การปลอบประโลมผู้ที่ “ใจชอกช้ำ”
ทุกวันนี้ โลกของซาตานมาถึงขั้นที่ “ปราศจากความสำนึกด้านศีลธรรม.” (เอเฟโซ 4:19, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19) การเล่นชู้และการผิดประเวณีแพร่ระบาด. ในหลายประเทศ การสมรสร้อยละ 50 หรือมากกว่านี้ จบลงด้วยการหย่าร้าง. การรักร่วมเพศเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง. ความรุนแรงทางเพศ เช่น การข่มขืน เป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ. สื่อลามกเป็นอุตสาหกรรมหมื่นล้าน.—โรม 1:26, 27.
ในบรรดาสิ่งวิปริตเสื่อมทรามที่ชั่วร้ายที่สุดก็คือการทำผิดทางเพศต่อเด็ก ๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่. เช่นเดียวกับสติปัญญาแห่งโลกของซาตาน การทำผิดทางเพศต่อเด็กเป็นอย่าง “เดียรัจฉาน, อย่างผีปิศาจ.” (ยาโกโบ 3:15, ล.ม.) วารสารไทม์ กล่าวว่า ในสหรัฐแห่งเดียว มีรายงานเรื่องการทำผิดทางเพศที่พิสูจน์ยืนยันได้มากกว่า 400,000 รายถูกส่งให้เจ้าหน้าที่ทุกปีจากพวกแพทย์และครูอาจารย์. เมื่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการทำผิดเช่นนี้โตเป็นผู้ใหญ่ หลายคนยังคงมีรอยแผลใจอันแสนปวดร้าว และเป็นรอยแผลจริง ๆ! คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “จิตใจ [แนวโน้มทางใจ, ความรู้สึกนึกคิดภายใน] ของคนจะทนต่อความเจ็บป่วยได้ แต่จิตใจที่ชอกช้ำใครจะทนได้เล่า?”—สุภาษิต 18:14, ฉบับแปลใหม่.
ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าดึงดูดใจผู้คนทุกชนิด ซึ่งรวมทั้ง “หัวใจที่ชอกช้ำ” และผู้ที่มี “ใจห่อเหี่ยว.” (ยะซายา 61:1-4, ล.ม.) ไม่น่าประหลาดใจที่หลายคนซึ่งปวดร้าวทางอารมณ์ตอบรับคำเชิญที่ว่า “ให้คนใด ๆ ที่กระหายมาเถิด; ให้คนใด ๆ ที่ปรารถนามารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.” (วิวรณ์ 22:17, ล.ม.) ประชาคมคริสเตียนสามารถเป็นสถานที่ให้การปลอบประโลมแก่คนเหล่านี้ได้. พวกเขาปีติยินดีที่ได้รู้ว่า ความทุกข์จะเป็นเรื่องของอดีตในอีกไม่ช้า. (ยะซายา 65:17) แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น พวกเขาจำเป็นจะต้องได้รับ ‘การปลอบใจ’ และการ ‘ทำแผล.’ เปาโลแนะนำอย่างเหมาะสมให้ “พูดปลอบโยนผู้ที่หดหู่ใจ เกื้อหนุนคนที่อ่อนแอ อดกลั้นทนนานต่อคนทั้งปวง.”—1 เธซะโลนิเก 5:14.
