พระธรรมเล่มที่ 39—มาลาคี
ผู้เขียน: มาลาคี
สถานที่เขียน: ยะรูซาเลม
เขียนเสร็จ: หลังปี 443 ก.ส.ศ.
1. อะไรชี้ถึงความมีใจแรงกล้าที่มาลาคีมีต่อพระยะโฮวา?
มาลาคีเป็นใคร? ไม่มีบันทึกข้อมูลสักชิ้นเดียวเกี่ยวกับบรรพบุรุษหรือประวัติส่วนตัวของท่าน. อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดจากลักษณะคำพยากรณ์ของท่านว่า ท่านเป็นผู้ที่มีใจแรงกล้ายิ่งในความเลื่อมใสต่อพระยะโฮวาพระเจ้า, ในการเชิดชูพระนามของพระองค์และการนมัสการบริสุทธิ์, และท่านรู้สึกขุ่นเคืองอย่างมากต่อผู้ที่อ้างว่ารับใช้พระเจ้าแต่กลับรับใช้ตัวเองเท่านั้น. มีการออกพระนามของพระยะโฮวา 48 ครั้งในคำพยากรณ์ของท่านสี่บท.
2. ชื่อมาลาคีคงมีความหมายเช่นไร และดูเหมือนท่านมีชีวิตอยู่เมื่อไร?
2 ชื่อมาลาคีในภาษาฮีบรูคือ มาลอาคีʹ ซึ่งคงหมายถึง “ผู้ส่งข่าวของเรา.” พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู, ฉบับแปล เซปตัวจินต์, และลำดับเวลาของพระธรรมต่าง ๆ ล้วนแต่จัดให้มาลาคีเป็นคนสุดท้ายในบรรดาผู้ที่ถูกเรียกว่าผู้พยากรณ์น้อย 12 คน. ตามคำเล่าสืบปากของประชาคมยิว ท่านมีชีวิตอยู่หลังจากผู้พยากรณ์ฮาฆีและซะคาระยา และเป็นผู้อยู่ร่วมสมัยเดียวกับนะเฮมยา.
3. อะไรบ่งชี้ว่าคำพยากรณ์ของมาลาคีถูกเขียนขึ้นภายหลังปี 433 ก.ส.ศ.?
3 คำพยากรณ์นี้เขียนเมื่อไร? คำพยากรณ์นี้เขียนขึ้นระหว่างการบริหารงานของผู้ว่าราชการคนหนึ่ง ซึ่งตกในช่วงการฟื้นฟูยะรูซาเลมหลังจากความร้างเปล่าของยูดา 70 ปี. (มลคี. 1:8) แต่เป็นผู้ว่าราชการคนไหน? เนื่องจากมีกล่าวถึงงานรับใช้ในพระวิหาร แต่ไม่มีกล่าวถึงการสร้างพระวิหาร จึงต้องเป็นหลังจากสมัยของผู้ว่าราชการซะรูบาเบล ซึ่งพระวิหารได้แล้วเสร็จในช่วงเวลาที่ท่านอยู่ในตำแหน่ง. มีผู้ว่าราชการอีกคนเดียวเท่านั้นในช่วงเวลานี้ซึ่งมีกล่าวถึงในพระคัมภีร์ และท่านผู้นั้นคือนะเฮมยา. คำพยากรณ์นี้ตรงกับสมัยของนะเฮมยาไหม? ไม่มีกล่าวไว้ในพระธรรมมาลาคีเกี่ยวกับการสร้างกรุงยะรูซาเลมและกำแพงเมืองขึ้นใหม่ จึงไม่ใช่ในช่วงแรกแห่งการเป็นผู้ว่าราชการของนะเฮมยา. อย่างไรก็ตาม มีกล่าวไว้มากมายเกี่ยวกับการใช้ตำแหน่งปุโรหิตอย่างผิด ๆ ซึ่งเชื่อมโยงพระธรรมมาลาคีเข้ากับสถานการณ์ในตอนที่นะเฮมยามายังกรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งที่สองหลังจากที่ท่านถูกอาร์ทาเซอร์เซส (อาระธาสัศธา) เรียกตัวไปบาบูโลนในปี 443 ก.ส.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 32 แห่งรัชกาลของกษัตริย์องค์นี้. (มลคี. 2:1; นเฮม. 13:6) ข้อความบางตอนที่คล้ายคลึงกันในมาลาคีกับนะเฮมยาบ่งว่าคำพยากรณ์นี้หมายถึงช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง.—มลคี. 2:4-8, 11, 12—นเฮม. 13:11, 15, 23-26; มลคี. 3:8-10—นเฮม. 13:10-12.
