การรับใช้ร่วมกับคนยาม
“ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้ายืนอยู่บนหอคอยในเวลากลางวันตลอดวัน, และยืนยามกลางคืนตลอดคืน.”—ยะซายา 21:8.
1. พระยะโฮวาเองทรงเป็นพยานยืนยันถึงคำสัญญาอันยิ่งใหญ่อะไร?
พระยะโฮวาทรงเป็นผู้มีพระประสงค์องค์ยิ่งใหญ่. ทูตสวรรค์กบฏที่ได้กลายเป็นซาตานพญามารไม่อาจทำอะไรได้เลยเพื่อขัดขวางพระประสงค์อันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในการทำให้พระนามของพระองค์เองเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และสถาปนาการปกครองแห่งราชอาณาจักรอันรุ่งโรจน์เหนือแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (มัดธาย 6:9, 10) ภายใต้การปกครองนั้น มนุษยชาติจะได้รับพระพรอย่างแท้จริง. พระเจ้า “จะทรงทำลายความตายให้สาบสูญ; และพระยะโฮวาจะทรงเช็ดน้ำตาจากหน้าของคนทั่วไป.” มนุษย์ที่มีความสุขและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวจะมีสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาล. (ยะซายา 25:8; 65:17-25) พระยะโฮวาทรงเป็นพยานยืนยันถึงคำสัญญาอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ด้วยพระองค์เอง!
2. ใครคือพยานที่เป็นมนุษย์ซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงตั้งไว้?
2 อย่างไรก็ตาม พระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ทรงมีพยานที่เป็นมนุษย์ด้วย. ในช่วงก่อนยุคคริสเตียน “เมฆใหญ่แห่งพยาน” ซึ่งเริ่มมีขึ้นนับตั้งแต่เฮเบล ได้วิ่งแข่งด้วยความอดทน โดยที่บ่อยครั้งแทบมองไม่เห็นโอกาสจะชนะได้. ตัวอย่างอันดีเยี่ยมของพวกเขาให้กำลังใจแก่คริสเตียนที่ภักดีในทุกวันนี้. พระคริสต์เยซูทรงเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของพยานที่กล้าหาญ. (เฮ็บราย 11:1–12:2, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น ขอให้นึกถึงตอนที่พระองค์ทรงให้การเป็นครั้งสุดท้ายต่อหน้าปนเตียวปีลาต. พระเยซูทรงประกาศว่า “เพราะเหตุนี้เราจึงบังเกิดมาและเข้ามาในโลก เพื่อเราจะเป็นพยานถึงความจริง.” (โยฮัน 18:37) นับตั้งแต่ปี ส.ศ. 33 จนกระทั่งถึงปี ส.ศ. 2000 นี้ คริสเตียนที่มีใจแรงกล้าได้ดำเนินตามตัวอย่างของพระเยซูและยังคงให้คำพยานอยู่เรื่อยมา ประกาศอย่างกล้าหาญถึง “การอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า.”—กิจการ 2:11.
การแตกนิกายของบาบูโลน
3. ซาตานได้ต่อต้านการให้คำพยานเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระทัยประสงค์ของพระองค์อย่างไร?
3 ตลอดหลายพันปี ศัตรูตัวสำคัญคือซาตานพญามารได้พยายามใช้วิธีการอันชั่วร้ายเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในคำให้การของพยานทั้งหลายของพระเจ้า. ในฐานะ “พ่อของการมุสา” “พญานาคใหญ่ . . . งูตัวแรกเดิมนั้น” ได้ “ชักนำแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ให้หลง.” มันทำสงครามอย่างไม่ละลดต่อคนเหล่านั้นที่ “ปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้า” เฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสุดท้ายนี้.—โยฮัน 8:44; วิวรณ์ 12:9, 17, ล.ม.
4. บาบูโลนใหญ่ก่อกำเนิดขึ้นมาอย่างไร?
