บท 38
จงสรรเสริญยาห์เนื่องด้วยพระองค์ทรงพิพากษา!
1. โยฮันได้ยินถ้อยคำอะไร “ดุจเสียงคนมากมายในสวรรค์”?
บาบิโลนใหญ่สิ้นไปแล้ว! นี่เป็นข่าวที่น่ายินดีจริง ๆ. ไม่แปลกเลยที่โยฮันได้ยินเสียงร้องสรรเสริญอย่างมีความสุขในสวรรค์! “หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังดุจเสียงคนมากมายในสวรรค์กล่าวว่า ‘ฮัลเลลูยาห์!a ความรอด เกียรติยศ และฤทธิ์เดชเป็นของพระเจ้าของเรา เพราะพระองค์ทรงพิพากษาตามความจริงและเที่ยงธรรม. เนื่องจากพระองค์ทรงลงโทษหญิงแพศยาคนสำคัญที่ทำให้แผ่นดินโลกเสื่อมเสียด้วยการผิดประเวณีของนางแล้ว และพระองค์ได้ทรงแก้แค้นแทนทาสทั้งหลายของพระองค์ที่นางได้ฆ่า.’ แล้วคนเหล่านั้นก็ร้องเป็นครั้งที่สองว่า ‘ฮัลเลลูยาห์!’b ควันจากเมืองนั้นลอยขึ้นไปตลอดไปเป็นนิตย์.”—วิวรณ์ 19:1-3, ล.ม.
2. (ก) คำในภาษาเดิม “ฮัลเลลูยาห์” หมายความอย่างไร และการที่โยฮันได้ยินคำนี้สองครั้ง ณ จุดนี้แสดงถึงอะไร? (ข) ใครได้รับสง่าราศีเนื่องจากการทำลายบาบิโลนใหญ่? จงอธิบาย.
2 จริงทีเดียว ฮัลเลลูยาห์! คำนี้หมายความว่า “ท่านทั้งหลาย จงสรรเสริญยาห์” “ยาห์” เป็นคำย่อของยะโฮวาซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้า. ตอนนี้พวกเราได้รับการเตือนให้รำลึกถึงคำปลุกเร้าของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่ว่า “ให้สรรพสัตว์ที่มีลมหายใจสรรเสริญพระยะโฮวา. ท่านทั้งหลาย จงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 150:6) การที่โยฮันได้ยินเสียงคณะนักร้องที่ปลาบปลื้มยินดีในสวรรค์ร้องว่า “ฮัลเลลูยาห์!” สองครั้ง ณ จุดนี้ในพระธรรมวิวรณ์ แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องแห่งการเปิดเผยความจริงของพระเจ้า. พระเจ้าแห่งพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกทรงเป็นองค์เดียวกันกับพระเจ้าแห่งพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งมีอยู่ก่อน และพระนามของพระองค์คือยะโฮวา. พระเจ้าที่ทรงโค่นบาบิโลนโบราณ มาบัดนี้ทรงพิพากษาและทำลายบาบิโลนใหญ่. จงถวายสง่าราศีทั้งสิ้นแด่พระองค์เนื่องด้วยราชกิจอันประเสริฐนั้น! ฤทธิ์อำนาจที่ดำเนินการโค่นบาบิโลนใหญ่นั้นเป็นของพระองค์ หาใช่ของชาติต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงใช้เป็นเครื่องมือทำให้บาบิโลนใหญ่ร้างเปล่าไม่. เราจึงต้องยอมรับว่า ความรอดมาแต่พระยะโฮวาองค์เดียวเท่านั้น.—ยะซายา 12:2; วิวรณ์ 4:11; 7:10, 12.
3. ทำไมหญิงแพศยาคนสำคัญจึงสมควรได้รับการลงโทษอย่างยิ่ง?
3 เพราะเหตุใดหญิงแพศยาคนสำคัญจึงสมควรรับโทษนี้อย่างยิ่ง? ตามกฎหมายที่พระเจ้าประทานแก่โนฮา—และผ่านท่านผู้นี้ถึงมนุษยชาติทั้งปวง—การทำให้โลหิตตกอย่างโหดร้ายเช่นนั้นจะต้องได้รับโทษถึงตาย. เรื่องนี้มีกล่าวไว้อีกในกฎหมายของพระเจ้าสำหรับชาติอิสราเอล. (เยเนซิศ 9:6; อาฤธโม 35:20, 21) ยิ่งกว่านั้น ภายใต้บัญญัติของโมเซ การเล่นชู้ไม่ว่าทางกายหรือฝ่ายวิญญาณต้องรับโทษถึงตายทั้งนั้น. (เลวีติโก 20:10; พระบัญญัติ 13:1-5) บาบิโลนใหญ่ได้ทำผิดฐานฆ่าคนเรื่อยมาตลอดหลายพันปี และเป็นหญิงแพศยาอย่างเด่นชัด. ยกตัวอย่าง นโยบายของคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ห้ามบาทหลวงแต่งงานยังผลให้คนกลุ่มนี้จำนวนมากทำผิดประเวณี มีคนเหล่านี้ไม่น้อยที่ติดโรคเอดส์ในทุกวันนี้. (1 โกรินโธ 6:9, 10; 1 ติโมเธียว 4:1-3) แต่บาปหนักที่สุดของบาบิโลนใหญ่ที่ “กองสูงจรดสวรรค์” ได้แก่ การทำผิดประเวณีฝ่ายวิญญาณอย่างน่าตระหนก คือการผิดประเวณีฝ่ายวิญญาณด้วยการสอนสิ่งเท็จและการผูกมิตรกับนักการเมืองทุจริต. (วิวรณ์ 18:5) เนื่องจากบาบิโลนใหญ่ต้องรับโทษในที่สุด บัดนี้ ฝูงชนมากมายในสวรรค์จึงร้อง ฮัลเลลูยาห์เป็นคำรบสอง.
4. ข้อเท็จจริงที่ว่า ควันจากบาบิโลนใหญ่ “ลอยขึ้นไปตลอดไปเป็นนิตย์” แสดงถึงอะไร?