4. อะไรพิสูจน์ว่าพระธรรมมาลาคีเชื่อถือได้และมีขึ้นโดยการดลใจ?
4 ชาวยิวยอมรับตลอดมาว่าพระธรรมมาลาคีเชื่อถือได้. การยกข้อความจากพระธรรมมาลาคีไปกล่าวในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก ซึ่งหลายตอนแสดงถึงความสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของท่าน พิสูจน์ว่าพระธรรมมาลาคีมีขึ้นโดยการดลใจและเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมคริสเตียน.—มลคี. 1:2, 3—โรม 9:13; มลคี. 3:1—มัด. 11:10 และลูกา 1:76 และ 7:27; มลคี. 4:5, 6—มัด. 11:14 และ 17:10-13; มโก. 9:11-13 และลูกา 1:17.
5. สภาพตกต่ำฝ่ายวิญญาณเช่นไรที่กระตุ้นให้มาลาคีพยากรณ์?
5 คำพยากรณ์ของมาลาคีบ่งชี้ว่า ความมีใจแรงกล้าและความกระตือรือร้นทางศาสนาที่ผู้พยากรณ์ฮาฆีและซะคาระยาได้ปลุกเร้าขึ้นในคราวการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่นั้นหมดไปแล้ว. พวกปุโรหิตกลายเป็นคนที่เลินเล่อ, หยิ่ง, และถือตัวว่าชอบธรรม. การรับใช้ในพระวิหารกลายเป็นเรื่องที่ถูกเยาะเย้ย. ส่วนสิบชักหนึ่งและเครื่องบูชาถูกเลิกไปเนื่องด้วยความรู้สึกที่ว่าพระเจ้าไม่สนพระทัยชาติยิศราเอล. ความหวังซึ่งรวมจุดอยู่ที่ซะรูบาเบลไม่ได้เป็นจริงและตรงกันข้ามกับความคาดหมายของบางคน พระมาซีฮาไม่ได้มา. สภาพฝ่ายวิญญาณของชาวยิวตกต่ำมาก. มีพื้นฐานอะไรไหมสำหรับการหนุนกำลังใจและความหวัง? ประชาชนจะได้รับการเตือนให้เห็นสภาพแท้จริงของตนและถูกปลุกให้กลับมาหาความชอบธรรมได้อย่างไร? คำพยากรณ์ของมาลาคีให้คำตอบ.
6. ลีลาการเขียนของมาลาคีเป็นอย่างไร?
6 ลีลาการเขียนของมาลาคีเป็นแบบตรงไปตรงมาและมีพลัง. แรกทีเดียวท่านกล่าวถึงข้อเสนอและต่อมาจึงตอบข้อค้านของคนที่ท่านกล่าวถึง. ในตอนท้าย ท่านยืนยันข้อเสนอข้อเดิมของท่านอีกครั้ง. ทั้งนี้จึงเสริมน้ำหนักและความชัดเจนแก่การหาเหตุผลของท่าน. แทนการมุ่งใช้สำนวนพูดแบบเลิศลอย ท่านใช้คำพูดแบบตรง ๆ, หนักแน่น, และในเชิงโต้แย้ง.
เนื้อเรื่องในมาลาคี
7. พระยะโฮวาทรงแสดงออกซึ่งความรักและความชังเช่นไร?
