จงแสดงความรักและนับถือโดยควบคุมลิ้นของคุณ
“ให้พวกท่านทุกคนต่างก็รักภรรยาของตนเหมือนรักตัวเอง; ส่วนภรรยาก็ควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามี.”—เอเฟโซ 5:33, ล.ม.
1, 2. คนที่สมรสแล้วทุกคนควรถามตัวเองด้วยคำถามสำคัญอะไร และเพราะเหตุใด?
สมมุติว่าคุณได้รับของขวัญห่อหนึ่งซึ่งมีป้ายติดไว้ว่า “โปรดจับต้องด้วยความระมัดระวัง.” คุณจะจับจะถือห่อของขวัญนั้นอย่างไร? แน่ล่ะ คุณคงจะระวังอย่างยิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ของขวัญนั้นเสียหาย. จะว่าอย่างไรสำหรับของประทานแห่งการสมรส?
2 นาอะมี แม่ม่ายชาวอิสราเอล กล่าวกับอะระฟาและรูธซึ่งยังสาวว่า “ขอพระยะโฮวาทรงโปรดแก่เจ้าให้ต่างคนต่างมีที่อยู่ในเรือนของสามี.” (ประวัตินางรูธ 1:3-9) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงภรรยาที่ดีดังนี้: “บ้านเรือนและทรัพย์สมบัติเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ; แต่ภรรยาที่เฉลียวฉลาดมาจากพระยะโฮวา.” (สุภาษิต 19:14) หากคุณสมรสแล้ว คุณต้องถือว่าคู่ของคุณเป็นของขวัญจากพระเจ้า. คุณกำลังปฏิบัติอย่างไรต่อของขวัญที่พระเจ้าได้ประทานแก่คุณ?
3. เปาโลให้คำแนะเตือนอะไรที่สามีและภรรยาควรเอาใจใส่?
3 เมื่อเขียนถึงคริสเตียนในศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ให้พวกท่านทุกคนต่างก็รักภรรยาของตนเหมือนรักตัวเอง; ส่วนภรรยาก็ควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามี.” (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.) ขอให้พิจารณาว่าสามีและภรรยาจะเอาใจใส่คำแนะเตือนนี้อย่างไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำพูด.
จงระวัง ‘สิ่งที่บังคับไม่อยู่ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย’
4. ลิ้นอาจเป็นพลังโน้มนำที่ดีหรือไม่ดีได้อย่างไร?
4 ยาโกโบผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ลิ้นเป็น “สิ่งที่บังคับไม่อยู่ ก่อให้เกิดความเสียหาย” ซึ่ง “เต็มด้วยพิษร้ายที่จะทำให้ถึงตาย.” (ยาโกโบ 3:8, ล.ม.) ยาโกโบตระหนักถึงความจริงที่สำคัญข้อนี้: ลิ้นที่บังคับไม่อยู่สร้างความเสียหายได้มาก. ไม่ต้องสงสัย ท่านคุ้นเคยกับสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลที่เปรียบคำพูดแบบไม่ยั้งคิดว่าเหมือนกับ “การแทงของกระบี่.” ในทางตรงกันข้าม สุภาษิตข้อเดียวกันนี้กล่าวว่า “ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” (สุภาษิต 12:18) จริงทีเดียว คำพูดอาจก่อผลกระทบที่มีพลัง. คำพูดอาจทำให้เจ็บปวด หรืออาจช่วยเยียวยารักษาก็ได้. คำพูดของคุณก่อผลเช่นไรต่อคู่สมรสของคุณ? หากคุณถามคู่ของคุณ เขาจะตอบอย่างไร?
5, 6. ปัจจัยใดบ้างทำให้เป็นเรื่องยากที่บางคนจะยับยั้งลิ้นของตน?
5 หากคำพูดที่ก่อผลเสียหายค่อย ๆ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตสมรสของคุณ คุณสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้. อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องอาศัยความพยายาม. เพราะเหตุใด? เหตุผลอย่างหนึ่งคือ คุณต้องสู้กับเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์. บาปที่เป็นมรดกตกทอดมีอิทธิพลที่ไม่ดีต่อวิธีที่เราคิดและพูดกับคนอื่น. ยาโกโบเขียนว่า “ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งในวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์ สามารถเหนี่ยวรั้งทั้งร่างกายของตนได้ด้วย.”—ยาโกโบ 3:2, ล.ม.
