พระนามของพระยะโฮวาในแปซิฟิก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในฟิจิ
ฝูงชนต่างก็ประหลาดใจอย่างยิ่ง. ผู้มาใหม่ซึ่งเพิ่งมาถึงเกาะแปซิฟิกต่างก็หลับตาก่อนจะกินอาหารที่นำมาจัดเลี้ยง. ชาวเกาะถามว่า “พวกคุณกำลังทำอะไร?”
คำตอบคือ “ขอบคุณพระเจ้าสำหรับของประทานของพระองค์.”
“พระเจ้าของคุณอยู่ที่ไหน?” ชาวเกาะอยากรู้.
พวกเขาได้รับคำตอบว่า “อยู่ในสวรรค์.”
“พระองค์มีนามว่าอะไร?”
“พระยะโฮวา.”
ชาวเกาะถาม “พระเจ้าของคุณกินอาหารไหม?”
ผู้มาใหม่ตอบว่า “พระเจ้าเป็นองค์วิญญาณ. พระองค์ไม่เหมือนพวกเรา; พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ตลอดกาล. พระองค์นั่นเองที่ทรงสร้างโลก, ท้องฟ้า, ทะเล, และสิ่งสารพัด. พระองค์เป็นผู้สร้างพวกเรา.”
ชาวเกาะรู้สึกประหลาดใจเนื่องด้วยความจริงง่าย ๆ นี้และถามคนแปลกหน้าว่าทำไมจึงมาที่เกาะของพวกเขา. คำตอบง่าย ๆ คือ “เรามาเพื่อบอกให้พวกคุณรู้จักพระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ และพระเยซู พระบุตรของพระองค์ซึ่งเป็นผู้ช่วยให้รอดของเรา.”—จากความมืดสู่ความสว่างในหมู่เกาะโพลีนีเซีย (ภาษาอังกฤษ).
คนแปลกหน้าทั้งสองนี้คือใคร? พยานของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันไหม? ไม่ใช่. เขาทั้งสองเป็นผู้สอนและผู้เผยแพร่ศาสนาชาวตาฮิตีซึ่งไปถึงเกาะมังกายา (ทางตอนใต้ของหมู่เกาะคุก) ในวันที่ 15 มิถุนายน 1824. ทำไมพวกเขาใช้พระนามยะโฮวา? นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวไหม? คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะอธิบายว่าเหตุใดพระนามของพระยะโฮวาจึงยังมีความสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมของหมู่เกาะแถบแปซิฟิก.
มีการใช้พระนามของพระเจ้าอย่างกว้างขวาง
มิชชันนารีหลายคนซึ่งเดินทางจากอังกฤษและอเมริกามายังหมู่เกาะแถบแปซิฟิกในศตวรรษที่ 19 ใช้พระนามยะโฮวาในการพูดคุยประจำวันและในข้อเขียนของพวกเขา. ที่จริง นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งถึงกับยืนยันอย่างผิด ๆ ว่า มิชชันนารีรุ่นแรก ๆ เหล่านั้น “เป็นผู้ติดตามพระยะโฮวา แทนที่จะเป็นสาวกของพระคริสต์.”
จดหมายส่วนตัวของมิชชันนารีเหล่านี้มักเริ่มต้นด้วยวลีอย่างเช่น “ขอให้ท่านได้รับความรอดโดยพระยะโฮวาพระผู้เป็นเจ้าของเราและพระเยซูคริสต์องค์สันติราช.” ฉะนั้น ไม่น่าแปลกใจที่อัลเบิร์ต เจ. ชุตซ์ นักภาษาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง กล่าวว่า หนังสือแบบเรียนเบื้องต้นในฟิจิซึ่งทำขึ้นในปี 1825 มีคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษอยู่เพียงคำเดียว. คำนั้นคือพระนามยะโฮวา.
