ความเชื่อทำให้เราอดทนและเลื่อมใสแรงกล้า
“จงอดใจรอ จงทำให้หัวใจของท่านมั่นคง เพราะการประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาใกล้แล้ว.”—ยาโกโบ 5:8, ล.ม.
1. เหตุใดเราควรไตร่ตรองยาโกโบ 5:7, 8?
“การประทับ” ของพระเยซูคริสต์ซึ่งเฝ้าคอยกันมานานเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ในเวลานี้. (มัดธาย 24:3-14) ทุกคนที่ประกาศตัวว่ามีความเชื่อในพระเจ้าและพระคริสต์มีเหตุผลยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาที่จะใคร่ครวญคำพูดดังต่อไปนี้ของสาวกยาโกโบ: “พี่น้องทั้งหลาย จงอดใจรอจนกว่าการประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า. นี่แน่ะ! กสิกรเฝ้าคอยผลอันมีค่าของแผ่นดินและอดใจรอผลนั้นจนกว่าเขาจะได้ฝนต้นฤดูและฝนปลายฤดู. ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน จงอดใจรอ จงทำให้หัวใจของท่านมั่นคงเพราะการประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาใกล้แล้ว.”—ยาโกโบ 5:7, 8, ล.ม.
2. มีปัญหาอะไรบ้างที่คนซึ่งยาโกโบเขียนถึงประสบอยู่?
2 คนเหล่านั้นที่ได้รับจดหมายซึ่งยาโกโบเขียนโดยการดลใจจำต้องสำแดงความอดทน และแก้ปัญหาหลายอย่าง. หลายคนทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่คาดหมายว่าคนมีความเชื่อในพระเจ้าน่าจะทำ. ตัวอย่างเช่น จำเป็นต้องทำอะไรบางสิ่งเกี่ยวกับความปรารถนาบางอย่างที่ได้พัฒนาขึ้นในหัวใจของบางคน. จำเป็นต้องฟื้นฟูความสงบสุขแห่งจิตใจในหมู่คริสเตียนยุคแรก. พวกเขาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำให้อดทนและเลื่อมใสอย่างแรงกล้าด้วย. ขณะที่เราพิจารณาสิ่งที่ยาโกโบกล่าวกับพวกเขา ให้เราดูว่าเราจะใช้คำแนะนำของท่านในชีวิตของเราได้อย่างไร.
ความปรารถนาผิด ๆ ก่อผลเสียหายร้ายแรง
3. มีสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการต่อสู้กันในประชาคม และเราอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
3 สันติสุขกำลังขาดหายไปในท่ามกลางบางคนที่บอกว่าตนเป็นคริสเตียน และความปรารถนาผิด ๆ เป็นสาเหตุพื้นฐานของสภาพการณ์เช่นนี้. (ยาโกโบ 4:1-3, ล.ม.) การทะเลาะถกเถียงกันกำลังทำให้เกิดการแตกแยก และบางคนตัดสินพี่น้องอย่างไม่มีความรัก. ที่เป็นเช่นนี้เพราะความปรารถนาจะได้ความเพลิดเพลินในทางราคะตัณหากำลังทำให้เกิดการขัดแย้งกันขึ้นในท่ามกลางอวัยวะแห่งกายของพวกเขา. เราเองก็อาจจำเป็นต้องอธิษฐานขอความช่วยเหลือเพื่อต้านทานความปรารถนาของเนื้อหนังสำหรับยศถาบรรดาศักดิ์, อำนาจ, และทรัพย์สมบัติ เพื่อว่าเราจะไม่ได้ทำสิ่งใดที่ทำให้ประชาคมปั่นป่วนขาดสันติสุข. (โรม 7:21-25; 1 เปโตร 2:11) ในท่ามกลางคริสเตียนบางคนในศตวรรษแรก ความอิจฉาได้ก่อตัวขึ้นจนถึงขั้นกลายเป็นน้ำใจเกลียดชังและน้ำใจฆ่าคน. เนื่องจากพระเจ้าไม่ทรงช่วยให้ความปรารถนาผิด ๆ ของเขาสำเร็จ เขาจึงพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน. หากเรามีความปรารถนาผิด ๆ คล้าย ๆ กัน เราอาจอธิษฐานขอแต่จะไม่ได้รับ เพราะพระเจ้าองค์บริสุทธิ์ของเราไม่ทรงตอบคำอธิษฐานเช่นนั้น.—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:44; 3 โยฮัน 9, 10.
