พระธรรมเล่มที่ 38—ซะคาระยา
ผู้เขียน: ซะคาระยา
สถานที่เขียน: ยะรูซาเลม
เขียนเสร็จ: ปี 518 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: 520-518 ก.ส.ศ
1. สถานการณ์อันเกี่ยวกับพระวิหารในยะรูซาเลมเป็นอย่างไรเมื่อซะคาระยาเริ่มพยากรณ์?
ชะงักงัน! นั่นเป็นสภาพงานก่อสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาในยะรูซาเลมเมื่อซะคาระยาเริ่มพยากรณ์. ขณะที่ซะโลโมสร้างพระวิหารหลังเดิมใน 7 ปีครึ่ง (1 กษัต. 6:37, 38) ชาวยิวที่ถูกส่งกลับได้มาอยู่ในยะรูซาเลม 17 ปีแล้ว และการก่อสร้างกว่าจะเสร็จก็ยังอีกไกล. ในที่สุดงานก็ได้หยุดลงอย่างสิ้นเชิงหลังจากการสั่งห้ามโดยอาระธาสัศธา (อาจเป็นบาร์ดียาหรือเกามาทา). แต่บัดนี้ ทั้งที่มีคำสั่งห้ามนั้นจากทางการ งานก็ได้เริ่มอีกครั้ง. พระยะโฮวาทรงใช้ฮาฆีและซะคาระยามากระตุ้นประชาชนให้เริ่มงานก่อสร้างอีกและอยู่ด้วยจนกว่าจะสร้างเสร็จ.—เอษรา 4:23, 24; 5:1, 2.
2. ทำไมงานจึงดูใหญ่โตราวกับภูเขา แต่ซะคาระยาชี้ให้พวกเขาสนใจอะไร?
2 งานเบื้องหน้าพวกเขาดูใหญ่โตราวกับภูเขา. (ซคา. 4:6, 7) พวกเขามีไม่กี่คน แต่ผู้ต่อต้านมีมากมาย และแม้พวกเขาจะมีซะรูบาเบลซึ่งเป็นเจ้าชายในราชวงศ์ของดาวิด แต่พวกเขาก็ไม่มีกษัตริย์ อีกทั้งอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติ. ง่ายจริง ๆ ที่จะตกเข้าสู่สภาพอ่อนแอ, เจตคติที่คิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง ในยามที่จำต้องมีความเชื่อที่เข้มแข็งและการกระทำด้วยความกระตือรือร้น! ซะคาระยาถูกใช้เพื่อชักนำพวกเขาให้สนใจพระประสงค์ของพระเจ้าในเวลานั้นรวมทั้งพระประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีกในอนาคต ด้วยวิธีนี้ ท่านจึงเสริมกำลังพวกเขาให้ทำงานนั้นจนสำเร็จ. (8:9, 13) นี่ไม่ใช่เวลาจะเป็นเหมือนบรรพบุรุษของพวกเขาซึ่งขาดความหยั่งรู้ค่า.—1:5, 6.
3. (ก) มีการระบุตัวซะคาระยาอย่างไร และเหตุใดชื่อของท่านจึงนับว่าเหมาะ? (ข) คำพยากรณ์ของซะคาระยามีการกล่าวและบันทึกเมื่อไร?
3 ซะคาระยาเป็นใคร? ในคัมภีร์ไบเบิลมีกล่าวถึงบุคคลประมาณ 30 คนด้วยชื่อซะคาระยา. แต่มีการระบุตัวผู้เขียนพระธรรมที่ใช้ชื่อนี้ว่า “ซะคาระยาบุตรแห่งบาราเคย ๆ บุตรแห่งอีโด, ผู้พยากรณ์.” (ซคา. 1:1; เอษรา 5:1; นเฮม. 12:12, 16) ชื่อของท่าน (ฮีบรู เซคาร์ยาห์) หมายความว่า “พระยะโฮวาทรงระลึกถึง.” พระธรรมซะคาระยาบอกชัดมากว่า “พระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย” ทรงระลึกถึงไพร่พลของพระองค์ เพื่อจะทรงปฏิบัติกับพวกเขาอย่างดีเพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์. (ซะคาระยา 1:3) วันเวลาที่มีกล่าวในพระธรรมนี้ทำให้ทราบว่าพระธรรมนี้ครอบคลุมระยะเวลาอย่างน้อยสองปี. เมื่อ “เดือนแปดในปีที่สองแห่งรัชกาลของกษัตริย์ดาระยาศ” (ตุลาคม/พฤศจิกายน 520 ก.ส.ศ.) นั่นเองที่มีการก่อสร้างพระวิหารต่ออีกและซะคาระยาได้เริ่มพยากรณ์. (1:1) นอกจากนั้น พระธรรมนี้ยังมีกล่าวถึง “วันที่สี่เดือนเก้า คือ ในเดือนคิศเลฟ” ใน “ปีที่สี่แห่งกษัตริย์ดาระยาศ” (ประมาณวันที่ 1 ธันวาคม ปี 518 ก.ส.ศ.). (7:1, ล.ม.) ดังนั้น คงไม่มีข้อสงสัยว่าคำพยากรณ์ของซะคาระยามีการกล่าวและบันทึกลงไว้ด้วยในช่วงปี 520-518 ก.ส.ศ.—เอษรา 4:24.