การใช้พระนามของพระยะโฮวาโดยพวกมิชชันนารีรุ่นแรก ๆ เหล่านี้มีผลกระทบต่อชาวเกาะแปซิฟิกอย่างลึกซึ้ง. ที่จริง บางคนในหมู่ผู้ที่ได้รับการสอนเหล่านี้ถูกส่งไปเป็นมิชชันนารี หรือผู้สอน เพื่อนำข่าวสารไปยังเกาะอื่น ๆ. เมื่อออกความเห็นเกี่ยวกับมิชชันนารีชาวตาฮิตีสองคนที่มาถึงเกาะมังกายาดังที่กล่าวข้างต้น หนังสือเหล่าผู้ทำสัญญาไมตรี—มิชชันนารีชาวเกาะในแปซิฟิก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “สำหรับผู้สอนชาวตาฮิตี พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. พระองค์ทรงสร้างโลกทั้งสิ้นและมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในสิ่งทรงสร้างของพระเจ้า. . . . [พวกเขา] ยืนยันว่า พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์เป็นผู้ช่วยมนุษยชาติให้รอด.”
ขณะที่พวกเขานำข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลไปยังเกาะต่าง ๆ มิชชันนารีรุ่นแรก ๆ บางคนประสบภยันตรายอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากบางครั้งชาวเกาะเป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรง. เมื่อพรรณนาถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญ หนังสือการเผยแพร่, คริสตจักร, และนิกายในโอเชียเนีย (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “บ่อยครั้ง ความเชื่อที่เข้มแข็งในพระยะโฮวาได้เอาชนะความกลัวและความสิ้นหวัง.”
ตัวอย่างที่น่ายกย่องเกี่ยวกับการมีความเชื่อเช่นนั้นในพระยะโฮวาปรากฏให้เห็นในปี 1823 เมื่อมีการนำข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลเข้าไปยังเกาะราโรตองกา ในหมู่เกาะคุก. จอห์น วิลเลียมส์ นักเดินเรือซึ่งเป็นมิชชันนารีได้มาถึงที่นั่นและส่งคู่สมรสสองคู่ขึ้นฝั่งเพื่อสอนชาวราโรตองกา. อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดความขัดแย้งกับกษัตริย์ที่เมาสุราอย่างหนัก มิชชันนารีเหล่านี้ก็ถูกทุบตีอย่างรุนแรง. ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพวกเขาถูกยึด และพวกเขาหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด.
เมื่อกลับไปถึงเรือ มิชชันนารีเหล่านั้นพรรณนาว่าชาวราโรตองกาเป็นคนป่าเถื่อนที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยพบ. เนื่องจากกลัวว่าสถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งขึ้น วิลเลียมส์จึงตัดสินใจไปจากเกาะนั้น อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง. ตอนนั้นเอง ครูวัยหนุ่มที่ชื่อ ปาเปอีฮา ได้อาสาที่จะไปเผยแพร่บนเกาะนั้นเพียงลำพัง. เขากล่าวว่า “ไม่ว่าคนป่าเถื่อนนั้นจะไว้ชีวิตผมหรือฆ่าผม ผมก็จะขึ้นฝั่งไปหาพวกเขา.”
ด้วยถ้อยคำที่กล่าวถึงบ่อย ๆ จากบันทึกกิจกรรมมิชชันนารีในสมัยแรก ปาเปอีฮากล่าวว่า “โค เยโฮวา โตคู ตีอาคี! เต โรโต อาอู อี โตนา รีมา! (พระยะโฮวาทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงข้าพเจ้า! ข้าพเจ้าอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์!)” จากนั้น ด้วยเสื้อผ้าที่สวมติดตัวเพียงไม่กี่ชิ้น พร้อมกับหนังสือที่มีข้อความคัดลอกจากคัมภีร์ไบเบิลภาษาตาฮิตี เขากระโดดลงน้ำและว่ายขึ้นฝั่ง. เขาไม่เพียงแค่รอดชีวิต. เมื่อไปถึงเกาะนั้น เขาพบว่าหลายคนตอบรับสิ่งที่เขาสอนด้วย.