“ความทรงจำที่ถูกกดไว้ในจิตใต้สำนึก”
ไม่กี่ปีมานี้ บางคนถูกทำให้ “ใจชอกช้ำ” ด้วยสาเหตุที่คนอื่น ๆ เห็นว่ายากจะเข้าใจ. พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ซึ่ง โดยอาศัยสิ่งที่มีการบอกไว้ว่าเป็น “ความทรงจำที่ถูกกดไว้ในจิตใต้สำนึก” บอกว่าพวกเขาถูกทำผิดทางเพศเมื่อเป็นเด็ก.a บางคนไม่ได้คิดว่าตนเคยถูกทำร้ายจนกระทั่งภาพฝังใจและ “ความทรงจำ” เกี่ยวกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง (หรือหลายคน) ที่ทำผิดต่อเขาในตอนเป็นเด็กนั้นผุดขึ้นมา. มีใครบ้างไหมในประชาคมคริสเตียนที่ถูกความคิดเช่นนั้นรบกวน? มี ในบางประเทศ และผู้อุทิศตัวแล้วเหล่านั้นอาจรู้สึกเป็นทุกข์, โกรธ, รู้สึกผิด, ละอาย, หรืออ้างว้างมาก. เหมือนดาวิด พวกเขาอาจรู้สึกถูกแยกห่างจากพระเจ้าและร้องออกมาว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ทำไมพระองค์จึงทรงยืนอยู่ห่างไกล? ทำไมจึงทรงซ่อนพระองค์เสียในเมื่อเกิดความทุกข์ยาก?”—บทเพลงสรรเสริญ 10:1.
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตไม่ค่อยเข้าใจหลายด้านของ “ความทรงจำ” เหล่านี้. กระนั้น “ความทรงจำ” เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบสภาพฝ่ายวิญญาณของคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วได้. ดังนั้น เราจึงหมายพึ่งพระคำของพระเจ้าด้วยความมั่นใจเพื่อได้รับการชี้แนะในการรับมือกับ “ความทรงจำ” เหล่านั้น. คัมภีร์ไบเบิลให้ “ความเข้าใจในสิ่งสารพัตร.” (2 ติโมเธียว 2:7; 3:16) นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลยังช่วยทุกคนที่เกี่ยวข้องให้มีความเชื่อในพระยะโฮวา “พระบิดาผู้ทรงความเมตตาและพระเจ้าผู้ทรงชูใจทุกอย่าง, พระองค์ผู้ทรงโปรดให้เราได้รับความชูใจในการทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา.”—2 โกรินโธ 1:3, 4.
มีการทำผิดทางเพศเกิดขึ้นจริงหรือ?
ในโลกนี้มีการถกเถียงกันมากมายในเรื่องที่ว่า “ความทรงจำ” เหล่านี้คืออะไรและ “ความทรงจำ” เหล่านี้แสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงถึงขีดไหน. พยานพระยะโฮวาไม่เป็น “ส่วนของโลก” และไม่เข้าส่วนในการถกเถียงนั้น. (โยฮัน 17:16) ตามรายงานข่าว บางครั้ง “ความทรงจำ” นั้นมีการพิสูจน์ว่าถูกต้อง. ตัวอย่างเช่น หลังจากพนักงานวินิจฉัยประกันภัย แฟรงก์ ฟิตซ์แพทริก “นึกออก” ว่าถูกทำผิดทางเพศโดยบาทหลวงคนหนึ่ง คนอื่นอีกเกือบหนึ่งร้อยคนได้ลุกขึ้นมาอ้างว่า พวกเขาก็เคยถูกบาทหลวงคนเดียวกันทำผิดทางเพศเช่นกัน. ตามรายงานข่าว บาทหลวงคนนั้นยอมรับว่าทำผิด.
กระนั้นก็ตาม เป็นที่น่าสนใจที่ผู้คนจำนวนมากไม่อาจยืนยัน “ความทรงจำ” ของตนได้. บางคนที่เป็นทุกข์ใจอย่างนี้เคยนึกออกชัดเจนเกี่ยวกับคนที่ทำผิดหรือการทำความผิดนั้นในสถานที่หนึ่งโดยเฉพาะ. แต่ต่อมา หลักฐานในทางตรงข้ามที่เชื่อถือได้ทำให้ชัดแจ้งว่ารายละเอียด “ที่นึกออก” เหล่านั้นไม่อาจเป็นความจริง.