6 นอกจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์เราแล้ว ภูมิหลังด้านครอบครัวก็มีส่วนด้วยที่ทำให้บางคนใช้ลิ้นอย่างไม่ถูกต้อง. บางคนถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่พ่อแม่ “ไม่ยอมตกลงกัน, . . . ไม่มีการควบคุมตนเอง, ดุร้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1-3, ล.ม.) บ่อยครั้ง เด็ก ๆ ที่เติบโตในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นก็จะมีลักษณะนิสัยคล้าย ๆ กันนั้นเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่. แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมบูรณ์หรือการฝึกอบรมที่บกพร่องก็ไม่อาจใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับคำพูดที่ก่อผลเสียหาย. แต่การตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้ช่วยเราให้เข้าใจว่าทำไมการยับยั้งลิ้นไม่ให้พูดสิ่งที่ก่อผลเสียหายเป็นเรื่องยากเป็นพิเศษสำหรับบางคน.
‘จงถอดทิ้งการนินทาว่าร้าย’
7. เปโตรหมายถึงอะไรเมื่อท่านแนะเตือนคริสเตียนให้ “ถอดทิ้ง . . . การนินทาว่าร้ายทุกอย่าง”?
7 ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ การใช้คำพูดที่ก่อผลเสียหายในชีวิตสมรสอาจบ่งบอกว่าคนที่พูดอย่างนั้นขาดความรักและความนับถือต่อคู่ของตน. ด้วยเหตุผลที่ดี เปโตรแนะเตือนคริสเตียนให้ “ถอดทิ้ง . . . การนินทาว่าร้ายทุกอย่าง.” (1 เปโตร 2:1, ล.ม.) คำภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “การนินทาว่าร้าย” หมายถึง “คำพูดที่แสดงการดูถูก.” คำนี้สื่อให้คิดถึง ‘การยิงด้วยคำพูด.’ ช่างพรรณนาให้เห็นผลของลิ้นที่บังคับไม่อยู่ได้ดีจริง ๆ!
8, 9. การใช้คำพูดดูถูกอาจก่อผลเช่นไร และเหตุใดคู่สมรสควรหลีกเลี่ยงการพูดอย่างนั้น?
8 คำพูดที่แสดงการดูถูกอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรงอะไรนัก แต่ขอให้พิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อสามีหรือภรรยาใช้คำพูดเช่นนั้น. การเรียกคู่ของตนว่าโง่, ขี้เกียจ, หรือเห็นแก่ตัวเป็นการพูดเป็นนัย ๆ ว่าลักษณะทั้งหมดของอีกฝ่ายหนึ่งอาจสรุปได้ด้วยคำคำนั้น—คำที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติ! นั่นเป็นการกระทำที่โหดร้ายอย่างแน่นอน. และจะว่าอย่างไรสำหรับคำพูดแบบเกินจริงที่เน้นข้อบกพร่องของคู่สมรส? คำพูดแบบนั้นอย่างเช่น “คุณน่ะสายเป็นประจำ เลย” หรือ “คุณไม่เคย ฟังฉันเลย” จริง ๆ แล้วเป็นคำพูดที่เกินจริงมิใช่หรือ? คำพูดเช่นนี้มักกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้เพื่อปกป้องตัวเอง. และผลที่ตามมาก็อาจได้แก่การทะเลาะถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน.—ยาโกโบ 3:5.
