“มีสุขภาพจิตดี” ขณะอวสานใกล้เข้ามา
“อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว. เหตุฉะนั้น จงมีสุขภาพจิตดี.”—1 เปโตร 4:7, ล.ม.
1. การ “มีสุขภาพจิตดี” เกี่ยวข้องกับอะไร?
ถ้อยคำของอัครสาวกเปโตรดังข้างต้นควรมีผลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีที่คริสเตียนดำเนินชีวิตของตน. อย่างไรก็ตาม เปโตรไม่ได้บอกผู้อ่านของท่านให้วางมือจากหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายโลกและการเอาใจใส่ดูแลชีวิต; ทั้งไม่ได้สนับสนุนให้กลัวอย่างไม่สมเหตุสมผลต่อการทำลายล้างที่จะมีมา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงมีสุขภาพจิตดี.” การ “มีสุขภาพจิตดี” กินความรวมถึงการมีวิจารณญาณที่ดี, มีสติ, สุขุม, มีเหตุผลทั้งในคำพูดและการกระทำ. การมีสุขภาพจิตดีหมายถึงการยอมให้พระคำของพระเจ้ามีอำนาจชี้นำความคิดและการกระทำของเรา. (โรม 12:2) เนื่องจากเรามีชีวิตอยู่ “ท่ามกลางคนชาติคดโกงและดื้อด้าน” จึงจำเป็นต้องมีสุขภาพจิตดีเพื่อหลีกปัญหาและเลี่ยงความยุ่งยาก.—ฟิลิปปอย 2:15.
2. ความอดทนของพระยะโฮวาเป็นประโยชน์อย่างไรต่อคริสเตียนในปัจจุบัน?
2 “สุขภาพจิตดี” ยังช่วยเราให้มีทัศนะต่อตัวเองอย่างที่มีสติและตรงสภาพความเป็นจริง. (ติโต 2:12; โรม 12:3) เรื่องนี้นับว่าจำเป็นเมื่อคำนึงถึงถ้อยคำที่บันทึกไว้ที่ 2 เปโตร 3:9 (ล.ม.) ที่ว่า “พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องคำสัญญาของพระองค์เหมือนบางคนถือว่าช้านั้น แต่พระองค์อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย เพราะพระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” โปรดสังเกตว่าพระยะโฮวาทรงอดกลั้นพระทัยไม่เพียงแต่กับผู้ไม่เชื่อ แต่รวมถึง “กับท่านทั้งหลาย”—สมาชิกของประชาคมคริสเตียนด้วย. เพราะเหตุใด? เพราะ “พระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย.” อาจเป็นได้ที่บางคนยังคงจำเป็นต้องเปลี่ยนและปรับบางสิ่งบางอย่างเพื่อมีคุณสมบัติคู่ควรจะได้รับบำเหน็จแห่งชีวิตนิรันดร์. ดังนั้น ให้เราพิจารณาบางขอบเขตที่อาจจำเป็นต้องปรับปรุง.
“มีสุขภาพจิตดี” ในสัมพันธภาพส่วนตัวของเรา
3. คำถามอะไรบ้างที่บิดามารดาอาจถามตัวเองเกี่ยวกับลูกของตน?
3 บ้านควรเป็นแหล่งแห่งสันติสุข. แต่กับบางครอบครัว บ้านกลายเป็น “เรือนที่. . . . เต็มพร้อมกับการวิวาท.” (สุภาษิต 17:1, ฉบับแปลใหม่) ครอบครัวคุณเป็นอย่างไร? บ้านของคุณปราศจาก “ความโกรธแค้นและการตวาดเสียงและคำพูดหยาบหยาม” ไหม? (เอเฟโซ 4:31, ล.ม.) ลูก ๆ ของคุณเป็นอย่างไร? พวกเขารู้สึกว่าได้รับความรักและความหยั่งรู้ค่าไหม? (เทียบกับลูกา 3:22.) คุณใช้เวลาเพื่อสอนและฝึกอบรมพวกเขาไหม? คุณ “ตีสอนด้วยความชอบธรรม” แทนที่จะทำด้วยความเดือดดาลและความโกรธไหม? (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) เนื่องจากบุตรเป็น “มรดกจากพระยะโฮวา” พระองค์จึงทรงใฝ่พระทัยอย่างมากเกี่ยวด้วยวิธีที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติ.—บทเพลงสรรเสริญ 127:3, ล.ม.
