จงน้อมใจของท่านเพื่อการสังเกตเข้าใจ
“พระยะโฮวาพระราชทานปัญญาความรู้และความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.] ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—สุภาษิต 2:6.
1. เราสามารถน้อมใจเราเพื่อการสังเกตเข้าใจได้อย่างไร?
พระยะโฮวาทรงเป็นพระบรมครูของเรา. (ยะซายา 30:20, 21, ล.ม.) แต่เราต้องทำอะไรเพื่อรับประโยชน์จาก “ความรู้ของพระเจ้า” ที่มีเปิดเผยในพระคำของพระองค์? ส่วนหนึ่งนั้น เราต้อง ‘น้อมใจของเราเพื่อการสังเกตเข้าใจ’—มีความปรารถนาจากหัวใจเพื่อจะมีและแสดงคุณลักษณะนี้. เพื่อจะทำได้เช่นนั้น เราต้องหมายพึ่งพระเจ้า เพราะบุรุษผู้ฉลาดสุขุมกล่าวไว้ดังนี้: “พระยะโฮวาพระราชทานปัญญาความรู้และความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.] ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.” (สุภาษิต 2:1-6) ความรู้, สติปัญญา, และการสังเกตเข้าใจคืออะไร?
2. (ก) ความรู้คืออะไร? (ข) คุณจะนิยามสติปัญญาอย่างไร? (ค) การสังเกตเข้าใจคืออะไร?
2 ความรู้ คือการรู้จักคุ้นเคยกับข้อเท็จจริงที่ได้จากประสบการณ์, การสังเกต, หรือการศึกษา. สติปัญญา คือความสามารถในการนำเอาความรู้มาใช้. (มัดธาย 11:19) กษัตริย์ซะโลโมแสดงสติปัญญาเมื่อมีหญิงสองคนอ้างสิทธิในตัวเด็กคนเดียวกัน และท่านใช้ความรู้ในข้อที่ว่า ผู้เป็นมารดาย่อมยอมสละทุกสิ่งเพื่อลูกของตน จัดการข้อพิพาทได้. (1 กษัตริย์ 3:16-28) การสังเกตเข้าใจ คือ “ความเฉียบคมแห่งการตัดสิน.” คุณลักษณะนี้เป็น “อำนาจหรือความสามารถแห่งจิตใจซึ่งใช้ในการแยกแยะสิ่งหนึ่งออกจากอีกสิ่งหนึ่ง.” (พจนานุกรมเว็บสเตอรส์ยูนิเวอร์แซล) หากเราน้อมใจของเราเพื่อการสังเกตเข้าใจ พระยะโฮวาจะทรงประทานการสังเกตเข้าใจนั้นแก่เราโดยทางพระบุตรของพระองค์. (2 ติโมเธียว 2:1, 7) แต่การสังเกตเข้าใจอาจมีผลกระทบแง่มุมต่าง ๆ ในชีวิตอย่างไรบ้าง?
การสังเกตเข้าใจและคำพูดของเรา
3. คุณจะอธิบายสุภาษิต 11:12, 13 อย่างไร และการ “ขาดความเข้าใจ” มีความหมายเช่นไร?
