“พวกเราอยากไปกับคุณ”
“พวกเราอยากไปกับคุณ เพราะพวกเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับพวกคุณ”—ซคา. 8:23, ล.ม.
1, 2. (ก) ในสมัยของเรา มีอะไรเกิดขึ้นตามที่พระยะโฮวาบอกไว้? (ข) จะมีการตอบคำถามอะไรในบทความนี้? (ดูภาพแรก)
พระยะโฮวาบอกไว้ว่า ในสมัยของเรา “จะมี 10 คนจากทุกชาติทุกภาษามาจับชายเสื้อชาวยิวคนหนึ่งไว้แน่น และบอกว่า ‘พวกเราอยากไปกับคุณ เพราะพวกเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับพวกคุณ’” (ซคา. 8:23, ล.ม.) ชาวยิวที่อ้างถึงในข้อคัมภีร์นี้หมายถึงพวกคนที่ถูกเจิมโดยพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า ยังมีการเรียกพวกเขาว่า “อิสราเอลของพระเจ้า” (กลา. 6:16) ส่วนคน 10 คนหมายถึงพวกคนที่มีความหวังจะอยู่ตลอดไปบนโลก คนเหล่านี้รู้ดีว่าพระเจ้าอวยพรพวกพี่น้องผู้ถูกเจิม พวกเขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับใช้พระเจ้าร่วมกับพวกผู้ถูกเจิม
2 เหมือนกับที่ผู้พยากรณ์ซะคาระยาบอกไว้ พระเยซูก็บอกด้วยว่าประชาชนของพระเจ้าจะรับใช้อย่างเป็นหนึ่งเดียว ท่านให้ภาพของคนที่มีความหวังจะไปสวรรค์ว่าเป็น “แกะฝูงน้อย” และคนที่รอคอยจะอยู่ในโลกตลอดไปว่าเป็น “แกะอื่น” แต่ไม่เพียงแค่นั้น พระเยซูยังบอกอีกว่าพวกเขาทั้งสองจะรวมกันเป็น “ฝูงเดียว” และทั้งหมดจะติดตามพระเยซู ซึ่งก็คือ “ผู้เลี้ยงผู้เดียว” (ลูกา 12:32; โย. 10:16) เนื่องจากมี 2 กลุ่ม บางคนอาจสงสัยว่า (1) แกะอื่นต้องรู้จักชื่อของผู้ถูกเจิมทุกคนที่ยังอยู่บนโลกในตอนนี้ไหม? (2) พี่น้องผู้ถูกเจิมควรมองตัวเองอย่างไร? (3) ถ้ามีบางคนในประชาคมของเราเริ่มกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นในการประชุมอนุสรณ์ เราควรมีท่าทีอย่างไร? (4) เราต้องกังวลไหมเมื่อเห็นว่าจำนวนของคนที่กินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นในการประชุมอนุสรณ์มีเพิ่มขึ้น? จะมีการตอบคำถามเหล่านี้ในบทความนี้
เราต้องรู้จักชื่อของผู้ถูกเจิมทุกคนในตอนนี้ไหม?
3. ทำไมเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้แน่ ๆ ว่าใครบ้างจะเป็นคนหนึ่งใน 144,000 คน?