4. เหตุใดยาโกโบเรียกบางคนเป็น “หญิงเล่นชู้” และคำพูดนี้ควรมีผลต่อเราอย่างไร?
4 การดำเนินแบบโลก, ความอิจฉา, และความหยิ่งยโส มีอยู่ท่ามกลางคริสเตียนบางคนในยุคแรก. (ยาโกโบ 4:4-6, ล.ม.) ยาโกโบเรียกบางคนว่า “หญิงเล่นชู้” เพราะพวกเขาเป็นมิตรกับโลกและโดยวิธีนี้จึงมีความผิดฐานผิดประเวณีฝ่ายวิญญาณ. (ยะเอศเคล 16:15-19, 25-45) แน่นอน เราไม่ต้องการดำเนินแบบโลกในทางเจตคติ, คำพูด, และการกระทำ เพราะนั่นย่อมทำให้เรากลายเป็นศัตรูของพระเจ้า. พระคำของพระองค์ชี้ว่า “แนวโน้มที่จะอิจฉา” เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มชั่วหรือ “น้ำใจ” ที่ไม่ดี ในตัวมนุษย์ที่ผิดบาป. (เยเนซิศ 8:21; อาฤธโม 16:1-3; บทเพลงสรรเสริญ 106:16, 17; ท่านผู้ประกาศ 4:4) ดังนั้น หากเราตระหนักว่าเราจำต้องต่อสู้ความอิจฉา, ความหยิ่ง, หรือแนวโน้มไม่ดีอื่น ๆ ก็ให้เราขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระวิญญาณบริสุทธิ์นี้ซึ่งได้รับการประทานจากพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าเหนือกว่า “แนวโน้มที่จะอิจฉา.” และขณะที่พระยะโฮวาทรงต่อต้านคนหยิ่ง พระองค์จะทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับหากเราต่อสู้กับความโน้มเอียงที่ผิดบาป.
5. เพื่อจะได้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ เราต้องบรรลุข้อเรียกร้องอะไรบ้าง?
5 เราจะรับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าได้โดยวิธีใด? (ยาโกโบ 4:7-10) เพื่อจะได้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระยะโฮวา เราต้องเชื่อฟังพระองค์, ยอมรับเอาการจัดเตรียมของพระองค์, และยอมอยู่ใต้สิ่งใดก็ตามที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์. (โรม 8:28) เราต้อง “ต่อต้าน” หรือ ‘ยืนมั่นต่อสู้’ พญามารด้วย. มันจะ ‘หนีไปจากเรา’ หากเรายืนหยัดมั่นคงในฐานะเป็นผู้สนับสนุนสากลพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. เราได้รับการช่วยเหลือจากพระเยซู ผู้ทรงควบคุมดูแลไม่ให้ผู้ที่เป็นเครื่องมืออันชั่วร้ายของโลกทำความเสียหายอย่างถาวรแก่เรา. และอย่าลืมข้อนี้: โดยคำอธิษฐาน, การเชื่อฟัง, และความเชื่อ เราจะใกล้ชิดกับพระเจ้ายิ่งขึ้น และพระองค์จะทรงอยู่ใกล้ ๆ เรา.—2 โครนิกา 15:2.
6. เหตุใดยาโกโบเรียกคริสเตียนบางคนว่าเป็น “คนบาปทั้งหลาย”?
