บทสาม
“เจ้าจงบอกคำนี้แก่เขาทั้งปวง”
1. (ก) พระเยซูกับยิระมะยาห์คล้ายกันอย่างไร? (ข) เหตุใดเราควรเลียนแบบยิระมะยาห์ในงานรับใช้ของเรา?
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างองค์เอกที่เราติดตามในการประกาศข่าวดี. แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้คนในศตวรรษแรกซึ่งได้สังเกตดูพระเยซูบางครั้งนึกถึงผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์. (มัด. 16:13, 14) เช่นเดียวกับพระเยซู ยิระมะยาห์ได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าให้ประกาศ. ตัวอย่างเช่น ในโอกาสหนึ่งพระเจ้าได้ตรัสแก่ท่านว่า “เจ้าจงบอกคำนี้แก่เขาทั้งปวงว่า, พระยะโฮวา . . . ได้ตรัสดังนี้.” (ยิระ. 13:12, 13; โย. 12:49) และในงานรับใช้ของยิระมะยาห์ ท่านได้แสดงคุณลักษณะคล้ายกับที่พระเยซูทรงสำแดง.
2. ผู้คนในทุกวันนี้จำเป็นต้องทำอะไร เช่นเดียวกับชาวยิวในสมัยยิระมะยาห์?
2 อย่างไรก็ดี พยานฯบางคนอาจบอกว่า ‘งานประกาศของเราต่างจากงานของยิระมะยาห์. ท่านเป็นโฆษกของพระเจ้าสำหรับชาติหนึ่งที่ได้อุทิศตัวแด่พระองค์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเราประกาศให้ฟังนั้นไม่รู้จักพระยะโฮวา.’ นั่นก็จริง. แต่มาถึงสมัยของยิระมะยาห์ ชาวยิวส่วนใหญ่กลายเป็นคน “โฉดเขลา” และได้ละทิ้งพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. (อ่านยิระมะยา 5:20-22 ) พวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อจะนมัสการพระยะโฮวาอย่างที่พระองค์ทรงยอมรับ. คล้ายกัน ผู้คนในทุกวันนี้ ไม่ว่าอ้างตัวเป็นคริสเตียนหรือไม่ก็ตาม จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเกรงกลัวพระยะโฮวาและปฏิบัติศาสนาแท้. ขอให้เราพิจารณาว่าจะรับใช้พระเจ้าองค์เที่ยงแท้และช่วยผู้คนโดยการเลียนแบบยิระมะยาห์ได้โดยวิธีใด.
‘พระยะโฮวาถูกปากข้าพเจ้า’
3. พระเจ้าทรงทำเช่นไรกับยิระมะยาห์ในตอนเริ่มต้นงานของท่าน และส่งผลกระทบเช่นไรต่อท่าน?
3 ขอระลึกว่าในตอนเริ่มต้นการรับใช้ฐานะผู้พยากรณ์ ยิระมะยาห์ได้ยินถ้อยคำดังนี้ “เจ้าจะต้องไปถึงบรรดาคนที่เราจะใช้ให้ไปนั้น, และสิ่งอันใดที่เราจะสั่งเจ้า ๆ จะต้องพูดสิ่งนั้นให้เขา. อย่ากลัวหน้าเขา, เพราะเราอยู่ด้วยเจ้าเพื่อจะช่วยเจ้าให้พ้นได้, พระยะโฮวาได้ตรัสความนี้.” (ยิระ. 1:7, 8) และต่อจากนั้นพระเจ้าได้ทรงทำสิ่งหนึ่งที่ยิระมะยาห์มิได้คาดคิด. ท่านบอกเราว่า “พระยะโฮวายื่นพระหัตถ์ถูกปากข้าพเจ้าเข้า, แลพระยะโฮวาตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า, นี่แน่ะ, เราได้ใส่ถ้อยคำของเราไว้ในปากของเจ้า, ดูเถิดวันนี้เราได้ตั้งตัวเจ้า.” (ยิระ. 1:9, 10) นับแต่นั้นมา ยิระมะยาห์ทราบว่าท่านพูดแทนพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง.a ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพระองค์ ยิระมะยาห์มีใจแรงกล้ามากขึ้นที่จะทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์.—ยซา. 6:5-8
4. คุณจะเล่าตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับความมีใจแรงกล้าอย่างโดดเด่นในการประกาศข่าวดี?
