จงยึดความเชื่อของคุณเอาไว้ แม้เผชิญการทดลอง!
“พี่น้องของข้าพเจ้า จงถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้นเมื่อท่านทั้งหลายเผชิญกับการทดลองต่าง ๆ.”—ยาโกโบ 1:2, ล.ม.
1. ไพร่พลพระยะโฮวารับใช้พระองค์ด้วยความเชื่อและ “ด้วยใจโสมนัสยินดี” แม้ประสบอะไร?
ไพร่พลของพระยะโฮวารับใช้เป็นพยานของพระองค์ด้วยความเชื่อในพระองค์และ “ด้วยใจโสมนัสยินดี.” (พระบัญญัติ 28:47; ยะซายา 43:10) พวกเขาทำเช่นนั้นแม้ถูกรุมล้อมด้วยการทดลองมากมาย. แม้ประสบความลำบาก พวกเขาได้รับการปลอบใจจากถ้อยคำดังต่อไปนี้ ที่ว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า จงถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้นเมื่อท่านทั้งหลายเผชิญกับการทดลองต่าง ๆ เพราะอย่างที่ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่า คุณภาพของความเชื่อของท่านที่ผ่านการทดสอบแล้วทำให้เกิดความอดทน.”—ยาโกโบ 1:2, 3, ล.ม.
2. เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับผู้เขียนจดหมายของยาโกโบ?
2 ถ้อยคำนี้ได้รับการบันทึกเมื่อราว ๆ ปีสากลศักราช 62 โดยสาวกยาโกโบ น้องชายต่างบิดาของพระเยซูคริสต์. (มาระโก 6:3) ยาโกโบเป็นผู้ปกครองคนหนึ่งในประชาคมที่กรุงยะรูซาเลม. ที่จริง ตัวท่านเอง, เกฟา (เปโตร), และโยฮัน เป็น “ผู้ที่เขานับถือว่าเป็นหลัก” กล่าวคือ เป็นผู้ค้ำจุนที่เข้มแข็งและหนักแน่นของประชาคม. (ฆะลาเตีย 2:9) เมื่อประเด็นเกี่ยวกับพิธีสุหนัตมาถึงมือของ “อัครสาวกกับผู้ปกครองทั้งหลาย” ราว ๆ ปีสากลศักราช 49 ยาโกโบได้ให้ข้อเสนอแนะตามหลักพระคัมภีร์ซึ่งคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกเห็นชอบให้นำมาปฏิบัติ.—กิจการ 15:6-29.
3. คริสเตียนในศตวรรษแรกเผชิญปัญหาอะไรบ้าง และเราสามารถได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากจดหมายของยาโกโบได้โดยวิธีใด?
3 ในฐานะผู้เลี้ยงแกะฝ่ายวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความห่วงใย ยาโกโบ ‘รู้จักความเป็นไปแห่งฝูงแกะ.’ (สุภาษิต 27:23) ท่านตระหนักว่า ในเวลานั้นคริสเตียนกำลังเผชิญการทดลองต่าง ๆ อย่างหนัก. แนวคิดของบางคนต้องได้รับการปรับให้ถูกต้อง เพราะพวกเขาลำเอียงเข้าข้างคนรวย. สำหรับคริสเตียนบางคนแล้ว การนมัสการเป็นเพียงแบบแผนอย่างหนึ่ง. บางคนก่อความเสียหายด้วยลิ้นของเขาที่ขาดการควบคุม. น้ำใจของโลกกำลังก่อผลเสียหาย และหลายคนไม่อดทนรอหรือเลื่อมใสแรงกล้าอีกต่อไป. ที่จริง คริสเตียนบางคนตกสู่สภาพเจ็บป่วยฝ่ายวิญญาณ. จดหมายของยาโกโบกล่าวโดยตรงถึงเรื่องเหล่านี้ในแบบที่เสริมสร้าง และคำแนะนำของท่านใช้การได้ในสมัยปัจจุบันเช่นเดียวกับในสมัยศตวรรษแรก. เราจะได้ประโยชน์อย่างมากหากเราถือเสมือนหนึ่งว่าจดหมายนี้เขียนถึงเราเป็นส่วนตัว.a
เมื่อเราพบการทดลอง
4. เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อการทดลอง?