4 เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว หลังจากมหาอุทกภัยในสมัยโนฮา ซาตานยกชูนิมโรด “พรานผู้มีกำลังมากต่อต้านพระยะโฮวา.” (เยเนซิศ 10:9, 10, ล.ม.) เมืองใหญ่ที่สุดของนิมโรด คือบาบูโลน (บาเบล) ได้กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาที่เกี่ยวข้องกับผีปิศาจ. เมื่อพระยะโฮวาทรงทำให้ภาษาของผู้คนที่สร้างหอบาเบลสับสน ประชาชนก็แตกกระจัดกระจายไปทั่วแผ่นดินโลก และนำศาสนาเท็จติดตัวไปด้วย. ด้วยเหตุนี้ บาบูโลนได้กลายเป็นต้นกำเนิดของจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ ถูกขนานนามในพระธรรมวิวรณ์ว่าบาบูโลนใหญ่. พระธรรมนี้บอกล่วงหน้าถึงการพิพากษาที่จะมีต่อระบบศาสนาอันเก่าแก่นี้.—วิวรณ์ 17:5; 18:21.
ชาติแห่งเหล่าพยาน
5. พระยะโฮวาทรงรวบรวมชาติใดให้เป็นพยานของพระองค์ แต่เหตุใดพระองค์ทรงปล่อยให้ชาตินี้ตกเป็นเชลย?
5 ประมาณ 500 ปีหลังสมัยนิมโรด พระยะโฮวาทรงรวบรวมลูกหลานของอับราฮามผู้ซื่อสัตย์ตั้งเป็นชาติยิศราเอลขึ้น ให้รับใช้เป็นพยานของพระองค์บนแผ่นดินโลก. (ยะซายา 43:10, 12) หลายคนในชาตินี้รับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี. อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายศตวรรษ ความเชื่อเท็จของชาติต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบทำให้ยิศราเอลเสื่อมทรามไป และไพร่พลแห่งสัญญาไมตรีของพระยะโฮวาได้ละทิ้งพระองค์ไปนมัสการพระเท็จ. ด้วยเหตุนั้น ในปี 607 ก.ส.ศ. กองทัพแห่งบาบูโลนซึ่งนำโดยกษัตริย์นะบูคัดเนซัรได้ทำลายกรุงยะรูซาเลมรวมทั้งพระวิหาร และนำชาวยิวส่วนใหญ่ไปเป็นเชลยในบาบูโลน.
6. ข่าวดีอะไรที่คนยามเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาประกาศ และข่าวดีนั้นสำเร็จเป็นจริงเมื่อไร?
6 ช่างเป็นชัยชนะอะไรอย่างนั้นสำหรับศาสนาเท็จ! อย่างไรก็ตาม การขึ้นครองอำนาจของบาบูโลนคงอยู่ชั่วระยะสั้น ๆ. ประมาณ 200 ปีก่อนเหตุการณ์นั้น พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาว่า “เจ้าจงไปตั้งยามคอยเหตุไว้, เมื่อเห็นเหตุการณ์อันใดก็ให้บอก.” ข่าวอะไรที่คนยามผู้นี้ต้องประกาศ? “แตกแล้ว, กรุงบาบูโลนแตกแล้ว; บรรดารูปเคารพของบ้านเมืองก็ถูกทำลายแตกเกลื่อนอยู่บนดิน.” (ยะซายา 21:6, 9) และก็เป็นอย่างนั้น เพราะในปี 539 ก.ส.ศ. คำประกาศเชิงพยากรณ์นี้ได้กลายมาเป็นความจริง. กรุงบาบูโลนอันเกรียงไกรถูกตีแตก และไม่นานนักไพร่พลแห่งสัญญาไมตรีของพระเจ้าก็ได้กลับสู่มาตุภูมิของตน.
7. (ก) ชาวยิวเรียนรู้อะไรจากการตีสอนของพระยะโฮวา? (ข) ชาวยิวที่กลับจากการเป็นเชลยตกเข้าสู่กับดักอะไร และพร้อมด้วยผลเช่นไร?
