บท 20
ชนฝูงใหญ่จำนวนมากมาย
1. หลังจากพรรณนาถึงการประทับตราชน 144,000 คนแล้ว โยฮันเห็นคนกลุ่มอื่นใดอีก?
เมื่อได้พรรณนาถึงการประทับตราชน 144,000 คนแล้ว โยฮันก็เล่าต่อไปถึงการเปิดเผยที่น่าตื่นเต้นที่สุดอย่างหนึ่งในพระคัมภีร์ทั้งหมด. หัวใจของท่านคงเต้นแรงด้วยความปีติยินดีขณะที่ท่านเล่าถึงเรื่องนั้น ว่า “หลังจากนั้น ข้าพเจ้าเห็นชนฝูงใหญ่ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา ยืนอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์และเฉพาะพระพักตร์พระเมษโปดก พวกเขาสวมเสื้อคลุมยาวสีขาวและถือใบปาล์ม.” (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) ใช่แล้ว การยับยั้งลมจากสี่ทิศไว้ก็เปิดโอกาสเพื่อความรอดของอีกกลุ่มหนึ่ง นอกเหนือจากสมาชิก 144,000 คนแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ นั่นคือ ชนฝูงใหญ่จากนานาชาติซึ่งมีภาษาพูดแตกต่างกันมากมาย.a—วิวรณ์ 7:1.
2. นักวิจารณ์ฝ่ายโลกอธิบายถึงชนฝูงใหญ่นี้ว่าอย่างไร และแม้กระทั่งพวกนักศึกษาพระคัมภีร์ในอดีตก็มองดูคนกลุ่มนี้อย่างไร?
2 นักวิจารณ์ของโลกได้ตีความว่า ชนฝูงใหญ่นี้เป็นชนที่ไม่ใช่ชาวยิวโดยสายเลือดซึ่งได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ หรือเป็นคริสเตียนที่พลีชีพเพื่อความเชื่อโดยมีความหวังจะไปสวรรค์. แม้แต่นักศึกษาพระคัมภีร์ในสมัยก่อนยังคิดว่า ชนกลุ่มนี้เป็นชนฝ่ายสวรรค์ลำดับรอง ตามข้อสังเกตในปี 1886 ในคู่มือการศึกษาพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 แผนการของพระเจ้าในยุคต่าง ๆ กล่าวดังนี้: “พวกเขาพลาดรางวัลที่จะได้รับบัลลังก์และลักษณะเยี่ยงพระเจ้า แต่ในที่สุดจะได้กำเนิดเป็นกายวิญญาณซึ่งมีลำดับต่ำกว่าผู้มีลักษณะของพระเจ้า. แม้ว่าชนเหล่านี้ได้อุทิศตัวแล้วอย่างแท้จริง แต่พวกเขาก็พ่ายแพ้ต่อน้ำใจของโลกถึงขนาดที่เขาไม่ได้สละชีวิตของพวกเขาเป็นเครื่องบูชา.” และจนกระทั่งปี 1930 ก็มีการแสดงความคิดในหนังสือความสว่าง เล่มที่หนึ่ง (ภาษาอังกฤษ) ว่า “คนเหล่านั้นที่ประกอบกันเป็นชนฝูงใหญ่นี้ไม่ได้ตอบรับคำเชิญให้เป็นพยานที่กระตือรือร้นเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า.” มีการพรรณนาถึงพวกเขาว่า เป็นกลุ่มชนที่ถือตนว่าชอบธรรมซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับความจริงหากแต่ประกาศความจริงนั้นแต่เพียงเล็กน้อย. พวกเขาจะได้ไปสวรรค์ในฐานะชนลำดับรองซึ่งจะไม่มีส่วนในการปกครองร่วมกับพระคริสต์.
3. (ก) มีการเสนอความหวังอะไรแก่บางคนที่มีหัวใจสุจริตซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ที่กระตือรือร้นในงานประกาศ? (ข) วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ในปี 1923 ได้อธิบายถึงคำอุปมาเกี่ยวกับแกะและแพะไว้อย่างไร?
3 อย่างไรก็ตาม มีผู้สมทบคนอื่นของคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งต่อมามีความกระตือรือร้นยิ่งในงานประกาศ. พวกเขามิได้มีความมุ่งมาดปรารถนาจะไปสวรรค์. แท้ที่จริง ความหวังของพวกเขาสอดคล้องกับหัวเรื่องคำบรรยายสาธารณะเรื่องหนึ่งที่ประชาชนของพระยะโฮวาได้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 1918 จนถึงปี 1922. ในตอนแรก คำบรรยายนี้มีชื่อว่า “โลกนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว—หลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้จะไม่ตายเลย.”b หลังจากนั้นไม่นาน วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 1923 (ภาษาอังกฤษ) ได้อธิบายอุปมาของพระเยซูเรื่องแกะกับแพะ. (มัดธาย 25:31-46) โดยกล่าวว่า “แกะหมายถึงบรรดาผู้คนแห่งนานาชาติซึ่งไม่ได้บังเกิดฝ่ายวิญญาณแต่มีแนวโน้มในทางชอบธรรม ซึ่งมีจิตใจยอมรับพระเยซูคริสต์ ในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้า และซึ่งตั้งตาคอยและคาดหมายยุคที่ดีกว่าภายใต้การปกครองของพระองค์.”
4. แสงสว่างเกี่ยวกับชนจำพวกที่อยู่ฝ่ายแผ่นดินโลกได้กล้าขึ้นอย่างไรในปี 1931? ในปี 1932? ในปี 1934?
4 หลายปีต่อมา ในปี 1931 หนังสือการพิสูจน์ความถูกต้อง, เล่มที่หนึ่ง (ภาษาอังกฤษ) ได้พิจารณาพระธรรมยะเอศเคลบท 9 ซึ่งระบุตัวบุคคลเหล่านั้นที่ได้รับเครื่องหมายบนหน้าผากเพื่อรับการปกปักรักษาในคราวอวสานของโลกว่าเป็นแกะในอุปมาข้างต้น. การพิสูจน์ความถูกต้อง, เล่มสาม (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งพิมพ์ออกในปี 1932 ได้พรรณนาถึงเจตคติแห่งหัวใจที่ชอบธรรมของยะโฮนาดาบ ชายที่มิใช่ชาวอิสราเอล ซึ่งได้ขึ้นราชรถไปกับกษัตริย์เยฮูผู้ถูกเจิมของอิสราเอลและไปดูความกระตือรือร้นอันแรงกล้าของเยฮูในการสำเร็จโทษผู้ถือศาสนาเท็จ. (2 กษัตริย์ 10:15-17) หนังสือเล่มนั้นอธิบายว่า “ยะโฮนาดาบหมายถึงหรือเป็นภาพเล็งถึงชนจำพวกที่ในขณะนี้อยู่บนแผ่นดินโลกในช่วงเวลาที่งานของเยฮู [เกี่ยวกับการประกาศคำพิพากษาของพระยะโฮวา] กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งมีเจตนาดี, ไม่เข้าประสานกับองค์การของซาตาน, ผู้ยืนหยัดอยู่ฝ่ายความชอบธรรม, และเป็นผู้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะปกปักรักษาไว้ในระหว่างอาร์มาเก็ดดอน นำพวกเขาผ่านพ้นความยากลำบากนั้น และประทานชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกแก่พวกเขา. ชนเหล่านี้ประกอบเป็นชนจำพวก ‘แกะ.’” ในปี 1934 วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) อธิบายอย่างชัดเจนว่า ชนคริสเตียนเหล่านี้ซึ่งมีความหวังบนแผ่นดินโลกควรอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมา. แสงสว่างเกี่ยวกับชนจำพวกแผ่นดินโลกนี้กำลังส่องแสงเจิดจ้ายิ่งขึ้นทุกที.—สุภาษิต 4:18.