4. (ก) อาจก่อผลเช่นไรหากสามีปฏิบัติต่อภรรยาในแบบที่ขาดความกรุณา? (ข) ภรรยาจะรักษาสันติสุขกับพระเจ้าและส่งเสริมให้ทั้งครอบครัวมีความสุขได้โดยวิธีใด?
4 จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคู่สมรสของเรา? “สามีทั้งหลายจึงควรรักภรรยาของตนเหมือนรักร่างกายของตนเอง. ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตัวเอง เพราะไม่มีชายคนใดเคยเกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง; แต่เขาเลี้ยงดูและทะนุถนอมเนื้อหนังนั้น ดังที่พระคริสต์ได้ทรงกระทำกับประชาคม.” (เอเฟโซ 5:28, 29, ล.ม.) ชายซึ่งกระทำทารุณและใช้คำพูดหยาบหยาม, วางอำนาจบาตรใหญ่, หรือไม่มีเหตุผล ไม่เพียงทำลายความสงบสุขในบ้าน แต่บ่อนทำลายสัมพันธภาพของเขากับพระเจ้าด้วย. (1 เปโตร 3:7) ฝ่ายภรรยาล่ะ? เธอก็เช่นกันควร “ยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตนเหมือนกระทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (เอเฟโซ 5:22, ล.ม.) การคิดถึงการทำให้พระเจ้าพอพระทัยสามารถช่วยภรรยามองข้ามข้อบกพร่องของสามีและยอมอยู่ใต้อำนาจเขาโดยปราศจากความขัดเคืองใจ. บางครั้ง ภรรยาอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องแสดงความเห็นอย่างอิสระ. สุภาษิต 31:26 (ล.ม.) กล่าวถึงภรรยาที่มีความสามารถดังนี้: “เธออ้าปากกล่าวสติปัญญา และกฎแห่งความรักกรุณาอยู่ที่ลิ้นของเธอ.” โดยปฏิบัติต่อสามีในแบบที่กรุณาและนับถือ เธอธำรงไว้ซึ่งสันติสุขกับพระเจ้าและส่งเสริมความสุขของทั้งครอบครัว.—สุภาษิต 14:1.
5. เหตุใดเยาวชนควรติดตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องการปฏิบัติต่อบิดามารดา?
5 เยาวชนทั้งหลาย คุณปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร? คุณใช้คำพูดประชดหรือไม่นับถือซึ่งโลกทั่วไปมักยอมให้ทำกันอย่างนั้นไหม? หรือคุณกำลังเชื่อฟังพระบัญชาในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม: ‘จงให้เกียรติบิดาและมารดาของตน’ ซึ่งเป็นบัญญัติแรกพร้อมด้วยคำสัญญา: ‘เพื่อว่าเจ้าจะอยู่ดีมีสุขและเจ้าจะอยู่ยืนยงบนแผ่นดินโลก.’”?—เอเฟโซ 6:1-3, ล.ม.
6. เราจะแสวงหาสันติสุขกับเพื่อนผู้นมัสการได้อย่างไร?
6 เราแสดงถึงความ “มีสุขภาพจิตดี” ด้วยเมื่อเรา “แสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น” กับเพื่อนผู้นมัสการด้วยกัน. (1 เปโตร 3:11) ความไม่ลงรอยกันและความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว. (ยาโกโบ 3:2) หากปล่อยให้ความเป็นปฏิปักษ์กันเพาะตัวขึ้น สันติสุขของทั้งประชาคมอาจตกอยู่ในอันตราย. (ฆะลาเตีย 5:15) ดังนั้น จงสะสางข้อพิพาทโดยเร็ว; พยายามหาทางแก้แบบสันติ.—มัดธาย 5:23-25; เอเฟโซ 4:26; โกโลซาย 3:13, 14.
