“พระวิญญาณกับเจ้าสาวกล่าวไม่หยุดว่า ‘มาเถิด!’ ”
“พระวิญญาณกับเจ้าสาวกล่าวไม่หยุดว่า ‘มาเถิด!’ . . . ให้คนที่กระหายมาเถิด ให้คนที่อยากดื่มน้ำแห่งชีวิตมาดื่มโดยไม่เสียค่า.”—วิ. 22:17
1, 2. ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรควรอยู่ในลำดับใดในชีวิตเรา และเพราะเหตุใด?
ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรควรอยู่ในลำดับใดในชีวิตเรา? พระเยซูทรงกระตุ้นเหล่าสาวกให้ “แสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป” โดยทรงรับรองกับพวกเขาว่าถ้าพวกเขาทำอย่างนั้น พระเจ้าจะทรงจัดเตรียมสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องมี. (มัด. 6:25-33) พระองค์ทรงเปรียบราชอาณาจักรของพระเจ้ากับไข่มุกที่ล้ำค่าซึ่งเมื่อพ่อค้าที่เดินทางพบแล้วก็ “ขายทุกสิ่งที่เขามี . . . แล้วซื้อไข่มุกเม็ดนั้น.” (มัด. 13:45, 46) เราก็ควรให้ความสำคัญมากที่สุดแก่การประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานสอนคนให้เป็นสาวกมิใช่หรือ?
2 ดังที่เราเห็นแล้วในสองบทความก่อนหน้านี้ การที่เราพูดด้วยความกล้าและการใช้พระคำของพระเจ้าอย่างชำนาญในการประกาศแสดงว่าเราได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณของพระเจ้า. พระวิญญาณนั้นยังมีบทบาทสำคัญด้วยในการที่เรามีส่วนร่วมเป็นประจำในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร. ให้เรามาดูกันว่าเป็นเช่นนั้นโดยวิธีใด.
คำเชิญถึงทุกคน!
3. น้ำชนิดใดที่มนุษยชาติทั้งหมดได้รับเชิญให้ “มา” ดื่ม?
3 มีคำเชิญที่ส่งมาถึงมนุษย์ทุกคนโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์. (อ่านวิวรณ์ 22:17) คำเชิญนี้มีใจความว่าให้ “มา” และดับกระหายด้วยน้ำชนิดที่พิเศษมาก. น้ำที่ว่านี้ไม่ใช่น้ำธรรมดาที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนสองส่วนกับออกซิเจนหนึ่งส่วน. แม้ว่าน้ำจริง ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการค้ำจุนชีวิตบนแผ่นดินโลก แต่พระเยซูทรงนึกถึงน้ำอีกชนิดหนึ่งเมื่อพระองค์ตรัสกับหญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำว่า “ผู้ใดดื่มน้ำที่เราจะให้จะไม่กระหายอีกเลย น้ำที่เราจะให้เขาจะกลายเป็นน้ำพุในตัวเขาซึ่งผุดพุ่งขึ้นมาให้ชีวิตนิรันดร์.” (โย. 4:14) น้ำชนิดพิเศษนี้ที่มนุษย์ได้รับเชิญให้ดื่มเป็นน้ำที่ให้ชีวิตนิรันดร์.
4. ความจำเป็นต้องมีน้ำแห่งชีวิตเกิดขึ้นอย่างไร และน้ำนั้นหมายถึงอะไร?
