เราได้คอยท่าพระองค์, และพระองค์จะทรงช่วยเราให้รอด: นี่คือพระยะโฮวา.”—ยะซายา 25:9.
1, 2. (ก) พระยะโฮวากล่าวถึงอับราฮามปฐมบรรพบุรุษว่าอย่างไร และนี่อาจทำให้เราสงสัยในเรื่องใด? (ข) คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราอย่างไรว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้?
“มิตรสหายของเรา.” นี่เป็นถ้อยคำที่พระยะโฮวา พระผู้สร้างฟ้าสวรรค์ และแผ่นดินโลกกล่าวถึงอับราฮามปฐมบรรพบุรุษ. (ยะซายา 41:8) คิดดูสิ มนุษย์ผู้กระจ้อยร่อยได้เป็นมิตรกับพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ! คุณอาจสงสัยว่า ‘เป็นไปได้หรือที่ฉันจะเข้าใกล้พระเจ้าได้ขนาดนั้น?’
2 คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่าการมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้. อับราฮามมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดเช่นนั้นเพราะท่าน “เชื่อในพระยะโฮวา.” (ยาโกโบ 2:23, ล.ม.) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน พระยะโฮวา “ทรงเป็นมิตรกับคนตรง.” (สุภาษิต 3:32) คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราที่ยาโกโบ 4:8 (ล.ม.) ดังนี้: “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.” เห็นได้ชัด ถ้าเราดำเนินการเพื่อเข้าใกล้พระองค์ พระองค์จะทรงตอบสนอง. พระองค์จะเข้าใกล้เราจริง ๆ. แต่ถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้หมายความว่า เราซึ่งเป็นมนุษย์ผิดบาปไม่สมบูรณ์เป็นฝ่ายลงมือกระทำก่อนไหม? ไม่เลย. สัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเป็นไปได้เพราะพระเจ้าองค์เปี่ยมด้วยความรักของเราทรงดำเนินการสองขั้นตอนที่สำคัญไปแล้ว.—บทเพลงสรรเสริญ 25:14.
3. พระยะโฮวาทรงดำเนินการสองขั้นตอนอะไรไปแล้วเพื่อทำให้เป็นไปได้ที่เราจะมีมิตรภาพกับพระองค์?
3 ขั้นตอนแรก พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมพระเยซูเพื่อ ‘ประทานชีวิตของพระองค์ให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.’ (มัดธาย 20:28) เครื่องบูชาไถ่เปิดทางให้เราสามารถเข้าใกล้พระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เราทั้งหลายเกิดความรัก ก็เพราะพระองค์ได้ทรงรักเราก่อน.” (1 โยฮัน 4:19) ถูกแล้ว เนื่องจากพระเจ้า “ทรงรักเราก่อน” พระองค์จึงวางพื้นฐานไว้เพื่อเราจะเป็นมิตรกับพระองค์. ขั้นตอนที่สอง พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระองค์เองแก่เรา. ในการสร้างมิตรภาพไม่ว่ากับใคร สายสัมพันธ์นั้นอาศัยการรู้จักบุคคลผู้นั้นอย่างแท้จริง รู้สึกชื่นชมและเห็นคุณค่านิสัยที่โดดเด่นของเขา. ขอให้พิจารณาว่านี่หมายความอย่างไร. ถ้าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ไม่เปิดเผยตัว ไม่มีทางรู้จักได้ เราคงไม่มีวันที่จะใกล้ชิดกับพระองค์. แต่แทนที่จะปิดบังพระองค์เอง พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เรารู้จักพระองค์. (ยะซายา 45:19) ในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระองค์เองด้วยถ้อยคำที่เราเข้าใจได้ ซึ่งพิสูจน์ว่าพระองค์ไม่เพียงรักเราเท่านั้น แต่พระองค์ประสงค์ให้เรารู้จักและรักพระองค์ในฐานะพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราอีกด้วย.
4. เราจะรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาขณะที่รู้จักคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์ดีขึ้น?
4 คุณเคยเห็นไหมที่เด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งชี้ให้เพื่อนดูคุณพ่อของเขาแล้วพูดด้วยความภูมิใจจากใจจริงว่า “นี่แหละ พ่อฉัน”? บรรดาผู้นมัสการพระเจ้ามีเหตุผลทุกประการที่จะรู้สึกคล้าย ๆ กันนั้นเกี่ยวกับพระยะโฮวา. คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าถึงสมัยที่คนซื่อสัตย์จะร้องออกมาว่า “นี่แหละคือพระเจ้าของเรา.” (ยะซายา 25:8, 9) ยิ่งเราได้รับความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระยะโฮวามากเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้สึกมากขึ้นเท่านั้นว่าเรามีบิดาที่ดีที่สุดและมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะนึกออกได้. ถูกแล้ว การเข้าใจคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระยะโฮวาทำให้เรามีเหตุผลมากมายที่จะเข้าใกล้พระองค์ยิ่งขึ้น. ดังนั้น ขอให้เรามาตรวจสอบว่าคัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยอย่างไรเกี่ยวกับคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งของพระยะโฮวา ซึ่งก็คือ อำนาจ, ความยุติธรรม, สติปัญญา, และความรัก. ในบทความนี้ เราจะพิจารณาคุณลักษณะสามประการแรก.
“ใหญ่ยิ่งในเรื่องฤทธานุภาพ”
5. เหตุใดจึงเหมาะที่จะเรียกพระยะโฮวาผู้เดียวเท่านั้นว่า “องค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” และพระองค์ใช้อำนาจอันน่าเกรงขามของพระองค์ในทางใดบ้าง?
5 พระยะโฮวาทรง “ใหญ่ยิ่งในเรื่องฤทธานุภาพ.” (โยบ 37:23, ฉบับแปลใหม่) ยิระมะยา 10:6 กล่าวว่า “ไม่มีผู้ใดเหมือนพระองค์, โอ้พระยะโฮวา, พระองค์เป็นใหญ่, แลพระนามของพระองค์ใหญ่ด้วยฤทธานุภาพสูง.” ต่างจากสิ่งทรงสร้างใด ๆ ของพระองค์ พระยะโฮวาทรงมีอำนาจไม่จำกัด. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงเป็นผู้เดียวที่ถูกเรียกว่า “องค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.” (วิวรณ์ 15:3, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจอันน่าเกรงขามของพระองค์ในการสร้างสรรค์, ทำลาย, ปกป้อง, และฟื้นฟู. ขอพิจารณาสักสองตัวอย่าง คืออำนาจในการสร้างสรรค์ และอำนาจในการปกป้อง.
6, 7. ดวงอาทิตย์มีพลังมากเพียงไร และดวงอาทิตย์เป็นหลักฐานถึงความจริงที่สำคัญอะไร?
6 เมื่อคุณยืนอยู่นอกบ้านในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสในฤดูร้อน คุณรู้สึกอย่างไรที่ผิวของคุณ? คุณรู้สึกร้อนเพราะแสงแดด. แต่จริง ๆ แล้ว คุณกำลังรู้สึกถึงผลของอำนาจในการสร้างสรรค์ของพระยะโฮวา. ดวงอาทิตย์มีพลังมากขนาดไหน? ที่แกนกลางของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิประมาณ 15 ล้านองศาเซลเซียส. หากคุณสามารถเอาชิ้นส่วนจากแกนกลางของดวงอาทิตย์ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดมาไว้บนโลก คุณจะไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างปลอดภัยในรัศมี 140 กิโลเมตรจากแหล่งความร้อนขนาดจิ๋วดังกล่าว! ทุก ๆ วินาที ดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานออกมาเทียบเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดนิวเคลียร์หลายร้อยล้านลูก. กระนั้น โลกโคจรรอบเตาพลังความร้อนนิวเคลียร์ที่น่าพรั่นพรึงนี้ในระยะห่างที่พอเหมาะพอดี. หากใกล้เกินไป น้ำบนแผ่นดินโลกก็จะกลายเป็นไอ; หากไกลเกินไป น้ำทั้งหมดก็จะแข็งตัว. ระยะใกล้หรือไกลเกินไปล้วนจะทำให้ดาวเคราะห์ของเราปราศจากชีวิต.