4, 5. (ก) เหตุใดซะคาระยาพยากรณ์ความล่มจมของตุโรหลังจากนะบูคัดเนซัรยึดเมืองนี้นานแล้ว? (ข) ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เรื่องใดโดยเฉพาะที่พิสูจน์อย่างน่าเชื่อถือว่าพระธรรมนี้มีขึ้นโดยการดลใจ?
4 ผู้ที่ศึกษาพระธรรมซะคาระยาจะพบข้อพิสูจน์พอเพียงในเรื่องความเชื่อถือได้ของพระธรรมนี้. เช่นกรณีของเมืองตุโรเป็นตัวอย่าง. หลังจากล้อมอยู่นานถึง 13 ปี นะบูคัดเนซัรกษัตริย์บาบูโลนจึงได้ทำลายเมืองตุโร. แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตุโรถึงกาลอวสานอย่างสิ้นเชิง. อีกหลายปีต่อมา ซะคาระยาได้พยากรณ์ถึงความพินาศเบ็ดเสร็จของเมืองตุโร. นั่นคือเมืองตุโรบนเกาะที่อะเล็กซานเดอร์มหาราชทำลายในคราวที่ท่านสร้างทางเดินอันมีชื่อเสียง; ท่านเผาเมืองนั้นอย่างไร้ความปรานี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คำพยากรณ์ที่ซะคาระยากล่าวไว้ราวสองศตวรรษก่อนหน้านั้นสำเร็จเป็นจริง.a—ซคา. 9:2-4.
5 อย่างไรก็ตาม ข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือที่สุดในเรื่องที่พระธรรมนี้มีขึ้นโดยการดลใจจะพบได้ในความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เกี่ยวกับมาซีฮา คือพระคริสต์เยซู ดังที่เห็นได้จากการเทียบซะคาระยา 9:9 กับมัดธาย 21:4, 5 และโยฮัน 12:14-16; ซะคาระยา 12:10 กับโยฮัน 19:34-37; และซะคาระยา 13:7 กับมัดธาย 26:31 และมาระโก 14:27. นอกจากนั้นยังมีความคล้ายคลึงกันที่พึงสังเกตระหว่างซะคาระยา 8:16 กับเอเฟโซ 4:25; ซะคาระยา 3:2 กับยูดา 9; และซะคาระยา 14:5 กับยูดา 14. ความสอดคล้องกันในพระคำของพระเจ้าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์จริง ๆ!
6. (ก) เหตุใดลีลาการเขียนจึงเปลี่ยนไปตั้งแต่ซะคาระยาบท 9 เป็นต้นไป? (ข) อะไรอาจเป็นสาเหตุที่มัดธายกล่าวถึงซะคาระยาว่าเป็น “ยิระมะยา”?
6 มีนักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลบางคนซึ่งกล่าวว่าการเปลี่ยนลีลาการเขียนตั้งแต่บท 9 เป็นต้นไปแสดงว่าส่วนนั้นคงไม่ได้เขียนไว้โดยซะคาระยา. อย่างไรก็ตาม ที่เปลี่ยนลีลาการเขียนคงเป็นเพราะเปลี่ยนหัวเรื่องเท่านั้น. ในขณะที่แปดบทแรกเกี่ยวข้องกับเรื่องที่สำคัญกว่าซึ่งอยู่เฉพาะหน้าประชาชนในสมัยของซะคาระยา ในบท 9 ถึงบท 14 ผู้พยากรณ์ตั้งใจคอยท่าอนาคตที่ไกลกว่านั้น. บางคนข้องใจว่าทำไมมัดธายยกข้อความจากซะคาระยาไปกล่าวแต่บอกว่าเป็นถ้อยคำของยิระมะยา. (มัด. 27:9; ซคา. 11:12) ปรากฏว่า บางครั้งมีการคาดกันว่ายิระมะยาเป็นคนแรกของผู้พยากรณ์ในสมัยหลัง ๆ (แทนที่จะเป็นยะซายา ดังในคัมภีร์ไบเบิลของเราในปัจจุบัน); ดังนั้น เมื่อมัดธายกล่าวถึงซะคาระยาว่าเป็น “ยิระมะยา” ก็คงจะเป็นการทำตามแนวปฏิบัติของพวกยิวซึ่งรวมเอาพระคัมภีร์ทั้งตอนไว้ในชื่อของพระธรรมเล่มแรกของตอนนั้น. พระเยซูเองทรงใช้ชื่อ “เพลงสรรเสริญ” เพื่อรวมถึงพระธรรมทุกเล่มซึ่งรู้จักกันว่าเป็นหมวดข้อเขียนในคัมภีร์ไบเบิล.—ลูกา 24:44.b
7. พระธรรมซะคาระยาถูกเรียบเรียงอย่างไร?