“สุขภาพจิตดี” และหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว
7. (ก) เปาโลสนับสนุนอย่างไรให้แสดง “สุขภาพจิตดี” ในเรื่องทางโลก? (ข) คริสเตียนที่เป็นสามีและภรรยาควรมีเจตคติเช่นไรต่อหน้าที่รับผิดชอบในบ้าน?
7 อัครสาวกเปาโลแนะนำให้คริสเตียน “ดำเนินชีวิตโดยมีสุขภาพจิตดี.” (ติโต 2:12, ล.ม.) น่าสนใจที่ในบริบทเปาโลกระตุ้นเตือนผู้หญิง “ให้รักสามีของตน, ให้รักบุตรของตน, ให้เป็นคนมีสุขภาพจิตดี, ให้เป็นคนบริสุทธิ์, เป็นคนทำงานที่บ้าน.” (ติโต 2:4, 5, ล.ม.) เปาโลเขียนข้อความดังกล่าวในปีสากลศักราช 61-64 ไม่กี่ปีก่อนอวสานของระบบยิว. กระนั้น เรื่องธรรมดา ๆ อย่างงานบ้านก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ. ด้วยเหตุนั้น ทั้งสามีและภรรยาควรรักษาทัศนะที่ดีเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของตนในบ้าน เพื่อ “จะไม่มีผู้ใดพูดลบหลู่พระคำของพระเจ้า.” หัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งกล่าวขอโทษผู้มาเยี่ยมสำหรับสภาพไม่น่าดูของบ้านเขา. เขาแก้ตัวว่าบ้านอยู่ในสภาพทรุดโทรม “เพราะเขากำลังเป็นไพโอเนียร์.” นับว่าน่าชมเชยเมื่อเราเสียสละเพื่อเห็นแก่ราชอาณาจักร แต่ต้องระวังจะไม่ละเลยสวัสดิภาพของครอบครัว.
8. หัวหน้าครอบครัวสามารถเอาใจใส่อย่างสมดุลได้อย่างไรต่อความจำเป็นต่าง ๆ ของครอบครัว?
8 คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนผู้เป็นบิดาในการจัดให้ครอบครัวมาก่อน โดยกล่าวว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงดูครอบครัวเขา “ก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) มาตรฐานการครองชีพแตกต่างกันไปในที่ต่าง ๆ และนับว่าดีที่จะรักษาความคาดหวังด้านวัตถุให้อยู่ในระดับพอเหมาะพอควร. ผู้เขียนสุภาษิต 30:8 อธิษฐานว่า “ขออย่าให้ข้าพเจ้ายากจนหรือมั่งมี.” อย่างไรก็ตาม บิดามารดาไม่ควรเพิกเฉยความจำเป็นด้านวัตถุของบุตร. ตัวอย่างเช่น เป็นการฉลาดสุขุมไหมที่จะจงใจปล่อยให้ครอบครัวขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตเพื่อมุ่งไปในสิทธิพิเศษตามระบอบของพระเจ้า? การทำเช่นนี้จะไม่ทำให้บุตรรู้สึกขมขื่นหรือ? ในทางตรงข้าม สุภาษิต 24:27 (ล.ม.) กล่าวว่า “จงเตรียมการงานของเจ้าที่นอกบ้าน และทำการงานให้พร้อมสำหรับตนในทุ่งนา. หลังจากนั้นเจ้าต้องเสริมสร้างครัวเรือนของเจ้าเช่นกัน.” ถูกแล้ว ขณะที่จำต้องเอาใจใส่สิ่งฝ่ายวัตถุ ‘การเสริมสร้างครัวเรือน’ ทางฝ่ายวิญญาณและทางอารมณ์นับว่าสำคัญยิ่ง.
