ฉลามกำลังเดือดร้อน
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเม็กซิโก
มีสัตว์ไม่กี่ชนิดที่น่ากลัวมากกว่าฉลาม. ทั่วโลก โดยเฉลี่ยแล้วมีเหตุการณ์ฉลามทำร้ายมนุษย์โดยไม่มีการยั่วยุราว ๆ 75 ครั้งต่อปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ครั้งที่ถึงขั้นเสียชีวิต. การประโคมข่าวเรื่องฉลามทำร้ายผู้คน รวมทั้งภาพลักษณ์อันน่ากลัวที่เห็นในภาพยนตร์ ทำให้ผู้คนฝังใจว่าฉลามเป็นสัตว์กินคน. แน่นอน เราต้องระมัดระวังเมื่อปฏิบัติต่อฉลาม. แต่ถ้ามองตามความเป็นจริงแล้ว มีผู้เสียชีวิตจากการถูกผึ้งต่อยและถูกจระเข้ทำร้ายมากกว่าฉลามหลายเท่า.
ในทางกลับกัน ฉลามกำลังถูกมนุษย์ทำร้าย. นักวิจัยคนหนึ่งแห่งองค์การนักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษากะลาสีอาร์กัส รายงานในวารสารพรีเมียร์ ว่า “แต่ละปี มีฉลามถูกจับ 100 ล้านตัว ซึ่งมากถึงขนาดที่ถ้าเราเอาตัวของมันมาเรียงจากหัวถึงหางต่อ ๆ กัน ก็จะวนรอบโลกได้ถึงห้ารอบ.” นอกจากจะถูกจับแล้วฉลามยังมีอัตราการออกลูกที่ต่ำตามธรรมชาติ, ระยะเวลาการเติบโตที่ช้า, ช่วงการตั้งท้องที่ยาวนาน, และมีมลพิษในเขตที่ฉลามใช้ในการออกลูก ซึ่งผลก็คือจำนวนฉลามลดลงอย่างฮวบฮาบ. เมื่อจำนวนลดลงมากแล้วก็ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีจำนวนมากเหมือนเดิม.
ฉลามส่วนใหญ่ถูกจับเพื่อตัดเอาครีบของมัน (หูฉลาม) ซึ่งชาวเอเชียบางคนเชื่อว่ามีสรรพคุณในการรักษาและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้.a ซุปหูฉลามเป็นอาหารที่แพงมากซึ่งอาจมีราคาสูงถึงถ้วยละ 150 ดอลลาร์ (กว่า 5,000 บาท)! การจัดหาหูฉลามมาป้อนตลาดในเอเชียซึ่งได้กำไรงามทำให้เกิดการกระทำที่โหดร้ายและเสียเปล่าอย่างหนึ่ง นั่นคือการตัดครีบฉลามที่ยังเป็น ๆ อยู่และโยนมันกลับลงไปในทะเลเพื่อปล่อยให้มันตายเองเพราะขาดอาหารหรือจมน้ำตาย.
ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยชีวิตฉลามให้อยู่รอด
การที่ฉลามกำลังเดือดร้อนเช่นนี้เป็นเรื่องที่เราควรเป็นห่วงไหม? อาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้สึกสงสารฉลามเหมือนกับที่เราสงสารช้างหรือวาฬ. แต่เราต้องยอมรับว่าฉลามมีส่วนสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศแห่งท้องทะเล. ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันนิสัยการกินของมันช่วยควบคุมจำนวนประชากรของปลาชนิดอื่น ๆ ไว้.
ในหลายประเทศมีการจับฉลามกันอย่างไม่มีกฎเกณฑ์. หลังจากที่มีการถกเถียงกันมานานถึงสิบปี เม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีการจับฉลามเป็นจำนวนมากและเคยจับฉลามปีละกว่า 30,000 ตัน เพิ่งออกกฎหมายห้ามการตัดเอาแต่ครีบฉลามแล้วทิ้งมันให้ตายในทะเล. นอกจากนั้น การอนุรักษ์ประชากรฉลามยังประสบปัญหายุ่งยากมากขึ้นอีกเมื่อความต้องการหูฉลามทำให้มีการลักลอบจับฉลามอย่างมากในเขตสงวนหลายแห่งทั่วโลก. เพื่อเป็นตัวอย่าง ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะกาลาปากอสกล่าวด้วยความเศร้าใจว่า “การจับฉลามเพื่อเอาครีบอย่างผิดกฎหมายในแถบหมู่เกาะกาลาปากอสเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงไม่กี่ปีมานี้. มันทำกำไรงามและทำให้มีพวกมาเฟียเกิดขึ้นที่นี่.”