4 ยาโกโบชี้ให้เราเห็นว่าเราควรมีทัศนะอย่างไรต่อการทดลอง. (ยาโกโบ 1:1-4, ล.ม.) โดยไม่ได้เอ่ยถึงความผูกพันทางครอบครัวกับพระบุตรของพระเจ้า ท่านเรียกตัวเองอย่างถ่อมใจว่า “ทาสของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์เจ้า.” เหตุที่ยาโกโบเขียนถึง “สิบสองตระกูล” แห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณที่ “อยู่กระจัดกระจาย” ในประการแรกเลยนั้นเพราะการกดขี่ข่มเหง. (กิจการ 8:1; 11:19; ฆะลาเตีย 6:16; 1 เปโตร 1:1) ในฐานะคริสเตียน เราถูกข่มเหง และเรา “เผชิญกับการทดลองต่าง ๆ” ด้วยเช่นกัน. แต่หากเราจำไว้ว่า การทดลองที่สามารถทนเอาได้นั้นช่วยเสริมความเชื่อของเรา เราก็จะ “ถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้น” เมื่อการทดลองเหล่านั้นเกิดขึ้นกับเรา. หากเรารักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าในระหว่างการทดลอง การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงเช่นนี้ย่อมนำความสุขยั่งยืนนานมาให้เรา.
5. การทดลองที่เกิดขึ้นกับเราอาจรวมถึงอะไร และเกิดผลเป็นเช่นไรเมื่อเราอดทนการทดลองเหล่านั้นได้อย่างซื่อสัตย์ภักดี?
5 การทดลองที่เกิดขึ้นกับเรารวมถึงเหตุร้ายต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในชีวิตมนุษย์เรา. ตัวอย่างเช่น สุขภาพไม่ดีอาจทำให้เราเจ็บปวดทรมาน. พระเจ้าไม่ได้ทรงรักษาความเจ็บป่วยด้วยวิธีอัศจรรย์ในเวลานี้ แต่พระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานของเราที่ขอสติปัญญาและพลังใจที่เข้มแข็งซึ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับความเจ็บป่วยได้. (บทเพลงสรรเสริญ 41:1-3) เรายังทนทุกข์เพื่อเห็นแก่ความชอบธรรมด้วยในฐานะเป็นพยานผู้ถูกข่มเหงของพระยะโฮวา. (2 ติโมเธียว 3:12; 1 เปโตร 3:14) เมื่อเราอดทนการทดลองเช่นนั้นโดยรักษาความซื่อสัตย์ภักดีเอาไว้ ความเชื่อของเราก็ได้รับการพิสูจน์ และเป็นความเชื่อที่ “ผ่านการทดสอบแล้ว.” และเมื่อความเชื่อของเรามีชัย ก็ย่อม “ทำให้เกิดความอดทน.” ความเชื่อที่ผ่านการทดลองซึ่งทำให้เข้มแข็งขึ้นเช่นนี้จะช่วยเราให้อดทนการทดสอบทั้งหลายในภายภาคหน้า.
6. “ความอดทนกระทำการจนสำเร็จครบถ้วน” อย่างไร และอาจปฏิบัติตามขั้นตอนอะไรเมื่อเราตกอยู่ใต้การทดลอง?
6 ยาโกโบกล่าวว่า “แต่จงให้ความอดทนกระทำการจนสำเร็จครบถ้วน.” หากเรายอมให้การทดลองอย่างใดอย่างหนึ่งดำเนินไปจนถึงที่สุด โดยไม่ได้พยายามทำให้การทดลองนั้นยุติลงโดยเร็วด้วยวิธีซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ ความอดทนก็จะ “ทำการ” ทำให้เราสำเร็จครบถ้วนในฐานะเป็นคริสเตียน ไม่ขาดตกบกพร่องในความเชื่อ. แน่นอน หากการทดลองใดเผยให้เห็นข้ออ่อนแอบางอย่าง เราควรขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอนั้น. จะว่าอย่างไรหากการทดลองนั้นเป็นการล่อใจให้ทำผิดศีลธรรมทางเพศ? ให้เราอธิษฐานเกี่ยวด้วยปัญหานั้น แล้วทำอย่างที่สอดคล้องกับคำอธิษฐานของเรา. เราอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือลงมือทำขั้นตอนอื่น ๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า.—เยเนซิศ 39:7-9; 1 โกรินโธ 10:13.