7 ชาวยิวที่กลับมาได้รับบทเรียนมากพอที่จะละทิ้งการบูชารูปเคารพและศาสนาที่เกี่ยวข้องกับผีปิศาจ. อย่างไรก็ตาม ในระหว่างหลายปีต่อมา พวกเขาตกเข้าสู่กับดักอื่น ๆ. บางคนติดกับดักของปรัชญากรีก. คนอื่น ๆ เน้นประเพณีของมนุษย์ยิ่งกว่าพระคำของพระเจ้า. นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ถูกลวงให้หลงไปกับลัทธิชาตินิยม. (มาระโก 7:13; กิจการ 5:37) เมื่อถึงตอนที่พระเยซูมาประสูติ ชาตินี้ก็ได้ละทิ้งการนมัสการบริสุทธิ์ไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง. แม้ว่ามีชาวยิวบางคนตอบรับข่าวดีที่พระเยซูทรงประกาศ แต่โดยรวมแล้วชาตินี้ได้ปฏิเสธพระองค์ และด้วยเหตุนั้นจึงถูกพระเจ้าปฏิเสธ. (โยฮัน 1:9-12; กิจการ 2:36) ชาติยิศราเอลไม่ได้เป็นพยานของพระเจ้าอีกต่อไป และในปี ส.ศ. 70 กรุงยะรูซาเลมกับพระวิหารก็ถูกทำลายอีกครั้ง คราวนี้โดยกองทัพโรมัน.—มัดธาย 21:43.
8. ใครได้กลายมาเป็นพยานของพระยะโฮวา และเหตุใดคำเตือนของเปาโลแก่พยานดังกล่าวจึงเหมาะกับเวลา?
8 ในระหว่างนั้น “ชาติยิศราเอลของพระเจ้า” ซึ่งเป็นคริสเตียนก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และปัจจุบันชาตินี้กำลังรับใช้ในฐานะพยานของพระเจ้าต่อนานาชาติ. (ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.) โดยไม่รอช้า ซาตานวางแผนจะทำให้ชาติใหม่ฝ่ายวิญญาณนี้เสื่อมทรามไป. เมื่อถึงตอนปลายศตวรรษแรก อิทธิพลที่ทำให้เกิดการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายก็เห็นได้ในประชาคมต่าง ๆ. (วิวรณ์ 2:6, 14, 20) คำเตือนของเปาโลนับว่าเหมาะกับเวลา ที่ว่า “จงระวัง: อาจมีคนที่จะทำให้พวกท่านตกเป็นเหยื่อของเขาได้โดยใช้ปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหลตามประเพณีของมนุษย์ ตามสิ่งธรรมดาของโลกและไม่ใช่ตามพระคริสต์.”—โกโลซาย 2:8, ล.ม.
9. ดังที่เปาโลได้เตือนไว้ เหตุการณ์อะไรที่ทำให้เกิดมีคริสต์ศาสนจักรขึ้น?
9 ในที่สุด ปรัชญากรีก, แนวคิดทางศาสนาของบาบูโลน, และ “สติปัญญา” ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา อย่างเช่นทฤษฎีวิวัฒนาการและการวิพากษ์วิจารณ์คัมภีร์ไบเบิล ก็คละปนอยู่ในศาสนาของคนเป็นอันมากซึ่งอ้างตัวว่าเป็นคริสเตียน. เป็นดังที่เปาโลได้บอกไว้ล่วงหน้าว่า “ข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า เมื่อข้าพเจ้าไปแล้ว ฝูงสุนัขป่าที่กดขี่จะเข้ามาปะปนในพวกท่าน และจะไม่ปฏิบัติต่อฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน และจากท่ามกลางพวกท่านจะมีบางคนตั้งตัวขึ้นพูดบิดเบือนชักนำเหล่าสาวกให้หลงตามเขาไป.” (กิจการ 20:29, 30, ล.ม.) ผลของการออกหากนี้ทำให้เกิดมีคริสต์ศาสนจักรขึ้น.