9 การสนทนาที่สอดแซมด้วยถ้อยคำดูถูกดูแคลนทำให้ชีวิตสมรสตึงเครียด และนั่นอาจก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงได้เช่นกัน. สุภาษิต 25:24 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “อยู่ที่มุมบนหลังคาเรือนดีกว่าอยู่ในเรือนร่วมกับหญิงขี้ทะเลาะ.” แน่นอน อาจพูดได้อย่างเดียวกันสำหรับสามีที่ชอบทะเลาะ. นานเข้า คำพูดที่เชือดเฉือนจากคู่สมรสไม่ว่าจะฝ่ายไหนย่อมจะเซาะกร่อนสายสัมพันธ์ อาจเป็นเหตุให้สามีหรือภรรยารู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่รักหรือตัวเองไม่คู่ควรที่เขาจะรัก. เห็นได้ชัด สำคัญที่จะยับยั้งลิ้น. แต่จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
‘เหนี่ยวรั้งลิ้นไว้’
10. เหตุใดจึงสำคัญที่จะควบคุมลิ้น?
10 ยาโกโบ 3:8 กล่าวว่า “ลิ้นนั้นไม่มีผู้ใดอาจทำให้เชื่องได้.” ถึงกระนั้น เช่นเดียวกับผู้ขี่ม้าใช้บังเหียนบังคับการเคลื่อนไหวของม้า เราควรพยายามให้ดีที่สุดในการควบคุมลิ้นของเรา. “ถ้าผู้ใดถือว่าตนเป็นผู้นมัสการตามแบบแผน และกระนั้นมิได้เหนี่ยวรั้งลิ้นของตน แต่ยังคงหลอกลวงหัวใจของตัวเองอยู่ต่อไป การนมัสการแบบที่ผู้นี้ได้กระทำก็ไร้ประโยชน์.” (ยาโกโบ 1:26, ล.ม.; 3:2, 3) ถ้อยคำดังกล่าวแสดงว่าวิธีที่คุณใช้ลิ้นเป็นเรื่องสำคัญ. เรื่องนี้มีผลกระทบไม่เพียงต่อสายสัมพันธ์ของคุณกับคู่สมรส แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงสายสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวาพระเจ้าเลยทีเดียว.—1 เปโตร 3:7.
11. อาจป้องกันอย่างไรเพื่อความไม่ลงรอยกันจะไม่ลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน?
11 นับว่าฉลาดที่จะเอาใจใส่วิธีที่คุณพูดกับคู่ของคุณ. หากสถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จงพยายามผ่อนคลายความตึงเครียด. ขอให้พิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของยิศฮาคกับภรรยา คือริบะคา ดังบันทึกที่เยเนซิศ 27:46–28:4. “นางริบะคาจึงบอกยิศฮาคว่า, ‘ฉันเบื่อหน่ายด้วยบุตรสาวชาติเฮธนั้น. ถ้าแม้นยาโคบจะรับบุตรสาวชาติเฮธคือหญิงชาวเมืองนี้เป็นภรรยาแล้ว, ฉันจะมีชีวิตต่อไปเป็นประโยชน์อะไรเล่า?’ ” ไม่มีอะไรที่ชี้ว่ายิศฮาคตอบด้วยคำพูดรุนแรง. แทนที่จะทำอย่างนั้น ท่านส่งยาโคบบุตรชายไปเพื่อจะได้พบกับภรรยาที่เกรงกลัวพระเจ้าซึ่งคงจะไม่ทำให้ริบะคาทุกข์ใจ. สมมุติว่าเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างสามีกับภรรยา. การเปลี่ยนคำพูดอย่างนุ่มนวลจากที่พุ่งเป้าไปยัง “คุณ” เปลี่ยนมาเป็น “ฉัน” อาจช่วยป้องกันไม่ให้ความไม่ลงรอยกันลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “คุณไม่เคยให้เวลาฉันเลย!” ลองเปลี่ยนมาพูดว่า “ฉันอยากให้เรามีเวลาทำอะไร ๆ ด้วยกันจังเลย” ก็น่าจะดีกว่ามิใช่หรือ? จงมุ่งสนใจปัญหา อย่าสนใจเพียงแค่บุคคล. จงต้านทานแนวโน้มที่จะวิเคราะห์ว่าใครผิดใครถูก. โรม 14:19 (ล.ม.) กล่าวว่า “ให้เรามุ่งทำสิ่งที่สร้างสันติสุขและสิ่งที่เสริมสร้างกัน.”