3 แกะอื่นต้องรู้จักชื่อของผู้ถูกเจิมทุกคนที่ยังอยู่บนโลกในตอนนี้ไหม? ไม่ ทำไมถึงบอกได้อย่างนั้น? เพราะไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าตกลงแล้วใครบ้างที่จะได้รับรางวัลบนสวรรค์[1] ถึงแม้ว่าพระเจ้าเป็นผู้เชิญพวกเขาให้ไปสวรรค์ แต่พวกเขาจะได้ไปจริง ๆ ก็ต่อเมื่อพวกเขารักษาความซื่อสัตย์เสมอ ซาตานรู้เรื่องนี้ดีและมันพยายามใช้ “ผู้พยากรณ์เท็จ” เพื่อ “ชักนำ” พวกเขา “ให้หลง” (มัด. 24:24) ผู้ถูกเจิมไม่สามารถมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะไปสวรรค์จนกว่าพระยะโฮวาจะทำให้พวกเขารู้ชัดเจนว่าพวกเขาได้ถูกตัดสินว่าเป็นคนซื่อสัตย์แล้ว พระยะโฮวาจะให้คำตัดสินหรือการประทับตราขั้นสุดท้ายตอนที่พวกเขาเสียชีวิต หรือไม่ก็ไม่นานก่อนที่ “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” เริ่มต้น—วิวรณ์ 2:10; 7:3, 14
4. ถ้าเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้จักชื่อของผู้ถูกเจิมทุกคนที่ยังอยู่บนโลกในตอนนี้ แล้วแกะอื่นจะ “ไปกับ” พวกเขาได้อย่างไร?
4 ถ้าเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้จักชื่อของผู้ถูกเจิมทุกคนที่ยังอยู่บนโลกในตอนนี้ แล้วแกะอื่นจะ “ไปกับ” พวกเขาได้อย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคน 10 คนจะ “จับชายเสื้อชาวยิวคนหนึ่งไว้แน่น และบอกว่า ‘พวกเราอยากไปกับคุณ เพราะพวกเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับพวกคุณ’” ถึงแม้ในตอนต้นของข้อคัมภีร์นี้พูดถึงชาวยิวคนหนึ่ง แต่ในตอนท้ายข้อก็มีการใช้คำว่า “พวกคุณ” ซึ่งหมายถึงคนมากกว่าหนึ่งคน นี่หมายความว่าชาวยิวที่พูดถึงในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงคนคนเดียว แต่หมายถึงผู้ถูกเจิมทั้งกลุ่ม พี่น้องที่เป็นแกะอื่นรู้เรื่องนี้และพวกเขารับใช้พระยะโฮวาร่วมกับกลุ่มผู้ถูกเจิม พวกแกะอื่นไม่ต้องรู้จักชื่อของสมาชิกผู้ถูกเจิมทุกคน และไม่ต้องติดตามพวกเขาแต่ละคน ที่จริง พระเยซูเป็นผู้นำของเรา และคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราต้องติดตามท่านเพียงผู้เดียว—มัด. 23:10
พี่น้องผู้ถูกเจิมควรมองตัวเองอย่างไร?
5. พี่น้องผู้ถูกเจิมควรคิดอย่างจริงจังถึงคำเตือนอะไร? ทำไมเขาต้องคิดเรื่องนั้นอย่างจริงจัง?
5 พี่น้องผู้ถูกเจิมควรคิดอย่างจริงจังถึงคำเตือนใน 1 โครินท์ 11:27-29 (อ่าน) ผู้ถูกเจิมกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นอย่าง “ไม่สมควร” ในการประชุมอนุสรณ์ได้อย่างไร? ถ้าพวกเขาไม่รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา และไม่ซื่อสัตย์กับพระองค์ การกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นของเขาก็เป็นในแบบที่ไม่เหมาะสม (ฮีบรู 6:4-6; 10:26-29) คำเตือนที่หนักแน่นนี้ช่วยเตือนผู้ถูกเจิมว่าพวกเขาต้องรักษาความซื่อสัตย์ถ้าพวกเขาอยากได้รับ “รางวัล คือการที่พระเจ้าทรงเรียกให้ไปสวรรค์โดยใช้พระคริสต์เยซู”—ฟิลิป. 3:13-16
6. พี่น้องผู้ถูกเจิมควรมองตัวเองอย่างไร?