7 แม้ชีวิตของพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยดวงอาทิตย์ก็ตาม แต่หลายคนถือว่าดวงอาทิตย์เป็นสิ่งธรรมดา. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงพลาดไปจากสิ่งที่ดวงอาทิตย์อาจสอนเราได้. บทเพลงสรรเสริญ 74:16 (ล.ม.) กล่าวถึงพระยะโฮวาดังนี้: “พระองค์ . . . ได้ทรงเตรียมดวงสว่างไว้ คือดวงอาทิตย์.” ถูกแล้ว ดวงอาทิตย์นำพระเกียรติมาสู่พระยะโฮวา “ผู้ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 146:6, ฉบับแปลใหม่) ถึงกระนั้น ดวงอาทิตย์เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาสิ่งทรงสร้างมากมายซึ่งสอนเราเกี่ยวกับอำนาจใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวา. ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจในการสร้างสรรค์ของพระยะโฮวามากเท่าใด เราก็จะยิ่งรู้สึกเกรงขามพระองค์มากขึ้นเท่านั้น.
8, 9. (ก) ถ้อยคำที่ให้ภาพอันอ่อนละมุนอะไรที่แสดงให้เราเห็นความเต็มพระทัยของพระยะโฮวาที่จะปกป้องดูแลผู้นมัสการพระองค์? (ข) ผู้เลี้ยงแกะในสมัยคัมภีร์ไบเบิลดูแลแกะของเขาอย่างไร และเรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับผู้เลี้ยงแกะองค์ยิ่งใหญ่ของเรา?
8 พระยะโฮวายังใช้อำนาจใหญ่ยิ่งของพระองค์เพื่อปกป้องดูแลผู้รับใช้ของพระองค์ด้วย. คัมภีร์ไบเบิลใช้ถ้อยคำที่ให้ภาพชัดและจับใจเพื่อพรรณนาถึงคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาเรื่องการปกป้องดูแล. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอสังเกตยะซายา 40:11. พระยะโฮวาทรงเปรียบพระองค์เป็นผู้เลี้ยงแกะ และเปรียบประชาชนของพระองค์เป็นแกะ. เราอ่านดังนี้: “พระองค์จะทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์ดุจผู้เลี้ยงแกะ, พระองค์จะทรงอุ้มลูกแกะไว้ในพระพาหุ, และจะกอดไว้ในพระทรวง, และตัวแม่ลูกอ่อนพระองค์จะทรงค่อย ๆ ต้อนไปด้วยพระทัยเอ็นดู.” คุณนึกภาพสิ่งที่พรรณนาไว้ในข้อนี้ออกไหม?