7 จนถึงบท 6 ข้อ 8 พระธรรมนี้ประกอบด้วยชุดนิมิตแปดเรื่อง เป็นแบบที่คล้ายกับนิมิตในดานิเอลและยะเอศเคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่เหมือนกัน. หลังจากนิมิตเหล่านี้ก็เป็นแถลงการณ์และคำพยากรณ์ที่เกี่ยวกับการนมัสการที่จริงใจ, การฟื้นฟู, และวันสงครามของพระยะโฮวา.
เนื้อเรื่องในซะคาระยา
8. นิมิตเรื่องคนขี่ม้าทั้งสี่แสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับยะรูซาเลมและนานาชาติ?
8 นิมิตที่หนึ่ง: คนขี่ม้าทั้งสี่ (1:1-17). พระยะโฮวาตรัสว่า “จงกลับมาหาเรา . . . เราจะกลับมาหาเจ้า” แล้วพระองค์ตรัสถามว่า “ถ้อยคำของเราและกฎเกณฑ์ของเรา ซึ่งเราได้บัญชาแก่ผู้เผยพระวจนะผู้รับใช้ของเรา ก็ได้ติดตามบรรพบุรุษของเจ้าทันมิใช่หรือ”? (1:3, 6, ฉบับแปลใหม่) ประชาชนยอมรับว่าพวกเขาได้รับอย่างที่สมควรกับตนแล้ว. ตอนนี้นิมิตแรกปรากฏแก่ซะคาระยา. ตอนกลางคืนคนขี่ม้าสี่คนยืนอยู่ท่ามกลางดงไม้ใกล้กรุงยะรูซาเลม พวกเขากลับจากการตรวจตราทั่วแผ่นดินโลกซึ่งพวกเขาพบว่ายังอยู่สบายไร้การรบกวน. แต่ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาซึ่งซักถามพวกเขารู้สึก ไม่สบายใจกับสภาพการณ์ในยะรูซาเลม. พระยะโฮวาเองทรงประกาศถึงพระพิโรธกล้าที่ทรงมีต่อนานาชาติซึ่งมีส่วนช่วยก่อความหายนะแก่ซีโอน และพระองค์ตรัสว่าพระองค์จะทรง “กลับมายังกรุงเยรูซาเล็มด้วยความกรุณา.” พระวิหารของพระองค์จะถูกสร้างในกรุงนี้ และเมืองทั้งหลายของพระองค์ “จะไพบูลย์ท่วมท้นไปด้วยความมั่งคั่ง.”—1:16, 17, ฉบับแปลใหม่.
9. พระยะโฮวาทรงอธิบายนิมิตเรื่องสิงค์และช่างเหล็กอย่างไร?
9 นิมิตที่สอง: สิงค์และช่างเหล็ก (1:18-21). ซะคาระยาเห็นสิงค์สองคู่ซึ่งขวิดยูดา, ยิศราเอล, และยะรูซาเลม. จากนั้นพระยะโฮวาทรงให้ท่านเห็นช่างเหล็กสี่คน ทรงอธิบายว่าคนทั้งสี่นี้จะมาเพื่อจะทำลายเขาแห่งนานาชาติที่ต่อต้านยูดา.
10. พระยะโฮวาทรงเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเจริญรุ่งเรืองของยะรูซาเลม?
10 นิมิตที่สาม: ความเจริญรุ่งเรืองของยะรูซาเลม (2:1-13). ซะคาระยาเห็นชายคนหนึ่งกำลังวัดกรุงยะรูซาเลม. กรุงนี้จะได้รับพรให้มีการขยายออกไป และพระยะโฮวาจะเป็นกำแพงไฟล้อมรอบเมืองและเป็นรัศมีอยู่ใจกลางเมือง. พระองค์ทรงร้องบอกว่า “โอ้ซีโอน . . . จงหนีเอาตัวรอด.” และทรงเตือนอีกว่า “ผู้ใดได้ต้องท่านก็ได้ต้องดวงตาของตน [เรา, ล.ม.].” (2:7, 8) โดยมีพระยะโฮวาสถิตในเมือง ซีโอนจะชื่นชม และหลายชาติจะมาร่วมกับพระยะโฮวา. เนื้อหนังทั้งสิ้นได้รับบัญชาให้สงบเงียบอยู่เฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา “เพราะพระองค์เสด็จขึ้นจากที่สถิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์.”—2:13.
11. ยะโฮซูอะมหาปุโรหิตได้รับการพิสูจน์อย่างไรว่าเป็นฝ่ายถูกและท่านได้รับการกระตุ้นให้ทำอะไร?