6 เหตุใดยาโกโบใช้คำ “คนบาปทั้งหลาย” กับบางคนที่บอกว่ามีความเชื่อในพระเจ้า? เพราะพวกเขามีความผิดเกี่ยวกับ “สงคราม” และความเกลียดชังอันเป็นการฆ่าคน—เจตคติที่ไม่อาจยอมรับได้สำหรับคริสเตียน. (ติโต 3:3) “มือ” ของพวกเขาเปรอะด้วยการกระทำอันชั่วร้าย ต้องได้รับการชำระล้าง. นอกจากนี้ พวกเขาจำเป็นต้องชำระ “หัวใจ” ของเขาซึ่งเป็นแหล่งแห่งการกระตุ้นของคนเราให้บริสุทธิ์ด้วย. (มัดธาย 15:18, 19) “คนสองจิตสองใจ” เหล่านี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างการเป็นมิตรกับพระเจ้าและการเป็นมิตรกับโลก. เมื่อได้รับการเตือนจากตัวอย่างที่ไม่ดีของคนเหล่านี้แล้ว ก็จงให้เรามีความกล้าหาญอยู่เสมอไป เพื่อว่าสิ่งต่าง ๆ เช่นนั้นจะไม่ทำลายความเชื่อของเรา.—โรม 7:18-20.
7. เหตุใดยาโกโบบอกบางคนให้ “เศร้าโศกและร้องไห้”?
7 ยาโกโบบอกผู้อ่านของท่านให้ “เปิดทางให้กับความทุกขเวทนาและจงเศร้าโศกและร้องไห้.” หากพวกเขาแสดงความเศร้าโศกด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า นั่นย่อมเป็นหลักฐานของการกลับใจ. (2 โกรินโธ 7:10, 11) ปัจจุบัน บางคนที่บอกว่าเขามีความเชื่อกำลังแสวงหามิตรภาพกับโลกนี้. หากมีใครในพวกเรากำลังติดตามแนวทางเช่นนั้นอยู่ เราน่าจะคร่ำครวญในเรื่องสภาพอ่อนแอฝ่ายวิญญาณของเรา และลงมือทำตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขทันทีมิใช่หรือ? การทำการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นและรับเอาการอภัยโทษจากพระเจ้าจะก่อให้เกิดความรู้สึกถูกยกชูขึ้นเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและความคาดหวังอันน่ายินดีเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์.—บทเพลงสรรเสริญ 51:10-17; 1 โยฮัน 2:15-17.
อย่าพิพากษากันและกัน
8, 9. เหตุใดเราไม่ควรพูดต่อต้านหรือพิพากษากันและกัน?
8 นับว่าบาปที่จะพูดต่อต้านเพื่อนร่วมความเชื่อ. (ยาโกโบ 4:11, 12, ล.ม.) กระนั้น บางคนวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนคริสเตียน ซึ่งก็อาจเป็นเพราะเขามีเจตคติถือว่าตัวเองชอบธรรม หรือเขาต้องการยกตัวเองขึ้นโดยการกดคนอื่นลง. (บทเพลงสรรเสริญ 50:20; สุภาษิต 3:29) คำกรีกที่ได้รับการแปลในที่นี้ว่า “พูดต่อต้าน” หมายถึงความเป็นปฏิปักษ์และส่อนัยถึงการกล่าวหาเกินจริงหรือเป็นความเท็จ. การทำเช่นนี้ก็เท่ากับการพิพากษาอย่างที่เป็นผลร้ายต่อพี่น้อง. การทำเช่นนี้เป็นการ ‘พูดต่อต้านกฎหมายและวินิจฉัยกฎหมายของพระเจ้า’ อย่างไร? เอาละ พวกอาลักษณ์และฟาริซาย “ละทิ้งข้อบัญญัติของพระเจ้า” และพิพากษาตามมาตรฐานของตนเอง. (มาระโก 7:1-13) ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรากล่าวโทษพี่น้องผู้ซึ่งพระยะโฮวาไม่ได้ทรงกล่าวโทษ นั่นก็เท่ากับว่าเรา ‘วินิจฉัยกฎหมายของพระเจ้า’ และบ่งเป็นนัย ๆ อย่างชั่วร้ายว่ากฎหมายของพระเจ้าใช้การไม่ได้มิใช่หรือ? และโดยการวิพากษ์วิจารณ์พี่น้องของเราอย่างไม่ยุติธรรม เราไม่ได้ปฏิบัติตามพระบัญญัติว่าด้วยความรัก.—โรม 13:8-10.