9. เหตุใดเป็นการฉลาดสุขุมที่หัวหน้าครอบครัวจะคิดเผื่อการเสียชีวิตหรือความเจ็บป่วยซึ่งอาจเกิดแก่ตัว?
9 คุณได้จัดหาเพื่อดูแลครอบครัวเผื่อกรณีที่คุณเสียชีวิตอย่างไม่คาดคิดไหม? สุภาษิต 13:22 กล่าวดังนี้: “คนดีนั้นละมรดกไว้แก่หลานเหลนของตน.” นอกเหนือจากมรดกแห่งความรู้ของพระยะโฮวาและสัมพันธภาพกับพระองค์ บิดามารดาจะสนใจในการจัดเตรียมสิ่งฝ่ายวัตถุไว้สำหรับลูก ๆ. ในหลายประเทศ หัวหน้าครอบครัวที่มีความรับผิดชอบจะพยายามออมทรัพย์ไว้บ้าง, ทำพินัยกรรม, และทำประกันชีวิต. ที่จริง ไพร่พลพระเจ้าไม่ได้รับการยกเว้นจาก “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า.” (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) เงินเป็น “เครื่องปกป้อง” และหลายครั้งการวางแผนอย่างรอบคอบสามารถเลี่ยงความยุ่งยากได้. (ท่านผู้ประกาศ 7:12) ในประเทศที่รัฐบาลไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บางคนอาจเก็บทุนสำรองเอาไว้เพื่อใช้ในความจำเป็นด้านสุขภาพ หรือทำประกันสุขภาพบางชนิด.a
10. คริสเตียนที่เป็นบิดามารดาอาจ “สะสม” ไว้สำหรับลูกของตนอย่างไร?
10 พระคัมภีร์ยังกล่าวด้วยว่า “ที่ลูกจะสะสมไว้สำหรับพ่อแม่ก็ไม่สมควร, แต่พ่อแม่ควรสะสมไว้สำหรับลูก.” (2 โกรินโธ 12:14) ในโลกทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับบิดามารดาจะสะสมเงินไว้สำหรับการศึกษาและการสมรสของลูก ๆ ในอนาคตเพื่อช่วยพวกเขามีการเริ่มต้นที่ดีในชีวิต. คุณเคยคิดถึงการสะสมไว้สำหรับอนาคตฝ่ายวิญญาณของลูกไหม? เช่น สมมุติว่าลูกซึ่งโตแล้วกำลังมุ่งไปในงานรับใช้เต็มเวลา. แม้ว่าผู้รับใช้เต็มเวลาไม่ควรเรียกร้องหรือคาดหมายการสนับสนุนทางการเงินจากผู้อื่น แต่บิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรักอาจ ‘แบ่งให้เขาตามความจำเป็นของเขา’ เพื่อช่วยเขาอยู่ในการรับใช้เต็มเวลาต่อไป.—โรม 12:13; 1 ซามูเอล 2:18, 19; ฟิลิปปอย 4:14-18.
11. ทัศนะอย่างที่ตรงความเป็นจริงเรื่องเงินส่อถึงการขาดความเชื่อไหม? จงอธิบาย.
11 การมีทัศนะตรงสภาพความเป็นจริงในเรื่องเงินไม่ได้หมายถึงการขาดความเชื่อในเรื่องที่ว่าระบบชั่วของซาตานจวนจะถึงอวสานแล้ว. แต่เป็นเพียงเรื่องของการแสดง “สติปัญญาที่ใช้ได้จริง” และการตัดสินอย่างสมเหตุผล. (สุภาษิต 2:7; 3:21, ล.ม.) ครั้งหนึ่งพระเยซูตรัสว่า “ลูกทั้งหลายแห่งระบบนี้ มีความฉลาดในการปฏิบัติ. . . . มากกว่าลูกทั้งหลายแห่งความสว่างอีก” ในเรื่องการใช้เงินของตน. (ลูกา 16:8, ล.ม.) ดังนั้น ไม่แปลกที่บางคนได้เห็นความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีที่เขาใช้ทรัพย์สินของตน เพื่อเขาสามารถเอาใจใส่ความจำเป็นของครอบครัวได้ดีขึ้น.