4 ความจำเป็นต้องมีน้ำที่ให้ชีวิตเกิดขึ้นเมื่ออาดาม มนุษย์คนแรก ร่วมสมทบกับฮาวาภรรยาของเขาในการไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงสร้างพวกเขา. (เย. 2:16, 17; 3:1-6) มนุษย์คู่แรกถูกขับออกจากบ้านสวนของพวกเขาเพราะ “เกรงว่า [อาดาม] จะยื่นมือหยิบผลไม้ที่ให้ชีวิตเจริญกินเข้าไปทำให้อายุยืนอยู่เป็นนิตย์.” (เย. 3:22) ในฐานะที่อาดามเป็นบุรุษต้นตระกูลของมวลมนุษย์ เขาจึงทำให้ความตายบังเกิดขึ้นกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งสิ้น. (โรม 5:12) น้ำที่ให้ชีวิตหมายถึงการจัดเตรียมทั้งหมดของพระเจ้าเพื่อให้มนุษย์ที่เชื่อฟังหลุดพ้นจากบาปและความตายและทำให้พวกเขามีชีวิตสมบูรณ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุดในอุทยานบนแผ่นดินโลก. เครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ทำให้การจัดเตรียมเหล่านี้เป็นไปได้.—มัด. 20:28; โย. 3:16; 1 โย. 4:9, 10
5. ใครเป็นผู้ออกคำเชิญที่ให้ ‘มาดื่มน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า’? จงอธิบาย.
5 ใครเป็นผู้ออกคำเชิญที่ให้ ‘มาดื่มน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า’? เมื่อการจัดเตรียมทั้งหมดที่ให้ชีวิตโดยทางพระเยซูมีพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับมนุษยชาติในช่วงรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ มีการพรรณนาถึงการจัดเตรียมเหล่านี้ว่าเป็น “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตซึ่งใสดุจผลึก.” โยฮันเห็นแม่น้ำนี้ “ไหลออกมาจากราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดก.” (วิ. 22:1) พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ประทานชีวิต ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงทรงเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำที่ให้ชีวิต. (เพลง. 36:9) พระองค์ทรงทำให้มีน้ำนั้นโดยทาง “พระเมษโปดก” คือพระเยซูคริสต์. (โย. 1:29) แม่น้ำโดยนัยนี้เป็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อแก้ไขผลเสียหายทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติเพราะการไม่เชื่อฟังของอาดาม. จริงทีเดียว พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นผู้ออกคำเชิญให้ “มา.”
6. “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต” เริ่มไหลเมื่อไร?
6 แม้ว่า “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต” จะไหลในความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในช่วงรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ แต่แม่น้ำนี้เริ่มไหลใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเริ่มต้นด้วยการที่ “พระเมษโปดก” ขึ้นครองบัลลังก์ในสวรรค์เมื่อปี 1914. (วิ. 1:10) ดังนั้น การจัดเตรียมบางอย่างเพื่อชีวิตจึงเริ่มมีขึ้นหลังจากนั้น. การจัดเตรียมเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้า เพราะข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลถูกเรียกว่า “น้ำ.” (เอเฟ. 5:26) คำเชิญที่ให้มา “ดื่มน้ำแห่งชีวิต” ด้วยการฟังและตอบรับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้เป็นคำเชิญถึงทุกคน. แต่ว่าใครกำลังทำหน้าที่เชิญจริง ๆ ในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
“เจ้าสาว” กล่าวว่า “มาเถิด!”
7. ใครเป็นกลุ่มแรกซึ่งส่งคำเชิญที่ให้ “มา” ใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” และพวกเขาเชิญใคร?
7 สมาชิกของชนชั้นเจ้าสาว คือคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ เป็นกลุ่มแรกที่ส่งคำเชิญออกไปให้ “มา.” พวกเขาเชิญใคร? เห็นได้ชัด เจ้าสาวไม่ได้เชิญตัวเองว่า “มาเถิด!” พวกเขากล่าวเชิญคนที่มีความหวังจะมีชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกหลังจากที่เกิด “สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง.”—อ่านวิวรณ์ 16:14, 16
8. อะไรแสดงว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ส่งคำเชิญของพระยะโฮวาออกไปนับตั้งแต่ปี 1918?
