พระเจ้าทรงดำเนินงานด้วยวิธีการ “คด” เคี้ยวหรือ?
“เดอุส เอสเครเว เซร์ตู ปอร์ ลินยัส ตอร์ตัส” (“พระเจ้าเขียนอย่างถูกต้องแต่คดเคี้ยว”) เป็นคำพังเพยในบราซิล. คำพูดดังกล่าวชวนให้คิดว่าพระเจ้ากระทำสิ่งถูกต้องเสมอ แต่บางครั้งในสายตาของมนุษย์แล้วดูเหมือนว่าคดเคี้ยว. ตัวอย่างเช่น เมื่อคนในวัยหนุ่มแน่นเสียชีวิต หลายคนพูดว่า ‘พระเจ้าเรียกเขาไปสวรรค์.’ ถ้าใครมีร่างกายพิกลพิการหรือเผชิญกับเรื่องเศร้าสลด บางคนก็ว่า ‘พระเจ้าประสงค์ให้เป็นอย่างนี้.’ เนื่องด้วยมีการตำหนิพระเจ้าในเรื่องการตาย, ปัญหาต่าง ๆ ทางกายภาพ, และสาเหตุอื่นซึ่งยังความเศร้าเสียใจ การพูดเช่นนั้นแสดงนัยว่าพระเจ้า ‘เขียนคดเคี้ยว’ พระองค์ทรงทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้.
ทำไมผู้คนมากมายที่เคร่งศาสนาเชื่อว่าพระเจ้าต้องรับผิดชอบต่อความตายและความทุกข์ยากเดือดร้อน? ความเชื่อเหล่านี้บ่อยครั้งตั้งอยู่บนความเข้าใจผิดเกี่ยวเนื่องกับข้อคัมภีร์โดด ๆ บางข้อ. ให้เราพิจารณาโดยย่อสักสองสามข้อ.
• “ผู้ใดเล่าที่. . . . ทำให้เป็นใบ้ หูหนวก ตาดี หรือตาบอด เราพระเจ้าเป็นผู้ทำไม่ใช่หรือ?”—เอ็กโซโด (อพยพ) 4:11, ฉบับแปลใหม่.
ทั้งนี้หมายความว่าพระเจ้าพึงถูกตำหนิไหมที่คนเหล่านั้นทนทุกข์เพราะความพิการต่าง ๆ? ไม่เลย. นั่นคงจะไม่สอดรับกับบุคลิกภาพของพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราดังนี้: “สิ่งสารพัตรซึ่งพระเจ้าได้ทรงสร้างไว้ก็เป็นของดี.” (1 ติโมเธียว 4:4) เราจะตำหนิพระองค์ไม่ได้หากบางคนเกิดมาตาบอด, เป็นใบ้, หรือหูหนวก. พระองค์ทรงประสงค์ให้แต่สิ่งดี ๆ แก่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง เพราะพระองค์เป็นแหล่งกำเนิด “ของประทานอันดีทุกอย่าง และของประทานอันสมบูรณ์ทุกอย่าง.”—ยาโกโบ 1:17, ล.ม.
เพราะเหตุที่อาดามและฮาวาบิดามารดาแรกเดิมของเราเจตนาเป็นกบฏต่อพระเจ้า เขาได้สูญเสียสภาพสมบูรณ์ของตน และด้วยเหตุนั้นจึงไม่สามารถให้กำเนิดบุตรหลานที่สมบูรณ์ได้. (เยเนซิศ 3:1-6, 16, 19; โยบ 14:4) เมื่อบุตรหลานของเขาสมรสกันและบังเกิดบุตร ความไม่สมบูรณ์ที่มีมากขึ้นเป็นลำดับซึ่งรวมถึงความพิการด้านร่างกายได้เริ่มปรากฏให้เห็นท่ามกลางหมู่มนุษย์. ขณะที่พระยะโฮวาพระเจ้าไม่เป็นสาเหตุให้เป็นเช่นนั้น แต่พระองค์ปล่อยให้เกิดขึ้น. ดังนั้น พระองค์สามารถตรัสได้ว่าพระองค์เองทรง “ทำให้” เป็นใบ้, หูหนวก, และตาบอด.
• “สิ่งที่ถูกทำให้คดจะทำให้ตรงไม่ได้.”—ท่านผู้ประกาศ 1:15, ล.ม.
พระเจ้าใช่ไหมที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ คดเคี้ยวไป? ไม่ใช่แน่ ๆ. พระธรรมท่านผู้ประกาศ 7:29 (ล.ม.) แถลงดังนี้: “พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นคนซื่อตรง แต่พวกเขาเองได้คิดค้นแผนการออกมามากมาย.” ฉบับแปลคอนเทมโพรารี อิงลิช ถอดความข้อนี้ว่า “เราเป็นคนซื่อตรงครบถ้วนตอนที่พระเจ้าได้สร้างเรา แต่เวลานี้เรามีความคิดจิตใจที่บิดเบือน.” แทนที่จะยึดมั่นกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้า ชายหญิงส่วนใหญ่กลับพอใจเลือกทำตามแผนการ, อุบาย, เล่ห์เหลี่ยม, หรือแนวทางของตัวเอง—ซึ่งยังผลเป็นความเสียหายแก่ตนเอง.—1 ติโมเธียว 2:14.
นอกจากนั้น ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ เนื่องด้วยบาปของมนุษยชาติ “สรรพสิ่งนั้นต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง.” (โรม 8:20) และสภาพการณ์เช่นนี้ “จะทำให้ตรงไม่ได้” โดยความพยายามของมนุษย์. เฉพาะแต่การแทรกแซงของพระเจ้าเท่านั้นที่บรรดาการคดเคี้ยวและความอนิจจังทั้งสิ้นในกิจการต่าง ๆ ทางโลกนี้จะถูกกำจัดให้หมดไป.
