พระคริสต์—จุดรวมแห่งคำพยากรณ์
“การเป็นพยานถึงพระเยซูนั้นเป็นสิ่งดลใจให้พยากรณ์.”—วิวรณ์ 19:10, ล.ม.
1, 2. (ก) เริ่มต้นในปี ส.ศ. 29 ชาวอิสราเอลเผชิญการตัดสินใจในเรื่องใด? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความนี้?
ขณะนั้นเป็นปีสากลศักราช 29. ชาวอิสราเอลพูดคุยกันอย่างตื่นเต้นในเรื่องมาซีฮาตามคำทรงสัญญา. งานรับใช้ของโยฮันผู้ให้บัพติสมายิ่งเพิ่มทวีความคาดหวังของพวกเขา. (ลูกา 3:15) โยฮันปฏิเสธว่าท่านเองไม่ใช่พระคริสต์ แต่ชี้ไปยังเยซูชาวนาซาเรทแทน แล้วกล่าวว่า “เรา . . . เป็นพยานว่าพระองค์นั้นแหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า.” (โยฮัน 1:20, 34) ในไม่ช้า ฝูงชนก็ติดตามพระเยซูไปเพื่อจะฟังคำสอนและรับการรักษาโรคจากพระองค์.
2 ตลอดหลายเดือนต่อจากนั้น พระยะโฮวาให้หลักฐานพิสูจน์ท่วมท้นเกี่ยวกับพระบุตรของพระองค์. ผู้ที่ได้ศึกษาพระคัมภีร์และสังเกตสิ่งที่พระเยซูกระทำมีพื้นฐานหนักแน่นที่จะเชื่อในพระองค์. อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ในชาติที่ได้ทำสัญญาไมตรีกับพระเจ้าขาดความเชื่อ. มีค่อนข้างน้อยคนยอมรับว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า. (โยฮัน 6:60-69) คุณจะแสดงออกอย่างไรหากมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น? หลักฐานเหล่านั้นจะกระตุ้นคุณให้ยอมรับว่าพระเยซูเป็นมาซีฮาและเข้ามาเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ไหม? ขอให้พิจารณาพยานหลักฐานซึ่งพระเยซูเองได้ให้เพื่อระบุตัวพระองค์ในคราวที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดซะบาโต และสังเกตข้อพิสูจน์อื่น ๆ ที่พระองค์ให้หลังจากนั้นเพื่อเสริมความเชื่อแก่สาวกผู้ภักดีของพระองค์.
พระเยซูให้ข้อพิสูจน์ด้วยพระองค์เอง
3. สภาพการณ์เช่นไรที่ทำให้พระเยซูต้องให้หลักฐานพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นใคร?
3 ตอนนั้นเป็นช่วงปัศคาปี ส.ศ. 31. พระเยซูประทับในกรุงเยรูซาเลม. พระองค์เพิ่งรักษาชายคนหนึ่งที่ป่วยมานาน 38 ปี. แต่ชาวยิวกลับข่มเหงพระเยซูเพราะทำการนี้ในวันซะบาโต. นอกจากนั้น พวกเขากล่าวหาพระเยซูว่าดูหมิ่นพระเจ้า และพยายามสังหารพระองค์เพราะพระองค์เรียกพระเจ้าว่าเป็นพระบิดา. (โยฮัน 5:1-9, 16-18) ในการหักล้างข้อกล่าวหา พระเยซูให้หลักฐานที่หนักแน่นสามประการที่จะทำให้ชาวยิวที่มีหัวใจสุจริตเชื่อมั่นว่าแท้จริงพระองค์เป็นใคร.
4, 5. จุดมุ่งหมายในงานรับใช้ของโยฮันคืออะไร และท่านทำงานมอบหมายได้ดีเพียงไร?
4 ประการแรก พระเยซูชี้ไปยังคำพยานของผู้ที่มาเตรียมทางไว้สำหรับพระองค์ คือโยฮันผู้ให้บัพติสมา โดยตรัสว่า “ท่านทั้งหลายได้ใช้คนไปหาโยฮัน, และโยฮันนั้นได้เป็นพยานถึงความจริง. โยฮันนั้นเป็นโคมที่จุดอยู่สว่างไสว และท่านทั้งหลายก็พอใจที่จะยินดีในความสว่างของท่านสักเวลาหนึ่ง.”—โยฮัน 5:33, 35.
