จงฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัส
“หูของเจ้าเองจะได้ยินถ้อยคำข้างหลังเจ้ากล่าวว่า ‘ทางนี้แหละ. เจ้าทั้งหลาย จงเดินในทางนี้เถิด’ ในกรณีที่เจ้าทั้งหลายจะไปทางขวาหรือในกรณีที่เจ้าทั้งหลายจะไปทางซ้าย.”—ยะซายา 30:21, ล.ม.
1, 2. ตลอดมาในประวัติศาสตร์ พระยะโฮวาทรงติดต่อกับมนุษย์อย่างไร?
ที่เกาะเปอร์โตริโก กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดและไวที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่นั่น. เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่นักวิทยาศาสตร์หวังกันว่าจะได้รับข่าวสารจากสิ่งมีชีวิตนอกพิภพโดยอาศัยเครื่องมือขนาดมหึมานี้. แต่ไม่เคยมีใครได้รับข่าวสารดังกล่าวเลย. ที่น่าขันคือ จริง ๆ แล้วมีข่าวสารชัดเจนจากภายนอกแดนมนุษย์ที่ใคร ๆ ในพวกเราก็สามารถรับได้ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม—โดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออันซับซ้อน. ข่าวสารดังกล่าวมาจากแหล่งที่สูงส่งกว่าสิ่งมีชีวิตนอกพิภพในจินตนาการใด ๆ. ใครเป็นแหล่งที่มาของการติดต่อที่ว่านี้ และใครกำลังรับข่าวสาร? ข่าวสารนั้นบอกเรื่องอะไร?
2 คัมภีร์ไบเบิลบันทึกเรื่องราวในหลายโอกาสเมื่อมีการส่งข่าวสารจากพระเจ้าในลักษณะที่หูมนุษย์สามารถได้ยิน. บางครั้ง มีการส่งข่าวสารเหล่านี้โดยกายวิญญาณที่รับใช้ในฐานะผู้ส่งข่าวของพระเจ้า. (เยเนซิศ 22:11, 15; ซะคาระยา 4:4, 5; ลูกา 1:26-28) มีอยู่สามครั้งที่มนุษย์ได้ยินพระสุรเสียงจากพระยะโฮวาเอง. (มัดธาย 3:17; 17:5; โยฮัน 12:28, 29) พระเจ้ายังได้ตรัสโดยทางผู้พยากรณ์ที่เป็นมนุษย์ด้วย โดยมีหลายคนเขียนสิ่งที่พระองค์ทรงดลใจให้พวกเขากล่าว. ปัจจุบัน เรามีคัมภีร์ไบเบิลซึ่งมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องราวการติดต่อเหล่านี้อยู่ในนั้นด้วย รวมไปถึงคำสอนของพระเยซูและเหล่าสาวกของพระองค์. (เฮ็บราย 1:1, 2) จริงทีเดียว พระยะโฮวาทรงถ่ายทอดข่าวสารความรู้ให้แก่สิ่งทรงสร้างของพระองค์ที่เป็นมนุษย์.
3. ข่าวสารของพระเจ้ามีจุดประสงค์อะไร และมีการคาดหมายอะไรจากเรา?