การแสวงหาสติปัญญา
7. เราอาจได้รับการช่วยโดยวิธีใดบ้างเพื่อจะรับมือกับการทดลองต่าง ๆ?
7 ยาโกโบแสดงให้เราเห็นว่าควรทำอะไรหากเราไม่ทราบจะรับมืออย่างไรดีกับการทดลอง. (ยาโกโบ 1:5-8, ล.ม.) พระยะโฮวาจะไม่ทรงตำหนิเราที่ขาดสติปัญญาและทูลขอด้วยความเชื่อเพื่อจะมีสติปัญญา. พระองค์จะทรงช่วยเราให้มีทัศนะที่ถูกต้องต่อการทดลองและทนการทดลองนั้นได้. เราอาจได้รับการช่วยเหลือโดยเพื่อนร่วมความเชื่อหรือในระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ให้สังเกตเห็นข้อพระคัมภีร์บางข้อ. เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการทรงนำจากพระเจ้าอาจทำให้เราเห็นว่าเราควรทำอะไร. เราอาจได้รับการนำโดยพระวิญญาณของพระเจ้า. (ลูกา 11:13) เพื่อจะได้รับผลประโยชน์อย่างนั้น แน่ละ เราต้องติดสนิทกับพระเจ้าและไพร่พลของพระองค์.—สุภาษิต 18:1.
8. เหตุใดผู้ที่สงสัยไม่ได้รับสิ่งใดเลยจากพระยะโฮวา?
8 พระยะโฮวาทรงประทานสติปัญญาแก่เราให้รับมือกับการทดลอง หากเรา “ทูลขอต่อ ๆ ไปด้วยความเชื่อ อย่าสงสัยเลย.” ผู้ที่สงสัย “เป็นเหมือนคลื่นในทะเลที่ถูกลมพัดและซัดไปมา” อย่างที่ไม่อาจคาดคะเนได้. หากเราไม่มั่นคงฝ่ายวิญญาณ ‘เราไม่ควรคิดว่าจะได้รับสิ่งใดจากพระยะโฮวาเลย.’ อย่าให้เราเป็นคน “สองจิตสองใจ” และ “ไม่มั่นคง” ในการอธิษฐานหรือในทางอื่นใด. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้เราเชื่อในพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งสติปัญญา.—สุภาษิต 3:5, 6.
ทั้งคนมั่งมีและยากจนก็สามารถยินดีปรีดา
9. เหตุใดเรามีเหตุผลที่จะยินดีปรีดาในฐานะเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา?
9 แม้ว่าความยากจนเป็นการทดลองอย่างหนึ่งที่ตกอยู่กับเรา ก็ให้เราจำไว้ว่า คริสเตียนทั้งที่ร่ำรวยและที่ยากจนสามารถมีความยินดี. (ยาโกโบ 1:9-11, ล.ม.) ก่อนมาเป็นสาวกของพระเยซู ผู้ถูกเจิมส่วนใหญ่มีทรัพย์สมบัติเพียงเล็กน้อยและถูกโลกดูหมิ่นเหยียดหยาม. (1 โกรินโธ 1:26) แต่พวกเขาสามารถยินดีปรีดาใน “การที่เขาได้รับการยกชูขึ้น” สู่ฐานะรัชทายาทแห่งราชอาณาจักร. (โรม 8:16, 17) ในทางกลับกัน คนที่มั่งมีซึ่งก่อนนั้นเคยได้รับเกียรติ ประสบ “การถูกลดฐานะ” เมื่อมาเป็นสาวกของพระคริสต์ เพราะเขาถูกโลกดูถูกดูหมิ่น. (โยฮัน 7:47-52; 12:42, 43) อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวา เราทุกคนสามารถยินดี เพราะความมั่งคั่งและยศถาบรรดาศักดิ์ฝ่ายโลกไม่มีค่าแม้แต่น้อยเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณที่เรามี. และเรารู้สึกหยั่งรู้ค่าสักเพียงไรที่ในหมู่พวกเรา ไม่มีที่สำหรับความหยิ่งทนงในฐานะทางสังคม!—สุภาษิต 10:22; กิจการ 10:34, 35.
