อินเดียนแดงแห่งบราซิลจวนจะสูญสิ้นแล้วไหม?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบราซิล
อุทยานแห่งชาติชิงกูตั้งอยู่ในรัฐมาตูโกรสซู ประเทศบราซิล. อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบเท่ากับขนาดของประเทศเบลเยียม. มีชาวอินเดียนแดงราว ๆ 3,600 คนใน 14 เผ่าอาศัยอยู่ที่นี่. ถ้าดูจากภาพถ่ายดาวเทียม อุทยานนี้เป็นเหมือนเกาะอันเขียวขจีที่ตั้งอยู่กลาง “โต๊ะบิลเลียดขนาดยักษ์.” เนื่องจากป่าโดยรอบถ้าไม่ถูกเผาจนโล่งเตียนเพื่อเปิดทางให้พวกคนทำไม้เข้าไปตัดต้นไม้ที่มีราคาสูง ก็ถูกหักร้างถางพงจนกลายเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงฝูงปศุสัตว์ขนาดใหญ่.
ในทศวรรษ 1960 รัฐบาลบราซิลเริ่มก่อตั้งเขตสงวนสำหรับชาวอินเดียนแดง. ส่วนใหญ่เขตสงวนเหล่านี้อยู่ในภูมิภาคแอมะซอน และครอบคลุมพื้นที่ราว ๆ 12 เปอร์เซ็นต์ของอาณาเขตประเทศบราซิล. การตั้งเขตสงวนเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่ง นั่นคือประชากรอินเดียนแดงในบราซิลกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 500 ปี! ประมาณกันว่าตอนนี้มีอินเดียนแดงอยู่ราว ๆ สามแสนคนในบราซิล. แต่นั่นก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของประชากรอินเดียนแดงในปี 1500 ซึ่งเคยประมาณกันว่าอยู่ระหว่างสองล้านถึงหกล้านคน.
นักเขียนคนหนึ่งกล่าวว่า ในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา “ได้เกิดมีโศกนาฏกรรมที่น่าสยดสยองครั้งใหญ่ทางด้านประชากร.” อะไรทำให้ประชากรอินเดียนแดงลดลงมากถึงขนาดนั้น? การเพิ่มจำนวนในช่วงไม่กี่ปีมานี้แสดงว่าชาวอินเดียนแดงแห่งบราซิลรอดพ้นจากการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์แล้วไหม?
การยึดครองเป็นอาณานิคมเริ่มต้นอย่างไร?
ช่วง 30 ปีแรกนับตั้งแต่ที่โปรตุเกสอ้างสิทธิ์เหนือบราซิลในปี 1500 ความสนใจในอาณานิคมแห่งนี้รวมจุดอยู่ที่การค้าไม้บราซิลวูด ไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการผลิตสีย้อมสีแดง. ชื่อประเทศบราซิลได้มาจากต้นไม้ชนิดนี้เอง. ไม้นี้มีค่าสูงมากในยุโรป และชาวยุโรปนำของกระจุกกระจิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีราคาค่างวดมาแลกเปลี่ยนกับไม้บราซิลวูด.
อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นานก็มีการค้นพบว่าต้นอ้อยที่ใช้ทำน้ำตาลเติบโตได้ดีในภูมิอากาศของบราซิล. แต่เรื่องนี้มีข้อเสียอย่างหนึ่ง. การปลูกอ้อยเป็นงานหนักที่ต้องใช้แรงงานมาก. แรงงานทาสจึงเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น. และผู้ตั้งถิ่นฐานก็ไม่ต้องไปเสาะหาแรงงานทาสจากที่อื่นไกล! ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง.
ความเป็นทาสเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ชาวอินเดียนแดงคุ้นเคยกับการเกษตรแบบพอมีพอกิน. โดยทั่วไปพวกผู้ชายจะล่าสัตว์และหาปลา. พวกผู้ชายจะเป็นผู้ทำงานหนักในการถางป่า. ส่วนพวกผู้หญิงจะทำการเพาะปลูก, เก็บเกี่ยว, และทำอาหาร. ผู้คนในแวดวงนักคิดนักเขียนแห่งยุโรปชื่นชมชาวอินเดียนแดงที่ไม่สนใจความมั่งคั่งร่ำรวยและไม่เป็นคนละโมบโลภมาก. แต่ผู้ตั้งถิ่นฐานอีกหลายคนกลับมองว่าชาวอินเดียนแดงเป็นคนเกียจคร้านที่สุด.