3 ข่าวสารเหล่านี้ทั้งหมดซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าเปิดเผยเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเอกภพ. ข่าวสารเหล่านี้มุ่งเน้นในเรื่องที่สำคัญกว่า ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตเราในขณะนี้และในอนาคต. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11; 1 ติโมเธียว 4:8) พระยะโฮวาทรงใช้ข่าวสารเหล่านี้เพื่อแจ้งให้เราทราบพระทัยประสงค์ของพระองค์และให้การนำทางแก่เรา. ข่าวสารเหล่านี้เป็นวิธีหนึ่งที่คำกล่าวของผู้พยากรณ์ยะซายากำลังสำเร็จเป็นจริงที่ว่า “หูของเจ้าเองจะได้ยินถ้อยคำข้างหลังเจ้ากล่าวว่า ‘ทางนี้แหละ. เจ้าทั้งหลาย จงเดินในทางนี้เถิด’ ในกรณีที่เจ้าทั้งหลายจะไปทางขวาหรือในกรณีที่เจ้าทั้งหลายจะไปทางซ้าย.” (ยะซายา 30:21, ล.ม.) พระยะโฮวาไม่ทรงบังคับเราให้ฟัง “ถ้อยคำ” ของพระองค์. เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเราว่าจะติดตามการชี้นำจากพระเจ้าและดำเนินตามทางของพระองค์หรือไม่. ด้วยเหตุผลนั้นเอง พระคัมภีร์เตือนสติเราให้ฟังการติดต่อจากพระยะโฮวา. ในพระธรรมวิวรณ์ มีคำกล่าวที่สนับสนุนให้ “ฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัส” ปรากฏอยู่เจ็ดครั้ง.—วิวรณ์ 2:7, 11, 17, 29; 3:6, 13, 22, ล.ม.
4. เป็นเรื่องสมเหตุผลไหมในสมัยของเรานี้ที่จะคาดหมายว่าพระเจ้าจะทรงติดต่อโดยตรงจากสวรรค์?
4 ปัจจุบัน พระยะโฮวามิได้ตรัสแก่เราโดยตรงจากแดนสวรรค์. แม้แต่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การติดต่อแบบเหนือธรรมชาติเป็นเหตุการณ์ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง บางครั้งห่างกันหลายศตวรรษ. ตลอดประวัติศาสตร์ พระยะโฮวาได้ติดต่อกับไพร่พลของพระองค์บ่อยที่สุดในทางอ้อม. ในสมัยของเราก็เป็นเช่นนี้ด้วย. ให้เรามาพิจารณาสามวิธีที่พระยะโฮวาทรงติดต่อกับเราในทุกวันนี้.
“พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจ”
5. เครื่องมือหลักที่พระยะโฮวาทรงใช้สำหรับการติดต่อในทุกวันนี้คืออะไร และเราจะรับประโยชน์จากเครื่องมือนี้ได้อย่างไร?
5 เครื่องมือหลักสำหรับการติดต่อระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์คือคัมภีร์ไบเบิล. คัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า และทุก ๆ สิ่งที่อยู่ในนั้นย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อเราทั้งสิ้น. (2 ติโมเธียว 3:16) คัมภีร์ไบเบิลเต็มไปด้วยตัวอย่างชีวิตจริงของผู้คนที่ใช้เจตจำนงเสรีของตนในการตัดสินใจว่าจะฟังพระสุรเสียงของพระยะโฮวาหรือไม่. ตัวอย่างเช่นนั้นเตือนใจเราว่าเหตุใดจึงสำคัญที่จะฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณของพระเจ้าตรัส. (1 โกรินโธ 10:11) คัมภีร์ไบเบิลยังบรรจุสติปัญญาที่ใช้การได้ ให้คำแนะนำแก่เราในยามที่เราเผชิญกับการตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิต. ทั้งนี้ประหนึ่งว่าพระเจ้าทรงอยู่ข้างหลังเรา ตรัสอยู่ข้าง ๆ หูของเราว่า “ทางนี้แหละ. . . . จงเดินในทางนี้เถิด.”
6. เหตุใดคัมภีร์ไบเบิลยอดเยี่ยมกว่าข้อเขียนอื่นใดทั้งหมดอย่างเทียบกันไม่ติด?
6 เพื่อจะฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัสทางหน้าหนังสือในคัมภีร์ไบเบิล เราต้องอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ. คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งในหลาย ๆ เล่มที่เป็นหนังสือเขียนดีซึ่งผู้คนนิยมอ่านกันในทุกวันนี้. คัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นโดยการดลใจโดยพระวิญญาณและบรรจุความคิดของพระเจ้า. เฮ็บราย 4:12 (ล.ม.) กล่าวว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง และคมกว่าดาบสองคม และแทงทะลุกระทั่งแยกจิตวิญญาณและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก ทั้งสามารถสังเกตเข้าใจความคิดและความมุ่งหมายแห่งหัวใจ.” เมื่อเราอ่านคัมภีร์ไบเบิล เนื้อหาของพระคัมภีร์เป็นเสมือนดาบที่แทงทะลุเข้าไปในความคิดและแรงกระตุ้นส่วนลึกของเรา เผยให้เห็นว่าชีวิตเราประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้ามากน้อยเพียงใด.
7. เหตุใดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลจึงสำคัญ และเราได้รับการสนับสนุนให้ทำอย่างนั้นบ่อยขนาดไหน?
7 “ความคิดและความมุ่งหมายแห่งหัวใจ” อาจเปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไปและเมื่อเราได้รับผลกระทบจากประสบการณ์ในชีวิต—ทั้งที่น่าชื่นชมและที่ยากลำบาก. หากเราไม่ได้ศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ ความคิด, เจตคติ, และอารมณ์ของเราจะไม่ประสานกับหลักการของพระเจ้าอีกต่อไป. ด้วยเหตุนั้น คัมภีร์ไบเบิลเตือนสติเราว่า “จงตรวจสอบอยู่เสมอ ว่าท่านทั้งหลายอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงพิสูจน์ให้เห็นเสมอ ว่าตัวท่านเป็นเช่นไร.” (2 โกรินโธ 13:5, ล.ม.) หากเราปรารถนาจะฟังสิ่งที่พระวิญญาณตรัสต่อ ๆ ไป เราควรเอาใจใส่คำแนะนำที่ให้อ่านพระคำของพระเจ้าทุก ๆ วัน.—บทเพลงสรรเสริญ 1:2.
8. คำพูดอะไรของอัครสาวกเปาโลช่วยให้ตรวจสอบตัวเราเองในเรื่องการอ่านคัมภีร์ไบเบิล?
8 ข้อเตือนใจสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลคือ: จงให้เวลามากพอที่จะซึมซับสิ่งที่คุณได้อ่าน! ในการพยายามทำตามคำแนะนำให้อ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน เราคงไม่อยากพบว่าเราเองรีบอ่านแบบผ่าน ๆ ให้ได้หลาย ๆ บทโดยไม่เข้าใจความหมายของเรื่องที่เราอ่าน. แม้ว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำนั้นสำคัญ แต่แรงจูงใจของเราไม่ควรเป็นแต่เพียงให้ทันตารางการอ่าน; เราควรมีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์. ในเรื่องนี้ เราควรใช้คำพูดของอัครสาวกเปาโลเพื่อตรวจสอบตัวเอง. ท่านเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “ข้าพเจ้าจึงคุกเข่าลงคำนับพระบิดา ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่ท่านทั้งหลาย . . . เพื่อพระคริสต์จะได้สถิตในใจของท่านทั้งหลายโดยความเชื่อเพื่อเมื่อท่านทั้งหลายได้วางรากลงมั่นคงแล้วในความรัก, ท่านจะได้มีความสามารถที่จะรู้พร้อมกับสิทธชนทั้งหมดว่า, อะไรเป็นความกว้าง, อะไรเป็นความยาว, อะไรเป็นความสูง, อะไรเป็นความลึก, และให้รู้จักความรักของพระคริสต์ซึ่งเกินความรู้, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รับความบริบูรณ์ของพระเจ้าเต็มเปี่ยม.”—เอเฟโซ 3:14, 16-19.
9. เราจะปลูกฝังและพัฒนาความปรารถนาที่จะเรียนจากพระยะโฮวาให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร?