6 เปาโลบอกพี่น้องผู้ถูกเจิมว่า “ข้าพเจ้าผู้ถูกกักขังเนื่องจากเป็นสาวกองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงขอวิงวอนท่านทั้งหลายให้ดำเนินอย่างเหมาะสมกับที่ท่านทั้งหลายได้รับการทรงเรียก” พวกเขาจะทำตามคำแนะนำนี้ได้อย่างไร? เปาโลอธิบายว่าพวกเขาจะทำอย่างนั้นได้ “ด้วยความถ่อมใจและความอ่อนโยนอย่างยิ่ง ด้วยความอดกลั้นไว้นาน ทนกันและกันด้วยความรัก พยายามอย่างจริงจังเพื่อรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยสันติสุขซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้มีเอกภาพ” (เอเฟ. 4:1-3) พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาจะช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้ถ่อมตัว ไม่หยิ่ง (โกโล. 3:12) ดังนั้น พี่น้องผู้ถูกเจิมจะไม่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น พวกเขารู้ว่าไม่จำเป็นที่พระยะโฮวาจะต้องให้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์กับพวกเขามากกว่าผู้รับใช้คนอื่น และพวกเขาไม่คิดว่าจะต้องเข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลได้ดีกว่าคนอื่นด้วย นอกจากนั้น พวกเขาไม่ควรบอกพี่น้องคนอื่นว่า “คุณก็เป็นผู้ถูกเจิมเหมือนกัน” และไม่ควรบอกเขาให้กินขนมปังและเหล้าองุ่น แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกผู้ถูกเจิมถ่อมตัวและรู้ว่าพระยะโฮวาผู้เดียวเป็นผู้เชิญผู้คนไปสวรรค์
7, 8. พี่น้องผู้ถูกเจิมไม่คาดหมายอะไร? ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
7 ถึงแม้ว่าพี่น้องผู้ถูกเจิมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญไปสวรรค์ แต่พวกเขาไม่คาดหมายให้คนอื่นปฏิบัติกับเขาพิเศษกว่าคนอื่น ๆ (เอเฟ. 1:18, 19; อ่านฟิลิปปอย 2:2, 3) พวกผู้ถูกเจิมรู้ว่าตอนที่พระยะโฮวาเจิมพวกเขา พระองค์ไม่ได้บอกคนอื่นให้รู้เรื่องนี้ ดังนั้น พวกผู้ถูกเจิมก็ไม่แปลกใจถ้ามีคนอื่นไม่เชื่อในทันทีว่าเขาถูกเจิม นอกจากนั้น พวกเขารู้ว่าพระคัมภีร์เองก็บอกว่าอย่าเชื่อทันทีถ้ามีบางคนอ้างว่าเขาได้รับหน้าที่รับผิดชอบพิเศษจากพระเจ้า (วิ. 2:2) และเนื่องจากพวกผู้ถูกเจิมไม่คาดหมายให้คนอื่นสนใจพวกเขามากเกินไป เขาก็คงไม่บอกคนที่เขาพบตั้งแต่ครั้งแรกว่าเขาเป็นผู้ถูกเจิม ที่จริง เขาไม่น่าจะพูดถึงเรื่องนี้กับใครด้วยซ้ำ และก็คงไม่อวดคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่เขาจะทำในสวรรค์—1 โค. 1:28, 29; อ่าน 1 โครินท์ 4:6-8
8 พี่น้องผู้ถูกเจิมไม่คิดว่าพวกเขาควรจะใช้เวลากับพี่น้องผู้ถูกเจิมเท่านั้น พวกเขาจะไม่ทำเหมือนกับเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ถูกเจิม พวกเขาจะไม่พยายามหาผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ เพื่อคุยกันเกี่ยวกับการถูกเจิมของแต่ละคน หรือพบกันเป็นกลุ่มเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิล (กลา. 1:15-17) ถ้าผู้ถูกเจิมทำแบบนั้น พี่น้องในประชาคมคงไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และพวกเขาก็กำลังทำสิ่งที่ต่อต้านพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่ทำให้ประชาชนของพระเจ้ามีสันติสุขและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน—อ่าน โรม 16:17, 18
คุณควรมีท่าทีกับพวกเขาอย่างไร?