4 บาบิโลนใหญ่ถูกไฟเผาผลาญดุจเมืองที่ถูกพิชิต และควันไฟจากเมืองนี้ “ลอยขึ้นไปตลอดไปเป็นนิตย์.” เมื่อเมืองจริง ๆ ถูกฝ่ายที่เอาชนะจุดไฟเผาผลาญควันจะลอยขึ้นไปตราบเท่าที่เถ้าถ่านยังคุกรุ่นอยู่. ไม่ว่าใครก็ตามที่พยายามสร้างเมืองขึ้นใหม่ขณะยังมีควันอยู่จะถูกไฟที่คุอยู่ในซากสิ่งปรักหักพังไหม้เอา. เนื่องจากควันไฟจากบาบิโลนใหญ่จะลอยขึ้นไป “ตลอดไปเป็นนิตย์” จึงเป็นการบ่งบอกถึงลักษณะที่เด็ดขาดของการพิพากษาสำหรับเมืองนี้ ไม่มีผู้ใดสามารถกอบกู้เมืองที่ชั่วช้านี้ขึ้นมาได้อีกเลย. ศาสนาเท็จสูญสิ้นไปชั่วนิรันดร์. สมควรกล่าวฮัลเลลูยาห์จริง ๆ!—เทียบกับยะซายา 34:5, 9, 10.
5. (ก) ผู้ปกครอง 24 คนกับสิ่งมีชีวิตสี่ตนทำและกล่าวอะไร? (ข) เพราะเหตุใดคำร้องรับฮัลเลลูยาห์นี้จึงไพเราะยิ่งกว่าเพลงประสานเสียงฮัลเลลูยาห์ที่ร้องในโบสถ์ของคริสต์ศาสนจักรมากนัก?
5 ในนิมิตก่อน โยฮันได้เห็นสิ่งมีชีวิตสี่องค์รอบราชบัลลังก์ พร้อมด้วยผู้ปกครอง 24 คนซึ่งเป็นภาพแสดงถึงทายาทราชอาณาจักรขณะอยู่ในตำแหน่งอันรุ่งโรจน์ทางภาคสวรรค์. (วิวรณ์ 4:8-11) มาบัดนี้ท่านเห็นบุคคลเหล่านี้อีก ขณะเปล่งเสียงร้องฮัลเลลูยาห์ดังกึกก้องครั้งที่สามเพราะความพินาศของบาบิโลนใหญ่: “แล้วผู้ปกครองยี่สิบสี่คนกับสิ่งมีชีวิตสี่องค์นั้นก็หมอบลงนมัสการพระเจ้าผู้ประทับบนราชบัลลังก์และกล่าวว่า ‘อาเมน! ฮัลเลลูยาห์!’”c (วิวรณ์ 19:4, ล.ม.) ดังนั้น เสียงร้องฮัลเลลูยาห์พร้อมกันครั้งยิ่งใหญ่นี้เพิ่มเข้ากับ “เพลงใหม่” แห่งคำสรรเสริญแด่พระเมษโปดก. (วิวรณ์ 5:8, 9, ล.ม.) ตอนนี้พวกเขาร้องเพลงชัยชนะที่เลิศลอยตอบรับกัน โดยให้เหตุผลว่าสง่าราศีทั้งสิ้นเป็นของพระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศร เพราะพระองค์ทรงได้ชัยชนะเด็ดขาดเหนือบาบิโลนใหญ่ หญิงแพศยาคนสำคัญนั้น. คำฮัลเลลูยาห์เหล่านี้ดังออกไปด้วยความไพเราะยิ่งกว่าเพลงประสานเสียงฮัลเลลูยาห์ใด ๆ ที่ร้องกันในโบสถ์แห่งคริสต์ศาสนจักรมากนัก ที่ซึ่งมีแต่การหลู่เกียรติและรังเกียจพระยะโฮวา หรือยาห์. การร้องเพลงด้วยความหน้าซื่อใจคดดังกล่าวซึ่งยังความเสื่อมเสียมาสู่พระนามพระยะโฮวา มาบัดนี้จะเงียบเสียงไปชั่วกาลนาน!
6. “เสียง” ของผู้ใดดังออกมา เสียงนั้นกระตุ้นให้ทำอะไร และใครร่วมในการตอบรับ?
6 ในปี 1918 พระยะโฮวาทรงเริ่มประทานบำเหน็จแก่ “คนเหล่านั้นที่ยำเกรงพระนามพระองค์ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย”—พวกแรกได้แก่คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ล่วงลับไปด้วยความซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งพระองค์ทรงปลุกให้เป็นขึ้นจากตายและตั้งเขาไว้ในตำแหน่งผู้ปกครอง 24 คนทางภาคสวรรค์. (วิวรณ์ 11:18, ล.ม.) มีผู้อื่นอีกที่ร้องเพลงฮัลเลลูยาห์ร่วมกับบุคคลเหล่านี้ เพราะโยฮันรายงานดังนี้: “มีเสียงพูดออกมาจากราชบัลลังก์นั้นด้วยว่า ‘พวกท่านทุกคนที่เป็นทาสของพระองค์ ที่ยำเกรงพระองค์ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย จงสรรเสริญพระเจ้าของเรา.’” (วิวรณ์ 19:5, ล.ม.) นี่คือ “เสียง” โฆษกของพระยะโฮวา คือพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์เอง ซึ่งยืนประทับอยู่ “กลางราชบัลลังก์.” (วิวรณ์ 5:6, ล.ม.) ไม่เฉพาะในสวรรค์เท่านั้น แต่บนแผ่นดินโลกด้วย “ท่านทุกคนที่เป็นทาสของพระองค์” ร่วมร้องเพลงกับชนผู้ถูกเจิมจำพวกโยฮันที่นำหน้าอยู่บนแผ่นดินโลก. ชนเหล่านี้ร่วมกันด้วยความเบิกบานยินดีเพียงไรในการเชื่อฟังคำสั่งที่ว่า “จงสรรเสริญพระเจ้าของเรา”!
7. หลังจากบาบิโลนใหญ่ถูกทำลาย ใครจะสรรเสริญพระยะโฮวา?