5 โยฮันผู้ให้บัพติสมาเป็น “โคมที่จุดอยู่สว่างไสว” เนื่องจากก่อนที่ท่านจะถูกกษัตริย์เฮโรดสั่งจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ท่านทำงานมอบหมายจากพระเจ้าในการเตรียมทางไว้สำหรับพระมาซีฮา. โยฮันกล่าวว่า “เพื่อพระองค์ [พระมาซีฮา] จะได้ทรงปรากฏแก่พวกยิศราเอล, เหตุฉะนั้นเราจึงมาให้บัพติศมาด้วยน้ำ . . . เราได้เห็นพระวิญญาณเสด็จจากฟ้าดั่งนกพิราบสถิตอยู่บนพระองค์. เราเองหาได้รู้จักพระองค์ไม่, แต่พระองค์ผู้ได้ทรงใช้เรามาให้บัพติศมาด้วยน้ำ, พระองค์นั้นตรัสแก่เราว่า, ‘เมื่อเห็นพระวิญญาณเสด็จมาสถิตอยู่บนผู้ใด ผู้นั้นแหละเป็นผู้ที่จะให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.’ เราได้เห็น, จึงเป็นพยานว่าพระองค์นั้นแหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า.”a (โยฮัน 1:26-37) โยฮันระบุอย่างชัดเจนว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระมาซีฮาตามคำสัญญา. คำพยานของโยฮันหนักแน่นชัดเจนมากจนหลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้วประมาณแปดเดือน ชาวยิวหลายคนที่มีหัวใจสุจริตยอมรับว่า “สารพัตรซึ่งโยฮันได้กล่าวถึงท่านนี้เป็นความจริง.”—โยฮัน 10:41, 42.
6. เพราะเหตุใดสิ่งที่พระเยซูกระทำน่าจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าพระองค์ได้รับการหนุนหลังจากพระเจ้า?
6 ถัดจากนั้น พระเยซูใช้หลักฐานอีกอย่างหนึ่งเพื่อยืนยันว่าพระองค์คือพระมาซีฮา. พระองค์ชี้ไปที่การดีต่าง ๆ ของพระองค์ซึ่งเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าพระองค์ได้รับการหนุนหลังจากพระเจ้า. พระองค์ตรัสว่า “เรามีพยานใหญ่กว่า [คำพยานของ] โยฮันอีก เพราะว่าการซึ่งพระบิดาทรงประทานแก่เราเพื่อจะให้สำเร็จ, การนั้นเองซึ่งเรากำลังกระทำอยู่เป็นพยานถึงเราว่าพระบิดาได้ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 5:36) แม้แต่ศัตรูของพระเยซูก็ไม่อาจปฏิเสธหลักฐานข้อนี้ได้ ซึ่งรวมถึงการอัศจรรย์หลายอย่าง. บางคนถามในเวลาต่อมาว่า “เราจะทำอย่างไรดี เพราะชายคนนี้ได้ทำหมายสำคัญหลายประการ?” (โยฮัน 11:47, ล.ม.) แต่บางคนก็ตอบรับในทางดีและพูดว่า “เมื่อพระคริสต์เสด็จมา พระองค์คงจะไม่ทำหมายสำคัญมากกว่าที่ชายคนนี้ได้ทำมิใช่หรือ?” (โยฮัน 7:31, ล.ม.) ผู้ฟังของพระเยซูมีโอกาสอันดีเยี่ยมที่จะได้เห็นคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระบิดาผ่านทางพระบุตรนี้.—โยฮัน 14:9.
7. พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นพยานถึงพระเยซูในทางใด?