5. (ก) ได้มีการระบุตัวชนฝูงใหญ่อย่างไรในปี 1935? (ข) ในปี 1935 คราวที่ เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ดขอผู้เข้าร่วมการประชุมภาคซึ่งมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกให้ยืนขึ้นนั้น ได้เกิดอะไรขึ้น?
5 มาถึงตอนนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวรณ์ 7:9-17 กำลังจะปรากฏออกมาด้วยความสว่างอันรุ่งโรจน์ทีเดียว! (บทเพลงสรรเสริญ 97:11) วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ได้กล่าวหลายครั้งหลายหนถึงความหวังว่า การประชุมที่จัดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคมถึง 3 มิถุนายน 1935 ในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกานั้นจะเป็น “การปลอบประโลมและประโยชน์ที่แท้จริง” ต่อคนเหล่านั้นที่ยะโฮนาดาบเป็นภาพเล็งถึง. และปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง! ในคำบรรยายที่เร้าใจเรื่อง “ชนจำนวนมากมาย” ซึ่งกล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 20,000 คน เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ซึ่งในตอนนั้นนำหน้าในงานประกาศทั่วโลก ให้ข้อพิสูจน์จากพระคัมภีร์ว่า แกะอื่นในปัจจุบันนี้เป็นชนจำพวกเดียวกับชนฝูงใหญ่ในวิวรณ์ 7:9. ในตอนจุดสุดยอดของคำบรรยายนี้ ผู้บรรยายบอกว่า “คนเหล่านั้นที่มีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกนี้ขอโปรดยืนขึ้น.” ในขณะที่ผู้ฟังส่วนใหญ่ยืนขึ้น ผู้บรรยายประกาศว่า “มองดูสิ! ชนจำนวนมากมาย!” แล้วก็มีความเงียบสงัด และติดตามมาด้วยเสียงโห่ร้องยินดีดังกึกก้อง. ชนจำพวกโยฮันมีความปีติยินดีสักเพียงไร—รวมทั้งชนจำพวกยะโฮนาดาบด้วย! ในวันรุ่งขึ้น พยานฯใหม่ 840 คนรับบัพติสมา ซึ่งส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ได้แสดงตัวเป็นชนฝูงใหญ่นั้น.
การยืนยันเอกลักษณ์ของชนฝูงใหญ่
6. (ก) เพราะเหตุใดเราจึงเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า ชนฝูงใหญ่ก็คือกลุ่มคริสเตียนที่ได้อุทิศตัวแล้วในสมัยปัจจุบันซึ่งหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก? (ข) เสื้อคลุมยาวสีขาวของชนฝูงใหญ่เป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร?
6 เราจะกล่าวอย่างมั่นใจได้อย่างไรว่า ชนฝูงใหญ่คือกลุ่มชนคริสเตียนในปัจจุบันที่อุทิศตัวแล้วซึ่งมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกของพระเจ้า? ในนิมิตก่อนหน้านี้ โยฮันได้เห็นกลุ่มชนที่มีความหวังทางภาคสวรรค์ ซึ่ง “ทรงซื้อ . . . จากทุกตระกูล ทุกภาษา ทุกชนชาติ และทุกประเทศ . . . เพื่อถวายแด่พระเจ้า.” (วิวรณ์ 5:9, 10, ล.ม.) ชนฝูงใหญ่ก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายคลึงกันแต่มีจุดหมายปลายทางต่างกัน. ต่างจากอิสราเอลของพระเจ้า จำนวนของชนฝูงใหญ่นี้ไม่มีการกำหนดไว้ก่อน. ไม่มีคนใดอาจบอกล่วงหน้าว่าจะมีจำนวนเท่าใด. เสื้อคลุมยาวของพวกเขาถูกชำระล้างให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า พวกเขามีฐานะที่ชอบธรรมเฉพาะพระยะโฮวาโดยอาศัยความเชื่อในค่าไถ่ของพระเยซู. (วิวรณ์ 7:14) และพวกเขากำลังโบกใบปาล์ม โห่ร้องต้อนรับพระมาซีฮาในฐานะกษัตริย์ของพวกเขา.
7, 8. (ก) การโบกใบปาล์มนั้นคงทำให้อัครสาวกโยฮันระลึกถึงเหตุการณ์อะไร? (ข) อะไรคือความหมายของข้อเท็จจริงที่ว่า ชนฝูงใหญ่กำลังโบกใบปาล์มอยู่?
7 ขณะที่โยฮันมองดูนิมิตนี้ ท่านคงหวนคิดถึงสัปดาห์สุดท้ายที่พระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลกนี้เมื่อ 60 กว่าปีก่อน. ในวันที่ 9 เดือนไนซาน สากลศักราช 33 เมื่อฝูงชนพากันมาต้อนรับพระเยซูเข้าสู่กรุงเยรูซาเลม “ถือทางปาล์มออกไปต้อนรับพระองค์. และพวกเขาก็เริ่มโห่ร้องว่า ‘ข้าฯวิงวอนโปรดช่วยให้รอด! พระพรมีแด่พระองค์ผู้ซึ่งเสด็จมาในพระนามของพระยะโฮวา ได้แก่พระมหากษัตริย์ของอิสราเอล!’” (โยฮัน 12:12, 13, ล.ม.) ในทำนองเดียวกัน การที่ชนฝูงใหญ่โบกใบปาล์มและโห่ร้องก็แสดงถึงความยินดีเป็นล้นพ้นในการยอมรับพระเยซูในฐานะกษัตริย์ที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้ง.