4 ในทุกวันนี้ พระยะโฮวามิได้แตะต้องกายผู้รับใช้คนใดของพระองค์. แต่โดยทางพระวิญญาณ พระองค์ทรงให้พวกเขามีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะประกาศข่าวดี. พวกเขาหลายคนแสดงว่ามีใจแรงกล้าอย่างเห็นได้ชัด. ขอยกตัวอย่างมารูคาที่อยู่ในสเปน. เธอเป็นอัมพาต แขนและขาขยับไม่ได้ 40 กว่าปีแล้ว. การประกาศตามบ้านเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ ดังนั้น เธอจึงหาวิธีอื่นที่จะทำงานรับใช้. วิธีหนึ่งคือโดยการเขียนจดหมาย. มารูคาให้ลูกสาวเขียนตามที่เธอบอก. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ได้พยายามเป็นพิเศษ มารูคากับลูกสาวที่เป็นเหมือนเลขานุการของเธอได้ส่งจดหมายไป 150 กว่าฉบับ พร้อมทั้งแนบแผ่นพับใบหนึ่งไปด้วยในแต่ละซอง. โดยความพยายามของทั้งสอง ข่าวดีได้ไปถึงครอบครัวส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง. มารูคาให้ความเห็นกับลูกสาวว่า “หากจดหมายฉบับหนึ่งของเราไปถึงมือคนที่มีหัวใจซื่อตรง พระยะโฮวาก็จะอวยพรให้เรามีรายศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.” ผู้ปกครองในท้องถิ่นคนหนึ่งเขียนว่า “ผมขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับพี่น้องหญิงอย่างมารูคา ซึ่งได้สอนคนอื่นให้เห็นคุณค่าสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง.
5. (ก) ยิระมะยาห์รักษาความมีใจแรงกล้าไว้โดยวิธีใดแม้จะเผชิญความไม่แยแส? (ข) คุณจะรักษาความมีใจแรงกล้าในการประกาศข่าวดีได้โดยวิธีใด?
5 ในสมัยยิระมะยาห์ ชาวเยรูซาเลมส่วนใหญ่ “ไม่ได้ยินดี” ในความจริงของพระเจ้า. ผู้พยากรณ์ได้เลิกประกาศไหมเนื่องจากหลายคนไม่แยแสในข่าวสาร? ไม่เลย! ยิระมะยาห์ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเต็มล้นด้วยความพิโรธของพระยะโฮวา, ข้าพเจ้าเหน็ดเหนื่อยด้วยอดกลั้น [“จะเก็บไว้อีกไม่ไหวแล้ว,” ฉบับ R73].” (ยิระ. 6:10, 11) คุณจะรักษาความมีใจแรงกล้าเช่นนั้นได้อย่างไร? วิธีหนึ่งคือใคร่ครวญดูสิทธิพิเศษอันหาที่เปรียบมิได้ซึ่งคุณได้รับฐานะเป็นตัวแทนของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. คุณทราบว่าคนที่มีชื่อเสียงในโลกนี้ได้ตำหนิพระนามของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. ขอให้คิดด้วยว่า ผู้นำศาสนาได้หลอกลวงผู้คนในเขตงานของคุณอย่างไร เช่นเดียวกับที่พวกปุโรหิตได้ทำในสมัยยิระมะยาห์. (อ่านยิระมะยา 2:8, 26, 27 ) ตรงกันข้าม ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรที่คุณประกาศเป็นการแสดงถึงความโปรดปรานของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์อย่างแท้จริง. (ทุกข์. 3:31, 32) ใช่แล้ว การไตร่ตรองดูความจริงดังกล่าวจะช่วยคุณให้รักษาความมีใจแรงกล้าในการประกาศข่าวดีและช่วยคนเยี่ยงแกะ.