11 นิมิตที่สี่: การช่วยยะโฮซูอะให้รอดพ้น (3:1-10). นิมิตนี้เผยให้เห็นยะโฮซูอะมหาปุโรหิตกำลังถูกพิจารณาคดี โดยมีซาตานกล่าวโทษท่านและทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาตำหนิซาตาน. ยะโฮซูอะมิใช่ “ดุ้นฟืนที่ฉวยออกมาจากไฟ” หรอกหรือ? (3:2, ฉบับแปลใหม่) ยะโฮซูอะได้รับการประกาศว่าสะอาดและเสื้อผ้าที่สกปรกของท่านถูกเปลี่ยนเป็น “ผ้ายกอันงาม.” ท่านได้รับการกระตุ้นให้ดำเนินในทางของพระยะโฮวา ผู้ทรง ‘นำผู้รับใช้ของพระองค์เข้ามาคือพระอังกูร’ และทรงวางศิลาก้อนหนึ่งซึ่งมีตาเจ็ดดวงไว้ตรงหน้ายะโฮซูอะ.—3:4, 8.
12. มีการให้คำหนุนใจและคำรับรองอะไรเกี่ยวกับการสร้างพระวิหาร?
12 นิมิตที่ห้า: เชิงตะเกียงและต้นมะกอกเทศ (4:1-14). ทูตสวรรค์ได้ปลุกซะคาระยาให้ตื่นมาดูเชิงตะเกียงทองคำที่มีตะเกียงเจ็ดดวง มีต้นมะกอกเทศสองต้นกระหนาบอยู่. ท่านได้ยินคำที่พระยะโฮวาตรัสแก่ซะรูบาเบลว่า ‘มิใช่ด้วยกำลังมิใช่ด้วยฤทธานุภาพแต่ด้วยวิญญาณของพระเจ้า.’ “ภูเขาใหญ่” จะถูกปราบให้ราบเรียบต่อหน้าซะรูบาเบล และศิลาก้อนที่อยู่ตรงยอดพระวิหารจะถูกนำออกมาพร้อมกับเสียงโห่ร้องว่า “งามจริง พระวิหารงามจริง.” ซะรูบาเบลได้วางรากพระวิหารและท่านจะทำงานให้เสร็จ. ตะเกียงเจ็ดดวงคือพระเนตรของพระยะโฮวาซึ่ง “มองอยู่ทั่วพิภพ.” (4:6, 7, 10, ฉบับแปลใหม่) ต้นมะกอกเทศทั้งสองคือผู้ถูกเจิมสองคนของพระยะโฮวา.
13-15. เราเห็นอะไรบ้างในนิมิตเรื่องม้วนหนังสือที่ลอยอยู่, ถังตวงขนาดหนึ่งเอฟาห์, และเรื่องรถรบสี่คัน?
13 นิมิตที่หก: ม้วนหนังสือที่ลอยอยู่ (5:1-4). ซะคาระยาเห็นม้วนหนังสือม้วนหนึ่งลอยอยู่ ยาวราว 30 ฟุตและกว้างราว 15 ฟุต. ทูตสวรรค์อธิบายว่า ม้วนหนังสือนี้เป็นคำสาปที่มีออกไปเนื่องจากคนทั้งปวงที่ลักขโมยและสาบานเท็จในพระนามของพระยะโฮวา.
14 นิมิตที่เจ็ด: ถังตวงขนาดหนึ่งเอฟาห์ (5:5-11). ฝาถังตวงขนาดหนึ่งเอฟาห์ (ประมาณ 22 ลิตร) ถูกยกขึ้น เผยให้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “ความอธรรม.” เธอถูกกดกลับลงไปในถังซึ่งต่อจากนั้นถูกยกขึ้นสู่สวรรค์โดยผู้หญิงมีปีกสองคน เพื่อนำไปยังซีนาร (บาบูโลน) และ “วาง . . . ไว้บนฐานของมัน.”—5:8, 11, ฉบับแปลใหม่.
15 นิมิตที่แปด: รถรบสี่คัน (6:1-8). ดูเถิด! จากระหว่างภูเขาทองแดงสองลูก รถรบสี่คันปรากฏออกมา พร้อมกับม้าสีต่าง ๆ กัน. รถรบเหล่านี้คือวิญญาณทั้งสี่จากสวรรค์. ตามคำสั่งของทูตสวรรค์ รถรบทั้งสี่นี้ไปมาทั่วโลก.
16. มีการพยากรณ์เช่นไรเกี่ยวกับ “พระอังกูร”?
16 พระอังกูร การอดอาหารที่ไม่จริงใจ (6:9–7:14). บัดนี้ พระยะโฮวาทรงบัญชาซะคาระยาให้เอามงกุฎสวมบนศีรษะของยะโฮซูอะมหาปุโรหิต. ท่านกล่าวในเชิงพยากรณ์ถึง “พระอังกูร” ซึ่งจะสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาและปกครองเป็นปุโรหิตบนบัลลังก์ของพระองค์.—6:12.
17. พระยะโฮวาทรงปรารถนาอะไรในเรื่องการนมัสการ และได้เกิดผลเช่นไรแก่ผู้ที่ต่อต้านพระคำของพระองค์?