8 ไม่ต้องสงสัย ใบปาล์มและเสียงโห่ร้องยินดีคงต้องทำให้โยฮันระลึกถึงการเลี้ยงตั้งทับอาศัยของชาติอิสราเอลโบราณด้วยเช่นกัน. เกี่ยวกับการเลี้ยงนี้ พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาว่า “ในวันแรกเจ้าจงนำมาซึ่งผลจากต้นมะงั่ว ใบอินทผลัม [“ใบปาล์ม,” ล.ม.] กิ่งไม้ที่มีใบมาก กิ่งต้นไค้ และเจ้าจงปีติยินดีอยู่เจ็ดวันต่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า.” มีการใช้ใบปาล์มเป็นสัญลักษณ์ของความปีติยินดี. ส่วนทับที่ตั้งขึ้นชั่วคราวนั้นเป็นเครื่องเตือนความทรงจำว่าพระยะโฮวาเคยช่วยประชาชนของพระองค์ออกจากอียิปต์ ให้อาศัยอยู่ในกระโจมอยู่ในป่า. “คนแขกเมือง คนกำพร้า และหญิงหม้าย” ก็ร่วมในการเลี้ยงนี้ด้วย. ชาวอิสราเอลทุกคนควรจะ “มีความยินดีอย่างยิ่ง.”—เลวีติโก 23:40, ฉบับแปลใหม่; พระบัญญัติ 16:13-15.
9. ชนฝูงใหญ่ร่วมในการโห่ร้องด้วยความยินดีอะไร?
9 ดังนั้น แม้จะไม่ได้เป็นส่วนแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ แต่ก็เป็นการเหมาะสมที่ชนฝูงใหญ่จะโบกใบปาล์ม เนื่องจากด้วยความปีติยินดีและด้วยความขอบพระคุณ พวกเขาถือว่าชัยชนะและความรอดนั้นเนื่องมาจากพระเจ้าและพระเมษโปดก ตามที่โยฮันได้เห็นในที่นี้ว่า “แล้วพวกเขาร้องเสียงดังว่า ‘ความรอดมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์ และมาจากพระเมษโปดก.’” (วิวรณ์ 7:10, ล.ม.) แม้ว่าพวกเขาจะถูกเลือกออกจากกลุ่มชนทุกเชื้อชาติ แต่ชนฝูงใหญ่นี้ก็ร้อง “เสียงดัง” เป็นเสียงเดียวเท่านั้น. พวกเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีความแตกต่างกันทางด้านเชื้อชาติและภาษา?
10. ชนฝูงใหญ่สามารถร้องออกมาอย่างเป็นเอกภาพด้วย “เสียงดัง” เป็นเสียงเดียวได้อย่างไรแม้จะมาจากหลายประเทศและหลายภาษา?
10 ชนฝูงใหญ่นี้เป็นส่วนแห่งองค์การนานาชาติที่เป็นเอกภาพอย่างแท้จริงองค์การเดียวเท่านั้นบนแผ่นดินโลกในทุกวันนี้. พวกเขาไม่มีมาตรฐานที่ต่างกันเมื่ออยู่คนละประเทศ แต่เขานำหลักการที่ถูกต้องในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้เหมือนกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ที่ใด. พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการชาตินิยมหรือขบวนการปฏิวัติ แต่ได้ ‘เอาดาบตีเป็นผาลไถนา’ อย่างแท้จริง. (ยะซายา 2:4) พวกเขาไม่ได้แบ่งออกเป็นนิกายต่าง ๆ แล้วป่าวประกาศข่าวสารที่สับสนหรือขัดแย้งกันดังที่นิกายต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนจักรทำกัน อีกทั้งไม่ได้ปล่อยเป็นหน้าที่ของพวกนักเทศน์อาชีพให้ทำการสรรเสริญพระเจ้าแทนพวกเขา. พวกเขาไม่ได้ร้องว่า พวกเขาได้ความรอดเนื่องมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นผู้รับใช้ของพระตรีเอกานุภาพ. ในประมาณ 200 ดินแดนทั่วโลก พวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการร้องออกพระนามของพระยะโฮวา ขณะพวกเขาพูดภาษาบริสุทธิ์แห่งความจริงเพียงภาษาเดียว. (ซะฟันยา 3:9) อย่างเหมาะสม พวกเขายอมรับอย่างเปิดเผยว่า ความรอดของพวกเขามาจากพระยะโฮวา พระเจ้าแห่งความรอด โดยผ่านทางพระเยซูคริสต์ ผู้นำองค์เอกแห่งความรอดที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง.—บทเพลงสรรเสริญ 3:8; เฮ็บราย 2:10.
11. เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยคนเหล่านั้นแห่งชนฝูงใหญ่อย่างไรในการทำให้เสียงดังของเขายิ่งดังขึ้น?
11 เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยให้เสียงร้องของชนหมู่ใหญ่ที่เป็นเอกภาพนั้นดังยิ่งขึ้น. ไม่มีกลุ่มศาสนาอื่นใดบนแผ่นดินโลกมีความจำเป็นจะต้องพิมพ์คู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 400 ภาษา เนื่องจากไม่มีกลุ่มอื่นใดที่ใส่ใจในการเข้าถึงผู้คนทุกชาติบนแผ่นดินโลกด้วยข่าวสารที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว. เพื่อจะช่วยในโครงการนั้น ได้มีการพัฒนาระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสงทางอิเล็กทรอนิกส์อเนกภาษา (Multilanguage Electronic Phototypesetting System, MEPS) ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการปกครองผู้ถูกเจิมของพยานพระยะโฮวา. ในช่วงที่มีการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ มีการใช้ระบบเมปส์นี้เพื่อจัดการกับข้อความที่แปลแล้วในกว่า 125 ประเทศทั่วโลก และระบบนี้ช่วยให้พิมพ์หอสังเกตการณ์ อันเป็นวารสารรายปักษ์ได้ใน 130 กว่าภาษาพร้อม ๆ กัน. ประชาชนของพระยะโฮวายังจัดพิมพ์หนังสือต่าง ๆ อย่างเช่นหนังสือนี้ ออกในหลายภาษาพร้อมกันด้วย. ดังนั้น พยานพระยะโฮวา ซึ่งประกอบด้วยชนฝูงใหญ่เป็นส่วนมาก จึงสามารถจำหน่ายหนังสือต่าง ๆ หลายร้อยล้านเล่มทุกปีในภาษาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทุกภาษา ยังผลให้ฝูงคนมากขึ้นจากทุกเผ่าพันธุ์ ทุกภาษา ศึกษาพระคำของพระเจ้าและเข้ามาร่วมประสานเสียงกับเสียงร้องอันดังของชนฝูงใหญ่.—ยะซายา 42:10, 12.
ในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก?
12, 13. ในแง่ใดที่ชนฝูงใหญ่ “ยืนอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์และเฉพาะพระพักตร์พระเมษโปดก”?