9 มีสัตว์ไม่กี่ชนิดที่ป้องกันตัวเองไม่ได้เหมือนแกะเลี้ยง. ผู้เลี้ยงแกะในสมัยคัมภีร์ไบเบิลต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะปกป้องแกะของตนจากสุนัขป่า, หมี, และสิงโต. (1 ซามูเอล 17:34-36; โยฮัน 10:10-13) แต่มีบางครั้งที่การปกป้องดูแลแกะต้องใช้ความอ่อนละมุน. ตัวอย่างเช่น เมื่อแกะตกลูกขณะอยู่ไกลคอก ผู้เลี้ยงแกะจะปกป้องลูกแกะที่เพิ่งเกิดซึ่งปกป้องตัวเองไม่ได้ให้ปลอดภัยได้อย่างไร? เขาจะอุ้มลูกแกะไว้ ‘ในอก’ ของเขา คือในรอยทบของเสื้อส่วนบน ซึ่งอาจเป็นเวลาหลายวันทีเดียว. แต่ลูกแกะตัวน้อยจะไปอยู่ที่อกผู้เลี้ยงแกะได้อย่างไร? ลูกแกะอาจเข้าไปหาผู้เลี้ยง และถึงกับใช้จมูกดุนขาของเขา. แต่ผู้เลี้ยงแกะนั่นแหละที่ต้องก้มลงไปอุ้มลูกแกะมาใส่ไว้ในที่ปลอดภัยที่อกของเขา. ช่างเป็นภาพที่อ่อนละมุนอะไรเช่นนี้ ซึ่งแสดงถึงความเต็มพระทัยของผู้เลี้ยงแกะองค์ยิ่งใหญ่ที่จะปกป้องดูแลผู้รับใช้ของพระองค์!
10. พระยะโฮวาทรงให้การปกป้องประการใดในปัจจุบัน และทำไมการปกป้องเช่นนั้นจึงสำคัญเป็นพิเศษ?
10 พระยะโฮวาไม่เพียงแต่สัญญา ว่าจะให้การปกป้อง. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล พระองค์ทรงแสดงให้เห็นด้วยวิธีต่าง ๆ อันน่าอัศจรรย์ว่า พระองค์สามารถ “ช่วยคนที่เลื่อมใสในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง.” (2 เปโตร 2:9, ล.ม.) จะว่าอย่างไรกับสมัยปัจจุบัน? เรารู้ว่าพระองค์ไม่ทรงใช้ฤทธิ์อำนาจของพระองค์เพื่อปกป้องเราจากภยันตรายทุกอย่างในปัจจุบัน. กระนั้น พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือการปกป้องฝ่ายวิญญาณ. พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักทรงปกป้องเราจากความเสียหายฝ่ายวิญญาณ โดยเตรียมเราให้มีสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อจะอดทนต่อการทดลองต่าง ๆ และรักษาสัมพันธภาพที่เรามีกับพระองค์ไว้ได้. ตัวอย่างเช่น ลูกา 11:13 กล่าวว่า “ถ้าท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน, ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.” พระวิญญาณที่ทรงพลังทำให้เราสามารถรับมือกับการทดลองหรือปัญหาใด ๆ ที่เราอาจเผชิญ. (2 โกรินโธ 4:7) โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตของเรา ไม่ใช่เพียงแค่ไม่กี่ปี แต่ตลอดไป. โดยคำนึงถึงความหวังนั้น เราอาจถือว่าความทุกข์ใด ๆ ในระบบนี้เป็นเรื่อง “ที่เบาบาง . . . ซึ่งรับอยู่แต่ประเดี๋ยวเดียว” จริง ๆ. (2 โกรินโธ 4:17) เราถูกดึงดูดให้มาหาพระเจ้าผู้ทรงใช้พลังอำนาจของพระองค์ด้วยความรักอย่างล้นเหลือเพื่อพวกเรามิใช่หรือ?
“พระยะโฮวาทรงรักความยุติธรรม”
11, 12. (ก) ทำไมความยุติธรรมของพระยะโฮวาดึงดูดเราให้เข้าไปหาพระองค์? (ข) ดาวิดได้ข้อสรุปอะไรเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระยะโฮวา และถ้อยคำที่ได้รับโดยการดลใจนี้ทำให้เราอุ่นใจอย่างไร?
11 พระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม และพระองค์ปฏิบัติอย่างนั้นเสมอ โดยไม่เลือกหน้าลำเอียง. ความยุติธรรมของพระเจ้าไม่ใช่คุณลักษณะที่เย็นชา เข้มงวด ซึ่งทำให้เราถอยห่าง แต่เป็นคุณลักษณะที่ชวนให้รักใคร่ ซึ่งดึงดูดเราให้อยากเข้าใกล้พระองค์. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะที่ทำให้หัวใจอบอุ่นนี้. ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาสามแนวทางที่พระยะโฮวาทรงสำแดงความยุติธรรมของพระองค์.