การให้ความคุ้มครอง
กระนั้น จะให้การปลอบประโลมแก่ผู้ที่ “ใจชอกช้ำ” เพราะ “ความทรงจำ” เช่นนั้นได้อย่างไร? ขอระลึกถึงอุปมาของพระเยซูเรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย. ชายคนหนึ่งถูกโจรจู่โจม, ทุบตี, และปลดทรัพย์. เมื่อชาวซะมาเรียมาพบ เขารู้สึกสงสารชายที่บาดเจ็บ. เขาทำเช่นไร? เขามัวแต่ฟังรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับการทุบตีทำร้ายนั้นไหม? หรือว่าชาวซะมาเรียรับฟังรายละเอียดเกี่ยวกับโจรและไล่ตามไปทันที? เปล่า. ชายนั้นบาดเจ็บ! ดังนั้น ชาวซะมาเรียทำแผลให้เขาอย่างนุ่มนวลและด้วยความรักจึงพาเขาไปยังที่ปลอดภัยในโรงแรมในละแวกใกล้เคียงเพื่อเขาจะฟื้นตัวได้.—ลูกา 10:30-37.
จริงอยู่ มีความแตกต่างระหว่างบาดแผลทางกายกับ “ใจชอกช้ำ” อันเนื่องมาจากการถูกทำผิดทางเพศจริง ๆ ในวัยเด็ก. แต่ทั้งสองอย่างก็ก่อความทุกข์มาก. ฉะนั้น สิ่งที่ชาวซะมาเรียได้ทำต่อชาวยิวที่บาดเจ็บนั้นแสดงถึงสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเพื่อนคริสเตียนที่ประสบความทุกข์. อันดับแรกที่สุดคือให้การปลอบใจด้วยความรักและช่วยเขาฟื้นตัว.
พญามารทำร้ายโยบผู้ซื่อสัตย์ ดูเหมือนมันมั่นใจว่า ไม่ว่าความเจ็บปวดทางอารมณ์หรือทางร่างกายคงจะทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของท่าน. (โยบ 1:11; 2:5) บ่อยครั้งนับแต่นั้นมา ซาตานพยายามใช้ความทุกข์ลำบาก ไม่ว่ามันจะก่อเองโดยตรงหรือไม่ เพื่อทำให้ความเชื่อของผู้รับใช้ของพระเจ้าอ่อนลง. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 12:7-9.) เราอาจนึกสงสัยไหมว่า ตอนนี้พญามารใช้การทำร้ายเด็กทางเพศและ “จิตใจห่อเหี่ยว” ของผู้ใหญ่หลายคนซึ่งเคยถูกทำเช่นนั้น (หรือทุกข์ใจด้วย “ความทรงจำ” จากการถูกทำเช่นนั้น) เพื่อทำให้ความเชื่อของคริสเตียนอ่อนลง? เช่นเดียวกับพระเยซูในคราวที่ถูกซาตานโจมตี คริสเตียนที่ได้รับความเจ็บปวดแต่ก็เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ไม่ยอมละทิ้งความซื่อสัตย์มั่นคงของตนนั้นกำลังกล่าวว่า “อ้ายซาตาน! จงไปเสียให้พ้น!”—มัดธาย 4:10.
จงเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณเสมอ
“ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้จัดพิมพ์ความรู้เพื่อให้ช่วยรับมือกับความบาดเจ็บฝ่ายวิญญาณและทางอารมณ์ซึ่งเกิดจากการถูกทำผิดทางเพศในวัยเด็ก. (มัดธาย 24:45-47) ประสบการณ์เผยให้เห็นว่า ผู้ทนทุกข์ได้รับความช่วยเหลือหากเขาสามารถพึ่ง ‘พลังจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและในพลานุภาพแห่งฤทธิ์เดชของพระองค์’ ด้วยการสวม “ยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า.” (เอเฟโซ 6:10-17) ยุทธภัณฑ์นี้รวมทั้ง “ความจริง” ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเปิดโปงซาตานว่าเป็นศัตรูตัวเอ้และขับไล่ความมืดซึ่งมันกับผู้สนับสนุนของมันทำงานอยู่. (โยฮัน 3:19) แล้วก็มี “ความชอบธรรมเป็นเครื่องทับทรวงป้องกันอก.” ผู้ถูกทำร้ายควรพยายามยึดกับมาตรฐานอันชอบธรรม. ยกตัวอย่าง บางคนมีพลังกระตุ้นใจที่แรงให้ทำอันตรายตนเองหรือให้ทำผิดศีลธรรม. ทุกครั้งที่เขาต้านแรงกระตุ้นเหล่านั้น เขาได้ชัยชนะ!