9 เป็นความจริงที่ว่า บางคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ในขณะที่บางคนเป็นนักอ่าน. แต่ไม่ว่านิสัยของเราแต่ละคนเป็นอย่างไร เราสามารถปลูกฝังและพัฒนาความปรารถนาที่จะเรียนจากพระยะโฮวาให้มากขึ้น. อัครสาวกเปโตรอธิบายว่าเราควรมีความปรารถนาที่จะรับเอาความรู้จากคัมภีร์ไบเบิล และท่านยอมรับว่าความปรารถนาเช่นนั้นอาจจำเป็นต้องพัฒนาขึ้น. ท่านเขียนว่า “ดุจดังทารกที่เพิ่งคลอด จงปลูกฝังความปรารถนา จะได้น้ำนมอันไม่มีอะไรเจือปนที่เป็นของพระคำ เพื่อโดยน้ำนมนั้น ท่านทั้งหลายจะเติบโตถึงความรอด.” (1 เปโตร 2:2, ล.ม.) การใช้วินัยกับตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นหากเราต้องการจะ “ปลูกฝังความปรารถนา” ในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เช่นเดียวกับที่เราอาจพัฒนาความชอบต่ออาหารชนิดใหม่หลังจากได้ลิ้มชิมรสหลาย ๆ ครั้ง เจตคติของเราต่อการอ่านและการศึกษาก็อาจเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้หากเราใช้วินัยกับตัวเองเพื่อจะปฏิบัติตามกิจวัตรประจำ.
‘อาหารตามเวลาอันควร’
10. ใครประกอบกันเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และพระยะโฮวาทรงใช้พวกเขาอย่างไรในทุกวันนี้?
10 พระเยซูทรงระบุอีกร่องทางหนึ่งซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้เพื่อตรัสแก่เราในทุกวันนี้ที่มัดธาย 24:45-47 (ล.ม.). ที่นั่น พระองค์ตรัสถึงประชาคมคริสเตียนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ—“ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้จัดเตรียม ‘อาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาอันควร.’ ในฐานะปัจเจกบุคคล สมาชิกของชนดังกล่าวนี้เป็น “คนรับใช้ทั้งหลาย” ของพระเยซู. คนเหล่านี้พร้อมกับ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ได้รับการหนุนกำลังใจและการชี้นำ. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) อาหารตามเวลาอันควรนี้ส่วนมากมาในรูปสิ่งพิมพ์ เช่น หอสังเกตการณ์, ตื่นเถิด!, และหนังสืออื่น ๆ. นอกจากนี้ก็ยังมีอาหารฝ่ายวิญญาณที่แจกจ่ายให้ในรูปคำบรรยายและการสาธิต ณ การประชุมภาค, การประชุมหมวด, และการประชุมประชาคม.
11. เราพิสูจน์โดยวิธีใดว่าเราตอบรับสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัสทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”?
11 ข้อมูลซึ่งจัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” มุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเชื่อและฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจของเรา. (เฮ็บราย 5:14) คำแนะนำเช่นนั้นอาจกล่าวในลักษณะทั่วไปเพื่อให้แต่ละคนสามารถปรับใช้เป็นส่วนตัวได้. เป็นครั้งคราว เราได้รับคำแนะนำที่เกี่ยวกับแง่มุมเฉพาะของความประพฤติของเราด้วย. เราควรมีเจตคติเช่นไรหากเรากำลังฟังจริง ๆ ถึงสิ่งที่พระวิญญาณตรัสทางชนจำพวกทาส? อัครสาวกเปาโลตอบว่า “จงเชื่อฟังคนเหล่านั้นซึ่งนำหน้าในท่ามกลางท่านทั้งหลายและจงอยู่ใต้อำนาจ.” (เฮ็บราย 13:17, ล.ม.) จริงอยู่ ทุกคนที่มีส่วนในการจัดเตรียมนี้เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงยินดีที่จะใช้ผู้รับใช้ที่เป็นมนุษย์ แม้ว่าไม่สมบูรณ์ ให้ชี้นำเราในเวลาอวสานนี้.
การชี้นำจากสติรู้สึกผิดชอบของเรา
12, 13. (ก) พระยะโฮวาทรงให้การชี้นำแก่เราด้วยแหล่งใดอีก? (ข) สติรู้สึกผิดชอบสามารถเป็นแรงชักจูงในทางดีเช่นไรแม้แต่ต่อคนที่ไม่ได้มีความรู้ถ่องแท้แห่งพระคำของพระเจ้า?
