บทสอง
การรับใช้ใน “ช่วงปลายยุค”
1, 2. (ก) ยิระมะยาห์ได้รับนิมิตอะไรซึ่งบอกให้รู้สาระสำคัญของคำพยากรณ์ที่ท่านจะประกาศ? (ข) ทำไมคุณควรสนใจข่าวสารของยิระมะยาห์?
พระเจ้าตรัสถามผู้พยากรณ์ที่พระองค์เพิ่งมอบหมายหน้าที่ให้ว่า “เจ้าเห็นอะไร?” หนุ่มยิระมะยาห์ทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นหม้อปรุงอาหารปากกว้างซึ่งตั้งอยู่บนกองไฟที่ถูกพัดจนร้อนแรง ปากหม้อเอียงไปทางตรงข้ามกับทิศเหนือ.” นิมิตนั้นบ่งบอกตั้งแต่ต้นว่ายิระมะยาห์จะประกาศข่าวสารแบบไหน. (อ่านยิระมะยา 1:13-16, ล.ม.a) พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าว่า เนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์ซึ่งมีอยู่ดาษดื่น ความยากลำบากที่เป็นเหมือนน้ำเดือดจะถูกเทลงสู่แผ่นดินยูดาห์จากหม้อโดยนัยใบนี้. คุณคิดอย่างไร ทำไมปากหม้อจึงเอียงไปทางทิศใต้? นี่หมายความว่าความยากลำบากจะมาจากทิศเหนือ บาบิโลนจะบุกรุกมาจากทิศนั้น. ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง. ตลอดช่วงหลายปีที่ยิระมะยาห์เป็นผู้พยากรณ์ ท่านได้รู้เห็นสิ่งที่เป็นเหมือนการเทจากหม้อปรุงอาหารใบนี้หลายครั้ง ซึ่งได้มาถึงจุดสุดยอดด้วยการทำลายกรุงเยรูซาเลม.
2 บาบิโลนไม่มีอีกแล้ว แต่คุณควรจะสนใจข่าวสารเชิงพยากรณ์ของยิระมะยาห์. เพราะเหตุใด? เพราะคุณมีชีวิตอยู่ใน “ช่วงปลายยุค” ที่หลายคนอ้างว่าเป็นคริสเตียน แต่พวกเขาและคริสตจักรของตนไม่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. (ยิระ. 23:20, ล.ม.) ในทางตรงกันข้าม เช่นเดียวกับยิระมะยาห์ คุณกับเพื่อนพยานฯกำลังประกาศไม่เพียงข่าวสารเกี่ยวกับการพิพากษาเท่านั้น แต่เป็นข่าวสารเกี่ยวกับความหวังด้วย.
3. (ก) มีการเรียบเรียงเรื่องราวในหนังสือยิระมะยาอย่างไร? (ข) บท 2 ของคู่มือการศึกษานี้มีจุดประสงค์อะไร?
3 ยิระมะยาห์คงได้ให้เลขานุการเขียนเรื่องของท่านตามคำบอกในช่วงหลังที่ท่านเป็นผู้พยากรณ์ แทนที่จะบันทึกตอนที่เหตุการณ์เกิดขึ้น. (ยิระ. 25:1-3; 36:1, 4, 32) หนังสือนี้ไม่ได้เรียบเรียงตามลำดับเวลา เพราะยิระมะยาห์ได้เรียบเรียงหลายส่วนตามเนื้อหา. ดังนั้น คุณจะพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะดูคร่าว ๆ เกี่ยวกับฉากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของหนังสือยิระมะยากับบทเพลงร้องทุกข์และลำดับเวลาที่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น. โปรดสังเกตแผนภูมิในหน้า 19. การที่คุณรู้ว่าใครเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรยูดาห์ในช่วงใด และในบางกรณีรู้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นในยูดาห์และบริเวณที่อยู่รอบ ๆ จะทำให้คุณสามารถเข้าใจดีขึ้นในสิ่งที่ยิระมะยาห์พูดหรือทำ. และคุณจะพร้อมยิ่งขึ้นที่จะได้รับประโยชน์จากข่าวสารของพระเจ้าสำหรับประชาชนของพระองค์ตามที่ยิระมะยาห์ได้ประกาศ.
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยยิระมะยาห์
4-6. ในช่วงหลายสิบปีก่อนยิระมะยาห์เป็นผู้พยากรณ์ ประชาชนของพระเจ้าสมัยนั้นอยู่ในสถานการณ์เช่นไร?
4 ยิระมะยาห์ได้พยากรณ์ระหว่างช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก. นั่นเป็นช่วงเวลาที่มีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างอัสซีเรีย, บาบิโลน, และอียิปต์. ประมาณ 93 ปีก่อนยิระมะยาห์เริ่มต้นพยากรณ์ อัสซีเรียได้พิชิตอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลทางเหนือและเนรเทศพลเมืองมากมายไป. ในตอนนั้น พระยะโฮวาได้ทรงปกป้องกรุงเยรูซาเลมและฮิศคียากษัตริย์ที่ซื่อสัตย์เมื่อพวกอัสซีเรียเข้าโจมตี. คุณคงจะจำได้ว่าพระเจ้าได้สังหารทหารฝ่ายศัตรูถึง 185,000 คนโดยการอัศจรรย์. (2 กษัต. 19:32-36) ราชบุตรองค์หนึ่งของฮิศคียาคือมานาเซห์. ยิระมะยาห์คงได้เกิดระหว่างการปกครอง 55 ปีของมานาเซห์ ช่วงเวลาที่อาณาจักรยูดาห์อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมทางการเมืองของอัสซีเรีย.—2 โคร. 33:10, 11
5 ยิระมะยาห์ได้เขียนพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นและฉบับสอง ซึ่งเราอ่านว่า มานาเซห์ได้สร้างที่นมัสการบนเนินสูงซึ่งราชบิดาของท่านได้ทำลายนั้นขึ้นใหม่. มานาเซห์ได้ตั้งแท่นบูชาสำหรับบาละและดวงดาวทั้งหลายในท้องฟ้า ถึงกับตั้งไว้ในพระวิหารของพระยะโฮวาด้วยซ้ำ. และมานาเซห์ได้ทำให้เลือดของผู้ไม่มีความผิดหลั่งออกมากมาย ได้เผาบุตรของตนเป็นเครื่องบูชาแด่พระเท็จ. กล่าวโดยสรุปแล้ว “ท่านได้ประพฤติชั่วร้ายมากต่อพระเนตรพระยะโฮวา.” เนื่องจากความชั่วทั้งหมดนี้ พระเจ้าทรงตัดสินว่าจะเกิดความหายนะขึ้นกับกรุงเยรูซาเลมและอาณาจักรยูดาห์ ดังที่ได้เกิดขึ้นกับกรุงซะมาเรียและอิสราเอลมาแล้ว. (2 กษัต. 21:1-6, 12-16) หลังจากมานาเซห์สิ้นพระชนม์ อาโมนราชบุตรได้ไหว้รูปเคารพเหมือนราชบิดา แต่ไม่นานเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไป. สองปีต่อมา อาโมนถูกปลงพระชนม์ และโยซียาห์ราชโอรสที่มีพระชนมายุแปดพรรษาได้ขึ้นครองราชย์ในปี 659 ก่อน ส.ศ.