7 ใช่แล้ว คนเหล่านั้นที่เป็นชนฝูงใหญ่ก็ถูกนับอยู่ในกลุ่มทาสเหล่านี้ด้วย. ตั้งแต่ปี 1935 คนเหล่านี้ได้ออกมาจากบาบิโลนใหญ่และประสบความสำเร็จเป็นจริงตามคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่า “พระองค์จะทรงอวยพระพรแก่พงศ์พันธุ์คนทั้งหลายที่เกรงกลัวพระยะโฮวา, ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย.” (บทเพลงสรรเสริญ 115:13) เมื่อบาบิโลนซึ่งเป็นเหมือนหญิงแพศยาถูกทำลาย พวกเขานับล้าน ๆ คนจะร่วมในการ “สรรเสริญพระเจ้าของเรา” พร้อมกับชนจำพวกโยฮันและกองกำลังทั้งสิ้นในสวรรค์. ต่อจากนั้น ผู้ที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายทางแผ่นดินโลกนี้ ไม่ว่าแต่ก่อนเคยเป็นคนโด่งดังหรือไม่ ก็จะพากันร้องฮัลเลลูยาห์ต่อไปโดยไม่สงสัย เมื่อเรียนรู้ว่า บาบิโลนใหญ่สูญสิ้นตลอดกาล. (วิวรณ์ 20:12, 15) สรรพสิ่งจงพากันสรรเสริญพระยะโฮวาเพราะชัยชนะอันเกริกก้องที่พระองค์ทรงมีเหนือหญิงแพศยาซึ่งมีมาแต่โบราณนั้น!
8. เสียงร้องประสานเสียงถวายสรรเสริญในสวรรค์ซึ่งโยฮันเป็นพยานรู้เห็นน่าจะกระตุ้นเราให้ทำอะไรในขณะนี้ ก่อนที่บาบิโลนใหญ่จะถูกทำลาย?
8 สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ช่างกระตุ้นเราจริง ๆ ให้มีส่วนเต็มที่ในราชกิจของพระเจ้าในสมัยนี้! ขอให้ผู้รับใช้ทั้งหลายของยาห์สละตัวเองทั้งหัวใจและจิตวิญญาณเพื่อประกาศการพิพากษาของพระเจ้า พร้อมด้วยความหวังอันดีเลิศเรื่องราชอาณาจักร เสียแต่เดี๋ยวนี้ ก่อนที่บาบิโลนใหญ่ถูกโค่นล้มและถูกทำลาย.—ยะซายา 61:1-3; 1 โกรินโธ 15:58.
‘ฮัลเลลูยาห์—พระยะโฮวาทรงเป็นพระมหากษัตริย์!’
9. ทำไมเสียงร้องฮัลเลลูยาห์ครั้งสุดท้ายจึงดังกึกก้องเต็มที่เช่นนั้น?
9 มีเหตุผลอื่นอีกสำหรับความปีติยินดี ดังที่โยฮันบอกเราต่อไปดังนี้: “แล้วข้าพเจ้าได้ยินเสียงดุจเสียงคนมากมาย ดุจเสียงน้ำไหลเชี่ยว และดุจเสียงฟ้าร้องดังสนั่นกล่าวว่า ‘ฮัลเลลูยาห์d เพราะพระยะโฮวาพระเจ้าของเราผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงเริ่มปกครองเป็นกษัตริย์แล้ว.’” (วิวรณ์ 19:6, ล.ม.) คำฮัลเลลูยาห์ครั้งสุดท้ายนี้เป็นสิ่งซึ่งทำให้การประกาศหนักแน่นมั่นคง หรือมีส่วนสัดรับกัน. นั่นเป็นเสียงที่มีพลังจากสวรรค์ ดังไพเราะยิ่งกว่าเสียงคณะนักร้องใด ๆ ของมนุษย์, สง่างามยิ่งกว่าน้ำตกใด ๆ ที่แผ่นดินโลก และน่าเกรงขามยิ่งกว่าเสียงพายุฝนฟ้าคะนองใด ๆ บนพิภพ. เสียงมากมายนับไม่ถ้วนในสวรรค์เฉลิมฉลองความจริงที่ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของเราผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงเริ่มปกครองเป็นกษัตริย์แล้ว.”
10. จะกล่าวได้ในความหมายเช่นไรว่าพระยะโฮวาทรงเริ่ม ปกครองเป็นกษัตริย์หลังจากความพินาศย่อยยับของบาบิโลนใหญ่?
10 ทว่าเป็นไปอย่างไรที่พระยะโฮวาทรงเริ่ม ปกครอง? หลายพันปีล่วงไปนับตั้งแต่ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญแถลงว่า “พระเจ้ายังเป็นพระบรมมหากษัตริย์ของข้าพเจ้าตั้งแต่กาลโบราณมา.” (บทเพลงสรรเสริญ 74:12) แม้ในเวลานั้น ตำแหน่งกษัตริย์ของพระยะโฮวามีมาตั้งแต่เบื้องบรรพ์แล้ว ดังนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่คณะนักร้องแห่งเอกภพร้องเพลงว่า “พระยะโฮวา . . . ทรงเริ่ม ปกครองเป็นกษัตริย์แล้ว”? คือในแง่ที่ว่า เมื่อบาบิโลนใหญ่ถูกทำลาย พระยะโฮวาจะไม่มีคู่แข่งที่กำเริบเสิบสานซึ่งเบนความสนใจไปจากการเชื่อฟังพระองค์ในฐานะทรงเป็นองค์บรมมหิศร. จะไม่มีศาสนาเท็จโน้มน้าวนักปกครองของโลกให้ต่อต้านพระองค์อีกต่อไป. ในคราวที่บาบิโลนโบราณโค่นลงจากอำนาจปกครองโลก กรุงซีโอนได้ยินการประกาศชัยชนะดังนี้: “พระเจ้าของเจ้าทรงเป็นกษัตริย์แล้ว!” (ยะซายา 52:7, ล.ม.) ภายหลังการกำเนิดราชอาณาจักรในปี 1914 ผู้ปกครอง 24 คนได้ประกาศว่า “พวกข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ พระยะโฮวาพระเจ้า . . . เพราะพระองค์ทรงรับเอาอำนาจใหญ่ยิ่งของพระองค์และเริ่มปกครองเป็นกษัตริย์แล้ว.” (วิวรณ์ 11:17, ล.ม.) บัดนี้ หลังจากบาบิโลนใหญ่ถูกล้างผลาญ ก็มีเสียงร้องบอกอีกว่า “พระยะโฮวา . . . ทรงเริ่มปกครองเป็นกษัตริย์แล้ว.” ไม่มีพระเจ้าที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นเหลืออยู่อีกเลยเพื่อจะแข่งกับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้!
การอภิเษกสมรสของพระเมษโปดกใกล้จะถึงแล้ว!