• “จงพิจารณาดูพระกิจธุระของพระเจ้า ด้วยว่าสิ่งใด ๆ ที่พระองค์ได้ทรงกระทำให้โค้งงอหงิกไปแล้วนั้น, ใครคนไหนจะเหยียดสิ่งนั้น ๆ ให้ตรงได้เล่า?”—ท่านผู้ประกาศ 7:13.
พูดอีกนัยหนึ่ง กษัตริย์ซะโลโมตรัสถามทำนองว่า ‘ใครเล่าท่ามกลางหมู่มนุษย์สามารถแก้ไขข้อบกพร่อง และความไม่สมบูรณ์ประการต่าง ๆ ได้ซึ่งพระเจ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น?’ ไม่มีสักคน เพราะพระยะโฮวาพระเจ้าทรงมีเหตุผลที่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น.
เพราะฉะนั้น ซะโลโมทรงชี้แนะว่า “เมื่อเวลามีความเจริญก็จงชื่นชมยินดี แต่เมื่อถึงเวลาอับจนก็จงพินิจพิจารณา พระเจ้าทรงบันดาลให้มีทั้งสองอย่าง เพื่อมนุษย์จะไม่ค้นได้ว่าเมื่อเขาล่วงไปแล้วจะมีอะไรมา.” (ท่านผู้ประกาศ [ปัญญาจารย์] 7:14, ฉบับแปลใหม่) คนเราน่าจะหยั่งรู้ค่าเมื่อชีวิตราบรื่นและแสดงว่าตนหยั่งรู้ค่าโดยการสะท้อนคุณความดี. เขาควรถือว่าวันใดที่มีความสุขวันนั้นเป็นของประทานจากพระเจ้า. แต่ถ้าวันใดเกิดความหายนะล่ะ? คงจะดีถ้าคนเราจะ “พินิจ” ซึ่งก็หมายถึงการยอมรับว่าพระเจ้าปล่อยให้เกิดความหายนะ. ทำไมพระองค์กระทำอย่างนั้น? ซะโลโมตรัสว่า “เพื่อมนุษย์จะไม่ค้นได้ว่าเมื่อเขาล่วงไปแล้วจะมีอะไรมา.” ข้อนี้หมายความอย่างไร?
ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าทรงให้เราประสบทั้งความยินดีและความยากลำบากนั้นเตือนสติเราว่า เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า. ความหายนะอาจเกิดขึ้นกับคนดีและคนชั่วก็ได้ทั้งนั้น. ไม่มีข้อยกเว้น. ข้อนี้น่าจะทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการไม่หมายพึ่งตัวเราเอง แต่พึ่งอาศัยพระเจ้า โดยรำลึกว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:8) แม้ตอนนี้เราไม่อาจเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง เราย่อมมั่นใจได้ว่าหลังจากสิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว สิ่งซึ่งพระเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นไปก็จะบรรลุจุดมุ่งหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
อะไรก็ตามที่พระองค์ยอมให้เป็นไปจะไม่ก่อผลเสียหายตลอดกาลแก่ชนผู้มีหัวใจชอบธรรม. อัครสาวกเปโตรทำให้ข้อนี้กระจ่างเมื่อท่านกล่าวถึงความทุกข์ยากอันเกิดแก่เพื่อนร่วมความเชื่อในสมัยของท่านดังนี้: “หลังจากท่านทั้งหลายได้ทนทุกข์อยู่ชั่วเวลาสั้น ๆ แล้ว พระเจ้าแห่งความกรุณาทั้งมวลอันไม่พึงได้รับ ผู้ทรงเรียกท่านทั้งหลายมาสู่สง่าราศีนิรันดร์ของพระองค์ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ จะทรงโปรดให้การอบรมของท่านทั้งหลายถึงที่สำเร็จ พระองค์เองจะให้ท่านทั้งหลายมั่นคง พระองค์จะทำให้ท่านทั้งหลายเข้มแข็ง.”—1 เปโตร 5:10, ล.ม.
วาระสำหรับจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย
พระยะโฮวาทรงประทานกำลังแก่เราเพื่อจะอดทนได้กับการยากลำบากที่เราเผชิญในปัจจุบัน. พระองค์ยังทรงสัญญาอีกด้วยว่าจะทำ “สิ่งทั้งปวงให้ใหม่.” (วิวรณ์ 21:5, ล.ม.) ใช่แล้ว ความมุ่งหมายของพระองค์คืออีกไม่นานราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์จะฟื้นฟูสุขภาพของคนเหล่านั้นซึ่งทนทรมานเนื่องด้วยความพิกลพิการต่าง ๆ ให้คืนสู่สภาพปกติ และควบคุมดูแลการปลุกคนตายให้คืนชีพ. นอกจากนั้น รัฐบาลดังกล่าวจะกำจัดซาตานพญามาร ตัวการซึ่งทางทั้งปวงของมันล้วนคดโกงชั่วร้ายอย่างแท้จริง. (โยฮัน 5:28, 29; โรม 16:20; 1 โกรินโธ 15:26; 2 เปโตร 3:13) ช่างจะเป็นพระพรอะไรเช่นนั้นสำหรับไพร่พลผู้เกรงกลัวพระเจ้าทั่วทุกหนทุกแห่งบนแผ่นดินโลก เมื่อถึงเวลาของพระเจ้าที่จะจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรียบร้อย!
[ที่มาของภาพหน้า 28]
Job Hearing of His Ruin/The Doré Bible Illustrations/Dover Publications