6 ระหว่างช่วงการปกครอง 31 ปีของโยซียาห์ บาบิโลนเริ่มมีอำนาจเหนืออัสซีเรีย. โยซียาห์ทรงเห็นว่าสถานการณ์เช่นนี้เปิดโอกาสให้ยูดาห์ได้อิสรภาพคืนมาจากอำนาจของต่างชาติ. ต่างจากราชบิดาและพระอัยกาของท่าน โยซียาห์ได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์และทำการปฏิรูปทางศาสนาหลายอย่าง. (2 กษัต. 21:19–22:2) ในปีที่ 12 แห่งการครองราชย์ โยซียาห์ได้ทำลายสถานนมัสการบนที่สูง, เสาศักดิ์สิทธิ์, และรูปปั้นของศาสนาเท็จตลอดทั่วอาณาจักรและหลังจากนั้นก็ได้บัญชาให้ซ่อมแซมพระวิหารของพระยะโฮวา. (อ่าน 2 โครนิกา 34:1-8 ) น่าสนใจ ในปีที่ 13 แห่งรัชกาลของโยซียาห์ (ปี 647 ก่อน ส.ศ.) ยิระมะยาห์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พยากรณ์ของพระเจ้า.
หากคุณเป็นผู้พยากรณ์ในสมัยยิระมะยาห์ คุณคงจะรู้สึกอย่างไร?
7, 8. (ก) การปกครองของกษัตริย์โยซียาห์ต่างกันอย่างไรกับการปกครองของมานาเซห์และอาโมนที่เป็นกษัตริย์ก่อนหน้านั้น? (ข) โยซียาห์เป็นบุคคลเช่นไร? (ดูกรอบหน้า 20)
7 ขณะที่มีการซ่อมแซมพระวิหาร ในปีที่ 18 แห่งรัชกาลของโยซียาห์กษัตริย์ที่ดี มหาปุโรหิตได้พบ “หนังสือพระธรรม.” กษัตริย์ทรงให้เลขานุการอ่านหนังสือนั้นให้ท่านฟัง. โยซียาห์ได้ตระหนักถึงความผิดของประชาชน แสวงหาการชี้นำจากพระยะโฮวาโดยทางผู้พยากรณ์หญิงฮินดา และกระตุ้นเตือนราษฎรให้รักษาพระบัญญัติของพระเจ้า. ฮินดาได้ทูลให้โยซียาห์ทราบว่าพระยะโฮวาจะทรงทำให้เกิด “การร้าย” ขึ้นกับชาวยูดาห์เนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์ของพวกเขา. อย่างไรก็ดี เนื่องจากโยซียาห์มีเจตคติที่ดีต่อการนมัสการอันบริสุทธิ์ เหตุการณ์ร้ายนั้นจะไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของท่าน.—2 กษัต. 22:8, 14-20
8 กษัตริย์โยซียาห์ได้เริ่มพยายามอีกครั้งที่จะกำจัดสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไหว้รูปเคารพ. ท่านถึงกับได้รับการกระตุ้นให้ไปถึงเขตแดนที่เคยอยู่ในการปกครองของอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือ เพื่อทำลายที่นมัสการบนเนินสูงและแท่นบูชาที่เมืองเบ็ธเอล. ท่านยังได้จัดให้มีการฉลองปัศคาที่ยิ่งใหญ่ด้วย. (2 กษัต. 23:4-25) คิดดูสิ เรื่องนี้คงต้องทำให้ยิระมะยาห์รู้สึกยินดีจริง ๆ! แต่ปรากฏว่ายากที่จะกระตุ้นประชาชนให้เปลี่ยนแนวทางของเขา. มานาเซห์กับอาโมนได้นำประชาชนไปสู่การนมัสการรูปเคารพที่เสื่อมทราม ดังนั้น การนมัสการบริสุทธิ์จึงอยู่ในสภาพที่ตกต่ำ. ทั้ง ๆ ที่โยซียาห์ได้ทำการปฏิรูป พระเจ้าทรงกระตุ้นยิระมะยาห์ให้ชี้แจงว่าพระของชาวยูดาห์มีมากพอ ๆ กับเมืองของพวกเขา. เพื่อนร่วมชาติของผู้พยากรณ์เป็นเหมือนภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์ พวกเขาได้ละทิ้งพระยะโฮวาและขายตัวให้พระต่างชาติ. ยิระมะยาห์ได้ประกาศว่า “เจ้าได้ตั้งแท่นเพื่อจะบูชาแก่สิ่งอันน่าอายนั้น, คือแท่นทั้งหลายสำหรับจะเผาเครื่องหอมแก่บาละนั้น, มากนับได้เสมอถนนทั้งปวงในเมืองยะรูซาเลม.”—อ่านยิระมะยา 11:1-3, 13
9. ในช่วงท้าย ๆ แห่งการปกครองของโยซียาห์ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นระหว่างชาติต่าง ๆ?