11, 12. (ก) เยรูซาเลมโบราณกล่าวอย่างไรแก่บาบิโลนโบราณ ซึ่งเป็นการวางแบบอย่างไว้เช่นไรเกี่ยวกับเยรูซาเลมใหม่และบาบิโลนใหญ่? (ข) พร้อมกับชัยชนะเหนือบาบิโลนใหญ่ ฝูงชนมากมายในสวรรค์ร้องเพลงและประกาศถึงสิ่งใด?
11 “ศัตรูของข้าฯ”! นี่เป็นคำที่เยรูซาเลมซึ่งเป็นที่ตั้งของพระวิหารเพื่อนมัสการพระยะโฮวากล่าวแก่บาบิโลนเมืองที่บูชารูปเคารพ. (มีคา 7:8) ทำนองเดียวกัน “เมืองบริสุทธิ์ . . . เยรูซาเลมใหม่” ซึ่งประกอบด้วยเจ้าสาวที่มีจำนวนสมาชิก 144,000 คน มีเหตุผลทุกประการที่จะบอกแก่บาบิโลนใหญ่ว่า มันเป็นศัตรูของเธอ. (วิวรณ์ 21:2, ล.ม.) แต่ในที่สุดหญิงแพศยาคนสำคัญได้ประสบภัยพิบัติ, ความหายนะ, และความพินาศ. กิจปฏิบัติเกี่ยวกับผีปิศาจและพวกนักโหราศาสตร์แห่งเมืองนี้ไม่สามารถช่วยนางให้รอดได้. (เทียบกับยะซายา 47:1, 11-13.) จริง ๆ แล้ว เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของการนมัสการแท้!
12 ครั้นบาบิโลนใหญ่ หญิงแพศยาที่น่ารังเกียจ สาบสูญไปตลอดกาล บัดนี้ จึงสามารถมุ่งความสนใจมายังเจ้าสาวผู้บริสุทธิ์ของพระเมษโปดกได้! ฉะนั้น ฝูงชนมากมายในสวรรค์จึงพากันเปล่งเสียงสรรเสริญพระยะโฮวาด้วยความปรีดาดังนี้: “ให้เราปีติยินดีและปลาบปลื้มใจ ให้เรายกย่องสรรเสริญพระองค์ เพราะถึงเวลาอภิเษกสมรสของพระเมษโปดกแล้ว และเจ้าสาวของพระองค์ก็เตรียมตัวแล้ว. นางได้รับอนุญาตให้แต่งตัวด้วยผ้าลินินเนื้อดีที่สะอาดสดใส เพราะผ้าลินินเนื้อดีหมายถึงการกระทำอันชอบธรรมของเหล่าผู้บริสุทธิ์.”—วิวรณ์ 19:7, 8, ล.ม.
13. มีการตระเตรียมอะไรมาตลอดหลายศตวรรษสำหรับการอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก?
13 ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา พระเยซูทรงตระเตรียมด้วยความรักสำหรับการอภิเษกสมรสในสวรรค์. (มัดธาย 28:20; 2 โกรินโธ 11:2) พระองค์ได้ทรงชำระอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ 144,000 คนเพื่อว่า “พระองค์จะได้ประชาคมนั้นเป็นของพระองค์เอง ด้วยสง่าราศี ปราศจากด่างพร้อยหรือริ้วรอยหรืออะไรเช่นนั้น แต่เพื่อประชาคมจะบริสุทธิ์ปราศจากตำหนิ.” (เอเฟโซ 5:25-27, ล.ม.) เพื่อจะได้ “รางวัลซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้ขึ้นไป” คริสเตียนผู้ถูกเจิมทุกคนจึงต้องถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่าพร้อมด้วยกิจปฏิบัติต่าง ๆ แล้วสวมใส่บุคลิกภาพใหม่ฝ่ายคริสเตียน พร้อมทั้งประกอบกิจอันชอบธรรมด้วย “สุดชีวิตเสมือนทำเพื่อพระยะโฮวา.”—ฟิลิปปอย 3:8, 13, 14, ล.ม.; โกโลซาย 3:9, 10, 23, ล.ม.
14. ซาตานได้พยายามอย่างไรเพื่อจะทำให้ผู้ที่มีความหวังจะเป็นสมาชิกแห่งมเหสีของพระเมษโปดกเป็นมลทิน?
14 ตั้งแต่วันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 เป็นต้นมา ซาตานได้ใช้บาบิโลนใหญ่เป็นเครื่องมือในการพยายามทำให้ผู้ที่มีความหวังจะเป็นสมาชิกแห่งมเหสีของพระเมษโปดกเป็นมลทิน. ในตอนปลายศตวรรษที่หนึ่ง ซาตานได้หว่านเมล็ดของศาสนาแบบบาบิโลนในประชาคม. (1 โกรินโธ 15:12; 2 ติโมเธียว 2:18; วิวรณ์ 2:6, 14, 20) อัครสาวกเปาโลพรรณนาถึงคนเหล่านั้นซึ่งบ่อนทำลายความเชื่อด้วยถ้อยคำเหล่านี้: “ด้วยว่าคนเช่นนั้นเป็นอัครสาวกปลอม เป็นคนงานชอบหลอกลวง ปลอมตัวเป็นอัครสาวกของพระคริสต์. และไม่แปลก เพราะซาตานเองก็ปลอมตัวเป็นทูตแห่งความสว่างอยู่เรื่อย ๆ.” (2 โกรินโธ 11:13, 14, ล.ม.) ในศตวรรษต่อ ๆ มา คริสต์ศาสนจักรที่ออกหาก เหมือนส่วนอื่น ๆ ของบาบิโลนใหญ่ ประดับตัวเองด้วยอาภรณ์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งและอภิสิทธิ์ คือ “ผ้าสีม่วงกับผ้าสีแดงเข้ม . . . ทองคำ อัญมณี และไข่มุก.” (วิวรณ์ 17:4, ล.ม.) พวกนักเทศน์นักบวชและสันตะปาปาของคริสต์ศาสนจักรต่างร่วมมือกับจักรพรรดิผู้กระหายเลือด เช่น คอนสแตนตินและชาร์เลเมน. คริสต์ศาสนจักรไม่เคยแต่งกายด้วย “การกระทำอันชอบธรรมของเหล่าผู้บริสุทธิ์.” ในฐานะเจ้าสาวปลอม คริสต์ศาสนจักรคือผลงานชิ้นเยี่ยมแห่งการหลอกลวงแบบซาตาน. ในที่สุด คริสต์ศาสนจักรก็สิ้นสูญไปชั่วกาลนาน!
