หนุ่มสาวคริสเตียน—จงมั่นคงในความเชื่อ
“ทุก ๆ คนต้องเข้าร่วม.” นั่นเป็นคำประกาศ. นักเรียนทุกคนในโรงเรียนญี่ปุ่นแห่งหนึ่งต้องเข้าร่วม ณ การประชุมสามัญในห้องประชุมใหญ่. คริสเตียนหนุ่มคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดบางประการที่แสดงออกในบทเพลงประจำโรงเรียน. เขาคิดว่า “เอาละ ฉันรู้ว่ามีการบรรเลงเพลงประจำโรงเรียน. แต่ไม่มีปัญหา. ฉันจะนั่งข้างหลังตามเคยก็แล้วกัน.”
แต่เมื่อพยานหนุ่มของพระยะโฮวาเข้าสู่ห้องประชุม เขาพบว่าสมาชิกของคณาจารย์ทั้งหมดนั่งอยู่ในแถวหลังแล้ว. เนื่องจากเหตุนี้ เขาต้องนั่งอยู่ข้างหน้าคนเหล่านั้น. เมื่อนักเรียนคนอื่น ๆ ลุกขึ้นยืนร้องเพลงประจำโรงเรียน เขายังคงนั่งอยู่ด้วยความนับถือ. แต่พวกครูขัดเคืองใจในเรื่องนี้. พวกเขาพยายามบังคับอย่างจริงจังเพื่อให้เขายืน. คุณนึกภาพตัวเองอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นได้ไหม? คุณจะทำอย่างไร?
เหตุผลที่ต้องมีความเชื่อเข้มแข็ง
คงจะดีจริง ๆ หากผู้คนไม่ยุ่งกับคริสเตียน และปล่อยให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามสติรู้สึกผิดชอบของเขาที่ได้รับการอบรมจากพระคัมภีร์. อย่างไรก็ดี บ่อยครั้ง คริสเตียนเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด. ทั้งนี้ไม่น่าจะทำให้เราประหลาดใจ เพราะพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าเองตรัสว่า “ถ้าเขาข่มเหงเราแล้ว เขาคงจะข่มเหงท่านทั้งหลายด้วย.” (โยฮัน 15:20) นอกจากการข่มเหงอย่างโจ่งแจ้งแล้ว ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเผชิญกับการทดลองอื่น ๆ หลายประการ.
หนุ่มสาวคริสเตียนจำเป็นต้องมีความเชื่อเข้มแข็งอยู่เนือง ๆ เพื่อจะเผชิญกับการทดลองต่าง ๆ ที่ประสบที่โรงเรียน. พวกเขาอาจถูกบีบบังคับให้มีความสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนที่ใช้ภาษาอันผิดศีลธรรม หรือมีเจตคติแบบหลู่เกียรติพระเจ้า. คริสเตียนหนุ่มสาวอาจเผชิญกับการเน้นหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องลัทธิชาตินิยมและความกดดันที่จะเข้าไปพัวพันในสโมสร การเมืองระดับโรงเรียน หรือกิจการอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายทางฝ่ายวิญญาณ. พวกครูหรือเพื่อนอาจพยายามนำความกดดันมาสู่คริสเตียนหนุ่มสาวเพื่อให้อะลุ้มอล่วย. เนื่องจากเหตุนี้ หนุ่มสาวที่เลื่อมใสพระเจ้าต้องพึ่งอาศัยพระวิญญาณของพระยะโฮวาเพื่อได้มาซึ่งความเชื่อที่จำเป็นเพื่อให้การชี้แจงอย่างชัดเจนในเรื่องความหวังของพวกเรา.—มัดธาย 10:19, 20; ฆะลาเตีย 5:22, 23.
‘เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบ’
คำแนะนำของอัครสาวกเปโตรนับว่าเหมาะสมสำหรับทั้งคริสเตียนที่เป็นหนุ่มและเป็นผู้ใหญ่. ท่านกล่าวว่า “[จง] เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) ต้องมีอะไรเพื่อจะเตรียมพร้อมที่จะโต้ตอบเช่นนั้น? ประการแรก คุณต้องเข้าใจสิ่งที่พระคัมภีร์สอน. เพื่อจะยืนหยัดมั่นคงที่โรงเรียนในเรื่องต่าง ๆ เช่นลัทธิชาตินิยม การเมือง การใช้ยาในทางผิด หรือศีลธรรม คุณต้องเข้าใจเหตุผลในเรื่องจุดยืนของคริสเตียนก่อน และต้องเชื่ออย่างจริงใจในเหตุผลนั้น.
ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลบอกเพื่อนคริสเตียนว่า “อย่าถูกลวง. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) คุณเห็นพ้องด้วยไหม? ดังที่เปาโลชี้แจงนั้น นับว่าง่ายที่จะถูกลวงในเรื่องเกี่ยวกับการคบหาสมาคม. คนเราอาจดูท่าเป็นมิตรและทำให้สบายใจ. แต่ถ้าหากเขาไม่มีส่วนร่วมในความห่วงใยของคุณต่อการรับใช้พระยะโฮวา หรือไม่เชื่อในคำสัญญาของพระคัมภีร์ เขาก็ไม่เป็นเพื่อนที่ดี. ทำไม? เพราะชีวิตของเขาอาศัยหลักการที่ต่างกัน และสิ่งที่สำคัญมากต่อคริสเตียนอาจไม่สำคัญเท่าไรนักต่อเขา.
เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจ เพราะพระเยซูตรัสเกี่ยวกับพวกสาวกของพระองค์ว่า “พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:16, ล.ม.) เป็นไปไม่ได้สำหรับคนเราที่จะเป็นคริสเตียนแท้ และในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนของโลกนี้ ซึ่งซาตานเป็นพระเจ้า. (2 โกรินโธ 4:4) คุณเห็นไหมว่าการแยกตัวจากโลกดังกล่าวป้องคริสเตียนอย่างไรจากความทุจริตเสื่อมทรามและการต่อสู้ที่รบกวนคนเป็นอันมากจริง ๆ ในทุกวันนี้? ถ้าเช่นนั้น คุณก็จะเข้าใจเหตุผลที่คุณต้องคงไว้ซึ่งการแยกต่างหากอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าการทำเช่นนี้หมายความว่าคุณจะเข้าร่วมในกิจกรรมบางอย่างของโรงเรียนไม่ได้.
ความสำคัญของการมั่นคงในความเชื่อและการจัดเอาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตได้ปรากฏให้เห็นในกรณีของเด็กสาวคริสเตียนคนหนึ่ง. (มัดธาย 6:33) เมื่อมีการประกาศซ้อมพิธีสำเร็จการศึกษาของเธอ เธอพบว่ามีการกำหนดในวันเดียวกันกับการประชุมหมวดของพยานพระยะโฮวาซึ่งเธอวางแผนจะเข้าร่วม. เธอเขียนจดหมายด้วยความนับถืออธิบายถึงเหตุผลที่เธอคงจะไม่มาในการซ้อม แล้วให้จดหมายนั้นต่อครูของเธอก่อนเข้าห้องเรียน. หลังจากเลิกเรียนแล้ว ครูได้เรียกเธอมาคุยตามลำพัง และขอให้เธออธิบายอีกครั้งถึงเหตุผลที่เธอคงจะไม่ร่วมในการซ้อมนั้น. เด็กหญิงคนนั้นบอกว่า “เขาต้องการดูว่าคำพูดของดิฉันเหมือนกันหรือไม่. นี้เป็นความรู้สึกของดิฉันไหม หรือว่าจดหมายนั้นเพียงแต่มีคำพูดของคุณแม่ดิฉันเท่านั้น? ครั้นเห็นความมั่นใจเฉพาะตัวของดิฉันในเรื่องนั้นแล้ว เขาก็มิได้คัดค้านดิฉัน.”
“โต้ตอบต่อหน้าทุกคน”
หนุ่มสาวคริสเตียนประสบอยู่เนือง ๆ ว่าหากเขาทำให้ฐานะของตนประจักษ์แจ้งแก่พวกคณาจารย์และนักเรียนก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะไม่มีความกดดันมากเท่าไรเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา. คริสเตียนสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่าเมื่ออายุ 11 ปี โรงเรียนของเธอเรียกร้องให้นักเรียนทุกคนเข้าร่วมงานเลี้ยงคริสต์มาส. พวกนักเรียนในชั้นที่สูงกว่าบีบคั้นเธอเพื่อให้เข้าร่วม แต่เธอมิได้เข้าร่วม และครูเข้าใจฐานะของเธอ. เพราะเหตุใด? เพราะว่าตอนใกล้จะเปิดภาคเรียน พยานฯ และบิดามารดาของเธอได้พบกับครู และอธิบายแง่ต่าง ๆ เกี่ยวกับฐานะคริสเตียนของพวกเขา.