12 พระยะโฮวาได้ประทานการชี้นำแก่เราอีกแหล่งหนึ่ง—สติรู้สึกผิดชอบของเรา. พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในส่วนลึก. นั่นเป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมชาติของมนุษย์เรา. ในจดหมายถึงผู้ที่อยู่ในกรุงโรม อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า “เมื่อพวกต่างประเทศซึ่งไม่มีพระบัญญัติก็ได้ประพฤติตามพระบัญญัติโดยธรรมชาติ คนเหล่านั้นแม้ไม่มีพระบัญญัติก็เป็นบัญญัติแก่ตัวเอง. เขาเหล่านั้นเป็นผู้ซึ่งสำแดงการที่กฎหมายเขียนไว้ในหัวใจของเขา ขณะที่สติรู้สึกผิดชอบของเขาเป็นพยานด้วยกันกับเขา และโดยความคิดทั้งหลายของเขาเอง เขาก็ได้รับการกล่าวหา หรือการแก้ตัว.”—โรม 2:14, 15, ล.ม.
13 หลายคนที่ไม่รู้จักพระยะโฮวาสามารถโน้มนำความคิดและการกระทำของตนให้เข้าประสานในระดับหนึ่งกับหลักการของพระเจ้าเกี่ยวกับความผิดถูก. ทั้งนี้ราวกับว่าพวกเขากำลังได้ยินเสียงแผ่ว ๆ จากภายในซึ่งชี้ทิศทางที่ถูกต้องแก่เขา. หากนี่เป็นความจริงกับคนที่ไม่มีความรู้ถ่องแท้ในพระคำของพระเจ้า เสียงจากภายในก็น่าจะบอกคริสเตียนแท้ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด! แน่นอน สติรู้สึกผิดชอบของคริสเตียนซึ่งได้รับการขัดเกลาโดยความรู้ถ่องแท้แห่งพระคำของพระเจ้าและทำงานประสานกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาสามารถให้การชี้นำที่ไว้ใจได้.—โรม 9:1.
14. สติรู้สึกผิดชอบซึ่งได้รับการฝึกตามหลักคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้ติดตามการชี้นำจากพระวิญญาณของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
14 สติรู้สึกผิดชอบที่ดี ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากคัมภีร์ไบเบิล สามารถเตือนใจเราถึงแนวทางที่พระวิญญาณประสงค์ให้เราเดิน. อาจมีบางครั้งที่ไม่มีคำอธิบายโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะในพระคัมภีร์หรือสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิล เกี่ยวกับสถานการณ์เฉพาะอย่างซึ่งเราอาจประสบด้วยตัวเอง. ถึงกระนั้น สติรู้สึกผิดชอบของเราอาจส่งเสียงเตือนให้เราระวังแนวทางที่อาจก่อผลเสียหาย. ในกรณีเช่นนั้น การเพิกเฉยต่อคำสั่งของสติรู้สึกผิดชอบของเราอาจเท่ากับการเพิกเฉยต่อสิ่งซึ่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาตรัส. ในอีกด้านหนึ่ง โดยเรียนรู้ที่จะไว้วางใจสติรู้สึกผิดชอบแบบคริสเตียนของเราซึ่งได้รับการฝึกอบรม เราอาจทำการเลือกอย่างสุขุมแม้แต่เมื่อไม่มีคำชี้แนะโดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษร. อย่างไรก็ตาม สำคัญที่จะจำไว้ว่า เมื่อไม่มีหลักการ, กฎ, หรือกฎหมายของพระเจ้า ย่อมไม่ถูกต้องที่จะเรียกร้องเพื่อนคริสเตียนให้ปฏิบัติตามสติรู้สึกผิดชอบของเราเองในกรณีที่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว.—โรม 14:1-4; ฆะลาเตีย 6:5.