มเหสีของพระเมษโปดกก็เตรียมตัวแล้ว
15. การประทับตรามีขึ้นอย่างไร และมีการเรียกร้องสิ่งใดจากคริสเตียนผู้ถูกเจิม?
15 ฉะนั้น บัดนี้ หลังจากเวลาผ่านไปเกือบสองพันปี ชนจำพวกเจ้าสาวทั้งหมด 144,000 คนเตรียมตัวพร้อมแล้ว. แต่จะบอกได้ ณ ช่วงไหนแห่งกาลเวลาว่า ‘มเหสีของพระเมษโปดกก็เตรียมตัวแล้ว’? เป็นไปตามลำดับ ตั้งแต่วันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 เป็นต้นไป เหล่าผู้ถูกเจิมที่มีความเชื่อ “ถูกประทับตราด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงสัญญาไว้” ทั้งนี้โดยคำนึงถึง “วันแห่งการปลดปล่อยโดยค่าไถ่” ซึ่งจะมา. ดังที่อัครสาวกเปาโลได้กล่าวถึงเรื่องนี้ พระเจ้า “ทรงประทับตราของพระองค์ไว้บนเราด้วยและได้ทรงประทานหลักฐานของสิ่งที่จะมีมา นั่นคือพระวิญญาณ ไว้ในหัวใจพวกเรา.” (เอเฟโซ 1:13; 4:30, ล.ม.; 2 โกรินโธ 1:22, ล.ม.) คริสเตียนผู้ถูกเจิมแต่ละคน “ถูกเรียกและเลือกไว้” และเขาได้พิสูจน์ตัว “ซื่อสัตย์.”—วิวรณ์ 17:14.
16. (ก) การประทับตราของอัครสาวกเปาโลสำเร็จครบถ้วนเมื่อไร และเราทราบได้อย่างไร? (ข) เมื่อไรที่มเหสีของพระเมษโปดกได้ “เตรียมตัว” พร้อมสรรพ?
16 ภายหลังการทดสอบนานนับสิบ ๆ ปี เปาโลเองสามารถแถลงได้ว่า “ข้าพเจ้าเข้าในการปล้ำสู้อย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งแข่งถึงที่สุดปลายทางแล้ว ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อนั้นไว้แล้ว ตั้งแต่นี้ไปมีมงกุฎแห่งความชอบธรรมเก็บไว้สำหรับข้าพเจ้า, ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิพากษาอันชอบธรรมจะทรงประทานแก่ข้าพเจ้าในกาลวันนั้น และไม่ใช่แก่ข้าพเจ้าคนเดียว, แต่จะทรงประทานแก่คนทั้งปวงที่มีใจรักยินดีในการที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏนั้น.” (2 ติโมเธียว 4:7, 8) การประทับตราอัครสาวกดูเหมือนจะเสร็จครบถ้วน ถึงแม้ท่านยังอยู่ในกายมนุษย์และจะต้องพลีชีวิตเพื่อความเชื่อ. ในทำนองเดียวกัน จะต้องถึงเวลาหนึ่งเมื่อทุกคนในจำพวกชน 144,000 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินโลกจะได้รับการประทับตราเป็นรายบุคคลว่าเป็นของพระยะโฮวา. (2 ติโมเธียว 2:19) นั่นจะเป็นคราวที่มเหสีของพระเมษโปดกได้เตรียมตัวพร้อมสรรพ—ส่วนใหญ่แห่งชน 144,000 คนได้รับบำเหน็จของเขาทางภาคสวรรค์แล้วและคนเหล่านั้นที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกได้รับความโปรดปรานในขั้นสุดท้ายและถูกประทับตราในฐานะเป็นผู้ซื่อสัตย์.
17. การอภิเษกสมรสของพระเมษโปดกจะมีขึ้นได้เมื่อไร?
17 ณ จุดนี้ตามตารางเวลาของพระยะโฮวา เมื่อการประทับตราชนจำนวน 144,000 คนเสร็จสิ้น เหล่าทูตสวรรค์จึงจะปล่อยลมจากสี่ทิศแห่งความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ออกไป. (วิวรณ์ 7:1-3) ประการแรก มีการลงโทษตามคำพิพากษาต่อบาบิโลนใหญ่ซึ่งเป็นเหมือนหญิงแพศยา. ต่อจากนั้นพระคริสต์ผู้มีชัยจะทรงดำเนินการอย่างฉับไวสู่อาร์มาเก็ดดอนเพื่อทำลายองค์การของซาตานที่ยังเหลืออยู่บนแผ่นดินโลก และสุดท้าย เพื่อทรงกักซาตานและพวกปิศาจไว้ในขุมลึก. (วิวรณ์ 19:11–20:3) หากผู้ถูกเจิมคนใดยังมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก ไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาจะเข้ารับบำเหน็จของตนในสวรรค์ไม่นานหลังจากพระคริสต์ได้ชัยชนะอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และจะร่วมสมทบกับเพื่อนสมาชิกของตนที่เป็นชนชั้นเจ้าสาว. ครั้นแล้ว ณ เวลากำหนดของพระเจ้า การอภิเษกสมรสของพระเมษโปดกก็จะเริ่มขึ้น!
18. เพลงสรรเสริญบท 45 ยืนยันลำดับเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสของพระเมษโปดกอย่างไร?
18 เรื่องราวเชิงพยากรณ์ในเพลงสรรเสริญบท 45 พรรณนาลำดับของเหตุการณ์ต่าง ๆ. ประการแรก กษัตริย์ที่ขึ้นบัลลังก์ทรงม้าออกไปเพื่อชัยชนะศัตรูทั้งหลายของพระองค์. (ข้อ 1-7) แล้วก็ดำเนินการอภิเษกสมรส เจ้าสาวทางภาคสวรรค์จะได้รับการปรนนิบัติบนแผ่นดินโลกโดยเพื่อนเจ้าสาวที่บริสุทธิ์ของเธอคือชนฝูงใหญ่. (ข้อ 8-15) ต่อจากนั้น การอภิเษกสมรสบังเกิดผล โดยที่มนุษยชาติที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายได้รับการยกขึ้นสู่ความสมบูรณ์ภายใต้การดูแลของ “เจ้าชายทั่วแผ่นดินโลก.” (ข้อ 16, 17, ล.ม.) นับเป็นพระพรอันรุ่งโรจน์จริง ๆ ซึ่งมีมาพร้อมกับการอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก!