“สุขภาพจิตดี” ในทัศนะของเราเรื่องการศึกษา
12. พระเยซูทรงสอนสาวกของพระองค์อย่างไรให้ปรับเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ?
12 “ฉากของโลกนี้กำลังเปลี่ยนไป” และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง รวมทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว. (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกของพระองค์ให้รู้จักปรับตัว. พระองค์ทรงสั่งพวกเขาเมื่อส่งพวกเขาออกไปในการรณรงค์การประกาศครั้งแรกของพวกเขาดังนี้: “อย่าคิดหาทองคำ, หรือเงิน, หรือทองเหลืองไว้ในไถ้ของท่าน. หรือย่ามใช้ตามทาง, หรือเสื้อสองตัว. หรือรองเท้า. หรือไม้เท้า. เพราะว่าผู้ทำการควรจะได้อาหารกิน.” (มัดธาย 10:9, 10) กระนั้น ในโอกาสต่อมาพระเยซูตรัสดังนี้: “ใครมีถุงเงินให้เอาไปด้วย, และย่ามก็ให้เอาไปเหมือนกัน.” (ลูกา 22:36) อะไรที่ได้เปลี่ยนไป? สภาพการณ์นั่นเอง. สภาพแวดล้อมทางศาสนาเปลี่ยนเป็นปฏิปักษ์มากขึ้น และบัดนี้พวกเขาจำต้องจัดหาสิ่งต่าง ๆ สำหรับตัวเอง.
13. จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาคืออะไร และบิดามารดาสามารถสนับสนุนลูกของตนในเรื่องนี้อย่างไร?
13 เช่นเดียวกันในทุกวันนี้ บิดามารดาอาจจำเป็นต้องพิจารณาสภาพเป็นจริงด้านเศรษฐกิจ. เช่น คุณกำลังจัดแจงเพื่อให้ลูก ๆ ของคุณได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมไหม? จุดประสงค์หลักของการศึกษาควรเป็นเพื่อเตรียมเยาวชนไว้ให้เป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาที่มีประสิทธิภาพ. และการศึกษาที่สำคัญที่สุดได้แก่การศึกษาฝ่ายวิญญาณ. (ยะซายา 54:13) บิดามารดายังเป็นห่วงด้วยเกี่ยวกับความสามารถของลูก ๆ ในการค้ำจุนตัวเองด้านการเงิน. ดังนั้น จงให้การชี้นำแก่ลูก ช่วยเขาให้เลือกเรียนวิชาที่เหมาะ และพิจารณากับเขาเกี่ยวกับการเรียนเพิ่มเติมบางอย่างว่าเป็นการฉลาดสุขุมหรือไม่. การตัดสินใจแบบนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของครอบครัว และคนอื่นไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์แนวทางที่พวกเขาเลือก. (สุภาษิต 22:6) จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคนที่ได้เลือกให้ลูกเรียนที่บ้าน?b ขณะที่หลายคนทำได้ดี แต่บางคนพบว่าการให้ลูกเรียนที่บ้านนั้นยากกว่าที่เขาคิด และลูก ๆ ก็ประสบปัญหาในการเรียน. ดังนั้น หากคุณกำลังคิดอยู่เกี่ยวกับการเรียนที่บ้าน จงทำให้แน่ใจที่จะคำนึงถึงผลได้ผลเสีย และประเมินตามความเป็นจริงว่าคุณมีทั้งทักษะและวินัยซึ่งจำเป็นเพื่อจะบรรลุผลสำเร็จหรือไม่.—ลูกา 14:28.