ขณะปฏิบัติงานในการรับใช้ตามบ้าน คริสเตียนหนุ่มสาวบางคนกลัวว่าจะพบเพื่อนนักเรียนหรือพวกครู. คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม? ถ้าเช่นนั้น ทำไมไม่ริเริ่มและให้เพื่อนร่วมชั้นของคุณทราบว่าคุณประกาศตามบ้านเรือนและเหตุผลที่คุณทำเช่นนั้น. พยานพระยะโฮวาวัย 14 ปีคนหนึ่งรายงานว่า “ทุกคนที่โรงเรียนรู้จักฐานะของผมที่เป็นคริสเตียน. ที่จริง พวกเขารู้จักดีจนกระทั่งหากผมพบเพื่อนร่วมชั้นขณะที่ผมไปประกาศ ผมไม่รู้สึกอึดอัดใจ. ตามปกติเพื่อนนักเรียนรับฟัง และหลายครั้งพวกเขายอมรับสรรพหนังสือเกี่ยวกับพระคัมภีร์.” เด็กวัย 12 ปีคนหนึ่งรายงานว่าเขาคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะพบเพื่อนร่วมชั้นเมื่อเขามีส่วนในงานรับใช้. แทนที่จะตกใจกลัวเมื่อคิดถึงเรื่องนี้ เขาฝึกซ้อมเป็นประจำว่าเขาจะพูดอะไรเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น. ด้วยเหตุนี้ เขาเตรียมพร้อมที่จะเสนอเหตุผลอันถูกต้องในเรื่องความเชื่อของเขา.
ในหลายโรงเรียน กล่าวกันว่ากิจกรรมหลังเลิกเรียนเป็นเรื่องของความสมัครใจเลือก. แต่ในสภาพจริงพวกครูและนักเรียนกดดันแต่ละคนอย่างหนักให้เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว. คริสเตียนวัย 20 ปีคนหนึ่งพบวิธีที่ดีในการรับมือกับความกดดันนี้. เธอกล่าวว่า “ดิฉันรับใช้ฐานะไพโอเนียร์สมทบตลอดเวลาที่อยู่ชั้นมัธยมปลาย. ทุก ๆ คนรู้ว่าดิฉันวุ่นอยู่กับกิจกรรมด้านศาสนาของดิฉันจนไม่มีเวลาที่จะเข้าร่วมในสิ่งอื่น ๆ.” น้องสาวของพยานฯ คนนี้ได้เจริญรอยตามแนวทางเดียวกันนี้. หนุ่มสาวคริสเตียนบางคนมุ่งต่อไปจากการรับใช้ประเภทไพโอเนียร์สมทบระหว่างที่อยู่ในโรงเรียนเข้าสู่งานไพโอเนียร์ประจำฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรเต็มเวลาเมื่อเขาจบการศึกษา.
ขออย่ามองข้ามผลกระทบในทางดีจากความประพฤติอันดีงามของคุณและการให้คำพยานอย่างกล้าหาญ. แทนที่จะเงียบอยู่ต่อไป ทำไมไม่แสดงว่าคุณมั่นคงในความเชื่อโดยการพูดด้วยความนับถือแต่ทว่ากล้าหาญ? เด็กหญิงชาติยิศราเอลซึ่งถูกพาไปเป็นเชลย และเข้ามาอยู่ในครอบครัวของนามาน แม่ทัพซีเรียได้กระทำเช่นนั้น. (2 กษัตริย์ 5:2-4) พระนามของพระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญเนื่องจากความริเริ่มของเด็กหญิงคนนั้น. ความเชื่ออย่างเดียวกันของคุณอาจนำพระเกียรติมาสู่พระเจ้าได้ด้วย และอาจช่วยคนอื่นให้ยืนหยัดฐานะผู้สรรเสริญพระนามของพระองค์.
ข้อเท็จจริงคือว่าเราจะอะลุ้มอล่วยความเชื่อของเรา แล้วยังคงเป็นคริสเตียนอยู่ต่อไปย่อมไม่ได้. พระเยซูตรัสว่า “เหตุดังนั้น ทุกคนที่จะรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ แต่ผู้ใดจะปฏิเสธเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะปฏิเสธผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์.” (มัดธาย 10:32, 33) การมั่นคงในความเชื่อฐานะเป็นสาวกของพระเยซูเป็นหน้าที่รับผิดชอบอันสำคัญ มิใช่หรือ?