17 สองปีหลังจากซะคาระยาเริ่มพยากรณ์ ตัวแทนกลุ่มหนึ่งจากเบธเอลมาถามปุโรหิตประจำพระวิหารว่า ระยะเวลาแน่นอนแห่งการร้องไห้และการอดอาหารควรถือรักษาต่อไปหรือไม่. พระยะโฮวาทรงถามประชาชนและปุโรหิตผ่านทางซะคาระยาว่า พวกเขาจริงใจในการอดอาหารหรือไม่. สิ่งที่พระยะโฮวาทรงปรารถนาคือ ‘การเชื่อฟัง, ความยุติธรรมที่แท้จริง, ความรักกรุณา, และความเมตตา.’ (7:7, 9, ล.ม.) เพราะชาวยิวต่อต้านถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของพระองค์ด้วยบ่าที่แข็งขืนและหัวใจเหมือนหินกากเพชร พระองค์ได้เหวี่ยงพวกเขาอย่างแรงให้กระจายไปทั่วทุกชาติ.
18. พระยะโฮวาทรงทำสัญญาอันรุ่งโรจน์อะไรในเรื่องการฟื้นฟู?
18 การฟื้นฟู; “ชายสิบคน” (8:1-23). พระยะโฮวาทรงประกาศว่าพระองค์จะเสด็จกลับซีโอนและสถิตในยะรูซาเลม ซึ่งจะถูกขนานนามว่า “เมืองแห่งความจริง.” คนแก่จะนั่งลงตามจัตุรัสและเด็ก ๆ จะเล่นอยู่ที่นั่น. เรื่องนี้ไม่ยากเกินไปสำหรับพระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้และชอบธรรม! พระยะโฮวาทรงสัญญากับชนที่เหลือแห่งไพร่พลของพระองค์ในเรื่องพงศ์พันธุ์แห่งสันติสุข โดยตรัสว่า “ท่านอย่าได้กลัวเลย, จงมีกำลังมือเถิด.” (8:3, 13) พวกเขาควรทำสิ่งเหล่านี้คือ: พูดความจริงต่อกันและพิพากษาด้วยความจริง, รักษาหัวใจให้ปราศจากแผนร้ายที่ก่อวิบัติและการสาบานเท็จ. ด้วยว่าเวลาจะมาเมื่อประชาชนจากหลาย ๆ เมืองจะชักชวนกันให้ขึ้นไปแสวงหาพระยะโฮวาอย่างจริงจัง และ “สิบคน” จากทุกภาษาจะ “ยึดชายเสื้อแห่งคนชาติยูดา” และไปด้วยกันกับไพร่พลของพระเจ้า.—8:23.
19. แถลงการณ์อันรุนแรงอะไรบ้างตามมา แต่มีกล่าวถึงกษัตริย์ของยะรูซาเลมเช่นไร?
19 แถลงการณ์แก่นานาชาติ ผู้เลี้ยงแกะปลอม (9:1–11:17). ในตอนที่สองของพระธรรมนี้ คือบท 9 ถึงบท 14 ซะคาระยาเปลี่ยนจากนิมิตเชิงเปรียบเทียบมาเป็นแบบคำพยากรณ์ทั่วไปมากขึ้น. ท่านเริ่มด้วยแถลงการณ์ที่รุนแรงต่อเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองตุโรซึ่งตั้งบนเกาะที่เป็นศิลา. มีการบอกให้ยะรูซาเลมโห่ร้องด้วยความยินดีในชัยชนะ เพราะ “นี่แน่ะ, กษัตริย์ของท่านเสด็จมาหาท่าน, มีความชอบธรรมแลประกอบด้วยฤทธิ์ช่วยให้รอด, แลมีพระทัยอันสุภาพ, แลเสด็จนั่งบนลา.” (9:9) โดยทำลายรถรบและคันธนู ท่านผู้นี้จะกล่าวสันติสุขแก่นานาชาติและจะปกครองจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก. พระยะโฮวาจะทรงรบกับพวกกรีกเพื่อประชาชนของพระองค์ และพระองค์จะทรงช่วยพวกเขาให้รอด. “เพราะว่าความดีของพระองค์มีมากอย่างไร, แลวิจิตรรจนาของพระองค์มีมากอย่างไร.” (9:17) พระยะโฮวาผู้ทรงประทานฝนทรงตำหนิพวกผู้ทำนายและคนเลี้ยงแกะปลอม. พระองค์จะทรงทำให้เรือนของยูดายิ่งใหญ่และเรือนของเอฟรายิมเป็นเหมือนคนมีกำลังมาก. ส่วนคนที่ได้รับการไถ่ “ใจเขาทั้งหลายจะยินดีในยะโฮวา . . . แลเขาทั้งหลายจะดำเนินในพระนามของพระองค์.”—10:7, 12.
20. มีการแสดงสัญลักษณ์อะไรโดยใช้ไม้เท้า “ความเมตตา” และ “ความสามัคคี”?