ผู้ที่ได้รับเชิญก็มีความสุข
19. ความสุขประการที่สี่ของความสุขเจ็ดประการในพระธรรมวิวรณ์คืออะไร และใครมีส่วนร่วมด้วยในความสุขนี้โดยเฉพาะ?
19 บัดนี้ โยฮันบันทึกความสุขประการที่สี่ของความสุขเจ็ดประการไว้ในพระธรรมวิวรณ์ดังนี้: “แล้วทูตสวรรค์องค์นั้น [ทูตสวรรค์ที่ได้เปิดเผยเรื่องเหล่านี้แก่โยฮัน] บอกข้าพเจ้าว่า ‘เขียนไว้เถิดว่า ผู้ที่ได้รับเชิญมายังงานเลี้ยงอภิเษกสมรสของพระเมษโปดกก็มีความสุข.’ ท่านบอกข้าพเจ้าด้วยว่า ‘ถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำตรัสของพระเจ้าอย่างแท้จริง.’” (วิวรณ์ 19:9, ล.ม.)e ผู้ที่ได้รับเชิญมายัง “งานเลี้ยงอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก” คือสมาชิกแห่งชนจำพวกเจ้าสาว. (เทียบกับมัดธาย 22:1-14.) กลุ่มเจ้าสาวผู้ถูกเจิมทั้งปวงต่างร่วมในความสุขที่ได้รับเชิญครั้งนี้. ผู้รับเชิญส่วนใหญ่ได้ไปสวรรค์แล้ว ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีงานเลี้ยงอาหารมื้อเย็นฉลองสมรส. ผู้ที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกก็มีความสุขที่เขาได้รับคำเชิญเช่นกัน. ตำแหน่งของพวกเขา ณ งานเลี้ยงมื้อเย็นฉลองสมรสนั้นแน่นอน. (โยฮัน 14:1-3; 1 เปโตร 1:3-9) เมื่อพวกเขาถูกปลุกขึ้นสู่สวรรค์แล้ว เจ้าสาวทั้งสิ้นซึ่งเป็นเอกภาพก็จะไปร่วมกับพระเมษโปดกในการอภิเษกสมรสอันน่ายินดีอย่างยิ่ง.
20. (ก) คำว่า “ถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำตรัสของพระเจ้าอย่างแท้จริง” มีความหมายเช่นไร? (ข) โยฮันได้รับผลกระทบอย่างไรจากถ้อยคำของทูตสวรรค์นั้น และทูตสวรรค์นั้นตอบรับอย่างไร?
20 ทูตสวรรค์กล่าวเสริมว่า “ถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำตรัสของพระเจ้าอย่างแท้จริง.” คำ “แท้จริง” แปลจากคำภาษากรีกอะเลทิโนส ซึ่งหมายความว่า “แท้” หรือ “เชื่อถือได้.” เนื่องจากคำตรัสเหล่านี้มาจากพระยะโฮวาจริง ๆ จึงเป็นคำสัตย์จริงและเชื่อถือได้. (เทียบกับ 1 โยฮัน 4:1-3; วิวรณ์ 21:5; 22:6.) ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับเชิญไปยังงานเลี้ยงอภิเษกสมรสนั้น โยฮันคงต้องรู้สึกเต็มตื้นด้วยความยินดีเมื่อได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ และเมื่อไตร่ตรองถึงพระพรในวันข้างหน้าสำหรับชนจำพวกเจ้าสาว. แท้จริงแล้ว ท่านรู้สึกถูกกระตุ้นอย่างล้ำลึกจนทูตสวรรค์องค์นั้นต้องแนะนำท่าน ดังที่โยฮันเล่าว่า “ข้าพเจ้าก็หมอบลงแทบเท้าท่านเพื่อจะนมัสการท่าน. แต่ท่านบอกข้าพเจ้าว่า ‘อย่าเลย! อย่าทำอย่างนั้น! ข้าพเจ้าเป็นเพียงเพื่อนทาสของท่านและของพี่น้องของท่านซึ่งทำงานเป็นพยานฝ่ายพระเยซู. จงนมัสการพระเจ้าเถิด.’”—วิวรณ์ 19:10ก, ล.ม.
21. (ก) พระธรรมวิวรณ์เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับเหล่าทูตสวรรค์? (ข) คริสเตียนควรมีทัศนะเช่นไรต่อเหล่าทูตสวรรค์?
21 พระธรรมวิวรณ์ตลอดทั้งเล่มให้คำพยานที่น่าทึ่งถึงความซื่อสัตย์และความขยันขันแข็งของเหล่าทูตสวรรค์. ท่านเหล่านั้นมีส่วนในช่องทางแห่งความจริงที่ถูกเปิดเผย. (วิวรณ์ 1:1) ท่านเหล่านั้นทำงานร่วมกับมนุษย์ในการประกาศข่าวดีและการเทภัยพิบัติโดยนัยต่าง ๆ. (วิวรณ์ 14:6, 7; 16:1) ท่านเหล่านั้นสู้รบเคียงข้างพระเยซูเพื่อขับซาตานกับเหล่าทูตสวรรค์บริวารของมันออกจากสวรรค์ และจะสู้รบเคียงข้างพระองค์อีกครั้ง ณ อาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 12:7; 19:11-14) ที่จริง ทูตสวรรค์เหล่านี้เข้าเฝ้าพระยะโฮวาได้โดยตรง. (มัดธาย 18:10; วิวรณ์ 15:6) ถึงกระนั้น ท่านเหล่านั้นก็เป็นแค่ทาสที่ถ่อมตนของพระเจ้า. การนมัสการบริสุทธิ์ไม่มีช่องสำหรับการนมัสการเหล่าทูตสวรรค์หรือแม้แต่สำหรับการนมัสการทางอ้อม คือนมัสการพระเจ้าผ่าน “นักบุญ” หรือทูตสวรรค์. (โกโลซาย 2:18) คริสเตียนนมัสการพระยะโฮวาแต่องค์เดียว ทูลวิงวอนพระองค์ในพระนามของพระเยซู.—โยฮัน 14:12, 13.