7 พระบัญชาของพระยะโฮวาสำหรับพวกปุโรหิต (1:1–2:17). แรกทีเดียว พระยะโฮวาทรงสำแดงความรักต่อไพร่พลของพระองค์. พระองค์ทรงรักยาโคบและทรงชังเอซาว. ปล่อยให้อะโดมพยายามสร้างสถานที่ที่รกร้างของพวกเขาไปเถอะ; พระยะโฮวาจะทรงรื้อมันทิ้งและที่เหล่านั้นจะถูกเรียกว่า “เขตแดนแห่งความชั่ว” ประชาชนถูกพระยะโฮวากล่าวโทษ ด้วยพระยะโฮวาจะ “ได้รับการยกย่องเหนือเขตแดนยิศราเอล.”—1:4, 5, ล.ม.
8. พวกปุโรหิตได้ทำให้โต๊ะของพระยะโฮวาเป็นมลทินอย่างไร และเหตุใดคำแช่งจึงจะมีมาเหนือพวกเขา?
8 บัดนี้ พระยะโฮวาตรัสโดยตรงถึง ‘ปุโรหิตผู้ดูหมิ่นพระนามของพระองค์.’ ขณะที่พวกเขาพยายามแก้ตัว พระยะโฮวาทรงชี้ไปยังเครื่องบูชาของพวกเขาซึ่งตาบอด, เป็นง่อย, และป่วยเป็นโรค และพระองค์ทรงถามต่อไปว่า เจ้าเมืองของพวกเขาจะยอมรับของถวายแบบนี้หรือ? พระยะโฮวาเองไม่พอพระทัยในเครื่องบูชาเหล่านั้น. พระนามของพระองค์จะต้องได้รับการยกย่องท่ามกลางชาติทั้งหลาย แต่คนเหล่านี้ดูหมิ่นพระองค์โดยกล่าวว่า “โต๊ะของยะโฮวาเป็นสิ่งมลทิน.” คำแช่งจะมีมาบนพวกเขาเพราะเขาเลี่ยงไม่ทำตามคำปฏิญาณของตนอย่างคดโกงโดยถวายเครื่องบูชาที่ไร้ค่า. “‘เพราะเราเป็นบรมมหากษัตริย์.’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาได้ตรัส ‘และนามของเราจะเป็นที่เกรงขามท่ามกลางนานาชาติ.’”—1:6, 12, 14, ล.ม.
9. พวกปุโรหิตทำผิดในเรื่องใด และพวกเขาได้ดูหมิ่นความบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาอย่างไร?
9 บัดนี้ พระยะโฮวามีพระบัญชาแก่พวกปุโรหิตโดยตรัสว่า ถ้าพวกเขาไม่ใส่ใจคำแนะนำนี้ พระองค์จะทรงส่งคำแช่งสาปมาเหนือพวกเขาและเหนือคำสรรเสริญของเขา. พระองค์จะสาดมูลของสัตว์ที่ถวายในเทศกาลต่าง ๆ ของพวกเขาลงบนหน้าเขาเนื่องจากเขาไม่ได้รักษาสัญญาไมตรีแห่งพวกเลวี. “ด้วยว่าริมฝีปากของปุโรหิตจะต้องสงวนไว้สำหรับความรู้, เพราะคนทั้งหลายจำต้องแสวงหาคำสอนจากปากของเขา; เนื่องด้วยเขาเป็นทูตของพระยะโฮวาจอมพลโยธา.” (2:7) มาลาคีสารภาพความบาปใหญ่หลวงของยิศราเอลและยูดา. พวกเขาหักหลังกันและดูหมิ่นความบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา พระบิดาและพระผู้สร้างของพวกเขา โดยรับบุตรสาวพระต่างชาติมาเป็นเจ้าสาว. พวกเขาได้ทำถึงขีดสุดด้วยการทำให้พระยะโฮวาทรงเบื่อหน่าย. พวกเขาถึงกับถามว่า “พระเจ้าแห่งความยุติธรรมอยู่ที่ไหน.”—2:17, ฉบับแปลใหม่.
10. องค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาที่พระวิหารของพระองค์เพื่องานพิพากษาอะไร?