10. คริสเตียนควรมีทัศนะอย่างไรในเรื่องความมั่งคั่งทางวัตถุ?
10 ยาโกโบช่วยเราให้เห็นว่า ชีวิตเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งและความสำเร็จฝ่ายโลก. ความสวยของดอกไม้ไม่สามารถช่วยมันไม่ให้เหี่ยวแห้งตายไปด้วย “ความร้อนอันแรงกล้า” ของแสงตะวันฉันใด ทรัพย์ของคนมั่งมีก็ไม่อาจต่อชีวิตของเขาให้ยืนยาวได้ฉันนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 49:6-9; มัดธาย 6:27) เขาอาจเสียชีวิตขณะที่ติดตาม “วิถีทางแห่งชีวิตของตน” ซึ่งอาจได้แก่การทำธุรกิจการค้า. ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือต้อง “มั่งมีจำเพาะพระเจ้า” และทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร.—ลูกา 12:13-21; มัดธาย 6:33; 1 ติโมเธียว 6:17-19.
ความสุขมีแก่ผู้ที่อดทนการทดลอง
11. มีความคาดหวังเช่นไรสำหรับคนที่ยึดความเชื่อของตนไว้มั่นแม้เผชิญการทดลอง?
11 ไม่ว่ายากดีมีจน เราสามารถมีความสุขก็ต่อเมื่อเราอดทนการทดลองที่เกิดขึ้นกับเรา. (ยาโกโบ 1:12-15, ล.ม.) หากเราอดทนการทดลองโดยรักษาความเชื่อไว้ไม่ให้เสียหาย เราสามารถได้รับการประกาศว่ามีความสุข เพราะการทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระเจ้านำมาซึ่งความยินดี. โดยยึดความเชื่อของพวกเขาไว้มั่นจนถึงวาระสุดท้าย คริสเตียนที่ได้รับกำเนิดโดยพระวิญญาณรับเอา “มงกุฎแห่งชีวิต” ซึ่งก็คือสภาพอมตชีพในสวรรค์. (วิวรณ์ 2:10; 1 โกรินโธ 15:50) หากเรามีความหวังฝ่ายโลกและรักษาความเชื่อในพระเจ้าเอาไว้ เราก็สามารถคอยท่าชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. (ลูกา 23:43; โรม 6:23) พระยะโฮวาทรงดีต่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์สักเพียงไร!
12. เมื่อประสบเหตุเลวร้าย ทำไมเราไม่ควรกล่าวว่า “พระเจ้าทดลองข้าพเจ้า”?
12 เป็นไปได้ไหมที่พระยะโฮวาเองทรงทดลองเราด้วยสิ่งเลวร้าย? เป็นไปไม่ได้ และเราไม่ควรจะกล่าวว่า “พระเจ้าทดลองข้าพเจ้า.” พระยะโฮวาไม่ทรงพยายามชักจูงเราให้ทำบาป แต่เราแน่ใจได้ว่าพระองค์จะทรงช่วยเราและประทานความเข้มแข็งที่จำเป็นแก่เราเพื่ออดทนการทดลอง หากเรามั่นคงในความเชื่อ. (ฟิลิปปอย 4:13) พระเจ้าทรงเป็นองค์บริสุทธิ์ ดังนั้น พระองค์ไม่ทรงนำเราเข้าสู่สถานการณ์ที่จะทำให้แรงต้านทานการกระทำผิดของเราลดน้อยลง. หากเราพาตัวเองเข้าสู่สภาพการณ์ที่ไม่บริสุทธิ์สะอาดและทำบาป เราไม่ควรตำหนิพระองค์ “เพราะพระเจ้าจะถูกทดลองด้วยสิ่งที่ชั่วไม่ได้ หรือพระองค์เองก็ไม่ทดลองผู้ใดเลย.” แม้ว่าพระยะโฮวาอาจยอมให้มีการทดลองเกิดขึ้นเพื่อตีสอนเราเพื่อผลประโยชน์ของเรา แต่พระองค์ไม่ทรงทดลองเราโดยมีจุดประสงค์ร้าย. (เฮ็บราย 12:7-11) ซาตานอาจล่อใจเราให้ทำผิด แต่พระเจ้าสามารถช่วยเราให้พ้นจากตัวชั่วร้ายนั้นได้.—มัดธาย 6:13.