นอกจากนี้ ยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณยังรวมถึง “กิตติคุณแห่งสันติสุข.” การพูดคุยกับคนอื่นถึงเรื่องพระประสงค์ของพระยะโฮวาเสริมกำลังผู้ที่พูดอีกทั้งคนใดก็ตามที่ฟังด้วย. (1 ติโมเธียว 4:16) ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มี “ใจชอกช้ำ” ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่คุณจะพูดเรื่องข่าวดี จงพยายามไปกับคริสเตียนคนอื่นเมื่อเขาหรือเธอทำงานอันสำคัญยิ่งนี้. และอย่าลืม “เอาความเชื่อเป็นโล่.” จงมีความเชื่อว่า พระยะโฮวาทรงรักคุณและเชื่อว่าพระองค์จะทรงคืนทุกสิ่งที่คุณสูญเสียไปให้คุณ. จงเชื่อโดยไม่สงสัยว่า พระเยซูก็ทรงรักคุณเช่นกัน และพระองค์ทรงพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยการสิ้นพระชนม์เพื่อคุณ. (โยฮัน 3:16) ซาตานอ้างอย่างผิด ๆ เสมอมาว่า พระยะโฮวาไม่ทรงเอาพระทัยใส่ผู้รับใช้ของพระองค์. นั่นเป็นเพียงคำโกหกอันต่ำช้าและร้ายกาจอีกอย่างหนึ่งของมัน.—โยฮัน 8:44; เทียบกับโยบ 4:15-18.
หากความปวดร้าวใจทำให้ยากจะเชื่อว่า พระยะโฮวาทรงห่วงใยคุณ การคบหากับคนอื่น ๆ ที่เชื่อมั่นคงว่าพระองค์ทรงห่วงใยจริง ๆ คงช่วยได้. (บทเพลงสรรเสริญ 119:107, 111; สุภาษิต 18:1; เฮ็บราย 10:23-25) อย่ายอมให้ซาตานชิงเอารางวัลแห่งชีวิตของคุณไป. อย่าลืมว่า “ความรอดเป็นเครื่องป้องกันศีรษะ” เป็นส่วนหนึ่งของยุทธภัณฑ์ “พระแสงของพระวิญญาณ” ก็เช่นกัน. คัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นด้วยการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งซาตานไม่อาจเอาชนะได้. (2 ติโมเธียว 3:16; เฮ็บราย 4:12) ถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้การเยียวยาสามารถบรรเทาความเจ็บปวดทางอารมณ์ได้.—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 107:20; 2 โกรินโธ 10:4, 5.
ประการสุดท้าย จงอธิษฐานเสมอเพื่อขอกำลังให้เพียรอดทน. (โรม 12:12; เอเฟโซ 6:18) การอธิษฐานอย่างจริงใจค้ำจุนพระเยซูให้ผ่านความเจ็บปวดรุนแรงทางอารมณ์ และการอธิษฐานจะช่วยคุณได้เช่นกัน. (ลูกา 22:41-43) ยากไหมที่คุณจะอธิษฐาน? จงขอคนอื่นให้อธิษฐานกับคุณและเพื่อคุณ. (โกโลซาย 1:3; ยาโกโบ 5:14) พระวิญญาณบริสุทธิ์จะสนับสนุนการอธิษฐานของคุณ. (เทียบกับโรม 8:26, 27.) เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยที่ก่อความเจ็บปวดทางกาย บางคนที่มีบาดแผลลึกทางอารมณ์อาจไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดในระบบนี้. แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เราสามารถอดทนได้ และความเพียรอดทนย่อมมีชัย ดังในกรณีของพระเยซู. (โยฮัน 16:33) “จงวางใจในพระองค์เสมอทุกเวลา; จงพากันรีบตั้งจิตต์ใจทูลเฉพาะพระองค์เถิด: ด้วยพระเจ้าเป็นที่พึ่งพำนักของพวกเรา.”—บทเพลงสรรเสริญ 62:8.