จงทิ้ง ‘ความขุ่นแค้น, ความโกรธ, และความเกรี้ยวกราด’
12. เพื่อควบคุมลิ้น เราควรอธิษฐานขออะไร และเพราะเหตุใด?
12 การยับยั้งลิ้นต้องทำไม่เพียงแค่คอยระวังคำพูดของเรา. ที่จริง คำพูดของเราเป็นผลิตผลที่มาจากหัวใจมากกว่าปาก. พระเยซูตรัสว่า “คนดีก็ย่อมเอาของดีออกจากคลังดีแห่งใจของตน, และคนชั่วก็ย่อมเอาของชั่วออกจากคลังชั่วแห่งใจของตน เพราะว่าใจเต็มบริบูรณ์อย่างไรปากก็พูดออกอย่างนั้น.” (ลูกา 6:45) ฉะนั้น เพื่อควบคุมลิ้น คุณอาจจำเป็นต้องอธิษฐานเหมือนดาวิด ดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงสร้างใจสะอาดภายในข้าพระองค์และฟื้นน้ำใจที่หนักแน่นขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 51:10, ฉบับแปลใหม่.
13. ความขุ่นแค้น, ความโกรธ, และความเกรี้ยวกราดอาจนำไปสู่การพูดไม่ดีได้อย่างไร?
13 เปาโลกระตุ้นชาวเอเฟโซส์ให้ทำไม่เพียงแต่หลีกเลี่ยงคำพูดที่ก่อความเสียหาย แต่ให้หักห้ามความรู้สึกที่เป็นแรงกระตุ้นอยู่เบื้องหลังด้วย. ท่านเขียนดังนี้: “จงให้สิ่งเหล่านี้ คือ ความขุ่นแค้น ความโกรธ ความเกรี้ยวกราด การตวาด คำพูดหยาบหยาม รวมทั้งความชั่วทุกอย่าง อยู่ห่างจากท่านทั้งหลายเถิด.” (เอเฟโซ 4:31, ล.ม.) โปรดสังเกตว่า ก่อนจะกล่าวถึง “การตวาด” และ “คำพูดหยาบหยาม” เปาโลกล่าวถึง ‘ความขุ่นแค้น, ความโกรธ, และความเกรี้ยวกราด.’ ความเดือดดาลที่เดือดปุด ๆ อยู่ภายในนั่นแหละซึ่งมีแนวโน้มที่จะระเบิดออกมาเป็นคำพูดที่ก่อผลเสียหายในที่สุด. ดังนั้น จงถามตัวเองว่า ‘ฉันเก็บความขมขื่นและความเกรี้ยวกราดไว้ในใจไหม? ฉันเป็นคน “เจ้าโทโส” ไหม?’ (สุภาษิต 29:22) หากคุณเป็นอย่างนั้น จงอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้เอาชนะแนวโน้มดังกล่าว และให้มีการบังคับตนเพื่อจะได้ไม่ปล่อยให้ความโกรธของคุณปะทุขึ้นมา. บทเพลงสรรเสริญ 4:4 (ล.ม.) กล่าวว่า “ขุ่นเคืองไปเถิด แต่อย่าทำบาป. พูดในใจ เมื่ออยู่บนเตียง และเงียบเสีย.” หากมีท่าว่าอารมณ์จะรุนแรงขึ้นมาและคุณกลัวว่าจะบังคับตัวเองไม่ได้ จงทำตามคำแนะนำของสุภาษิต 17:14 (ล.ม.) ที่ว่า “ก่อนที่จะเกิดการทะเลาะกัน จงหลบไปเสีย.” จงหลบไปจากสถานการณ์นั้นสักครู่หนึ่งก่อนจนกว่าอันตรายจะผ่านไป.
14. ความขุ่นเคืองใจอาจมีผลกระทบต่อสายสมรสได้อย่างไร?