มีการชักชวนชาวอินเดียนแดงเผ่าที่เป็นมิตรให้ย้ายเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ ชุมชนชาวโปรตุเกสเพื่อไว้ใช้เป็นแรงงานและเพื่อปกป้องผู้ตั้งถิ่นฐาน. คณะเยสุอิตและคณะของศาสนาอื่น ๆ มักมีส่วนสำคัญในขั้นตอนนี้. พวกเขาไม่รู้เลยว่าการติดต่อเกี่ยวข้องกันเช่นนี้จะนำผลร้ายมาสู่ชาวอินเดียนแดงมากสักเพียงไร. แม้ว่ากฎหมายจะรับรองสิทธิในดินแดนและเสรีภาพของชาวอินเดียนแดง แต่ในภาคปฏิบัติแล้วพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาสแก่ผู้ตั้งถิ่นฐาน. ชาวอินเดียนแดงแทบไม่เคยได้รับค่าจ้างหรือได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกในที่ดินของตัวเองเลย.
รัฐบาลภายใต้กษัตริย์แห่งโปรตุเกสพยายามจะสั่งห้ามการใช้แรงงานทาสแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ. ผู้ตั้งถิ่นฐานมักจะหาช่องโหว่ในกฎหมายที่สั่งห้ามการใช้แรงงานทาสได้เสมอ ๆ. โดยทั่วไป ถือกันว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทางศีลธรรมที่จะจับตัวชาวอินเดียนแดงที่ว่ากันว่าเป็นพวกศัตรู โดยจับตัวพวกเขามาจาก “สงครามที่ชอบธรรม” เพื่อใช้เป็นทาสหรือนำไปขายเป็นทาส. นอกจากนี้ สามารถซื้อหรือ “ไถ่” เชลยชาวอินเดียนแดงที่ถูกเผ่าอื่นจับตัวไว้ได้เพื่อเอาไว้ใช้เป็นทาสด้วย.
ในที่สุดแล้ว อุตสาหกรรมน้ำตาลก็ทำให้พอเห็นทางที่อาณานิคมจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า. และอุตสาหกรรมน้ำตาลในสมัยนั้นก็ต้องพึ่งอาศัยแรงงานทาส. ดังนั้น รัฐบาลของกษัตริย์แห่งโปรตุเกสจึงจำใจต้องฝืนสติรู้สึกผิดชอบของตนเพื่อรับทรัพย์เข้าคลัง.
นักล่าอาณานิคมต่อสู้กัน—โปรตุเกสปะทะฝรั่งเศสและฮอลแลนด์
ชาวอินเดียนแดงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากการที่เหล่าประเทศนักล่าอาณานิคมต่อสู้กัน. พวกฝรั่งเศสและพวกดัตช์พยายามจะแย่งชิงบราซิลจากเงื้อมมือของโปรตุเกส. พวกเขาแข่งขันกับพวกโปรตุเกสเพื่อจะให้ชาวอินเดียนแดงมาช่วยฝ่ายของตน. ชาวอินเดียนแดงมองไม่เห็นว่าเจตนาที่แท้จริงของชาวต่างชาติพวกนี้คือจะยึดครองดินแดนของตน. แต่พวกเขากลับถือว่าการต่อสู้กันนี้เป็นโอกาสที่จะแก้แค้นศัตรูของตนเอง ซึ่งก็คือชาวอินเดียนแดงเผ่าอื่น ๆ และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเต็มใจเข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างชาวต่างชาติ.
ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1555 นีโกลา เดอ วีย์เกญยง ชาวฝรั่งเศสผู้สูงศักดิ์คนหนึ่ง ได้ขึ้นฝั่งที่อ่าวกัวนาบารา (ปัจจุบันคือรีโอเดจาเนโร) และสร้างป้อมปราการขึ้นที่นั่น. เขาสร้างพันธมิตรกับอินเดียนแดงเผ่า ตาโมโย ในท้องถิ่น. พวกโปรตุเกสได้พาเผ่า ตูปีนัมบา มาจากบาเยียและในที่สุดก็โจมตีป้อมปราการที่ดูเหมือนจะเจาะทำลายไม่ได้นั้นในเดือนมีนาคม 1560. พวกฝรั่งเศสหนีไปแต่ยังคงค้าขายกับเผ่าตาโมโยต่อไปและปลุกเร้าพวกเขาให้โจมตีพวกโปรตุเกส. หลังจากสู้กันหลายครั้ง ในที่สุดเผ่าตาโมโยก็พ่ายแพ้. มีรายงานว่าในการสู้รบครั้งหนึ่ง มีถึง 10,000 คนถูกฆ่าและ 20,000 คนถูกจับเป็นทาส.
โรคที่น่ารังเกียจจากยุโรป
ชนพื้นเมืองที่ได้ติดต่อกับชาวโปรตุเกสเป็นครั้งแรกดูเหมือนเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมาก. นักสำรวจรุ่นแรกเชื่อกันว่าชาวอินเดียนแดงที่สูงอายุหลายคนมีอายุเกินหนึ่งร้อยปี. แต่ชาวอินเดียนแดงไม่มีภูมิคุ้มกันโรคที่มาจากยุโรปและแอฟริกา. เรื่องนี้อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดซึ่งทำให้พวกเขาเกือบสูญสิ้นเผ่าพันธุ์.
ประวัติบันทึกของชาวโปรตุเกสเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่ากลัวของโรคระบาดซึ่งทำให้ประชากรอินเดียนแดงลดลงอย่างน่าใจหาย. ในปี 1561 โรคฝีดาษระบาดในโปรตุเกสและแพร่ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาที่บราซิล. ผลคือความหายนะ. ลีโอนาร์โด โด เวเล แห่งคณะเยสุอิต เขียนในจดหมายลงวันที่ 12 พฤษภาคม 1563 ซึ่งพรรณนาความน่าสยดสยองของโรคระบาดในบราซิลเอาไว้ว่า “โรคนี้เป็นโรคฝีดาษชนิดหนึ่งที่น่ารังเกียจและเหม็นมากถึงขนาดที่ไม่มีใครทนกลิ่นที่โชยออกมาจาก [ตัวผู้ป่วย] ได้. เพราะเหตุนี้ หลายคนจึงตายไปโดยไม่มีใครเหลียวแล เพราะถูกกัดกินจากหนอนที่เติบโตในแผลซึ่งเกิดขึ้นในร่างกายของตนเองซึ่งมีจำนวนมากมายและมีขนาดใหญ่มากจนทำให้ผู้ที่พบเห็นต้องตกตะลึงและรู้สึกสยดสยอง.”
การแต่งงานต่างเชื้อชาติทำให้พวกเยสุอิตตกตะลึง
การแต่งงานต่างเชื้อชาติก็ทำให้อินเดียนแดงหลายเผ่าสูญสิ้นไป. หนังสือทองคำแดง—การพิชิตชาวอินเดียนแดงแห่งบราซิล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ทั้งชาวโปรตุเกสและชาวพื้นเมืองในบราซิลต่างก็ไม่รังเกียจการแต่งงานกับคนต่างเชื้อชาติ.” ชาวอินเดียนแดงถือว่าเป็นการแสดงน้ำใจไมตรีที่จะเสนอผู้หญิงให้กับคนแปลกหน้า บ่อยครั้งเป็นลูกสาวของตนเอง. เมื่อพวกเยสุอิตมาถึงบราซิลครั้งแรกในปี 1549 พวกเขาตกตะลึงกับสิ่งที่เห็น. มานูเวล ดา นูเบรกา ซึ่งเป็นสมาชิกคณะเยสุอิตคนหนึ่ง โอดครวญว่า “พวกเขา [พวกนักเทศน์] บอกพวกผู้ชายว่าไม่ผิดที่จะอยู่กินในความบาปกับผู้หญิงผิวสีที่ตนเป็นเจ้าของ . . . พวกผู้ตั้งถิ่นฐานใช้ [ทาส] ที่เป็นผู้หญิงชาวอินเดียนแดงทุกคนเป็นนางบำเรอ.” มีผู้ทูลกษัตริย์แห่งโปรตุเกสว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโปรตุเกสคนหนึ่ง ‘มีลูก, หลาน, เหลน, และผู้สืบเชื้อสายมากเสียจน [ผู้พูดบอกว่า] ข้าพเจ้าไม่กล้าจะทูลฝ่าบาทว่ามีมากเท่าไร.’