3 การสังเกตเข้าใจช่วยเราให้ตระหนักว่ามี “วาระสำหรับอมพะนำ, และวาระสำหรับเจรจา.” (ท่านผู้ประกาศ 3:7) คุณลักษณะนี้ยังช่วยเราให้ระมัดระวังสิ่งที่เราพูด. สุภาษิต 11:12, 13 (ฉบับแปลใหม่) บอกอย่างนี้: “บุคคลที่เหยียดเพื่อนบ้านของตนย่อมขาดสามัญสำนึก [“ขาดความเข้าใจ,” ล.ม.] แต่คนที่มีความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.] ก็ยังนิ่งอยู่. บุคคลที่เที่ยวซุบซิบก็เผยความลับ แต่บุคคลที่ไว้วางใจได้ย่อมปิดบังสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ได้.” ถูกแล้ว ชายหรือหญิงที่ดูถูกคนอื่นนั้น “ขาดความเข้าใจ.” ตามที่วิลเฮล์ม เกเซนีอุส ผู้เรียบเรียงปทานุกรมได้กล่าวไว้ คนเช่นนั้น “ไม่มีความเข้าใจ.” เขาขาดดุลพินิจที่ดี และการใช้คำ “ใจ” ก็แสดงให้เห็นว่าคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ดีแห่งบุคคลภายใน [หัวใจโดยนัย] ยังบกพร่องอยู่. หากคนใดที่บอกว่าตัวเองเป็นคริสเตียนพูดซุบซิบนินทาจนถึงขั้นใส่ร้ายป้ายสีหรือด่าประจาน ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งก็ต้องจัดการเพื่อยุติสถานการณ์ที่ไม่ดีงามเช่นนี้ในประชาคม.—เลวีติโก 19:16; บทเพลงสรรเสริญ 101:5; 1 โกรินโธ 5:11.
4. คริสเตียนที่มีการสังเกตเข้าใจและซื่อสัตย์ทำเช่นไรในเรื่องที่เป็นความลับ?
4 ไม่เหมือนคน “ขาดความเข้าใจ” คนที่ “มีการสังเกตเข้าใจ” สงบปากสงบคำเมื่อสมควรทำดังนั้น. เขาไม่แพร่งพรายความลับ. (สุภาษิต 20:19) โดยรู้ว่าคำพูดที่ขาดความระมัดระวังอาจก่อความเสียหาย คนที่มีการสังเกตเข้าใจ “ไว้วางใจได้.” เขาภักดีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อและไม่เผยความลับที่อาจทำให้เพื่อนของเขาได้รับอันตราย. หากคริสเตียนซึ่งมีการสังเกตเข้าใจทราบข้อมูลที่เป็นความลับไม่ว่าเรื่องใดซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาคม เขาจะเก็บเรื่องนั้นไว้กับตัวจนกว่าองค์การของพระยะโฮวาเห็นควรจะประกาศให้ทราบทางสรรพหนังสือขององค์การเอง.
การสังเกตเข้าใจและการประพฤติของเรา
5. “คนโง่” มีทัศนะอย่างไรต่อการประพฤติหละหลวม และเพราะเหตุใด?
5 สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราใช้การสังเกตเข้าใจและเลี่ยงการประพฤติที่ไม่เหมาะสม. ตัวอย่างเช่นสุภาษิต 10:23 (ฉบับแปลใหม่) บอกว่า “คนโง่กระทำความผิด [“ประพฤติหละหลวม,” ล.ม.] เหมือนการเล่นสนุก แต่ความประพฤติอันกอปรด้วยปัญญา เป็นความเพลิดเพลินแก่คนที่มีความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.].” คนที่การประพฤติหละหลวมเป็นเช่น “การเล่นสนุก” นั้นมองไม่เห็นว่าแนวทางของตนผิด และไม่แยแสต่อพระเจ้าผู้ทรงอยู่ในฐานะที่ทุกคนต้องให้การต่อพระองค์. (โรม 14:12) “คนโง่” เช่นนั้นบิดเบือนการหาเหตุผลของตนจนถึงขั้นทึกทักเอาเองว่า พระเจ้าไม่ทรงเห็นการทำผิดของพวกเขา. ที่จริง โดยสิ่งที่พวกเขาทำก็เหมือนกับพูดว่า “พระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ไม่มี.” (บทเพลงสรรเสริญ 14:1-3; ยะซายา 29:15, 16) เนื่องจากไม่ได้รับการชี้นำจากหลักการของพระเจ้า พวกเขาจึงขาดการสังเกตเข้าใจและไม่สามารถตัดสินเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง.—สุภาษิต 28:5.