9. ทำไมเราต้องระวังท่าทีที่เราแสดงต่อพี่น้องที่กินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นในการประชุมอนุสรณ์? (ดูกรอบ “ความรักไม่หยาบคาย”)
9 คุณควรมีท่าทีอย่างไรกับพี่น้องผู้ถูกเจิม? พระเยซูบอกสาวกของท่านว่าพวกเราทุกคน “เป็นพี่น้องกัน” ท่านยังบอกอีกว่า “ผู้ใดยกตัวเองจะถูกเหยียดลง และผู้ใดถ่อมตัวลงจะถูกยกฐานะให้สูงขึ้น” (มัด. 23:8-12) จากสิ่งที่พระเยซูพูด คงไม่ถูกต้องที่เราจะยกย่องชื่นชมใครมากเกินไปแม้พวกเขาเป็นผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ก็ตาม ตอนที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงพวกผู้ดูแล พระคัมภีร์ก็ยังกระตุ้นเราให้เลียนแบบความเชื่อของพวกเขา แต่ไม่เคยบอกให้เรายกย่องให้มนุษย์คนไหนมาเป็นผู้นำของเรา (ฮีบรู 13:7) จริงอยู่ที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าบางคนควรได้รับความนับถือมากเป็นพิเศษ แต่ที่เป็นอย่างนั้นไม่ได้เป็นเพราะเขาเป็นผู้ถูกเจิม แต่เป็นเพราะพวกเขานำหน้าอย่างดีและทำงานหนักในการพูดและการสอน (1 ติโม. 5:17) ดังนั้น ถ้าเราให้ความสนใจและยกย่องพี่น้องผู้ถูกเจิมมากเกินไป เราก็อาจทำให้เขาอึดอัด ซ้ำแย่ยิ่งกว่านั้น เราอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเป็นคนที่คิดถึงตัวเองมากเกินไป (โรม 12:3) คงไม่มีใครในพวกเราที่อยากทำให้พี่น้องผู้ถูกเจิมซึ่งเป็นพี่น้องของพระคริสต์ทำผิดร้ายแรงอย่างนี้—ลูกา 17:2
10. เราจะทำให้เห็นอย่างไรว่าเรานับถือคริสเตียนผู้ถูกเจิม?
10 เราจะทำให้เห็นอย่างไรว่าเรานับถือคนที่พระยะโฮวาเจิม? เราจะไม่ถามพวกเขาว่าถูกเจิมได้อย่างไร ที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่เราไม่มีสิทธิ์รู้ (1 เทส. 4:11; 2 เทส. 3:11) เราไม่ควรคิดว่าคู่สมรสของเขา พ่อแม่หรือคนอื่น ๆ ในครอบครัวของเขาก็เป็นผู้ถูกเจิมด้วย การเป็นผู้ถูกเจิมไม่ได้เป็นมรดกตกทอดจากครอบครัวเหมือนเงินทองหรือทรัพย์สมบัติอื่น ๆ (1 เทส. 2:12) นอกจากนั้น เราไม่ควรถามคำถามที่อาจทำให้คนอื่นรู้สึกเสียใจ เช่น เราจะไม่ถามภรรยาของผู้ถูกเจิมว่าเธอรู้สึกอย่างไรที่ต้องอยู่บนโลกตลอดไปแต่สามีไม่อยู่ด้วย เรามั่นใจได้ว่าในโลกใหม่ พระยะโฮวาจะ “ทำให้ทุกชีวิตอิ่มสมปรารถนา”—เพลง. 145:16, ล.ม.
11. ถ้าเราไม่ชอบยกยอปอปั้นคนอื่นจะเป็นการปกป้องตัวเราเองอย่างไร?