9 ให้เราจำไว้ว่า “มีผู้เดียวที่เป็นผู้ประทานกฎหมายและผู้พิพากษา” ซึ่งก็คือพระยะโฮวา. ‘กฎหมายของพระองค์สมบูรณ์’ ไม่บกพร่อง. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7; ยะซายา 33:22) พระเจ้าเพียงผู้เดียวที่มีสิทธิ์วางมาตรฐานและกฎเพื่อความรอด. (ลูกา 12:5) ดังนั้น ยาโกโบถามดังนี้: “ท่านเป็นผู้ใดเล่าจึงพิพากษาเพื่อนบ้านของตน?” เราไม่มีอำนาจพิเศษที่จะพิพากษาและกล่าวโทษผู้อื่น. (มัดธาย 7:1-5; โรม 14:4, 10) การใคร่ครวญถึงพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าและความไม่เลือกหน้าลำเอียงของพระเจ้าและสำนึกในความผิดบาปของเราเองจะช่วยเราให้ละเว้นจากการพิพากษาผู้อื่นอย่างที่ถือว่าตัวเองชอบธรรม.
จงหลีกเลี่ยงความมั่นใจในตัวเองอย่างอวดดี
10. เหตุใดเราควรคิดถึงพระยะโฮวาในการดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวัน?
10 เราควรคิดถึงพระยะโฮวาและกฎหมายของพระองค์เสมอ. (ยาโกโบ 4:13-17, ล.ม.) โดยไม่คำนึงถึงพระเจ้า คนที่มั่นใจในตัวเองกล่าวว่า ‘วันนี้หรือไม่ก็วันรุ่งขึ้น เราจะไปที่เมืองใหญ่ ใช้ชีวิตที่นั่นสักปี ทำธุรกิจและทำกำไร.’ หากเรา ‘ส่ำสมทรัพย์สมบัติสำหรับตัวแต่มิได้มั่งมีจำเพาะพระเจ้า’ ชีวิตของเราอาจจบลงพรุ่งนี้ก็ได้ และเราอาจไม่มีโอกาสรับใช้พระยะโฮวา. (ลูกา 12:16-21) ดังที่ยาโกโบกล่าว ชีวิตเราเป็นเช่นหมอกยามเช้าที่ “ปรากฏอยู่ชั่วประเดี๋ยวเดียวและแล้วก็หายไป.” (1 โครนิกา 29:15) เฉพาะแต่โดยการสำแดงความเชื่อในพระยะโฮวา เราจึงมีหวังจะได้ความยินดีอันยั่งยืนและชีวิตชั่วนิรันดร์.
11. การกล่าวว่า “ถ้าพระยะโฮวาทรงประสงค์” มีความหมายเช่นไร?
11 แทนการเพิกเฉยไม่สนใจพระเจ้าอย่างอวดดี เราควรมีท่าทีอย่างนี้: “ถ้าพระยะโฮวาทรงประสงค์ เราก็จะมีชีวิตอยู่และกระทำสิ่งนี้หรือสิ่งนั้นด้วย.” โดยกล่าวว่า “ถ้าพระยะโฮวาทรงประสงค์” นั่นบ่งบอกว่าเรากำลังพยายามทำอย่างสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระองค์. เราอาจจำเป็นต้องทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว, เดินทางไปในงานราชอาณาจักร, และทำอย่างอื่น. แต่อย่าให้เราโอ้อวด. ‘การภูมิใจเช่นนี้เป็นการชั่ว’ เพราะเท่ากับไม่แยแสที่จะพึ่งพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 37:5; สุภาษิต 21:4; ยิระมะยา 9:23, 24.
12. ถ้อยคำที่ยาโกโบ 4:17 มีความหมายเช่นไร?