ความช่วยเหลือมีอยู่พร้อม
เพื่อที่จะยืนหยัดมั่นคงฐานะพยานพระยะโฮวา คุณจำเป็นต้องมีความเชื่อเข้มแข็ง. เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น คุณต้องศึกษาพระคัมภีร์อย่างขยันขันแข็ง เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน และมีส่วนในงานรับใช้ตามบ้าน. หากคุณยังคงรู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่างไป คุณจะทำประการใดได้? สาวกยาโกโบกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา ก็ให้ผู้นั้นทูลขอพระเจ้าต่อ ๆ ไป เพราะพระองค์ทรงประทานแก่ทุกคนด้วยพระทัยเอื้ออารีและโดยมิได้ทรงติว่า แล้วจะทรงประทานให้แก่ผู้นั้น.” (ยาโกโบ 1:5, ล.ม.) จงสนทนากับพระยะโฮวาในคำอธิษฐานเกี่ยวกับปัญหาของคุณ พระองค์ทรงสามารถชูกำลังคุณให้เผชิญการทดลองหรือการทดสอบความเชื่อของคุณ.
คริสเตียนหนุ่มสาวจะทำอะไรอื่นได้อีก? พระธรรมสุภาษิตบอกเราว่า “เจ้าจงฟังคำบิดาผู้บังเกิดเกล้าของเจ้า และอย่าดูหมิ่นมารดาของเจ้าเมื่อท่านแก่ชรา.” (สุภาษิต 23:22) อัครสาวกเปาโลสนับสนุนคำแนะนำนี้ เพราะท่านกล่าวว่า “ฝ่ายบุตร จงนบนอบเชื่อฟังบิดามารดาของตนในทุกสิ่ง เพราะการนี้เป็นที่ชอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า.” (โกโลซาย 3:20) บิดามารดาคริสเตียนอาจช่วยคุณให้มั่นคงในความเชื่อได้. จงฟังข้อเสนอแนะของท่าน. พร้อมด้วยความช่วยเหลือของท่าน จงค้นคว้าพระคัมภีร์ และสรรพหนังสือที่อาศัยพระคัมภีร์ เสาะหาความคิดเห็น คำแนะนำ และประสบการณ์. ทั้งคุณกับบิดามารดาของคุณจะเพลิดเพลินกับการทำเช่นนี้ และนั่นจะช่วยคุณให้เอาชนะความเหนียมอายหรือความกลัว.—2 ติโมเธียว 1:7.
จงรับเอาประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดเตรียมที่พระยะโฮวาได้ทรงจัดตั้งขึ้นผ่านทางประชาคมคริสเตียน. จงเตรียมตัวอย่างดีสำหรับการประชุม. จงสนทนากับผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งและคนอื่น ๆ ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์คล้ายกับที่คุณเผชิญอยู่ในขณะนี้. ซะโลโมได้กล่าวว่า “ผู้ฉลาดจะฟังและรับคำสั่งสอนมากขึ้น และคนที่มีความเข้าใจคือผู้ซึ่งรับการชี้นำที่รอบคอบ.” (สุภาษิต 1:5, ล.ม.) ดังนั้น จงเรียนจากชนผู้สูงอายุกว่าเหล่านี้. คุณจะเรียนได้จากหนุ่มสาวคริสเตียนที่รับมือกับปัญหาเช่นเดียวกับของคุณได้ด้วยเช่นกัน.
ความซื่อสัตย์นำมาซึ่งพระพร
โดยการยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ คุณจะเอาคำแนะนำของเปาโลมาใช้ที่ว่า “จงตั้งมั่นคง อย่าสะเทือนสะท้าน มีการงานมากที่จะให้ทำงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าเสมอ.” (1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงทราบและเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่คุณเผชิญ. พระองค์ได้ชูกำลังหลายคนที่ได้เผชิญอุปสรรคทำนองเดียวกัน และพระองค์ก็จะชูกำลังคุณด้วย. หากคุณพึ่งอาศัยพระเจ้า พระองค์จะสนับสนุนคุณ เพราะท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้กล่าวไว้ว่า “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้. พระองค์จะไม่ยอมให้คนชอบธรรมแตกฉานซ่านเซ็นไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 55:22.