6. ทำไมการประพฤติหละหลวมจึงเป็นการโง่เขลา และเราจะมองดูการประพฤติเช่นนี้อย่างไรหากเรามีการสังเกตเข้าใจ?
6 “คนที่มีการสังเกตเข้าใจ” ตระหนักว่า การประพฤติหละหลวมไม่ใช่ “การเล่นสนุก” หรือเกมอย่างหนึ่ง. เขารู้ว่าการทำเช่นนั้นทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย และสามารถทำลายสัมพันธภาพที่เรามีกับพระองค์ได้. การกระทำเช่นนั้นโง่เขลา เพราะทำให้คนเราขาดความนับถือตัวเอง, ทำลายสายสมรส, ทำความเสียหายแก่ทั้งจิตใจและร่างกาย, และเป็นความหายนะทางฝ่ายวิญญาณได้ในที่สุด. ด้วยเหตุนั้น ให้เราน้อมใจของเราเพื่อการสังเกตเข้าใจ และหลีกห่างจากการประพฤติหละหลวมหรือผิดศีลธรรมไม่ว่าในลักษณะใด.—สุภาษิต 5:1-23.
การสังเกตเข้าใจและอารมณ์ของเรา
7. ความโกรธก่อผลอะไรบ้างด้านร่างกาย?
7 การน้อมใจของเราเพื่อการสังเกตเข้าใจยังช่วยเราให้ควบคุมอารมณ์ของเราด้วย. สุภาษิต 14:29 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “บุคคลที่โกรธช้าก็มีความเข้าใจมาก แต่บุคคลที่โมโหเร็วก็ยกย่องความโง่.” เหตุผลหนึ่งที่คนที่มีการสังเกตเข้าใจพยายามเลี่ยงจากความโกรธที่ขาดการควบคุมนั้นเนื่องจากความโกรธเช่นนั้นก่อผลเสียแก่ตนเองทางกาย. การบันดาลโทสะอาจทำให้ความดันขึ้นสูงและทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจ. แพทย์ได้ระบุว่าความโกรธและการบันดาลโทสะเป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างเช่น โรคหืดหอบ, โรคผิวหนัง, อาหารไม่ย่อย, และแผลเยื่อบุต่าง ๆ หรือเป็นเหตุทำให้เกิดอาการเหล่านี้มากขึ้น.
8. การไม่อดกลั้นอาจนำไปสู่อะไร แต่การสังเกตเข้าใจอาจช่วยเราอย่างไรในเรื่องนี้?
8 เหตุที่เราควรใช้การสังเกตเข้าใจและ “โกรธช้า” ไม่ใช่เพียงเพื่อไม่ให้ตัวเองเสียสุขภาพ. การเป็นคนไม่อดกลั้นอาจชักนำให้ลงมือทำสิ่งโง่เขลาที่จะทำให้เราเสียใจภายหลัง. การสังเกตเข้าใจช่วยเราไตร่ตรองถึงผลซึ่งคำพูดที่ไม่มีการเหนี่ยวรั้งหรือการกระทำอย่างหุนหันพลันแล่นอาจก่อให้เกิดขึ้น และโดยวิธีนี้ป้องกันเราไว้จากการ “ยกย่องความโง่” โดยการทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สุขุม. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสังเกตเข้าใจช่วยเราให้ตระหนักว่า ความเดือดดาลอาจทำให้กระบวนการคิดเสียไป จนเราไม่สามารถใช้ดุลพินิจที่ดีได้. เมื่อเป็นดังนี้ ความสามารถของเราในการทำตามพระทัยประสงค์และดำเนินชีวิตตามหลักการที่ชอบธรรมของพระเจ้าก็ย่อมเสื่อมถอยไป. ถูกแล้ว การยอมแพ้ต่อความโกรธที่ขาดการควบคุมเป็นความเสียหายฝ่ายวิญญาณ. ที่จริง “การโกรธกัน” ถูกจัดไว้ให้อยู่ในจำพวก “การของเนื้อหนัง” ที่น่ารังเกียจ ซึ่งคงจะกีดกันเราไว้จากการได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. (ฆะลาเตีย 5:19-21) ดังนั้น ฐานะคริสเตียนที่มีการสังเกตเข้าใจ ให้เรา “ว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.”—ยาโกโบ 1:19.