12 ยาโกโบกล่าวอย่างที่เห็นได้ว่าคงเพื่อสรุปปิดท้ายถ้อยคำที่ท่านได้กล่าวไปในเรื่องการเชื่อมั่นในตัวเองและการคุยโตโอ้อวดดังนี้: “หากคนหนึ่งรู้วิธีที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่กระนั้นก็มิได้ทำ นั่นเป็นบาปแก่เขา.” คริสเตียนทุกคนควรยอมรับอย่างถ่อมใจในเรื่องการที่เขาต้องพึ่งพระเจ้า. หากเขาไม่ทำอย่างนั้น “นั่นเป็นบาปแก่เขา.” แน่นอน หลักการเดียวกันนี้ใช้ได้ด้วยกับการมิได้ทำอะไรก็แล้วแต่ที่ความเชื่อในพระเจ้าเรียกร้องจากเรา.—ลูกา 12:47, 48.
การเตือนคนร่ำรวย
13. ยาโกโบกล่าวอะไรเกี่ยวกับคนที่ใช้ความร่ำรวยของตนอย่างผิด ๆ?
13 เนื่องจากคริสเตียนในยุคแรกบางคนได้กลายเป็นนักนิยมวัตถุหรือชื่นชอบคนมั่งคั่ง ยาโกโบพูดอย่างแรงเกี่ยวกับคนรวยบางคน. (ยาโกโบ 5:1-6, ล.ม.) คนที่ดำเนินแบบโลกโดยใช้ความร่ำรวยของตนอย่างผิด ๆ จะ ‘ร้องไห้ ร้องโหยหวนถึงความทุกขเวทนาที่จะมีมายังเขา’ เมื่อพระเจ้าตอบแทนแก่เขาตามการกระทำของเขา. ในสมัยโน้น ส่วนใหญ่แล้วทรัพย์สมบัติของผู้คนประกอบไปด้วยสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่นเสื้อผ้า, เมล็ดข้าว, และเหล้าองุ่น. (โยเอล 2:19; มัดธาย 11:8) ทรัพย์เหล่านี้บางอย่างสามารถเน่าเสียหรือ “ถูกตัวแมลงกัดกิน” ได้ แต่ยาโกโบกำลังเน้นถึงความไร้ค่าของทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่การที่มันอาจเสื่อมสลายได้. แม้ว่าทองและเงินไม่เป็นสนิม แต่หากเราสะสมสิ่งเหล่านี้ มันก็จะเป็นสิ่งไร้ค่าเหมือนกับของที่ขึ้นสนิม. “สนิม” บ่งบอกถึงการที่ทรัพย์ฝ่ายวัตถุนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์. ด้วยเหตุนั้น เราทุกคนควรจำไว้ว่า “สิ่งที่เป็นเสมือนไฟ” ก็คือสิ่งซึ่งคนที่วางใจในทรัพย์สมบัติของตน “ได้สะสมไว้ในสมัยสุดท้าย” เมื่อพระพิโรธของพระเจ้ามาเผาผลาญพวกเขา. เนื่องจากเรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “เวลาอวสาน” คำพูดดังกล่าวจึงมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับเรา.—ดานิเอล 12:4, ล.ม.; โรม 2:5.
14. คนรวยมักทำอย่างไร และเราควรทำเช่นไรในเรื่องนี้?
14 คนมั่งมีมักโกงเอากับคนงานเก็บเกี่ยวของตน ซึ่งเมื่อถูกหน่วงเหนี่ยวค่าจ้างก็ได้ “ร้อง” ขอให้สนองโทษ. (เทียบกับเยเนซิศ 4:9, 10.) คนร่ำรวยทางโลก “อยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือย.” โดยที่หมกมุ่นอยู่กับความเพลิดเพลินทางเนื้อหนัง พวกเขาทำให้หัวใจตนกลายเป็นหัวใจที่ไม่ตอบรับอันอุดมไปด้วยไขมัน และก็จะยังคงทำอยู่อย่างนั้นเมื่อถึง “วัน” ที่กำหนดเอาไว้เพื่อสังหารพวกเขา. พวกเขา ‘ปรับโทษและฆ่าผู้ชอบธรรม.’ ดังนั้น ยาโกโบถามว่า “เขาไม่ต่อต้านท่านหรือ?” แต่ก็แปลได้อีกอย่างว่า “ผู้ชอบธรรม; เขาไม่ต่อต้านท่าน.” ไม่ว่าเป็นอย่างไร เราไม่ควรลำเอียงเข้าข้างคนมั่งมี. เราต้องรักษาความสนใจฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรกในชีวิต.—มัดธาย 6:25-33.