13. อาจเกิดอะไรถ้าเรามิได้ปฏิเสธความปรารถนาผิด ๆ?
13 เราจำเป็นต้องหมั่นอธิษฐาน เพราะสภาพการณ์บางอย่างอาจชักนำให้เกิดความปรารถนาผิด ๆ ซึ่งอาจล่อใจเราให้ทำบาปได้. ยาโกโบกล่าวดังนี้: “ทุกคนถูกทดลองโดยที่ความปรารถนาของตัวเขาเองชักนำและล่อใจเขา.” เราไม่อาจตำหนิพระเจ้าสำหรับความผิดของเราหากเราได้ปล่อยให้หัวใจหมกมุ่นอยู่กับความปรารถนาอันเป็นบาป. หากเราไม่ไล่ความปรารถนาผิด ๆ นั้นไปเสีย ‘มันก็จะเพาะตัวขึ้น’ กล่าวคือถูกฟูมฟักขึ้นในหัวใจ และ “ก่อให้เกิดบาป.” เมื่อกระทำบาปแล้ว บาปนั้นก็ “ก่อให้เกิดความตาย.” เห็นได้ชัด เราจำเป็นต้องปกป้องหัวใจของเราและต้านทานแนวโน้มใด ๆ ที่ผิดบาป. (สุภาษิต 4:23) คายินได้รับการเตือนว่า บาปกำลังจะเข้าครอบงำเขา แต่เขามิได้ต้านทาน. (เยเนซิศ 4:4-8) ถ้าอย่างนั้น จะว่าอย่างไรหากเรากำลังเริ่มต้นติดตามแนวทางที่ผิดหลักพระคัมภีร์? แน่นอนเลยทีเดียวว่า เราควรหยั่งรู้ค่าคริสเตียนผู้ปกครองที่พยายามปรับเราให้เข้าที่ เพื่อว่าเราจะไม่ได้ทำบาปต่อพระเจ้า.—ฆะลาเตีย 6:1.
พระเจ้า—ที่มาแห่งสิ่งดีทั้งหลาย
14. อาจกล่าวได้ในแง่ใดที่ว่า ของประทานจากพระเจ้านั้น “สมบูรณ์”?
14 เราควรจำไว้ว่า พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งกำเนิดสิ่งดีทั้งหลาย ไม่ใช่ที่มาของการทดลองต่าง ๆ. (ยาโกโบ 1:16-18, ล.ม.) ยาโกโบกล่าวทักทายเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “พี่น้องทั้งหลายที่รัก” แล้วจึงชี้ให้เห็นว่า พระเจ้าทรงเป็นพระผู้ประทาน ‘ของประทานอันดีและของประทานอันสมบูรณ์ทุกอย่าง.’ ของประทานทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวานั้น “สมบูรณ์” หรือครบถ้วน ไม่ขาดสิ่งใดเลย. ของประทานเหล่านี้ “มาจากเบื้องบน” นั่นคือจากที่สถิตของพระเจ้าในสวรรค์. (1 กษัตริย์ 8:39) พระยะโฮวาทรงเป็น “พระบิดาแห่งบรรดาดวงสว่างแห่งฟ้าสวรรค์”—ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และดวงดาวทั้งหลาย. นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงประทานแสงสว่างฝ่ายวิญญาณและความจริงให้เราด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 43:3; ยิระมะยา 31:35; 2 โกรินโธ 4:6) ไม่เหมือนกับดวงอาทิตย์ที่ทำให้เกิดเงาที่เปลี่ยนแปลงขณะที่มันเคลื่อนไป และอยู่ที่จุดสูงสุดบนท้องฟ้าเฉพาะตอนเที่ยงวัน พระเจ้าทรงอยู่ ณ จุดสูงสุดเสมอในการประทานสิ่งดี. พระองค์จะทรงจัดเตรียมเราให้พร้อมที่จะเผชิญการทดลองอย่างแน่นอน หากเราฉวยประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณของพระองค์โดยทางพระคำของพระองค์และ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.”—มัดธาย 24:45, ล.ม.