9. การสังเกตเข้าใจและความรักแบบพี่น้องช่วยเราแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไร?
9 ถ้าเราโกรธ การสังเกตเข้าใจอาจช่วยแนะเตือนให้เราเงียบเอาไว้ก่อนเพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง. สุภาษิต 17:27 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “บุคคลที่ยับยั้งถ้อยคำของเขาเป็นคนมีความรู้ และบุคคลผู้มีจิตใจเยือกเย็นเป็นคนมีความเข้าใจ.” การสังเกตเข้าใจและความรักแบบพี่น้องจะช่วยเราให้เห็นความจำเป็นต้องควบคุมแรงกระตุ้นที่จะโพล่งคำพูดที่ทำให้เจ็บแสบออกมา. หากระเบิดอารมณ์โกรธออกมาแล้ว ความรักและความถ่อมจะช่วยกระตุ้นเราให้ขอโทษและปรับปรุงแก้ไข. แต่สมมุติมีใครทำให้เราขุ่นเคืองล่ะ? ถ้าอย่างนั้น ก็ให้เราพูดกับเขาเป็นส่วนตัวในแบบที่นุ่มนวลและถ่อม โดยมีเป้าประสงค์หลักคือเพื่อส่งเสริมให้มีสันติสุข.—มัดธาย 5:23, 24; 18:15-17.
การสังเกตเข้าใจและครอบครัวของเรา
10. สติปัญญาและการสังเกตเข้าใจมีบทบาทอะไรในชีวิตครอบครัว?
10 สมาชิกในครอบครัวจำต้องแสดงสติปัญญาและการสังเกตเข้าใจ เพราะคุณลักษณะนี้จะก่อร่างสร้างครอบครัว. สุภาษิต 24:3, 4 กล่าวว่า “เมื่อจะก่อตึกต้องอาศัยปัญญา, และเมื่อจะสร้างบ้านก็ต้องอาศัยความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.]; และอาศัยความรู้ ห้องทั้งหลายนั้นจะเต็มไปด้วยของมีค่าและที่ชื่นตา.” สติปัญญาและการสังเกตเข้าใจเป็นเสมือนอิฐก่อชั้นดีเพื่อชีวิตครอบครัวจะประสบความสำเร็จ. การสังเกตเข้าใจช่วยบิดามารดาที่เป็นคริสเตียนให้ดึงความรู้สึกและเรื่องที่บุตรของตนเป็นห่วงกังวลออกมา. บุคคลที่มีการสังเกตเข้าใจสามารถสื่อความ, ฟัง, และได้ความหยั่งเห็นเข้าใจถึงความรู้สึกและความคิดของคู่ของตน.—สุภาษิต 20:5.
11. ผู้หญิงที่สมรสแล้วจะสามารถ “ก่อสร้างบ้านเรือนของตนขึ้น” ได้อย่างไร?