8 เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ได้ส่งคำเชิญออกไปนับตั้งแต่ปี 1918. ในปีนั้น คำบรรยายสาธารณะที่ชื่อ “หลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้จะไม่ตายเลย” ให้ความหวังว่าหลายคนจะมีชีวิตในโลกที่เป็นอุทยานภายหลังสงครามอาร์มาเก็ดดอน. คำบรรยาย ณ การประชุมภาคของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐ ในปี 1922 กระตุ้นผู้ฟังให้ ‘โฆษณาพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์.’ คำกระตุ้นดังกล่าวช่วยชนที่เหลือของชนชั้นเจ้าสาวให้ส่งคำเชิญไปยังผู้คนมากขึ้น. หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 มีนาคม 1929 มีบทความชื่อ “คำเชิญที่เปี่ยมด้วยพระกรุณา” ซึ่งมีข้อคัมภีร์หลักคือวิวรณ์ 22:17. ส่วนหนึ่งของบทความนี้กล่าวว่า “ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์ร่วม [กับพระผู้สูงสุด] ส่งคำเชิญที่เปี่ยมด้วยความกรุณาและกล่าวว่า ‘มาเถิด.’ ข่าวสารนี้ต้องประกาศแก่คนเหล่านั้นที่ปรารถนาความชอบธรรมและความจริง. การประกาศข่าวสารดังกล่าวต้องทำกันในตอนนี้.” จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ชนชั้นเจ้าสาวก็ยังคงส่งคำเชิญนี้.
“ให้คนที่ได้ยินกล่าวด้วยว่า ‘มาเถิด!’ ”
9, 10. คนที่ได้ยินคำเชิญนั้นได้รับเชิญให้กล่าวด้วยว่า “มาเถิด!” อย่างไร?
9 จะว่าอย่างไรสำหรับคนเหล่านั้นที่ได้ยินคำเชิญให้ “มา”? พวกเขาถูกเชิญให้กล่าวด้วยว่า “มาเถิด!” ตัวอย่างเช่น หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 สิงหาคม 1932 หน้า 232 กล่าวว่า “ขอให้บรรดาผู้ถูกเจิมสนับสนุนทุกคนที่เต็มใจให้มีส่วนร่วมในการบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. เพื่อจะประกาศข่าวสารขององค์พระผู้เป็นเจ้า พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถูกเจิมขององค์พระผู้เป็นเจ้า. พยานทั้งหลายของพระยะโฮวายินดีอย่างยิ่งที่รู้ว่าบัดนี้พวกเขาได้รับอนุญาตให้นำน้ำแห่งชีวิตนี้ไปให้ผู้คนจำพวกหนึ่งที่อาจรอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนและมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก.”
10 หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 สิงหาคม 1934 หน้า 249 ชี้ถึงความรับผิดชอบของผู้ที่ได้ยินคำเชิญที่จะกล่าวด้วยว่า “มาเถิด!” โดยบอกว่า “บรรดาชนชั้นโยนาดาบต้องไปด้วยกันกับชนชั้นเยฮูโดยนัย ซึ่งก็คือผู้ถูกเจิม และประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร แม้ว่าพวกเขาไม่ใช่พยานพระยะโฮวาที่เป็นผู้ถูกเจิม.” ในปี 1935 มีการระบุอย่างชัดเจนว่าใครคือ “ชนฝูงใหญ่” ตามที่กล่าวถึงในวิวรณ์ 7:9-17. นั่นเป็นแรงผลักดันอย่างใหญ่หลวงต่องานส่งคำเชิญของพระเจ้า. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชนฝูงใหญ่แห่งผู้นมัสการแท้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ—ในปัจจุบัน มีมากกว่าเจ็ดล้านคน—ได้ตอบรับคำเชิญนั้น. ด้วยความรู้สึกขอบคุณหลังจากที่ได้ยินข่าวสารนั้น พวกเขาได้อุทิศตัวแด่พระเจ้า, รับบัพติสมาในน้ำ, และสมทบกับชนชั้นเจ้าสาวในการเชิญคนอื่น ๆ อย่างกระตือรือร้นให้ ‘มาดื่มน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.’
“พระวิญญาณ” กล่าวว่า “มาเถิด!”
11. ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช พระวิญญาณบริสุทธิ์มีส่วนร่วมในงานประกาศอย่างไร?