10 องค์พระผู้เป็นเจ้าแท้และทูต (3:1-18). บัดนี้ คำพยากรณ์มาถึงจุดสุดยอดด้วยถ้อยคำของ “พระยะโฮวาแห่งพลโยธา” ดังนี้: “นี่แน่ะ! เราจะส่งทูตของเราไป และเขาต้องแผ้วถางทางสำหรับเรา. และโดยกะทันหัน องค์พระผู้เป็นเจ้าเที่ยงแท้จะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์ ผู้ซึ่งเจ้าทั้งหลายกำลังแสวงหา และทูตแห่งสัญญาไมตรีผู้ซึ่งเจ้าชื่นชอบนั้น. นี่แน่ะ! ท่านจะมาแน่.” (3:1, ล.ม.) ในฐานะผู้ถลุง พระองค์จะชำระลูกหลานของเลวีและจะรีบเป็นพยานต่อสู้คนชั่วที่ไม่กลัวเกรงพระองค์. พระยะโฮวาไม่ทรงเปลี่ยนแปลง และเพราะพวกเขาเป็นลูกหลานของยาโคบ พระองค์จะทรงกลับมาหาพวกเขาด้วยความเมตตาหากพวกเขากลับมาหาพระองค์.
11. บัดนี้พวกเขาควรทดลองพระเจ้าอย่างไร และจะมีพระพรอะไรตามมา?
11 พวกเขาได้ปล้นพระเจ้า แต่บัดนี้ให้พวกเขาทดลองพระองค์โดยนำส่วนสิบชักหนึ่งมาไว้ในคลังเพื่อจะมีอาหารในพระนิเวศของพระองค์ โดยเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงเทพรล้นเหลือของพระองค์จากบัญชรแห่งฟ้าสวรรค์. พวกเขาจะเป็นดินแดนแห่งความปีติยินดีที่ชาติทั้งปวงจะป่าวประกาศว่าเป็นสุข. ผู้ที่เกรงกลัวพระยะโฮวาพูดคุยกัน และพระยะโฮวาทรงเอาพระทัยใส่และทรงฟัง. “แล้วจึงมีหนังสือบันทึกความจำ, มีนามคนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา, และที่ได้ระลึกถึงพระนามของพระองค์นั้นบันทึกลงต่อพักตร์พระองค์.” (3:16) พวกเขาจะเป็นของพระยะโฮวาอย่างแน่นอนในวันที่พระองค์จะทรงทำให้มีทรัพย์สมบัติพิเศษของพระองค์.
12. มีการสัญญาอะไรเกี่ยวข้องกับวันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา?
12 วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา (4:1-6). นี่เป็นวันซึ่งจะกำจัดคนชั่วไม่ให้เหลือทั้งรากและกิ่ง. แต่ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรมจะส่องแสงไปยังผู้ที่เกรงกลัวพระนามของพระยะโฮวา และพวกเขาจะได้รับการรักษาให้หาย. พระยะโฮวาทรงเตือนสติพวกเขาให้ระลึกถึงกฎหมายของโมเซ. ก่อนวันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระองค์ พระยะโฮวาทรงสัญญาจะส่งเอลียาผู้พยากรณ์มา. “และเขาต้องทำให้หัวใจของพ่อหันไปหาลูก และหัวใจของลูกหันไปหาพ่อ; เพื่อเราจะไม่มาและตีแผ่นดินโลกจริง ๆ โดยมอบให้แก่ความพินาศ.”—4:6, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
13. มาลาคีพูดอะไรเกี่ยวกับ (ก) ความรักและความเมตตาของพระยะโฮวา? (ข) ความรับผิดชอบของผู้สอนพระคำของพระเจ้า? (ค) ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและหลักการของพระเจ้า?