20 ตอนนี้ซะคาระยาได้รับมอบหมายให้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะซึ่งถูกขายแก่คนฆ่าโดยผู้เลี้ยงที่ไร้ความปรานีซึ่งกล่าวว่า “จงมีความอวยพรแก่ยะโฮวาด้วยว่าข้ามั่งมีขึ้น.” (11:5) ท่านผู้พยากรณ์เอาไม้เท้ามาคู่หนึ่งและตั้งชื่อว่า “ความเมตตา” และ “ความสามัคคี.” (11:7) โดยหักไม้เท้า “ความเมตตา” ท่านแสดงสัญลักษณ์ว่าสัญญาไมตรีถูกหักเสียแล้ว. ต่อมาท่านขอค่าจ้าง และพวกเขาได้ชั่งเงินให้ท่าน 30 แผ่น. พระยะโฮวาทรงสั่งซะคาระยาให้โยนเงินเข้าไปในคลังสมบัติและพูดประชดอย่างแรงว่า “ราคาอันงามนี้, ซึ่งเขาทั้งหลายได้กำหนดราคาแห่งข้า.” (11:13) ถึงตอนนี้ไม้เท้า “ความสามัคคี” ถูกหัก เป็นการตัดขาดความเป็นพี่น้องของยูดากับยิศราเอล. ดาบเล่มหนึ่งจะมาเหนือผู้เลี้ยงแกะปลอมซึ่งปล่อยปละละเลยแกะของพระยะโฮวา.
21. (ก) คำพิพากษาของพระยะโฮวาต่อผู้ที่ต่อสู้ยะรูซาเลมคืออย่างไร? (ข) มีคำพยากรณ์ถึงการกระจัดกระจายและการถลุงอะไร?
21 พระยะโฮวาทรงทำสงคราม และทรงเป็นกษัตริย์ (12:1–14:21). แถลงการณ์อีกประการหนึ่งเริ่มต้น. พระยะโฮวาจะทรงทำให้ยะรูซาเลมเป็นชามที่ทำให้ประชาชนซวนเซและเป็นหินหนักซึ่งบาดคนที่ยกมันขึ้น. พระองค์จะทรงกำจัดทุกชาติที่มาต่อสู้ยะรูซาเลม. พระยะโฮวาจะเทพระวิญญาณแห่งความโปรดปรานและคำขอร้องลงเหนือเรือนดาวิด และประชาชนจะมองไปยังคนที่พวกเขาได้แทงทะลุ ร้องไห้คร่ำครวญถึงเขา “ดุจคนร้องไห้ถึงลูกผู้เดียว.” (12:10) พระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายทรงประกาศการทำลายรูปเคารพและผู้พยากรณ์เท็จทั้งปวง บิดามารดาของคนเช่นนั้นจะต้องทำให้เขามีบาดแผลเพื่อเขาจะถอดเสื้อชั้นนอกของเขาซึ่งเป็นเสื้อสำหรับผู้พยากรณ์ออกเสียด้วยความอับอาย. รองผู้บำรุงเลี้ยงของพระยะโฮวาจะต้องถูกตีและฝูงแกะจะกระจัดกระจายไป แต่พระยะโฮวาจะทรงถลุง “ส่วนหนึ่งนั้นในสามส่วน” ให้ร้องออกพระนามของพระองค์. พระยะโฮวาจะตรัสว่า “เขาทั้งหลายเป็นพลไพร่ของเรา” และพวกเขาจะตอบว่า “พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของเรา.”—13:9.
22. จะเกิดอะไรขึ้นกับนานาชาติและกรุงยะรูซาเลมใน “วันสำหรับพระยะโฮวา”?
22 “นี่แน่ะ วันสำหรับพระยะโฮวาจะมา.” ชาติทั้งปวงจะโจมตียะรูซาเลม และครึ่งหนึ่งของเมืองจะตกเป็นเชลย ละชนที่เหลือไว้เบื้องหลัง. ครั้นแล้ว พระยะโฮวาจะเสด็จออกไปและทำสงครามกับชาติเหล่านั้น “เหมือนเมื่อพระองค์ได้ทำศึกในวันสงคราม.” (14:1, 3) ภูเขามะกอกเทศด้านตะวันออกของยะรูซาเลมจะแยกออกจากกันไปทางตะวันออกกับตะวันตก ทำให้เกิดช่องเขาสำหรับหนีภัย. ในวันนั้นน้ำที่ให้ชีวิตจะไหลออกจากยะรูซาเลมไปทางตะวันออกและตะวันตก, ในฤดูร้อนและฤดูหนาว, และ “พระยะโฮวาจะเป็นกษัตริย์ครองทั่วทั้งแผ่นดิน.” (14:9) ขณะที่กรุงยะรูซาเลมชื่นชมกับความมั่นคงปลอดภัย พระยะโฮวาจะทรงลงโทษอย่างหนักแก่พวกที่ทำสงครามต่อสู้กรุงนี้. เนื้อหนัง, ตา, และลิ้นของพวกเขาจะเน่าไปขณะที่ยังยืนอยู่. จะเกิดความสับสนอลหม่านแก่พวกเขา. แต่ละคนจะหันมายกมือขึ้นต่อสู้เพื่อนบ้านของเขา. ส่วนผู้ที่รอดอยู่ของชาติทั้งปวงจะต้อง “ขึ้นไปทุก ๆ ปีเพื่อก้มกราบพระมหากษัตริย์ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย.”—14:16, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
23. บันทึกของซะคาระยาเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งอย่างไร?