‘อย่าแสวงหาซึ่งของใหญ่’
14, 15. (ก) บารุคเสียความสมดุลฝ่ายวิญญาณของเขาอย่างไร? (ข) เหตุใดจึงนับว่าโง่เขลาที่เขาจะ “แสวงหาซึ่งของใหญ่”?
14 เนื่องจากอวสานของระบบนี้ยังไม่มา บางคนอาจโน้มไปในทางแสวงหาสิ่งที่โลกมีเสนอให้—อาชีพที่มีหน้ามีตา, งานที่ให้รายได้สูง, และความมั่งคั่ง. ขอให้พิจารณาบารุคเลขาฯ ของยิระมะยา. เขาคร่ำครวญดังนี้: “บัดนี้ วิบัติแก่ข้าพเจ้า เพราะพระยะโฮวาได้ทรงเพิ่มความเศร้าหมองให้กับความปวดร้าวของข้าพเจ้า! ข้าพเจ้าเหน็ดเหนื่อยเพราะการทอดถอนใจของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าหาที่พักพิงไม่พบเลย.” (ยิระมะยา 45:3, ล.ม.) บารุคละเหี่ยใจ. การรับใช้ฐานะเลขาฯ ของยิระมะยาเป็นงานยากและเครียด. (ยิระมะยา 36:14-26) อีกทั้งยังมองไม่เห็นว่าความเคร่งเครียดจะหมดไปเมื่อไร. ยังอีก 18 ปียะรูซาเลมจึงจะถูกทำลาย.
15 พระยะโฮวาทรงมีรับสั่งแก่บารุคดังนี้: “นี่แน่ะ, สิ่งซึ่งเราได้ก่อขึ้นเราจะหักพังลงเสีย, แลสิ่งซึ่งเราได้ปลูกลงแล้วเราจะถอนขึ้น, คือว่าประเทศนี้ทั้งหมด. แลเจ้าได้แสวงหาซึ่งของใหญ่สำหรับตัวหรือ, อย่าหาเลย.” บารุคเสียความสมดุล. เขาได้เริ่ม “แสวงหาซึ่งของใหญ่สำหรับตัว” ซึ่งอาจได้แก่ความมั่งคั่ง, ความเด่นดัง, หรือความมั่นคงทางวัตถุ. เนื่องจากพระยะโฮวาทรง ‘ถอนแม้กระทั่งประเทศนี้ทั้งหมด’ จะเป็นการฉลาดอะไรที่จะแสวงหาสิ่งเหล่านั้น? ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาทรงประทานข้อเตือนใจที่ให้สติว่า “เพราะนี่แน่ะ, เราจะนำความร้ายมาบนบรรดาเนื้อหนัง . . . แต่ชีวิตของเจ้าจะยกให้แก่เจ้าเป็นของปล้นสำหรับเจ้าในบรรดาตำบลที่เจ้าจะไปอยู่นั้น.” ทรัพย์สิ่งของฝ่ายวัตถุจะไม่รอดพ้นจากการทำลายกรุงยะรูซาเลม! พระยะโฮวาทรงรับรองเฉพาะแต่ความรอดแห่ง ‘ชีวิตของเขาซึ่งยกให้เป็นเหมือนของปล้น.’—ยิระมะยา 45:4, 5.
16. ไพร่พลพระยะโฮวาในปัจจุบันเรียนรู้บทเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ของบารุค?
16 บารุคเอาใจใส่การแก้ไขจากพระยะโฮวา และก็เป็นดังคำสัญญาของพระยะโฮวา บารุครอดชีวิต. (ยิระมะยา 43:6, 7) ช่างเป็นบทเรียนอันมีพลังอะไรเช่นนี้สำหรับไพร่พลพระยะโฮวาในทุกวันนี้! ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะ ‘แสวงหาซึ่งของใหญ่สำหรับตัวเราเอง.’ เพราะเหตุใด? เพราะ “โลกนี้กับความใคร่ของโลกกำลังผ่านพ้นไป.”—1 โยฮัน 2:17.
การใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
17, 18. (ก) โยนามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อชาวนีนะเวกลับใจ? (ข) พระยะโฮวาทรงสอนบทเรียนอะไรแก่โยนา?
17 ถ้าอย่างนั้น เราจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้โดยวิธีใด? จงเรียนจากประสบการณ์ของผู้พยากรณ์โยนา. ท่าน “ได้ไปยังกรุงนีนะเว . . . และท่านได้ร้องประกาศและกล่าวว่า, ‘อีกสี่สิบวันกรุงนีนะเวจะถูกทำลายให้พินาศไป.’” แล้วโยนาก็ต้องแปลกใจ เพราะชาวเมืองนีนะเวตอบรับข่าวสารที่ท่านประกาศและกลับใจ! พระยะโฮวาทรงเว้นเสียจากการทำลายเมืองนี้. ปฏิกิริยาของโยนาน่ะหรือ? “ข้าแต่พระยะโฮวา, บัดนี้ขอพระองค์ทรงเอาชีวิตของข้าพเจ้าไปเสียเถอะ, เพราะว่าข้าพเจ้าจะตายเสียก็ดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป.”—โยนา 3:3, 4; 4:3.
18 ตอนนั้นพระยะโฮวาจึงทรงสอนบทเรียนสำคัญแก่โยนา. พระองค์ “ทรงให้ต้นละหุ่งงอกขึ้นมา, ให้เป็นร่มศีรษะของท่านไว้ . . . โยนาจึงมีความปีติยินดีด้วยต้นละหุ่งเป็นอย่างยิ่ง.” แต่โยนายินดีอยู่ได้ไม่นาน เพราะไม่ทันไรต้นละหุ่งนั้นก็เหี่ยวเฉาไป. โยนารู้สึก “โกรธ” เนื่องด้วยความลำบากที่เกิดแก่ท่าน. พระยะโฮวาทรงเน้นอย่างตรงจุดโดยตรัสดังนี้: “ตัวเจ้ายังเสียดายต้นละหุ่ง . . . อันตัวเราจะไม่อาลัยนีนะเวกรุงใหญ่นั้นซึ่งมีพลเมืองมากกว่าแสนสองหมื่นคน, เป็นผู้ไม่รู้เดียงสาว่าข้างไหนเป็นมือขวามือซ้าย, รวมทั้งสัตว์เดียรัจฉานเป็นอันมากด้วย, อย่างนั้นหรือ?”—โยนา 4:6, 7, 9-11.
19. แนวคิดแบบเห็นแก่ตัวอะไรที่เราควรหลีกเลี่ยง?
19 การหาเหตุผลของโยนานั้นช่างเห็นแก่ตัวจริง ๆ! ท่านเสียดายต้นละหุ่งต้นหนึ่ง แต่ไม่รู้สึกสงสารสักนิดต่อชาวเมืองนีนะเว—ซึ่งพูดกันทางฝ่ายวิญญาณแล้ว เป็นประชาชนซึ่ง “ไม่รู้เดียงสาว่าข้างไหนเป็นมือขวามือซ้าย.” เราก็เช่นกันอาจปรารถนาอย่างยิ่งให้โลกชั่วนี้ถูกทำลายซึ่งก็เป็นเรื่องสมควร! (2 เธซะโลนิเก 1:8) อย่างไรก็ตาม ขณะที่รออยู่นี้เรามีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยผู้คนที่มีหัวใจสุจริต ซึ่งหากกล่าวในทางฝ่ายวิญญาณแล้ว เป็นผู้ที่ “ไม่รู้เดียงสาว่าข้างไหนเป็นมือขวามือซ้าย.” (มัดธาย 9:36; โรม 10:13-15) คุณจะใช้เวลาที่ยังเหลืออยู่เพียงน้อยนิดนี้เพื่อช่วยคนมากเท่าที่จะมากได้ให้ได้รับความรู้อันมีค่าเกี่ยวด้วยพระยะโฮวาไหม? งานอะไรที่อาจยังความยินดีมากเหมือนกับการช่วยคนให้ได้ชีวิต?