14 ไม่ง่ายที่จะจัดการกับความโกรธจัดและความโกรธ โดยเฉพาะเมื่อความโกรธนั้นมีรากมาจากสิ่งที่เปาโลเรียกว่า “ความขุ่นแค้น.” มีการนิยามความหมายของคำภาษากรีกนี้ที่เปาโลใช้ว่าเป็น “น้ำใจขุ่นเคืองแบบที่ไม่ยอมคืนดี” และ ‘ความเคียดแค้นที่เก็บบันทึกความผิดเอาไว้.’ บางครั้ง ความเป็นปฏิปักษ์เป็นเหมือนหมอกหนาที่ขวางกั้นระหว่างสามีกับภรรยา และสภาพแบบนี้อาจคงอยู่เป็นเวลานาน. เมื่อไม่ได้แก้ความไม่พอใจให้หมดไปอย่างแท้จริง ก็อาจยังผลให้เกิดการดูถูกดูหมิ่นกันอย่างเย็นชา. แต่การเก็บความขุ่นเคืองเนื่องด้วยความผิดที่ผ่านไปแล้วให้คุกรุ่นอยู่ในใจเป็นเรื่องไร้ประโยชน์. สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้. ความผิดที่ได้ให้อภัยไปแล้วควรลืมเสีย. ความรัก “ไม่ช่างจดจำความผิด.”—1 โกรินโธ 13:4, 5.
15. อะไรจะช่วยคนที่ใช้คำพูดหยาบคายจนเคยปากให้เปลี่ยนวิธีพูด?
15 จะว่าอย่างไรหากคุณเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ใช้คำพูดหยาบคายและการใช้ภาษาแบบนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคุณ? คุณสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในเรื่องนี้. คุณได้วางข้อจำกัดสำหรับตัวเองมาแล้วในหลายขอบเขตของชีวิตที่คุณจะไม่ยอมให้ตัวเองทำแบบใดแบบหนึ่ง. คุณจะเลือกวางขอบเขตไว้ตรงไหนในเรื่องคำพูด? คุณจะหยุดพูดก่อนที่คำพูดของคุณจะกลายเป็นแบบที่ไม่น่าฟังไหม? คุณคงปรารถนาจะใช้ข้อจำกัดที่พรรณนาไว้ที่เอเฟโซ 4:29 (ฉบับแปล 2002) ที่ว่า “อย่าให้คำเลวร้ายออกจากปากของท่านทั้งหลาย.” เพื่อจะทำอย่างนั้นได้คุณต้อง “ถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่ากับกิจปฏิบัติต่าง ๆ ของมันเสียและสวมบุคลิกภาพใหม่ที่กำลังสร้างขึ้นใหม่ด้วยความรู้ถ่องแท้ตามแบบของพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างบุคลิกภาพใหม่นั้น.”—โกโลซาย 3:9, 10, ล.ม.
ต้องมี “การพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน”
16. เหตุใดการใช้วิธีนิ่งเงียบก่อความเสียหายแก่ชีวิตสมรส?
16 เมื่อสามีหรือภรรยาหันไปใช้วิธีนิ่งเงียบไม่พูดด้วย ก็ย่อมจะทำอะไรให้สำเร็จได้ยากและอาจก่อให้เกิดความเสียหาย. การนิ่งเงียบไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการลงโทษคู่ของตนเสมอไป เพราะอาจเกิดมาจากความคับข้องใจหรือความท้อแท้ก็ได้. ถึงกระนั้น การไม่ยอมคุยกันมีแต่จะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มทวีขึ้นไปอีก และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่. ดังที่ภรรยาคนหนึ่งได้กล่าวว่า “พอเราเริ่มคุยกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อไร เราไม่เคยคุยกันเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเลย.”
17. คริสเตียนควรทำอะไรเมื่อประสบความตึงเครียดในชีวิตสมรส?
17 เมื่อความตึงเครียดในชีวิตสมรสยืดเยื้อเป็นเวลานาน ก็ไม่มีทางจะแก้ได้ง่าย ๆ. สุภาษิต 15:22 (ล.ม.) กล่าวว่า “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่เมื่อมีที่ปรึกษาจำนวนมากก็มีความสำเร็จ.” คุณจำเป็นต้องนั่งลงด้วยกันกับคู่ของคุณและพูดคุยกันในเรื่องนั้น. ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จงฟังคู่ของคุณโดยปราศจากอคติ. หากดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะทำอย่างนั้น คุณก็น่าจะใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมที่ให้มีผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนมิใช่หรือ? พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์และมีประสบการณ์ในการใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิล. ชายเหล่านี้เป็น “เหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังจากพายุฝน.”—ยะซายา 32:2, ล.ม.