11 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สติปัญญาและการสังเกตเข้าใจนั้นสำคัญเพื่อชีวิตครอบครัวจะมีความสุข. ยกตัวอย่างเช่น สุภาษิต 14:1 กล่าวดังนี้: “สตรีที่มีปัญญาทุกคนย่อมก่อสร้างบ้านเรือนของตนขึ้น; แต่ผู้ที่โฉดเขลาย่อมรื้อบ้านลงด้วยมือตนเอง.” ผู้หญิงที่สมรสแล้วที่ฉลาดและมีการสังเกตเข้าใจซึ่งอยู่ใต้อำนาจของสามีอย่างเหมาะสมจะทำงานหนักเพื่อสวัสดิภาพของครอบครัว และโดยวิธีนี้จะช่วยเสริมสร้างครอบครัวเธอขึ้น. สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเธอให้ “ก่อสร้างบ้านเรือนของตนขึ้น” คือเธอพูดถึงสามีในทางดีเสมอซึ่งทำให้คนอื่นนับถือเขามากขึ้น. และภรรยาที่สามารถและมีการสังเกตเข้าใจซึ่งยำเกรงพระยะโฮวาย่อมนำคำสรรเสริญมาสู่ตัวเธอเอง.—สุภาษิต 12:4; 31:28, 30.
การสังเกตเข้าใจและแนวทางชีวิตของเรา
12. คนที่ “ขาดความเข้าใจ” มองดูความโฉดเขลาอย่างไร และเพราะเหตุใด?
12 การสังเกตเข้าใจช่วยเรารักษาตัวอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องในทุกเรื่อง. สุภาษิต 15:21 ชี้ให้เห็นเช่นนี้โดยกล่าวว่า “การโฉดเขลาเป็นของสนุกสำหรับคนไร้ปัญญา [“ขาดความเข้าใจ,” ล.ม.]; แต่คนที่มีความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.] ทำทางของตนให้ตรงไป.” เราควรจะเข้าใจสุภาษิตนี้อย่างไร? แนวทางโง่เขลาหรือโฉดเขลาเป็นเหตุแห่งความยินดีของชายหญิงและคนหนุ่มสาวที่ขาดสติ. พวกเขา “ขาดความเข้าใจ,” ขาดแรงจูงใจที่ดี, และไม่ฉลาดสุขุมจนถึงกับยินดีในการโฉดเขลา.
13. ซะโลโมสังเกตเข้าใจเช่นไรเกี่ยวกับการหัวเราะและการทำตัวเหลาะแหละ?
13 ซะโลโมกษัตริย์ชาติยิศราเอลซึ่งมีการสังเกตเข้าใจได้เรียนรู้ว่า การทำตัวเหลาะแหละทำให้ชีวิตแทบไม่มีความหมายอะไร. ท่านยอมรับดังนี้: “ข้าฯ ได้กล่าวกับตัวข้าฯ เองว่า, มาเถอะ, เราจะเอาการสนุกสนานมาลองกันดูก็ได้; เอ้า, เจ้าจงสนุกให้สบายใจ: และนี่แน่ะ, การนี้ก็เป็นอนิจจังด้วย. ข้าฯ ได้กล่าวถึงการหัวเราะว่า, เป็นความโฉดเขลา, และกล่าวถึงความสนุกว่า, มันทำอะไรให้ได้บ้าง?” (ท่านผู้ประกาศ 2:1, 2) โดยที่มีการสังเกตเข้าใจ ซะโลโมพบว่าการรื่นเริงและการหัวเราะแต่เพียงอย่างเดียวไม่ทำให้อิ่มใจ เพราะไม่ก่อให้เกิดความสุขแท้และยั่งยืน. การหัวเราะอาจช่วยเราให้ลืมปัญหาต่าง ๆ ได้ชั่วคราว แต่หลังจากนั้นปัญหาก็อาจผุดขึ้นมาหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก. ซะโลโมสามารถกล่าวถึงการหัวเราะได้อย่างเหมาะเจาะว่าเป็น “ความโฉดเขลา.” เพราะเหตุใด? เพราะการหัวเราะอย่างไร้ความคิดบดบังการใช้ดุลพินิจที่ดี. การหัวเราะเช่นนั้นอาจทำให้เราดูเบาเรื่องที่ควรเอาจริงเอาจัง. ความสำราญใจแบบที่เกิดจากคำพูดและการแสดงของตัวตลกในพระราชสำนักสมัยโบราณไม่อาจยกมาอ้างเพื่อชี้ว่านั่นก่อให้เกิดบางสิ่งที่คุ้มค่า. การสังเกตเข้าใจความหมายแห่งการทดลองของซะโลโมในเรื่องการหัวเราะและการรื่นเริงช่วยเราหลีกเลี่ยงจากการเป็น “คนรักการสนุกสนานมากกว่ารักพระเจ้า.”—2 ติโมเธียว 3:1, 4.