ความเชื่อช่วยเราให้อดทน
15, 16. เหตุใดจึงสำคัญมากที่จะอดทน?
15 เมื่อได้กล่าวถึงคนรวยที่กดขี่ของโลกนี้แล้ว ถัดจากนั้นยาโกโบกระตุ้นคริสเตียนที่ถูกกดขี่ให้อดใจรอ. (ยาโกโบ 5:7, 8, ล.ม.) ถ้าผู้มีความเชื่อทนการยากลำบากของตนด้วยใจอดทน เขาย่อมได้รับผลตอบแทนสำหรับความซื่อสัตย์ในระหว่างการประทับของพระคริสต์ เมื่อมีการพิพากษาต่อผู้ที่กดขี่พวกเขา. (มัดธาย 24:37-41) คริสเตียนเหล่านั้นในยุคแรกจำต้องเป็นเหมือนกสิกรที่รอคอยอย่างอดทนให้ฝนต้นฤดูโปรยลงมาเพื่อเขาจะลงกล้าได้ แล้วรอให้ถึงฝนปลายฤดูที่ทำให้เกิดดอกออกรวง. (โยเอล 2:23) เราก็จำต้องมีความอดทนและรักษาหัวใจให้มั่นคงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจาก “การประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า” คือพระเยซูคริสต์ได้ดำเนินอยู่แล้วในเวลานี้!
16 เหตุใดเราจึงควรอดทน? (ยาโกโบ 5:9-12, ล.ม.) ความอดทนช่วยเราไม่ให้คร่ำครวญหรือทอดถอนใจเมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อทำให้เราขุ่นเคืองใจ. ถ้าเรา “ทอดถอนใจต่อกันและกัน” ด้วยน้ำใจที่ก่อผลเสียหาย เราจะถูกพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาตัดสินโทษ. (โยฮัน 5:22) บัดนี้เมื่อ “การประทับ” ของพระองค์ได้เริ่มต้นแล้วและพระองค์ “ทรงยืนอยู่หน้าประตูแล้ว” จงให้เราส่งเสริมสันติสุขโดยการอดทนกับพี่น้องของเราที่เผชิญการทดสอบความเชื่อหลายอย่าง. ความเชื่อของเราเองได้รับการเสริมให้เข้มแข็งเมื่อเรานึกถึงกรณีที่พระเจ้าทรงประทานบำเหน็จแก่โยบ เพราะท่านได้ทนการทดลองด้วยความอดทน. (โยบ 42:10-17) หากเราสำแดงความเชื่อและความอดทน เราจะพบว่า “พระยะโฮวาทรงเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนและเมตตา.”—มีคา 7:18, 19.
17. เหตุใดยาโกโบกล่าวว่า “จงเลิกสาบาน”?
17 หากเราไม่อดทน เราอาจใช้ลิ้นอย่างผิด ๆ เมื่อตกอยู่ใต้ความกดดัน. เช่น เราอาจสบถสาบานโดยไม่ทันยั้งคิด. ยาโกโบกล่าวเตือนให้ระวังการให้คำปฏิญาณโดยไม่คิดรอบคอบจริงจังโดยบอกว่า “จงเลิกสาบาน.” การรับรองคำพูดด้วยคำสาบานเสมอดูเหมือนว่าหน้าซื่อใจคดด้วย. ฉะนั้น เราควรพูดแต่ความจริงเท่านั้น ให้คำว่าใช่หมายความว่าใช่ และคำว่าไม่หมายถึงไม่จริง ๆ. (มัดธาย 5:33-37) แน่นอน ที่ยาโกโบพูดไม่ได้หมายความว่าเป็นการผิดที่จะสาบานว่าจะพูดความจริงในศาล.