6. ยิระมะยาห์เผชิญอุปสรรคที่ยากยิ่งอะไรบ้าง?
6 คุณคงจะเห็นด้วยว่า การรักษาความมีใจแรงกล้าในงานเผยแพร่ของคริสเตียนไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. ขณะรับใช้พระยะโฮวา ยิระมะยาห์ได้ประสบอุปสรรคที่ยากยิ่ง รวมทั้งเผชิญกับผู้พยากรณ์เท็จด้วย. คุณจะอ่านตัวอย่างเรื่องหนึ่งได้ในยิระมะยาบท 28. คนส่วนใหญ่ไม่สนใจฟังข่าวสารของท่าน และบางครั้งท่านรู้สึกว่าอยู่เดียวดาย. (ยิระ. 6:16, 17; 15:17) ยิ่งกว่านั้น ในคราวหนึ่งท่านต้องรับมือกับศัตรูที่ขู่จะเอาชีวิตท่าน.—ยิระ. 26:11
เหตุใดคุณจึงวางใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงช่วยคุณเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ขณะที่คุณประกาศข่าวดี?
“ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงหลอกลวงข้าพระองค์”
7, 8. พระเจ้า “ทรงหลอกลวง” ยิระมะยาห์ในทางที่เป็นประโยชน์เช่นไร?
7 ระหว่างช่วงหนึ่งที่ยิระมะยาห์เผชิญการเยาะเย้ยและการสบประมาทวันแล้ววันเล่า ท่านได้ระบายความรู้สึกต่อพระเจ้า. คุณคิดว่า ในแง่ใดที่คุณพูดได้ว่าพระยะโฮวา “ทรงหลอกลวง” ผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ ดังที่กล่าวในยิระมะยา 20:7, 8 (ฉบับ R73 )?—อ่านb
8 แน่นอน พระยะโฮวาไม่ได้หลอกลวงยิระมะยาห์โดยใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยมบางอย่างกับท่าน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเจ้า “ทรงหลอกลวง” ผู้พยากรณ์ของพระองค์ในแง่ดี แง่ที่เป็นประโยชน์. ยิระมะยาห์รู้สึกว่าการต่อต้านหนักหนาสาหัส ตัวท่านเองคงไม่สามารถทำงานที่พระเจ้ามอบหมายให้นั้นได้ต่อไป. แต่ท่านก็ทำงานนั้นสำเร็จ ด้วยการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากองค์ทรงฤทธิ์. ดังนั้น อาจพูดได้ว่าพระยะโฮวาปราบท่าน พิสูจน์ว่ามีพลังมากกว่ายิระมะยาห์ยิ่งนักและสามารถโน้มน้าวท่านได้ไม่ยาก. เมื่อคนของพระเจ้าผู้นี้เข้าใจว่าตนทำสุดความสามารถและคิดว่าทำต่อไปไม่ได้แล้ว พระยะโฮวาทรงใช้พลังโน้มน้าวใจประหนึ่งว่าหลอกลวงยิระมะยาห์. เรื่องนี้แสดงว่าแม้ผู้พยากรณ์มีข้ออ่อนแอ อีกทั้งเผชิญความไม่แยแส, การปฏิเสธ, และความรุนแรง ท่านก็ยังสามารถประกาศต่อไปเนื่องจากอำนาจของพระยะโฮวา.
9. เหตุใดถ้อยคำในยิระมะยา 20:11 จึงทำให้คุณมีกำลังใจ?