14. บุคคลที่มีการสังเกตเข้าใจทำทางของตน “ให้ตรงไป” อย่างไร?
14 คนที่มีการสังเกตเข้าใจทำทางของตน “ให้ตรงไป” อย่างไร? การสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณและการใช้หลักการของพระเจ้าช่วยนำผู้คนให้อยู่ในแนวทางสุจริตและตรงไปตรงมา. ฉบับแปลของไบอิงตันแปลตรงตัวโดยบอกว่า “ความโง่เขลาเป็นสวรรค์สำหรับคนไร้ความคิด แต่คนเฉลียวฉลาดจะตรงไป.” “คนที่มีการสังเกตเข้าใจ” ทำทางให้ตรงสำหรับเท้าของเขาและแยกแยะผิดถูกชั่วดีได้เพราะเขาใช้พระคำของพระเจ้าในชีวิต.—เฮ็บราย 5:14; 12:12, 13.
หมายพึ่งพระยะโฮวาเสมอ เพื่อการสังเกตเข้าใจ
15. เราเรียนรู้อะไรจากสุภาษิต 2:6-9?
15 เพื่อติดตามแนวทางที่ซื่อตรงในชีวิต เราทุกคนจำต้องยอมรับว่าเราไม่สมบูรณ์ และหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อจะได้การสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณ. สุภาษิต 2:6-9 กล่าวดังนี้: “พระยะโฮวาพระราชทานปัญญาความรู้และความเข้าใจออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์: พระองค์ทรงสะสมสติปัญญาอันประเสริฐไว้สำหรับคนตรง; พระองค์เป็นเกราะสำหรับคนทั้งหลายที่ดำเนินอยู่ในความสุจริต; เพื่อว่าพระองค์จะทรงระวังทางทั้งหลายของความยุติธรรม, และระวังรักษามรคาแห่งสิทธชนทั้งหลายของพระองค์. ขณะนั้นแหละเจ้าจะเข้าใจความชอบธรรมความยุติธรรม, และสิทธิธรรม, เออ, ทุก ๆ วิถีทาง.”—เทียบกับยาโกโบ 4:6.
16. ทำไมไม่มีสติปัญญา, การสังเกตเข้าใจ, หรือคำแนะนำใดที่จะมาแย้งพระคำของพระยะโฮวาได้?
16 ในการยอมรับว่าเราต้องหมายพึ่งพระยะโฮวา ให้เราพยายามด้วยความถ่อมใจเพื่อจะสังเกตเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระองค์โดยขุดลึกลงไปในพระคำของพระองค์. พระองค์ทรงมีพระสติปัญญาในความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และคำแนะนำของพระองค์เป็นประโยชน์เสมอ. (ยะซายา 40:13; โรม 11:34) ที่จริง คำแนะนำใด ๆ ที่ขัดกันกับพระคำของพระองค์ล้วนแต่ไร้ค่าทั้งสิ้น. สุภาษิต 21:30 แจ้งดังนี้: “ไม่มีปัญญาหรือความเข้าใจใด ๆ หรือข้อหารือใด ๆ จะมาต่อสู้เอาชนะพระยะโฮวาได้.” (เทียบกับสุภาษิต 19:21.) เฉพาะแต่การสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณเท่านั้น ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยการศึกษาพระคำของพระเจ้าพร้อมด้วยอาศัยสรรพหนังสือที่ทรงจัดให้ผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จะช่วยเราให้ติดตามแนวทางที่ถูกต้องในชีวิต. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ดังนั้น ให้เรานำชีวิตของเราเข้ามาประสานกับคำแนะนำของพระยะโฮวา โดยรู้อยู่ว่า ไม่ว่าคำแนะนำที่โต้แย้งอาจฟังดูดีเพียงไร ก็ไม่อาจทัดเทียมกับพระคำของพระองค์ได้.