12 เราทราบได้อย่างไรว่าการ “ยืนอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์” มิได้หมายความว่าชนฝูงใหญ่นั้นอยู่ในสวรรค์? มีหลักฐานชัดแจ้งมากในเรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลในข้อนี้ว่า “ตรงหน้า” (เอโนพิโอน) มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ในที่ที่เห็นได้จาก” และมีการใช้หลายครั้งกับมนุษย์บนแผ่นดินโลกซึ่งอยู่ “จำเพาะพระพักตร์” พระยะโฮวา หรืออยู่ “ในที่ที่พระองค์ทรงเห็น.” (1 ติโมเธียว 5:21; 2 ติโมเธียว 2:14; โรม 14:22; ฆะลาเตีย 1:20) ในโอกาสหนึ่งเมื่อชนชาติอิสราเอลอยู่ในป่ากันดาร โมเซได้บอกกับอาโรนว่า “จงบอกชนชาติยิศราเอลทั้งปวงให้เข้ามาใกล้พระยะโฮวา; เพราะพระองค์ทรงทราบคำบ่นของเจ้าแล้ว.” (เอ็กโซโด 16:9) ชนชาติอิสราเอลไม่จำเป็นต้องถูกส่งขึ้นไปยังสวรรค์เพื่อยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาในโอกาสนั้น. (เทียบกับเลวีติโก 24:8.) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขายืนอยู่ในที่ที่พระยะโฮวาทรงเห็นในป่ากันดารนั้นเอง และพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่พวกเขา.
13 นอกจากนี้ เรายังอ่านว่า “เมื่อบุตรมนุษย์จะเสด็จมาด้วยรัศมีภาพของพระองค์ . . . บรรดาชนชาติต่าง ๆ จะประชุมพร้อมกันต่อพระพักตร์พระองค์.”c มนุษยชาติทั้งมวลจะไม่อยู่ในสวรรค์เมื่อคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริง. แน่นอน คนเหล่านั้นที่ “รับโทษอยู่เป็นนิตย์” จะไม่อยู่ในสวรรค์. (มัดธาย 25:31-33, 41, 46) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น มนุษยชาติยืนอยู่บนแผ่นดินโลกในที่ซึ่งพระเยซูทรงเห็น และพระองค์ทรงหันความเอาพระทัยใส่มาเพื่อพิพากษาพวกเขา. ในทำนองเดียวกัน ชนฝูงใหญ่อยู่ “ตรงหน้าราชบัลลังก์และเฉพาะพระพักตร์พระเมษโปดก” ในแง่ที่ว่า พวกเขายืนอยู่ในที่ที่พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์มหากษัตริย์ของพระองค์ทรงเห็น ซึ่งพวกเขาได้รับการพิพากษาอย่างเป็นผลดีจากทั้งสองพระองค์.
14. (ก) มีการพรรณนาถึงผู้ใดว่าอยู่ “ล้อมรอบราชบัลลังก์” และ “บนภูเขาซีโอน [ฝ่ายสวรรค์]”? (ข) แม้ว่าชนฝูงใหญ่ถวายการรับใช้พระเจ้า “ในพระวิหารของพระองค์” ก็ตาม เหตุใดสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นชนจำพวกปุโรหิต?
14 มีการพรรณนาถึงผู้ปกครอง 24 คนและกลุ่มผู้ถูกเจิม 144,000 คนว่าอยู่ “ล้อมรอบราชบัลลังก์” ของพระยะโฮวาและอยู่ “บนภูเขาซีโอน [ฝ่ายสวรรค์].” (วิวรณ์ 4:4; 14:1, ล.ม.) ชนฝูงใหญ่ไม่ได้เป็นชนจำพวกปุโรหิตและไม่ได้รับตำแหน่งอันสูงส่งนั้น. จริงอยู่ ต่อมามีพรรณนาถึงพวกเขาที่วิวรณ์ 7:15 ว่ารับใช้พระเจ้าอยู่ “ในพระวิหารของพระองค์.” แต่พระวิหารนี้ไม่ได้หมายถึงสถานศักดิ์สิทธิ์ชั้นในซึ่งเป็นที่ที่บริสุทธิ์ที่สุด. พระวิหารนี้หมายถึงลานวิหารภาคแผ่นดินโลกนี้แห่งพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. คำภาษากรีกนาโอส ซึ่งในที่นี้ได้รับการแปลว่า “พระวิหาร” มักมีความหมายครอบคลุมถึงสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่สร้างขึ้นเพื่อนมัสการพระยะโฮวา. ปัจจุบัน พระวิหารนี้เป็นสิ่งก่อสร้างฝ่ายวิญญาณที่รวมทั้งสวรรค์และแผ่นดินโลกด้วย.—เทียบกับ มัดธาย 26:61; 27:5, 39, 40; มาระโก 15:29, 30; โยฮัน 2:19-21, ล.ม., เชิงอรรถ.
เสียงร้องสรรเสริญทั่วเอกภพ
15, 16. (ก) มีปฏิกิริยาอย่างไรในสวรรค์ต่อการปรากฏตัวของชนฝูงใหญ่? (ข) กายวิญญาณที่พระยะโฮวาทรงสร้างขึ้นนั้นสนองตอบอย่างไรต่อการเปิดเผยใหม่ ๆ แต่ละอย่างเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระองค์? (ค) พวกเราซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกจะร่วมในการร้องเพลงสรรเสริญนั้นได้อย่างไร?
15 ชนฝูงใหญ่กำลังสรรเสริญพระยะโฮวาอยู่ แต่ก็มีบุคคลอื่นด้วยที่กำลังร้องเพลงสรรเสริญพระองค์. โยฮันเล่าว่า “แล้วทูตสวรรค์ทุกองค์ที่ยืนอยู่รอบราชบัลลังก์นั้นและรอบพวกผู้ปกครองกับสิ่งมีชีวิตสี่องค์ก็หมอบลงนมัสการพระเจ้าตรงหน้าราชบัลลังก์นั้น และทูลว่า ‘อาเมน! ขอให้คำสรรเสริญ เกียรติยศ พระสติปัญญา การขอบพระคุณ ความนับถือ อำนาจ และฤทธิ์เดชจงมีแด่พระเจ้าของพวกข้าพเจ้าตลอดไปเป็นนิตย์. อาเมน.’”—วิวรณ์ 7:11, 12, ล.ม.
16 คราวที่พระยะโฮวาทรงสร้างแผ่นดินโลก เหล่าทูตสวรรค์บริสุทธิ์ทั้งปวงของพระองค์ “แซ่ซ้องสรรเสริญ, และเหล่าบุตรของพระเจ้าส่งเสียงแสดงความยินดี.” (โยบ 38:7) การเปิดเผยขั้นใหม่ถึงพระประสงค์ของพระยะโฮวาในแต่ละครั้งคงต้องก่อเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญที่คล้ายคลึงกันจากเหล่าทูตสวรรค์เป็นแน่. เมื่อผู้ปกครอง 24 คน—คือ 144,000 คนในสง่าราศีฝ่ายสวรรค์—ร้องเสียงดังด้วยการยอมรับในพระเมษโปดก สิ่งทรงสร้างอื่น ๆ ทั้งปวงในสวรรค์ของพระเจ้าก็ประสานเสียงร้องสรรเสริญแด่พระเยซูและแด่พระยะโฮวาพระเจ้าด้วย. (วิวรณ์ 5:9-14) สิ่งทรงสร้างเหล่านี้มีความปีติยินดียิ่งอยู่แล้วที่ได้เห็นความสำเร็จแห่งพระประสงค์ของพระยะโฮวาในการปลุกมนุษย์ผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ให้เป็นขึ้นมาสู่สถานอันรุ่งโรจน์ในแดนวิญญาณ. มาตอนนี้ สิ่งทรงสร้างที่ซื่อสัตย์ทั้งหลายของพระยะโฮวาในสวรรค์ได้เปล่งเสียงสรรเสริญอันไพเราะในขณะที่ชนฝูงใหญ่ปรากฏตัว. จริงทีเดียว สำหรับบรรดาผู้รับใช้ของพระยะโฮวาแล้ว วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นที่จะมีชีวิตอยู่. (วิวรณ์ 1:10) บนแผ่นดินโลกนี้เอง เรามีสิทธิพิเศษจริง ๆ ในการร่วมร้องเพลงสรรเสริญด้วยการให้คำพยานถึงราชอาณาจักรของพระยะโฮวา!