10. เหตุการณ์อะไรทำให้เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ทุกคนได้ยอมให้แก่การนมัสการอันเสื่อมเสียที่ปฏิบัติกันในคริสต์ศาสนจักร?
10 ผู้ที่อุทิศตัวอย่างแท้จริงเพื่อการนมัสการบริสุทธิ์ต้อง “ต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อซึ่งครั้งหนึ่งได้มอบให้แก่ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายตลอดไป.” (ยูดา 3, ล.ม.) การให้คำพยานเกี่ยวกับการนมัสการบริสุทธิ์และพระยะโฮวาจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินโลกไหม? ไม่. ขณะที่ใกล้จะถึงเวลาทำลายซาตานจอมกบฏและงานทั้งสิ้นของมัน ก็เริ่มปรากฏชัดว่าไม่ใช่ทุกคนได้ยอมให้แก่การนมัสการที่ออกหากซึ่งปฏิบัติกันในคริสต์ศาสนจักร. ในช่วงห้าสิบปีหลังของศตวรรษที่ 19 ที่เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จริงใจได้รวมตัวกันและกลายมาเป็นแกนกลางของชนจำพวกพยานของพระเจ้าในสมัยปัจจุบัน. คริสเตียนเหล่านี้ดึงความสนใจมายังหลักฐานในพระคัมภีร์ที่ว่าอวสานของระบบโลกปัจจุบันใกล้จะถึงแล้ว. ตรงตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล “ช่วงอวสาน” ของโลกนี้เริ่มต้นในปี 1914 โดยมีการระเบิดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นหมายสำคัญ. (มัดธาย 24:3, 7, ล.ม.) มีหลักฐานแน่นหนาว่าซาตานและเหล่าผีปิศาจบริวารของมันถูกเหวี่ยงออกจากสวรรค์หลังจากปีนั้น. ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเต็มด้วยความยุ่งยากลำบากได้ให้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงกิจการงานของซาตานและความสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งของหมายสำคัญเกี่ยวกับการประทับของพระเยซูด้วยขัตติยอำนาจในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.—มัดธายบท 24 และ 25; มาระโกบท 13; ลูกาบท 21; วิวรณ์ 12:10, 12.
11. ซาตานพยายามทำอะไร แต่ความพยายามของมันล้มเหลวอย่างไร?
11 ในเดือนมิถุนายน 1918 ซาตานพยายามกวาดล้างเหล่านักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งในตอนนั้นพวกเขากำลังประกาศอยู่ในหลายประเทศ. มันยังพยายามจะทำลายองค์การของพวกเขาที่ตั้งเป็นนิติบุคคล คือสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์. คณะผู้บริหารของสมาคมฯ ถูกจับขังคุก ถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงถูกกล่าวหาในศตวรรษแรก. (ลูกา 23:2) แต่ในปี 1919 เหล่าผู้บริหารของสมาคมฯ ก็ได้รับการปล่อยตัว ทำให้พวกเขาสามารถรับใช้ได้ต่อไป. ต่อมา พวกเขาก็พ้นผิดจากข้อกล่าวหาโดยสิ้นเชิง.
“ยาม” คอยเฝ้าดูอยู่
12. ใครในทุกวันนี้ประกอบกันเป็นชนจำพวกคนยามหรือ “ยาม” ของพระยะโฮวา และพวกเขามีเจตคติเช่นไร?