9 พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ว่าเป็นเหมือน “ผู้มีฤทธิ์อันพิลึกพึงกลัว” ที่อยู่ข้าง ๆ ยิระมะยาห์ สนับสนุนท่านอยู่. (ยิระ. 20:11) พระเจ้าจะทรงเสริมกำลังคุณด้วยเช่นกันเพื่อคุณจะมีใจแรงกล้าต่อการนมัสการแท้และรับใช้ต่อไปทั้ง ๆ ที่มีปัญหาใหญ่โต. คุณอาจนึกภาพตามคำแปลในฉบับแปลอีกฉบับหนึ่งว่า พระยะโฮวาเป็น “ทหารที่เก่งกล้า” ยืนอยู่ข้าง ๆ คุณ.—ฉบับแปลคอนเทมโพรารี อิงลิช
10. คุณตั้งใจทำเช่นไรเมื่อเผชิญการต่อต้าน?
10 อัครสาวกเปาโลได้เน้นเรื่องนี้เมื่อให้กำลังใจคริสเตียนที่เผชิญการต่อต้าน. ท่านเขียนว่า “จงประพฤติอย่างที่สมกับข่าวดีเรื่องพระคริสต์เพื่อ . . . ข้าพเจ้าจะได้ยินว่าท่านทั้งหลายยืนหยัดมั่นคงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันเหมือนเป็นคนเดียวเพื่อความเชื่อในข่าวดี และพวกผู้ต่อต้านไม่ได้ทำให้พวกท่านกลัวเลย.” (ฟิลิป. 1:27, 28) เช่นเดียวกับยิระมะยาห์และคริสเตียนในศตวรรษแรก คุณสามารถพึ่งพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์และควรจะพึ่งพระองค์ขณะที่คุณทำงานรับใช้. หากบางคนเยาะเย้ยหรือโจมตีคุณ ขอจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงอยู่เคียงข้างคุณและจะทำให้คุณเปี่ยมด้วยพลัง. พระองค์ทรงทำเช่นนั้นกับยิระมะยาห์และกับพี่น้องหลายคนของคุณ ดังนั้น พระองค์สามารถทำอย่างเดียวกันกับคุณด้วย. จงอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และวางใจว่าพระองค์จะตอบคำอธิษฐานของคุณ. คุณอาจรู้สึกว่าถูก “หลอกลวง” ด้วยเช่นกัน ขณะที่พระเจ้าทรงประทานกำลังให้คุณเพื่อจะเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ อย่างเป็นผลสำเร็จ ด้วยความกล้าหาญแทนที่จะรู้สึกกลัว. ใช่แล้ว คุณอาจทำได้มากกว่าที่เคยคิดว่าจะทำได้.—อ่านกิจการ 4:29-31
11, 12. (ก) คุณอาจปรับตารางเวลาเช่นไรเพื่อจะพูดคุยกับผู้คนได้มากขึ้นในงานเผยแพร่? (ข) ภาพหน้า 39 ชวนให้เราคิดถึงโอกาสไหนบ้างที่จะประกาศ?
11 สิ่งที่เราอ่านเกี่ยวกับการรับใช้ของยิระมะยาห์สามารถช่วยเราในหลายทางให้เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น. หลังจากได้รับใช้ฐานะผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวามาเป็นเวลา 20 กว่าปี ท่านสามารถพูดได้ว่า “ข้าพเจ้าได้บอกแก่ท่านทั้งหลาย, ตื่นขึ้นเช้า ๆ บอกความแก่พวกท่าน, แต่พวกท่านหาได้ยินฟังไม่.” (ยิระ. 25:3) ใช่แล้ว ท่านเริ่มต้นแต่เช้าตรู่ไม่ใช่ตอนสาย. เราจะได้บทเรียนบางอย่างที่นำไปใช้ได้จากตัวอย่างของท่านไหม? ในหลายประชาคม มีผู้ประกาศที่ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อจะพูดคุยกับผู้คนที่ป้ายรถประจำทางและสถานีรถไฟ. ในเขตชนบท พยานฯหลายคนใช้ช่วงเช้าตรู่เพื่อไปเยี่ยมชาวไร่ชาวนาและคนอื่น ๆ ที่เริ่มทำงานแล้ว. คุณคิดถึงวิธีอื่น ๆ อะไรอีกที่จะนำบทเรียนนี้จากการรับใช้อย่างซื่อสัตย์ของยิระมะยาห์ไปใช้ได้? จะว่าอย่างไรกับการตื่นแต่เช้าเพื่อให้ทันเข้าร่วมการประชุมเพื่อออกไปประกาศตามที่กำหนดไว้?