13 พระธรรมมาลาคีช่วยให้เข้าใจหลักการที่ไม่เปลี่ยนแปลงและความรักที่เปี่ยมด้วยความเมตตาของพระยะโฮวาพระเจ้า. ในตอนต้น พระธรรมนี้เน้นความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระยะโฮวาทรงมีต่อ “ยาโคบ” ไพร่พลของพระองค์. พระองค์ทรงประกาศแก่ลูกหลานของยาโคบว่า “เรายะโฮวา, ไม่กลับกลอก.” แม้พวกเขาชั่วช้ามาก แต่พระองค์ก็ทรงพร้อมจะกลับไปหาไพร่พลของพระองค์หากพวกเขากลับมาหาพระองค์. ช่างเป็นพระเจ้าที่ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาจริง ๆ! (มลคี. 1:2; 3:6, 7; โรม 11:28; เอ็ก. 34:6, 7) โดยทางมาลาคี พระยะโฮวาทรงเน้นว่าริมฝีปากของปุโรหิต “จะต้องสงวนไว้สำหรับความรู้.” ทุกคนที่รับมอบหมายให้สอนพระคำของพระเจ้าควรเอาใจใส่เรื่องนี้ ทำให้แน่ใจว่าพวกเขาถ่ายทอดความรู้อันถ่องแท้. (มลคี. 2:7; ฟิลิป. 1:9-11; เทียบกับยาโกโบ 3:1.) พระยะโฮวาไม่ทรงยอมทนกับคนหน้าซื่อใจคด คือคนที่พยายามบอกว่า “ที่กระทำชั่วก็เป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวา.” ไม่ควรมีใครคิดว่าจะหลอกพระยะโฮวาได้ด้วยการแสร้งถวายเครื่องบูชาแด่พระบรมมหากษัตริย์องค์นี้. (มลคี. 2:17; 1:14; โกโล. 3:23, 24) พระยะโฮวาจะทรงเร่งรีบเป็นพยานต่อสู้ทุกคนที่ละเมิดกฎหมายและหลักการอันชอบธรรมของพระองค์; ไม่มีใครอาจคาดหมายว่าจะทำชั่วและรอดตัวไปได้. พระยะโฮวาจะทรงพิพากษาพวกเขา. (มลคี. 3:5; เฮ็บ. 10:30, 31) คนชอบธรรมจะมั่นใจเต็มที่ว่า พระยะโฮวาจะทรงระลึกถึงการกระทำของพวกเขาและทรงประทานบำเหน็จแก่พวกเขา. พวกเขาควรเอาใจใส่พระบัญญัติของโมเซเหมือนที่พระเยซูได้ทรงทำ เพราะในพระบัญญัตินั้นมีหลายสิ่งที่ได้สำเร็จเป็นจริงในพระองค์.—มลคี. 3:16; 4:4; ลูกา 24:44, 45.
14. (ก) มาลาคีชี้ไปยังอะไรโดยเฉพาะ? (ข) มาลาคี 3:1 สำเร็จเป็นจริงอย่างไรในศตวรรษแรก?
14 ในฐานะเป็นพระธรรมเล่มสุดท้ายในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ มาลาคีชี้ไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมาของพระมาซีฮา ซึ่งการปรากฏตัวของพระองค์ในอีกกว่าสี่ศตวรรษต่อมาทำให้มีเหตุผลสำหรับการเขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. ดังที่บันทึกในมาลาคี 3:1 (ล.ม.) พระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า “นี่แน่ะ! เราจะส่งทูตของเราไป และเขาต้องแผ้วถางทางสำหรับเรา.” ภายใต้การดลใจ ซะคาเรียผู้สูงอายุเผยให้เห็นว่าเรื่องนี้สำเร็จเป็นจริงในตัวบุตรชายของท่าน คือโยฮันผู้ให้บัพติสมา. (ลูกา 1:76) พระเยซูคริสต์ทรงยืนยันเรื่องนี้ โดยตรัสในเวลาเดียวกันว่า “ไม่มีใครเคยได้รับการตั้งขึ้นให้ใหญ่กว่าโยฮันผู้ให้บัพติสมา; แต่ผู้ที่ต่ำต้อยในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ก็ใหญ่กว่าท่านอีก.” ดังที่มาลาคีบอกล่วงหน้า โยฮันถูกส่งออกไปเพื่อ “จัดเตรียมหนทางไว้” ดังนั้น ท่านจึงไม่ได้อยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นซึ่งต่อมาพระเยซูได้ทำสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักร.—มัด. 11:7-12, ล.ม.; ลูกา 7:27, 28; 22:28-30.