ความเชื่อและคำอธิษฐาน
18. ภายใต้สภาพการณ์เช่นไรที่เราควร “หมั่นอธิษฐาน” และ “ร้องเพลงสรรเสริญ”?
18 คำอธิษฐานต้องมีบทบาทสำคัญในชีวิตเราหากเราต้องการจะควบคุมคำพูด, สำแดงความอดทน, และรักษาไว้ซึ่งความเชื่อที่ดีในพระเจ้า. (ยาโกโบ 5:13-20, ล.ม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตกอยู่ในการทดลองเราควร “หมั่นอธิษฐาน.” หากเรามีอารมณ์แจ่มใส ก็ให้เรา “ร้องเพลงสรรเสริญ” ดังที่พระเยซูและพวกอัครสาวกทำเมื่อพระองค์ทรงตั้งการฉลองอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์. (มาระโก 14:26, เชิงอรรถ, ล.ม.) บางครั้ง เราอาจซาบซึ้งด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อพระเจ้าจนถึงกับร้องเพลงสรรเสริญอยู่ในใจด้วยซ้ำ. (1 โกรินโธ 14:15; เอเฟโซ 5:19) และช่างเป็นความยินดีอะไรเช่นนี้ที่จะยกย่องเชิดชูพระยะโฮวาด้วยเพลง ณ การประชุมคริสเตียน!
19. เราควรทำอะไรถ้าเราป่วยฝ่ายวิญญาณ และทำไมจึงดำเนินการเช่นนั้น?
19 เราอาจไม่มีความรู้สึกอยากร้องเพลงหากเราป่วยฝ่ายวิญญาณ ซึ่งอาจเป็นเพราะทำผิดหรือไม่ได้รับอาหารที่โต๊ะของพระยะโฮวาเป็นประจำ. ถ้าเราอยู่ในสภาพเช่นนี้ ก็ให้เราขอผู้ปกครองด้วยใจถ่อมเพื่อพวกเขาจะได้ ‘อธิษฐานเพื่อเรา.’ (สุภาษิต 15:29) พวกเขาจะ ‘เอาน้ำมันทาเราในนามของพระยะโฮวา’ ด้วย. ดุจดังน้ำมันชโลมแผล คำปลอบโยนและคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์จะช่วยคลายความหดหู่, ความไม่แน่ใจ, และความกลัว. ‘คำอธิษฐานด้วยความเชื่อจะทำให้เราหาย’ หากได้รับการเสริมโดยความเชื่อของเราเอง. ถ้าผู้ปกครองพบว่าความเจ็บป่วยฝ่ายวิญญาณของเราเกิดจากบาปร้ายแรง พวกเขาจะชี้แจงความผิดนั้นกับเราอย่างกรุณาและพยายามจะช่วยเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 141:5) และถ้าเรากลับใจ เรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงฟังคำอธิษฐานของพวกเขาและให้อภัยเรา.
20. เหตุใดเราควรสารภาพบาปของเราและอธิษฐานเพื่อกันและกัน?
20 ‘การสารภาพบาปของเราอย่างเปิดเผยต่อกันและกัน’ น่าจะช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้ทำผิดมากขึ้นไปอีก. การทำเช่นนี้น่าจะกระตุ้นให้มีความเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จะกระตุ้นเราให้ “อธิษฐานเพื่อกันและกัน.” เราสามารถมั่นใจได้ว่าการทำอย่างนี้จะเป็นประโยชน์ เพราะคำอธิษฐานโดย “คนชอบธรรม”—คนที่มีความเชื่อและพระเจ้าทรงถือว่าเขาซื่อตรง—ก็บรรลุผลมากกับพระยะโฮวา. (1 เปโตร 3:12) ผู้พยากรณ์เอลียามีข้ออ่อนแอเหมือนที่เรามี แต่คำอธิษฐานของท่านเกิดผลชัดทีเดียว. ท่านอธิษฐาน แล้วฝนก็ไม่ได้ตกตลอดสามปีครึ่ง. เมื่อท่านอธิษฐานอีกครั้ง ฝนก็ได้ตกลงมา.—1 กษัตริย์ 17:1; 18:1, 42-45; ลูกา 4:25.