17. อาจเกิดผลเช่นไรหากให้คำแนะนำผิด?
17 คริสเตียนที่มีการสังเกตเข้าใจซึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำตระหนักว่า คำแนะนำที่เขาให้ควรอาศัยพระคำของพระเจ้าเป็นหลัก และจำต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคิดรำพึงก่อนจะตอบคำถามใด ๆ. (สุภาษิต 15:28) หากตอบคำถามอย่างผิด ๆ ในเรื่องที่สำคัญ ก็อาจสร้างความเสียหายได้มาก. ดังนั้น คริสเตียนผู้ปกครองจำเป็นต้องมีการสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณ และควรอธิษฐานเพื่อขอการทรงนำจากพระยะโฮวาขณะที่บากบั่นจะให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณแก่เพื่อนร่วมความเชื่อ.
จงอุดมด้วยการสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณ
18. หากมีปัญหาเกิดขึ้นมาในประชาคม การสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณสามารถช่วยเราให้รักษาความสมดุลฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
18 เพื่อเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา เราจำต้องมี “ความเข้าใจในสิ่งสารพัตร.” (2 ติโมเธียว 2:7) การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยความกระหายใคร่รู้และการน้อมรับเอาการชี้นำแห่งพระวิญญาณและองค์การของพระเจ้าจะช่วยเราให้สังเกตเข้าใจถึงสิ่งที่จะต้องทำเมื่อเราเผชิญสถานการณ์ที่อาจนำเราสู่ทางผิด. ตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีบางอย่างในประชาคมที่ไม่ได้รับการจัดการเช่นที่เราคิดว่าน่าจะทำ. การสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณจะช่วยเราให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่เหตุผลจะหยุดคบหากับไพร่พลของพระยะโฮวาและเลิกรับใช้พระเจ้า. จงคิดถึงสิทธิพิเศษของเราในการรับใช้พระยะโฮวา, อิสรภาพฝ่ายวิญญาณที่เรามี, ความยินดีที่เราสามารถได้รับจากการรับใช้ของเราฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร. การสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณทำให้เราสามารถมีทัศนะที่ถูกต้อง และตระหนักว่าเราอุทิศตัวแด่พระเจ้าและควรจะทะนุถนอมสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ไม่ว่าคนอื่นจะทำเช่นไร. หากไม่มีสิ่งใดที่เราสามารถทำได้ตามระบอบของพระเจ้าเพื่อจัดการปัญหา เราจำต้องคอยอย่างอดทนเพื่อให้พระยะโฮวามาแก้ไขสถานการณ์. แทนที่จะเลิกหรือยอมแพ้ต่อความสิ้นหวัง ให้เรา “คอยท่าพระเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 42:5, 11.
19. (ก) สาระสำคัญของคำอธิษฐานของเปาโลเพื่อชาวฟิลิปปอยคืออะไร? (ข) การสังเกตเข้าใจสามารถช่วยเราได้อย่างไรหากเราไม่เข้าใจบางสิ่งอย่างเต็มที่?