12 นอกจากนั้น การประกาศตามบ้านในตอนบ่ายและตอนเย็นบ่อยครั้งเกิดผลที่ดีเยี่ยมในหลายท้องถิ่น. ผู้ประกาศบางคนถึงกับประกาศตอนกลางคืน ไปเยี่ยมคนทำงานที่ปั๊มน้ำมัน, ภัตตาคาร, และสถานธุรกิจอื่น ๆ ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง. คุณจะปรับตารางเวลาได้ไหมเพื่อจะประกาศในช่วงที่พบผู้คนมากที่สุดไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่อื่น?
เหตุใดคุณจึงรู้สึกมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงสนับสนุนคุณขณะประกาศข่าวสารของพระองค์?
13, 14. (ก) ตัวอย่างของยิระมะยาห์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการกลับเยี่ยมเยียน? (ข) ตัวอย่างอะไรแสดงว่าคุณต้องเป็นคนที่เชื่อถือได้ในเรื่องการกลับเยี่ยมเยียน?
13 บางครั้ง พระยะโฮวาทรงบัญชาให้ยิระมะยาห์ประกาศข่าวสารเชิงพยากรณ์ขณะยืนอยู่ที่ประตูต่าง ๆ ของพระวิหารหรือของกรุงเยรูซาเลม. (ยิระ. 7:2; 17:19, 20) การที่ยิระมะยาห์ไปยืนที่ประตูเหล่านั้น ทำให้ท่านมีโอกาสประกาศพระคำของพระยะโฮวาแก่ผู้คนจำนวนมาก. และเนื่องจากมีหลายคน รวมทั้งคนสำคัญของเมือง, พ่อค้า, และนักธุรกิจ ได้ใช้ประตูใดประตูหนึ่งเป็นประจำ ท่านอาจได้พูดกับบางคนซ้ำหลายครั้งเพื่อช่วยเขาให้เข้าใจเรื่องที่เขาเคยได้ยินมาแล้วมากขึ้น. เรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับการกลับเยี่ยมเยียนคนที่ได้แสดงความสนใจ?
14 ยิระมะยาห์ทราบว่าชีวิตของผู้คนขึ้นอยู่กับงานที่ท่านทำฐานะผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านไม่สามารถทำตามพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้พูดกับประชาชน ท่านได้ส่งบารุคสหายของท่านไปทำหน้าที่แทน. (อ่านยิระมะยา 36:5-8 ) คุณจะเลียนแบบยิระมะยาห์ได้อย่างไรในเรื่องนี้? เมื่อเราบอกเจ้าของบ้านว่าจะกลับไปเยี่ยม เรารักษาคำพูดไหม? หากเราไม่สามารถกลับเยี่ยมเยียนหรือไปศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามที่นัดหมายไว้ได้ เราขอให้คนอื่นไปแทนเราไหม? พระเยซูตรัสว่า “ให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่.” (มัด. 5:37) การรักษาคำพูดนับว่าสำคัญมาก เพราะเราเป็นตัวแทนของพระเจ้าแห่งความจริงและความเป็นระเบียบ.—1 โค. 14:33, 40
15, 16. (ก) หลายคนได้ติดตามตัวอย่างของยิระมะยาห์ในการทำงานรับใช้ให้มากขึ้นโดยวิธีใด? (ข) คุณเห็นบทเรียนอะไรจากประสบการณ์ที่ชิลี ดังภาพหน้า 40?