11 เมื่อประกาศอยู่ในธรรมศาลาเมืองนาซาเรท พระเยซูทรงคลี่ม้วนหนังสือของผู้พยากรณ์ยะซายาห์และอ่านว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่บนข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้าให้ไปประกาศแก่พวกเชลยว่าพวกเขาจะได้รับการปลดปล่อยและประกาศแก่คนตาบอดว่าเขาจะมองเห็น รวมทั้งให้ปลดปล่อยคนที่ถูกเคี่ยวเข็ญ และให้ประกาศปีที่พระยะโฮวาทรงแสดงความโปรดปราน.” แล้วพระเยซูทรงชี้ให้เห็นว่าคำพยากรณ์นี้เล็งถึงพระองค์เอง โดยตรัสว่า “วันนี้ ข้อความตอนนี้ในพระคัมภีร์ที่พวกเจ้าเพิ่งได้ยินก็สำเร็จแล้ว.” (ลูกา 4:17-21) ก่อนจะเสด็จขึ้นไปสวรรค์ พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “พวกเจ้าจะได้รับฤทธิ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์มาบนเจ้า และเจ้าจะเป็นพยานฝ่ายเรา . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจ. 1:8) ในศตวรรษแรก พระวิญญาณบริสุทธิ์มีส่วนร่วมที่สำคัญในงานประกาศ.
12. พระวิญญาณของพระเจ้ามีส่วนร่วมในการส่งคำเชิญออกไปในสมัยของเราอย่างไร?
12 พระวิญญาณของพระเจ้ามีส่วนร่วมในการส่งคำเชิญไปยังผู้คนในสมัยของเราอย่างไร? พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งที่มาของพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระองค์ทรงใช้พระวิญญาณเปิดหัวใจและจิตใจของชนชั้นเจ้าสาวเพื่อพวกเขาจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. พระวิญญาณกระตุ้นพวกเขาให้ส่งคำเชิญและอธิบายความจริงในพระคัมภีร์แก่คนเหล่านั้นที่มีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก. จะว่าอย่างไรสำหรับคนเหล่านั้นที่ตอบรับคำเชิญ, เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์, และส่งคำเชิญไปยังคนอื่น ๆ ต่อไป? พระวิญญาณก็มีส่วนร่วมในกรณีของพวกเขาเหมือนกัน. ด้วยการรับบัพติสมา ‘ในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์’ พวกเขาร่วมมือและหมายพึ่งพระวิญญาณให้ช่วยพวกเขา. (มัด. 28:19) นอกจากนั้น ขอให้นึกถึงข่าวสารที่เหล่าผู้ถูกเจิมและชนฝูงใหญ่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กำลังประกาศอยู่. ข่าวสารนั้นมาจากคัมภีร์ไบเบิล—หนังสือที่เขียนขึ้นโดยการชี้นำจากอำนาจแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น คำเชิญจึงถูกส่งออกไปโดยอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เห็นว่าพวกเราได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณ. นั่นควรส่งผลอย่างไรต่อการที่เรามีส่วนร่วมในการส่งคำเชิญไปยังคนอื่น ๆ?
พระวิญญาณกับเจ้าสาว “กล่าวไม่หยุดว่า ‘มาเถิด!’ ”
13. คำกล่าวที่ว่า “พระวิญญาณกับเจ้าสาวกล่าวไม่หยุด ว่า ‘มาเถิด!’ ” บ่งชี้ถึงอะไร?