12 แนวทางแรก ความยุติธรรมของพระยะโฮวากระตุ้นพระองค์ให้แสดงความซื่อสัตย์ภักดีต่อผู้รับใช้ของพระองค์. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้มาเข้าใจความยุติธรรมของพระยะโฮวาในแง่นี้ด้วยตัวของท่านเอง. จากประสบการณ์ส่วนตัวของท่านและจากการศึกษาแนวทางต่าง ๆ ของพระเจ้า ดาวิดได้ข้อสรุปอะไร? ท่านกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงรักความยุติธรรม, และไม่ทรงละทิ้งพวกผู้ชอบธรรม [“ผู้ภักดี,” ล.ม.] ของพระองค์เลย; ทรงรักษาเขาไว้เป็นนิจกาล.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:28) ช่างเป็นคำรับรองที่ทำให้อุ่นใจจริง ๆ! พระเจ้าของเราจะไม่ทอดทิ้งผู้ที่ภักดีต่อพระองค์เลย. ด้วยเหตุนั้น เราจึงวางใจในความใกล้ชิดและความใฝ่พระทัยด้วยความรักของพระองค์ได้. ความยุติธรรมของพระองค์รับประกันเรื่องนี้!—สุภาษิต 2:7, 8.
13. ความห่วงใยของพระยะโฮวาต่อคนด้อยโอกาสปรากฏชัดอย่างไรในพระบัญญัติที่พระองค์ทรงประทานแก่ชาติอิสราเอล?
13 แนวทางที่สอง ความยุติธรรมของพระเจ้าทำให้พระองค์ไวต่อความจำเป็นของผู้ที่ทุกข์ร้อน. ความห่วงใยที่พระยะโฮวาทรงมีต่อคนด้อยโอกาสนั้นปรากฏชัดในพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่ชาติอิสราเอล. ยกตัวอย่าง ในพระบัญญัติมีการจัดเตรียมที่รับรองว่าลูกกำพร้าและหญิงม่ายจะได้รับการเอาใจใส่ดูแล. (พระบัญญัติ 24:17-21) โดยตระหนักว่าชีวิตอาจยากลำบากสักเพียงไรสำหรับครอบครัวเช่นนั้น พระยะโฮวาเองจึงทรงเป็นผู้พิพากษาและผู้ปกป้องเยี่ยงบิดาของพวกเขา. (พระบัญญัติ 10:17, 18) พระองค์ทรงเตือนชาวอิสราเอลว่า หากพวกเขาเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่ไม่มีทางสู้ พระองค์จะฟังเสียงร้องทุกข์ของคนเหล่านี้. ดังบันทึกที่เอ็กโซโด 22:22-24 พระองค์ตรัสว่า “ความโกรธของเราจะพลุ่งขึ้น.” แม้ว่าความโกรธไม่ใช่คุณลักษณะเด่นของพระเจ้า แต่พระองค์ถูกกระตุ้นให้รู้สึกขุ่นเคืองอย่างชอบธรรม เนื่องจากเห็นการจงใจปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบคือคนที่ไม่มีทางสู้.—บทเพลงสรรเสริญ 103:6.
14. อะไรคือหลักฐานที่โดดเด่นอย่างแท้จริงเกี่ยวกับความไม่ลำเอียงของพระยะโฮวา?