15 ยิระมะยาห์ได้หนุนกำลังใจชาวยิวในบาบิโลนโดยเขียนจดหมายถึงพวกเขาเกี่ยวกับ “คำดี” ของพระยะโฮวาเรื่องการฟื้นฟู. (ยิระ. 29:1-4, 10) ทุกวันนี้ “คำดี” เกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาจะทำในไม่ช้า อาจแพร่ออกไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยทางจดหมายและโทรศัพท์ด้วย. คุณจะใช้วิธีเหล่านี้ได้ไหมเพื่อช่วยญาติพี่น้องหรือคนอื่นที่อยู่ในสถานที่ห่างไกลหรือคนที่ยากจะติดต่อ?
16 โดยปฏิบัติตามตัวอย่างของยิระมะยาห์ในการทำงานรับใช้ให้สำเร็จอย่างครบถ้วน ผู้ประกาศราชอาณาจักรในทุกวันนี้ประสบผลดีอยู่บ่อย ๆ. พยานฯคนหนึ่งในชิลีเริ่มพูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังออกจากสถานีรถไฟใต้ดิน. เธอรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ยินข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลและตกลงที่จะพิจารณาพระคัมภีร์ที่บ้านของเธอ. อย่างไรก็ดี พยานฯไม่ได้จดที่อยู่ของผู้หญิงคนนี้ไว้. หลังจากนั้น เมื่อตระหนักถึงความสำคัญของการสานต่อความสนใจในความจริงของผู้หญิงคนนี้ พี่น้องหญิงของเราได้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. วันรุ่งขึ้น เธอกลับไปที่สถานีรถไฟใต้ดินในช่วงเดียวกันกับที่ไปคราวก่อน. เธอพบผู้หญิงคนนั้นอีก. คราวนี้ เธอไม่ลืมจดที่อยู่ไว้และภายหลังได้ไปเยี่ยมผู้หญิงคนนั้นที่บ้านเพื่อช่วยให้เข้าใจพระคัมภีร์. อีกไม่นานพระเจ้าจะทรงพิพากษาโลกของซาตาน. แต่มีความหวังสำหรับคนเหล่านั้นที่กลับใจและแสดงความเชื่อในข่าวดี. (อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:31-33 ) ดังนั้น ให้เราคำนึงถึงเรื่องนี้โดยทำงานในเขตของเราอย่างจริงจังและรอบคอบ.
“ชะรอยเขาทั้งปวงจะฟังเอา, แลหันกลับ”
17. คุณจะเลียนแบบยิระมะยาห์ได้อย่างไรในเขตงานของคุณ?
17 พระยะโฮวาไม่ประสงค์ให้ผู้คนเสียชีวิต. ประมาณสิบปีก่อนกรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย พระองค์ทรงใช้ยิระมะยาห์ให้เสนอความหวังสำหรับคนเหล่านั้นที่เป็นเชลยในบาบิโลน. เราอ่านว่า “เราจะตั้งตาของเราดูเหนือเขาทั้งปวงเพื่อจะเป็นความดีแก่เขา, แล้วเราจะพาเขาทั้งปวงกลับมาที่ประเทศนี้อีก, แลเราจะกู้เขาทั้งพวกขึ้นไม่รื้อลง, เราจะปลูกเขาไว้, แลไม่ถอนเขาขึ้น.” ยิระมะยาห์สามารถพูดกับคนเช่นนั้นได้ว่า “มีความหวังใจในที่สุดเบื้องปลายของเจ้า.” (ยิระ. 24:6; 26:3; 31:17) ยิระมะยาห์เลียนแบบพระเจ้าในการมองผู้คน. ท่านทำงานรับใช้ด้วยความห่วงใยอย่างแท้จริง ถ่ายทอดคำกระตุ้นเตือนของพระยะโฮวาที่ว่า “เจ้าทั้งหลายจงหันกลับจากทางชั่วของตัวทุกตัวคน, แลดัดแปลงการประพฤติทั้งหลายของตน.” (ยิระ. 35:15) คุณคิดถึงวิธีอื่น ๆ ได้ไหมที่จะแสดงความสนใจเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริงต่อผู้คนในเขตงานของคุณ?