13 “พระวิญญาณกับเจ้าสาว” ไม่ได้กล่าวว่า “มาเถิด!” แค่ครั้งเดียว. คำกริยาภาษาเดิมที่ใช้ในข้อนี้แสดงถึงการกระทำที่ต่อเนื่อง. เมื่อคำนึงถึงจุดนี้ ฉบับแปลโลกใหม่ ได้แปลข้อนี้ว่า “พระวิญญาณกับเจ้าสาวกล่าวไม่หยุด ว่า ‘มาเถิด!’ ” นี่แสดงถึงความสม่ำเสมอในการส่งคำเชิญของพระเจ้าออกไป. จะว่าอย่างไรสำหรับคนเหล่านั้นที่ได้ยินและตอบรับคำเชิญ? พวกเขาก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “มาเถิด!” มีการกล่าวถึงชนฝูงใหญ่แห่งผู้นมัสการแท้ว่าพวกเขา ‘ทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระยะโฮวา.’ (วิ. 7:9, 15) พวกเขารับใช้ ‘ทั้งวันทั้งคืน’ ในความหมายใด? (อ่านลูกา 2:36, 37; กิจการ 20:31; 2 เทสซาโลนิเก 3:8) ตัวอย่างของผู้พยากรณ์หญิงอันนาที่สูงอายุและของอัครสาวกเปาโลแสดงให้เห็นว่า ‘การทำงานรับใช้ทั้งวันทั้งคืน’ นั้นหมายถึงความเสมอต้นเสมอปลายและความพยายามอย่างจริงจังในการรับใช้.
14, 15. ดานิเอลแสดงให้เห็นความสำคัญของความสม่ำเสมอในการนมัสการอย่างไร?
14 ผู้พยากรณ์ดานิเอลก็แสดงให้เห็นความสำคัญของความสม่ำเสมอในการนมัสการด้วย. (อ่านดานิเอล 6:4-10, 16) ท่านไม่ได้เปลี่ยนกิจวัตรฝ่ายวิญญาณของท่าน—นิสัยในการอธิษฐานถึงพระเจ้า “วันละสามครั้งตามเคย”—แม้แต่แค่เดือนเดียว แม้ว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้ท่านถูกโยนลงไปในถ้ำสิงโต. การกระทำอย่างชัดเจนของท่านบอกกับผู้ที่เฝ้ามองว่าไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการนมัสการพระยะโฮวาเป็นประจำ!—มัด. 5:16
15 หลังจากที่ดานิเอลอยู่ในถ้ำสิงโตหนึ่งคืน กษัตริย์ก็เสด็จไปหาดานิเอลและร้องเรียกท่านว่า “โอ้โอ๋ดานิเอล, ทาสของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่, พระเจ้าของเจ้า, ซึ่งเจ้าได้ปฏิบัติอยู่เนืองนิตย์นั้น, สามารถช่วยเจ้าให้พ้นสิงห์ภัยไหม?” ดานิเอลทูลตอบทันทีว่า “ข้าแต่ราชา, ขอทรงพระเจริญเป็นนิตย์เถิด, พระเจ้าของข้าพเจ้าได้ทรงใช้ทูตของพระองค์มาปิดปากสิงห์นั้นไว้, มันจึงหาได้ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่, เพราะว่าต่อพระพักตร์พระองค์นั้นไม่ประจักษ์ว่าข้าพเจ้าได้ทำอะไรผิดไป, ข้าแต่ราชัน, และต่อพักตร์ของฝ่าพระบาทด้วย, ข้าพเจ้าก็หาได้ทำร้ายต่อสิ่งใดไม่.” พระยะโฮวาทรงอวยพรดานิเอลที่รับใช้ “อยู่เนืองนิตย์.”—ดานิ. 6:19-22
16. ตัวอย่างของดานิเอลกระตุ้นเราให้ถามอะไรเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการประกาศของเรา?
16 ดานิเอลเต็มใจสละชีวิตแทนที่จะละเลยกิจวัตรในการนมัสการ. แล้วเราล่ะ? เราเสียสละอะไรบ้างหรือเราเต็มใจจะเสียสละอะไรบางอย่างไหมเพื่อประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ? เราไม่ควรปล่อยให้แม้แต่เดือนเดียวผ่านไปโดยไม่ได้พูดเรื่องพระยะโฮวากับคนอื่น ๆ! หากเป็นไปได้ เราควรพยายามมีส่วนร่วมในการประกาศในแต่ละสัปดาห์มิใช่หรือ? แม้แต่ถ้าเรามีข้อจำกัดอย่างมากด้านร่างกายและให้คำพยานได้เพียงแค่ 15 นาทีในเดือนนั้น เราก็ควรส่งรายงานการประกาศ. เพราะเหตุใด? เพราะเราต้องการกล่าวต่อ ๆ ไปร่วมกับพระวิญญาณและเจ้าสาวว่า “มาเถิด!” เราต้องการทำทุกสิ่งที่เราทำได้เพื่อจะเป็นผู้ประกาศที่สม่ำเสมอ.