9 การประกาศข่าวสารดังกล่าวของยิระมะยาห์ไม่ได้ทำให้ชาวยิวเปลี่ยนใจ อีกทั้งไม่ได้ทำให้ชาติต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบยุติการชิงอำนาจกัน. ในปี 632 ก่อน ส.ศ. กองกำลังผสมของบาบิโลนและมีเดียได้พิชิตนีเนเวห์ เมืองหลวงของอัสซีเรีย. สามปีต่อมา ฟาโรห์นะโคแห่งอียิปต์ได้นำกองทัพของตนบุกไปทางเหนือเพื่อช่วยชาวอัสซีเรียที่ถูกกดขี่. ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิล โยซียาห์ได้พยายามสกัดกั้นกองทัพอียิปต์ที่เมืองเมกิดโด แต่ท่านได้รับบาดเจ็บจนสิ้นพระชนม์. (2 โคร. 35:20-24) เหตุการณ์ที่น่าเศร้านี้จะทำให้ยูดาห์ประสบการเปลี่ยนแปลงเช่นไรทางด้านการเมืองและด้านศาสนา? และยิระมะยาห์จะเผชิญข้อท้าทายใหม่ ๆ อะไรบ้าง?
การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางด้านศาสนา
10. (ก) ช่วงเวลาหลังจากโยซียาห์สิ้นพระชนม์คล้ายกับสมัยของเราในแง่ใด? (ข) คุณจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการพิจารณาตัวอย่างของยิระมะยาห์?
10 ลองนึกภาพดูสิว่า ยิระมะยาห์จะรู้สึกอย่างไรเมื่อทราบว่าโยซียาห์สิ้นพระชนม์! ด้วยความโศกเศร้า ท่านได้ร้องเพลงคร่ำครวญถึงกษัตริย์. (2 โคร. 35:25) นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าวิตกกังวลอยู่แล้ว และความไม่มั่นคงระหว่างชาติต่าง ๆ ได้สร้างความกดดันแก่ยูดาห์. ประเทศที่เป็นคู่แข่งกัน เช่น อียิปต์, อัสซีเรีย, และบาบิโลนต่างก็พยายามต่อสู้กันเพื่อจะมีอำนาจควบคุมภูมิภาคนั้น. และสถานการณ์ทางด้านศาสนาในยูดาห์ได้เปลี่ยนไปเมื่อโยซียาห์สิ้นพระชนม์. นั่นเป็นการสิ้นสุดรัชกาลที่ส่วนใหญ่แล้วเอื้ออำนวยต่องานของยิระมะยาห์ และเป็นการเริ่มต้นรัชกาลที่มีการขัดขวางงานของท่าน. พี่น้องหลายคนของเราในสมัยปัจจุบันได้ประสบการเปลี่ยนแปลงคล้ายกัน จากการมีเสรีภาพพอสมควรในการนมัสการเปลี่ยนมาเป็นการข่มเหงและคำสั่งห้าม. ใครจะรู้ว่าพวกเราสักกี่คนอาจประสบการเปลี่ยนแปลงคล้ายกันในไม่ช้า? เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะทำอย่างไร? เราจะต้องทำอะไรเพื่อรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง? โดยคิดถึงคำถามดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาความยุ่งยากต่าง ๆ ที่ยิระมะยาห์ได้เผชิญอย่างเป็นผลสำเร็จ.
11. เกิดอะไรขึ้นในยูดาห์หลังจากโยซียาห์สิ้นพระชนม์?
11 พลเมืองของยูดาห์ได้ตั้งยะโฮอาฮัศราชบุตรของโยซียาห์เป็นกษัตริย์ในกรุงเยรูซาเลม. ยะโฮอาฮัศซึ่งเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าซาลุม (ซาลุน) ได้ปกครองเพียงสามเดือน. เมื่อฟาโรห์นะโคกลับจากการต่อสู้กับบาบิโลนแล้วมุ่งไปทางใต้ ท่านได้ถอดกษัตริย์องค์ใหม่ออกแล้วพาตัวไปอียิปต์ และยิระมะยาห์ประกาศว่ายะโฮอาฮัศจะ “ไม่กลับมาอีกเลย.” (ยิระ. 22:10-12; 2 โคร. 36:1-4) นะโคได้ตั้งยะโฮยาคิม ราชบุตรอีกองค์หนึ่งของโยซียาห์ให้ขึ้นครองราชย์แทน. ยะโฮยาคิมไม่ได้เลียนแบบตัวอย่างที่ดีของราชบิดา. แทนที่จะดำเนินการปฏิรูปของราชบิดาต่อไป ท่านกลับทำการไหว้รูปเคารพ.—อ่าน 2 กษัตริย์ 23:36, 37
12, 13. (ก) ในตอนเริ่มต้นการปกครองของยะโฮยาคิม สถานการณ์ด้านศาสนาเป็นเช่นไร? (ข) ผู้นำศาสนาชาวยิวปฏิบัติอย่างไรต่อยิระมะยาห์?