บทบาทของพระเยซูในคำพยากรณ์
22. ทูตสวรรค์กล่าวอะไรแก่โยฮัน และถ้อยคำเหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร?
22 แล้วทูตสวรรค์กล่าวดังนี้: “เพราะที่มีการพยากรณ์ก็เพื่อให้พยานหลักฐานเรื่องพระเยซู.” (วิวรณ์ 19:10ข, ล.ม.) เป็นไปอย่างไร? ทั้งนี้หมายความว่า คำพยากรณ์ที่ได้รับการดลใจทั้งสิ้นนั้นพระเจ้าทรงดลบันดาล เนื่องด้วยพระเยซูและบทบาทที่พระองค์ดำเนินในพระประสงค์ของพระยะโฮวา. คำพยากรณ์แรกในคัมภีร์ไบเบิลสัญญาเรื่องการบังเกิดของพงศ์พันธุ์. (เยเนซิศ 3:15) พระเยซูได้มาเป็นพงศ์พันธุ์นั้น. การเปิดเผยต่าง ๆ ต่อมาตามลำดับนั้นได้สร้างโครงร่างใหญ่โตของความจริงเชิงพยากรณ์ขึ้นบนคำสัญญาพื้นฐานนี้. อัครสาวกเปโตรกล่าวแก่โกระเนเลียวคนต่างชาติที่มีความเชื่อว่า “ศาสดาพยากรณ์ทั้งหลายย่อมเป็นพยานถึงพระองค์ [พระเยซู].” (กิจการ 10:43) ประมาณ 20 ปีหลังจากนั้น อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้: “ไม่ว่าคำสัญญาของพระเจ้ามีมากมายเพียงไรก็ตาม คำสัญญาเหล่านั้นกลายมาเป็นจริงโดยพระองค์ [พระเยซู].” (2 โกรินโธ 1:20, ล.ม.) อีก 43 ปีต่อมา โยฮันเองได้เตือนใจพวกเราว่า “ความจริงนั้นมาทางพระเยซูคริสต์.”—โยฮัน 1:17, ล.ม.
23. เพราะเหตุใดตำแหน่งและอำนาจอันสูงส่งของพระเยซูจึงไม่ทำให้เราเขวไปจากการนมัสการที่เราถวายแด่พระยะโฮวา?
23 เรื่องนี้ทำให้เราเขวไปจากการนมัสการที่เราถวายแด่พระยะโฮวาในทางหนึ่งทางใดไหม? ไม่เลย. โปรดจำคำแนะเตือนของทูตสวรรค์ที่ว่า “จงนมัสการพระเจ้าเถิด.” พระเยซูไม่เคยพยายามจะชิงดีชิงเด่นกับพระยะโฮวา. (ฟิลิปปอย 2:6, ล.ม.) จริงอยู่ ทูตสวรรค์ทั้งปวงได้รับพระบัญชาให้ “กราบไหว้ท่าน [พระเยซู]” และสรรพสิ่งที่ถูกสร้างจำต้องยอมรับตำแหน่งสูงส่งของพระองค์เพื่อ “ทุกหัวเข่า . . . จะได้กราบลงในพระนามของพระเยซู.” แต่โปรดสังเกต ทั้งนี้ “เพื่อถวายเกียรติยศแด่พระเจ้าพระบิดา” และเป็นการทำตามคำสั่งของพระองค์. (เฮ็บราย 1:6; ฟิลิปปอย 2:9-11, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงมอบอำนาจสูงส่งแก่พระเยซู และโดยการยอมรับอำนาจนั้น พวกเราจึงถวายเกียรติยศแด่พระเจ้า. หากเราไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจปกครองของพระเยซู ก็เท่ากับเราปฏิเสธพระยะโฮวาพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 2:11, 12.
24. เหตุการณ์ที่น่าทึ่งสองอย่างอะไรที่เราไตร่ตรอง และด้วยเหตุนั้นเราควรเปล่งเสียงกล่าวถ้อยคำอะไรออกมา?
24 ดังนั้น จงให้เราเปล่งเสียงกล่าวคำขึ้นต้นเพลงสรรเสริญบท 146 ถึงบท 150 โดยพร้อมเพรียงกันดังนี้: “ท่านทั้งหลาย จงสรรเสริญพระยะโฮวา!” ขอให้เพลงฮัลเลลูยาห์ที่ร้องประสานกันนั้นดังกระหึ่มออกไปด้วยการคาดหมายว่า พระยะโฮวาจะทรงมีชัยแก่จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จแบบบาบิโลน! และขอให้ความชื่นชมยินดีมีบริบูรณ์ขณะที่การอภิเษกสมรสของพระเมษโปดกใกล้เข้ามา!
[เชิงอรรถ]
a พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
b พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
c พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
d พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
e ดูที่ วิวรณ์ 1:3; 14:13; 16:15 ด้วย.
[กรอบหน้า 273]
“จดหมายถึงโซโดมและโกโมร์ราห์”
ภายใต้พาดหัวข่าวเด่นนี้ หนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ ของลอนดอนฉบับ 12 พฤศจิกายน 1987 รายงานเกี่ยวกับญัตติที่การประชุมทั่วไปของคริสตจักรแห่งอังกฤษ. ญัตตินี้เรียกร้องให้มีการขับพวก “คริสเตียน” รักร่วมเพศออกเสียจากคริสตจักร. นักเขียนบทความ ก็อดฟรี บาร์เกอร์แถลงว่า “อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีได้ให้ความเห็นอย่างเป็นทุกข์ใจเมื่อวานนี้ว่า ‘ถ้านักบุญเปาโลจะเขียนจดหมายถึงคริสตจักรแห่งอังกฤษ เราน่าจะถามว่า นั่นจะเป็นจดหมายประเภทไหน.’” นายบาร์เกอร์ได้ให้ความเห็นว่า “จดหมายถึงโซโดมและโกโมร์ราห์ คือคำตอบ” แล้วเสริมว่า “ดร. รุนซี [อาร์ชบิชอป] เข้าใจว่า สารนั้นคงจะมีข้อความเช่นเดียวกับพระธรรมโรมบท 1.”