11 ถ้าเราไม่ปฏิบัติกับคนอื่นเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นคนสำคัญ เราก็กำลังปกป้องตัวเราเองด้วย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าอาจมี “พี่น้องจอมปลอม” ในประชาคม พี่น้องพวกนี้อาจถึงกับแอบอ้างว่าเป็นผู้ถูกเจิม (กลา. 2:4, 5; 1 โย. 2:19) นอกจากนั้น ผู้ถูกเจิมบางคนก็อาจไม่รักษาความซื่อสัตย์ (มัด. 25:10-12; 2 เป. 2:20, 21) ถ้าเราไม่ชอบยกยอปอปั้นคนอื่น เราก็จะไม่ติดตามคนนั้นถึงแม้เขาเป็นผู้ถูกเจิม หรือเป็นพี่น้องที่มีคนรู้จักเยอะ หรือเป็นพี่น้องที่รับใช้พระยะโฮวามานาน และถ้าพวกเขาเกิดไม่ซื่อสัตย์แล้วทิ้งประชาคมไป เราก็จะไม่ท้อใจจนเสียความเชื่อหรือถึงขั้นเลิกรับใช้พระเจ้า—ยูดา 16
เราต้องกังวลเรื่องจำนวนผู้ถูกเจิมไหม?
12, 13. ทำไมเราไม่ต้องกังวลเรื่องจำนวนคนที่กินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นในการประชุมอนุสรณ์?
12 ในช่วงหลายปีมาแล้ว จำนวนคนที่กินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นมีน้อยลงเรื่อย ๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้ จำนวนกลับมีเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น เราต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม? ไม่ ขอเราดูเหตุผลด้วยกัน
13 พระยะโฮวารู้ว่าใครเป็นคนของพระองค์ (2 ติโม. 2:19) ไม่เหมือนกับพระยะโฮวา พี่น้องที่นับจำนวนคนที่กินขนมปังและเหล้าองุ่นในการประชุมอนุสรณ์ไม่รู้จริง ๆ ว่าใครเป็นพี่น้องผู้ถูกเจิม ดังนั้น จำนวนที่ถูกนับอาจรวมถึงพี่น้องที่คิดว่าเขาถูกเจิมแต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ตัวอย่างเช่น มีบางคนที่เคยกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่น แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้กินอีก และก็ยังมีคนอื่น ๆ ที่อาจมีปัญหาทางจิตจนคิดเอาเองว่าเขาจะปกครองกับพระเยซูในสวรรค์ เห็นได้ชัดว่า พวกเราไม่รู้จริง ๆ ว่ามีผู้ถูกเจิมเหลืออยู่บนโลกจำนวนเท่าไร
14. คัมภีร์ไบเบิลพูดไว้อย่างไรเกี่ยวกับจำนวนของผู้ถูกเจิมที่ยังอยู่บนโลกในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้น?
14 จะมีผู้ถูกเจิมที่อาศัยอยู่หลายส่วนบนโลกตอนที่พระเยซูมารับพวกเขาไปสวรรค์ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเยซู “จะส่งเหล่าทูตสวรรค์ของท่านออกไปพร้อมด้วยเสียงแตรอันดัง และทูตเหล่านั้นจะรวบรวมเหล่าผู้ถูกเลือกของท่านจากทั้งสี่ทิศ จากสุดฟ้าสวรรค์ข้างหนึ่งจนถึงอีกข้างหนึ่ง” (มัด. 24:31) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังช่วยให้เรารู้ว่าจะมีผู้ถูกเจิมจำนวนไม่มากเหลืออยู่บนโลกในสมัยสุดท้าย (วิ. 12:17) แต่ก็ไม่มีข้อคัมภีร์ไหนที่บอกว่าจะมีผู้ถูกเจิมเหลืออยู่จำนวนเท่าไรในช่วงที่ความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้นขึ้น
15, 16. เราต้องเข้าใจอะไรเกี่ยวกับคน 144,000 คนที่พระยะโฮวาเลือก?