12 ตอนเริ่มต้นการปกครองของยะโฮยาคิม พระยะโฮวาทรงบัญชาให้ยิระมะยาห์ไปที่พระวิหารและประณามความชั่วของชาวยูดาห์อย่างโจ่งแจ้ง. พวกเขาถือว่าพระวิหารของพระยะโฮวาเป็นเสมือนของขลังซึ่งจะปกป้องพวกเขาไว้. ที่จริงแล้ว หากพวกเขาจะไม่เลิก “ขโมย, แลฆ่าคน, แลผิดประเวณีผัวเมียเขา, แลสบถสาบานเป็นความเท็จ, แลบูชาเครื่องหอมถวายแก่บาละ, แลดำเนินตามทางของพวกพระทั้งหลายอื่น” พระยะโฮวาก็จะละทิ้งพระวิหารของพระองค์. และพระองค์จะทำอย่างเดียวกันกับคนหน้าซื่อใจคดซึ่งนมัสการในวิหารนั้น ดังที่พระองค์ได้ละทิ้งพลับพลาที่เมืองซีโลในสมัยของมหาปุโรหิตเอลี. แผ่นดินยูดาห์จะ “ต้องร้างเสีย.” (ยิระ. 7:1-15, 34; 26:1-6)b คิดดูสิว่ายิระมะยาห์ต้องกล้าหาญอย่างแท้จริงเพื่อจะประกาศข่าวสารนั้น! เป็นไปได้ว่า ท่านทำเช่นนั้นในที่สาธารณะต่อหน้าคนที่มีชื่อเสียง ผู้ทรงอิทธิพล. พี่น้องชายหญิงบางคนในทุกวันนี้รู้สึกเช่นเดียวกันว่าต้องมีความกล้าหาญมิใช่น้อยเพื่อจะมีส่วนร่วมในการประกาศตามถนนหรือพูดกับคนรวยหรือคนสำคัญ. แต่เรามั่นใจได้ว่า พระเจ้าทรงสนับสนุนเราอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่ทรงสนับสนุนยิระมะยาห์.—ฮีบรู 10:39; 13:6
13 เมื่อนึกถึงสถานการณ์ทางศาสนาและทางการเมืองที่มีอยู่ทั่วไปในยูดาห์ ผู้นำศาสนาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำพูดของยิระมะยาห์? ตามที่ท่านผู้พยากรณ์บันทึกเอง “พวกปุโรหิตแลพวกทำนายแลบรรดาไพร่พลเมืองได้จับเอาตัวยิระมะยาบอกว่า, ท่านจะต้องตายเป็นแน่.” พวกเขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ประกาศว่า “คนนี้ควรจะมีโทษถึงตาย.” (อ่านยิระมะยา 26:8-11 ) อย่างไรก็ดี เหล่าปรปักษ์ของยิระมะยาห์ไม่สามารถกำจัดท่านได้. พระยะโฮวาทรงอยู่กับผู้พยากรณ์ของพระองค์เพื่อช่วยท่านให้รอด. ส่วนยิระมะยาห์เอง แม้ศัตรูจะดูน่ากลัวหรือจะมีจำนวนมากเท่าไรก็ตาม แต่ท่านก็ไม่ได้หวาดกลัว. คุณก็ไม่ควรกลัวเช่นกัน.
คุณคิดว่าสภาพการณ์ในช่วงการปกครองของมานาเซห์, อาโมน, และโยซียาห์ต่างกันอย่างไร? คุณอาจได้บทเรียนอะไรจากวิธีที่ยิระมะยาห์เผชิญงานมอบหมายที่ท้าทาย?
“เจ้าจง . . . เขียนบรรดา . . . ถ้อยคำ”
14, 15. (ก) ยิระมะยาห์กับบารุคเลขานุการของท่านเริ่มงานอะไรในปีที่สี่ของรัชกาลยะโฮยาคิม? (ข) ยะโฮยาคิมเป็นบุคคลเช่นไร? (ดูกรอบหน้า 25)
14 ในปีที่สี่แห่งรัชกาลของยะโฮยาคิม พระยะโฮวาทรงบัญชาให้ยิระมะยาห์เขียนถ้อยคำทั้งสิ้นที่พระองค์ได้ตรัสกับท่านตั้งแต่สมัยของโยซียาห์. ยิระมะยาห์จึงบอกถ้อยคำทั้งสิ้นที่พระเจ้าได้ตรัสกับท่านเมื่อ 23 ปีก่อนหน้านั้นให้บารุคเลขานุการเขียนตาม. ข่าวสารการพิพากษาที่ท่านประกาศนั้นเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ราว ๆ 20 องค์รวมทั้งอาณาจักรต่าง ๆ ด้วย. ยิระมะยาห์ได้สั่งบารุคให้อ่านม้วนหนังสือนี้ด้วยเสียงดังในพระวิหารของพระยะโฮวา. การทำเช่นนี้มีจุดประสงค์อะไร? พระยะโฮวาได้ตรัสว่า “ชะรอยตระกูลยะฮูดาจะได้ยินฟังแต่บรรดาความร้ายที่เราคิดจะกระทำแก่เขาทั้งปวง, เพื่อเขาจะหันกลับทุกตัวคนจากทางชั่วของตัว, เพื่อเราจะได้ยกความอสัตย์อธรรมของเขา. แลโทษบาปของเขา.”—ยิระมะยา 25:1-3; 36:1-3
15 เมื่อข้าราชสำนักคนหนึ่งอ่านม้วนหนังสือนั้นให้ยะโฮยาคิมฟัง กษัตริย์ได้ตัดม้วนหนังสือนั้นเป็นชิ้น ๆ แล้วเผาเสีย. แล้วท่านได้สั่งให้พาตัวยิระมะยาห์และบารุคมาเฝ้า. “แต่พระยะโฮวาได้ซ่อนเขาไว้.” (อ่านยิระมะยา 36:21-26 ) เนื่องจากยะโฮยาคิมมีเจตคติที่เลวร้าย พระยะโฮวาทรงประกาศผ่านทางผู้พยากรณ์ของพระองค์ว่ากษัตริย์จะ “ถูกฝังไว้อย่างฝังลา.” ท่านจะ “ถูกลากไปโยนทิ้งไว้ข้างนอกประตูเมืองเยรูซาเล็ม.” (ยิระ. 22:13-19, ฉบับ R73 ) คุณคิดว่าจะเพิกเฉยต่อคำพยากรณ์ที่ให้ภาพชัดเช่นนี้โดยถือว่ายิระมะยาห์พูดเกินจริงไหม?