19 การสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณช่วยเราให้คงความภักดีต่อพระเจ้าและไพร่พลของพระองค์. เปาโลบอกคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยดังนี้: “ข้าพเจ้าอธิษฐานอย่างนี้อยู่เรื่อยไป คือว่าความรักของท่านทั้งหลายจะอุดมยิ่ง ๆ ขึ้นพร้อมด้วยความรู้ถ่องแท้และการสังเกตเข้าใจเต็มที่; เพื่อท่านทั้งหลายจะรู้แน่ว่า สิ่งไหนสำคัญกว่า เพื่อท่านจะปราศจากตำหนิ และไม่ทำให้คนอื่นสะดุดจนกระทั่งถึงวันแห่งพระคริสต์.” (ฟิลิปปอย 1:9, 10, ล.ม.) เพื่อหาเหตุผลได้อย่างถูกต้อง เราจำต้องมี “ความรู้ถ่องแท้และการสังเกตเข้าใจเต็มที่.” คำกรีกซึ่งในที่นี้ได้รับการแปลว่า “การสังเกตเข้าใจ” ถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับ “การรับรู้ทางศีลธรรมที่ฉับไว.” เมื่อเราเรียนบางเรื่อง เราต้องการจะเข้าใจความเกี่ยวพันของเรื่องนั้นกับพระเจ้าและพระคริสต์ รวมทั้งคิดรำพึงถึงวิธีที่เรื่องนั้นเชิดชูบุคลิกภาพและการจัดเตรียมต่าง ๆ ของพระยะโฮวา. การทำอย่างนี้ช่วยส่งเสริมการสังเกตเข้าใจและความหยั่งรู้ค่าของเราต่อสิ่งที่พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ได้ทรงทำเพื่อเรา. ถ้าเราไม่เข้าใจบางเรื่องอย่างเต็มที่ การสังเกตเข้าใจจะช่วยเราให้ตระหนักว่า เราต้องไม่ทิ้งความเชื่อของเราในเรื่องที่ล้วนแต่สำคัญทั้งสิ้นซึ่งเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้า, พระคริสต์, และพระประสงค์ของพระเจ้า.
20. เราจะอุดมด้วยการสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณได้โดยวิธีใด?
20 เราจะอุดมด้วยการสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณหากเราประสานความคิดและการกระทำของเรากับพระคำของพระเจ้าอยู่เสมอ. (2 โกรินโธ 13:5) การทำเช่นนี้ในวิธีที่เสริมสร้างช่วยเราให้ถ่อม ไม่ยึดความเห็นของตนมากไปและวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น. การสังเกตเข้าใจจะช่วยเราได้รับประโยชน์จากการว่ากล่าวแก้ไข และลงมือทำสิ่งที่สำคัญกว่า. (สุภาษิต 3:7) ด้วยความปรารถนาจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย ให้เราขวนขวายเพื่อจะมีความรู้ถ่องแท้แห่งพระคำของพระองค์อย่างบริบูรณ์. นี่จะช่วยเราให้สังเกตได้ว่าไหนถูกไหนผิด, บอกได้ว่าอะไรที่สำคัญอย่างแท้จริง, และติดสนิทด้วยความภักดีในสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่เรามีกับพระยะโฮวา. ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ถ้าเราน้อมใจของเราเพื่อการสังเกตเข้าใจ. กระนั้น ยังมีอย่างอื่นอีกที่จำเป็น. เราต้องให้การสังเกตเข้าใจปกป้องเรา.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมเราควรน้อมใจของเราเพื่อการสังเกตเข้าใจ?
▫ การสังเกตเข้าใจสามารถส่งผลต่อคำพูดและการกระทำของเราอย่างไร?
▫ การสังเกตเข้าใจสามารถส่งผลกระทบเช่นไรต่ออารมณ์ของเรา?
▫ ทำไมเราควรหมายพึ่งพระยะโฮวาเสมอเพื่อการสังเกตเข้าใจ?
[รูปภาพหน้า 13]
การสังเกตเข้าใจช่วยเราควบคุมอารมณ์
[รูปภาพหน้า 15]
กษัตริย์ซะโลโมผู้มีการสังเกตเข้าใจตระหนักว่า การทำตัวเหลาะแหละไม่ได้ทำให้อิ่มใจอย่างแท้จริง