12 เมื่อ “เวลาอวสาน” ได้เริ่มต้น พระยะโฮวาจึงทรงจัดให้มีคนยามขึ้นอีกครั้ง เพื่อเตือนให้ประชาชนตื่นตัวต่อเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสำเร็จเป็นจริงแห่งพระประสงค์ของพระองค์. (ดานิเอล 12:4, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1) จวบจนทุกวันนี้ ชนจำพวกคนยาม—คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งเป็นยิศราเอลของพระเจ้า—ได้ทำหน้าที่สอดคล้องกับคำพรรณนาของยะซายาเกี่ยวด้วยคนยามเชิงพยากรณ์ที่ว่า “เขาพินิจพิจารณาดูอย่างดีที่สุด! แล้วคนยามคอยเหตุก็ร้องขึ้นว่า, ‘ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้ายืนอยู่บนหอคอยในเวลากลางวันตลอดวัน, และยืนยามกลางคืนตลอดคืน.’ ” (ยะซายา 21:7, 8) นี่แหละคือคนยามซึ่งทำหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง!
13. (ก) ข่าวสารอะไรที่คนยามของพระยะโฮวาได้ประกาศ? (ข) อาจกล่าวได้อย่างไรว่าบาบูโลนใหญ่ได้ล่มจมแล้ว?
13 คนยามผู้นี้เห็นอะไร? อีกครั้งหนึ่ง คนยามของพระยะโฮวาหรือชนจำพวกพยานของพระองค์ประกาศว่า “แตกแล้ว, กรุงบาบูโลนแตกแล้ว; บรรดารูปเคารพของบ้านเมืองก็ถูก [พระยะโฮวา] ทำลายแตกเกลื่อนอยู่บนดิน.” (ยะซายา 21:9) ในครั้งนี้ คือหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้ที่ถูกโค่นให้ตกจากบัลลังก์อำนาจของตนได้แก่บาบูโลนใหญ่จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. (ยิระมะยา 50:1-3; วิวรณ์ 14:8) ไม่แปลกเลยที่เป็นอย่างนี้! มหาสงคราม ตามที่เรียกกันในตอนนั้น เริ่มต้นในดินแดนแห่งคริสต์ศาสนจักร ซึ่งนักบวชของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้จุดชนวนสงครามด้วยการเทศนาสั่งสอนสนับสนุนให้คนหนุ่มชั้นหัวกะทิของตนลงสู่สนามเพลาะ. ช่างน่าอัปยศจริง ๆ! ในปี 1919 บาบูโลนใหญ่ไม่อาจขวางกั้นกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ชื่ออันเป็นที่รู้จักกันของพยานพระยะโฮวาในตอนนั้น เพราะพวกเขาสลัดตัวเองหลุดพ้นจากสภาพไร้การงานและเริ่มต้นให้คำพยานไปทั่วโลกซึ่งก็ยังคงดำเนินอยู่จนทุกวันนี้. (มัดธาย 24:14) นั่นเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความล่มจมของบาบูโลนใหญ่ เช่นเดียวกับที่การปลดปล่อยชาติยิศราเอลในศตวรรษที่หกก่อนสากลศักราชเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความล่มจมของบาบูโลนโบราณ.
14. วารสารอะไรที่ชนจำพวกคนยามของพระยะโฮวาได้ใช้อย่างโดดเด่น และพระยะโฮวาได้อวยพระพรการใช้วารสารนี้อย่างไร?