14 แนวทางที่สาม ที่พระบัญญัติ 10:17 คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่าพระยะโฮวา “มิได้เห็นแก่บุคคลผู้ใด, และมิได้เห็นแก่อามิษสินบน.” ไม่เหมือนมนุษย์หลายคนที่มีอำนาจหรืออิทธิพล พระยะโฮวาไม่ถูกโน้มน้าวโดยความมั่งคั่งทางวัตถุหรือรูปลักษณ์ภายนอก. พระองค์ทรงปราศจากอคติหรือความลำเอียง. หลักฐานที่โดดเด่นอย่างแท้จริงเกี่ยวกับความไม่ลำเอียงของพระองค์ก็คือ โอกาสสำหรับการเข้ามาเป็นผู้นมัสการแท้ของพระองค์ พร้อมด้วยความหวังที่จะมีชีวิตนิรันดร์นั้น ไม่ได้จำกัดไว้สำหรับผู้ถูกเลือกสรรไม่กี่คน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น กิจการ 10:34, 35 กล่าวว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” โอกาสเช่นนี้เปิดให้แก่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงฐานะในสังคม, สีผิว, หรือประเทศที่เขาอาศัยอยู่. นี่เป็นความยุติธรรมแท้ในระดับที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้มิใช่หรือ? จริงทีเดียว การมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระยะโฮวาดึงดูดเราให้เข้าใกล้พระองค์!
“โอ้ ความล้ำลึกแห่ง . . . พระปัญญา . . . ของพระเจ้า!”
15. สติปัญญาคืออะไร และพระยะโฮวาทรงแสดงพระปัญญาโดยวิธีใด?
15 อัครสาวกเปาโลได้รับการกระตุ้นให้กล่าวออกมา ดังที่มีบันทึกไว้ในโรม 11:33 (ล.ม.) ว่า “โอ้ ความล้ำลึกแห่ง . . . พระปัญญาอีกทั้งความรู้ของพระเจ้า!” ถูกแล้ว ขณะที่เราใคร่ครวญแง่มุมต่าง ๆ แห่งพระปัญญาอเนกอนันต์ของพระยะโฮวา เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเกรงขาม. แต่เราจะนิยามคุณลักษณะนี้ว่าอย่างไร? สติปัญญาหมายถึงการนำเอาความรู้, ความสามารถในการสังเกตเข้าใจ, และความเข้าใจมาใช้ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ. โดยอาศัยความรู้อันกว้างขวางและความเข้าใจที่ลึกซึ้งของพระองค์ พระยะโฮวาตัดสินพระทัยอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เสมอ และทรงทำตามที่พระองค์ตัดสินนั้นด้วยแนวทางการกระทำที่ดีที่สุดเท่าที่จะนึกออกได้.
16, 17. สิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาให้หลักฐานอย่างไรถึงพระปัญญาอเนกอนันต์ของพระองค์? จงยกตัวอย่าง.
16 อะไรคือหลักฐานที่เด่นชัดบางอย่างที่แสดงถึงพระปัญญาอเนกอนันต์ของพระยะโฮวา? บทเพลงสรรเสริญ 104:24 กล่าวว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระราชกิจของพระองค์มีเป็นอเนกประการจริง! พระองค์ได้ทรงกระทำการนั้นทั้งสิ้นโดยพระสติปัญญา: แผ่นดินโลกเต็มบริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์อันมั่งคั่ง [“สิ่งทรงสร้าง,” ล.ม.] ของพระองค์.” อันที่จริง ยิ่งเราเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาทรงสร้างมากเท่าใด เราก็ยิ่งเกรงขามในพระปัญญาของพระองค์มากเท่านั้น. ลองคิดดูสิ นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้มากมายจากการศึกษาสิ่งทรงสร้างนานาชนิดของพระยะโฮวา! ถึงกับมีสาขาวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียกว่าไบโอมิเมติกส์ ซึ่งพยายามเลียนแบบการออกแบบที่พบในธรรมชาติ.