จะว่าอย่างไรในเรื่องผู้ถูกกล่าวหาว่าทำผิด?
จริง ๆ แล้ว บุคคลที่ทำผิดทางเพศต่อเด็กคือผู้ข่มขืนและควรถูกถือว่าเป็นเช่นนั้น. ใครก็ตามตกเป็นเหยื่อการกระทำเช่นว่านี้มีสิทธิจะฟ้องผู้ทำผิดต่อเขา. กระนั้น ก็ไม่ควรด่วนฟ้องหากอาศัยแค่ “ความทรงจำที่ถูกกดไว้ในจิตใต้สำนึก” ในเรื่องการทำผิด. ในกรณีนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือรอให้ผู้ถูกกระทำความผิดฟื้นสู่เสถียรภาพทางอารมณ์ถึงระดับหนึ่งก่อน. หลังจากช่วงเวลาหนึ่ง เขาอาจอยู่ในฐานะดีขึ้นเพื่อประเมิน “ความทรงจำ” นั้นและตัดสินใจว่าเขาจะทำเช่นไรในเรื่องนั้น.
ขอพิจารณากรณีของดอนนา. ตามรายงานข่าว เธอมีอาการผิดปกติในการกินและเธอไปหาที่ปรึกษาคนหนึ่ง—ดูเหมือนเป็นผู้ที่ความสามารถน่าสงสัย. ไม่นานเธอก็ฟ้องคุณพ่อด้วยข้อหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับเธอและเขาถูกนำตัวไปขึ้นศาล. คณะลูกขุนไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้น คุณพ่อจึงไม่ถูกจำคุก แต่เขาต้องออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 2,500,000 บาท. ครั้นแล้ว หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมด ดอนนาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า เธอไม่เชื่ออีกแล้วว่า การทำผิดนั้นได้เกิดขึ้น!
ซะโลโมกล่าวอย่างสุขุมดังนี้: “อย่าด่วนไปดำเนินคดี.” (สุภาษิต 25:8, ล.ม.) หากมีเหตุผลพอฟังขึ้นที่จะสงสัยว่า ผู้ทำผิดยังคงทำผิดทางเพศต่อเด็ก ก็อาจต้องให้คำเตือน. ผู้ปกครองในประชาคมสามารถช่วยได้ในกรณีเช่นนี้. มิฉะนั้นก็อย่ารีบร้อน. ในที่สุด คุณอาจพอใจจะปล่อยเรื่องนั้นให้เงียบหายไป. แต่ถ้าคุณต้องการเผชิญผู้ต้องสงสัยว่าทำผิด (หลังจากประเมินดูก่อนแล้วว่า คุณจะรู้สึกอย่างไรต่อปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นได้) คุณก็มีสิทธิจะทำเช่นนั้น.
ระหว่างช่วงเวลาที่ผู้ได้รับผลจาก “ความทรงจำ” นั้นกำลังหาย สภาพการณ์ที่น่าอึดอัดใจอาจเกิดขึ้น. ยกตัวอย่าง คนหนึ่งอาจมีจินตภาพที่ชัดเจนในเรื่องการถูกทำผิดทางเพศโดยใครสักคนที่เขาหรือเธอพบปะอยู่ทุกวัน. จึงไม่อาจวางกฎใด ๆ ได้เพื่อจัดการเรื่องนี้. “แต่ละคนจะแบกภาระของตนเอง.” (ฆะลาเตีย 6:5, ล.ม.) บางครั้งคนเราอาจรู้สึกว่า ญาติหรือสมาชิกในครอบครัวของตนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. อย่าลืมลักษณะที่น่าสงสัยของ “ความทรงจำที่ถูกกดไว้ในจิตใต้สำนึก” เมื่อคิดถึงการระบุตัวผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทำผิด. ในสภาพการณ์เช่นนั้น ตราบที่เรื่องราวไม่ได้พิสูจน์แน่นอน การติดต่อกับครอบครัวเสมอ—อย่างน้อยด้วยการไปเยี่ยมเป็นบางครั้ง, เขียนจดหมาย, หรือโดยทางโทรศัพท์—จะแสดงว่าเขากำลังพยายามทำตามแนวทางในพระคัมภีร์.—เทียบกับเอเฟโซ 6:1-3.