เปโตรได้เขียนไว้ว่า “จงรักษาสติรู้สึกผิดชอบอันดีไว้ เพื่อว่าในเรื่องซึ่งท่านทั้งหลายถูกกล่าวหานั้นพวกเขาซึ่งพูดดูถูกความประพฤติดีของท่านเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์นั้นจะได้รับความละอาย.” (1 เปโตร 3:16, ล.ม.) หากคุณไม่ยอมอะลุ้มอล่วยเกี่ยวกับกฎหมายและหลักการอันชอบธรรมของพระเจ้าแล้ว คุณก็จะมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดี ซึ่งเป็นพระพรอันแท้จริงจากพระยะโฮวา. นอกจากนี้ คุณจะวางตัวอย่างอันดีงามไว้สำหรับหนุ่มสาวคริสเตียนผู้ซึ่งความเชื่อของเขาอาจอ่อนแอ. (1 ติโมเธียว 4:15, 16) ความประพฤติของคุณอาจสนับสนุนพวกเขาให้เพียรพยายามที่จะเป็นคนมั่นคงในความเชื่อ และด้วยเหตุนี้จึงสามารถอดทนการทดลองต่าง ๆ ได้.
คุณอาจถึงกับช่วยคนเหล่านั้นที่ตอนแรกต่อต้านจุดยืนคริสเตียนของคุณ. โปรดระลึกถึงถ้อยคำเหล่านี้ที่ก่อให้เกิดความหวัง: “เวลาเช้าเจ้าจงหว่านพืชของเจ้าเถอะ และพอเวลาเย็นจงวางมือของเจ้าไว้เถิด เพราะเจ้าหารู้ไม่ว่าการไหนจะจำเริญ จะการนี้หรือการนั้น หรือจะการทั้งสองจำเริญดีเหมือนกัน.” (ท่านผู้ประกาศ 11:6) ใครจะรู้ว่าจะเกิดผลดีอะไรจากการที่หว่านเมล็ดดีโดยการปฏิบัติด้วยความสัตย์ซื่อของคุณ?
ในบรรดาพระพรอันเลิศล้ำที่สุดซึ่งคุณจะได้รับก็คือฐานะอันเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา. ในที่สุด การมั่นคงในความเชื่อจะยังผลด้วยชีวิตถาวร. (โยฮัน 17:3; เปรียบเทียบยาโกโบ 1:12.) การผ่อนผันชั่วคราวจากการทดลองที่ได้รับโดยการอะลุ้มอล่วยนั้นไม่คุ้มค่ากับการสูญเสียของประทานนั้น.
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับหนุ่มที่ถูกกล่าวถึงในตอนต้นของบทความนี้? เขาทนรับประสบการณ์ที่ยุ่งยากลำบาก. ภายหลังการประชุมของโรงเรียนเสร็จสิ้น เขาพยายามอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาที่จะอธิบายจุดยืนของเขาต่อครู. ถึงแม้ไม่มีการตอบสนองอย่างเห็นดีเห็นชอบกับคำพูดของเขาก็ตาม เขาก็มีความพึงพอใจจากการทราบว่าเขาได้ทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี. (สุภาษิต 27:11) เขายังคงปกป้องความเชื่อของตนไว้ต่อไปจนกระทั่งจบการศึกษา. แล้วเขาก็มาเป็นไพโอเนียร์. ขอให้ความอดทนด้วยความซื่อสัตย์ของคุณเกิดผลอันทำให้มีความสุขเบิกบานอย่างเดียวกันเถิด. คงจะเป็นเช่นนั้นหากคุณพิสูจน์ว่ามั่นคงในความเชื่อ.
[กรอบหน้า 25]
ความช่วยเหลือมีไว้พร้อม
▫ จงรับฟังสติปัญญาของบิดามารดาของคุณผู้ยำเกรงพระเจ้า
▫ จงรับประโยชน์จากการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณในประชาคมคริสเตียน
▫ จงพูดกับผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งและคนอื่น ๆ ที่อาจเคยมีปัญหาเหมือนกับคุณ
▫ จงสนทนากับคริสเตียนหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ซึ่งรับมือกับอุปสรรคแบบเดียวกันอย่างมีผลสำเร็จ