16. ยิระมะยาห์ประกาศข่าวสารที่ดีอะไร?
16 ถึงแม้ต้องประกาศข่าวสารเกี่ยวกับการพิพากษาเช่นนั้น ยิระมะยาห์ก็ไม่ใช่ผู้ที่พยากรณ์แต่เรื่องร้าย ๆ. ท่านได้ประกาศข่าวสารเกี่ยวกับความหวังด้วย. พระยะโฮวาจะช่วยชาวอิสราเอลที่เหลืออยู่ให้พ้นจากเหล่าศัตรูและนำพวกเขากลับมายังแผ่นดินของตน แล้วจะอาศัยอยู่ที่นั่นด้วยความปลอดภัย. พระเจ้าจะทรงตั้งสัญญา “ใหม่” ซึ่ง “จะยั่งยืนอยู่เป็นนิตย์” กับประชาชนของพระองค์และเขียนบัญญัติของพระองค์ในหัวใจพวกเขา. พระองค์จะทรงให้อภัยความผิดของพวกเขาและจะไม่ระลึกถึงบาปของเขาอีกต่อไป. ยิ่งกว่านั้น ผู้สืบเชื้อสายคนหนึ่งของดาวิดจะ “ดำเนินการอย่างยุติธรรมและชอบธรรมในแผ่นดินนี้.” (ยิระ. 31:7-9; 32:37-41; 33:15, ล.ม.) คำพยากรณ์เหล่านี้คงต้องสำเร็จเป็นจริงในอีกหลายทศวรรษและหลายศตวรรษต่อมา ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์นั้นยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราด้วยซ้ำและทำให้เรามีความหวังเรื่องอนาคตถาวร. แต่ย้อนหลังไปในสมัยยิระมะยาห์ เหล่าศัตรูยังคงใช้กลยุทธ์ต่อไปเพื่อมีอำนาจเหนือเขตแดนของยูดาห์.—อ่านยิระมะยา 31:31, 33, 34; ฮีบรู 8:7-9; 10:14-18
บาบิโลนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ
17, 18. เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นระหว่างชาติต่าง ๆ ในช่วงท้าย ๆ แห่งการปกครองของยะโฮยาคิมกับซิดคียา?
17 ในปี 625 ก่อน ส.ศ. ชาวบาบิโลนกับชาวอียิปต์ได้สู้รบกันครั้งเด็ดขาดที่คาร์เคมิช (คาระฆะมิศ) ใกล้แม่น้ำยูเฟรทิส อยู่ทางเหนือของกรุงเยรูซาเลมราว 600 กิโลเมตร. กษัตริย์นะบูคัดเนซัรพิชิตกองทัพของฟาโรห์นะโค ทำให้อียิปต์หมดอำนาจในเขตแดนนั้น. (ยิระ. 46:2) ตอนนี้นะบูคัดเนซัรได้ปกครองยูดาห์ และยะโฮยาคิมถูกบังคับให้รับใช้ท่าน. อย่างไรก็ดี หลังจากสามปีที่เป็นเมืองขึ้นของนะบูคัดเนซัร ยะโฮยาคิมได้กบฏ. (2 กษัต. 24:1, 2) เพื่อเป็นการตอบโต้ นะบูคัดเนซัรและกองทัพได้เคลื่อนพลเข้าสู่ยูดาห์ในปี 618 ก่อน ส.ศ. และล้อมกรุงเยรูซาเลม. ลองนึกภาพดูสิว่านั่นเป็นช่วงที่วุ่นวายสักเพียงไร แม้แต่สำหรับยิระมะยาห์ผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. ดูเหมือนว่ายะโฮยาคิมพบจุดจบระหว่างการโอบล้อมครั้งนั้น.c ยะโฮยาคินราชโอรสของท่านได้ยอมจำนนต่อบาบิโลนหลังจากปกครองยูดาห์เพียงสามเดือน. นะบูคัดเนซัรได้กวาดเอาทรัพย์สินของมีค่าไปจากกรุงเยรูซาเลมแล้วพายะโฮยาคิน, เหล่าเชื้อพระวงศ์, พวกขุนนางของยูดาห์, ชายฉกรรจ์ในชาติ, และช่างฝีมือไปเป็นเชลย. ในบรรดาผู้ที่เป็นเชลย ก็มีดานิเอล, ฮะนันยา, มิซาเอล, และอะซาระยา.—2 กษัต. 24:10-16; ดานิ. 1:1-7
18 ตอนนี้นะบูคัดเนซัรได้ตั้งซิดคียา ราชบุตรอีกองค์หนึ่งของโยซียาห์เป็นกษัตริย์ของยูดาห์. ปรากฏว่าท่านเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายบนแผ่นดินโลกในราชวงศ์ของดาวิด. การปกครองของท่านสิ้นสุดลงเมื่อกรุงเยรูซาเลมและพระวิหารถูกทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. (2 กษัต. 24:17) แต่ในช่วงการปกครอง 11 ปีของซิดคียา มีความตึงเครียดอย่างมากทางด้านสังคมและด้านการเมืองในยูดาห์. เห็นได้ชัดว่า ยิระมะยาห์ต้องไว้วางใจอย่างเต็มที่ในพระองค์ผู้ทรงมอบหมายให้ท่านเป็นผู้พยากรณ์.
19. ผู้คนในสมัยเดียวกันกับยิระมะยาห์แสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อข่าวสารของท่าน และเหตุใดคุณควรสนใจเรื่องนี้?