14 ชนจำพวกคนยามได้ทำหน้าที่ของตนด้วยใจแรงกล้าและด้วยความปรารถนาจะทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ. ในเดือนกรกฎาคม 1879 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเริ่มจัดพิมพ์วารสารนี้ ซึ่งรู้จักกันในตอนนั้นด้วยชื่อหอสังเกตการณ์แห่งซีโอนและผู้ป่าวประกาศถึงการประทับของพระคริสต์. ทุก ๆ ฉบับตั้งแต่ปี 1879 จนถึงฉบับ 15 ธันวาคม 1938 มีข้อความนี้พิมพ์อยู่ที่ปกหน้า “ ‘คนยามเอ๋ย ดึกเท่าไรแล้ว?’—ยะซายา 21:11.”a ด้วยความซื่อสัตย์ หอสังเกตการณ์ ได้เฝ้าสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกและความหมายเชิงพยากรณ์ของเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นเวลา 120 ปีแล้ว. (2 ติโมเธียว 3:1-5, 13) ชนจำพวกคนยามของพระเจ้าและ “แกะอื่น” ซึ่งเป็นสหายของพวกเขาได้ใช้วารสารนี้ในการประกาศอย่างแข็งขันแก่มนุษยชาติว่า การพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาโดยราชอาณาจักรของพระคริสต์ใกล้จะถึงแล้ว. (โยฮัน 10:16) การให้คำพยานโดยวารสารนี้ได้รับการอวยพระพรจากพระยะโฮวาไหม? เอาละ จากที่พิมพ์งวดละ 6,000 เล่มในฉบับแรกเมื่อปี 1879 หอสังเกตการณ์ ได้ขยายการพิมพ์จนกระทั่งในเวลานี้มียอดจำหน่ายทั่วโลกมากกว่า 22,000,000 เล่มใน 132 ภาษา โดยมี 121 ภาษาที่พิมพ์ออกพร้อมกัน. นับว่าเหมาะสักเพียงไรที่วารสารด้านศาสนาซึ่งมีการจำหน่ายจ่ายแจกไปกว้างขวางที่สุดในโลกเป็นวารสารที่เชิดชูพระนามของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ พระยะโฮวา!
การชำระให้หมดจดเป็นขั้น ๆ
15. มีการชำระให้หมดจดเป็นขั้น ๆ เช่นไรซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนปี 1914?
15 ในช่วงประมาณ 40 ปีก่อนการปกครองฝ่ายสวรรค์ของพระคริสต์จะเริ่มขึ้นในปี 1914 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากหลักคำสอนหลายอย่างของคริสต์ศาสนจักรซึ่งไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์ อย่างเช่น การให้บัพติสมาแก่ทารก, อมตภาพแห่งจิตวิญญาณมนุษย์, ไฟชำระ, การทรมานในไฟนรก, และพระเจ้าตรีเอกานุภาพ. แต่ต้องอาศัยเวลามากกว่านั้นเพื่อขจัดแนวคิดผิด ๆ ให้หมดไป. ตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษ 1920 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายคนติดเข็มกลัดที่เป็นสัญลักษณ์รูปไม้กางเขนสอดมงกุฎ และพวกเขาฉลองคริสต์มาสและวันหยุดอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนานอกรีต. อย่างไรก็ตาม เพื่อการนมัสการจะบริสุทธิ์ได้ ต้องละทิ้งสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการบูชารูปเคารพให้หมด. คัมภีร์ไบเบิลบริสุทธิ์ พระคำของพระเจ้า ต้องเป็นพื้นฐานเพียงอย่างเดียวสำหรับความเชื่อและแนวทางชีวิตของคริสเตียน. (ยะซายา 8:19, 20; โรม 15:4) เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะเพิ่มหรือลบข้อความใด ๆ ในพระคำของพระเจ้า.—พระบัญญัติ 4:2; วิวรณ์ 22:18, 19.
16, 17. (ก) แนวคิดผิด ๆ อะไรที่ชนจำพวกคนยามยึดถืออยู่หลายสิบปี? (ข) คำอธิบายที่ถูกต้องสำหรับ “แท่นบูชา” และ “เสาศักดิ์สิทธิ์” ใน “อียิปต์” คืออะไร?