7 ประการสุดท้าย พระเยซูนำความสนใจไปสู่พยานอีกแหล่งหนึ่งที่ไม่มีใครโต้แย้งได้. พระเยซูตรัสว่า “พระคัมภีร์นั้นเป็นพยานถึงเรา . . . ถ้าท่านทั้งหลายได้เชื่อโมเซ, ท่านทั้งหลายคงจะได้เชื่อเรา เพราะโมเซได้เขียนกล่าวถึงเรา.” (โยฮัน 5:39, 46) แน่นอน โมเซไม่ใช่คนเดียวในหมู่พยานมากมายก่อนยุคคริสเตียนที่เขียนในเรื่องพระคริสต์. ข้อเขียนของคนทั้งปวงเหล่านั้นซึ่งรวมถึงคำพยากรณ์หลายร้อยข้อและลำดับวงศ์ตระกูลอย่างละเอียด ล้วนชี้ไปยังพระมาซีฮา. (ลูกา 3:23-38; 24:44-46; กิจการ 10:43) แล้วพระบัญญัติที่ประทานผ่านทางโมเซล่ะ? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า ‘พระบัญญัติเป็นพี่เลี้ยงนำไปถึงพระคริสต์.’ (ฆะลาเตีย 3:24, ล.ม.) ใช่แล้ว “การเป็นพยานถึงพระเยซูนั้นเป็นสิ่งดลใจให้ [หรือ เป็นอิทธิพลโน้มนำ, จุดมุ่งหมาย, และจุดประสงค์ทั้งมวลของการกล่าว] พยากรณ์.”—วิวรณ์ 19:10, ล.ม.
8. เหตุใดชาวยิวจำนวนมากจึงไม่เชื่อในพระมาซีฮา?
8 หลักฐานทั้งหมดนี้—คำพยานที่ชัดเจนของโยฮัน, การอัศจรรย์ที่พระเยซูกระทำและคุณลักษณะของพระเจ้าที่สะท้อนผ่านทางพระองค์, และพยานหลักฐานมากมายจากพระคัมภีร์—ทำให้คุณมั่นใจไหมว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา? ทุกคนที่มีความรักแท้ต่อพระเจ้าและพระคำของพระองค์จะมองเห็นหลักฐานนี้ได้ไม่ยาก และสำแดงความเชื่อในพระเยซูฐานะพระมาซีฮาตามคำสัญญา. อย่างไรก็ตาม ความรักเช่นนั้นไม่มีในชาวอิสราเอลส่วนใหญ่. พระเยซูตรัสกับเหล่าผู้ต่อต้านพระองค์ว่า “เราทราบดีว่า เจ้าไม่มีความรักต่อพระเจ้าในตัวท่าน.” (โยฮัน 5:42, ล.ม.) แทนที่จะ “แสวงหายศศักดิ์ซึ่งมาจากพระเจ้าองค์เดียว” พวกเขา “รับยศศักดิ์จากกันเอง.” ไม่ประหลาดใจเลยที่พวกเขามีความขัดแย้งกับพระเยซู ผู้ซึ่งเป็นเหมือนกับพระบิดาของพระองค์ คือรังเกียจแนวความคิดเช่นนั้น.—โยฮัน 5:43, 44; กิจการ 12:21-23.
ได้รับการเสริมความเชื่อด้วยนิมิตเชิงพยากรณ์
9, 10. (ก) เหตุใดเวลาที่พระเยซูแสดงหมายสำคัญแก่สาวกจึงเหมาะยิ่ง? (ข) พระเยซูประทานคำสัญญาอันยอดเยี่ยมอะไรแก่สาวกของพระองค์?
9 เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปีแล้วนับจากพระเยซูให้ข้อพิสูจน์การเป็นพระมาซีฮาของพระองค์ตามที่เพิ่งกล่าวไป. ปัศคาปี ส.ศ. 32 มาถึง แล้วก็ผ่านไป. สาวกหลายคนได้เลิกติดตามพระองค์ ซึ่งอาจเป็นผลจากการข่มเหง, น้ำใจนิยมวัตถุ, หรือความกังวลในชีวิต. ส่วนคนอื่น ๆ อาจสับสนหรือผิดหวังที่พระเยซูไม่ตอบสนองความพยายามของประชาชนที่ต้องการจะตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์. เมื่อถูกท้าจากพวกผู้นำศาสนาชาวยิว พระองค์ก็ไม่ยอมแสดงหมายสำคัญจากสวรรค์ที่จะนำเกียรติมาสู่พระองค์เอง. (มัดธาย 12:38, 39) การไม่รับคำท้าเช่นนั้นคงทำให้บางคนสับสน. นอกจากนี้ พระเยซูเพิ่งเริ่มเผยบางสิ่งแก่สาวกของพระองค์ที่พวกเขารู้สึกว่ายากจะเข้าใจ นั่นคือ “พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงยะรูซาเลม, เพื่อจะรับความทนทุกข์ทรมานต่าง ๆ อย่างสาหัสจากพวกผู้เฒ่าและพวกปุโรหิตใหญ่และพวกอาลักษณ์. จนต้องถึงแก่ประหารชีวิต.”—มัดธาย 16:21-23.