ชาวราโรตองกาคนหนึ่งซึ่งภายหลังได้มาเป็นมิชชันนารี คือโมเร ตาอูงา. ในปี 1842 เขากลายเป็นมิชชันนารีคนแรกที่ก่อตั้งศูนย์สำหรับมิชชันนารีขึ้นบนเกาะนิวแคลิโดเนีย. ในสมุดบันทึกประจำวัน เขาได้เขียนเกี่ยวกับชายชาวเกาะคนหนึ่งที่เขาสอนแบบตัวต่อตัวจนอ่านออกเขียนได้ดังนี้: “เขาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้อย่างช้า ๆ. ไม่นานหลังจากนั้นเขาบอกกับผมว่า ‘ผมอยากอธิษฐาน.’ แต่ผมแนะเขาว่าอย่าเพิ่งรีบร้อน. ต่อมาเขาก็ขออีก ‘คุณให้ผมอธิษฐานไม่ได้หรือ?’ แล้วเขาถามถึงสาเหตุที่ผมไม่ยอมให้เขาอธิษฐาน ผมจึงบอกว่า ‘คุณต้องทิ้งรูปเคารพของคุณก่อน แล้วคุณจึงจะอธิษฐานถึงพระยะโฮวาได้. พระองค์เท่านั้นที่ได้ยินคุณ.’ เขาจึงเอาตะกร้าที่ใส่รูปเคารพมาให้ผมแล้วบอกว่า ‘ช่วยเผาให้ผมด้วย. ต่อไปนี้พระยะโฮวาคือพระเจ้าของผม.’ ในที่สุด เขาก็อธิษฐานได้ดี.”
ชาวเกาะแปซิฟิกยอมรับพระยะโฮวา
เมื่อพวกมิชชันนารีใช้พระนามพระเจ้ากันอย่างเสรี จึงไม่น่าแปลกใจที่คนเหล่านั้นซึ่งรับฟังการประกาศของพวกเขา ได้เริ่มยอมรับพระยะโฮวาฐานะเป็นพระเจ้าของตน. หนังสือการผจญภัยของมิชชันนารีในแปซิฟิกใต้ (ภาษาอังกฤษ) พรรณนาถึงการประชุมครั้งใหญ่ซึ่งจัดขึ้นบนเกาะหนึ่งที่อยู่ทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากเรือของมิชชันนารีที่ชื่อมอร์นิง สตาร์ ได้มาถึง. หนังสือนั้นกล่าวว่า ชาวเกาะ “ลงมติด้วยการยกมือ พวกเขาส่วนใหญ่ยกมือขึ้นทั้งสองข้างเป็นเวลานานเพื่อยืนยันว่า พวกเขาจะเลิกบูชารูปเคารพและจะนมัสการพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาจะจัดหาสิ่งจำเป็นให้แก่พวกผู้สอน. มีการจัดที่ดินแปลงหนึ่งไว้ต่างหากและอุทิศแด่พระยะโฮวาเพื่อสร้างโบสถ์และบ้านพักสำหรับผู้สอน.”
เมื่อพรรณนาถึงการเปลี่ยนศาสนาของมาลีเอโตอา ผู้มีตำแหน่งสูงคนหนึ่งในเกาะซามัว หนังสือวีลีอามู—นักเดินเรือ-มิชชันนารี—เรื่องราวของจอห์น วิลเลียมส์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “มาลีเอโตอากล่าวต่อผู้คนของเขาอย่างยืดยาว โดยปฏิญาณตนอย่างเปิดเผยว่าเขาจะเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา และสร้างโบสถ์เพื่อการนมัสการพระองค์. เขาสั่งคนซึ่งอยู่ที่บ้านให้เริ่มเรียนรู้เรื่องพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์.”
กิจกรรมทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบยาวนานต่อชีวิตของผู้คนหลายชุมชนบนเกาะแปซิฟิก. กระทั่งทุกวันนี้ ในประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น ฟิจิและซามัว ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จะได้ยินพระนามของพระยะโฮวาทางวิทยุหรือเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น.
แต่ผลกระทบไม่ได้มีแค่นั้น. ในหนังสือชื่อเกาะมหาสมบัติ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี 1977 เพิร์ล ไบนเดอร์ อธิบายถึงความสำคัญของพระนามยะโฮวาที่มีต่อชาวบานาบา. เดิมคนเหล่านี้อยู่ในเกาะคิริบาส แต่ต่อมาได้อพยพไปที่เกาะรัมบีในฟิจิ. ไบน์เดอร์เขียนว่า “มิชชันนารีที่มายังเกาะบานาบาได้ให้บางสิ่งที่มีค่ามากกว่าที่ชาวบานาบาตระหนักถึง. . . . ความเชื่อในพระยะโฮวาเป็นจุดรวมในชีวิตพวกเขา ยึดเหนี่ยวพวกเขาให้เป็นเอกภาพอย่างที่ไม่มีสิ่งอื่นใดจะทำได้ แม้ว่าจะเผชิญความยากลำบากที่ทนทุกข์ทรมานมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเจ็ดสิบปี และจนถึงทุกวันนี้พวกเขาก็ยังคงมีสภาพฝ่ายวิญญาณที่ดี. ถ้าไม่มีพระยะโฮวาของคนผิวขาว (ซึ่งคนผิวขาวเองละทิ้งมากขึ้นเรื่อย ๆ) ชาวบานาบาคงจะไม่มีความหวังใด ๆ.”