15. ใครเป็น “เอลียา” ตามคำพยากรณ์ของมาลาคี?
15 ต่อมา ที่มาลาคี 4:5, 6 (ล.ม.) พระยะโฮวาทรงสัญญาว่า “นี่แน่ะ! เราจะส่งเอลียาผู้พยากรณ์ไปหาเจ้าทั้งหลาย.” “เอลียา” ผู้นี้คือใคร? ทั้งพระเยซูและทูตสวรรค์ซึ่งปรากฏแก่ซะคาเรียต่างก็ใช้ถ้อยคำนี้หมายถึงโยฮันผู้ให้บัพติสมา โดยเผยให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่ “จัดเตรียมสิ่งสารพัตรไว้ให้ดีขึ้น” และ “เตรียมชนชาติหนึ่งให้พร้อมสำหรับพระยะโฮวา” เพื่อต้อนรับพระมาซีฮา. อย่างไรก็ตาม มาลาคีกล่าวอีกด้วยว่า “เอลียา” นั้นเป็นผู้ที่มาก่อน “วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา” ด้วยเหตุนี้ จึงชี้ถึงความสำเร็จเป็นจริงที่ยังอยู่ในอนาคตในวันพิพากษา.—มัด. 17:11; ลูกา 1:17, ล.ม.; มัด. 11:14; มโก. 9:12.
16. มาลาคีชี้ไปยังสมัยใดที่ได้รับพระพร และท่านให้การหนุนใจที่อบอุ่นอะไร?
16 เมื่อคอยท่าวันนั้น พระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า “ตั้งแต่ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นถึงที่ดวงอาทิตย์ตกนามของเราก็ใหญ่ยิ่งท่ามกลางประชาชาติทั้งหลาย . . . เพราะเราเป็นพระมหากษัตริย์และนามของเราเป็นที่กลัวเกรงท่ามกลางประชาชาติทั้งหลาย.” ช่างน่าเกรงขามจริง ๆ! เพราะ ‘วันนั้นจะเผาไหม้เหมือนเตา และบรรดาผู้ที่ทำเกินสิทธิ์และบรรดาคนชั่วจะกลายเป็นเหมือนตอข้าว.’ กระนั้น ผู้ที่ยำเกรงพระนามของพระยะโฮวาก็เป็นสุข เพราะสำหรับพวกเขา “ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรมจะส่องแสง พร้อมกับปีกที่ให้การรักษา.” ข้อนี้มุ่งไปที่สมัยแห่งความสุขเมื่อครอบครัวมนุษย์ที่เชื่อฟังจะได้รับการรักษาให้หายอย่างสมบูรณ์ทั้งฝ่ายวิญญาณ, ทางอารมณ์, ทางจิตใจ, และทางกาย. (วิ. 21:3, 4) ขณะที่ชี้ไปยังสมัยที่รุ่งโรจน์และได้รับพระพร มาลาคีหนุนใจเราให้นำของถวายของเราเข้ามาในพระนิเวศของพระยะโฮวาด้วยความเต็มใจดังนี้: “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า, . . . ‘จงมาลองดูเราในเรื่องนี้, ดูทีหรือว่า, เราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่.’”—มลคี. 1:11, 14, ฉบับแปลใหม่; 4:1, 2, ล.ม.; 3:10.
17. การบอกให้มองในแง่ดีอะไรที่ลดความรุนแรงของคำเตือนของมาลาคี?
17 ขณะที่เตือนต่อไปถึงเรื่อง ‘การมอบแผ่นดินโลกให้แก่ความพินาศ’ พระธรรมแห่งหมวดผู้พยากรณ์เล่มสุดท้ายนี้บอกให้มองในแง่ดีและมีความปีติยินดีซึ่งประสานกับคำตรัสที่พระยะโฮวาทรงมีแก่ไพร่พลของพระองค์ที่ว่า “บรรดาประเทศทั้งปวงจะพากันเรียกเจ้าว่าคนมีสุข, ด้วยว่าเมืองเจ้าจะเป็นเมืองที่น่าพึงใจจะอยู่.”—4:6, ล.ม.; 3:12.