23 ทุกคนที่ศึกษาและไตร่ตรองคำพยากรณ์ของซะคาระยาจะได้ประโยชน์ที่ได้รับความรู้ซึ่งเสริมความเชื่อให้เข้มแข็ง. มีมากกว่า 50 ครั้งที่ซะคาระยาชี้ให้สนใจ “ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย” ว่าเป็นผู้นั้นแหละที่ต่อสู้เพื่อปกป้องไพร่พลของพระองค์ ทรงเติมกำลังให้พวกเขาตามความจำเป็น. เมื่อการต่อต้านที่ใหญ่เหมือนภูเขาคุกคามไม่ให้สร้างพระวิหารเสร็จ ซะคาระยาประกาศว่า “นี่เป็นคำยะโฮวามายังซะรุบาเบลว่า, ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า, ไม่ใช่ด้วยกำลังแลฤทธิ์, แต่โดยพระวิญญาณของเรา. เฮ้ยภูเขาใหญ่ตรงหน้าซะรุบาเบล, มันเป็นอะไร, จงราบเตียนเถิด.” พระวิหารแล้วเสร็จด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระยะโฮวา. เหมือนในทุกวันนี้ อุปสรรคต่าง ๆ จะละลายไปหากจัดการด้วยความเชื่อในพระยะโฮวา. เช่นเดียวกับที่พระเยซูตรัสแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง, ท่านจะสั่งภูเขานี้ว่า, ‘จงเลื่อนไปจากที่นี่ไปอยู่ที่โน่น,’ แล้วมันก็จะไป สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ท่านทำไม่ได้จะไม่มีเลย.”—ซคา. 4:6, 7; มัด. 17:20.
24. ซะคาระยาบท 13 ให้ตัวอย่างความภักดีไว้อย่างไร?
24 ในบท 13 ข้อ 2 ถึงข้อ 6 ซะคาระยาให้ตัวอย่างความภักดีซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งองค์การของพระยะโฮวาจนถึงสมัยนี้. สิ่งนี้ต้องอยู่เหนือความสัมพันธ์ของมนุษย์ทุกรูปแบบ เช่น ความสัมพันธ์ของญาติใกล้ชิดทางสายเลือด. ถ้าญาติใกล้ชิดพยากรณ์ความเท็จในพระนามพระยะโฮวา คือพูดขัดกับข่าวสารราชอาณาจักรและพยายามอย่างผิด ๆ เพื่อชักจูงคนอื่นในประชาคมแห่งไพร่พลของพระเจ้า สมาชิกในครอบครัวของคนนั้นต้องสนับสนุนอย่างภักดีต่อการตัดสินความใด ๆ ที่ดำเนินการโดยประชาคม. พวกเขาจะต้องยึดฐานะอย่างเดียวกันเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนสนิทคนใด ๆ ก็ตามที่พยากรณ์เท็จ เพื่อเขาจะได้อายและมีบาดแผลที่หัวใจเนื่องจากการผิดของตน.
25. คำพยากรณ์ของซะคาระยาเกี่ยวโยงกับข้อคัมภีร์อื่น ๆ อย่างไรในการระบุตัวพระมาซีฮา, “พระอังกูร,” และตำแหน่งของพระองค์ในฐานะมหาปุโรหิตและมหากษัตริย์ภายใต้พระยะโฮวา?