ผู้ปกครองจะทำอะไรได้บ้าง?
หากมีสมาชิกในประชาคมซึ่งกำลังประสบภาพที่ผุดขึ้นมาหรือ “ความทรงจำที่ถูกกดไว้ในจิตใต้สำนึก” ในเรื่องการถูกทำผิดทางเพศในวัยเด็กมาพบพวกผู้ปกครอง มักมีการมอบหมายผู้ปกครองสองคนให้ความช่วยเหลือ. ผู้ปกครองเหล่านั้นควรหนุนกำลังใจผู้เป็นทุกข์ด้วยความกรุณาให้มุ่งสนใจที่การรับมือกับความทุกข์ทางอารมณ์ในระหว่างนั้น. ชื่อของผู้ทำผิดคนใดก็ตามที่ถูก “นึกออก” ควรเก็บไว้เป็นเรื่องลับเฉพาะอย่างเข้มงวด.
งานสำคัญอันดับแรกของพวกผู้ปกครองคือการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บำรุงเลี้ยง. (ยะซายา 32:1, 2; 1 เปโตร 5:2, 3) พวกเขาพึงเอาใจใส่เป็นพิเศษที่จะ “สวมตัว . . . ด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนแห่งความเมตตา, ความกรุณา, ใจถ่อม, ความอ่อนโยน, และความอดกลั้นไว้นาน.” (โกโลซาย 3:12, ล.ม.) ให้เขารับฟังด้วยท่าทีที่กรุณาแล้วจึงให้ถ้อยคำที่ให้การเยียวยาจากพระคัมภีร์. (สุภาษิต 12:18) บางคนที่ทุกข์ใจเนื่องด้วย “ความทรงจำ” ที่ก่อความเจ็บปวดได้แสดงความขอบคุณพวกผู้ปกครองที่ไปเยี่ยมเป็นประจำหรือแม้แต่โทรศัพท์ไปหาเพื่อสอบถามว่าพวกเขาเป็นอย่างไร. การติดต่อเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก แต่การกระทำเช่นนั้นแสดงถึงการเอาใจใส่จากองค์การของพระยะโฮวา. เมื่อผู้ทุกข์ใจตระหนักว่า พี่น้องคริสเตียนของตนรักตนอย่างแท้จริง เขาก็อาจได้รับการช่วยเหลือให้ฟื้นความสมดุลทางอารมณ์ได้มากทีเดียว.
ถ้าผู้ทนทุกข์ตัดสินใจจะฟ้องร้องล่ะจะว่าอย่างไร?b ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ปกครองสองคนสามารถแนะนำเขาว่า ประสานกับหลักการในมัดธาย 18:15 เขาควรเข้าพบผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องนั้นด้วยตนเอง. ถ้าผู้กล่าวหาไม่มีความสามารถทางอารมณ์จะทำเช่นนี้ได้ด้วยการเผชิญหน้ากันโดยตรง ก็อาจทำได้โดยทางโทรศัพท์หรืออาจด้วยการเขียนจดหมาย. ด้วยวิธีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้รับโอกาสจะแถลงอย่างเปิดเผยเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาด้วยคำตอบโต้ข้อกล่าวหานั้น. เขาอาจทำได้แม้แต่เสนอหลักฐานว่า เป็นไปไม่ได้ที่เขาทำความผิดนั้น. หรืออาจเป็นได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะสารภาพและอาจบรรลุถึงการประนีประนอมกันได้. ถ้าเช่นนั้นก็คงจะเป็นผลดีจริง ๆ! ถ้ามีการสารภาพ ผู้ปกครองสองคนนั้นก็สามารถจัดการเรื่องราวต่อไปได้อย่างที่ประสานกับหลักการในพระคัมภีร์.