พอถึงกลางศตวรรษที่ 17 ชาวอินเดียนแดงซึ่งเคยมีอยู่มากมายในที่ราบชายฝั่งของบราซิลถ้าไม่ตายก็ถูกจับเป็นทาสหรือถูกกลืนเนื่องจากการแต่งงานกับคนต่างเชื้อชาติ. หลังจากนั้นไม่นานเหตุการณ์ทำนองเดียวกันก็เกิดขึ้นกับอินเดียนแดงแถบแอมะซอน.
ไม่นานหลังจากชาวโปรตุเกสเข้ามาในแอมะซอนก็เกิดมี “ฤดูล่า” คนพื้นเมืองที่อาศัยในเขตแอมะซอนตอนล่างอย่างที่แทบจะไม่มีการควบคุม. ตามคำกล่าวของมานูเอล เทเชรา อุปสังฆราชแห่งมารันเยา ภายในไม่กี่สิบปี พวกโปรตุเกสสังหารชาวอินเดียนแดงในมารันเยาและปาราไปเกือบสองล้านคน! ตัวเลขนี้อาจจะเกินจริงไปบ้าง แต่การกวาดล้างและความทุกข์ทรมานเป็นเรื่องจริงแน่นอน. ต่อมาแอมะซอนตอนบนก็เผชิญการกวาดล้างเช่นเดียวกัน. พอถึงกลางศตวรรษที่ 18 ภูมิภาคแอมะซอน ยกเว้นเขตโดดเดี่ยวบางพื้นที่ ได้สูญเสียประชากรอินเดียนแดงพื้นเมืองไปเกือบทั้งหมด.
การปรับปรุงพัฒนาพื้นที่อันห่างไกลหลายส่วนในภูมิภาคแอมะซอนช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 ค่อย ๆ เปิดโอกาสให้คนผิวขาวได้ติดต่อสัมพันธ์กับอินเดียนแดงเผ่าต่าง ๆ ที่ยังเหลือรอดอยู่. การค้นพบของชาลส์ กู๊ดเยียร์เรื่องกระบวนการวัลคะไนส์ยางเมื่อปี 1839 และการคิดค้นยางรถยนต์หลังจากนั้นทำให้มีการอพยพครั้งใหญ่เพื่อหาประโยชน์จากยาง. พวกพ่อค้าพากันหลั่งไหลไปในภูมิภาคแอมะซอนซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางดิบเพียงแห่งเดียว. นี่เป็นช่วงเวลาที่ขึ้นชื่อในเรื่องความรุนแรงของการแสวงประโยชน์จากชนพื้นเมือง ซึ่งทำให้จำนวนของคนเหล่านี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ.
ศตวรรษที่ 20 ส่งผลต่อชาวอินเดียนแดงอย่างไร?
ในปี 1970 รัฐบาลบราซิลตัดสินใจจะใช้แผนการรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวซึ่งรวมไปถึงการสร้างถนนหลวงเชื่อมต่อไปยังส่วนที่อยู่ห่างไกลของแอมะซอน. ถนนหลายสายตัดผ่านดินแดนของชาวอินเดียนแดงและไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากผู้แสวงหาประโยชน์เท่านั้น แต่ยังเสี่ยงที่จะติดโรคที่ทำให้ถึงตายด้วย.
ตัวอย่างเช่น ขอคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าปานาราส. เผ่านี้กลับลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบเนื่องจากสงครามและการถูกจับตัวไปเป็นทาสในระหว่างศตวรรษที่ 18 และ 19. คนในเผ่านี้ที่เหลือรอดอยู่เพียงจำนวนเล็กน้อยได้หนีไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าไปในป่าลึกของรัฐมาตูโกรสซู. จากนั้นทางหลวงสายกุยาบา-ซานตาเรมก็ตัดผ่านกลางเขตแดนของพวกเขา.