10 อีกประมาณเก้าหรือสิบเดือนข้างหน้า ก็จะถึงเวลาที่ “พระองค์ [พระเยซู] จะออกจากโลกไปยังพระบิดา.” (โยฮัน 13:1) ด้วยความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อเหล่าสาวกผู้ภักดีของพระองค์ พระเยซูสัญญาแก่บางคนในพวกเขาถึงสิ่งที่พระองค์ไม่แสดงแก่ชาวยิวที่ขาดความเชื่อ นั่นคือ หมายสำคัญจากสวรรค์. พระเยซูตรัสว่า “เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า มีบางคนที่ยืนอยู่ในที่นี้จะไม่ลิ้มรสความตายเลยจนกว่าพวกเขาจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาในราชอาณาจักรของพระองค์ก่อน.” (มัดธาย 16:28, ล.ม.) แน่นอน พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าสาวกบางคนจะมีชีวิตยืนยาวไปจนถึงการสถาปนาราชอาณาจักรมาซีฮาในปี ส.ศ. 1914. พระเยซูกำลังคิดที่จะให้สาวกที่สนิทที่สุดสามคนของพระองค์ได้เห็นภาพล่วงหน้าอันน่าตื่นตาตื่นใจที่แสดงถึงสง่าราศีของพระองค์เมื่อครองราชย์ในราชอาณาจักร. นิมิตนี้เรียกกันว่าการจำแลงพระกาย.
11. จงพรรณนานิมิตการจำแลงพระกาย.
11 หกวันต่อมา พระเยซูทรงพาเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮัน ขึ้นไปบนภูเขาสูง ซึ่งคงจะเป็นสันเขาของภูเขาเฮอร์โมน. ที่นั่น “รูปกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขาเหล่านั้น พระพักตร์ของพระองค์ก็ผ่องใสเหมือนแสงอาทิตย์, ฉลองพระองค์ก็ขาวดุจแสงสว่าง.” ผู้พยากรณ์โมเซและเอลียาปรากฏในนิมิตนั้นด้วย และสนทนากับพระเยซู. ดูเหมือนว่าเหตุการณ์อันน่าตะลึงนี้คงเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้เหตุการณ์นี้เห็นเด่นชัดเป็นพิเศษ. ที่จริง นิมิตนั้นดูเหมือนจริงมากจนเปโตรเสนอจะทำพลับพลาสามหลังให้กับพระเยซู, โมเซ, และเอลียา คนละหลัง. ขณะเปโตรกำลังทูลอยู่นั้น ก็เกิดมีเมฆสุกใสมาปกคลุมพวกเขาไว้ แล้วมีพระสุรเสียงออกมาจากเมฆนั้นว่า “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านนี้มาก จงเชื่อฟังท่านเถิด.”—มัดธาย 17:1-6.
12, 13. นิมิตการจำแลงพระกายก่อผลกระทบเช่นไรต่อสาวกของพระเยซู และเพราะเหตุใด?
12 จริงอยู่ เปโตรเพิ่งกล่าวยืนยันไปก่อนหน้านี้ไม่นานว่า พระเยซูเป็น “พระคริสต์บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (มัดธาย 16:16) แต่ลองนึกดูสิถึงการได้ยินพระเจ้าให้การยืนยันด้วยพระองค์เองเกี่ยวกับพระบุตรที่ได้รับการเจิมของพระองค์และบทบาทของพระบุตรนั้น! นิมิตการจำแลงพระกายเป็นประสบการณ์ที่เสริมความเชื่อแก่เปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันอย่างยิ่ง! โดยได้รับการเสริมความเชื่ออย่างมากเช่นนี้ บัดนี้พวกเขาจึงพร้อมยิ่งขึ้นสำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า และสำหรับบทบาทสำคัญในประชาคมที่พวกเขาจะกระทำต่อไปในอนาคต.