15, 16. อะไรอาจทำให้สติรู้สึกผิดชอบของเราทำงานผิดพลาด และเราจะป้องกันไม่ให้เกิดเช่นนั้นได้อย่างไร?
15 สติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดซึ่งได้รับการฝึกอบรมตามหลักคัมภีร์ไบเบิลเป็นของประทานอันดีอย่างหนึ่งจากพระเจ้า. (ยาโกโบ 1:17) แต่เราต้องป้องกันรักษาของประทานนี้ไว้จากอิทธิพลที่ทำให้เสื่อมทราม เพื่อให้สติรู้สึกผิดชอบของเราทำงานอย่างถูกต้องในฐานะเครื่องมือเพื่อความปลอดภัยทางศีลธรรม. หากเราติดตามธรรมเนียม, ประเพณี, และรูปแบบการประพฤติที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นซึ่งขัดกับมาตรฐานของพระเจ้า สิ่งเหล่านี้อาจทำให้สติรู้สึกผิดชอบของเราทำงานผิดพลาดและไม่กระตุ้นเตือนเราให้ดำเนินในทางที่ถูกต้อง. เราอาจจะไม่สามารถตัดสินเรื่องราวได้อย่างถูกต้องและอาจถึงกับหลอกตัวเองให้เชื่อว่าการกระทำที่ไม่ดีบางอย่างนั้นจริง ๆ แล้วเป็นสิ่งดี.—เทียบกับโยฮัน 16:2.
16 หากเราเพิกเฉยต่อคำเตือนของสติรู้สึกผิดชอบของเราอยู่เรื่อย ๆ เสียงของสติรู้สึกผิดชอบก็จะค่อย ๆ เบาลงจนเราด้านชาทางศีลธรรมหรือไม่รู้สึกผิดอีกต่อไป. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงคนเช่นนั้นเมื่อท่านกล่าวว่า “จิตต์ใจคนเหล่านั้นอิ่มหมีพีมัน [“ปราศจากความรู้สึก,” ล.ม.] เหมือนน้ำมันข้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:70) บางคนที่เพิกเฉยต่อการกระตุ้นของสติรู้สึกผิดชอบของตนสูญเสียความสามารถในการคิดอย่างถูกต้อง. พวกเขาไม่ได้รับการนำทางจากหลักการของพระเจ้าอีกต่อไปและไม่สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้อง. เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพเช่นนั้น เราควรไวต่อการชี้นำของสติรู้สึกผิดชอบแบบคริสเตียนของเรา แม้ว่าเรื่องที่สงสัยนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม.—ลูกา 16:10.
ความสุขมีแก่คนที่รับฟังและเชื่อฟัง
17. เมื่อเราฟัง ‘ถ้อยคำที่อยู่ข้างหลังเรา’ และเอาใจใส่สติรู้สึกผิดชอบของเราซึ่งได้รับการฝึกฝนตามหลักคัมภีร์ไบเบิล เราจะได้รับพระพรอย่างไร?
17 เมื่อเราได้สร้างแบบแผนในการฟัง ‘ถ้อยคำที่อยู่ข้างหลังเรา’—ซึ่งจัดให้ทางพระคัมภีร์และทาสสัตย์ซื่อและสุขุม—และเมื่อเราเอาใจใส่ข้อเตือนใจจากสติรู้สึกผิดชอบซึ่งได้รับการฝึกฝนจากคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาจะทรงอวยพรเราด้วยพระวิญญาณของพระองค์. พระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยอีกต่อหนึ่งให้เรามีความสามารถที่จะรับและเข้าใจสิ่งที่พระยะโฮวาทรงบอกเรา.
18, 19. การนำทางของพระยะโฮวาให้ประโยชน์แก่เราได้อย่างไรทั้งในงานรับใช้และชีวิตส่วนตัวของเรา?