คุณสามารถเอาชนะได้
18. โรม 7:18-23 พรรณนาถึงการต่อสู้อะไร?
18 การควบคุมลิ้นของเราเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง. การควบคุมการกระทำของเราก็เป็นการต่อสู้ด้วยเช่นกัน. เปาโลเขียนพรรณนาข้อท้าทายที่ท่านเผชิญว่า “ในตัวของข้าพเจ้าไม่มีความดีประการใดอยู่เลย เพราะว่าเจตนาดีข้าพเจ้าก็มีอยู่แต่ซึ่งจะกระทำการดีนั้นข้าพเจ้าหาได้กระทำไม่ ด้วยว่าการดีนั้นซึ่งข้าพเจ้าปรารถนาทำข้าพเจ้าไม่ได้กระทำ แต่การชั่วซึ่งข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาทำข้าพเจ้ายังทำอยู่ ถ้าแม้ข้าพเจ้ายังทำสิ่งซึ่งข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะทำก็ไม่ใช่ตัวข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำ แต่บาปซึ่งอยู่ในตัวข้าพเจ้านั่นเองเป็นผู้กระทำ.” เพราะ “กฎแห่งบาปซึ่งอยู่ในกายของ [เรา]” เราจึงมีแนวโน้มที่จะใช้ลิ้นและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเราอย่างผิด ๆ. (โรม 7:18-23, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องสู้ และเราจะชนะได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า.
19, 20. ตัวอย่างของพระเยซูช่วยสามีและภรรยาได้อย่างไรให้ควบคุมลิ้นของตน?
19 ในความสัมพันธ์ที่มีความรักและนับถือกันอย่างเด่นชัด ต้องไม่มีการใช้คำพูดหยาบคายและไม่ยั้งคิด. ขอให้นึกถึงตัวอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงวางไว้ในเรื่องนี้. พระเยซูไม่เคยใช้คำพูดดูถูกเหล่าสาวก. แม้แต่ในคืนสุดท้ายที่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่บนแผ่นดินโลกเมื่อเหล่าอัครสาวกกำลังเถียงกันว่าใครในหมู่พวกเขาที่เป็นใหญ่ที่สุด พระบุตรของพระเจ้าไม่ได้ดุด่าพวกเขา. (ลูกา 22:24-27) คัมภีร์ไบเบิลแนะเตือนว่า “สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาของตนต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกับพระคริสต์ได้ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม.”—เอเฟโซ 5:25, ล.ม.
20 แต่จะว่าอย่างไรสำหรับภรรยา? เธอ ‘ควรนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง.’ (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.) ภรรยาที่นับถือสามีจะกรีดร้องใส่เขาและใช้คำพูดที่ไม่ดีไหม? เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า, พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:3) ภรรยาควรอยู่ใต้อำนาจประมุขของตนเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงอยู่ใต้อำนาจประมุขของพระองค์. (โกโลซาย 3:18) แม้มนุษย์ไม่สมบูรณ์ไม่สามารถเลียนแบบพระเยซูได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่การพยายาม “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด” จะช่วยสามีและภรรยาให้ชนะในการต่อสู้เพื่อจะไม่ใช้ลิ้นอย่างผิด ๆ.—1 เปโตร 2:21, ล.ม.
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
• ลิ้นที่บังคับไม่อยู่อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตสมรสได้อย่างไร?
• เหตุใดจึงยากที่จะควบคุมลิ้น?
• อะไรช่วยเราให้ควบคุมคำพูดของเรา?
• คุณควรทำอะไรเมื่อประสบความตึงเครียดในชีวิตสมรส?
[ภาพหน้า 24]
ผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือตามหลักคัมภีร์ไบเบิล