13 การจำแลงพระกายก่อความประทับใจแก่สาวกเหล่านี้ไม่รู้ลืม. หลังจากผ่านไปมากกว่า 30 ปี เปโตรเขียนว่า “[พระเยซู] ได้ทรงรับเกียรติยศและสง่าราศีจากพระบิดา, ครั้งเมื่อพระสุรเสียงได้มาถึงพระองค์จากพระบวรรัศมีตรัสว่า, ‘ท่านองค์นี้แหละเป็นบุตรที่รักของเรา, เราชอบใจท่านมาก.’ และเราได้ยินพระสุรเสียงซึ่งมาจากสวรรค์นั้นในเวลาที่เราได้อยู่กับพระองค์ที่ภูเขาอันบริสุทธิ์นั้น.” (2 เปโตร 1:17, 18) โยฮันก็ประทับใจการจำแลงพระกายไม่น้อยไปกว่ากัน. หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไปมากกว่า 60 ปี ดูเหมือนว่าท่านพาดพิงถึงเหตุการณ์นี้เมื่อกล่าวว่า “เราได้เห็นสง่าราศีของพระองค์เหมือนสง่าราศีซึ่งบุตรองค์เดียวได้จากพระบิดา.” (โยฮัน 1:14) แต่การจำแลงพระกายนี้ไม่ใช่นิมิตสุดท้ายที่สาวกของพระเยซูจะได้รับ.
ความกระจ่างมากขึ้นอีกสำหรับเหล่าผู้ภักดีของพระเจ้า
14, 15. ในแง่ใดที่อัครสาวกโยฮันจะมีชีวิตอยู่จนถึงการเสด็จมาของพระเยซู?
14 ภายหลังการคืนพระชนม์ พระเยซูปรากฏกายแก่เหล่าสาวกของพระองค์ ณ ริมฝั่งทะเลแกลิลี. พระองค์บอกเปโตรที่นั่นว่า “ถ้าเราประสงค์ให้ [โยฮัน] ยังคงอยู่ต่อไปจนกระทั่งเรามานั้น ก็จะเป็นธุระอะไรของเจ้าเล่า?” (โยฮัน 21:1, 20-22, 24, ล.ม.) คำตรัสนี้บ่งชี้ว่าอัครสาวกโยฮันจะมีชีวิตยืนยาวกว่าอัครสาวกคนอื่น ๆ ไหม? ดูเหมือนเป็นเช่นนั้น เนื่องจากท่านได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อจากนั้นไปอีกเกือบ 70 ปี. อย่างไรก็ตาม คำตรัสของพระเยซูบ่งชี้ถึงบางสิ่งที่สำคัญกว่านั้น.
15 ถ้อยคำที่ว่า “จนกระทั่งเรามา” นั้นทำให้เรานึกถึงคำตรัสของพระเยซูที่กล่าวถึง “บุตรมนุษย์เสด็จมาในราชอาณาจักรของพระองค์.” (มัดธาย 16:28, ล.ม.) โยฮันมีชีวิตอยู่จนกระทั่งพระเยซูเสด็จมาในแง่ที่ว่า ในภายหลังโยฮันได้รับนิมิตที่แสดงภาพล่วงหน้าของการเสด็จมาของพระเยซูฐานะกษัตริย์แห่งราชอาณาจักร. ในช่วงท้ายของชีวิต ขณะถูกเนรเทศไปอยู่บนเกาะปัตโมส โยฮันได้รับพระธรรมวิวรณ์ที่มีภาพเชิงพยากรณ์ทั้งปวงอันน่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่าง “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” โยฮันได้รับการกระตุ้นใจจากนิมิตอันตระการตาเหล่านั้นมากจนเมื่อพระเยซูตรัสว่า “แท้จริงเราจะมาโดยเร็วพลัน” ท่านถึงกับอุทานออกมาว่า “อาเมน พระเยซูเจ้า, เชิญเสด็จมาเถิด!”—วิวรณ์ 1:1, 10; 22:20.
16. ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเสริมความเชื่อของเราเรื่อยไป?