18 นอกจากนั้น พระวิญญาณของพระยะโฮวาจะช่วยเราให้กล้าเผชิญสถานการณ์ลำบากด้วยสติปัญญาและความกล้าหาญ. เช่นเดียวกับกรณีของเหล่าอัครสาวก พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถกระตุ้นพลังความคิดของเราและช่วยเราให้ทำและพูดสอดคล้องกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิลเสมอ. (มัดธาย 10:18-20; โยฮัน 14:26; กิจการ 4:5-8, 13, 31; 15:28) พระวิญญาณของพระยะโฮวาประกอบกับความพยายามในส่วนของเราเองจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จเมื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิต ทำให้เรามีความกล้าหาญที่จะทำตามการตัดสินใจเหล่านั้นจนสำเร็จลุล่วง. ตัวอย่างเช่น คุณอาจกำลังพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนแบบชีวิตของคุณเพื่อจะมีเวลามากขึ้นสำหรับสิ่งฝ่ายวิญญาณ. หรือคุณอาจเผชิญกับการเลือกครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณ อย่างเช่นการเลือกคู่ครอง, การชั่งดูผลได้ผลเสียของข้อเสนอให้ทำงานอย่างหนึ่ง, หรือการซื้อบ้าน. แทนที่จะปล่อยให้อารมณ์ของมนุษย์เป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียวในการตัดสินใจของเรา เราควรฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณของพระเจ้าตรัสแล้วก็ทำอย่างที่สอดคล้องกับการชี้นำของพระวิญญาณ.
19 เราหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อข้อเตือนใจและคำแนะนำด้วยความกรุณาซึ่งเราได้รับจากเพื่อนคริสเตียน รวมทั้งจากผู้ปกครอง. อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องรอให้คนอื่นมาชี้ให้เราเห็นเสมอไป. หากเราทราบแนวทางที่สุขุมและทราบว่าเราจำต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้างในเจตคติและการกระทำของเราเพื่อให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า จงให้เราทำตามนั้น. พระเยซูตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว หากเจ้าประพฤติตาม เจ้าก็เป็นสุข.”—โยฮัน 13:17, ล.ม.
20. พระพรอะไรมีแก่คนที่ฟัง ‘ถ้อยคำที่อยู่ข้างหลังเขา’?
20 เห็นได้ชัด เพื่อที่จะทราบวิธีทำให้พระเจ้าพอพระทัย คริสเตียนไม่จำเป็นต้องได้ยินพระสุรเสียงจากสวรรค์จริง ๆ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีทูตสวรรค์มาเยี่ยม. พวกเขาได้รับพระพรโดยมีพระคำของพระเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษรและการชี้นำด้วยความรักโดยทางชนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลกนี้. หากพวกเขาเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อ ‘ถ้อยคำที่อยู่ข้างหลังเขา’ และติดตามการชี้นำของสติรู้สึกผิดชอบของตนซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากคัมภีร์ไบเบิล เขาจะประสบผลสำเร็จในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจะเห็นว่าคำสัญญาของอัครสาวกโยฮันสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอนที่ว่า “ผู้ที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะดำรงอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์.”—1 โยฮัน 2:17, ล.ม.
ทบทวนสั้น ๆ
• เหตุใดพระยะโฮวาทรงติดต่อกับสิ่งทรงสร้างที่เป็นมนุษย์?
• เราจะได้รับประโยชน์จากกำหนดการสำหรับการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำได้อย่างไร?
• เราควรตอบรับต่อการนำทางจากชนจำพวกทาสอย่างไร?
• เหตุใดเราไม่ควรเพิกเฉยต่อคำสั่งของสติรู้สึกผิดชอบซึ่งได้รับการฝึกอบรมตามหลักคัมภีร์ไบเบิล?
[ภาพหน้า 13]
มนุษย์ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออันซับซ้อนเพื่อรับข่าวสารจากพระเจ้า
[ที่มาของภาพ]
Courtesy Arecibo Observatory/David Parker/Science Photo Library
[ภาพหน้า 15]
พระยะโฮวาตรัสแก่เราทางคัมภีร์ไบเบิลและโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”