15 พระยะโฮวาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้ถูกเจิมตอนไหน (โรม 8:28-30) พระยะโฮวาเริ่มต้นเลือกผู้ถูกเจิมหลังจากที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย ดูเหมือนว่าในช่วงศตวรรษแรกคริสเตียนแท้ทุกคนเป็นผู้ถูกเจิม แต่หลังจากศตวรรษแรกจนถึงช่วงเริ่มต้นของสมัยสุดท้าย คนที่อ้างว่าตัวเองเป็นคริสเตียนก็ไม่ได้ใช้ชีวิตโดยเลียนแบบพระเยซู แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาก็ยังเจิมคริสเตียนแท้บางคนในช่วงเวลานั้น พวกเขาเป็นเหมือนข้าวสาลีที่พระเยซูบอกว่าจะเติบโตไปพร้อม ๆ กับวัชพืช (มัด. 13:24-30) ในช่วงสมัยสุดท้าย พระยะโฮวายังคงเลือกผู้คนให้เข้ามาเป็นผู้ถูกเจิมเพื่อให้ครบ 144,000 คน[2] ดังนั้น ถ้าพระเจ้าตัดสินใจเลือกบางคนในช่วงท้าย ๆ ของสมัยสุดท้าย เราก็ไม่ต้องสงสัยว่าพระองค์ทำถูกหรือไม่ (ยซา. 45:9; ดานิ. 4:35; อ่านโรม 9:11, 16)[3] เราต้องระวังที่จะไม่เป็นเหมือนคนงานที่บ่นต่อว่าเกี่ยวกับวิธีที่เจ้าของสวนปฏิบัติต่อคนที่มาทำงานในชั่วโมงสุดท้าย—อ่านมัดธาย 20:8-15
16 ไม่ใช่ทุกคนที่มีความหวังไปสวรรค์จะเป็นส่วนของทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม (มัด. 24:45-47) เหมือนกับในศตวรรษแรก ตอนนี้พระยะโฮวาและพระเยซูใช้คนแค่ไม่กี่คนคอยเลี้ยงและสอนคนจำนวนมาก มีผู้ถูกเจิมแค่ไม่กี่คนในศตวรรษแรกที่ถูกใช้ให้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และในทุกวันนี้ มีคริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่กี่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแจกจ่ายอาหารตามเวลา
17. เราได้เรียนอะไรในบทความนี้?
17 เราได้เรียนอะไรในบทความนี้? พระยะโฮวาเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีชีวิตตลอดไปบนโลก และใครจะไปสวรรค์เพื่อปกครองร่วมกับพระเยซู พระยะโฮวาจะให้รางวัลกับผู้รับใช้ทุกคนของพระองค์ไม่ว่าเขาจะเป็น “ชาวยิว” หรือ “คน 10 คน” และพระองค์ต้องการให้พวกเขาเชื่อฟังกฎหมายเดียวกันและรักษาความซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป ผู้รับใช้พระเจ้าทุกคนต้องถ่อมตัว และรับใช้ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว นอกจากนั้น ผู้รับใช้ทุกคนต้องพยายามมีสันติสุขกับคนอื่นในประชาคม ในเวลานี้ที่เรากำลังใกล้อวสานมากขึ้น ขอเราทุกคนรับใช้พระยะโฮวาและติดตามพระเยซูเป็นฝูงเดียวต่อ ๆ ไป
^ [1] (ข้อ 3) บทเพลงสรรเสริญ 87:5, 6 ช่วยเราให้รู้ว่า ในอนาคต พระเจ้าอาจเปิดเผยชื่อของคนที่จะปกครองเป็นกษัตริย์กับพระเยซูในสวรรค์—โรม 8:19
^ [2] (ข้อ 15) ถึงแม้ว่าในกิจการ 2:33 จะช่วยให้เรารู้ว่าพระเยซูก็มีส่วนเกี่ยวข้องตอนที่มีการเจิมใครคนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วพระยะโฮวาเป็นผู้ที่เชิญคนนั้น
^ [3] (ข้อ 15) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2007 หน้า 30-31