17 ตัวอย่างเช่น คุณอาจเคยจ้องมองความงามของใยแมงมุมด้วยความพิศวง. นี่เป็นการออกแบบที่น่าทึ่งจริง ๆ. เมื่อเทียบตามสัดส่วนแล้ว เส้นใยที่ดูเหมือนขาดง่ายนี้บางเส้นมีความแกร่งยิ่งกว่าเหล็กกล้า และเหนียวยิ่งกว่าเส้นใยในเสื้อกันกระสุน. จริง ๆ แล้วมันแข็งแกร่งถึงขนาดไหน? ลองนึกภาพใยแมงมุมที่ถูกขยายขนาดตามอัตราส่วนจนมีขนาดเท่ากับอวนที่ใช้ในเรือประมง. ใยแมงมุมขนาดที่ว่านี้จะแข็งแกร่งถึงขนาดที่มันสามารถหยุดเครื่องบินโดยสารที่กำลังบินอยู่ได้! ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงสร้างสิ่งเหล่านั้นทั้งสิ้น “โดยพระสติปัญญา.”
18. พระปัญญาของพระยะโฮวาปรากฏให้เห็นอย่างไรในการที่พระองค์ใช้มนุษย์เป็นผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์?
18 หลักฐานยิ่งใหญ่ที่สุดที่แสดงถึงพระปัญญาของพระยะโฮวาพบได้ในพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล. แท้จริงแล้ว คำแนะนำอันฉลาดสุขุมซึ่งพบในหน้าต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลบอกเราถึงวิธีที่ดีที่สุดในการดำเนินชีวิต. (ยะซายา 48:17) แต่พระปัญญาอันหาที่เปรียบไม่ได้ของพระยะโฮวานั้นยังเห็นได้จากวิธี ที่คัมภีร์ไบเบิลได้รับการเขียนขึ้นด้วย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ด้วยพระปัญญาของพระองค์ พระยะโฮวาทรงเลือกที่จะใช้มนุษย์ให้บันทึกพระคำของพระองค์. ถ้าพระองค์ใช้ทูตสวรรค์ให้เขียนพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจ คัมภีร์ไบเบิลจะมีลักษณะที่ดึงดูดใจอย่างเดียวกันไหม? จริงอยู่ ทูตสวรรค์อาจพรรณนาถึงพระยะโฮวาจากมุมมองที่สูงส่งของพวกเขา และอาจแสดงถึงความเลื่อมใสที่พวกเขามีต่อพระองค์. แต่เราจะเข้าใจทัศนะของกายวิญญาณที่สมบูรณ์เหล่านั้นได้จริง ๆ ไหม ซึ่งเป็นผู้มีความรู้, ประสบการณ์, และกำลังเหนือกว่าเรามากนัก?—เฮ็บราย 2:6, 7.
19. ตัวอย่างอะไรแสดงว่าการใช้ผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ทำให้คัมภีร์ไบเบิลมีลักษณะที่อบอุ่นและดึงดูดใจอย่างมาก?