มีการลงมือทำตามขั้นตอนที่ดีบางอย่างเพื่อช่วยเหลือฉลาม เช่น บางประเทศสั่งห้ามการตัดเอาแต่ครีบฉลามแล้วทิ้งมันให้ตายในทะเล. อย่างไรก็ตาม ชาร์ลอตเต โมเกนเซน เจ้าหน้าที่นโยบายแห่งกองทุนสัตว์ป่าโลก เตือนว่ายังมีงานอีกมากที่ต้องทำ. เธอกล่าวว่า “ตลอดทั่วโลก ฉลามยังคงเผชิญอันตราย. เราขอร้องให้องค์กรจัดการด้านประมงทุกแห่งสั่งห้ามไม่เพียงแต่การตัดเอาแต่ครีบฉลามและโยนตัวมันลงทะเลให้ตาย แต่ให้ตั้งข้อกำหนดสำหรับการเก็บข้อมูลเรื่องฉลาม, การลดจำนวนฉลามซึ่งติดขึ้นมาเมื่อจับปลาอื่นและการประมงแบบยั่งยืน.”
น่ายินดีที่พระผู้สร้างชีวิตสัตว์ป่าจะไม่ยอมให้การฉวยประโยชน์จากสิ่งทรงสร้างอันสง่างามของพระองค์อย่างโหดร้ายนี้ดำเนินต่อไปอีกนานนัก. นี่รวมไปถึงฉลามที่แม้ว่าดูน่ากลัวแต่ก็ขาดไม่ได้.—วิวรณ์ 11:18.
[เชิงอรรถ]
a ที่แท้แล้ว มีการค้นพบว่าหูฉลามมีสารปรอทสะสมอยู่ในปริมาณสูง ซึ่งอาจทำให้ผู้ชายเป็นหมันได้.
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฉลาม
ขนาด: ชนิดที่ใหญ่ที่สุด ฉลามวาฬ (บน) อาจเจริญเติบโตจนมีความยาวถึง 18 เมตรและหนักหลายตัน. แต่มันเป็นปลาที่ไม่เป็นอันตรายซึ่งกินแพลงก์ตอนและปลาตัวเล็ก ๆ อื่น ๆ.
ระยะเวลาตั้งท้อง: อาจยาวนานถึง 22 เดือน.
อัตราการขยายพันธุ์: ฉลามออกลูกเฉลี่ยครั้งละสองถึงสิบตัว. ฉลามส่วนใหญ่ออกลูกเป็นตัว แต่บางชนิดออกลูกเป็นไข่.
อัตราการเจริญเติบโต: ส่วนใหญ่ใช้เวลา 12 ถึง 15 ปีกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์.
อายุขัย: เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าฉลามส่วนใหญ่มีอายุขัยเท่าไร แต่ประมาณกันว่าฉลามขาวที่มีนิสัยดุร้าย (ล่าง) มีชีวิตอยู่ได้ถึง 60 ปี.
[ที่มาของภาพ]
Seawatch.org
© Kelvin Aitken/age fotostock
[ภาพหน้า 16, 17]
ในบรรดาฉลามกว่า 300 ชนิด ปัจจุบันนี้มี 62 ชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์
[ที่มาของภาพ]
© Mark Strickland/SeaPics.com
[ภาพหน้า 17]
หูฉลามหนักหนึ่งปอนด์อาจขายได้ราคาสูงถึง 200 ดอลลาร์ (ประมาณ 7,000 บาท) หรือสูงกว่านั้นอีก. ขากรรไกร ฉลามขาวหนึ่งชุดอาจมีราคาถึง 10,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 350,000 บาท)
[ที่มาของภาพ]
© Ron & Valerie Taylor/SeaPics.com