15. ของประทานอันยอดเยี่ยมที่สุดอย่างหนึ่งจากพระยะโฮวาได้แก่อะไร?
15 อะไรคือของประทานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของพระเจ้า? การกำเนิดบุตรฝ่ายวิญญาณโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งทำงานประสานกับข่าวดีหรือ “พระคำแห่งความจริง” นั่นเอง. คนที่กำเนิดฝ่ายวิญญาณเป็น “ผลแรกอย่างหนึ่ง” ซึ่งเลือกออกจากท่ามกลางมนุษยชาติเพื่อให้เป็น “ราชอาณาจักรและปุโรหิต” ฝ่ายสวรรค์. (วิวรณ์ 5:10, ล.ม.; เอเฟโซ 1:13, 14) ยาโกโบอาจนึกถึงผลแรกของข้าวบาร์เลย์ที่ถวายในวันที่ 16 เดือนไนซาน ซึ่งเป็นวันที่พระเยซูทรงถูกปลุกให้คืนพระชนม์ และอาจนึกถึงการถวายขนมปังทำจากแป้งสาลีสองอันในวันเพนเตคอสเต ซึ่งเป็นวันที่มีการเทพระวิญญาณ. (เลวีติโก 23:4-11, 15-17) หากเป็นเช่นนั้น พระเยซูก็จะทรงเป็นผลแรก และรัชทายาทร่วมของพระองค์เป็น “ผลแรกอย่างหนึ่ง.” จะว่าอย่างไรสำหรับพวกเราที่มีความหวังทางแผ่นดินโลก? การจดจำเรื่องนี้ไว้ในใจเสมอย่อมจะช่วยเราให้ยึดความเชื่อของเราเอาไว้ในพระผู้ประทาน “ของประทานอันดีทุกอย่าง” พระองค์ผู้ได้ทำให้ชีวิตนิรันดร์เป็นไปได้ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร.
จงเป็น “ผู้ปฏิบัติตามพระคำ”
16. เพราะเหตุใดเราควร “ไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ”?
16 ไม่ว่าเราประสบการทดลองความเชื่อของเราในเวลานี้อยู่หรือไม่ก็ตาม เราต้องเป็น “ผู้ปฏิบัติตามพระคำ.” (ยาโกโบ 1:19-25, ล.ม.) เราจำเป็นต้อง “ไวในการฟัง” พระคำของพระเจ้า โดยเป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำนั้นด้วยความเชื่อฟัง. (โยฮัน 8:47) ในทางตรงข้าม ให้เรา “ช้าในการพูด” ชั่งน้ำหนักคำพูดของเราให้ดีเสียก่อน. (สุภาษิต 15:28; 16:23) ยาโกโบอาจจะกำลังกระตุ้นเตือนเราไม่ให้ปากไวจนถึงกับพูดออกมาว่า การทดลองที่เราประสบนั้นมาจากพระเจ้า. นอกจากนี้ เราได้รับคำแนะนำให้ “ช้าในการโกรธ เพราะความโกรธของมนุษย์ไม่ได้กระทำให้เกิดความชอบธรรมของพระเจ้า.” หากมีใครพูดอะไรให้โกรธ ขอให้เรา ‘ใจเย็น ๆ’ เพื่อเลี่ยงการตอบโต้โดยมีเจตนาแก้เผ็ด. (เอเฟโซ 4:26, 27) น้ำใจโกรธแค้นซึ่งอาจก่อปัญหาให้เราและกลายเป็นการทดลองสำหรับคนอื่นนั้น ไม่อาจเกิดดอกออกผลเป็นสิ่งที่ความเชื่อในพระเจ้าผู้ชอบธรรมเรียกร้องจากเรา. นอกจากนั้น หากเรา “ประกอบด้วยความเข้าใจดียิ่ง” เราก็จะ “ไม่โกรธเร็ว” และพี่น้องชายหญิงของเราก็จะถูกดึงดูดใจให้เข้ามาหาเรา.—สุภาษิต 14:29.
17. การขจัดความชั่วจากหัวใจและจิตใจก่อผลเช่นไร?