การดำเนินชีวิตต่อไปโดย “มีสุขภาพจิตดี”
20, 21. (ก) มีทางใดบ้างที่เราสามารถแสดงความ “มีสุขภาพจิตดี” ในช่วงเวลาต่อจากนี้? (ข) การดำเนินชีวิตโดย “มีสุขภาพจิตดี” จะยังผลเป็นพระพรอะไรบ้าง?
20 ขณะที่ระบบของซาตานยังคงดิ่งไปสู่การทำลายล้าง เราย่อมต้องเผชิญข้อท้าทายใหม่ ๆ. สองติโมเธียว 3:13 (ล.ม.) พยากรณ์ไว้ว่า “คนชั่วและเจ้าเล่ห์จะกำเริบชั่วร้ายมากยิ่งขึ้น.” แต่อย่าได้ “เบื่อระอาและปล่อยตัวหยุดกลางคัน.” (เฮ็บราย 12:3, ล.ม.) จงหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อได้ความเข้มแข็ง. (ฟิลิปปอย 4:13) จงเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่น ปรับตัวเพื่อรับสภาพการณ์ที่แย่ลงเรื่อย ๆ แทนที่จะยึดติดอยู่กับอดีต. (ท่านผู้ประกาศ 7:10) จงใช้สติปัญญาที่ใช้ได้จริง ก้าวให้ทันการชี้แนะจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.”—มัดธาย 24:45-47, ล.ม.
21 เราไม่ทราบว่าเวลายังเหลืออยู่อีกเท่าไร. กระนั้น เรากล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า “อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว.” จนกว่าอวสานจะมาถึง ให้เราดำเนินชีวิตโดย “มีสุขภาพจิตดี” ในการติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้อื่น, ในวิธีที่เราเอาใจใส่ครอบครัวของเรา, และในหน้าที่รับผิดชอบของเราฝ่ายโลก. โดยการทำเช่นนั้น เราทุกคนก็จะมั่นใจได้ว่าในที่สุดเราจะถูกพบว่า “ปราศจากด่างพร้อยและมลทิน และมีสันติสุข”!—2 เปโตร 3:14, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐหลายคนทำประกันสุขภาพแม้ว่าอาจจะแพง. ครอบครัวพยานฯ บางครอบครัวพบว่าหมอบางคนเต็มใจพิจารณาการรักษาแบบไม่ใช้เลือดมากกว่าเมื่อครอบครัวมีประกัน. แพทย์หลายคนยอมรับค่ารักษาในวงเงินที่บริษัทประกันหรือรัฐบาลสามารถจ่ายให้ได้สำหรับการประกันสุขภาพ.
b เรื่องที่ใครจะเลือกเรียนที่บ้านหรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจส่วนตัว. ดูบทความเรื่อง “การเรียนที่บ้าน—เหมาะสำหรับคุณไหม?” ซึ่งลงใน ตื่นเถิด! 8 เมษายน 1993 (ภาษาอังกฤษ).
จุดต่าง ๆ เพื่อทบทวน
▫ เราจะแสดงความ “มีสุขภาพจิตดี” ในสัมพันธภาพส่วนตัวของเราได้อย่างไร?
▫ เราจะแสดงความสมดุลในการเอาใจใส่ในหน้าที่รับผิดชอบของเราต่อครอบครัวอย่างไร?
▫ เหตุใดบิดามารดาต้องสนใจในการศึกษาฝ่ายโลกของลูก?
▫ เราได้บทเรียนอะไรจากบารุคและโยนา?
[รูปภาพหน้า 18]
เมื่อสามีและภรรยาปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งสองก็บ่อนทำลายสัมพันธภาพของตนกับพระยะโฮวา
[รูปภาพหน้า 20]
บิดามารดาควรสนใจในเรื่องการศึกษาของลูก