19 การใช้ผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ทำให้คัมภีร์ไบเบิลมีลักษณะที่อบอุ่นและดึงดูดใจอย่างมาก. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกเหมือนอย่างเรา. เนื่องด้วยความไม่สมบูรณ์ พวกเขาเผชิญความยากลำบากและความกดดันต่าง ๆ คล้ายกันกับเรา. ในบางกรณี พวกเขาเขียนถึงความรู้สึกและการดิ้นรนต่อสู้ของตนเองโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง. (2 โกรินโธ 12:7-10) ดังนั้น พวกเขาจึงเขียนถ้อยคำที่คงไม่มีทูตสวรรค์องค์ใดจะพรรณนาได้. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอพิจารณาถ้อยคำของดาวิดที่บันทึกไว้ในเพลงสรรเสริญบท 51. ดังที่บอกไว้ที่จ่าหน้าบท ดาวิดประพันธ์เพลงบทนี้หลังจากได้ทำบาปร้ายแรง. ท่านพรั่งพรูความรู้สึกออกมาจากใจ บรรยายถึงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและวิงวอนขอการอภัยจากพระเจ้า. ในข้อ 2 และ 3 เราอ่านว่า “ขอพระองค์ทรงล้างข้าพเจ้าให้หมดจดจากความอสัตย์อธรรมของข้าพเจ้า, และทรงชำระข้าพเจ้าให้ปราศจากความผิด. เพราะข้าพเจ้ารู้สำนึกการล่วงละเมิดของข้าพเจ้าแล้ว; และการบาปของข้าพเจ้าก็อยู่ต่อหน้าข้าพเจ้าเสมอ.” ขอสังเกตข้อ 5: “จงดูเถิด, ข้าพเจ้าได้เกิดมาในความอสัตย์อธรรม; และมารดาได้ตั้งครรภ์คลอดข้าพเจ้าในความบาป.” และข้อ 17 เสริมว่า “เครื่องบูชาที่สมควรแก่พระเจ้าคือจิตต์วิญญาณที่ชอกช้ำแล้ว: ข้าแต่พระเจ้า, ใจแตกและฟกช้ำแล้วนั้นพระองค์ไม่ดูถูกดูหมิ่นเลย.” คุณรู้สึกได้ถึงความปวดร้าวใจของผู้เขียนมิใช่หรือ? ใครหรือจะสามารถพรรณนาความรู้สึกจากใจเช่นนั้นได้ ถ้าไม่ใช่มนุษย์ไม่สมบูรณ์?
20, 21. (ก) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าแม้ใช้มนุษย์เป็นผู้เขียน แต่คัมภีร์ไบเบิลบรรจุพระปัญญาของพระยะโฮวา? (ข) บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องอะไร?
20 โดยการใช้มนุษย์ไม่สมบูรณ์เช่นนั้น พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมสิ่งที่ตรงกับความจำเป็นของเราพอดี นั่นคือบันทึกที่ “มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า” แต่เขียนขึ้นจากมุมมองของมนุษย์และใช้ถ้อยคำที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้. (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ถูกแล้ว ผู้เขียนเหล่านั้นได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. พวกเขาจึงบันทึกสติปัญญาของพระยะโฮวา ไม่ใช่ของพวกเขาเอง. สติปัญญาดังกล่าวคู่ควรแก่การไว้วางใจอย่างเต็มที่. เนื่องจากสติปัญญาของพระองค์เหนือกว่าเรามาก พระเจ้าจึงทรงกระตุ้นเตือนเราด้วยความรักดังนี้: “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.” (สุภาษิต 3:5, 6) โดยเอาใจใส่คำแนะนำอันสุขุมนี้ เรายิ่งเข้าใกล้พระเจ้าผู้ทรงสรรพปัญญามากขึ้น.
21 คุณลักษณะที่ชวนให้รักใคร่และน่าดึงดูดใจมากที่สุดในบรรดาคุณลักษณะทั้งสิ้นของพระยะโฮวาคือความรัก. บทความถัดไปจะพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงแสดงความรัก.
คุณจำได้ไหม?
• พระยะโฮวาทรงดำเนินการอะไรไปแล้วเพื่อทำให้เป็นไปได้ที่เราจะพัฒนามิตรภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์?
• มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงถึงอำนาจในการสร้างสรรค์และอำนาจในการปกป้องของพระยะโฮวา?
• พระยะโฮวาทรงสำแดงความยุติธรรมในทางใดบ้าง?
• พระปัญญาของพระยะโฮวาปรากฏให้เห็นอย่างไรในสิ่งทรงสร้างและในคัมภีร์ไบเบิล?
[ภาพหน้า 10]
เช่นเดียวกับผู้เลี้ยงแกะซึ่งอุ้มแกะไว้ที่อก พระยะโฮวาทรงดูแลแกะของพระองค์ด้วยความอ่อนละมุน
[ภาพหน้า 13]
พระปัญญาของพระยะโฮวาปรากฏให้เห็นในวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลได้รับการเขียน