17 แน่นอน เราจำเป็นต้องรักษาตัวให้พ้นจาก “ความสกปรกทั้งมวล”—ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงเกลียดชังและทำให้ทรงพระพิโรธ. นอกจากนั้น เราต้อง ‘สลัดทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมี คือความชั่ว.’ เราทุกคนควรขจัดความไม่สะอาดใด ๆ แห่งเนื้อหนังหรือวิญญาณออกไปจากชีวิตตน. (2 โกรินโธ 7:1; 1 เปโตร 1:14-16; 1 โยฮัน 1:9) การขจัดความชั่วออกจากหัวใจและจิตใจช่วยเราให้ ‘รับเอาการปลูกฝังพระคำแห่งความจริงไว้ด้วยใจอ่อนโยน.’ (กิจการ 17:11, 12) ไม่ว่าเราเป็นคริสเตียนมานานเท่าใดแล้ว เราต้องยอมรับการปลูกฝังความจริงแห่งพระคัมภีร์ในตัวเราให้มากขึ้นอยู่เสมอ. เพราะเหตุใด? เพราะโดยพระวิญญาณของพระเจ้า พระคำที่ปลูกฝังไว้นั้นก่อให้เกิด “บุคลิกภาพใหม่” ซึ่งบรรลุถึงความรอด.—เอเฟโซ 4:20-24.
18. คนที่เป็นเพียงแต่ผู้ฟังพระคำต่างกันอย่างไรจากคนที่เป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำนั้นด้วย?
18 โดยวิธีใดเราแสดงว่าเราให้พระคำเป็นเครื่องนำทางของเรา? โดยเต็มใจเชื่อฟังในการเป็น “ผู้ปฏิบัติตามพระคำ และไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น.” (ลูกา 11:28) “ผู้ปฏิบัติ” มีความเชื่อที่ทำให้เกิดผลงานอย่างเช่นการทำกิจกรรมในงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนด้วยใจแรงกล้าและการมีส่วนร่วมในการประชุมของไพร่พลพระเจ้าเป็นประจำ. (โรม 10:14, 15; เฮ็บราย 10:24, 25) การเป็นแต่เพียงผู้ฟังพระคำ “ก็เป็นเหมือนคนที่ดูหน้าของตัวเองในกระจก.” เขาแลดูตัวเองแล้วก็ไป และลืมเสียว่ามีอะไรบ้างในการปรากฏทางกายของตนที่อาจจะจำเป็นต้องแก้ไข. ในฐานะที่เป็น “ผู้ปฏิบัติการงาน” เราศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วนและเชื่อฟัง “กฎหมายอันสมบูรณ์” ของพระเจ้า ซึ่งครอบคลุมทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากเรา. เสรีภาพที่เรามีจึงตรงกันข้ามกับการเป็นทาสต่อบาปและความตาย เพราะเสรีภาพนี้นำไปสู่ชีวิต. ดังนั้น ให้เรา ‘ยึดมั่นในกฎหมายสมบูรณ์’ พินิจพิเคราะห์และเชื่อฟังกฎหมายนี้อยู่เสมอ. และคิดดูซิ! ในฐานะ ‘ผู้ปฏิบัติการงาน ไม่ใช่ผู้ฟังที่มักลืม’ เราได้ความยินดีอันเป็นผลจากการเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11.
ไม่เป็นเพียงผู้นมัสการตามแบบแผน
19, 20. (ก) ตามยาโกโบ 1:26, 27 การนมัสการที่สะอาดมีข้อกำหนดให้เราทำอะไร? (ข) มีตัวอย่างอะไรบ้างเกี่ยวกับการนมัสการที่ปราศจากมลทิน?