16 มีตัวอย่างหนึ่งที่จะเน้นให้เห็นว่าหลักข้อนี้สำคัญเพียงไร. ในปี 1886 เมื่อ ซี. ที. รัสเซลล์ จัดพิมพ์หนังสือซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ (ภาษาอังกฤษ) หนังสือนี้มีแผนภูมิที่เชื่อมโยงยุคต่าง ๆ ของมนุษยชาติเข้ากับมหาพีระมิดแห่งอียิปต์. มีการคิดกันว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้ของฟาโรห์คูฟูได้แก่เสาศักดิ์สิทธิ์ที่มีกล่าวไว้ในยะซายา 19:19, 20 ซึ่งอ่านว่า “ในวันนั้นจะมีแท่นบูชาสำหรับพระยะโฮวาในท่ามกลางประเทศอายฆุบโต, และจะมีเสาศักดิ์สิทธิ์ถวายพระยะโฮวาที่ชายแดน. เสาศักดิ์สิทธิ์นั้นจะเป็นเครื่องหมายสำคัญและเป็นพยานหลักฐานฝ่ายพระยะโฮวาจอมพลโยธาในประเทศอายฆุบโต.” พีระมิดจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับคัมภีร์ไบเบิลได้หรือ? เพื่อเป็นตัวอย่าง ตามที่เข้าใจกันในตอนนั้น กล่าวกันว่าความยาวของเฉลียงทางเดินในมหาพีระมิดบ่งชี้ถึงเวลาเริ่มต้นของ “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ในมัดธาย 24:21. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลบางคนเริ่มหมกมุ่นกับการวัดส่วนโน้นส่วนนี้ของพีระมิดนี้เพื่อจะกำหนดให้แน่ชัดลงไปในเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่นวันที่พวกเขาจะได้ไปสวรรค์!
17 ได้มีการเคารพยกย่องสิ่งที่เรียกกันว่าคัมภีร์ไบเบิลที่เป็นหินนี้อยู่หลายสิบปี จนกระทั่งวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 พฤศจิกายนและ 1 ธันวาคม 1928 อธิบายชัดว่าไม่มีความจำเป็นที่พระยะโฮวาจะยืนยันคำพยานที่ทรงให้ไว้ในคัมภีร์ไบเบิลโดยอาศัยอนุสาวรีย์หินที่สร้างโดยฟาโรห์ซึ่งเป็นคนนอกรีต อีกทั้งยังมีเครื่องหมายทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพวกผีปิศาจปรากฏอยู่ที่นั่นด้วย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ได้มาเข้าใจกันว่าคำพยากรณ์ของยะซายามีความหมายทางฝ่ายวิญญาณ. เช่นเดียวกับที่วิวรณ์ 11:8 “อียิปต์” เป็นสัญลักษณ์แห่งโลกของซาตาน. “แท่นบูชาสำหรับพระยะโฮวา” ทำให้เรานึกถึงเครื่องบูชาอันเป็นที่ยอมรับซึ่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมถวายขณะที่พวกเขาเป็นผู้อาศัยชั่วคราวในโลกนี้. (โรม 12:1; เฮ็บราย 13:15, 16) เสาศักดิ์สิทธิ์ “ที่ชายแดน [ของอียิปต์]” เล็งถึงประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งเป็น “หลักและรากแห่งความจริง” ซึ่งยืนหยัดเป็นพยานใน “อียิปต์” หรือโลกนี้ที่พวกเขากำลังจะจากไป.—1 ติโมเธียว 3:15.
18. (ก) พระยะโฮวาได้ทรงไขเรื่องราวต่าง ๆ ให้กระจ่างยิ่งขึ้นแก่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จริงใจโดยวิธีใด? (ข) หากคริสเตียนคนใดพบว่าคำอธิบายพระคัมภีร์ข้อหนึ่งข้อใดเข้าใจยาก เขาควรมีเจตคติที่สุขุมเช่นไร?