ถ้ามีการปฏิเสธข้อกล่าวหา ผู้ปกครองควรชี้แจงให้ผู้กล่าวหาทราบว่า ไม่อาจทำอะไรได้มากกว่านี้ด้วยวิธีตัดสินความ. และประชาคมจะถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า จะต้องมีพยานสองหรือสามคนก่อนจะดำเนินการตัดสินความ. (2 โกรินโธ 13:1; 1 ติโมเธียว 5:19) ถึงแม้มีมากกว่าหนึ่งคน “นึกออก” ถึงการทำผิดโดยบุคคลเดียวกันก็ตาม ลักษณะของการระลึกได้เช่นนี้เป็นการไม่แน่ชัดเกินกว่าจะตัดสินความโดยอาศัยสิ่งเหล่านี้โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน. ทั้งนี้ไม่หมายความว่า “ความทรงจำ” เช่นนั้นจะถูกถือว่าผิด (หรือถือว่าเป็นความจริง). แต่จะต้องทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลในการตัดสินความ.
จะว่าอย่างไรถ้าผู้ถูกกล่าวหาผิดจริง ๆ—ถึงแม้เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิด—เขา “พ้นโทษ” ไหม? ไม่อย่างแน่นอน! ปัญหาในเรื่องที่ว่าเขาผิดหรือไม่ผิดนั้นอาจละไว้อย่างวางใจได้ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา. “การทำบาปของบางคนก็ปรากฏชัด ส่งเขาตรงไปสู่การพิพากษา แต่การทำบาปของผู้อื่นปรากฏภายหลัง.” (1 ติโมเธียว 5:24, ฉบับแปลใหม่; โรม 12:19; 14:12) พระธรรมสุภาษิตกล่าวว่า “ความหวังใจของคนชอบธรรมจะเป็นที่ให้ปีติยินดี แต่ความมุ่งหวังของคนชั่วจะพินาศไป.” “เมื่อคนชั่วตายแล้ว, ความมุ่งหวังของเขาจะตายไปด้วย.” (สุภาษิต 10:28; 11:7) ในที่สุด พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์ทรงตัดสินการพิพากษาชั่วนิรันดร์ด้วยความยุติธรรม.—1 โกรินโธ 4:5.
การต่อต้านพญามาร
เมื่อคนที่อุทิศตัวแล้วเพียรอดทนแม้ต้องเผชิญความเจ็บปวดใหญ่หลวงทางกายหรือทางอารมณ์ นั่นเป็นหลักฐานชัดเจนเพียงไรว่า พวกเขามีความเข้มแข็งอยู่ภายในและมีความรักต่อพระเจ้า! และก็เป็นพยานหลักฐานหนักแน่นจริงถึงพลังแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาที่ค้ำจุนพวกเขาไว้!—เทียบกับ 2 โกรินโธ 4:7.
ถ้อยคำของเปโตรเหมาะกับคนเหล่านั้น ที่ว่า “จงยืนหยัดต่อต้าน [ซาตาน] มั่นคงในความเชื่อ.” (1 เปโตร 5:9, ล.ม.) การทำเช่นนั้นอาจไม่ง่าย. บางครั้ง อาจไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยซ้ำที่จะคิดให้กระจ่างชัดและอย่างมีเหตุผล. แต่จงกล้าหาญเถิด! ในไม่ช้า พญามารกับปฏิบัติการอันมีเล่ห์เหลี่ยมของมันจะสูญสิ้น. จริงทีเดียว เราเฝ้าคอยเวลานั้น เมื่อ “พระเจ้าเอง . . . จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.”—วิวรณ์ 21:3, 4, ล.ม.
[Footnotes]
a “ความทรงจำที่ถูกกดไว้ในจิตใต้สำนึก” และคำที่คล้ายกันอยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศเพื่อแยกต่างหากจากความทรงจำทั่วไปซึ่งเราทุกคนมี.
b นอกจากนั้น อาจจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ชี้แจงไว้ในวรรคนี้หากเรื่องราวเป็นที่รู้ทั่วกันในประชาคม.