16 บรรดาผู้มีหัวใจสุจริตที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษแรกยอมรับว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาและเชื่อในพระองค์. เมื่อคำนึงถึงการอยู่ท่ามกลางผู้ที่ขาดความเชื่อซึ่งมีอยู่ทั่วไป, การงานที่พวกเขาต้องทำ, อีกทั้งการทดลองต่าง ๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า ผู้ที่เข้ามาเป็นคริสเตียนจำต้องได้รับการเสริมความเชื่อ. พระเยซูให้หลักฐานเหลือเฟือที่พิสูจน์ว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮาและประทานนิมิตเชิงพยากรณ์ชัดเจนเพื่อเป็นการหนุนกำลังใจแก่เหล่าสาวกผู้ภักดีของพระองค์. ในทุกวันนี้ เราเข้ามาอยู่ใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” นานมากแล้ว. ในอีกไม่ช้า พระคริสต์จะทำลายล้างระบบชั่วทั้งสิ้นของซาตานและคุ้มครองประชาชนของพระเจ้าให้รอดพ้นการทำลาย. เราจำต้องเสริมความเชื่อเช่นกันด้วยการรับประโยชน์เต็มที่จากทุกสิ่งที่พระยะโฮวาจัดเตรียมไว้เพื่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเรา.
ได้รับการคุ้มครองผ่านพ้นความมืดมนและความยากลำบาก
17, 18. มีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างไรในศตวรรษแรกระหว่างสาวกของพระเยซูกับผู้ที่ต่อต้านพระประสงค์ของพระเจ้า และในที่สุดเกิดอะไรขึ้นกับแต่ละกลุ่ม?
17 หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู เหล่าสาวกเชื่อฟังอย่างไม่หวั่นเกรงในพระบัญชาของพระองค์ที่ให้พวกเขาให้คำพยานเกี่ยวกับพระองค์ “ในกรุงยะรูซาเลม, สิ้นทั้งมณฑลยูดาย, มณฑลซะมาเรีย, และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8) ทั้ง ๆ ที่เกิดการข่มเหงเป็นระยะ ๆ พระยะโฮวาทรงอวยพรประชาคมคริสเตียนที่เพิ่งก่อตั้งใหม่นั้นให้มีความเข้าใจฝ่ายวิญญาณลึกซึ้งขึ้นและมีสาวกใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามามากมาย.—กิจการ 2:47; 4:1-31; 8:1-8.
18 ในทางตรงกันข้าม ความหวังในอนาคตของผู้ที่ต่อต้านข่าวดีนั้นมืดมนลงทุกขณะ. สุภาษิต 4:19 กล่าวว่า “ฝ่ายทางของคนชั่วร้ายเป็นเหมือนความมืดทึบ: เขาไม่รู้ว่าเขาได้สะดุดอะไรเข้า.” “ความมืดทึบ” ยิ่งมืดทึบมากขึ้นในปี ส.ศ. 66 เมื่อกองทัพโรมันมาล้อมกรุงเยรูซาเลม. หลังจากถอนทัพไปชั่วคราวโดยไม่ทราบสาเหตุ กองทัพโรมันก็กลับมาอีกครั้งในปี ส.ศ. 70 และคราวนี้ ทำลายกรุงนั้นย่อยยับ. ตามบันทึกของโยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิว มีชาวยิวมากกว่าหนึ่งล้านคนเสียชีวิต. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์รอดพ้นเหตุการณ์นั้น. เพราะเหตุใด? เนื่องจากในตอนที่กองทัพโรมันถอนทัพไปชั่วคราว พวกเขาเชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูที่ให้หนีออกไป.—ลูกา 21:20-22.
19, 20. (ก) เหตุใดจึงไม่มีเหตุผลที่ประชาชนของพระเจ้าจะรู้สึกหวาดกลัวขณะที่อวสานของระบบปัจจุบันใกล้เข้ามา? (ข) หลายสิบปีก่อนปี 1914 พระยะโฮวาประทานความเข้าใจอะไรที่โดดเด่นแก่ประชาชนของพระองค์?