การติดต่อกับคนผิวขาวทำให้หลายคนต้องตายไป. ในปี 1975 คนเผ่านี้ซึ่งเคยมีจำนวนมากมายก็เหลืออยู่เพียง 80 คน. มีการอพยพคนเผ่าปานาราสไปอยู่ในอุทยานแห่งชาติชิงกู. ภายในอุทยานแห่งนั้นพวกเขาพยายามเสาะหาสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะคล้ายกันกับป่าในถิ่นกำเนิดของตน แต่ก็ไม่พบ. แล้วเผ่าปานาราสจึงตัดสินใจกลับไปยังบ้านเกิดของตนเอง. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 1996 รัฐมนตรียุติธรรมของบราซิลประกาศให้พื้นที่ 4,950 ตารางกิโลเมตรเป็น “สมบัติของคนพื้นเมืองอย่างถาวร.” ดูเหมือนว่าเผ่าปานาราสได้รับการช่วยให้รอดพ้นการสูญสิ้นไปได้.
อนาคตของพวกเขาจะดีกว่านี้ไหม?
เขตสงวนจะช่วยชนเผ่าอินเดียนแดงที่เหลืออยู่ให้รอดพ้นจากการสูญสิ้นไหม? ในปัจจุบัน การสูญสิ้นของชนเผ่าอินเดียนแดงในบราซิลดูเหมือนไม่น่าจะเกิดขึ้น. อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งดินแดนของพวกเขามีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าอยู่มาก. มีการคำนวณว่าแร่ต่าง ๆ รวมทั้งทองคำ, แพลทินัม, เพชร, เหล็กและตะกั่ว ซึ่งมีมูลค่าราว ๆ หนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35 ล้านล้านบาท) ซ่อนอยู่ใต้ดินในเขตที่เรียกกันว่า ลีกัลแอมะซอเนีย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เก้ารัฐทางเหนือและตอนกลางของภาคตะวันตกของบราซิล. ดินแดนของชาวอินเดียนแดงประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภูมิภาคนี้. การขุดหาแร่อย่างผิดกฎหมายเกิดขึ้นแล้วในเขตแดนบางส่วนของพวกอินเดียนแดง.
ประวัติศาสตร์แสดงว่าชาวอินเดียนแดงมักจะเสียเปรียบอยู่เสมอ ๆ เมื่อติดต่อเกี่ยวข้องกับคนผิวขาว. พวกเขายอมแลกทองคำกับกระจกเงาและแลกไม้บราซิลวูดกับของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีราคา และพวกเขาต้องหนีเข้าป่าไปยังพื้นที่อันห่างไกลเพื่อจะไม่ถูกจับตัวไปเป็นทาส. ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกไหม?
ชาวอินเดียนแดงหลายคนได้เรียนวิธีใช้เครื่องมือเครื่องไม้ต่าง ๆ ในยุคแห่งเทคโนโลยีนี้ เช่น เครื่องบิน, เรือยนต์, และโทรศัพท์มือถือ. แต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าพวกเขาสามารถรับมือกับข้อท้าทายของศตวรรษที่ 21 นี้ได้หรือไม่.
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
■ อุทยานแห่งชาติชิงกู
□ เขตสงวนอินเดียนแดง
บราซิล
บราซิเลีย
รีโอเดจาเนโร
เฟรนช์เกียนา
ซูรินาเม
กายอานา
เวเนซุเอลา
โคลัมเบีย
เอกวาดอร์
เปรู
โบลิเวีย
ปารากวัย
อุรุกวัย
[ภาพหน้า 15]
พวกพ่อค้าแสวงหาประโยชน์จากชาวอินเดียนแดงโดยจับตัวไปเป็นทาสในไร่ยางของตน
[ที่มาของภาพ]
© Jacques Jangoux/Peter Arnold, Inc.
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Line drawing and design: From the book Brazil and the Brazilians, 1857