21. เราอาจทำอะไรได้ถ้าเพื่อนคริสเตียน “ถูกชักนำให้หลงไปจากความจริง”?
21 จะว่าอย่างไรหากสมาชิกคนหนึ่งของประชาคม “ถูกชักนำให้หลงไปจากความจริง” หันเหไปจากคำสอนและการกระทำที่ถูกต้อง? เราอาจช่วยเขาได้ให้หันกลับจากแนวทางผิดของเขาโดยทางคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล, คำอธิษฐาน, และความช่วยเหลืออย่างอื่น. หากเราทำสำเร็จ เขาก็จะได้อยู่ภายใต้ค่าไถ่ของพระคริสต์ และได้รับการช่วยให้รอดจากสภาพตายฝ่ายวิญญาณและการตัดสินโทษสู่ความพินาศ. โดยช่วยคนที่ทำผิด เราปกปิดบาปของเขาไว้มากหลาย. เมื่อคนบาปที่ถูกว่ากล่าวหันจากแนวทางผิด, กลับใจ, และขอการอภัยโทษ เราก็จะชื่นชมยินดีที่เราได้มีส่วนช่วยในการทำให้บาปของเขาได้รับการปกปิด.—บทเพลงสรรเสริญ 32:1, 2; ยูดา 22, 23.
เนื้อหาสำหรับเราทุกคน
22, 23. เราควรได้รับผลกระทบอย่างไรจากถ้อยคำของยาโกโบ?
22 เห็นได้ชัดว่า จดหมายของยาโกโบมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สำหรับเราทุกคน. จดหมายนี้ชี้ให้เราเห็นวิธีรับมือกับการทดลอง, แนะนำเราให้ระวังอย่าเลือกที่รักมักที่ชัง, และกระตุ้นเราให้เข้าร่วมในการกระทำที่ซื่อตรง. ยาโกโบกระตุ้นเตือนเราให้ควบคุมลิ้น, ต่อต้านอิทธิพลของโลก, และส่งเสริมสันติสุข. คำพูดของท่านควรทำให้เราอดทนและเลื่อมใสอย่างแรงกล้าด้วย.
23 จริงอยู่ แรกทีเดียวจดหมายของยาโกโบส่งไปถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมในยุคแรก. กระนั้น เราทุกคนควรให้คำแนะนำในจดหมายนี้ช่วยเราให้ยึดมั่นในความเชื่อ. คำพูดของยาโกโบสามารถเสริมความเชื่อซึ่งจะกระตุ้นเราให้ลงมืออย่างเด็ดเดี่ยวในงานรับใช้พระเจ้า. และจดหมายซึ่งได้รับการดลใจฉบับนี้ก่อให้เกิดความเชื่อที่ทนนานซึ่งทำให้เราเป็นพยานของพระยะโฮวาที่อดทนและมีความเลื่อมใสแรงกล้าในเวลานี้ ระหว่าง “การประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า” พระเยซูคริสต์.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดคริสเตียนในยุคแรกบางคน จำต้องเปลี่ยนเจตคติและการประพฤติของตน?
▫ ยาโกโบให้คำเตือนอะไรแก่คนรวย?
▫ เหตุใดเราควรอดทน?
▫ ทำไมเราควรอธิษฐานเป็นประจำ?
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[รูปภาพหน้า 23]
คริสเตียนในยุคแรกบางคนจำต้องอดทนกับเพื่อนร่วมความเชื่อให้มากขึ้น
[รูปภาพหน้า 24]
คริสเตียนจำต้องอดทน, แสดงความรัก, และมีความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า