19 สภาพการณ์ของเราก็คล้าย ๆ กัน. ความทุกข์ลำบากใหญ่ที่ใกล้เข้ามาจะหมายถึงอวสานของระบบชั่วทั้งสิ้นของซาตาน. แต่ประชาชนของพระเจ้าไม่จำเป็นต้องหวาดกลัว เพราะพระเยซูทรงสัญญาว่า “เราอยู่กับพวกเจ้าเสมอจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบ.” (มัดธาย 28:20, ล.ม.) เพื่อเสริมความเชื่อแก่สาวกรุ่นแรกและเพื่อเตรียมพวกเขาไว้สำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า พระเยซูได้แสดงให้พวกเขาเห็นภาพล่วงหน้าถึงสง่าราศีของพระองค์ในสวรรค์ฐานะกษัตริย์มาซีฮา. ทุกวันนี้ล่ะ? ในปี 1914 นิมิตนั้นก็กลายเป็นจริง. และข้อเท็จจริงที่ว่าบัดนี้พระเยซูทรงปกครองเป็นกษัตริย์มาซีฮาแล้วนั้น เสริมความเชื่อแก่ประชาชนของพระเจ้าสักเพียงไร! นั่นทำให้มั่นใจว่าจะมีอนาคตอันยอดเยี่ยม และผู้รับใช้ของพระยะโฮวาก็ได้รับความเข้าใจกระจ่างชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องราชอาณาจักรมาซีฮานั้น. ท่ามกลางโลกที่มืดมนในทุกวันนี้ “วิถีของผู้ชอบธรรมนั้นเหมือนดังแสงอรุณ, ซึ่งกล้าขึ้นทุกทีจนถึงเที่ยงวัน.”—สุภาษิต 4:18.
20 คริสเตียนผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ เข้าใจความจริงที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับการเสด็จกลับมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าตั้งแต่ก่อนหน้าปี 1914 ด้วยซ้ำ. ตัวอย่างเช่น พวกเขาได้มาเข้าใจว่าการเสด็จกลับมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นแบบไม่ปรากฏแก่ตา ดังที่บ่งชี้ไว้ในคำพูดของทูตสวรรค์สององค์ที่ปรากฏแก่เหล่าสาวกขณะที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ในปี ส.ศ. 33. หลังจากเมฆคลุมพระองค์บังตาพวกสาวกไว้ ทูตสวรรค์เหล่านั้นกล่าวว่า “พระเยซูองค์นี้ซึ่งถูกรับขึ้นไปจากท่านเข้าสู่ท้องฟ้าจะเสด็จมาในลักษณะเดียวกันนั้น อย่างที่พวกท่านได้เห็นพระองค์เสด็จขึ้นสู่ท้องฟ้า.”—กิจการ 1:9-11, ล.ม.
21. จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
21 มีแต่สาวกผู้ภักดีของพระองค์ที่เห็นการเสด็จจากไปของพระเยซู. เหมือนการจำแลงพระกาย ไม่มีการแสดงให้เห็นต่อหน้าสาธารณชนทั่วไป ผู้คนทั่วไปในโลกไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรเกิดขึ้น. การเสด็จกลับมาของพระคริสต์ฐานะกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน. (โยฮัน 14:19) เฉพาะสาวกผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ของพระองค์เท่านั้นที่จะเข้าใจว่าพระองค์ประทับในฐานะกษัตริย์. ในบทความถัดไป เราจะได้เห็นว่าความเข้าใจในเรื่องนี้มีผลลึกล้ำต่อพวกเขาอย่างไร ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การรวบรวมหลายล้านคนที่จะเข้ามาเป็นผู้อยู่ใต้การปกครองของพระเยซูบนแผ่นดินโลก.—วิวรณ์ 7:9, 14.
[เชิงอรรถ]
a ดูเหมือนว่ามีแต่โยฮันเท่านั้นที่ได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าในคราวที่พระเยซูทรงรับบัพติสมา. ชาวยิวที่พระเยซูกำลังตรัสด้วยนั้น “มิได้ยินสำเนียงของพระองค์ [พระเจ้า] ในเวลาใด, และมิได้เห็นรูปร่างของพระองค์.”—โยฮัน 5:37.
คุณจำได้ไหม?
• ในคราวที่พระเยซูถูกกล่าวหาว่าละเมิดซะบาโตและดูหมิ่นพระเจ้า พระองค์ให้หลักฐานอะไรเพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์คือพระมาซีฮา?
• สาวกรุ่นแรกของพระเยซูได้ประโยชน์อย่างไรจากการจำแลงพระกาย?
• พระเยซูหมายความว่าอย่างไรเมื่อตรัสว่าโยฮันจะมีชีวิตอยู่จนถึงการเสด็จมาของพระองค์?
• นิมิตอะไรกลายเป็นจริงในปี 1914?
[ภาพหน้า 10]
พระเยซูให้ข้อพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮา
[ภาพหน้า 12]
นิมิตการจำแลงพระกายเสริมความเชื่อ
[ภาพหน้า 13]
โยฮันจะมีชีวิตอยู่จนถึง ‘การเสด็จมา’ ของพระเยซู