ชนฝูงใหญ่ปรากฏตัว
17. (ก) คำถามอะไรมีการยกขึ้นมาโดยผู้ปกครองคนหนึ่งใน 24 คนนั้น และความจริงที่ว่า ผู้ปกครองสามารถกำหนดคำตอบได้นั้นชี้แนะถึงอะไร? (ข) คำถามของผู้ปกครองคนนั้นได้รับคำตอบเมื่อไร?
17 นับตั้งแต่สมัยของอัครสาวกโยฮันเรื่อยมาจนถึงวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า คริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่แน่ใจเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของชนฝูงใหญ่. จึงเป็นการเหมาะสมที่ผู้หนึ่งในพวกผู้ปกครอง 24 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของชนผู้ถูกเจิมซึ่งอยู่ในสวรรค์แล้ว พึงกระตุ้นความคิดของโยฮันโดยตั้งคำถามที่เจาะจงว่า “แล้วผู้ปกครองคนหนึ่งจึงถามข้าพเจ้าว่า ‘คนเหล่านี้ที่สวมเสื้อคลุมยาวสีขาวเป็นใครและมาจากที่ไหน.’ ข้าพเจ้าตอบท่านทันทีว่า ‘ท่านเจ้าข้า ท่านก็รู้อยู่แล้ว’” (วิวรณ์ 7:13, 14ก, ล.ม.) ใช่ ผู้ปกครองคนนั้นทราบคำตอบและบอกกับโยฮัน. ทั้งนี้บอกเป็นนัยว่าผู้ที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายแห่งพวกผู้ปกครอง 24 คนนี้อาจมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดความจริงจากพระเจ้าในทุกวันนี้. ส่วนคนเหล่านั้นที่อยู่ในชนจำพวกโยฮันบนแผ่นดินโลก ได้มารู้ถึงเอกลักษณ์ของชนฝูงใหญ่ด้วยการสังเกตสิ่งที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติในท่ามกลางพวกเขาอย่างใกล้ชิด. พวกเขาไวต่อการสังเกตเห็นแสงที่เจิดจ้าจากพระเจ้าซึ่งส่องสว่างทั่วฟ้าสวรรค์ตามระบอบของพระเจ้าในปี 1935 ณ เวลากำหนดของพระยะโฮวา.
18, 19. (ก) ชนจำพวกโยฮันเน้นถึงความหวังอะไรในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 แต่ใครที่ตอบรับต่อข่าวสารนั้นด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้น? (ข) การระบุตัวชนฝูงใหญ่ในปี 1935 นั้นบ่งชี้ถึงสิ่งใดเกี่ยวกับชน 144,000 คน? (ค) สถิติเกี่ยวกับการประชุมอนุสรณ์เปิดเผยถึงอะไร?
18 ในช่วงทศวรรษ 1920 และช่วงต้นทศวรรษ 1930 ชนจำพวกโยฮันเน้นความหวังภาคสวรรค์ ทั้งในสรรพหนังสือและในงานประกาศ. ดูเหมือนว่า ในเวลานั้นจำนวน 144,000 คนจะต้องมีให้ครบถ้วนเสียก่อน. แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นของคนเหล่านั้นที่ใส่ใจต่อข่าวสารและแสดงความกระตือรือร้นในงานให้คำพยานนั้นประกาศตัวว่าสนใจจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. พวกเขาไม่ปรารถนาจะไปสวรรค์. นั่นมิใช่การทรงเรียกสำหรับพวกเขา. พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนแห่งแกะฝูงน้อยแต่เป็นส่วนแห่งแกะอื่น. (ลูกา 12:32; โยฮัน 10:16) การที่พวกเขาถูกระบุตัวในปี 1935 ว่าเป็นชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นนั้นบ่งชี้ว่า การเลือกชน 144,000 คนจวนจะครบถ้วนแล้วในเวลานั้น.
19 สถิติต่าง ๆ สนับสนุนข้อสรุปนี้ไหม? ใช่แล้ว. ในปี 1938 ตลอดทั่วโลก พยานพระยะโฮวา 59,047 คนมีส่วนร่วมในงานรับใช้. 36,732 คนในจำนวนนี้รับเครื่องหมาย ณ การฉลองอนุสรณ์ประจำปีเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู โดยวิธีนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า พวกเขาได้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์. นับแต่นั้นมา จำนวนผู้รับเครื่องหมายเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ลดลงในแต่ละปี ส่วนใหญ่แล้วเนื่องจากพยานผู้ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาได้จบชีวิตทางแผ่นดินโลก. ในปี 2005 มีเพียง 8,524 คนที่รับเครื่องหมายในการฉลองอนุสรณ์—ไม่ถึง 0.05 เปอร์เซ็นต์ของ 16,390,116 คนที่เข้าร่วมการฉลองนั้นทั่วโลก.
20. (ก) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ได้ให้ความเห็นเป็นส่วนตัวอย่างไรเกี่ยวกับชนฝูงใหญ่? (ข) ข้อเท็จจริงอะไรในเวลานี้แสดงให้เห็นว่า ชนฝูงใหญ่นั้นเป็นฝูงชนขนาดใหญ่จริง ๆ?
20 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ซาตานพยายามอย่างสุดเหวี่ยงเพื่อจะหยุดงานรวบรวมชนฝูงใหญ่. พระราชกิจของพระยะโฮวาถูกจำกัดในหลายประเทศ. ในช่วงเวลาอันมืดมนนั้น และไม่นานก่อนที่ เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด จะสิ้นชีวิตในเดือนมกราคม 1942 มีผู้ได้ยินท่านพูดว่า “ดูเหมือนว่า ชนจำนวนมากจะไม่มีจำนวนมากมายเท่าใดนัก.” แต่พระเจ้ากลับทรงอวยพระพรให้เป็นอย่างอื่น! ถึงปี 1946 จำนวนพยานฯที่รับใช้ทั่วโลกสูงขึ้นถึง 176,456 คน ซึ่งส่วนมากเป็นชนฝูงใหญ่. ในปี 2005 มีพยานฯ 6,390,022 คนที่รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ใน 235 ดินแดน—ช่างเป็นชนฝูงใหญ่จริง ๆ! และนับวันก็ทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ.