25 ดังที่วรรคต้น ๆ แสดงไว้ การที่พระเยซูเสด็จเข้าสู่กรุงยะรูซาเลมในฐานะกษัตริย์ผู้ “มีพระทัยอันสุภาพ, แลเสด็จนั่งบนลา,” การที่พระองค์ถูกทรยศเพื่อ “เงินสามสิบแผ่น,” การที่พวกสาวกกระจัดกระจายในเวลานั้น, รวมทั้งการที่พระองค์ถูกทหารใช้หอกแทงบนหลักทรมาน ล้วนมีพยากรณ์ไว้อย่างละเอียดแม่นยำโดยซะคาระยา. (ซคา. 9:9; 11:12; 13:7; 12:10) คำพยากรณ์ยังมีการเอ่ยนาม “พระอังกูร” ด้วยว่า เป็นผู้สร้างพระวิหารของพระยะโฮวา. การเทียบดูกับยะซายา 11:1-10; ยิระมะยา 23:5 และลูกา 1:32, 33 (ล.ม.) แสดงว่าผู้นี้คือพระเยซูคริสต์ซึ่ง “จะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือเรือนของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์.” ซะคาระยาพรรณนา “พระอังกูร” ว่าเป็น “ปุโรหิตบนบัลลังก์ของท่าน” ซึ่งเกี่ยวโยงกับถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “พระเยซูผู้ทรงเป็นมหาปุโรหิตเป็นนิตย์ตามอย่างมัลคีเซเด็ค” อีกทั้ง “ผู้ได้ประทับเบื้องขวาพระที่นั่งแห่งผู้ทรงเดชานุภาพในฟ้าสวรรค์.” (ซคา. 6:12, 13, ล.ม.; เฮ็บ. 6:20; 8:1) ดังนั้น คำพยากรณ์ชี้ไปยัง “พระอังกูร” ว่าเป็นมหาปุโรหิตและกษัตริย์ ณ เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าในสวรรค์ ขณะเดียวกับที่ประกาศว่าพระยะโฮวาทรงเป็นองค์บรมมหิศรเหนือสิ่งทั้งปวง “แลพระยะโฮวาจะเป็นกษัตริย์ครองทั่วทั้งแผ่นดิน. ในวันนั้นพระยะโฮวาจะเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว, แลพระนามของพระองค์แต่นามเดียว.”—ซคา. 14:9.
26. ซะคาระยากล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง “วัน” อันรุ่งโรจน์อะไร?
26 เมื่อกล่าวถึงเวลานั้น ท่านผู้พยากรณ์กล่าวซ้ำวลี “ในวันนั้น” ราว 20 ครั้ง และใช้วลีนี้ปิดท้ายคำพยากรณ์ของท่านอีกด้วย. การตรวจดูการปรากฏหลายแห่งของวลีนี้แสดงว่า วันนั้นเป็นวันที่พระยะโฮวาจะทรงลบชื่อของรูปเคารพและกำจัดผู้พยากรณ์เท็จ. (13:2, 4) นั่นเป็นวันที่พระยะโฮวาทรงทำสงครามกับชาติต่าง ๆ ที่ก้าวร้าวและทรงแพร่ความสับสนอลหม่านท่ามกลางเหล่านายทหารของพวกเขาขณะที่พระองค์ทรงกวาดล้างพวกเขาและจัดเตรียม “ช่องภูเขา” เป็นที่หลบภัยสำหรับไพร่พลของพระองค์. (14:1-5, 13; 12:8, 9) ถูกแล้ว “ในวันนั้นยะโฮวาพระเจ้าของเขาทั้งหลาย, พระองค์จะช่วยเขาทั้งหลาย, บรรดาพลไพร่ของพระองค์ให้รอดดุจฝูงแกะ” และพวกเขาจะร้องเรียกหากันจากใต้เถาองุ่นและต้นมะเดื่อเทศ. (ซคา. 9:16; 3:10; มีคา 4:4) นั่นเป็นวันอันรุ่งโรจน์เมื่อพระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายจะ “อยู่ในท่ามกลาง” ไพร่พลของพระองค์และเมื่อ “น้ำประกอบด้วยชีวิตไหลออกจากเมืองยะรูซาเลม.” ถ้อยคำเหล่านี้ของซะคาระยาระบุเหตุการณ์ “ในวันนั้น” ว่าเป็นสิ่งที่บอกล่วงหน้าถึง “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ในคำสัญญาเรื่องราชอาณาจักร.—ซคา. 2:11; 14:8; วิ. 21:1-3; 22:1, ล.ม.
27. คำพยากรณ์ของซะคาระยามุ่งความสนใจอย่างไรที่การทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์?
27 พระยะโฮวาตรัสถามว่า “ผู้ใดที่ดูหมิ่นวันแห่งการเล็กน้อย?” ดูเถิด! ความเจริญรุ่งเรืองจะครอบคลุมแผ่นดินโลกทั้งสิ้น: ‘ชนชาติทั้งหลายเป็นอันมากและบรรดาประชาชาติที่เข้มแข็งจะมาแสวงหาพระเจ้าจอมโยธาในเยรูซาเล็ม และสิบคนจากประชาชาติทุก ๆ ภาษาจะยึดชายเสื้อคลุมของยิวคนหนึ่งไว้แล้วกล่าวว่า “ขอให้เราไปกับท่านทั้งหลายเถิดเพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าทรงสถิตกับพวกท่าน.”’ “ในวันนั้น” แม้กระพรวนม้าก็จะมีข้อความว่า “ความบริสุทธิ์เป็นของพระยะโฮวา!” คำพยากรณ์ที่ทำให้หัวใจอบอุ่นเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะพิจารณา เพราะคำพยากรณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระนามพระยะโฮวาจะได้รับการทำให้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์อย่างแท้จริงโดยทางพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักรของพระองค์.—ซคา. 4:10; 8:22, 23, ฉบับแปลใหม่; 14:20, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 531, 1136.
b สารานุกรมจูไดกา (ภาษาอังกฤษ) 1973 เล่ม 4 คอลัมน์ 828; การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 1080-1081.