พระนามของพระเจ้าในฉบับแปลต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล
เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของเหล่ามิชชันนารีรุ่นแรก ๆ คือการผลิตคัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่เข้าใจได้ซึ่งใช้กันในหมู่เกาะแปซิฟิก. เนื่องจากความพยายามอย่างขันแข็งของพวกเขา คัมภีร์ไบเบิลจึงมีให้หาอ่านได้ในภาษาต่าง ๆ มากมายที่มีการใช้กันทั่วไปตามหมู่เกาะแปซิฟิก. ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้แปลเหล่านี้จะเขียนทับศัพท์พระนามยะโฮวาแบบเดียวกับที่เขาเขียนชื่ออื่น ๆ ทั้งหมดในคัมภีร์ไบเบิล.
สำหรับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่เอาจริงเอาจังนับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่ผู้แปลในสมัยแรก ๆ เหล่านี้ได้ใช้พระนามยะโฮวาไม่เพียงแต่ในฉบับแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่ในฉบับแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่. การสำรวจภาษาที่ใช้ในหมู่เกาะแปซิฟิกเจ็ดภาษาเผยว่า มีการใช้พระนามพระยะโฮวาถึง 72 ข้อในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. พระคัมภีร์เหล่านี้ไม่ใช่ฉบับแปลที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 19 เท่านั้น. ฉบับหนึ่งที่เป็นเช่นนี้คือฉบับแปลภาษาโรตูมาซึ่งออกในปี 1999. คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ใช้พระนามยะโฮวาในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก 48 ข้อ.
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 วิลเลียม ไวแอตต์ กิลล์ มิชชันนารีที่อยู่ในแถบแปซิฟิกมาเป็นเวลานาน ได้เขียนเกี่ยวกับพระคัมภีร์ฉบับแปลรุ่นแรกฉบับหนึ่งดังนี้: “หลังจากใช้คัมภีร์ไบเบิลภาษาราโรตองกามาเป็นเวลาสี่สิบสองปี ผมคงได้รับการอภัยที่จะบอกว่า ผมถือว่าคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ถ่ายทอดข้อความเดิมได้อย่างน่าชื่นชม. . . . เหมือนกับฉบับแปลอื่น ๆ ในแปซิฟิกและนิวกินี พระนามศักดิ์สิทธิ์ ‘ยะโฮวา’ ถูกเขียนทับศัพท์ โดยที่ไม่มีการแปลเลย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ตลอดกาลกับวัตถุที่พวกนอกรีตกราบไหว้กันแตกต่างกันอย่างลิบลับ.”
เหตุผลที่พวกเขาใช้พระนามของพระเจ้า
ทำไมมิชชันนารี, ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล, และผู้สอนเหล่านี้ใช้พระนามเฉพาะของพระเจ้า ยะโฮวา มากมายถึงเพียงนี้? เหตุผลที่สำคัญเป็นพิเศษคือ เนื่องจากพวกเขาพบว่าจำเป็นที่ต้องแยกพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว ออกจากพระเท็จมากมายที่ชาวเกาะแปซิฟิกนมัสการกัน. (โยฮัน 17:3; 1 โกรินโธ 8:5, 6) พระเท็จเหล่านี้ต่างก็มีชื่อกัน และเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกินที่ผู้นมัสการเทพเจ้าเหล่านี้จะถามว่า “พระเจ้าของคุณคือใคร? พระองค์มีนามว่าอะไร?” การใช้คำในภาษาท้องถิ่นสำหรับคำว่า “พระเจ้า” คงจะทำให้ผู้ถามสับสน หรืออาจทำให้พวกเขาคิดถึงผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการว่าพระองค์เป็นเพียงพระอีกองค์หนึ่งที่เพิ่มเข้ากับพระมากมายของพวกเขา. ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่มิชชันนารีรุ่นแรกเหล่านี้ใช้พระนามของพระยะโฮวาอย่างแพร่หลาย.