21. (ก) การรวบรวมประชาชนของพระเจ้าในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้สอดคล้องอย่างเต็มที่กับนิมิตที่โยฮันได้เห็นนั้นอย่างไร? (ข) คำพยากรณ์สำคัญบางอย่างได้เริ่มสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
21 ดังนั้น การรวบรวมประชาชนของพระเจ้าในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงลงรอยกับนิมิตของโยฮันทุกประการ คือมีงานรวบรวมชนที่เหลือแห่ง 144,000 คนก่อน ครั้นแล้วจึงรวบรวมชนฝูงใหญ่. ตามที่ยะซายาได้พยากรณ์ไว้ บัดนี้ “ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัย” ผู้คนจากทุกชาติหลั่งไหลเข้ามาร่วมในการนมัสการอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. และจริงทีเดียว เราปีติยินดีด้วยการหยั่งรู้ค่าที่พระยะโฮวาทรงสร้าง “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่.” (ยะซายา 2:2-4; 65:17, 18, ล.ม.) พระเจ้ากำลังรวบรวม “สิ่งสารพัดเข้าไว้ในพระคริสต์อีก คือสิ่งต่าง ๆ ในสวรรค์และสิ่งต่าง ๆ ที่แผ่นดินโลก.” (เอเฟโซ 1:10, ล.ม.) เหล่าทายาทที่ถูกเจิมแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ ซึ่งถูกเลือกมาตลอดหลายศตวรรษนับตั้งแต่สมัยของพระเยซู คือ “สิ่งต่าง ๆ ในสวรรค์.” และในตอนนี้ ชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นก็ปรากฏเป็นชนจำพวกแรกแห่ง “สิ่งต่าง ๆ ที่แผ่นดินโลก.” การที่คุณรับใช้ให้ประสานกับการจัดเตรียมนั้นอาจหมายถึงความสุขตลอดไปสำหรับคุณ.
พระพรสำหรับชนฝูงใหญ่
22. โยฮันได้รับรายละเอียดอะไรอื่นอีกที่เกี่ยวข้องกับชนฝูงใหญ่?
22 โดยผ่านช่องทางสื่อสารของพระเจ้า โยฮันได้รับข่าวสารเกี่ยวกับชนฝูงใหญ่นี้เพิ่มเติมว่า “ท่าน [ผู้ปกครองนั้น] จึงบอกข้าพเจ้าว่า ‘คนเหล่านี้เป็นผู้ที่ผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่และได้ซักเสื้อคลุมของตนและทำให้ขาวด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก. เพราะเหตุนี้ พวกเขาจึงอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้าและทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวายพระองค์ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์ และพระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์นั้นจะกางพลับพลาของพระองค์ไว้เหนือพวกเขา.’”—วิวรณ์ 7:14ข, 15, ล.ม.
23. ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ซึ่งชนฝูงใหญ่ “ผ่าน” มานั้นคืออะไร?
23 ก่อนหน้านี้ พระเยซูได้ตรัสว่า การประทับของพระองค์ด้วยสง่าราศีแห่งราชอาณาจักรนั้นจะบรรลุจุดสุดยอดใน “ความทุกข์ลำบากใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีโลกจนกระทั่งบัดนี้ ใช่ และจะไม่เกิดขึ้นอีก.” (มัดธาย 24:21, 22, ล.ม.) ในความสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์นั้น บรรดาทูตสวรรค์จะปล่อยลมทั้งสี่แห่งแผ่นดินโลกมาทำลายล้างระบบโลกของซาตาน. สิ่งแรกที่จะถูกทำลายคือบาบิโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. ครั้นแล้ว ณ จุดสุดยอดของความทุกข์ลำบาก พระเยซูจะทรงช่วยชนที่เหลือแห่ง 144,000 คนบนแผ่นดินโลก พร้อมด้วยชนฝูงใหญ่จำนวนมากมายให้รอด.—วิวรณ์ 7:1; 18:2.
24. แต่ละคนในชนฝูงใหญ่นั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไรเพื่อจะรอดชีวิต?
24 ชนฝูงใหญ่เป็นรายบุคคลต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะรอดชีวิต? ผู้ปกครองคนนั้นบอกโยฮันว่า พวกเขาได้ “ซักเสื้อคลุมของตนและทำให้ขาวด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก.” พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาได้สำแดงความเชื่อในพระเยซูในฐานะผู้ไถ่ ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งการอุทิศตัวด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ และ “รักษาสติรู้สึกผิดชอบอันดี” ด้วยการประพฤติอันชอบธรรม. (1 เปโตร 3:16, 21, ล.ม.; มัดธาย 20:28) ฉะนั้น พวกเขาจึงสะอาดและชอบธรรมในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. และพวกเขารักษาตัว “ให้พ้นจากราคีแห่งโลก.”—ยาโกโบ 1:27.
25. (ก) การที่ชนฝูงใหญ่ถวาย ‘งานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหาร’ แด่พระยะโฮวานั้นคืออย่างไร? (ข) พระยะโฮวาทรง “กางพลับพลา” ของพระองค์ไว้เหนือชนฝูงใหญ่อย่างไร?
25 ยิ่งกว่านั้น พวกเขาได้มาเป็นพยานที่กระตือรือร้นของพระยะโฮวา “ทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวายพระองค์ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.” คุณเป็นคนหนึ่งในชนฝูงใหญ่ที่อุทิศตัวนี้ไหม? หากใช่ ก็นับเป็นสิทธิพิเศษของคุณที่จะรับใช้พระยะโฮวาอย่างไม่หยุดหย่อนในลานวิหารทางแผ่นดินโลกแห่งพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์. ปัจจุบัน ภายใต้การชี้นำของเหล่าผู้ถูกเจิม ชนฝูงใหญ่กำลังทำงานส่วนใหญ่ในการให้คำพยาน. แม้ว่าจะมีหน้าที่รับผิดชอบทางฝ่ายโลก แต่พวกเขานับแสนคนก็ยังจัดแบ่งเวลาสำหรับงานรับใช้เต็มเวลาในฐานะไพโอเนียร์. แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ในฐานะที่เป็นสมาชิกที่อุทิศตัวแล้วของชนฝูงใหญ่ คุณก็มีความยินดีได้ที่คุณได้รับการประกาศว่าชอบธรรมในฐานะสหายของพระเจ้าและได้รับการต้อนรับในฐานะแขกในพลับพลาของพระองค์ เนื่องจากความเชื่อและการงานของคุณ. (บทเพลงสรรเสริญ 15:1-5; ยาโกโบ 2:21-26) พระยะโฮวาจึงทรง ‘กางพลับพลาของพระองค์’ เหนือผู้ที่รักพระองค์ และในฐานะเจ้าบ้านที่ดี พระองค์ทรงปกป้องพวกเขาไว้.—สุภาษิต 18:10.
26. ชนฝูงใหญ่จะได้รับพระพรอื่น ๆ อะไรอีก?