19 สมมุติว่าคุณเป็นยิระมะยาห์. ตั้งแต่สมัยโยซียาห์ ยิระมะยาห์ได้เห็นความวุ่นวายทางการเมืองและความเสื่อมทางด้านการนมัสการท่ามกลางประชาชนของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี ท่านทราบว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเลวร้ายลง. ประชาชนในบ้านเกิดของท่านบอกท่านว่า “เจ้าอย่าได้ทำนายความในนามพระยะโฮวา, เพื่อเจ้าจะไม่ถึงตายด้วยมือของพวกเรา.” (ยิระ. 11:21) แม้แต่เมื่อคำพยากรณ์ของยิระมะยาห์เป็นจริง ชาวยิวก็ยังบอกว่า “คำโอวาทที่ท่านได้บอกแก่พวกเราในนามแห่งพระยะโฮวานั้น พวกเราจะไม่ฟังเอาแก่ท่าน.” (ยิระ. 44:16) ถึงกระนั้น ชีวิตของผู้คนอยู่ในระหว่างเสี่ยง เช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้. ข่าวสารที่คุณประกาศมาจากพระยะโฮวา เช่นเดียวกับข่าวสารของยิระมะยาห์. เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณสามารถเสริมความมีใจแรงกล้าต่องานรับใช้โดยพิจารณาว่าพระยะโฮวาทรงปกป้องผู้พยากรณ์ของพระองค์อย่างไรระหว่างช่วงเวลาก่อนที่เยรูซาเลมถูกทำลาย.
เราจะเรียนอะไรได้จากเจตคติของยิระมะยาห์ระหว่างช่วงการปกครองของยะโฮยาคิม? ยิระมะยาห์ประกาศคำพยากรณ์ที่เด่นอะไรซึ่งครอบคลุมมาถึงสมัยของเรา?
ช่วงสุดท้ายของราชวงศ์
20. เหตุใดรัชกาลของซิดคียาจึงเป็นช่วงที่ยากลำบากโดยเฉพาะสำหรับยิระมะยาห์? (ดูกรอบหน้า 29)
20 บางทีช่วงยากที่สุดในการเป็นผู้พยากรณ์ของยิระมะยาห์อยู่ในรัชกาลของซิดคียา. เช่นเดียวกับกษัตริย์หลายองค์ก่อนหน้านั้น ซิดคียา “ได้กระทำการชั่วให้เคืองในคลองพระเนตรพระยะโฮวา.” (ยิระ. 52:1, 2) ท่านอยู่ใต้อำนาจบาบิโลน และนะบูคัดเนซัรได้ให้ท่านปฏิญาณในพระนามพระยะโฮวาว่าจะต้องเชื่อฟังกษัตริย์บาบิโลน. ถึงกระนั้น ในที่สุดซิดคียาได้กบฏ. ระหว่างนั้น เหล่าศัตรูของยิระมะยาห์ได้กดดันท่านอย่างหนักเพื่อให้สนับสนุนการกบฏนั้น.—2 โคร. 36:13; ยเอศ. 17:12, 13
21-23. (ก) ระหว่างรัชกาลของซิดคียามีฝ่ายใดบ้างที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน? (ข) มีการปฏิบัติอย่างไรต่อยิระมะยาห์เนื่องจากจุดยืนของท่าน และเหตุใดเราควรสนใจเรื่องนี้?
21 ดูเหมือนว่าในช่วงต้นรัชกาลซิดคียา ผู้ส่งข่าวจากกษัตริย์ของอะโดม, โมอาบ, อัมโมน, ไทระ (ตุโร), และซีโดนได้มาถึงกรุงเยรูซาเลม. บางทีจุดมุ่งหมายของพวกเขาคือเพื่อให้ซิดคียาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับนะบูคัดเนซัร. อย่างไรก็ดี ยิระมะยาห์ได้กระตุ้นเตือนซิดคียาให้ยอมอยู่ใต้อำนาจบาบิโลน. สอดคล้องกับเรื่องนี้ ยิระมะยาห์ได้นำแอกมาให้ผู้ส่งข่าวเพื่อแสดงภาพว่าชาติของพวกเขาก็ควรปรนนิบัติพวกบาบิโลนด้วยเช่นกัน. (ยิระ. 27:1-3, 14)d ผู้คนไม่เห็นชอบกับจุดยืนนี้ของยิระมะยาห์ และฮะนันยาได้ทำให้บทบาทของยิระมะยาห์ในการประกาศข่าวซึ่งไม่เป็นที่นิยมยากขึ้นไปอีก. เขาเป็นผู้พยากรณ์เท็จซึ่งยืนยันอย่างเปิดเผยในพระนามของพระเจ้าว่าแอกของบาบิโลนจะถูกหัก. อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาตรัสผ่านทางยิระมะยาห์ว่า ภายในหนึ่งปี ฮะนันยาผู้หลอกลวงจะต้องตาย แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง.—ยิระ. 28:1-3, 16, 17
22 ตอนนี้ยูดาห์แตกแยกเป็นสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้ยอมอยู่ใต้อำนาจของบาบิโลนกับอีกฝ่ายหนึ่งปลุกเร้าให้เกิดการกบฏ. ในปี 609 ก่อน ส.ศ. ซิดคียาได้กบฏโดยแสวงหาความช่วยเหลือทางทหารจากอียิปต์. ตอนนั้นยิระมะยาห์ต้องรับมือกับคนที่คลั่งไคล้ชาตินิยมซึ่งสนับสนุนการกบฏ. (ยิระ. 52:3; ยเอศ. 17:15) นะบูคัดเนซัรกับกองทัพของท่านได้กลับไปยังยูดาห์เพื่อปราบกบฏ พิชิตทุกเมืองของยูดาห์และล้อมกรุงเยรูซาเลมอีกครั้งหนึ่ง. ข่าวสารของยิระมะยาห์สำหรับซิดคียากับพลเมืองของท่านในช่วงวิกฤตินี้คือกรุงเยรูซาเลมจะพ่ายแพ้แก่บาบิโลน. คนเหล่านั้นที่ยังคงอยู่ในเมืองต่อไปจะต้องตาย. คนที่ออกไปหาชาวแคลเดียจะรอดชีวิต.—อ่านยิระมะยา 21:8-10; 52:4
23 เจ้านายทั้งหลายแห่งยูดาห์อ้างว่ายิระมะยาห์เป็นคนทรยศซึ่งสนับสนุนพวกบาบิโลน. เมื่อท่านบอกความจริง เจ้านายเหล่านั้นได้เฆี่ยนท่านแล้วขังไว้ในคุก. (ยิระ. 37:13-15) ยิระมะยาห์ก็ยังไม่ทำให้ข่าวสารของพระยะโฮวาเบาลง. ดังนั้น พวกเจ้านายจึงเกลี้ยกล่อมซิดคียา ให้ประหารชีวิตยิระมะยาห์. พวกเขาจับผู้พยากรณ์หย่อนลงไปในบ่อเก็บน้ำซึ่งว่างเปล่าที่ท่านคงจะตายอยู่ในโคลนเลน. แต่เอเบ็ดเมเล็ก ชาวเอธิโอเปียซึ่งรับใช้อยู่ในวังของกษัตริย์ได้ช่วยชีวิตยิระมะยาห์ไว้. (ยิระ. 38:4-13) บ่อยเพียงไรที่ประชาชนของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันได้เผชิญอันตรายเนื่องจากปฏิเสธที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบของพวกเขา! เห็นได้ชัด ประสบการณ์ของยิระมะยาห์จะเสริมกำลังคุณเพื่อจะเผชิญปัญหายุ่งยากต่าง ๆ และเอาชนะได้.
24. จงพรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 607 ก่อน ส.ศ.
24 ในปี 607 ก่อน ส.ศ. ในที่สุดพวกบาบิโลนได้บุกทะลวงกำแพงกรุงเยรูซาเลม และเมืองนี้ก็พ่ายแพ้. กองทัพของนะบูคัดเนซัรได้เผาพระวิหารของพระยะโฮวา ทำลายกำแพงเมือง และฆ่าพวกขุนนางของยูดาห์. ซิดคียาพยายามจะหนี แต่ก็ถูกจับตัวมาอยู่ต่อหน้าผู้พิชิต. ราชบุตรทั้งหลายของซิดคียาได้ถูกสังหารต่อหน้าท่าน และจากนั้นนะบูคัดเนซัรได้ทำให้ตาท่านบอด มัดท่านแล้วพาไปถึงบาบิโลน. (ยิระ. 39:1-7) ใช่แล้ว คำของยิระมะยาห์เกี่ยวกับยูดาห์และกรุงเยรูซาเลมได้เกิดขึ้นจริง. แทนที่ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าจะชื่นชมยินดี ท่านกลับรู้สึกโศกเศร้าเนื่องจากความหายนะของชนร่วมชาติ. เราจะอ่านความรู้สึกของท่านได้ในหนังสือบทเพลงร้องทุกข์. เมื่อเราอ่านหนังสือนี้เราคงรู้สึกสะเทือนใจมาก.
กิจการงานในหมู่ชนที่เหลือแห่งยูดาห์
25, 26. (ก) เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างหลังจากกรุงเยรูซาเลมแตก? (ข) ผู้คนสมัยยิระมะยาห์มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อข่าวสารของท่านหลังจากเยรูซาเลมแตก?
25 ยิระมะยาห์เป็นอย่างไรขณะที่เหตุการณ์ที่น่าตกตะลึงเหล่านี้เกิดขึ้น? พวกเจ้านายแห่งกรุงเยรูซาเลมได้เอาท่านจำคุก แต่ชาวบาบิโลนที่มีชัยชนะได้ปฏิบัติต่อท่านด้วยความกรุณา ปล่อยท่านเป็นอิสระ. ต่อมา ยิระมะยาห์ได้รวมอยู่กับชาวยิวบางคนที่ถูกพาไปเป็นเชลย แต่ท่านถูกปล่อยตัว. ยังมีงานอีกมากที่ท่านต้องทำในการรับใช้พระเจ้า ท่านยังคงมีงานที่จะทำในท่ามกลางผู้รอดชีวิต. นะบูคัดเนซัรได้แต่งตั้งฆะดัลยาเป็นผู้ว่าราชการเหนือแผ่นดินที่ยึดครอง ทั้งสัญญาว่าชาวยูดาห์ที่เหลืออยู่จะมีสันติสุขตราบเท่าที่พวกเขาปรนนิบัติกษัตริย์บาบิโลน. อย่างไรก็ดี ชาวยิวบางคนที่ไม่พอใจได้ลอบสังหารฆะดัลยา. (ยิระ. 39:13, 14; 40:1-7; 41:2) ยิระมะยาห์ได้กระตุ้นเตือนชาวยูดาห์ที่เหลือให้อยู่ในแผ่นดินนั้นต่อไป และอย่ากลัวกษัตริย์บาบิโลน. อย่างไรก็ดี ผู้นำของพวกเขาได้กล่าวหาว่ายิระมะยาห์โกหกและหนีไปอียิปต์ โดยใช้กำลังบังคับพาตัวยิระมะยาห์กับบารุคไปด้วย. ถึงกระนั้น ยิระมะยาห์ก็ได้พยากรณ์ว่านะบูคัดเนซัรจะบุกประเทศนั้นและถึงกับพิชิตได้ด้วยซ้ำ อีกทั้งนำความหายนะมาสู่ผู้ลี้ภัยชาวยูดาห์.—ยิระ. 42:9-11; 43:1-11; 44:11-13
26 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อนร่วมชาติของยิระมะยาห์ไม่ยอมฟังผู้พยากรณ์แท้ของพระเจ้า. เพราะเหตุใด? พวกเขาอ้างเหตุผลว่า “พวกเราตั้งแต่ได้ละการเผาเครื่องหอมบูชาถวายแก่มเหสีฟ้า, แลได้เว้นการรินเครื่องหอมบูชาถวายแก่ท่านนั้น, พวกเราขัดสนลงทุกสิ่ง, แลต้องสาบสูญไปด้วยกะบี่, แลด้วยความอดอยาก.” (ยิระ. 44:16, 18) นี่แสดงถึงสภาพที่ย่ำแย่จริง ๆ ของผู้คนสมัยยิระมะยาห์! ในอีกด้านหนึ่ง เราน่าจะได้รับการหนุนกำลังใจมากที่รู้ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์สามารถรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาได้ทั้ง ๆ ที่อยู่ท่ามกลางคนไม่ซื่อสัตย์!
27. เราทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับช่วงท้าย ๆ ที่ยิระมะยาห์เป็นผู้พยากรณ์?
27 เหตุการณ์สุดท้ายที่ยิระมะยาห์บันทึก คือการปล่อยตัวยะโฮยาคินออกจากคุกโดยเอวิลมะโรดัคผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากนะบูคัดเนซัร ซึ่งเกิดขึ้นในปี 580 ก่อน ส.ศ. (ยิระ. 52:31-34) ถึงตอนนั้น ยิระมะยาห์คงต้องมีอายุราว 90 ปี. เราไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับบั้นปลายชีวิตท่าน. เป็นไปได้ว่าท่านไปอยู่ที่อียิปต์ในช่วงท้ายของชีวิตและตายอย่างซื่อสัตย์ที่นั่นหลังจากทำงานรับใช้พิเศษให้พระยะโฮวาราว 67 ปี. ท่านได้รับใช้ระหว่างช่วงที่มีการส่งเสริมการนมัสการแท้รวมทั้งช่วงหลายปีที่การนมัสการแบบออกหากมีอยู่รอบตัวท่าน. ท่านพบบางคนที่ได้ยอมฟังซึ่งเป็นผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้า. แต่คนส่วนใหญ่ปฏิเสธข่าวสารของท่าน ถึงกับแสดงความเป็นปรปักษ์ซึ่ง ๆ หน้า. นั่นหมายความว่ายิระมะยาห์ล้มเหลวไหม? ไม่เลย! พระยะโฮวาได้ตรัสกับท่านตั้งแต่ตอนต้นทีเดียวว่า “เขาเหล่านั้นจะรบต่อสู้เจ้า, แต่เขาจะไม่ชนะแก่เจ้า, เพราะเราอยู่ด้วยเจ้า.” (ยิระ. 1:19) งานมอบหมายของเราฐานะพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็เหมือนกับงานของยิระมะยาห์. เราจึงคาดหมายได้ว่าผู้คนจะมีปฏิกิริยาต่อข่าวสารของเราเช่นเดียวกับสมัยยิระมะยาห์. (อ่านมัดธาย 10:16-22 ) ดังนั้น เราจะได้บทเรียนอะไรจากยิระมะยาห์ และเราควรมีทัศนะอย่างไรต่องานรับใช้ของเรา? ขอให้เราพิจารณาคำถามเหล่านี้.
เกิดอะไรขึ้นกับซิดคียาและพลเมืองของท่านซึ่งปฏิเสธข่าวสารของยิระมะยาห์? คุณมีทัศนะเช่นไรต่อยิระมะยาห์?
a ยิระมะยา 1:13-16 (ล.ม.) “พระยะโฮวาตรัสกับข้าพเจ้าเป็นครั้งที่สองว่า ‘เจ้าเห็นอะไร?’ ข้าพเจ้าทูลว่า ‘ข้าพเจ้าเห็นหม้อปรุงอาหารปากกว้างซึ่งตั้งอยู่บนกองไฟที่ถูกพัดจนร้อนแรง ปากหม้อเอียงไปทางตรงข้ามกับทิศเหนือ.’ พระยะโฮวาจึงตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘ภัยพิบัติต่อชาวแผ่นดินนี้ทั้งสิ้นจะมาจากทิศเหนือ เพราะเรายะโฮวาบอกว่า “เราจะเรียกทุกเผ่าของอาณาจักรทั้งหลายที่อยู่ทางทิศเหนือ พวกเขาจะมาและกษัตริย์ของพวกเขาจะตั้งบัลลังก์ของตนไว้ที่ประตูทั้งหลายของเยรูซาเลม ตั้งไว้รอบกำแพงเมืองนี้และตั้งไว้ที่เมืองทุกเมืองของยูดาห์. และเราจะประกาศคำพิพากษาชาวแผ่นดินนี้เนื่องด้วยการชั่วทั้งหลายที่พวกเขาได้ทำด้วยการละทิ้งเรา เผาเครื่องบูชาถวายพระอื่น และหมอบลงนมัสการสิ่งที่พวกเขาทำขึ้น.”’ ”
b ความคล้ายคลึงกันระหว่างยิระมะยา 7:1-15 กับ 26:1-6 ทำให้บางคนลงความเห็นว่าทั้งสองตอนพาดพิงถึงเหตุการณ์เดียวกัน.
c ดานิเอล 1:1, 2 บอกว่ายะโฮยาคิมถูกมอบไว้ในเงื้อมมือของนะบูคัดเนซัรในปีที่สามของยะโฮยาคิม ดูเหมือนเป็นปีที่สามของการเป็นเมืองขึ้น. นี่อาจหมายความว่ากษัตริย์สิ้นพระชนม์ระหว่างการล้อมโจมตีซึ่งได้ประสบความสำเร็จในที่สุด. ไม่มีอะไรในพระคัมภีร์ที่ยืนยันรายงานของโยเซฟุสที่ว่านะบูคัดเนซัรปลงพระชนม์ยะโฮยาคิมแล้วโยนพระศพออกมานอกกำแพงกรุงเยรูซาเลมโดยไม่มีการฝัง.—ยิระ. 22:18, 19; 36:30
d การกล่าวถึงยะโฮยาคิมที่ยิระมะยา 27:1 อาจเป็นความผิดพลาดของผู้คัดลอก เนื่องจากข้อ 3 และข้อ 12 กล่าวถึงซิดคียา.