17. มีโอกาสใดบ้างที่เราไม่ควรพลาดที่จะส่งคำเชิญของพระยะโฮวาออกไป?
17 เราควรพยายามส่งคำเชิญของพระยะโฮวาออกไปในทุกโอกาส ไม่เพียงแค่ในเวลาที่เราได้จัดไว้เพื่อจะประกาศ. ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่จะเชิญคนที่กระหายให้ ‘มาดื่มน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า’ ในโอกาสอื่น ๆ เช่น ขณะจับจ่ายซื้อของ, เดินทาง, พักร้อน, ทำงาน, หรือไปโรงเรียน! แม้แต่ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองวางข้อจำกัดในงานประกาศ เราก็ยังคงประกาศต่อ ๆ ไปอย่างไม่ให้ผิดสังเกต—อาจจะโดยประกาศในเขตนั้นเพียงไม่กี่หลังแล้วก็ย้ายไปประกาศต่ออีกเขตหนึ่ง หรือโดยทำงานประกาศอย่างไม่เป็นทางการมากขึ้น.
จงกล่าวต่อ ๆ ไปว่า “มาเถิด!”
18, 19. คุณจะแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าคุณเห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้เป็นผู้ร่วมงานกับพระเจ้า?
18 เป็นเวลามากกว่าเก้าสิบปีแล้วที่พระวิญญาณและเจ้าสาวกล่าวเชิญคนที่กระหายน้ำแห่งชีวิตว่า “มาเถิด!” คุณได้ยินคำเชิญที่น่าตื่นเต้นดังกล่าวไหม? ถ้าอย่างนั้น คุณก็ถูกกระตุ้นให้ส่งคำเชิญนี้ไปยังคนอื่น ๆ.
19 เราไม่รู้ว่าคำเชิญด้วยความรักของพระยะโฮวาจะถูกส่งออกไปอีกนานเท่าใด แต่การที่เราตอบรับคำเชิญที่ให้กล่าวว่า “มาเถิด!” ทำให้เราได้เป็นผู้ร่วมงานกับพระเจ้า. (1 โค. 3:6, 9) นั่นนับว่าเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ! ขอให้เราแสดงว่าเราเห็นคุณค่าสิทธิพิเศษนั้นและ “ถวายเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเสมอ” ด้วยการประกาศอย่างสม่ำเสมอ. (ฮีบรู 13:15) ขอให้พวกเราที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกกล่าวต่อ ๆ ไปร่วมกับชนชั้นเจ้าสาวว่า “มาเถิด!” และขอให้มีผู้คนอีกมากมายมา “ดื่มน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า”!
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
• คำเชิญที่ว่าให้ “มา” ถูกส่งไปยังใคร?
• เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ออกคำเชิญให้ “มา”?
• พระวิญญาณบริสุทธิ์มีส่วนเช่นไรในการส่งคำเชิญให้ “มา”?
• เหตุใดเราควรพยายามประกาศอย่างสม่ำเสมอ?
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 16]
(รายละเอียดดูจากหนังสือ)
จงกล่าวต่อ ๆ ไปว่า “มาเถิด!”
1914
มีผู้ประกาศ 5,100 คน
1918
หลายคนจะมีชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลก
1922
“จงโฆษณา, โฆษณา, โฆษณา, พระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์”
1929
ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์กล่าวว่า “มาเถิด!”
1932
ไม่เพียงแค่ผู้ถูกเจิมเท่านั้นที่ได้รับเชิญให้กล่าวว่า “มาเถิด!”
1934
ชนชั้นโยนาดาบได้รับเชิญให้ประกาศ
1935
มีการระบุว่าใครคือ “ชนฝูงใหญ่”
2009
มีผู้ประกาศ 7,313,173 คน