นี่หมายความไหมว่า ทุกคนที่ใช้พระนามยะโฮวาเข้าใจจริง ๆ ว่าพระองค์คือผู้ใด? ไม่ใช่. ไฮรัม บิงแฮม มิชชันนารี, ผู้แปล, และบุตรชายของมิชชันนารีชาวฮาวายผู้โด่งดังซึ่งมีชื่อเหมือนกัน ได้ให้คำพยานแก่ชาวเกาะอาไบอาง (ในหมู่เกาะคิริบาส) โดยร้องตะโกนว่า “มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น นั่นคือพระยะโฮวา” ขณะที่พวกเขาทำลายรูปเคารพของตน. แต่หนังสือการผจญภัยของมิชชันนารีในแปซิฟิกใต้ กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นดังนี้:
“กระนั้น บิงแฮมรู้ว่าการทำลายรูปเคารพไม่ได้หมายความว่า คนเหล่านั้นจะรับเอาศาสนาคริสเตียนจริง ๆ อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ตอนนั้น. พวกเขายังเข้าใจไม่มากนักเกี่ยวกับความหมายอันแท้จริงของกิตติคุณ แต่ก็เป็นการเริ่มต้น.” เห็นได้ชัดว่า เพียงแค่รู้จักพระนามยะโฮวายังไม่พอ. คริสเตียนแท้ต้องรู้จักพระยะโฮวาในฐานะเป็นบุคคล และต้องเชื่อฟังพระองค์ในทุกแง่ทุกมุม.—โรม 10:13-17.
แม้แต่โมเซผู้ซื่อสัตย์ บุรุษซึ่งรู้จักพระนามยะโฮวาและใช้พระนามนั้น ยังต้องเรียนรู้มากขึ้น. ท่านอธิษฐานว่า “ถ้าแม้ข้าพเจ้าได้รับความเมตตาต่อพระเนตรของพระองค์แล้ว, ขอพระองค์ทรงโปรดสำแดงพระมรรคาของพระองค์ให้ข้าพเจ้าเห็นในกาลบัดนี้, เพื่อข้าพเจ้าจะได้รู้จักพระองค์แล้วจะได้รับความเมตตาต่อพระเนตรของพระองค์เสมอไป.” (เอ็กโซโด 33:13) ถูกแล้ว โมเซต้องการจะรู้ไม่เพียงแค่พระนามของพระยะโฮวาเท่านั้น. ท่านต้องการรู้จักคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระยะโฮวาและต้องการรู้วิธีที่จะทำให้พระองค์พอพระทัย. เนื่องจากคำทูลขอนี้ โมเซได้รับสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ นั่นคือท่านได้เห็นการสำแดงอันเกี่ยวข้องกับความหมายของพระนามยะโฮวา.—เอ็กโซโด 33:19; 34:5-7.
ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน พยานพระยะโฮวาหลายพันคนตลอดทั่วหมู่เกาะแปซิฟิกกำลังใช้คัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้รับการแปลมาแต่ดั้งเดิมโดยมิชชันนารีรุ่นแรก ๆ เพื่อช่วยผู้สุจริตใจให้ได้มาเข้าใจไม่เพียงความหมายของพระนามยะโฮวา แต่เข้าใจว่าพระองค์ทรงเรียกร้องอะไรจากคนที่นมัสการพระองค์ “ด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:23, 24, ล.ม.) ใช่แล้ว มีการถวายเกียรติแด่พระนามยะโฮวาใน “หมู่เกาะ” ทั้งหลาย. ด้วยเหตุนี้ หลายพันคนจึงฝากความหวังไว้กับพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์.—ยะซายา 24:15; 42:12; 51:5; สุภาษิต 18:10.
[ภาพหน้า 12]
ชาวเกาะแปซิฟิกที่เรียนรู้พระนามของพระเจ้าจากมิชชันนารีรุ่นแรกของคริสต์ศาสนจักรได้ประกาศพระนามนั้นให้คนอื่นรู้จัก
[ที่มาของภาพ]
Palm tree and photo at left: From the book Gems From the Coral Islands
[ภาพหน้า 13]
จอห์น วิลเลียมส์
[ที่มาของภาพ]
Culver Pictures
[ภาพหน้า 13]
ปาเปอีฮา
[ที่มาของภาพ]
Courtesy Institute of Pacific Studies, from Mission Life in the Islands of the Pacific, by Aaron Buzacott
[ภาพหน้า 15]
พยานพระยะโฮวาทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักทั่วโลก