26 ผู้ปกครองนั้นกล่าวต่อไปว่า “พวกเขาจะไม่หิวและกระหายอีกเลย ดวงอาทิตย์และความร้อนก็จะไม่แผดเผาพวกเขา เพราะพระเมษโปดกซึ่งอยู่ตรงกลางราชบัลลังก์นั้นจะทรงเลี้ยงดูพวกเขา และจะทรงนำพวกเขาไปยังน้ำพุทั้งหลายที่มีน้ำแห่งชีวิต. แล้วพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา.” (วิวรณ์ 7:16, 17, ล.ม.) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงมีพระทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จริง ๆ! แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งแค่ไหนสำหรับถ้อยคำเหล่านี้?
27. (ก) ยะซายาได้พยากรณ์ถึงบางสิ่งที่คล้ายคลึงกับถ้อยคำของผู้ปกครองนั้นอย่างไร? (ข) อะไรแสดงว่า คำพยากรณ์ของยะซายาเริ่มสำเร็จเป็นจริงกับประชาคมคริสเตียนในสมัยของเปาโล?
27 ให้เราพิจารณาคำพยากรณ์ที่มีถ้อยคำคล้ายคลึงกันดังนี้: “พระยะโฮวาได้ตรัสว่าดังนี้: ‘ในสมัยโปรดปราน, เราได้ตอบเจ้า, ในสมัยความรอด, เราได้ช่วยเจ้าไว้; . . . เขาทั้งหลายจะไม่หิวหรือกระหาย, และลมร้อนหรือแดดจะไม่เผาเขา, เพราะพระผู้ทรงเมตตาแก่เขาจะนำเขาไป, และพระองค์จะพาเขาไปถึงน้ำพุ.’” (ยะซายา 49:8, 10; ดูที่บทเพลงสรรเสริญ 121:5, 6 ด้วย.) อัครสาวกเปาโลได้ยกบางส่วนของคำพยากรณ์นี้ขึ้นมากล่าว และใช้กับ “วันแห่งความรอด” ซึ่งเริ่มในวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33. ท่านเขียนว่า “เพราะว่าพระองค์ [พระยะโฮวา] ตรัสแล้วว่า, ‘เราได้ฟังท่านในเวลาอันชอบ, และเราได้สงเคราะห์ท่านในวันแห่งความรอด.’ นี่แน่ะ บัดนี้เป็นเวลาอันชอบ นี่แน่ะ บัดนี้เป็นวันแห่งความรอด.”—2 โกรินโธ 6:2.
28, 29. (ก) ถ้อยคำของยะซายาสำเร็จในศตวรรษแรกอย่างไร? (ข) ถ้อยคำในวิวรณ์ 7:16 สำเร็จเป็นจริงกับชนฝูงใหญ่อย่างไร? (ค) อะไรคือผลจากการที่ชนฝูงใหญ่ถูกนำไปถึง “น้ำพุทั้งหลายที่มีน้ำแห่งชีวิต”? (ง) เพราะเหตุใดชนฝูงใหญ่จึงจะเป็นที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในท่ามกลางมนุษยชาติ?
28 คำสัญญาที่ว่าจะไม่หิวหรือกระหายหรือไม่ต้องความร้อนแผดเผานั้นมีความหมายอย่างไรในสมัยนั้น? แน่นอน คริสเตียนในศตวรรษแรกต้องหิวจริงและกระหายจริงเป็นครั้งคราว. (2 โกรินโธ 11:23-27) แต่ในด้านฝ่ายวิญญาณแล้ว พวกเขามีอุดมบริบูรณ์. พวกเขาได้รับการจัดหาให้อย่างอุดม พวกเขาจึงไม่หิวหรือกระหายฝ่ายวิญญาณ. ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาไม่ได้ทรงให้ความร้อนแรงแห่งพระพิโรธของพระองค์มาแผดเผาพวกเขาเมื่อพระองค์ทรงทำลายระบบของพวกยิวในปีสากลศักราช 70. คำกล่าวในวิวรณ์ 7:16 มีความสำเร็จเป็นจริงฝ่ายวิญญาณที่คล้ายคลึงกันสำหรับชนฝูงใหญ่ในทุกวันนี้. พร้อม ๆ กับชนคริสเตียนผู้ถูกเจิม พวกเขาชื่นชมกับสิ่งจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณอันอุดม.—ยะซายา 65:13; นาฮูม 1:6, 7.
29 หากคุณเป็นคนหนึ่งในชนฝูงใหญ่นั้น สภาพหัวใจที่ดีของคุณจะทำให้คุณ “โห่ร้องด้วยความดีใจ” ไม่ว่าคุณต้องทนต่อความขัดสนและความกดดันใด ๆ ในช่วงเวลาสุดท้ายแห่งระบบของซาตาน. (ยะซายา 65:14) ในความหมายเช่นนั้นเองที่แม้แต่เวลานี้ พระยะโฮวาก็สามารถ ‘เช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของคุณ.’ “ดวงอาทิตย์” อันร้อนแรงแห่งการพิพากษาลงโทษของพระเจ้าจะไม่ส่องต้องคุณอีกต่อไป และเมื่อลมจากสี่ทิศแห่งการทำลายล้างถูกปล่อยออกมา คุณอาจได้รับการปิดกำบังไว้จาก ‘ความร้อนที่แผดเผา’ แห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา. หลังจากการทำลายล้างสิ้นสุดลง พระเมษโปดกจะทรงนำคุณสู่ผลประโยชน์อย่างเต็มที่จาก “น้ำพุทั้งหลายที่มีน้ำแห่งชีวิต” ที่จะชุบชีวิตให้คุณใหม่ เหล่านี้หมายถึงการจัดเตรียมทุกอย่างที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อให้คุณได้รับชีวิตนิรันดร์. ความเชื่อของคุณในพระโลหิตของพระเมษโปดกจะได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องเมื่อคุณจะถูกยกขึ้นสู่ความสมบูรณ์ทีละเล็กทีละน้อย. คุณซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชนฝูงใหญ่จะโดดเด่นในท่ามกลางมนุษยชาติในฐานะ “หลายล้านคน” ซึ่งไม่ต้องตายเลย! ในความหมายที่ครบถ้วน จะมีการเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของคุณ.—วิวรณ์ 21:4.
ทำให้การทรงเรียกนั้นเป็นที่แน่ใจ
30. ภาพอันงดงามอะไรปรากฏแก่เราในนิมิตของโยฮัน และผู้ใดสามารถจะ “ยืนมั่นอยู่ได้”?