19 หากเราต้องการจะได้ความโปรดปรานจากพระเจ้า เราจำเป็นต้องจำไว้ว่า การนมัสการแท้ไม่ได้เป็นเพียงการทำตามแบบแผน. (ยาโกโบ 1:26, 27, ล.ม.) เราอาจคิดว่าเราเป็น “ผู้นมัสการตามแบบแผน” ของพระยะโฮวาที่ทรงยอมรับ ทว่าอยู่ที่การประเมินของพระองค์ต่างหากว่าเราแต่ละคนเป็นอย่างไรซึ่งนับว่าสำคัญจริง ๆ. (1 โกรินโธ 4:4) ข้อบกพร่องร้ายแรงอย่างหนึ่งอาจได้แก่การมิได้ “เหนี่ยวรั้งลิ้น.” เราคงหลอกตัวเองหากคิดว่า พระเจ้าทรงพอพระทัยการนมัสการของเรา หากเราใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น, โกหก, หรือใช้ลิ้นอย่างไม่ถูกต้องในทางอื่น ๆ. (เลวีติโก 19:16; เอเฟโซ 4:25) แน่นอน เราไม่ต้องการให้ “การนมัสการ” ของเรา “ไร้ประโยชน์” และพระเจ้าไม่ทรงยอมรับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม.
20 แม้ว่า ยาโกโบไม่ได้อ้างถึงทุกแง่ทุกมุมของการนมัสการที่สะอาด ท่านกล่าวว่าการนมัสการที่สะอาดนั้นหมายรวมถึง ‘การเอาใจใส่ดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่ายในความทุกข์ลำบากของเขา.’ (ฆะลาเตีย 2:10; 6:10; 1 โยฮัน 3:18) ประชาคมคริสเตียนแสดงความสนใจเป็นพิเศษในการจัดหาสิ่งจำเป็นเพื่อหญิงม่าย. (กิจการ 6:1-6; 1 ติโมเธียว 5:8-10) เนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นพระผู้ปกป้องหญิงม่ายและลูกไร้พ่อ ให้เราร่วมมือกับพระองค์โดยทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยพวกเขาทางฝ่ายวิญญาณและทางวัตถุ. (พระบัญญัติ 10:17, 18) การนมัสการที่สะอาดยังหมายถึงการ “รักษาตัวให้พ้นจากด่างพร้อยของโลก” ซึ่งก็คือสังคมมนุษย์ที่ไม่ชอบธรรมที่อยู่ใต้อำนาจของซาตาน. (โยฮัน 17:16; 1 โยฮัน 5:19) ดังนั้น ให้เรารักษาตัวปราศจากการประพฤติแบบโลกที่ไม่เลื่อมใสในพระเจ้า เพื่อว่าเราจะถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาและเป็นประโยชน์ในการรับใช้พระองค์.—2 ติโมเธียว 2:20-22.
21. เกี่ยวด้วยจดหมายของยาโกโบ ยังมีคำถามอะไรอีกที่พึงพิจารณา?
21 คำแนะนำของยาโกโบที่เราได้พิจารณามาถึงตรงนี้ ควรจะช่วยเราให้อดทนการทดลองต่าง ๆ และยึดความเชื่อของเราไว้ให้มั่น. คำแนะนำนี้น่าจะทำให้เราหยั่งรู้ค่ามากขึ้นต่อพระผู้ประทานของประทานอันดีผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก. และคำพูดของยาโกโบช่วยเราให้ปฏิบัติการนมัสการที่สะอาด. มีอะไรอีกที่ท่านนำขึ้นมาให้เราพิจารณา? มีขั้นตอนอะไรอีกที่เราสามารถทำได้เพื่อพิสูจน์ว่าเรามีความเชื่อแท้ในพระยะโฮวา?
[เชิงอรรถ]
a ในระหว่างที่ศึกษาบทความนี้และสองบทความถัดไปเป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัว นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะอ่านจดหมายของยาโกโบที่เสริมความเชื่อแต่ละส่วนที่มีการอ้างถึง.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ อะไรจะช่วยเราให้อดทนการทดลอง?
▫ แม้เผชิญการทดลอง เหตุใดคริสเตียนสามารถมีความยินดี?
▫ เราจะเป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำได้อย่างไร?
▫ การนมัสการที่สะอาดหมายรวมถึงอะไร?
[รูปภาพหน้า 9]
เมื่อตกอยู่ในการทดลอง จงสำแดงความเชื่อในอำนาจของพระยะโฮวาที่จะทรงตอบคำอธิษฐาน
[รูปภาพหน้า 10]
“ผู้ปฏิบัติตามพระคำ” กำลังประกาศเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าไปทั่วโลก