18, 19. (ก) เราต้องเลี่ยงทัศนะเช่นไรขณะที่ประกาศข่าวดี? (ข) เราควรมีเจตคติเช่นไรเหมือนยิระมะยาห์?
18 ความรักอันลึกซึ้งที่ยิระมะยาห์มีต่อผู้คนไม่เคยลดลง. ตอนที่เยรูซาเลมถูกทำลาย ท่านยังคงรู้สึกสงสารพวกเขา. (อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 2:11 ) ชาวยิวควรโทษตัวเองที่พวกเขาประสบความหายนะ. ถึงกระนั้น ยิระมะยาห์ไม่ได้พูดตำหนิพวกเขาว่า ‘บอกแล้วไม่ฟัง.’ แต่ท่านกลับรู้สึกเศร้าใจอย่างมากในสิ่งที่พวกเขาได้ประสบ. คล้ายกัน เราต้องทำงานรับใช้ไม่ใช่แบบพอเป็นพิธี ทำเนื่องจากเป็นเพียงพันธะหน้าที่. ความพยายามของเราในการประกาศควรพิสูจน์ว่าเรารักพระเจ้าองค์ยอดเยี่ยมของเราและผู้คนที่ถูกสร้างตามแบบของพระองค์มากแค่ไหน.
19 ไม่มีสิทธิพิเศษหรือฐานะตำแหน่งใดในโลกนี้จะเหนือกว่าการเป็นพยานฝ่ายพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. ยิระมะยาห์รู้สึกเช่นนั้นเมื่อเขียนว่า “คำโอวาทของพระองค์ข้าพเจ้าได้พบแล้ว, แลข้าพเจ้าได้กินคำนั้น, แลคำโอวาทของพระองค์เป็นที่ให้เกิดความอภิรมย์ยินดีในใจข้าพเจ้า, เพราะข้าพเจ้าเรียกชื่อด้วยนามของพระองค์, โอ้พระยะโฮวาพระเจ้า.” (ยิระ. 15:16) ขณะที่เราประกาศข่าวดี ผู้คนอีกมากมายจะมารู้จักและรักพระองค์ผู้ที่พวกเขาเป็นหนี้ชีวิต. เราจะมีส่วนช่วยให้เป็นเช่นนั้น โดยรับใช้ด้วยใจแรงกล้าและความรัก ดังที่ยิระมะยาห์ได้วางตัวอย่างไว้.
เมื่อคำนึงถึงตัวอย่างของยิระมะยาห์ คุณอาจลองใช้วิธีอะไรอีกเพื่อเผยแพร่ “คำดี” ของพระยะโฮวาในวันข้างหน้า?
a ดังในกรณีนี้ บ่อยครั้งพระยะโฮวาทรงให้ทูตสวรรค์พูดบางอย่างประหนึ่งว่าพระองค์เองกำลังตรัสอยู่.—วินิจ. 13:15, 22; กลา. 3:19
b ยิระมะยา 20:7, 8 (ฉบับ R73 ) “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงหลอกลวงข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็ถูกหลอกลวง พระองค์ทรงมีกำลังยิ่งกว่าข้าพระองค์ และพระองค์ก็ชนะข้าพระองค์เป็นที่ให้เขาหัวเราะวันยังค่ำ ทุกคนเยาะเย้ยข้าพระองค์. เพราะว่าข้าพระองค์พูดเมื่อไร ข้าพระองค์ร้องให้ช่วย ข้าพระองค์ตะโกนว่า ‘ทารุณตายแล้ว’ เพราะว่าพระวจนะของพระเจ้าได้เป็นเหตุให้ข้าพระองค์เป็นที่ตำหนิและเยาะเย้ยตลอดวัน.”