18 ขณะที่หลายปีผ่านไป พระยะโฮวายังคงไขความจริงให้กระจ่างยิ่งขึ้นแก่เรารวมทั้งความเข้าใจที่ชัดขึ้นเกี่ยวกับพระคำเชิงพยากรณ์ของพระองค์. (สุภาษิต 4:18) ในปีหลัง ๆ มานี้ นอกจากเรื่องอื่น ๆ แล้วเราได้รับการสนับสนุนให้พิจารณากันอีกครั้งด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่าเดิมในเรื่องคนชั่วอายุที่จะไม่ล่วงลับไปก่อนอวสานมาถึง, อุทาหรณ์เรื่องแกะกับแพะ, สิ่งน่าสะอิดสะเอียนและเวลาที่สิ่งน่าสะอิดสะเอียนจะตั้งในสถานบริสุทธิ์, สัญญาไมตรีใหม่, การจำแลงพระกาย, และนิมิตเกี่ยวกับพระวิหารในพระธรรมยะเอศเคล. บางครั้งอาจไม่ง่ายที่จะเข้าใจคำอธิบายที่ปรับเปลี่ยนใหม่เหล่านั้น แต่เหตุผลสำหรับคำอธิบายเหล่านี้ก็เริ่มปรากฏชัดเมื่อถึงเวลาอันควร. หากคริสเตียนคนใดไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนักในคำอธิบายใหม่สำหรับพระคัมภีร์ข้อใดข้อหนึ่ง เขาควรถ่อมใจที่จะกล่าวเช่นเดียวกับผู้พยากรณ์มีคาซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะเฝ้าคอยพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า.”—มีคา 7:7, ฉบับแปลใหม่.
19. ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมและแกะอื่นมิตรสหายของพวกเขาได้แสดงความกล้าหาญดุจสิงโตอย่างไรในสมัยสุดท้ายนี้?
19 พึงระลึกว่า คนยาม “ร้องขึ้น [“เหมือนสิงโต,” ล.ม.] ว่า, ‘ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้ายืนอยู่บนหอคอยในเวลากลางวันตลอดวัน, และยืนยามกลางคืนตลอดคืน.’ ” (ยะซายา 21:8) ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้แสดงความกล้าหาญดุจสิงโตในการเปิดโปงศาสนาเท็จและชี้ทางสู่อิสรภาพแก่ประชาชน. (วิวรณ์ 18:2-5) ในฐานะ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” พวกเขาได้จัดเตรียมคัมภีร์ไบเบิล, วารสาร, และสิ่งพิมพ์อื่นในภาษาต่าง ๆ มากมาย—“อาหาร . . . ตามเวลาที่สมควร.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) พวกเขาได้นำหน้าในการรวบรวม “ชนฝูงใหญ่ . . . จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง.” คนเหล่านี้ก็เช่นกันได้รับการชำระด้วยพระโลหิตที่ไถ่ถอนของพระเยซูและแสดงตัวเองอย่างกล้าหาญในการถวาย “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่ [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืน.” (วิวรณ์ 7:9, 14, 15, ล.ม.) ในปีที่ผ่านไป พยานผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวากลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังเหลืออยู่และชนฝูงใหญ่มิตรสหายของพวกเขาได้เกิดผลเช่นไร? บทความถัดไปจะบอกให้ทราบ.
[เชิงอรรถ]
a ตั้งแต่ฉบับ 1 มกราคม 1939 ได้มีการเปลี่ยนข้อความนี้เป็น “‘เขาทั้งหลายจึงได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.’—ยะเอศเคล 35:15.”
คุณจำได้ไหม?
• พระยะโฮวาได้ทรงตั้งใครไว้ให้เป็นพยานตลอดหลายปี?
• บาบูโลนใหญ่ก่อกำเนิดขึ้นมาอย่างไร?
• เหตุใดพระยะโฮวาทรงปล่อยให้กรุงยะรูซาเลมซึ่งเป็นเมืองหลวงของชาติที่เป็นพยานของพระองค์ถูกทำลายในปี 607 ก.ส.ศ.? ในปี ส.ศ. 70?
• ชนจำพวกคนยามของพระยะโฮวาและมิตรสหายของพวกเขาได้แสดงน้ำใจเช่นไร?
[ภาพหน้า 7]
“ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้ายืนอยู่บนหอคอย”
[ภาพหน้า 10]
ชนจำพวกคนยามของพระยะโฮวาทำงานของตนอย่างเอาจริงเอาจัง