30 ช่างเป็นภาพอันงดงามจริง ๆ ที่ถ้อยคำเหล่านี้เผยให้เราเห็น! พระยะโฮวาเองทรงประทับอยู่บนราชบัลลังก์ และเหล่าผู้รับใช้ของพระองค์ทั้งหมด ในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก ร่วมกันสรรเสริญพระองค์. ผู้รับใช้ของพระองค์ทางแผ่นดินโลกหยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมที่มีส่วนร่วมในการร้องประสานเสียงคำสรรเสริญซึ่งดังขึ้น ๆ. อีกไม่นาน พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์จะทรงลงโทษตามคำพิพากษา และจะมีเสียงร้องว่า “วันใหญ่แห่งพระพิโรธของพระองค์ทั้งสองมาถึงแล้ว ใครจะยืนมั่นอยู่ได้เล่า?” (วิวรณ์ 6:17, ล.ม.) คำตอบนะหรือ? จะมีเพียงมนุษยชาติกลุ่มน้อย ซึ่งรวมทั้งสมาชิกแห่งชน 144,000 คนที่ได้รับการประทับตราซึ่งอาจยังมีชีวิตอยู่ในสภาพมนุษย์และชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นซึ่งจะ “ยืนมั่นอยู่ได้” นั่นคือ จะรอดชีวิตพร้อมกับพวกเขา.—ยิระมะยา 35:19; 1 โกรินโธ 16:13.
31. ความสำเร็จเป็นจริงแห่งนิมิตของโยฮันน่าจะมีผลกระทบชนคริสเตียนอย่างไร ทั้งชนผู้ถูกเจิมและชนฝูงใหญ่?
31 เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมแห่งชนชั้นโยฮันทุ่มเทตัวเองอย่างแข็งขันในการ “บากบั่นมุ่งไปกว่าจะถึงธงชัย, และได้รางวัลซึ่งพระเจ้าได้ทรงเรียกเราให้ตะเกียกตะกายไปรับโดยพระเยซูคริสต์.” (ฟิลิปปอย 3:14) พวกเขาตระหนักดีว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสมัยนี้เรียกร้องความเพียรอดทนเป็นพิเศษจากพวกเขา. (วิวรณ์ 13:10) หลังจากที่ได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดีเป็นเวลาหลายปี พวกเขายึดมั่นอยู่กับความเชื่อ รู้สึกปีติยินดีที่ชื่อของพวกเขาถูก “จดไว้ในสวรรค์.” (ลูกา 10:20; วิวรณ์ 3:5) คนเหล่านั้นแห่งชนฝูงใหญ่ก็รู้เช่นกันว่า เฉพาะ ‘ผู้ที่ได้อดทนจนถึงที่สุดจะได้รับการช่วยให้รอด.’ (มัดธาย 24:13) ขณะที่ชนฝูงใหญ่ในฐานะเป็นกลุ่มถูกหมายไว้ให้ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ แต่ละคนในชนกลุ่มนั้นก็ต้องพยายามเต็มที่เพื่อคงไว้ซึ่งความสะอาดและความกระตือรือร้น.
32. มีการเน้นถึงสถานการณ์อันเร่งด่วนอะไรโดยความจริงที่ว่า มีเพียงสองกลุ่มเท่านั้นที่จะ “ยืนมั่นอยู่ได้” ในวันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา?
32 ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่า จะมีคนใด ๆ นอกเหนือจากชนสองกลุ่มนี้แล้วจะ “ยืนมั่นอยู่ได้” ในวันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา. ทั้งนี้จะหมายความอย่างไรสำหรับผู้คนนับล้าน ๆ ซึ่งแสดงความนับถือต่อเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูในแต่ละปีด้วยการเข้าร่วมในการฉลองอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ แต่ยังไม่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซูถึงขั้นเข้ามาเป็นผู้รับใช้ที่อุทิศตัวรับบัพติสมาของพระยะโฮวา แล้วขยันขันแข็งในการรับใช้พระองค์? นอกจากนี้ จะว่าอย่างไรกับคนเหล่านั้นที่เคยขยันขันแข็ง แต่ได้ปล่อยให้หัวใจ “ล้นไปด้วย . . . คิดกังวลถึงชีวิตนี้”? ขอให้คนเช่นนั้นตื่นขึ้น และตื่นอยู่ต่อไปเพื่อว่าจะ “พ้นเหตุการณ์ทั้งปวงซึ่งจะบังเกิดมานั้น และจะยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์ได้” คือพระเยซูคริสต์. เวลาเหลือน้อยแล้ว!—ลูกา 21:34-36.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
b หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 เมษายน 1918 หน้า 98.
c ตามตัวอักษรคือ “ข้างหน้าของพระองค์” พระคัมภีร์ภาคภาษากรีกฉบับแปล เดอะ คิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์.
[กรอบหน้า 119]
การตีความเป็นเรื่องของพระเจ้า
เป็นเวลาหลายสิบปีที่ชนจำพวกโยฮันได้สอบถามเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของชนฝูงใหญ่แต่ก็ไม่ได้พบการอธิบายอันเป็นที่น่าพอใจ. เพราะเหตุใด? เราพบคำตอบในถ้อยคำของโยเซฟผู้ซื่อสัตย์เมื่อท่านกล่าวว่า “การตีความเป็นเรื่องของพระเจ้ามิใช่หรือ?” (เยเนซิศ 40:8, ล.ม.) เมื่อไรและโดยวิธีใดที่พระเจ้าทรงอธิบายถึงความสำเร็จของคำพยากรณ์ต่าง ๆ ของพระองค์? โดยปกติแล้ว นั่นคือเมื่อถึงเวลาที่คำพยากรณ์เหล่านั้นจะสำเร็จหรือกำลังสำเร็จเป็นจริงเพื่อว่าข่าวสารแห่งคำพยากรณ์นั้น ๆ จะเป็นที่สังเกตเข้าใจชัดเจนโดยเหล่าผู้รับใช้ที่แสวงหาของพระองค์. ความเข้าใจเช่นนี้มีการจัดให้ “เพื่อเราทั้งหลายจะได้มีความหวังโดยความเพียรและความชูใจตามคำที่เขียนไว้แล้วนั้น.”—โรม 15:4.
[กรอบหน้า 124]
สมาชิกแห่งชนฝูงใหญ่
▪ ออกมาจากทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา
▪ ยืนอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์ของพระยะโฮวา
▪ ได้ซักเสื้อคลุมของตนและทำให้ขาวด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก
▪ ถือว่าความรอดมาจากพระยะโฮวาและพระเยซู
▪ เป็นผู้ที่ผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่
▪ รับใช้พระยะโฮวาในพระวิหารของพระองค์ทั้งวันทั้งคืน
▪ ได้รับการคุ้มครองและการเอาใจใส่ด้วยความรักจากพระยะโฮวา
▪ ได้รับการบำรุงเลี้ยงจากพระเยซูและพระองค์ทรงนำเขาไปยังน้ำพุทั้งหลายที่มีน้ำแห่งชีวิต
[ภาพหน้า 121]
[ภาพหน้า 127]
ชนฝูงใหญ่ได้ความรอดเนื่องมาจากพระเจ้าและพระเมษโปดก
[ภาพหน้า 128]
พระเมษโปดกจะทรงนำชนฝูงใหญ่ไปยังน้ำพุทั้งหลายที่มีน้ำแห่งชีวิต