ผู้เขียนได้ยกถ้อยคำของเปาโลที่โรม 1:26–32 ขึ้นมากล่าวที่ว่า “พระเจ้าทรงปล่อยให้เขาเกิดมีใจราคะตัณหาอันน่าละอาย. . . . ผู้ชายกับผู้ชายด้วยกันกระทำการชั่วน่าละอาย, . . . เขารู้พระบัญญัติของพระเจ้าแล้วซึ่งว่า คนทั้งหลายที่ประพฤติการอย่างนั้นสมควรจะตาย, แต่เขายังประพฤติอยู่, และเห็นดีด้วยกับคนอื่นที่ประพฤติการเหล่านั้น.” เขาสรุปว่า “นักบุญเปาโลเพียงแต่เป็นกังวลเกี่ยวกับผู้ที่นั่งในโบสถ์. ปัญหาของดร. รุนซีคือพวกที่อยู่บนธรรมาสน์.”
เพราะเหตุใดอาร์ชบิชอปจึงมีปัญหาเช่นนั้น? พาดหัวข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์เดลี เมล์ ของลอนดอนฉบับ 22 ตุลาคม 1987 แถลงว่า “‘บาทหลวงหนึ่งในสามคนเป็นเกย์’ . . . การรณรงค์เพื่อขับพวกรักร่วมเพศออกไปนั้น ‘จะยุบคริสตจักรแห่งอังกฤษ.’” รายงานข่าวนั้นยกคำพูดของ “ท่านเจ้าคุณ” ผู้เป็นเลขาธิการทั่วไปของกลุ่มคริสเตียนที่เป็นเลสเบียนและเกย์ที่ว่า “ถ้าญัตตินี้เป็นที่ยอมรับก็คงจะเป็นการทำให้คริสตจักรล่ม และอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีทราบเรื่องนี้ดี. โดยการประมาณคร่าว ๆ เราเชื่อว่า มีนักเทศน์นักบวชของคริสตจักรแห่งอังกฤษระหว่างร้อยละ 30 ถึง 40 ที่เป็นเกย์. และพวกเขาเป็นพวกที่กระตือรือร้นที่สุดในการอุทิศตนเพื่องานรับใช้ของคริสตจักร.” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจำนวนที่ลดลงของศาสนิกชนนั้นเป็นผลสะท้อนส่วนหนึ่งจากความเบื่อหน่ายขยะแขยงต่อบาทหลวงรักร่วมเพศที่เพิ่มจำนวนขึ้น.
การประชุมคริสตจักรตัดสินอย่างไร? จำนวนที่ท่วมท้นคือสมาชิก 388 คน (ร้อยละ 95 ของบาทหลวง) ได้ออกเสียงสนับสนุนญัตติที่จางลง. เกี่ยวกับเรื่องนี้ วารสารนักเศรษฐศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 14 พฤศจิกายน 1987 รายงานว่า “คริสตจักรแห่งอังกฤษต่อต้านการรักร่วมเพศ แต่ไม่มากเท่าไร. ณ การประชุมทั่วไป สภาคริสตจักรซึ่งคำนึงถึงพวกบาทหลวงที่รักร่วมเพศ ในสัปดาห์นี้ได้ตัดสินว่า การทำการรักร่วมเพศ แตกต่างไปจากการผิดประเวณีและการเล่นชู้ ไม่เป็นบาป: พวกเขาเพียงแต่ ‘พลาดจากอุดมการณ์’ ที่ว่า ‘การมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการมอบตัวเต็มที่ซึ่งที่แท้ต้องทำภายในสายสัมพันธ์ถาวรของการสมรส.’” เพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างท่าทีของอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีกับถ้อยแถลงที่ตรงไปตรงมาของอัครสาวกเปาโลที่โรม 1:26, 27 วารสารนักเศรษฐศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) ได้แสดงถ้อยคำของเปาโลที่ยกมาอ้างไว้เหนือข้อความ “นักบุญเปาโลทราบดีว่าท่านคิดอย่างไร.”
พระเยซูคริสต์ทรงทราบเช่นกันว่าพระองค์ทรงคิดเช่นไรและทรงกล่าวถึงเรื่องนั้นอย่างตรงไปตรงมา. พระองค์ตรัสว่า “แผ่นดินโซโดมจะทนง่ายกว่าเจ้าในวันพิพากษา” ง่ายกว่าพวกนักศาสนาซึ่งบอกปัดข่าวสารของพระองค์. (มัดธาย 11:23, 24, ล.ม.) ในที่นี้พระเยซูทรงใช้สำนวนแบบเกินความจริงเพื่อแสดงว่า พวกผู้นำศาสนาเหล่านั้นซึ่งปฏิเสธพระบุตรของพระเจ้าและคำสั่งสอนของพระองค์เป็นพวกที่น่าจะถูกตำหนิยิ่งกว่าชาวโซโดมเสียด้วยซ้ำ. พระธรรมยูดาข้อ 7 กล่าวว่า ชาวโซโดมเหล่านั้นได้ “รับโทษตามกฎหมายด้วยไฟนิรันดร์” หมายถึงความพินาศตลอดกาล. (มัดธาย 25:41, 46) แล้วจะยิ่งเป็นการพิพากษาที่ร้ายแรงสักเพียงใดแก่คนเหล่านั้นที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้นำคริสเตียนซึ่งนำฝูงแกะตาบอดของเขาอย่างมองไม่เห็นทางไปไกลจากมาตรฐานด้านศีลธรรมอันสูงส่งแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าเข้าสู่โลกนี้ที่เสื่อมทราม ทำตามใจตนเอง! (มัดธาย 15:14) เกี่ยวกับศาสนาเท็จ บาบิโลนใหญ่ สุรเสียงจากสวรรค์เรียกอย่างเร่งด่วนดังนี้: “ประชาชนของเรา จงออกมาจากเมืองนี้ ถ้าพวกเจ้าไม่อยากมีส่วนร่วมในการบาปของเมืองนี้ และถ้าพวกเจ้าไม่อยากได้รับภัยพิบัติของเมืองนี้.”—วิวรณ์ 18:2, 4, ล.ม.
[ภาพหน้า 275]
ฟ้าสวรรค์ก้องกระหึ่มไปด้วยเสียงร้องฮัลเลลูยาห์สี่ครั้ง เป็นการสรรเสริญยาห์สำหรับชัยชนะอันเด็ดขาดของพระองค์เหนือบาบิโลนใหญ่